Group Blog
 
All blogs
 
พุทธทาสและแนวคิดปฏิรูปในวงการพุทธศาสนา

สืบสานปณิธานพุทธทาส ๑๐๐ ปีชาตกาล ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๙


external image angkarn01.jpg
คัดจากบทกวีของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ [๑]

วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๒๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙ แรม ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ปีจอ เป็นวันพระ

วันนี้เมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้ว วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๔๙ เป็นวันอาทิตย์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย ณ หมู่บ้านกลาง ตำบลพุมเรียง (ที่ตั้งเดิมของจังหวัดไชยา ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น “สุราษฎร์ธานี”)[๒] มีเด็กชายคนหนึ่งถือกำเนิดขึ้นในครอบครัวสกุล "พานิช" ของนายเซี้ยง และนางเคลื่อน เด็กชายผู้นั้นมีนามว่าเงื่อม

เด็กชายเงื่อมผู้นี้อีก ๒๐ ปีถัดมา ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๙ กลายเป็นเด็กหนุ่มและเข้าอุปสมบทตามประเพณีที่วัดโพธาราม ไชยา และได้รับฉายาว่า "อินทปัญโญ" อันมีความหมายว่า "ผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่"

หกปีถัดมา ท่านได้เดินทางเข้ามาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ สอบได้นักธรรมเอก และสอบบาลีได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค ด้วยความที่พระเงื่อม เป็นคนรัก การศึกษา จึงได้ทำการศึกษาและค้นคว้าจากพระไตรปิฎก และศึกษาค้นคว้าออกไปจากตำรา ทำให้ท่านรู้สึกขัดแย้งกับวิธีการสอน ธรรมะ ที่ยึดถือรูปแบบ ตามระเบียบแบบแผนมากเกินไป ประกอบกับความย่อหย่อนในพระวินัยของสงฆ์ ตลอดจนความเชื่อที่ผิดๆ ของ พุทธศาสนิกชนในเวลานั้น ทำให้ท่าน มีความเชื่อมั่นว่าพระพุทธศาสนาที่สอน ที่ปฏิบัติกันในเวลานั้น คลาดเคลื่อนไปมาก จากที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะ

ท่านจึงตัดสินใจ หันหลังให้กับการศึกษาของสงฆ์ในเวลานั้น และเดินทางกลับไชยา เพื่อทำการศึกษาและทดลองปฏิบัติ ตามแนวทางที่ท่านเชื่อมั่น โดยร่วมกับ น้องชาย (ธรรมทาส พานิช เปลี่ยนชื่อจากยี่เกย พานิช) และ คณะธรรมทาน จัดตั้งสถานปฏิบัติธรรม "สวนโมกขพลาราม" ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ อันเป็นปีเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามประเทศ จากนั้น ท่านได้ศึกษา และปฏิบัติธรรมะ อย่างเข้มข้น จนเชื่อมั่นว่า ท่านมาไม่ผิดทางแน่ และได้ประกาศใช้ชื่อนาม "พุทธทาส" เพื่อแสดงให้เห็นถึงอุดมคติสูงสุดในชีวิตของท่าน



นามพุทธทาส และสวนโมกขพลาราม จึงได้ถือกำเนิดควบคู่ขึ้นนับแต่บัดนั้น


พุทฺธสฺสาหํ นิยฺยาเทมิ สรีรญฺชีวิตญฺจิทํ
พุทฺธสฺสาหสฺมิ ทาโส ว พุทฺโธ เม
สามิกิสฺสโร - อิติ พุทฺธทาโส

ข้าพเจ้าขอมอบร่างกายนี้ ถวายแด่พระพุทธเจ้า,
ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า,
พระพุทธเจ้าเป็นนายของข้าพเจ้า,
เพราะเหตุดังว่ามานี้,
ข้าพเจ้าจึงชื่อว่า "พุทธทาส"



---


เมื่อวัยเด็ก ผมได้รับการอบรมและสั่งสอนพุทธศาสนาในแบบจารีต คือสอนให้ทำบุญ และเกรงกลัวบาป, ทำดีได้ขึ้นสวรรค์ ทำชั่วตกนรก ทัศนะของพุทธศาสนิกแบบจารีตคือต้องหมั่นทำความดี สร้างบุญกุศล ก็จะสั่งสมบุญบารมีขึ้นไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็จะได้บรรลุนิพพาน
ในขณะที่ชีวิตของคนเราที่เกิดมา มีความไม่สมบูรณ์ มีความพิการ มีความยากจน มีความไม่สะดวกสบายต่างๆนานับประการ ท่านก็สอนว่าเป็นเพราะกรรมเก่า และกรรมนี้เราไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ กรรมจะส่งผลต่อเนื่องจากชาติที่แล้วมายังชาตินี้ คือชีวิตตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ทางเดียวที่เราทำได้คือทำบาปให้้น้อยที่สุด และพยายามทำความดีให้มากที่สุด เพื่อว่าเมื่อตายไปแล้ว เจอกับยมบาล ท่านจะได้ตัดสินว่ามีความผิดน้อยกว่ามีความดี จะได้ไม่ต้องตกนรก และหากกลับมาเกิดใหม่ก็จะได้มีกรรมติดตัวน้อยที่สุด

