Group Blog
 
All blogs
 

a lonely pride tree



คลิ้กเพื่อดูรูปใหญ่

ไม้รุ่นต้นหนึ่งยืนเดียวดายท่ามกลางกระแสความแปรเปลี่ยนแห่งธรรมชาติ
กิ่งไผ่และไม้รายรอบ คล้ายไม่ยอมรับเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพวกมัน

ไม้ต้นนั้นหาได้ยี่หระ หากแม้ธรรมชาติให้มันมีที่ยืนอยู่ตรงนี้
มันก็จะยืนอยู่ตรงนี้

ดวงตะวันขึ้นแล้วก็ตก
ทุกสิ่งพลันแปรเปลี่ยนหมุนผ่านไป
เวลากลับคล้ายหยุดนิ่ง
คงไว้แต่สายลมโชยมาแผ่วเบา
แลแสงอันอบอุ่นของยามอรุณในวันใหม่

เสียงน้ำโกรกไหลผ่านร่องหิน ราวเสียงสาดซัดของสายฝน
ใครจะรู้บ้างว่า บางคนได้ยินเสียงร่ำไห้แผ่วเบา ปนมาจางๆ กับเสียงดนตรีจากจันลอง




หมายเหตุ :
ผมเพิ่งกลับมาจากเดินทางไกล วันศุกร์เย็น ผมเดินทางไปแขวงคำม่วน-ลาว เป็นดินแดนชายขอบ ของทุนนิยมชายขอบ ของชายขอบอีกที

บริเวณที่ไป เป็นหมู่บ้านอยู่อาศัยกันแบบบุพกาล ปลูกข้าว ทอผ้าเอง ทอดแห หาปลาไปตามเรื่อง ท้องฟ้ายามค่ำคืนนี่มืดสนิทจริงๆ จนเห็นดาวเต็มฟ้า เวลาที่นั่นดูเหมือนจะผ่านไปอย่างช้าๆ หมู่บ้านที่อยู่ใกล้ๆ กัน มีไฟฟ้าใช้ แต่บริเวณที่ผมไปอยู่ไม่มีไฟฟ้าใช้เลย บริเวณใกล้ๆ มีลำธารใหญ่ (พอๆกับแม่น้ำของบ้านเราได้) ยังเป็นดินแดนบริสุทธิ์อยู่เลย

อากาศหนาวมากจนนอนไม่หลับ เรือนที่ไปอยู่เป็นเรือนไม้ แล้วใช้ไม้ไผ่ขัดแตะสานกัน เวลาประมาณตี 4-5 อากาศหนาวจนผมปวดหัว ต้องลุกขึ้นมาขดตัวไปมา นี่เป็นเหุตหนึ่งที่ทำให้ผมกลับมาก่อนกำหนด (ตอนแรกจะกลับมาวันพุธ)

ช่วงระหว่างไปและกลับ ผมผ่านภูพาน แล้วนึกถึงช่วงปฏิวัติของพคท. ทำให้พอเข้าใจได้ว่าทำไมบริเวณแถบนั้นจึงเป็นที่มั่นของ พคท. ในสมัยช่วงการต่อสู้ของพคท. อยู่ในกระแสสูง

ไม่ได้ถ่ายรูปมามากเท่าที่ควร ถ้าสนใจรูปอื่นๆ เข้าไปดูได้ที่นี่ครับ




 

Create Date : 11 ธันวาคม 2550    
Last Update : 11 ธันวาคม 2550 22:01:41 น.
Counter : 498 Pageviews.  

พุทธทาสและแนวคิดปฏิรูปในวงการพุทธศาสนา

สืบสานปณิธานพุทธทาส ๑๐๐ ปีชาตกาล ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๙


external image angkarn01.jpg
คัดจากบทกวีของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ [๑]

วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๒๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙ แรม ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ปีจอ เป็นวันพระ

วันนี้เมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๔๙ เป็นวันอาทิตย์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย ณ หมู่บ้านกลาง ตำบลพุมเรียง (ที่ตั้งเดิมของจังหวัดไชยา ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น “สุราษฎร์ธานี”)[๒] มีเด็กชายคนหนึ่งถือกำเนิดขึ้นในครอบครัวสกุล "พานิช" ของนายเซี้ยง และนางเคลื่อน เด็กชายผู้นั้นมีนามว่าเงื่อม

เด็กชายเงื่อมผู้นี้อีก ๒๐ ปีถัดมา ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๙ กลายเป็นเด็กหนุ่มและเข้าอุปสมบทตามประเพณีที่วัดโพธาราม ไชยา และได้รับฉายาว่า "อินทปัญโญ" อันมีความหมายว่า "ผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่"

หกปีถัดมา ท่านได้เดินทางเข้ามาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ สอบได้นักธรรมเอก และสอบบาลีได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค ด้วยความที่พระเงื่อม เป็นคนรัก การศึกษา จึงได้ทำการศึกษาและค้นคว้าจากพระไตรปิฎก และศึกษาค้นคว้าออกไปจากตำรา ทำให้ท่านรู้สึกขัดแย้งกับวิธีการสอน ธรรมะ ที่ยึดถือรูปแบบ ตามระเบียบแบบแผนมากเกินไป ประกอบกับความย่อหย่อนในพระวินัยของสงฆ์ ตลอดจนความเชื่อที่ผิดๆ ของ พุทธศาสนิกชนในเวลานั้น ทำให้ท่าน มีความเชื่อมั่นว่าพระพุทธศาสนาที่สอน ที่ปฏิบัติกันในเวลานั้น คลาดเคลื่อนไปมาก จากที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะ

ท่านจึงตัดสินใจ หันหลังให้กับการศึกษาของสงฆ์ในเวลานั้น และเดินทางกลับไชยา เพื่อทำการศึกษาและทดลองปฏิบัติ ตามแนวทางที่ท่านเชื่อมั่น โดยร่วมกับ น้องชาย (ธรรมทาส พานิช เปลี่ยนชื่อจากยี่เกย พานิช) และ คณะธรรมทาน จัดตั้งสถานปฏิบัติธรรม "สวนโมกขพลาราม" ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ อันเป็นปีเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามประเทศ จากนั้น ท่านได้ศึกษา และปฏิบัติธรรมะ อย่างเข้มข้น จนเชื่อมั่นว่า ท่านมาไม่ผิดทางแน่ และได้ประกาศใช้ชื่อนาม "พุทธทาส" เพื่อแสดงให้เห็นถึงอุดมคติสูงสุดในชีวิตของท่าน



นามพุทธทาส และสวนโมกขพลาราม จึงได้ถือกำเนิดควบคู่ขึ้นนับแต่บัดนั้น


พุทฺธสฺสาหํ นิยฺยาเทมิ สรีรญฺชีวิตญฺจิทํ
พุทฺธสฺสาหสฺมิ ทาโส ว พุทฺโธ เม
สามิกิสฺสโร - อิติ พุทฺธทาโส

ข้าพเจ้าขอมอบร่างกายนี้ ถวายแด่พระพุทธเจ้า,
ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า,
พระพุทธเจ้าเป็นนายของข้าพเจ้า,
เพราะเหตุดังว่ามานี้,
ข้าพเจ้าจึงชื่อว่า "พุทธทาส"



---


เมื่อวัยเด็ก ผมได้รับการอบรมและสั่งสอนพุทธศาสนาในแบบจารีต คือสอนให้ทำบุญ และเกรงกลัวบาป, ทำดีได้ขึ้นสวรรค์ ทำชั่วตกนรก ทัศนะของพุทธศาสนิกแบบจารีตคือต้องหมั่นทำความดี สร้างบุญกุศล ก็จะสั่งสมบุญบารมีขึ้นไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็จะได้บรรลุนิพพาน
ในขณะที่ชีวิตของคนเราที่เกิดมา มีความไม่สมบูรณ์ มีความพิการ มีความยากจน มีความไม่สะดวกสบายต่างๆนานับประการ ท่านก็สอนว่าเป็นเพราะกรรมเก่า และกรรมนี้เราไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ กรรมจะส่งผลต่อเนื่องจากชาติที่แล้วมายังชาตินี้ คือชีวิตตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ทางเดียวที่เราทำได้คือทำบาปให้้น้อยที่สุด และพยายามทำความดีให้มากที่สุด เพื่อว่าเมื่อตายไปแล้ว เจอกับยมบาล ท่านจะได้ตัดสินว่ามีความผิดน้อยกว่ามีความดี จะได้ไม่ต้องตกนรก และหากกลับมาเกิดใหม่ก็จะได้มีกรรมติดตัวน้อยที่สุด

ผมรู้สึกขัดแย้งกับความคิดแบบนี้ ประการแรก เราไ่ม่สามารถแก้ไขชีวิตอะไรของเราได้เลยหรือ ประการที่สองเราทำความดีเพราะเราหวังผลประโยชน์ในภายภาคหน้า ดูเหมือนไม่ต่างอะไรกับการลงทุนเพื่อหวังกำไรจากการค้าขาย และประการสุดท้ายอุดมคติของพระพุทธศาสนาอันเรารู้จักกันว่านิพพานนั้น เป็นอะไรที่ดูไกลเกินเอื้อม เป็นสถานที่ที่ยอดคน น้อยคนจะเข้าถึงได้ และมนุษย์ธรรมดาคงไม่มีทางฝันถึง คงยังต้องเวียนว่ายตายเกิดไปอีกนานแสนนาน

ตราบจนผมได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งของท่านพุทธทาส : แก่นพุทธศาสน์ [๓]

