|
อ่านโคลงหวานผ่านโคลงนิราศ
อ่านโคลงหวานผ่านโคลงนิราศ
แต่ไหนแต่ไรที่จอมยุทธฯ ไม่ค่อยชอบแต่งโคลงในแนวหวาน เคยพยายามลองแต่งถ้าไม่ใช่หวานรันทดก็ออกลิเกไปเลยยกตัวอย่างมาให้ดูสักบทสองบท
๏ สัตย์วาจาร่วมน้อง.................เคยประกาศ กราบพระพุทธชินราช...............ถิ่นนี้ ร่วมใจร่วมชีวาตม์.....................เคียงคู่ กันแฮ แต่นุชกลับหลีกลี้.....................ทอดทิ้งเรียมไฉน ๚ จาก โคลงชุดสองแคว หรือ
๏ มองฟ้าครามฟ้าสด................ระหว่างทาง หมู่เมฆลอยนภางค์...................ลิบโพ้น ฝากเมฆบอกต่อนาง.................เรียมร่ำ รักนา กายห่างสุดฟ้าโน้น....................จิตใกล้ใฝ่ถวิล ๚ จาก โคลงชุดสัตยารัก
บทแรกที่ยกมาครูหนอนฯ เคยวิจารณ์ว่าออกลิเกไปหน่อย มาอ่านดูอีกทีก็ลิเกจริงๆ ฮ่า ฮ่า บทที่สองแม้จอมยุทธฯ จะมองว่าดีขึ้นมาหน่อย แต่ก็ยังไม่ดีดั่งใจที่ต้องการเหมือนขาดๆ หรือแปร่งๆ ยังไงก็ไม่รู้
กระทู้นี้เจอ พี่xxx(เฒ่า) ชวนแต่งโคลงแนวหวาน พยายามแต่งเท่าไหร่ก็ไม่ได้ดังใจจริงๆ อย่ากระนั้นเลยลองอ่านโคลงต้นแบบแนวหวานที่เจ๋งๆ ของยอดกวีรุ่นก่อนดีกว่า เพื่อศึกษาลีลาและแนวคิดของรูปแบบการเดินโคลงในแนวหวานเผื่อจะได้ไอเดียมาปรับใช้สำหรับตัวเองบ้าง อ่านแล้วได้อะไรหลายๆอย่าง เลยอยากนำมาถ่ายทอดให้เพื่อนๆได้รับรู้ด้วย ขอรับ
ต้นแบบโคลงแนวหวานที่น่าศึกษาทีสุด เห็นจะต้องเป็นโคลงจากนิราศต่างๆ ที่กวีกล่าวรำพันถึงนางอันเป็นที่รัก ยามต้องจากไกล
โคลงที่ถือว่าเป็นต้นแบบของวรรณคดีนิราศ คือ โคลงทวาทศมาส ซึ่งเชื่อกันว่าแต่งในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแต่ก็มีนักวรรณคดีบางท่านบอกว่าเก่ากว่านั้น แต่อย่าไปสนใจดีกว่าขอรับ มาดูที่เนื้อหาที่ประกอบด้วยศฤงคารสเป็นเลิศเป็นจินตนาการและประดิษฐการของกวี อันเป็นแบบอย่างแห่งการเขียนนิราศ ที่กวีรุ่นหลังยึดถือเป็นแบบอย่าง กันดีกว่า
โคลงทวาทศมาสแม้จะเป็นโคลงดั้น มีศัพท์ยากสำหรับการอ่านสักหน่อย แต่จอมยุทธฯ ขออ่านเพื่อศึกษาแล้วกันขอรับ เพราะบทที่กล่าวคร่ำครวญนั้น มีหลายบทที่กวียุคต่อมานิยมแต่งเลียนแบบ ขอยกมาเป็นตัวอย่างแล้วกัน
๏ ปางบุตรนคเรศไท้...................ทศรถ จากสีดาเดียวลี-.........................ลาศแล้ว ยังคืนสู่เสาวคต..........................ยุพราช ฤๅอนุชน้องแคล้ว.......................คลาศไกล ๏ ศรีอนิรุทธราศร้าง....................แรมสมร ศรีอุษาเจียรไคล........................คลาศแคล้ว เทวานราจร...............................จำจาก ยังพร่ำน้าวน้องแก้ว.....................คอบคืน ๏ สมุทรโฆเรศร้าง......................แรมพิน- ทุมดีดาลฝืน..............................ใฝ่เต้า ปางเจ็บชำงือถวิล........................ลิวโลด ยังพร่ำน้าวน้องเหน้า.....................ร่วมเรียง ๏ พระศรีเสาวเรขสร้อย.................สุธน จากมโนหราเคียง.........................คิดน้อง ยังเสด็จไพรสนฑ์........................สังวาส สังเวชนงนุชคล้อง........................เคลือกองค์ ๏ ปราจิตรเจียรเหน้าหน่อ...............อรพินท์ พระพิราไลยปลง.........................ชีพแล้ว คืนสมสุดาจิน..............................รสร่วม กันนา กรรมแบ่งกรรมแก้วแก้ว.................ช่วยกรรม ๏ ปางศิลปปรเมศท้าว....................สุธนู จากสมเด็จนุชจันทร......................แจ่มเหน้า เจียรรัปประภาตรู..........................เตราสวาสดิ์ ยังพร่ำน้าวน้องเข้า........................คอบสมร
โคลง ๖ บทนี้กล่าวถึงคู่รัก ๖ คู่ คือ พระรามกับนางสีดา พระอนิรุทธ์กับนางอุษา พระสมุทรโฆษกับนางพินทุมดีพระสุธนกับนางมโนราห์ พระปราจิตกับนางอรพินท์ พระสุธนูกับนางจิรประภา ทั้ง ๖ คู่นี้ต้องพลัดพรากกัน มีความทุกข์ทนหม่นไหม้ แต่ก็ยังกลับคืนมาพบกัน
การใช้คู่รักที่มีในประวัติและนิทานเก่าๆ มาอ้างเปรียบเทียบความรักและความพลัดพรากของกวี ชุดนี้ถือว่าเป็นต้นแบบอย่างไร เดี๋ยวมาอ่านศึกษากันต่อขอรับ
Create Date : 29 พฤศจิกายน 2548 | | |
Last Update : 21 กันยายน 2549 14:16:21 น. |
Counter : 9617 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
| |
|
|