ผมรู้สึกขัดแย้งกับความคิดแบบนี้ ประการแรก เราไ่ม่สามารถแก้ไขชีวิตอะไรของเราได้เลยหรือ ประการที่สองเราทำความดีเพราะเราหวังผลประโยชน์ในภายภาคหน้า ดูเหมือนไม่ต่างอะไรกับการลงทุนเพื่อหวังกำไรจากการค้าขาย และประการสุดท้ายอุดมคติของพระพุทธศาสนาอันเรารู้จักกันว่านิพพานนั้น เป็นอะไรที่ดูไกลเกินเอื้อม เป็นสถานที่ที่ยอดคน น้อยคนจะเข้าถึงได้ และมนุษย์ธรรมดาคงไม่มีทางฝันถึง คงยังต้องเวียนว่ายตายเกิดไปอีกนานแสนนาน

ตราบจนผมได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งของท่านพุทธทาส : แก่นพุทธศาสน์ [๓]

แก่นพุทธศาสน์ สร้างความประหลาดใจให้กับผมด้วยคำศัพท์แปลกประหลาด สะดุดใจแบบต้องนึกทบทวนหลายตลบ อยู่หลายคำ เช่น "ตัวกู-ของกู", "โรคทางวิญญาณ", "ความว่าง", ฯลฯ รวมไปถึงศัพท์บาลีที่ไม่เคยได้ยินเช่น "สุญญตาธรรม" ซึ่งผมมารู้ในภายหลังว่าเป็นอุบายและเจตนาของท่านพุทธทาสที่ต้องการดึงคำศัพท์ที่ถูกซ่อนไว้ในพระสูตรออกมาให้คนทั่วไปได้รู้จัก แถมยังมีการใส่คำศัพท์ภาษาอังกฤษประกอบ และอธิบายอ้างอิงไปถึงปรัชญาเซน ซึ่งเป็นการอ้างอิงแบบผู้มีความรู้เพราะอ้างถึงพระเซนที่ชื่อฮวงโป ซึ่งผมก็มาทราบภายหลังเช่นกันว่า ท่านพุทธทาสแปลหนังสือทางฝ่ายเซนออกมาหลายเล่มเช่น คำสอนของฮวงโป และสูตรของเว่ยหลางเป็นต้น

คำศัพท์เหล่านี้เป็นเรื่องแปลกใหม่ และฝังความรู้สึกสงสัย ทำให้ผมต้องอ่านทบทวนหนังสือเล่มนี้อยู่หลายสิบครั้ง ยิ่งอ่านก็รู้สึกว่าเป็นกระบวนการอธิบายความในเรื่องธรรมะที่แตกต่างจากพุทธศาสนาแบบจารีตที่ผมเคยไ้ด้ยินได้ฟังมาหลายครั้ง เป็นเรื่องที่ไม่มีพุทธชาดก ไม่มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ไม่มีความเชื่อในเชิงไสยศาสตร์

ยิ่งผมอ่านหนังสือเล่มนี้บ่อยครั้งเท่าใด ผมก็ยิ่งรู้สึกว่า คนที่เขียนหนังสือเล่มนี้ที่ชื่อพุทธทาสภิกขุ ไม่ใช่พระธรรมดา ไม่ใช่พระที่เราพบเห็นทั่วไปแน่ๆ

แค่ได้อ่านข้อความห้าย่อหน้าต่อไปนี้ในแก่นพุทธศาสน์ ผมก็พบว่าข้อสงสัยที่มีมาแทบจะได้รับคำอธิบายเกือบทั้งหมด


"พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า อยู่ให้ชอบ อยู่ให้ถูกวิธีเท่านั้น โลกจักไม่ว่างจากพระอรหันต์ นี้เรียกว่าปฏิบัติตามหลักของปฏิจจสมุปบาท เรียกว่าเป็นอยู่ถูกต้องชนิดที่กิเลสเกิดไม่ได้ โดยที่เห็นว่าตัวกู-ของกูนี้เป็นเพียงมายา เพราะมันเพิ่งเกิดต่อเมื่อรูปมากระทบตา เสียงมากระทบหูเป็นต้น เกิดเวทนาแล้วปรุงเป็นความอยาก ถ้าอย่าให้มีอะไรมาปรุงเป็นความอยาก มันก็ไม่เกิดอุปาทานว่าตัวกูว่าของกู