แก่นพุทธศาสน์ สร้างความประหลาดใจให้กับผมด้วยคำศัพท์แปลกประหลาด สะดุดใจแบบต้องนึกทบทวนหลายตลบ อยู่หลายคำ เช่น "ตัวกู-ของกู", "โรคทางวิญญาณ", "ความว่าง", ฯลฯ รวมไปถึงศัพท์บาลีที่ไม่เคยได้ยินเช่น "สุญญตาธรรม" ซึ่งผมมารู้ในภายหลังว่าเป็นอุบายและเจตนาของท่านพุทธทาสที่ต้องการดึงคำศัพท์ที่ถูกซ่อนไว้ในพระสูตรออกมาให้คนทั่วไปได้รู้จัก แถมยังมีการใส่คำศัพท์ภาษาอังกฤษประกอบ และอธิบายอ้างอิงไปถึงปรัชญาเซน ซึ่งเป็นการอ้างอิงแบบผู้มีความรู้เพราะอ้างถึงพระเซนที่ชื่อฮวงโป ซึ่งผมก็มาทราบภายหลังเช่นกันว่า ท่านพุทธทาสแปลหนังสือทางฝ่ายเซนออกมาหลายเล่มเช่น คำสอนของฮวงโป และสูตรของเว่ยหลางเป็นต้น

คำศัพท์เหล่านี้เป็นเรื่องแปลกใหม่ และฝังความรู้สึกสงสัย ทำให้ผมต้องอ่านทบทวนหนังสือเล่มนี้อยู่หลายสิบครั้ง ยิ่งอ่านก็รู้สึกว่าเป็นกระบวนการอธิบายความในเรื่องธรรมะที่แตกต่างจากพุทธศาสนาแบบจารีตที่ผมเคยไ้ด้ยินได้ฟังมาหลายครั้ง เป็นเรื่องที่ไม่มีพุทธชาดก ไม่มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ไม่มีความเชื่อในเชิงไสยศาสตร์

ยิ่งผมอ่านหนังสือเล่มนี้บ่อยครั้งเท่าใด ผมก็ยิ่งรู้สึกว่า คนที่เขียนหนังสือเล่มนี้ที่ชื่อพุทธทาสภิกขุ ไม่ใช่พระธรรมดา ไม่ใช่พระที่เราพบเห็นทั่วไปแน่ๆ

แค่ได้อ่านข้อความห้าย่อหน้าต่อไปนี้ในแก่นพุทธศาสน์ ผมก็พบว่าข้อสงสัยที่มีมาแทบจะได้รับคำอธิบายเกือบทั้งหมด


"พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า อยู่ให้ชอบ อยู่ให้ถูกวิธีเท่านั้น โลกจักไม่ว่างจากพระอรหันต์ นี้เรียกว่าปฏิบัติตามหลักของปฏิจจสมุปบาท เรียกว่าเป็นอยู่ถูกต้องชนิดที่กิเลสเกิดไม่ได้ โดยที่เห็นว่าตัวกู-ของกูนี้เป็นเพียงมายา เพราะมันเพิ่งเกิดต่อเมื่อรูปมากระทบตา เสียงมากระทบหูเป็นต้น เกิดเวทนาแล้วปรุงเป็นความอยาก ถ้าอย่าให้มีอะไรมาปรุงเป็นความอยาก มันก็ไม่เกิดอุปาทานว่าตัวกูว่าของกู

เพราะฉะนั้น พึงเข้าใจให้ถูกต้องว่ามันเพิ่งเกิดหยกๆ เพราะการปรุงขึ้นมา ไม่ใช่ตัวจริง มันเป็นมายาเหมือนกับหน่วยคลื่นที่เกิดขึ้นเพราะลมพัดนี้ น้ำก็มีอยู่จริง ลมก็มีอยู่จริง แต่ตัวคลื่นนั้นเป็นมายา นี่เปรียบเทียบโดยวัตถุ แต่จะเอาเป็นเรื่องเดียวกันแท้ไม่ได้ มุ่งแต่จะชี้ตรงความเป็นมายาของคลื่นที่เกิดขึ้นมาเพราะการปรุงแต่ง คือลมพัดน้ำให้กระฉอกเป็นคลื่น ยกเป็นสันลูกคลื่นขึ้นมาแล้วก็หายไป เพราะฉะนั้นความรู้สึกว่าตัวกู-ของกูคราวหนึ่งๆ ในวันหนึ่งๆ ซึ่งเกิดอยู่หลายๆ คราวนั้นก็เป็นเหมือนคลื่นที่มีมาจากน้ำ คืออารมณ์รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แล้วก็กระทบด้วยลม คือความโง่ ความหลง อวิชชา แล้วเกิดคลื่น คือตัวกู-ของกูโผล่ขึ้นมาเป็นคราวๆ วันหนึ่งหลายคราว

ความรู้สึกว่าตัวกู-ของกูหรือ Egoism โผล่ขึ้นมาคราวหนึ่งนี้ ท่านเรียกว่าชาติหนึ่ง ชาติคือความเกิดทีหนึ่ง



นี่แหละ ความเกิดที่แท้จริง หมายถึงความเกิดของสิ่งนี้ อย่าได้ไปหมายถึงความเกิดจากท้องแม่ คนหนึ่งเกิดจากท้องแม่ทีหนึ่งแล้วก็เข้าโลงไปทีหนึ่ง นั้นไม่ใช่ความเกิดที่พระพุทธเจ้าท่านมุ่งหมาย มันเป็นการเกิดทาง Physical มากเกินไป

ความเกิดที่พระพุทธเจ้าท่านมุ่งหมายนั้น เป็นฝ่าย Spiritual หมายถึงความเกิดที่เป็นอุปาทานว่าตัวกู-ของกู วันหนึ่งเกิดได้หลายชาติ หลายสิบชาติ หรือหลายร้อยชาติก็ตาม แล้วแต่ว่าใครจะเกิดเก่งสักกี่มากน้อย แต่ทุกคราวต้องเป็นชาติ เป็นตัวกู-ของกู ขึ้นมาที่หนึ่งเสมอไป แล้วมันก็ค่อยจางไป เดี๋ยวมันก็ค่อยดับไป แล้วก็ตายไป เดี๋ยวก็เกิดโผล่มาใหม่อีก เมื่อไปกระทบรูป เสียง หรือกลิ่นอย่างอื่นขึ้นอีก แต่ละชาติก็มีปฏิกิริยา (Reaction) ส่งต่อถึงกัน อย่างที่เรียกว่ากรรมเก่าของชาติก่อน ส่งผลให้เกิดในชาตินี้ เป็นผลขึ้นมาแล้วส่งต่อกันไปอย่างนี้ทุกๆ ชาติ"


แก่นพุทธศาสน์ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การเข้าถึงนิพพาน และความเป็นพระอรหันต์ ไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม หรือเป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องของการสั่งสมบารมีข้ามพบข้ามชาติ (ในความหมายของคำว่าตายแล้วเกิดใหม่) ไม่จำเป็นต้องทำบุญแบบลงทุนทำการค้าเพื่อหวังกำไร แต่เป็นเรื่องของปรับพฤติกรรม ปรับทัศนคติ ภายใต้แนวคิดใหม่ว่า ชาติ-ความเกิด เป็นเรื่องในทางจิตวิญญาณ ไม่ใช่ในทางกายภาพ

เมื่อผมรู้สึกตัวอีกที ผมก็กลายเป็นแฟนหนังสือท่านพุทธทาสไปแล้ว เมื่อเข้าร้านหนังสือ หรือเข้าห้องสมุดก็อดไม่ได้ที่จะต้องหยิบหนังสือของท่านพุทธทาสมาเปิดอ่านด้วยความสนุกในการค้นคว้า และทึ่งในความรู้ที่ได้รับจากหนังสือเสมอ


---


ความโชคดีของผมอันเกี่ยวเนื่องกับท่านพุทธทาสยังไม่หมด

เมื่อผมเข้าเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัย ด้วยความโชคดีที่ได้ทำกิจกรรม, เมื่อช่วงที่ผมเรียนอยู่ปีสอง ผมได้รับทราบข่าวว่าทางชมรมพุทธศาสตร์จุฬาฯ ได้ประกาศรับสมัครนักกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมอานาปานสติ ที่สวนโมกขพลาราม ไชยา สุราษฎร์ธานี [๔] ผมจึงไม่รีรอที่จะส่งจดหมาย และได้รับการตอบรับจากคณะผู้ดำเนินการ และร่วมเดินทางพร้อมคณะเดินทางราวกว่าสองร้อยชีวิตโดยรถไฟไปที่ไชยาในที่สุด

การเดินทางมาถึงไชยาตั้งแต่เ้ช้ามืด ท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยแสงดาว กลิ่นอายของชนบท เสียงไก่ขันรับอรุณ และบรรยากาศแบบป่าของสวนโมกข์ สร้างความประทับใจและตื่นตาตื่นใจให้กับผม ตั้ังแต่แรกที่มาถึง

"ที่นี่เรามีกฎอยู่ข้อหนึ่งว่า ห้ามสมาชิกที่เข้าฝึกอบรมพูดคุยกันตลอดระยะเวลาฝึกฝนอบรมจำนวน ๑๐ วัน แต่ให้พยายามเจริญสมาธิภาวนาในทุกอิริยาบท"

เป็นเสียงจากผู้ดูแลคณะฝึกอบรม และเป็นสัญญาณว่าชีวิตในช่วงการ "เข้าค่าย" สวนโมกข์ได้เริ่มขึ้นแล้ว

สมาชิกผู้เข้าร่วมการฝึกอบรม ต้องเดินทางข้ามไปยังสวนโมกข์นานาชาติ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับสวนโมกขพลาราม ระยะทางไกลพอสมควร และต้องใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นตลอดระยะเวลาอบรม

กิจวัตรประจำวันของการฝึกอบรม เริ่มจากตื่นเวลาราวๆ ตีสี่ หลังจากทำธุระส่วนตัวก็จะเป็นการสวดมนต์ ทำวัตรเช้า และเดินเท้ากลับไปยังสวนโมกข์ฝั่งเขาพุทธทองประมาณตีห้า (เดินถือไฟฉายส่องตามทางเดินไป เพราะไม่มีไฟฟ้า) เพื่อรับฟังคำบรรยายธรรมะจากท่านพุทธทาส

แต่เนื่องจากท่านพุทธทาสในเวลานั้นอาพาธหนัก ท่านจึงมิได้ออกมาบรรยายด้วยตนเอง คงเป็นการบรรยายจากเทปที่หน้ากุฎิของท่าน แต่ก็เสมือนหนึ่งได้รับฟังคำบรรยายจากตัวท่านเอง

ระยะเวลาบรรยายในเทปเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับเวลาที่เรามานั่งฟังคำบรรยายกันอยู่นั้น เราจึงได้ยินเสียงไก่ขันซึ่งเป็นเสียงในเทป สลับกับเสียงขันของไก่จริงที่เดินอยู่ใกล้ๆนั้น

เสร็จสิ้นจากการฟังบรรยาย แล้วหลังจากนั้นก็เดินเท้ากลับไปที่สวนโมกข์นานาชาติ รับประทานอาหารเช้า (เป็นอาหารมังสวิรัต) ก็รับฟังการบรรยายธรรมะจากวิทยากรหลากหลายท่าน และสลับกับการทำงาน (เช่นการการลานวัด การล้างห้องน้ำ การทำความสะอาดห้องบรรยาย) และนั่งสมาธิ ช่วงบ่ายเป็นการออกกำลังกาย และปิดท้ายด้วยการทำวัตรเย็น (ไม่มีอาหารในช่วงเย็น ยกเว้นน้ำปานะ)

วิทยากรที่บรรยายหลักจะเป็น ท่านพระครูปลัดศีลวัฒน์ โพธิ์ จันทสโร เจ้าอาวาส วัดธารน้ำไหล, พระดุษฎี เมธังกุโร, อุบาสิการัญจวน อินทรกำแหง, แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต และอีกหลายท่าน


---


แม้ว่าจะอ่านหนังสือของท่านพุทธทาสมาหลายต่อหลายเล่มแล้วก็ตาม และแม้จะเคยนั่งสมาธิมาบ้าง (ทั้งแนวเซน และแนวเถรวาท) ศึกษาปรัชญาเซนด้วยตนเองมาบ้าง แต่เมื่อมาเข้าอบรมเข้มที่สวนโมกข์นานาชาติแห่งนี้ ได้ฟังเนื้อหาธรรมะที่วิทยากรได้บรรยาย สลับกับการฝึกจริงด้วยการนั่งสมาธิ ทำให้ผมตระหนักว่าความรู้ที่ศึกษาเอาด้วยตนเองนั้นยังน้อยยิ่งนัก

เนื้อหาธรรมะในแนวทางของสวนโมกข์ประกอบด้วยสามเรื่องใหญ่ๆ คือ
๑. อิทัปปัจยตา : พูดถึงกฎของธรรมชาติ อันเป็นกฎสากลที่บังคับและควบคุมทั้งจักรวาล กฎข้อนี้สรุปได้สั้นๆว่า สิ่งทั้งปวงเกิดขึ้นได้เพราะมีเหตุและปัจจัย “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี, เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น;เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี, เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ” อิทัปปัจยตา จึงกล่าวถึงเหตุและปัจจัยที่ก่อให้เกิดผล และผลนั้นก็กลายเป็นเหตุและปัจจัยของผลอื่นที่ตามมาอีก พัวพันเกี่ยวเนื่องเป็นปัจยาการครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างไม่สิ้นสุด

๒. ปฏิจจสมุปบาท : เป็นกลไกการทำงานของจิตใจ (หรือจิตวิญญาณ) ประกอบด้วยกลไกสิบสองขั้นตอนในการทำงานของจิตใจ ซึ่งเป็นไปตามอิทัปปัจยตา คือเพราะมีเหตุและปัจจัย จึงเกิดผล และผลนั้นก่อตัวเป็นเหตุและปัจจัยต่อเนื่อง หมุนรอบไปเรื่อย การทำงานนี้เกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วนและรวดเร็วราวสายฟ้า นั่นหมายถึงการที่เรา เกิด-ตาย ในแต่ละวันนับครั้งไม่ถ้วนนั่นเอง [๕]



๓. อานาปานสติ : เมื่อเรียนรู้กฎของธรรมชาติ, กลไกการทำงานของจิตใจ และรู้ว่าผลของมันบางประการสร้างความทุกข์ให้กับผู้เป็นเจ้าของ จึงมีผู้คิดวิธีแก้ไขหรือดับเหตุแห่งทุกข์นั้น ซึ่งเป็นการดับทุกข์แบบถูกต้อง (วิธีไม่ถูกต้องก็เช่นการทำลายผัสสะ ทำลายทวารรับรู้โลก เช่นทำให้ตาบอด ทำให้หูหนวก เพื่อจะได้ไม่ต้องรับรู้ แต่ทำให้ดำเนินชีวิตด้วยความไม่สะดวก และไม่สามารถป้องกันกิเลสที่เกิดจากจิตใจที่เป็นผู้สร้างขึ้นได้) อานาปานสติ ประกอบด้วยสี่หมวดใหญ่ คือ
๑ กายานุปัสนาสติปัฎฐาน
๒ เวทนานุปัสนาสติปัฎฐาน
๓ จิตตานุปัสนาสติปัฎฐาน
๔ ธัมนานุปัสนาสติปัฎฐาน

ในแต่ละหมวด จะมีอีกสี่ขั้นย่อย รวมทั้งหมดจึงมี ๑๖ ขั้นตอน

อานาปานสติ เป็นการสังเกต ศึกษา กลไกการทำงานของจิตใจ หรือปฏิจสมุปบาท ด้วยการใช้ลมหายใจเป็นเครื่องมือในการกำหนดจิต

การใ้ช้ลมหายใจ เป็นความลับของนักคิดฝ่ายตะวันออกมานานแล้ว ผู้ฝึกวิทยายุทธจะเรียนรู้ว่า การรักษาจังหวะลมหายใจจะมีผลต่อวิทยายุทธ์ของเขา ในหนังสือวิทยายุทธ์เซน ของไทเซน เดชิมารุ จะบอกให้เรารู้ว่า จังหวะลมหายใจออกจะเป็นช่วงที่ร่างกายมีความแข่งแกร่ง ในขณะที่ช่วงหายใจเ้ข้าเป็นช่วงที่เป็นจุดอ่อนของร่างกาย [๖]

หากเราลองหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ (ทำสักสามครั้งติดต่อกัน) จะรู้สึกว่าจิตใจแจ่มใสขึ้น ร่างกายสบายขึ้น นี่เป็นผลกระทบของลมหายใจที่มีต่อร่างกาย ในขณะที่การหายใจเข้าออกสั้นๆถี่ๆ หลายครั้งติดกัน ก็จะทำให้จิตใจเกิดความเคร่่งเครียด ร่างกายรู้สึกไม่สบาย นี่เป็นผลกระทบในทางลบของลมหายใจที่มีต่อร่างกาย -- การศึกษาและทดลองเปลี่ยนแปลงลักษณะของลมหายใจ เพื่อสังเกตผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจนี้จึงเรียกว่า กายานุปัสนากัมมัฎฐาน จุดมุ่งหมายในขั้นสุดท้ายของหมวดนี้คือ การทำให้ลมหายใจเข้าออก ยาวและลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในขณะเดียวกันก็บางและเบาที่สุดเท่าที่จะทำได้ เปรียบเหมือนว่าหากเอาปุยสำลีมาวางจ่อไว้ที่ปลายจมูก ลมหายใจนั้นก็ไม่สามารถทำให้ปุยสำลีนั้นเคลื่อนไหวได้เลย

ลมหายใจแบบนี้ ทำให้ร่างกายสงบระงับ พร้อมกับการตั้งสมาธิเพื่อศึกษาดูการเปลี่ยนแปลงและกลไกการทำงานของจิตใจในขั้นถัดไปคือ เวทนานุปัสนาสติปัฎฐาน

อานาปานสติจะเป็นคู่มือเพื่อให้เราฝึกฝน และทำความรู้จักความลับของกลไกการทำงานของจิตใจทีละขั้นๆ และหากปฏิบัติไปตามลำดับบ่อยครั้งเข้า ก็สามารถบังคับจิตมิให้หวั่นไหวไปกับกิเลส ๓ (โลภะ, โทสะ และโมหะ) และนิวรณ์ ๕ ได้คือ


  • กามฉันทะ คือความยินดี พอใจ เพลิดเพลินในกามคุณอารมณ์ ได้แก่ ความยินดี พอใจในรูป รส กลิ่น เสียง โผฎฐัพพะ(สิ่งสัมผัสทางกาย) อันน่ายินดี น่ารักใคร่พอใจ รวมทั้งความคิดอันเกี่ยวเนื่องด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น (คำว่ากามในทางธรรมนั้น ไม่ได้หมายถึงเรื่องเพศเท่านั้น) คือ ธรรมารมณ์
  • พยาปาทะ คือ ความโกรธ ความพยาบาท ความไม่พอใจ ขัดเคืองใจ
  • ถีนมิทธะ แยกเป็นถีนะคือความหดหู่ท้อถอย และมิทธะคือความง่วงเหงาหาวนอน ถีนะและมิทธะนั้นมีอาการแสดงออกที่คล้ายกันมาก คือทำให้เกิดอาการเซื่องซึมเหมือนกัน แต่มีสาเหตุที่ต่างกันคือ ถีนะเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง เกิดจากการปรุงแต่งของจิต ทำให้เกิดความย่อท้อ เบื่อหน่าย ไม่มีกำลังที่จะทำความเพียรต่อไป ส่วนมิทธะนั้นเกิดจากความเมื่อยล้าอ่อนเพลียของร่างกาย หรือจิตใจจริง ๆ เนื่องจากตรากตรำมามาก หรือขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ หรือการรับประทานอาหารที่มากเกินไป มิทธะนี้ไม่จัดเป็นกิเลส (พระอรหันต์ไม่มีถีนะแล้ว แต่ยังมีมิทธะได้เป็นบางครั้ง)
  • อุทธัจจกุกกุจจะ แยกเป็นอุทธัจจะคือความฟุ้งซ่านของจิต และกุกกุจจะคือความรำคาญใจ อุทธัจจะนั้นคือการที่จิตไม่สามารถยึดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นเวลานาน จึงเกิดอาการฟุ้งซ่าน เลื่อนลอยไปเรื่องนั้นที เรื่องนี้ที ส่วนกุกกุจจะนั้นเกิดจากความกังวลใจ หรือไม่สบายใจถึงอกุศลที่ได้ทำไปแล้วในอดีต ว่าไม่น่าทำไปอย่างนั้นเลย หรือบุญกุศลต่างๆ ที่ควรทำแต่ยังไม่ได้ทำ ว่าน่าจะได้ทำอย่างนั้นอย่างนี้
  • วิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ หรือไม่ปักใจเชื่อว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด หรือควรทำแบบไหนดี จิตจึงไม่อาจมุ่งมั่นในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้อย่างเต็มที่ สมาธิจึงไม่เกิดขึ้น


