In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 
สังคมไทยอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีลักษณะอย่างไร จะเกิดเหตุการณ์อะไรบ้าง

ความสัมพันธ์ทางชนชั้น (Class relations) ในสังคมไทย



ในทรรศนะของมาร์กซ์ ไม่ว่าจะในระบบทาส ศักดินา เอเชียติก หรือระบบทุนนิยม ในทุกระบบปัจจัยการผลิตถูกผูกขาดอยู่ในมือคนกลุ่มน้อย ทำให้เจ้าของปัจจัยการผลิตมีอำนาจมากสามารถรวบเอาผลผลิตของแรงงานของผู้อื่นมาเป็นของตัว ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้ทำงานโดยตรงในระบบทาส บังคับให้ส่งส่วยผลผลิตในระบบศักดินา หรือบังคับจ้างโดยให้ค่าจ้างเพียงยังชีพแล้วรวบเอามูลค่าส่วนเกินของแรงงานในระบบนายทุน ซึ่งทำให้เกิดการต่อสู้ระหว่างชนชั้น (Class Struggle) ระหว่างชนชั้นที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตกับชนชั้นที่ไม่มีปัจจัยการผลิต การต่อสู้ระหว่างชนชั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ในการผลิต(relations of production) เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนระบบกรรมสิทธิ์และโครงสร้างส่วนบน (superstructure) แต่การต่อสู้ปฏิวัติเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ในการผลิตจะได้ผลก็ต่อเมื่อได้มีการพัฒนาพลังการผลิต (productive forces) ถึงขั้นที่พร้อมก่อน[i] และในการขัดแย้งต่อสู้ระหว่างชนชั้น ฝ่ายชนชั้นเจ้าของปัจจัยการผลิตจะใช้โครงสร้างส่วนบนสนับสนุนตัวต่อต้านกดชนชั้นที่ถูกขูดรีดไว้ องค์กรหนึ่งในโครงสร้างส่วนบนที่ชนชั้นเจ้าของปัจจัยการผลิต จะพยายามใช้ประโยชน์เป็นเครื่องมือของตัวคือรัฐ ในความคิดของมาร์กซิสม์ รัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้นเจ้าของปัจจัยการผลิต[ii]



เมื่อนำหลักทฤษฎีข้างต้น มาวิเคราะห์สังคมไทย ซึ่งเป็นระบบทุนนิยมนั้น จะสามารถแบ่งชนชั้น ออกได้ดังนี้



ชนชั้นเจ้าของปัจจัยการผลิต ชนชั้นกระฎุมพี หรือนายทุน (capitalist)
ชนชั้นที่มีปัจจัยการผลิตน้อย ชนชั้นกระฎุมพีน้อย หรือนายทุนน้อย (petty bourgeoisie) เช่น พวกอาชีพอิสระ วิศวกร เจ้าของร้านขนาดย่อม
ชนชั้นที่ไม่มีปัจจัยการผลิต ชนชั้นแรงงาน หรือกรรมาชีพ (proletariat)



โดยการแบ่งชนชั้นนี้ จะสามารถใช้เป็นมาตรวัดการได้เปรียบ เสียเปรียบในการครอบครองปัจจัยการผลิต ที่ก่อให้เกิดความตึงเครียดในสังคมได้ โดยจะมาก-น้อย ตามความแตกต่างของการมีปัจจัยการผลิตระหว่างชนชั้น



ข้อมูลจาก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เมื่อ ก.ย. 2553 “การกระจายรายได้ในภาพรวมไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยโครงสร้างรายได้ปัจจุบัน กลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุดของประเทศ หรือกลุ่มประชากร 20% มีส่วนแบ่งรายได้สูงสุดถึง 55.1% ของรายได้รวม ขณะที่กลุ่มประชากรที่มีรายได้ต่ำสุด 20% มีส่วนแบ่งรายได้เพียง 4.3% ของรายได้รวม ทำให้รายได้ของคนจนสุดต่างจากคนรวดสุดถึง 12.81 เท่า ซึ่งไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 25 ปีก่อน จึงไม่แปลกที่ผลการจัดอันดับการกระจายรายได้ของประเทศไทยรั้งท้ายอยู่ในอันดับที่ 50 ของโลก ความแตกต่างระหว่างจำนวนคนรวยกับคนจนยังสะท้อนได้จากจำนวนผู้เสียภาษีของประเทศ โดยเฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากที่ประเทศไทยมีประชากร 64 ล้านคน แต่มีผู้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเพียง 9-10 ล้านคน และในจำนวนนี้มีผู้ที่ต้องจ่ายเงินภาษีจริงเพียง 2.3 ล้านคนเท่านั้น เพราะเมื่อหักค่าลดหย่อนต่างๆ แล้ว ทำให้คนส่วนหนึ่งมีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี จึงไม่ต้องมีภาระเสียภาษี ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ามีคนเพียง 2.3 ล้านคนเท่านั้นที่จ่ายเงินภาษีเลี้ยงคนทั้งประเทศ นอกจากนี้ หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดของจำนวนผู้เสียภาษี จะพบว่า มีผู้เสียภาษีในอัตราสูงสุดที่ 37% เพียง 6 หมื่นคน และคิดเป็นเม็ดเงินจ่ายภาษีถึง 50%ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และในจำนวนคน 6 หมื่นคนที่เสียภาษีในอัตราสูงสุดนี้ พบว่า มีผู้ที่มีเงินได้สูงกว่า 10 ล้านบาท เพียง 2,400 คน เท่านั้น และคนกลุ่มนี้มีสัดส่วนการเสียภาษีสูงถึง 34% ซึ่งสะท้อนว่าประเทศไทยมีการกระจุกตัวของรายได้ในกลุ่มคนรวยเพียงไม่กี่คน”[iii]