เพราะฉะนั้น พึงเข้าใจให้ถูกต้องว่ามันเพิ่งเกิดหยกๆ เพราะการปรุงขึ้นมา ไม่ใช่ตัวจริง มันเป็นมายาเหมือนกับหน่วยคลื่นที่เกิดขึ้นเพราะลมพัดนี้ น้ำก็มีอยู่จริง ลมก็มีอยู่จริง แต่ตัวคลื่นนั้นเป็นมายา นี่เปรียบเทียบโดยวัตถุ แต่จะเอาเป็นเรื่องเดียวกันแท้ไม่ได้ มุ่งแต่จะชี้ตรงความเป็นมายาของคลื่นที่เกิดขึ้นมาเพราะการปรุงแต่ง คือลมพัดน้ำให้กระฉอกเป็นคลื่น ยกเป็นสันลูกคลื่นขึ้นมาแล้วก็หายไป เพราะฉะนั้นความรู้สึกว่าตัวกู-ของกูคราวหนึ่งๆ ในวันหนึ่งๆ ซึ่งเกิดอยู่หลายๆ คราวนั้นก็เป็นเหมือนคลื่นที่มีมาจากน้ำ คืออารมณ์รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แล้วก็กระทบด้วยลม คือความโง่ ความหลง อวิชชา แล้วเกิดคลื่น คือตัวกู-ของกูโผล่ขึ้นมาเป็นคราวๆ วันหนึ่งหลายคราว

ความรู้สึกว่าตัวกู-ของกูหรือ Egoism โผล่ขึ้นมาคราวหนึ่งนี้ ท่านเรียกว่าชาติหนึ่ง ชาติคือความเกิดทีหนึ่ง



นี่แหละ ความเกิดที่แท้จริง หมายถึงความเกิดของสิ่งนี้ อย่าได้ไปหมายถึงความเกิดจากท้องแม่ คนหนึ่งเกิดจากท้องแม่ทีหนึ่งแล้วก็เข้าโลงไปทีหนึ่ง นั้นไม่ใช่ความเกิดที่พระพุทธเจ้าท่านมุ่งหมาย มันเป็นการเกิดทาง Physical มากเกินไป

ความเกิดที่พระพุทธเจ้าท่านมุ่งหมายนั้น เป็นฝ่าย Spiritual หมายถึงความเกิดที่เป็นอุปาทานว่าตัวกู-ของกู วันหนึ่งเกิดได้หลายชาติ หลายสิบชาติ หรือหลายร้อยชาติก็ตาม แล้วแต่ว่าใครจะเกิดเก่งสักกี่มากน้อย แต่ทุกคราวต้องเป็นชาติ เป็นตัวกู-ของกู ขึ้นมาที่หนึ่งเสมอไป แล้วมันก็ค่อยจางไป เดี๋ยวมันก็ค่อยดับไป แล้วก็ตายไป เดี๋ยวก็เกิดโผล่มาใหม่อีก เมื่อไปกระทบรูป เสียง หรือกลิ่นอย่างอื่นขึ้นอีก แต่ละชาติก็มีปฏิกิริยา (Reaction) ส่งต่อถึงกัน อย่างที่เรียกว่ากรรมเก่าของชาติก่อน ส่งผลให้เกิดในชาตินี้ เป็นผลขึ้นมาแล้วส่งต่อกันไปอย่างนี้ทุกๆ ชาติ"


แก่นพุทธศาสน์ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การเข้าถึงนิพพาน และความเป็นพระอรหันต์ ไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม หรือเป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องของการสั่งสมบารมีข้ามพบข้ามชาติ (ในความหมายของคำว่าตายแล้วเกิดใหม่) ไม่จำเป็นต้องทำบุญแบบลงทุนทำการค้าเพื่อหวังกำไร แต่เป็นเรื่องของปรับพฤติกรรม ปรับทัศนคติ ภายใต้แนวคิดใหม่ว่า ชาติ-ความเกิด เป็นเรื่องในทางจิตวิญญาณ ไม่ใช่ในทางกายภาพ

เมื่อผมรู้สึกตัวอีกที ผมก็กลายเป็นแฟนหนังสือท่านพุทธทาสไปแล้ว เมื่อเข้าร้านหนังสือ หรือเข้าห้องสมุดก็อดไม่ได้ที่จะต้องหยิบหนังสือของท่านพุทธทาสมาเปิดอ่านด้วยความสนุกในการค้นคว้า และทึ่งในความรู้ที่ได้รับจากหนังสือเสมอ


---


ความโชคดีของผมอันเกี่ยวเนื่องกับท่านพุทธทาสยังไม่หมด

เมื่อผมเข้าเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัย ด้วยความโชคดีที่ได้ทำกิจกรรม, เมื่อช่วงที่ผมเรียนอยู่ปีสอง ผมได้รับทราบข่าวว่าทางชมรมพุทธศาสตร์จุฬาฯ ได้ประกาศรับสมัครนักกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมอานาปานสติ ที่สวนโมกขพลาราม ไชยา สุราษฎร์ธานี [๔] ผมจึงไม่รีรอที่จะส่งจดหมาย และได้รับการตอบรับจากคณะผู้ดำเนินการ และร่วมเดินทางพร้อมคณะเดินทางราวกว่าสองร้อยชีวิตโดยรถไฟไปที่ไชยาในที่สุด

การเดินทางมาถึงไชยาตั้งแต่เ้ช้ามืด ท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยแสงดาว กลิ่นอายของชนบท เสียงไก่ขันรับอรุณ และบรรยากาศแบบป่าของสวนโมกข์ สร้างความประทับใจและตื่นตาตื่นใจให้กับผม ตั้ังแต่แรกที่มาถึง