เป้าหมายสุดท้ายของอานาปานสติ เป็นการปลดกิเลสทั้งปวงออกจากจิตใจ คือหมายถึงการเข้าถึงนิพพาน จิตใจที่ปราศจากกิเลส จะเป็นจิตที่พร้อมจะสร้างประโยชน์สุขให้กับทั้งตนเองและผู้อื่น เป็นจิตที่มีลักษณะ สงบ - เย็น และเป็นประโยชน์นั่นเอง


---


กิจวัตรประจำวันที่สวนโมกข์นานาชาติดำเนินไปจนกระทั่งเกือบจะครบเป็นเวลาสิบวัน ผมรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในจิตใจตนเอง ทั้งมุมมองที่มีต่อธรรมชาติ และความรู้สึกที่มีต่อทั้งตนเองและต่อโลก

เนื่องจากมีข้อแนะนำว่าการทำอานาปานสติที่ได้ผลจะต้องทำตลอดเวลา ทุกอิริยาบท ในคืนหนึ่ง, ผมจำได้ว่าผมกำหนดจิต และทำอานาปานสติแม้แต่ในยามหลับ ผมรู้สึกตัวเองตั้งแต่ก่อนหลับ ยามหลับ ไปจนกระทั่งตื่น และแน่ใจว่าไม่ได้เป็นการคิดไปเอง หรือเป็นการนอนไม่หลับ เพราะไม่ได้มีอาการง่วงเหงาหาวนอนแม้แต่น้อย

ความประทับใจ และมุมมองใหม่ที่ผมมีต่อธรรมชาติ ทำให้ในเช้าตรู่วันหนึ่ง ยามที่เราเดินเท้าจากสวนโมกข์นานาชาติ เพื่อข้ามไปยังสวนโมกข์ฝั่งเขาพุทธทอง

ยามที่ผมเดินตามแถวของกลุ่มคน ที่มีแสงไฟฉายจับเป็นวงไปตามทางเดินดินลูกรังเป็นระยะ

ยามที่ท้องฟ้ายังคงมืดสนิท เต็มไปด้วยแสงดาวดารดาษเต็มท้องฟ้า

ยามที่มีเสียงนกร้อง และเสียงไก่ขัน

ยามที่ได้กลิ่นดิน กลิ่นหญ้าคาเปื้อนน้ำค้างยามเช้า, กลิ่นฟืนไฟตามบ้านหลังเล็กของชาวบ้านริมทาง

ผมนึกถึงโศลกเซนของเรียวกัน [๗]


ฝนหยุดตกแล้ว หมู่เมฆพลันลอยล่องลม
ท้องฟ้าแจ่มกระจ่างอีกครา
ถ้าใจของท่านผ่องใส
สรรพสิ่งภายในโลกของท่านย่อมพลอยสดใส
ลืมโลกที่สับสน ลืมตัวท่านเอง
แล้วดวงเดือนและดอกไม้
จะจูงท่านไปตาม "ทาง".



---


ในวันสุดท้ายคณะที่เข้าอบรม จึงได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ในบริเวณสวนโมกข์พลารามฝั่งเขาพุทธทอง และผมก็ได้รับความประทับใจอีกครั้ง จากศิลปะและอาคารสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีเอกลักษณ์และถูกกำหนดไว้เป็นอุปกรณ์ให้การศึกษาธรรมะได้ทุกชิ้น

ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ที่ยอดเขาพุทธทอง เป็นโบสถ์ธรรมชาติตั้งแต่ครั้งพุทธกาล กล่าวคือมีต้นไม้เป็นผนังโบสถ์ มีท้องฟ้าเป็นหลังคา มีดินทราย เป็นพื้นโบสถ์ ซึ่งโบสถ์ยอดเขาพุทธทองแห่งนี้ถูกใช้ทำศาสนกิจประจำสวนโมกข์จริงๆ มิได้ตั้งขึ้นมาเพียงเพื่อความสวยงาม หรือเป็นสัญลักษณ์เท่านั้น

โรงมหรศพทางวิญญาณ ที่บรรจุและเต็มไปด้วยภาพวาด ทั้งภาพแนวเซน ภาพเขียนจีน ภาพลายเส้นไทยโบราณ ภาพแบบสมัยใหม่ ซึ่งทุกภาพก็มีวัตถุประสงค์ในการสอนธรรมะทั้งสิ้น



ลานหินโค้ง เป็นทั้งลานตักบาตร และแสดงธรรม มีพื้นดินทรายเป็นพื้นห้องเรียน และก้อนหินเป็นโต๊ะและเก้าอี้

สระนาฬิเกร์ สอนธรรมะของคนโบราณ โดยจำลองมาจากบทเพลงกล่อมลูกของคนปักษ์ใต้ที่ว่า “ เอ่อน้องเอย มะพร้าวนาฬิเกร์ ต้นเดียวโนเน กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง กลางทะเลขี้ผึ้ง ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญเอย ” อันแสดงถึงภูมิปัญญาของปู่ ย่า ตา ยาย ที่ฝากปริศนาธรรมชั้นโลกุตตระ ด้วยสุนทรียารมณ์ ไว้ในตัวลูกหลาน ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ โตขึ้นวันใดแก้ปริศนานี้ตก ดวงตาก็สว่าง ชีวิตก็เข้าสู่กระแสนิพพาน

รูปปั้นพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นคติทางฝ่ายมหายาน อันเป็นนิกายที่เจริญรุ่งเรืองแถบไชยาในสมัยโบราณ

ชมภาพ ๓๖๐ องศา รอบทิศทางของบรรยากาศในสวนโมกข์ได้ที่นี่

การไปอบรมที่สวนโมกขพลาราม จึงสร้างความประทับใจและงดงาม ตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง จนบั้นปลาย และนอกจากความประทับใจแล้วยังได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง

แม้นมิได้เข้าไปกราบนมัสการท่านพุทธทาส แม้นว่าท่านมิได้ออกมาให้คำบรรยายด้วยตนเอง แต่ผมก็รู้สึกราวกับว่า ท่านพุทธทาสได้เมตตาถ่ายทอดและสอนธรรมะให้กับคณะผู้เข้ารับการอบรมด้วยตัวท่านเอง

และนั่นเป็นประสบการณ์ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่ผมได้ไปกราบนมัสการท่านพุทธทาสในขณะที่ท่านยังคงมีชีวิตอยู่

เพราะถัดจากนั้นอีกสองปี วันที่ ๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๖ เวลา ๑๑.๒๐ นาฬิกาท่านพุทธทาสก็มรณภาพ



มรณกรรมและพิธีศพของท่านพุทธทาสก็เป็นการสอนสั่งธรรมะให้กับพุทธศาสนิกเป็นครั้งสุดท้าย แสดงให้เห็นถึงความไม่เที่ยงแท้ถาวรของชีวิต งานศพของท่านถูกจัดขึ้นอย่างเรียบง่ายแบบชาวบ้าน และเป็นไปตามพินัยกรรมที่ท่านได้กำหนดไว้ [๘]

แม้ท่านอาจารย์พุทธทาสจะจากไปแล้ว แต่หนังสือและคำสอนของท่านพุทธทาส จะยังคงเป็นเสมือนตัวแทนของท่านคอยชี้แนะแนวทางสู่นิพพานอย่างไม่เสื่อมคลาย วาทะของท่านพุทธทาสยังคงแว่วดังให้สาธุชนได้สดับตรับฟังอยู่เสมอ

ไม่ว่าจะเป็น

"เราไม่สามารถถึงกับพลิกแผ่นดิน เราสามารถเพียงทำไปเรื่อย ๆ ตามสติกำลัง มีผลเท่าไรก็เอาเท่านั้น แต่เราหวังอยู่ว่า การกระทำด้วยความจงรักต่อพระสาสนาของเรานี้ อาจมีคนเอาไปคิดไปนึก แล้วอาจมีคนทำตามมากขึ้น จนกระทั่งผู้มีอำนาจท่านทำ หรือประชาชนทั้งโลกพากันทำ มันก็อาจมีการพลิกแผ่นดินได้เหมือนกัน แม้เราจะไม่ได้พลิกเอง ผลก็เท่ากัน เราคงยังเจียมตัว และไม่ต้องอกแตกตายเพราะข้อนั้น"


และ

"การทำงานคือการปฏิบัติธรรม"




ถือเป็นความโชคดี ที่เราได้เกิดมาร่วมยุคร่วมสมัยกับท่านพุทธทาส เพราะท่านเป็นพระที่ถือได้ว่าปฏิรูปคำสอนของพระพุทธศาสนา ซึ่งอันที่จริงกลับเป็นการสืบค้น และศึกษากลับไปยังธรรมะที่เป็นต้นฉบับของพระพุทธเจ้า และเมื่อท่านพุทธทาสมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ท่านก็ได้ถ่ายทอดธรรมะตลอดช่วงเวลาของอายุที่เหลือของท่าน ตราบจนวาระสุดท้าย

โดนาลด์ เค สแวเรอร์ (Donald K. Swearer) นักวิชาการชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญพุทธศาสนาของไทย ได้ประเมินบทบาทและสถานะของพุทธทาสภิกขุในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทไว้ดังนี้ [๙]


"ประวัติศาสตร์คงจะเก็บบันทึกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับท่านพุทธทาสในฐานะนักคิดฝ่ายเถรวาท ผู้ซึ่งมีแนวความคิดที่เป็นต้นแบบและทรงอิทธิพลที่สุด นับตั้งแต่พุทธโฆษาจารย์เป็นต้นมา และอาจประเมินบทบาทของพุทธทาสภายในวัฒนธรรมชาวพุทธ ให้เสมอกับนักคิดชาวพุทธอินเดีย ที่ยิ่งใหญ่อย่างเช่นนาคารชุน[๑๐]"