จากบทความข้างต้นซึ่งสะท้อนสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าความแตกต่างของการครอบครองปัจจัยการผลิต มีความแตกต่างกันมาก และทางออกหนึ่งที่ ชนชั้นที่ถูกเอาเปรียบในสังคมไทย ได้รวมตัวกันเพื่อแสดงออก ถึงความพยายามที่จะลดการถูกเอาเปรียบคือ การรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน ต่อสู้ เรียกร้องผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับ แต่ก็ทำเพียงแค่ขอบางส่วนจาก มูลค่าส่วนเกิน (surplus value) ซึ่งน้อยมากถ้าเทียบกับสิ่งที่ควรจะได้รับ โดยจะเห็นได้ว่าชนชั้นนายทุนยังเก็บมูลค่าส่วนเกินนี้ไว้ได้มาก จนก่อให้เกิดการสะสมทุน ( accumulation of capital) มากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นการยืดเวลา เพื่อรอการขัดแย้งระหว่างชนชั้นรอบใหม่ต่อไป มิใช่การขจัดการถูกเอาเปรียบจากชนชั้นนายทุน



ทั้งนี้ ประกอบกับการที่ชนชั้นนายทุนในสังคมไทย ใช้โครงสร้างส่วนบน อันได้แก่ วัฒนธรรม อำนาจรัฐ การเมือง กฎระเบียบต่างๆ ไม่ว่าจะทำให้ชนชั้นที่เสียเปรียบกลัว หรือทำให้ยอมรับการถูกเอาเปรียบ โดยใช้วาทกรรมต่างๆ ปลูกฝังอุดมการณ์ การครอบงำทางความคิด (hegemony) ตามทฤษฎี hegemony ของ Antonio Gramsci ( 1891-1937) เพื่อให้ชนชั้นที่เสียเปรียบยอมรับความเสียเปรียบ ดังเช่น สหภาพแรงงานก็พอใจเพียงแค่การมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม มิใช่เรียกร้องให้ได้ผลประโยชน์ที่ควรจะได้ทั้งหมด



ฉะนั้นถ้าต้องการให้สังคมไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า มีการพัฒนา เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ควรต้องปรับปรุงความสัมพันธ์ทางชนชั้น โดยมีแนวทางคือ เริ่มจากทำให้พลังการผลิตดีขึ้นหมายถึง คนมีศักยภาพในการผลิตดีขึ้น พึงตัวเองได้มาก เป็นผลให้พึงคนอื่นน้อยลง ก็จะทำให้มีความเป็นอิสระมากขึ้น และจะเป็นตัวกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางชนชั้น โดยหลุดจากความครอบงำจากชนชั้นที่สูงกว่า[iv]



เครดิต : พี่ปืน Pol Econ11

----------------------------------------------------------------------------------------------

[i] ลัทธิเศรษฐกิจการเมือง, ฉัตรทิพย์ นาถสุภา สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2551, หน้า 159-160

[ii] ลัทธิเศรษฐกิจการเมือง, ฉัตรทิพย์ นาถสุภา สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2551, หน้า 184

[iii] //archive.voicetv.co.th/content/21650

[iv] การบรรยายในชั้นเรียนเรื่อง กรอบทฤษฎีวิเคราะห์สังคม วันที่ 12 ก.ย. 2554, รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ


Create Date : 13 ธันวาคม 2554
Last Update : 13 ธันวาคม 2554 13:14:11 น. 0 comments
Counter : 2229 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.