"ที่นี่เรามีกฎอยู่ข้อหนึ่งว่า ห้ามสมาชิกที่เข้าฝึกอบรมพูดคุยกันตลอดระยะเวลาฝึกฝนอบรมจำนวน ๑๐ วัน แต่ให้พยายามเจริญสมาธิภาวนาในทุกอิริยาบท"

เป็นเสียงจากผู้ดูแลคณะฝึกอบรม และเป็นสัญญาณว่าชีวิตในช่วงการ "เข้าค่าย" สวนโมกข์ได้เริ่มขึ้นแล้ว

สมาชิกผู้เข้าร่วมการฝึกอบรม ต้องเดินทางข้ามไปยังสวนโมกข์นานาชาติ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับสวนโมกขพลาราม ระยะทางไกลพอสมควร และต้องใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นตลอดระยะเวลาอบรม

กิจวัตรประจำวันของการฝึกอบรม เริ่มจากตื่นเวลาราวๆ ตีสี่ หลังจากทำธุระส่วนตัวก็จะเป็นการสวดมนต์ ทำวัตรเช้า และเดินเท้ากลับไปยังสวนโมกข์ฝั่งเขาพุทธทองประมาณตีห้า (เดินถือไฟฉายส่องตามทางเดินไป เพราะไม่มีไฟฟ้า) เพื่อรับฟังคำบรรยายธรรมะจากท่านพุทธทาส

แต่เนื่องจากท่านพุทธทาสในเวลานั้นอาพาธหนัก ท่านจึงมิได้ออกมาบรรยายด้วยตนเอง คงเป็นการบรรยายจากเทปที่หน้ากุฎิของท่าน แต่ก็เสมือนหนึ่งได้รับฟังคำบรรยายจากตัวท่านเอง

ระยะเวลาบรรยายในเทปเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับเวลาที่เรามานั่งฟังคำบรรยายกันอยู่นั้น เราจึงได้ยินเสียงไก่ขันซึ่งเป็นเสียงในเทป สลับกับเสียงขันของไก่จริงที่เดินอยู่ใกล้ๆนั้น

เสร็จสิ้นจากการฟังบรรยาย แล้วหลังจากนั้นก็เดินเท้ากลับไปที่สวนโมกข์นานาชาติ รับประทานอาหารเช้า (เป็นอาหารมังสวิรัต) ก็รับฟังการบรรยายธรรมะจากวิทยากรหลากหลายท่าน และสลับกับการทำงาน (เช่นการการลานวัด การล้างห้องน้ำ การทำความสะอาดห้องบรรยาย) และนั่งสมาธิ ช่วงบ่ายเป็นการออกกำลังกาย และปิดท้ายด้วยการทำวัตรเย็น (ไม่มีอาหารในช่วงเย็น ยกเว้นน้ำปานะ)

วิทยากรที่บรรยายหลักจะเป็น ท่านพระครูปลัดศีลวัฒน์ โพธิ์ จันทสโร เจ้าอาวาส วัดธารน้ำไหล, พระดุษฎี เมธังกุโร, อุบาสิการัญจวน อินทรกำแหง, แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต และอีกหลายท่าน


---


แม้ว่าจะอ่านหนังสือของท่านพุทธทาสมาหลายต่อหลายเล่มแล้วก็ตาม และแม้จะเคยนั่งสมาธิมาบ้าง (ทั้งแนวเซน และแนวเถรวาท) ศึกษาปรัชญาเซนด้วยตนเองมาบ้าง แต่เมื่อมาเข้าอบรมเข้มที่สวนโมกข์นานาชาติแห่งนี้ ได้ฟังเนื้อหาธรรมะที่วิทยากรได้บรรยาย สลับกับการฝึกจริงด้วยการนั่งสมาธิ ทำให้ผมตระหนักว่าความรู้ที่ศึกษาเอาด้วยตนเองนั้นยังน้อยยิ่งนัก

เนื้อหาธรรมะในแนวทางของสวนโมกข์ประกอบด้วยสามเรื่องใหญ่ๆ คือ
๑. อิทัปปัจยตา : พูดถึงกฎของธรรมชาติ อันเป็นกฎสากลที่บังคับและควบคุมทั้งจักรวาล กฎข้อนี้สรุปได้สั้นๆว่า สิ่งทั้งปวงเกิดขึ้นได้เพราะมีเหตุและปัจจัย “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี, เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น;เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี, เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ” อิทัปปัจยตา จึงกล่าวถึงเหตุและปัจจัยที่ก่อให้เกิดผล และผลนั้นก็กลายเป็นเหตุและปัจจัยของผลอื่นที่ตามมาอีก พัวพันเกี่ยวเนื่องเป็นปัจยาการครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างไม่สิ้นสุด