เชิงอรรถ
[๑] บทกวีแด่ท่านอาจารย์พุทธทาส โดย อังคาร กัลยาณพงศ์
[๒] เมืองไชยา เป็นชื่อเดิมของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเมืองเก่าแก่
มีหลักฐานว่าในพุทธศตรรษที่ 13 รวมอยู่กับอาณาจักรศรีวิชัย เมื่ออาณาจักรนี้เสื่อมลงจึงแยกออกเป็น 3 เมือง คือ เมืองไชยา เมืองท่าทอง และเมืองคีรีรัฐ ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาในรัชสมัยของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ย้ายเมืองท่าทองมาตั้งที่บ้านดอน และยกฐานะเป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ พระราชทานนามว่า เมืองกาญจนดิษฐ์
ครั้งเมื่อมีการปกครองแบบมณฑล ได้รวมเมืองทั้งสามเป็นเมืองเดียวกันเรียกว่า เมืองไชยา ต่อมา พ.ศ.2458 รัชกาลที่ 6
โปรดฯให้เปลี่ยนชื่อเมืองไชยามาเป็นเมืองสุราษฎร์ธานี แปลว่า เมืองแห่งคนดี ศูนย์กลางอาณาจักรศรีวิชัย เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุดในภาคใต้
[๓] แก่นพุทธศาสน์
[๔] ท่านที่สนใจสามารถสมัครเข้ารับการฝึกอบรมอานาปานสติภาวนาที่สวนโมกข์นานาชาติได้ อ่านรายละเอียดที่เว็ปไซต์มัญชุศรี
[๕] อ่านรายละเอียดของปฏิจจสมุปบาทได้จาก "พุทธทาสภิกขุกับภาพปฏิจจสมุปบาท"
[๖] The Zen Way to Martial Arts : A Japanese Master Reveals the Secrets of the Samurai , Taizen Deshimaru Roshi
[๗] กวีนิพนธ์ของเรียวกัน แปลโดย สมภาร พรมทา, กรกฎาคม 2525 สำนักพิมพ์พุทธชาด
[๘] อาการอาพาธขั้นสุดท้ายของท่านพุทธทาส (๑) , (๒)
[๙] อ้างอิงจาก พุทธทาสในบริบทของสังคมไทย โดย ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ อ่านข้อเขียนที่อ้างถึงดังกล่าวได้ใน Donald K.Swearer, “Introduction,” in Bhikkhu Buddhadasa. Me and Mine, edited with an introduction by Donald K. Swearer (Albany, New York : State University of New York Press. 1989),p.2.
[๑๐] ประวัติของท่านนาคารชุน

ข้อมูลเพิ่มเติมประวัติของท่านพุทธทาส

กฎหมาย ความชอบธรรม ศีลธรรม และ ความยุติธรรม?

การขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปของตระกูลชินวัตร-ดามาพงษ์ ให้กับกลุ่มเทมาเส็คของสิงคโปร์ ทำให้สังคมไทยเติบโตขึ้นเมื่อต้องเรียนรู้การดำรงดุลยภาพระหว่างอุดมคติ และ ความเป็นจริง กันอีกครั้ง

ข้อวิพากษ์หลายประการที่เกิดขึ้น เพื่อตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของดีลนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเจตนาการหลีกเลี่ยงภาษี, เจตนาการเบี่ยงเบนและอำพรางธุรกรรมไว้ภายใต้บริษัทที่เป็นสวรรค์ของการเลี่ยงภาษี, เจตนาการหลีกเลี่ยงข้อบังคับเพดานผู้ถือหุ้นต่างด้าวในกิจการของคนไทย ตลอดไปจนถึง อธิปไตยและความมั่นคงของชาติในกรณีที่สิทธิ์วงโคจรดาวเทียมของประเทศตกไปอยู่ในมือของผู้ถือหุ้นต่างชาติไปแล้ว

แต่หากพิจารณาให้ดี หัวใจของข้อวิพากษ์เหล่านี้ ต่างมุ่งย้ำลงไปตรงที่ ศีลธรรม และ ความยุติธรรม

เนื่องจากว่า แม้ว่าดีลนี้จะถูกกฎหมาย (คือได้รับคำยืนยันจากผู้เกี่ยวข้องว่าไม่ผิดกฎหมาย) แต่มีคนจำนวนมากรู้สึกว่าดีลนี้ไม่ชอบธรรม แต่ในเมื่อไม่อาจหาเหตุผลในเชิงกฎหมายได้ จึงต้องชูประเด็นเรื่องของศีลธรรมขึ้นมา

บางคนถึงกับกล่าวว่า แม้จะถูกต้องตามข้อกฎหมาย แต่ไม่ถูกต้องตามเจตนารมย์ของกฎหมาย (ซึ่งมุ่งเน้นเรื่องความถูกต้องทางจริยธรรมมากกว่า)

คุณทักษิณซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อยู่ในศูนย์กลางอำนาจของรัฐไทย ถูกมองว่าจะต้องมีจริยธรรมมากกว่าคนทั่วไป ตามธรรมเนียมดั้งเดิมที่เรียกร้องให้ผู้ปกครองมีธรรมะของผู้ปกครอง อาทิ เช่น ทศพิศราชธรรม ราชสังคหวัตถุ และ จักรวรรดิวัตร เป็นต้น

แม้ว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ จะมีข้อห้ามไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีความเกี่ยวข้องในหุ้นส่วน หรือกิจการของบริษัทเอกชน แต่คนก็ยังมองว่าคุณทักษิณ มีความเกี่ยวข้องไม่ว่าโดยตรงก็โดยอ้อมกับกลุ่มชินคอร์ปอยู่ดี

เมื่อคนมองว่าดีลการขายหุ้นที่เกิดขึ้น ไม่มีความถูกต้องชอบธรรม จึงเป็นธรรมดาที่คนย่อมต้องมองไปถึงว่า คุณทักษิณไม่สามารถรักษาธรรมะของผู้ปกครอง ตามธรรมเนียมดั้งเดิมได้ (แม้ว่าธรรมะเหล่านี้ไม่ได้ถูกระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ) จึงย่อมทำให้คุณทักษิณหมดความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อันเป็นตำแหน่งประมุขของฝ่ายบริหารรัฐไทยไปด้วย เมื่อคุณทักษิณยังคงดื้อดึงไม่ลาออกจากตำแหน่งตามการเรียกร้อง ก็ย่อมต้องถูกประนามว่าเป็นทรราชย์ผู้หลงยึดมั่นถือมั่นในอำนาจ

สมมติว่าบทความนี้จบลงตรงนี้ ก็คงเป็นบทความตามกระแส และย่อมจะสนับสนุนความชอบธรรมของผู้ออกไปเรียกร้องให้คุณทักษิณ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งคนเหล่านั้นก็คาดหวังว่าคุณทักษิณจะลาออกตามคำเรียกร้อง และประเทศชาติก็จะกลับคืนสู่ความปกติสุข เนื่องจากทรราชย์ได้พ้นออกไปจากการปกครองของประเทศแล้ว

แต่เผอิญที่บทความนี้ไม่ใช่บทความตามกระแส และในโลกแห่งความเป็นจริง บทจบแบบสุขนาฎกรรมแบบโรแมนติค (romantic happy ending) ไม่เคยมีจริง

โลกแห่งความเป็นจริง ซับซ้อน และโหดร้ายกว่านั้น


===


อันที่จริง มีคำถามถึงสังคมไทยที่ชอบมีความฝันแบบโรแมนติคหลายประการ ตัวอย่างเช่นการเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจ หรือนักการเมือง เป็นผู้มีธรรมะในจิตใจ (ซึ่งในโลกความเป็นจริงไม่เคยมี แต่นักการเมืองเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่คำนึงถึงตนเองเป็นหลัก) หรือเรียกร้องให้ประชาชนทุกหมู่เหล่ามีความสมัครสมานสามัคคีกันพัฒนาประเทศชาติ (ซึ่งในโลกความเป็นจริง ก็มิได้เป็นเช่นนั้น เพราะประชาชนก็เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่คำนึงถึงตนเองเป็นหลัก ผลลัพธ์ของความเป็นไปในชาติ จึงเป็นผลมาจากการเรียกร้องผลประโยชน์และการปะทะกันของกลุ่มอำนาจต่าง ๆ ในสังคม) ...หากมีเวลา ผู้เขียนบทความคงจะมากล่าวถึงข้อเท็จจริงในเรื่องเหล่านี้ยาว ๆ ในภายหลัง

แต่บทความนี้จะพูดถึงหัวใจของข้อวิพากษ์อันเป็นที่มาของชื่อบทความนี้ คือ กฎหมาย ความชอบธรรม ศีลธรรม และความยุติธรรม

คำถามชั้นแรกของบทความนี้คือ ความชอบธรรมที่ควรจะเป็นนั้น ควรจะเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย หรือควรจะเป็นไปตามศีลธรรม และความยุติธรรม

หรือจะนิยามความชอบธรรมสองระบบ ระบบหนึ่งนิยามให้แก่ประชาชนที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการ คือทำให้ถูกตามตัวบทกฎหมายก็เพียงพอ

ส่วนความชอบธรรมสำหรับนักการเมืองและข้าราชการนั้น ทำให้ถูกตามตัวบทกฎหมายไม่เพียงพอ แต่จำเป็นจะต้องมีศีลธรรม และความยุติธรรมด้วย หากไม่มีศีลธรรม ไม่มีความยุติธรรม ก็มีความถูกต้องชอบธรรมที่จะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อขับนักการเมืองและข้าราชการผู้นั้นให้พ้นจากหน้าที่?

อันนี้ถือว่าเป็นมาตรฐานซ้อนของสังคมไทยหรือไม่ ผู้เขียนเองก็ยังไม่แน่ใจ


===


ว่าด้วยความชอบธรรมของระบบศีลธรรม

คนกลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่า ศีลธรรม มีความชอบธรรมในการควบคุมเสถียรภาพของสังคม ความเชื่อเช่นนี้เป็นความเชื่อที่มีมาแต่สมัยสังคมเกษตรกรรมโบราณ อันเป็นสังคมที่ความเชื่อทางศาสนายังมีอิทธิพลสูง ความเชื่อทางศาสนาจึงมีบทบาทในการควบคุมเสถียรภาพทางสังคมผ่านเครื่องมือที่ชื่อว่าระบบศีลธรรม

แต่การใช้ระบบศีลธรรม มาเป็นเครื่องมือในการตัดสินปัญหา ก็ยังมีข้อบกพร่องดังต่อไปนี้

1. ความซับซ้อนของสังคมและความเหมาะสมกับการใช้ระบบศีลธรรมมาตัดสินปัญหา

ต้องถือเป็นความโชคดีของสังคมในสมัยเกษตรกรรมโบราณที่ปัญหาทางจริยธรรมสามารถตัดสินกันได้โดยง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อนเท่าในปัจจุบัน

ตัวอย่างเช่นระบบศีลห้าของพุทธศาสนา ได้มีการออกแบบให้มีการจัดการปัญหาจริยธรรมในสังคมเกษตรกรรมโบราณสำหรับความผิดตรงไปตรงมาเท่านั้น เช่นศีลข้อแรก (ปาณาติบาต - ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต) มีคำอธิบายเชิงรายละเอียดในอรรถกถาว่า บุคคลจะละเมิดศีลข้อนี้ก็ต่อเมื่อ

  • สัตว์ที่เขาฆ่านั้นก่อนตายเคยมีชีวิตมาก่อน (เห็นสัตว์ตาย แต่เข้าใจว่าสัตว์นั้นยังหลับอยู่ แล้วเอามีดแทงสัตว์ตายนั้น ก็ไม่ถือว่าผิด)
  • ก่อนหรือขณะลงมือ เข้าใจว่าสัตว์นั้นมีชีวิต (เห็นสัตว์หลับ แต่เข้าใจว่าสัตว์นั้นตายแล้ว ลองเอามีดแทงสัตว์นั้นตายจริง ๆ ก็ไม่ถือว่าผิด)
  • ลงมือกระทำการ (ด้วยอาวุธ หรือวิธีการใด ๆ)
  • สัตว์ตายจากการที่ลงมือนั้น


จะเห็นว่าคำอธิบายแบบนี้ ใช้วินิจฉัยความผิดทางจริยธรรมได้เพียงพอสำหรับสังคมในสมัยนั้น แต่สำหรับสังคมในสมัยปัจจุบันที่มีความซับซ้อนขึ้น ก็มีคำถามว่า ระบบศีลห้านี้มีคำอธิบายเพียงพอสำหรับความผิดทางศีลธรรมในปัจจุบันหรือไม่ ตัวอย่างเช่น การุณยฆาต กรณีคนไข้ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้, ทหารที่ปกป้องประเทศตามหน้าที่, ผู้ก่อการร้ายที่มีความเชื่อว่า การก่อวินาศกรรมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม, ตำรวจวิสามัญฆาตกรเพื่อป้องกันตัว เป็นต้น

2. ความขัดแย้ง ในกรณีคำสอนทางศาสนาที่มีความแตกต่างกัน

ข้อด้อยประเด็นถัดมาของการใช้ระบบศีลธรรมเป็นเครื่องมือในการควบคุมเสถียรภาพของสังคมก็คือ การที่แต่ละศาสนามีชุดความเชื่อในการกำหนดระบบศีลธรรมที่แตกต่างกัน จนอาจจะถึงขั้นขัดแย้งกัน

ตัวอย่างที่พอจะยกให้เห็นชัดได้ คือกรณีที่ในศาสนาฮินดูที่เรียกร้องให้ภรรยาหม้ายต้องฆ่าตัวตายตามสามี หรือระบบวรรณะที่แบ่งชั้นของคนออกเป็นสี่กลุ่มคือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร และคนนอกวรรณะคือจัณฑาลที่ได้รับการปฏิบัติจากคนวรรณะอื่นอย่างเหยียดหยามมาก ซึ่งถ้าวินิจฉัยตามความเชื่อในปัจจุบันก็ต้องถือว่าระบบศีลธรรมของฮินดูดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชนสากล

กรณีขัดแย้งที่เห็นชัดกว่านี้ก็คือ หากสังคมใดสังคมหนึ่งจะต้องตัดสินใจว่า จะอนุญาตให้สตรีที่ถูกข่มขืนทำแท้งได้หรือไม่ สำหรับศาสนาที่มีความเชื่อในพระเจ้าและเชื่อว่าพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ พระเจ้าจึงเป็นเจ้าของชีวิตมนุษย์ มนุษย์ไม่มีสิทธิในชีวิตตน และชีวิตผู้อื่น การทำแท้งในความเชื่อของศาสนานี้จึงผิดบัญญัติทางศาสนา เนื่องจากเป็นการกระทำที่ท้าทายอำนาจของพระเจ้า จึงถือเป็นบาป

ในขณะที่ศาสนาแบบอเทวนิยม ไม่เชื่อว่ามีชาติหน้า ชุดความเชื่อของศาสนานี้จึงเห็นว่ามนุษย์เป็นเพียงสสารที่รวมตัวกันและเกิดเป็นชีวิตขึ้น ทารกในครรภ์ตามความเชื่อของศาสนานี้จึงยังไม่ถือว่าเป็นมนุษย์ การทำแท้งจึงไม่ได้เป็นฆ่าคนเพราะไม่ได้ละเมิดใคร ดังนั้นการทำแท้งจึงไม่ผิดศีลธรรม ตามชุดความเชื่อของศาสนาแบบนี้

คำถามที่น่าสนใจต่อกรณีนี้ก็คือ ในเมื่อศีลธรรมตามชุดความเชื่อของแต่ละศาสนานั้น มีความแตกต่างกัน การใช้ระบบศีลธรรมตามชุดความเชื่อของศาสนาใดศาสนาหนึ่งเข้ามาควบคุมเสถียรภาพของสังคม มีความชอบธรรมเพียงใด และเป็นการ "ยัดเยียด" ให้คนที่ไม่ได้มีศรัทธาในศาสนานั้น ๆ ต้องปฏิบัติตามหลักคำสอนที่ตนไม่ได้ศรัทธาตามไปด้วยหรือไม่

3. ความขัดแย้งในกรณีการตีความที่แตกต่างของคำสอนในศาสนา และกรณีจริยธรรมสองระบบในศาสนาพุทธ

แม้แต่ในศาสนาเดียวกันเอง ก็อาจตีความคำสอนของศาสดาในแต่ละศาสนาต่างกันออกไปได้ ดังเช่นจะเห็นความพยายามตีความคำสอนของศาสดาในศาสนามุสลิมออกมาเป็นสองแนวทาง คือการต่อสู้เพื่อความชอบธรรม จนกระทั่งกลายเป็นเครื่องมือหลักของกลุ่มผู้ก่อการร้ายหัวรุนแรง ในขณะที่ก็มีกลุ่มมุสลิมสายกลางตีความคำสอนออกมาในแนวทางสงบสันติเป็นต้น

สมมติว่าหากแม้นว่ามีการตีความคำสอนของศาสดาออกไปในแนวทางเดียวกัน แต่ศาสนาบางศาสนาก็ยังมีระบบจริยธรรมอยู่สองระบบในชุดความเชื่อเดียวกัน ตัวอย่างเช่นในศาสนาพุทธเป็นต้น

เราคงเคยได้ยินว่าภาษาในพุทธศาสนามีอยู่สองแบบคือ ภาษาคนและภาษาธรรม

มีการศึกษาปรัชญาของพุทธศาสนาและสรุปออกมาเป็นทฤษฎีว่า พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมด้วยภาษาสองแบบ คือภาษาธรรม (ภาษาปรมัตถ์ หรือปรมัตถ์โวหาร) และภาษาคน (ภาษาสมมติ หรือสมมติโวหาร) [อ่านงานเขียนเกี่ยวกับเรื่องภาษาคนและภาษาธรรมได้โดยละเอียด จากงานเขียนหลายฉบับ ของท่านเจ้าคุณอาจารย์พุทธทาสภิกขุ]

ภาษาปรมัตถ์เป็นภาษาที่ชี้ไปยังความเป็นจริงเชิงปรมัตถ์ (ultimate realities) ส่วนภาษาสมมติก็จะชี้ไปยังความจริงอย่างสมมติ (สมมติสัจจะ) ซึ่งบ่อยครั้งที่กรอบความคิดของสองภาษาอาจมีข้อขัดแย้งกัน ตัวอย่างเช่น หลักธรรมเรื่องความกตัญญูกตเวที กรอบความคิดในเชิงปรมัตถ์จะมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างพ่อม แม่ ลูก เป็นเพียงกระแสแห่งสนามธรรมชาติ (field of nature) ที่จิตเจตสิก และรูปจำนวนหนึ่งกำลังโลดแล่นไปตามเหตุปัจจัย (ปัจจยาการ หรืออิททัปปัจยตา) ภายใต้สนามแห่งธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีบุคคล ไม่มีเรา ไม่มีเขา ยากจะชี้ว่ารูปและนามชุดนี้ ควรจะกตัญญูต่อรูปและนามอีกชุดหนึ่ง

แต่กรอบความคิดในเชิงสมมติสัจจะ เช่นมังคลัตถทีปนี (อรรถกถามงคลสูตร) จะอรรถาธิบายความสัมพันธ์ระหว่างพระคุณของพ่อแม่ ซึ่งประสบความยากลำบากมากเพียงใดกว่าจะประคับประคองลูกจนเติบใหญ่ขึ้นมาได้ กล่าวได้ในอีกทางหนึ่งว่าหากเป็นความสัมพันธ์เชิงสังคม ย่อมมีความต้องการภาษาสมมติเพื่อกำหนดกรอบจริยธรรมในการรักษาเสถียรภาพทางสังคมนั่นเอง

คำถามที่น่าสนใจต่อประเด็นนี้คือ เมื่อใดเราจึงจะใช้กรอบความคิดแบบปรมัตถ์และเมื่อใดเราจึงจะใช้กรอบความคิดแบบสมมติ เพื่อวินิจฉัยมูลความผิดในเหตุแห่งศีลธรรม?