๒. ปฏิจจสมุปบาท : เป็นกลไกการทำงานของจิตใจ (หรือจิตวิญญาณ) ประกอบด้วยกลไกสิบสองขั้นตอนในการทำงานของจิตใจ ซึ่งเป็นไปตามอิทัปปัจยตา คือเพราะมีเหตุและปัจจัย จึงเกิดผล และผลนั้นก่อตัวเป็นเหตุและปัจจัยต่อเนื่อง หมุนรอบไปเรื่อย การทำงานนี้เกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วนและรวดเร็วราวสายฟ้า นั่นหมายถึงการที่เรา เกิด-ตาย ในแต่ละวันนับครั้งไม่ถ้วนนั่นเอง [๕]



๓. อานาปานสติ : เมื่อเรียนรู้กฎของธรรมชาติ, กลไกการทำงานของจิตใจ และรู้ว่าผลของมันบางประการสร้างความทุกข์ให้กับผู้เป็นเจ้าของ จึงมีผู้คิดวิธีแก้ไขหรือดับเหตุแห่งทุกข์นั้น ซึ่งเป็นการดับทุกข์แบบถูกต้อง (วิธีไม่ถูกต้องก็เช่นการทำลายผัสสะ ทำลายทวารรับรู้โลก เช่นทำให้ตาบอด ทำให้หูหนวก เพื่อจะได้ไม่ต้องรับรู้ แต่ทำให้ดำเนินชีวิตด้วยความไม่สะดวก และไม่สามารถป้องกันกิเลสที่เกิดจากจิตใจที่เป็นผู้สร้างขึ้นได้) อานาปานสติ ประกอบด้วยสี่หมวดใหญ่ คือ
๑ กายานุปัสนาสติปัฎฐาน
๒ เวทนานุปัสนาสติปัฎฐาน
๓ จิตตานุปัสนาสติปัฎฐาน
๔ ธัมนานุปัสนาสติปัฎฐาน

ในแต่ละหมวด จะมีอีกสี่ขั้นย่อย รวมทั้งหมดจึงมี ๑๖ ขั้นตอน

อานาปานสติ เป็นการสังเกต ศึกษา กลไกการทำงานของจิตใจ หรือปฏิจสมุปบาท ด้วยการใช้ลมหายใจเป็นเครื่องมือในการกำหนดจิต

การใ้ช้ลมหายใจ เป็นความลับของนักคิดฝ่ายตะวันออกมานานแล้ว ผู้ฝึกวิทยายุทธจะเรียนรู้ว่า การรักษาจังหวะลมหายใจจะมีผลต่อวิทยายุทธ์ของเขา ในหนังสือวิทยายุทธ์เซน ของไทเซน เดชิมารุ จะบอกให้เรารู้ว่า จังหวะลมหายใจออกจะเป็นช่วงที่ร่างกายมีความแข่งแกร่ง ในขณะที่ช่วงหายใจเ้ข้าเป็นช่วงที่เป็นจุดอ่อนของร่างกาย [๖]

หากเราลองหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ (ทำสักสามครั้งติดต่อกัน) จะรู้สึกว่าจิตใจแจ่มใสขึ้น ร่างกายสบายขึ้น นี่เป็นผลกระทบของลมหายใจที่มีต่อร่างกาย ในขณะที่การหายใจเข้าออกสั้นๆถี่ๆ หลายครั้งติดกัน ก็จะทำให้จิตใจเกิดความเคร่่งเครียด ร่างกายรู้สึกไม่สบาย นี่เป็นผลกระทบในทางลบของลมหายใจที่มีต่อร่างกาย -- การศึกษาและทดลองเปลี่ยนแปลงลักษณะของลมหายใจ เพื่อสังเกตผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจนี้จึงเรียกว่า กายานุปัสนากัมมัฎฐาน จุดมุ่งหมายในขั้นสุดท้ายของหมวดนี้คือ การทำให้ลมหายใจเข้าออก ยาวและลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในขณะเดียวกันก็บางและเบาที่สุดเท่าที่จะทำได้ เปรียบเหมือนว่าหากเอาปุยสำลีมาวางจ่อไว้ที่ปลายจมูก ลมหายใจนั้นก็ไม่สามารถทำให้ปุยสำลีนั้นเคลื่อนไหวได้เลย

ลมหายใจแบบนี้ ทำให้ร่างกายสงบระงับ พร้อมกับการตั้งสมาธิเพื่อศึกษาดูการเปลี่ยนแปลงและกลไกการทำงานของจิตใจในขั้นถัดไปคือ เวทนานุปัสนาสติปัฎฐาน

อานาปานสติจะเป็นคู่มือเพื่อให้เราฝึกฝน และทำความรู้จักความลับของกลไกการทำงานของจิตใจทีละขั้นๆ และหากปฏิบัติไปตามลำดับบ่อยครั้งเข้า ก็สามารถบังคับจิตมิให้หวั่นไหวไปกับกิเลส ๓ (โลภะ, โทสะ และโมหะ) และนิวรณ์ ๕ ได้คือ