4. นอกเหนือจากประเด็นที่สำคัญ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งสามข้อ ยังพบว่าศาสนามีความสัมพันธ์อย่างแน่นหนากับอำนาจในการปกครองบ้านเมือง ประวัติศาสตร์ในอดีตของบ้านเราบ่งชี้ว่า ผู้นำหรือกษัตริย์ในสมัยโบราณมักจะใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการควบคุมสังคมให้อยู่ภายใต้อำนาจ

ในบางครั้ง เมื่อศาสนามีความสัมพันธ์กับอำนาจ จึงอาจเกิดกรณีที่ศาสนาพยายามเข้าไปมีอิทธิพลเหนือศาสนาอื่น ดังเช่นประวัติการต่อสู้เพื่อแย่งชิงพื้นที่ความเชื่อระหว่าง ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธนิกายหินยาน ศาสนาพุทธนิกายมหายาน และศาสนาอิสลาม ในดินแดนเอเชียอาคเนย์เป็นต้น

ผู้สนใจความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับอำนาจการปกครองในสมัยโบราณ ลองอ่านข้อมูลเพิ่มเติมจาก สหายสิกขา : ว่าด้วยรากเหง้าของสยามประเทศไทย

การแย่งชิงพื้นที่ความเชื่อในศาสนานี้ อาจเกิดผลลัพธ์ในลักษณะที่ความเชื่อของศาสนาหนึ่ง (อันเป็นศาสนาใหม่) เข้ามามีอิทธิพล หรือแทรกแซงเข้ามาในอีกศาสนาหนึ่ง (ซึ่งเป็นศาสนาเดิมที่ได้รับความนิยม)


ภาพจาก พุทธทาส.คอม

ตัวอย่างของหลักฐานนี้ดังเช่น ท่านเจ้าคุณอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ได้นำเสนอทฤษฎีว่า อรรถกถาโดยพระพุทธโฆษาจารย์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงคำอธิบายในเรื่องของระบบปฏิจจสมุปบาทของพุทธศาสนาดั้งเดิม ที่ได้อธิบายว่ามนุษย์สามารถจะบรรลุนิพพานได้ในชีวิตปัจจุบัน เปลี่ยนเป็นความเชื่อตามแบบฮินดู (อันเป็นความเชื่อเดิมของพระพุทธโฆษาจารย์) ว่า การบรรลุนิพพานนั้นเป็นการบรรลุแบบข้ามภพ ข้ามชาติ (ตายแล้วเกิดใหม่)

คำถามที่น่าสนใจต่อประเด็นนี้คือ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ชุดความเชื่อที่กำหนดเป็นระบบศีลธรรมในสังคมอันเกิดจากศาสนานั้น เป็นของศาสนาแท้ดั้งเดิม มิใช่ระบบความเชื่อใหม่ที่ถูกแทรกเข้ามาจากศาสนาอื่น และเชื่อได้เพียงไรว่าเป็นระบบศีลธรรมอันเกิดจากความเชื่ออันบริสุทธิ์ในทางศาสนา มิใช่เกิดจากอิทธิพลในทางอำนาจการปกครอง?


===


ว่าด้วยระบบคิดของนิติปรัชญา

ด้วยเหตุที่มีข้อจำกัดหลายประการในการใช้ระบบศีลธรรมเข้ามาเป็นเครื่องมือในการควบคุมเสถียรภาพของสังคม ดังที่เราได้กล่าวไปแล้วข้างต้น จึงมีนักคิดในวงการปรัชญาสังคมและการเมืองชื่อ จอห์น สจ๊วต มิลล์ (John Stuart Mill) ได้ระบุว่าควรจะแยกศีลธรรมกับกฎหมายออกจากกัน

มิลล์ได้วางหลักการที่สำคัญอยู่ข้อหนึ่งในปรัชญาสังคมและการเมือง ก็คือ หลักการละเมิด (The Harm Principle) หลักข้อนี้มีใจความสำคัญว่า หากรัฐจะออกกฎหมายจำกัดเสรีภาพของบุคคล มีเพียงเหตุผลเพียงประการเดียวที่รัฐจะใช้อ้างได้ คือเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลละเมิดหรือสร้างความเสียหายแก่ผู้อื่น

แต่อย่างไรก็ตามมีผู้วิพากษ์แนวคิดของมิลล์ ซึ่งก็คือ เซอร์แพทริค เดฟลิน (Patric Devlin) ซึ่งเขาเชื่อว่าศีลธรรมเป็นโครงสร้างหลักของสังคม และเชื่อว่าสังคมใด ๆ จะดำรงอยู่ไม่ได้หากผู้คนในสังคมนั้น ๆ ส่วนใหญ่ หรือทั้งหมดประพฤติผิดธรรมนองคลองธรรม เดฟลินวิพากษ์แนวคิดของมิลล์ว่า พฤติกรรมบางอย่างแม้จะไม่ชัดเจนว่าเป็นพฤติกรรมที่ทำให้ใครเดือดร้อน แต่คนสามัญทั่วไปมีความรู้สึกว่าเป็นสิ่งผิดศีลธรรม (อาทิเช่นการประกอบอาชีพโสเภณีโดยสมัครใจ หรือการมีความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างคนในครอบครัวเดียวกัน) เดฟลินเชื่อว่าการปล่อยให้มีพฤติกรรมเช่นนี้ก็เท่ากับกฎหมายเปิดช่องให้แก่ความเสื่อมทรามของสังคม แม้ว่าการรักร่วมเพศไม่ได้ละเมิดทำให้ใครเดือดร้อน แต่คำถามที่น่าสนใจของเดฟลินก็คือ สังคมเช่นนี้เป็นสังคมที่น่าอยู่หรือไม่ มีอนาคตหรือไม่

แนวความคิดของเดฟลินที่เชื่อว่าศีลธรรมควรมีส่วนร่วมในการกำหนดเนื้อหาและโครงสร้างของกฎหมายสำหรับใช้ในสังคมนั้น ๆ เรียกว่า Legal Moralsim นอกเหนือจากแนวคิดของเดฟลินแล้ว ศาสนาบางศาสนาเช่นศาสนาอิสลามก็ใช้บทบัญญัติทางศาสนากำหนดขึ้นเป็นตัวบทกฎหมาย (แสดงว่าสังคมอิสลามมีความเชื่อว่าอุดมคติของรัฐหรือสังคมอิสลามควรเป็นไปตามบทบัญญัติตามข้อกำหนดทางศาสนา)

ต่อข้อขัดแย้งในแนวคิดระหว่างชุดความเชื่อทั้งสองแบบนั้น ดูจะหาข้อสรุปลงรอยกันได้ยาก

ศาสตราจารย์ ฮาร์ท (H.L.A. Hart) ได้วิจารณ์ข้อเสนอของเดฟลินว่า การประยุกต์ใช้ระบบศีลธรรมเพื่อวินิจฉัยพฤติกรรมในทางสังคม ไม่สามารถกระทำได้เต็มที่ เป็นเพราะฝ่าย Legal Moralism มิได้แยกความแตกต่างระหว่างศีลธรรมสองประเภทออกจากกัน คือศีลธรรมแบบ positive morality (จริยธรรมที่ศาสนาต่าง ๆ สอนเพื่อให้ศาสนิกของตนยอมรับ โดยบางครั้งอาจไม่ต้องการเหตุผลมาอธิบาย) และศีลธรรมแบบ critical morality (เป็นจริยธรรมที่เป็นสากล ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานของการใช้เหตุผลตรวจสอบ)

แนวคิดของฮาร์ทดูจะเป็นแนวทางที่จะยุติธรรมกับทุกฝ่ายมากที่สุด คือไม่เอาเปรียบกันทั้งในแง่การครอบงำความคิดและการปฏิบัติ เนื่องจากสังคมประกอบด้วยหน่วยความคิด (units of thought) อันหลากหลาย ดังนั้นจึงควรจะเปิดโอกาสอย่างเท่าเทียมกันแก่ทุก ๆ หน่วยความคิดในการกำหนดกฎกติกาในการอยู่ร่วมกัน

การแยกระบบจริยธรรมทั้งสองประเภทออกจากกันยังมีข้อดีในแง่ที่ว่า positive morality เป็นจริยธรรมสำหรับปัจเจกบุคคลที่ต้องการบรรลุเป้าหมายสูงสุดตามคำสอนในแต่ละศาสนา แต่ไม่ต้องกำหนดเป็นตัวบทกฎหมายให้บุคคลอื่นในสังคมที่มิได้มีชุดความเชื่อตามศาสนานั้น ๆ ต้องปฏิบัติตาม

ในขณะที่ critical morality เป็นหลักการทั่วไปที่ทุกคนสามารถเข้าใจและยอมรับได้ในฐานะที่เป็นมนุษย์ ไม่ใช่ในฐานะศาสนิกที่นับถือศาสนานั้น ๆ

หลักการละเมิดของมิลล์จึงถือเป็นหลักการที่เป็น critical morality หลักการหนึ่ง ตามแนวคิดของฮาร์ทนั่นเอง สำหรับข้อวินิจฉัยอื่น ๆ ตามหลัก critical morality ก็ต้องมีการศึกษาวิจัยว่าพฤติกรรมนั้น ๆ จะมีผลกระทบต่อสังคมในเชิงลบหรือไม่อย่างไร แล้วจึงนำมาบัญญัติไว้ในตัวบทกฎหมายต่อไป


===


ว่าด้วยความยุติธรรม

หลักการและคำนิยามในเรื่องความยุติธรรม (หรือความเป็นธรรม) ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีผู้ศึกษากันมากเช่นกัน