  • กามฉันทะ คือความยินดี พอใจ เพลิดเพลินในกามคุณอารมณ์ ได้แก่ ความยินดี พอใจในรูป รส กลิ่น เสียง โผฎฐัพพะ(สิ่งสัมผัสทางกาย) อันน่ายินดี น่ารักใคร่พอใจ รวมทั้งความคิดอันเกี่ยวเนื่องด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น (คำว่ากามในทางธรรมนั้น ไม่ได้หมายถึงเรื่องเพศเท่านั้น) คือ ธรรมารมณ์
  • พยาปาทะ คือ ความโกรธ ความพยาบาท ความไม่พอใจ ขัดเคืองใจ
  • ถีนมิทธะ แยกเป็นถีนะคือความหดหู่ท้อถอย และมิทธะคือความง่วงเหงาหาวนอน ถีนะและมิทธะนั้นมีอาการแสดงออกที่คล้ายกันมาก คือทำให้เกิดอาการเซื่องซึมเหมือนกัน แต่มีสาเหตุที่ต่างกันคือ ถีนะเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง เกิดจากการปรุงแต่งของจิต ทำให้เกิดความย่อท้อ เบื่อหน่าย ไม่มีกำลังที่จะทำความเพียรต่อไป ส่วนมิทธะนั้นเกิดจากความเมื่อยล้าอ่อนเพลียของร่างกาย หรือจิตใจจริง ๆ เนื่องจากตรากตรำมามาก หรือขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ หรือการรับประทานอาหารที่มากเกินไป มิทธะนี้ไม่จัดเป็นกิเลส (พระอรหันต์ไม่มีถีนะแล้ว แต่ยังมีมิทธะได้เป็นบางครั้ง)
  • อุทธัจจกุกกุจจะ แยกเป็นอุทธัจจะคือความฟุ้งซ่านของจิต และกุกกุจจะคือความรำคาญใจ อุทธัจจะนั้นคือการที่จิตไม่สามารถยึดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นเวลานาน จึงเกิดอาการฟุ้งซ่าน เลื่อนลอยไปเรื่องนั้นที เรื่องนี้ที ส่วนกุกกุจจะนั้นเกิดจากความกังวลใจ หรือไม่สบายใจถึงอกุศลที่ได้ทำไปแล้วในอดีต ว่าไม่น่าทำไปอย่างนั้นเลย หรือบุญกุศลต่างๆ ที่ควรทำแต่ยังไม่ได้ทำ ว่าน่าจะได้ทำอย่างนั้นอย่างนี้
  • วิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ หรือไม่ปักใจเชื่อว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด หรือควรทำแบบไหนดี จิตจึงไม่อาจมุ่งมั่นในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้อย่างเต็มที่ สมาธิจึงไม่เกิดขึ้น


เป้าหมายสุดท้ายของอานาปานสติ เป็นการปลดกิเลสทั้งปวงออกจากจิตใจ คือหมายถึงการเข้าถึงนิพพาน จิตใจที่ปราศจากกิเลส จะเป็นจิตที่พร้อมจะสร้างประโยชน์สุขให้กับทั้งตนเองและผู้อื่น เป็นจิตที่มีลักษณะ สงบ - เย็น และเป็นประโยชน์นั่นเอง


---


กิจวัตรประจำวันที่สวนโมกข์นานาชาติดำเนินไปจนกระทั่งเกือบจะครบเป็นเวลาสิบวัน ผมรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในจิตใจตนเอง ทั้งมุมมองที่มีต่อธรรมชาติ และความรู้สึกที่มีต่อทั้งตนเองและต่อโลก

เนื่องจากมีข้อแนะนำว่าการทำอานาปานสติที่ได้ผลจะต้องทำตลอดเวลา ทุกอิริยาบท ในคืนหนึ่ง, ผมจำได้ว่าผมกำหนดจิต และทำอานาปานสติแม้แต่ในยามหลับ ผมรู้สึกตัวเองตั้งแต่ก่อนหลับ ยามหลับ ไปจนกระทั่งตื่น และแน่ใจว่าไม่ได้เป็นการคิดไปเอง หรือเป็นการนอนไม่หลับ เพราะไม่ได้มีอาการง่วงเหงาหาวนอนแม้แต่น้อย

ความประทับใจ และมุมมองใหม่ที่ผมมีต่อธรรมชาติ ทำให้ในเช้าตรู่วันหนึ่ง ยามที่เราเดินเท้าจากสวนโมกข์นานาชาติ เพื่อข้ามไปยังสวนโมกข์ฝั่งเขาพุทธทอง

ยามที่ผมเดินตามแถวของกลุ่มคน ที่มีแสงไฟฉายจับเป็นวงไปตามทางเดินดินลูกรังเป็นระยะ

ยามที่ท้องฟ้ายังคงมืดสนิท เต็มไปด้วยแสงดาวดารดาษเต็มท้องฟ้า

ยามที่มีเสียงนกร้อง และเสียงไก่ขัน

ยามที่ได้กลิ่นดิน กลิ่นหญ้าคาเปื้อนน้ำค้างยามเช้า, กลิ่นฟืนไฟตามบ้านหลังเล็กของชาวบ้านริมทาง

ผมนึกถึงโศลกเซนของเรียวกัน [๗]


ฝนหยุดตกแล้ว หมู่เมฆพลันลอยล่องลม
ท้องฟ้าแจ่มกระจ่างอีกครา
ถ้าใจของท่านผ่องใส
สรรพสิ่งภายในโลกของท่านย่อมพลอยสดใส
ลืมโลกที่สับสน ลืมตัวท่านเอง
แล้วดวงเดือนและดอกไม้
จะจูงท่านไปตาม "ทาง".



---


ในวันสุดท้ายคณะที่เข้าอบรม จึงได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ในบริเวณสวนโมกข์พลารามฝั่งเขาพุทธทอง และผมก็ได้รับความประทับใจอีกครั้ง จากศิลปะและอาคารสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีเอกลักษณ์และถูกกำหนดไว้เป็นอุปกรณ์ให้การศึกษาธรรมะได้ทุกชิ้น

ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ที่ยอดเขาพุทธทอง เป็นโบสถ์ธรรมชาติตั้งแต่ครั้งพุทธกาล กล่าวคือมีต้นไม้เป็นผนังโบสถ์ มีท้องฟ้าเป็นหลังคา มีดินทราย เป็นพื้นโบสถ์ ซึ่งโบสถ์ยอดเขาพุทธทองแห่งนี้ถูกใช้ทำศาสนกิจประจำสวนโมกข์จริงๆ มิได้ตั้งขึ้นมาเพียงเพื่อความสวยงาม หรือเป็นสัญลักษณ์เท่านั้น

โรงมหรศพทางวิญญาณ ที่บรรจุและเต็มไปด้วยภาพวาด ทั้งภาพแนวเซน ภาพเขียนจีน ภาพลายเส้นไทยโบราณ ภาพแบบสมัยใหม่ ซึ่งทุกภาพก็มีวัตถุประสงค์ในการสอนธรรมะทั้งสิ้น



ลานหินโค้ง เป็นทั้งลานตักบาตร และแสดงธรรม มีพื้นดินทรายเป็นพื้นห้องเรียน และก้อนหินเป็นโต๊ะและเก้าอี้

สระนาฬิเกร์ สอนธรรมะของคนโบราณ โดยจำลองมาจากบทเพลงกล่อมลูกของคนปักษ์ใต้ที่ว่า “ เอ่อน้องเอย มะพร้าวนาฬิเกร์ ต้นเดียวโนเน กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง กลางทะเลขี้ผึ้ง ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญเอย ” อันแสดงถึงภูมิปัญญาของปู่ ย่า ตา ยาย ที่ฝากปริศนาธรรมชั้นโลกุตตระ ด้วยสุนทรียารมณ์ ไว้ในตัวลูกหลาน ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ โตขึ้นวันใดแก้ปริศนานี้ตก ดวงตาก็สว่าง ชีวิตก็เข้าสู่กระแสนิพพาน

รูปปั้นพระโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นคติทางฝ่ายมหายาน อันเป็นนิกายที่เจริญรุ่งเรืองแถบไชยาในสมัยโบราณ

ชมภาพ ๓๖๐ องศา รอบทิศทางของบรรยากาศในสวนโมกข์ได้ที่นี่

การไปอบรมที่สวนโมกขพลาราม จึงสร้างความประทับใจและงดงาม ตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง จนบั้นปลาย และนอกจากความประทับใจแล้วยังได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง

แม้นมิได้เข้าไปกราบนมัสการท่านพุทธทาส แม้นว่าท่านมิได้ออกมาให้คำบรรยายด้วยตนเอง แต่ผมก็รู้สึกราวกับว่า ท่านพุทธทาสได้เมตตาถ่ายทอดและสอนธรรมะให้กับคณะผู้เข้ารับการอบรมด้วยตัวท่านเอง

และนั่นเป็นประสบการณ์ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่ผมได้ไปกราบนมัสการท่านพุทธทาสในขณะที่ท่านยังคงมีชีวิตอยู่

เพราะถัดจากนั้นอีกสองปี วันที่ ๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๖ เวลา ๑๑.๒๐ นาฬิกาท่านพุทธทาสก็มรณภาพ



มรณกรรมและพิธีศพของท่านพุทธทาสก็เป็นการสอนสั่งธรรมะให้กับพุทธศาสนิกเป็นครั้งสุดท้าย แสดงให้เห็นถึงความไม่เที่ยงแท้ถาวรของชีวิต งานศพของท่านถูกจัดขึ้นอย่างเรียบง่ายแบบชาวบ้าน และเป็นไปตามพินัยกรรมที่ท่านได้กำหนดไว้ [๘]

แม้ท่านอาจารย์พุทธทาสจะจากไปแล้ว แต่หนังสือและคำสอนของท่านพุทธทาส จะยังคงเป็นเสมือนตัวแทนของท่านคอยชี้แนะแนวทางสู่นิพพานอย่างไม่เสื่อมคลาย วาทะของท่านพุทธทาสยังคงแว่วดังให้สาธุชนได้สดับตรับฟังอยู่เสมอ