หลักการว่าด้วยเรื่องการจัดสรรผลประโยชน์ ในเชิงเศรษฐศาสตร์ (กระแสหลัก) เป็นไปตามแนวคิดของ วิลเฟรโด พาเรโต (Vilfredo Pareto) ซึ่งพาเรโตได้นิยามประสิทธิภาพของการจัดสรรผลประโยชน์ในสังคมเอาไว้ว่า เป็นการจัดสรรผลประโยชน์ที่ทำให้คนในสังคมดีขึ้น โดยมิได้ทำให้ผู้อื่นรู้สึกเลวลง การกระทำแบบนี้ถือว่าทำให้สวัสดิการสังคมสูงขึ้น

ประสิทธิภาพแบบพาเรโต้ (Pareto efficiency) จึงเกิดขึ้นเมื่อสังคมได้จัดสรรผลประโยชน์ให้จุดบรรลุสภาพที่ไม่สามารถทำให้คนในสังคมดีขึ้น โดยมิได้ทำให้ผู้อื่นรู้สึกเลวลงได้อีก


รูปภาพจาก Newschool (The Paretian System IV - Social Welfare)

นิยามการจัดสรรผลประโยชน์ตามแบบของพาเรโตจึงเข้ากันได้กับหลักการไม่ละเมิดของมิลล์เป็นอย่างยิ่ง

แต่ประสิทธิภาพของการจัดสรรผลประโยชน์ในสังคมตามแบบพาเรโต อาจไม่ได้มีความหมายเดียวกับคำว่าความเป็นธรรม ในเชิงเศรษฐศาสตร์จะกล่าวว่า อรรถประโยชน์ที่เกิดจากการจัดสรรของ นาย A และนาย B แม้ว่าจะเท่าเทียมกัน แต่ไม่ได้หมายความว่า นาย A จะได้รับส่วนแบ่งของสินค้า ก เท่าเทียมกับนาย B ทั้งนี้เพราะนาย A อาจชอบสินค้า ก น้อยกว่า นาย B จึงยอมแลกสินค้า ก เพื่อให้ได้สินค้า ข จากนาย B เพิ่มขึ้น

หากจะยกตัวอย่างให้เข้าใจอย่างง่าย ๆ ก็เช่น กรณีการคัดเลือกทุนการศึกษาของสถาบันการศึกษา ซึ่งสถาบันการศึกษาจะต้องตัดสินใจเลือกระหว่าง ประสิทธิภาพ (คือการสอบแข่งขันทุกกรณี) กับการแจกทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่ยากจน (เนื่องจากด้อยโอกาสกว่านักศึกษาที่ร่ำรวย)

ความยุติธรรมนั้นจึงเป็นเรื่องนามธรรม ที่จะต้องกำหนดกรอบกติกาให้ชัดเจน มิฉะนั้นก็จะมีสภาพความไม่คงเส้นคงวาของการนิยามเรื่องความยุติธรรม ดังที่เราอาจนิยามความยุติธรรมได้ถึงสี่มุมมองดังต่อไปนี้


  • Egalitarian (สมภาพนิยม) : กำหนดให้สมาชิกทุกคนในสังคมได้รับสินค้า ในจำนวนที่เท่ากัน
  • Rawlsian : กำหนดให้คนที่ด้อยโอกาส ด้อยสมรรถภาพ ได้รับอรรถประโยชน์สูงสุด (ดูแลคนด้อยโอกาส)
  • Utilitarian (อรรถประโยชน์นิยม) : ทำให้สมาชิกทุกคนในสังคมได้รับความพอใจสูงสุด (อาจได้รับส่วนแบ่งไม่เท่ากันก็ได้)
  • Market-oriented (เน้นกลไกตลาด) : เชื่อว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการแข่งขันของกลไกตลาด มีความเป็นธรรม


การเลือกคำนิยามของความยุติธรรมในระบบใดระบบหนึ่ง หมายถึงเราจะต้องแลกความยุติธรรมในรูปแบบอื่น ๆ ไปเพื่อให้ได้ความยุติธรรมในแบบนั้น ๆ มา

ใช่หรือไม่ว่าสังคมไทยมีความไม่คงเส้นคงวาในการกำหนดคำนิยามของเรื่องความยุติธรรม ในกรณีหนึ่งก็ชื่นชมระบบตลาด ในอีกกรณีหนึ่งก็อาจเอื้ออาทรคนด้อยโอกาส และในอีกกรณีหนึ่งก็อาจเรียกร้องการแบ่งผลประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน

คำถามที่น่าสนใจคือ แล้วเราจะตัดสินได้อย่างไรว่า เมื่อใดควรจะใช้คำนิยามของความเป็นธรรมในแบบใด และจะต้องมีส่วนผสมอย่างไร จึงจะทำให้สังคมได้รับประโยชน์สูงที่สุด


===


ไม่ว่าจะชอบใจคำนิยามแบบใดก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พศ 2540 ก็ได้อ้างอิงหลักการละเมิดของมิลล์ไว้เป็นหลักพื้นฐานประการหนึ่งด้วยเช่นกัน


มาตรา 28 บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและ เสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถ ยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีใน ศาลได้


นอกจากนี้ก็ยังรับรองระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่นำโดยภาคเอกชนเป็นหลัก


มาตรา 50 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือ ประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม
การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัย อำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษา ความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชน ในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรม อันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การคุ้มครอง ผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาด หรือขจัดความ ไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

มาตรา 87 รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัย กลไกตลาด กำกับดูแลให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม คุ้มครอง ผู้บริโภค และป้องกันการผูกขาดตัดตอนทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งยกเลิกและละเว้นการตรากฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ควบคุม ธุรกิจที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และต้องไม่ประ กอบกิจการแข่งขันกันเอกชน เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม หรือ การจัดให้มีการสาธารณูปโภค


โดยสรุปแล้ว แม้เราจะเห็นว่าหลักการไม่ละเมิดของมิลล์ยังต้องได้รับการถกเถียงปรับปรุงอีกมาก เช่นเดียวกันกับการจัดสรรทรัพยากรด้วยระบบทุนนิยม โดยอาศัยกลไกตลาดจะยังมีความบกพร่องอยู่บ้าง แต่มีความจำเป็นมากน้อยเพียงไรที่เราจะยกเหตุผลตามความชอบใจ เมื่อเราเกิดไม่ชอบใจการปกครองของรัฐขึ้นมา

ประวัติศาสตร์มิได้บ่งบอกให้เราเห็นชัดหรอกหรือว่า เมื่อเราไม่พอใจในพฤติกรรมคอรัปชั่นของรัฐบาลพลเอกชาติชาย เราก็จะต้องถอยหลังไปกับการปฏิวัติรัฐประหารกลุ่มพลเอกสุจินดา จนกระทั่งเผชิญกับการนองเลือดในช่วงพฤษภาทมิฬ

ผู้เขียนเคยเขียนบทความท้วงติงสังคมในช่วงเลือกตั้งเมื่อต้นปี 2548 ที่สังคมไทยยังชื่นชมและคลั่งไคล้คุณทักษิณกับพรรคไทยรักไทย และชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการโหวตเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อป้องกันมิให้พรรคไทยรักไทยได้ครองเสียงข้างมากจนเกินไป (แต่ก็มีวัตถุประสงค์ในการล้างเลือดเก่าพรรคประชาธิปัตย์ไปพร้อมกัน) เพื่อมิให้สังคมไทยเผชิญกับทางตันในเรื่องของเผด็จการรัฐสภาตามอย่างที่เราเผชิญหน้ากับมันอยู่ในปัจจุบัน

แม้นระบบปัจจุบันมิใช่ระบบที่ดีที่สุด แต่การแก้ปัญหาโดยมุ่งเน้นปัญหาไปที่ตัวบุคคล เป็นความถูกต้องเพียงไร

จะเป็นเช่นไร หากเราพยายามมุ่งแก้ไขปัญหาโดยเน้นไปที่ตัวระบบและกระบวนการตามระบบ เพื่อผลักดันให้สังคมเดินไปข้างหน้า มากกว่าวนเวียนในอ่างครั้งแล้วครั้งเล่า




บรรณานุกรม

- ข้อมูลเรื่องจริยธรรมและกฎหมาย โปรดอ่านเพิ่มเติมได้ใน "พุทธปรัชญา มนุษย์ สังคม และ ปัญหาจริยธรรม" โดย สมภาร พรมทา ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง โดยสำนักพิมพ์ศยาม

- ข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพแบบพาเรโต และเศรษฐศาสตร์สวัสดิการ โปรดอ่านเพิ่มเติมได้ใน เศรษฐศาสตร์จุลภาค microeconomics เล่มใดก็ได้

- ข้อมูลและชื่อนักปรัชญาที่สำคัญ ได้ให้อ้างอิงไว้ในลิงก์เชื่อมโยงแล้ว




 

Create Date : 19 กุมภาพันธ์ 2549    
Last Update : 19 กุมภาพันธ์ 2549 23:18:05 น.
Counter : 2569 Pageviews.  


ฮันโซ
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




สหายสิกขา Lite version

สหายสิกขาตั้งคำถามกับการเป็นอยู่ของสรรพสิ่งตรงหน้า พร้อมกันนั้นก็เปิดรับแนวคิดของคำตอบในมุมมองที่แตกต่างอย่างเท่าเทียมกัน

สหายสิกขาจะมีความยินดียิ่ง หากคุณได้นำความรู้ที่ได้จุดประกายนี้ไปตีความต่อให้ลึกซึ้งยิ่งๆขึ้น เพราะยิ่งแลกเปลี่ยนยิ่งถกเถียงยิ่งสนทนาก็สามารถแตกประเด็นไปอีกได้มาก

สหายสิกขาต้องการกระตุ้นให้คนอ่านได้คิด และสัมผัสถึงขอบเขตที่ไม่สิ้นสุดแห่งจินตนาการ

พร้อมกันนั้นสหายสิกขา ก็พร้อมอยู่เป็นเพื่อนคู่คิด เพื่อนสนทนา เพื่อจับมือกันเรียนรู้ไปในโลกกว้าง ...ด้วยกัน

CC Developing Nations
Friends' blogs
[Add ฮันโซ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.