ไม่ว่าจะเป็น

"เราไม่สามารถถึงกับพลิกแผ่นดิน เราสามารถเพียงทำไปเรื่อย ๆ ตามสติกำลัง มีผลเท่าไรก็เอาเท่านั้น แต่เราหวังอยู่ว่า การกระทำด้วยความจงรักต่อพระสาสนาของเรานี้ อาจมีคนเอาไปคิดไปนึก แล้วอาจมีคนทำตามมากขึ้น จนกระทั่งผู้มีอำนาจท่านทำ หรือประชาชนทั้งโลกพากันทำ มันก็อาจมีการพลิกแผ่นดินได้เหมือนกัน แม้เราจะไม่ได้พลิกเอง ผลก็เท่ากัน เราคงยังเจียมตัว และไม่ต้องอกแตกตายเพราะข้อนั้น"


และ

"การทำงานคือการปฏิบัติธรรม"




ถือเป็นความโชคดี ที่เราได้เกิดมาร่วมยุคร่วมสมัยกับท่านพุทธทาส เพราะท่านเป็นพระที่ถือได้ว่าปฏิรูปคำสอนของพระพุทธศาสนา ซึ่งอันที่จริงกลับเป็นการสืบค้น และศึกษากลับไปยังธรรมะที่เป็นต้นฉบับของพระพุทธเจ้า และเมื่อท่านพุทธทาสมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ท่านก็ได้ถ่ายทอดธรรมะตลอดช่วงเวลาของอายุที่เหลือของท่าน ตราบจนวาระสุดท้าย

โดนาลด์ เค สแวเรอร์ (Donald K. Swearer) นักวิชาการชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญพุทธศาสนาของไทย ได้ประเมินบทบาทและสถานะของพุทธทาสภิกขุในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทไว้ดังนี้ [๙]


"ประวัติศาสตร์คงจะเก็บบันทึกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับท่านพุทธทาสในฐานะนักคิดฝ่ายเถรวาท ผู้ซึ่งมีแนวความคิดที่เป็นต้นแบบและทรงอิทธิพลที่สุด นับตั้งแต่พุทธโฆษาจารย์เป็นต้นมา และอาจประเมินบทบาทของพุทธทาสภายในวัฒนธรรมชาวพุทธ ให้เสมอกับนักคิดชาวพุทธอินเดีย ที่ยิ่งใหญ่อย่างเช่นนาคารชุน[๑๐]"




เชิงอรรถ
[๑] บทกวีแด่ท่านอาจารย์พุทธทาส โดย อังคาร กัลยาณพงศ์
[๒] เมืองไชยา เป็นชื่อเดิมของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเมืองเก่าแก่
มีหลักฐานว่าในพุทธศตรรษที่ 13 รวมอยู่กับอาณาจักรศรีวิชัย เมื่ออาณาจักรนี้เสื่อมลงจึงแยกออกเป็น 3 เมือง คือ เมืองไชยา เมืองท่าทอง และเมืองคีรีรัฐ ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาในรัชสมัยของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ย้ายเมืองท่าทองมาตั้งที่บ้านดอน และยกฐานะเป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ พระราชทานนามว่า เมืองกาญจนดิษฐ์
ครั้งเมื่อมีการปกครองแบบมณฑล ได้รวมเมืองทั้งสามเป็นเมืองเดียวกันเรียกว่า เมืองไชยา ต่อมา พ.ศ.2458 รัชกาลที่ 6
โปรดฯให้เปลี่ยนชื่อเมืองไชยามาเป็นเมืองสุราษฎร์ธานี แปลว่า เมืองแห่งคนดี ศูนย์กลางอาณาจักรศรีวิชัย เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุดในภาคใต้
[๓] แก่นพุทธศาสน์
[๔] ท่านที่สนใจสามารถสมัครเข้ารับการฝึกอบรมอานาปานสติภาวนาที่สวนโมกข์นานาชาติได้ อ่านรายละเอียดที่เว็ปไซต์มัญชุศรี
[๕] อ่านรายละเอียดของปฏิจจสมุปบาทได้จาก "พุทธทาสภิกขุกับภาพปฏิจจสมุปบาท"
[๖] The Zen Way to Martial Arts : A Japanese Master Reveals the Secrets of the Samurai , Taizen Deshimaru Roshi
[๗] กวีนิพนธ์ของเรียวกัน แปลโดย สมภาร พรมทา, กรกฎาคม 2525 สำนักพิมพ์พุทธชาด
[๘] อาการอาพาธขั้นสุดท้ายของท่านพุทธทาส (๑) , (๒)
[๙] อ้างอิงจาก พุทธทาสในบริบทของสังคมไทย โดย ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ อ่านข้อเขียนที่อ้างถึงดังกล่าวได้ใน Donald K.Swearer, “Introduction,” in Bhikkhu Buddhadasa. Me and Mine, edited with an introduction by Donald K. Swearer (Albany, New York : State University of New York Press. 1989),p.2.
[๑๐] ประวัติของท่านนาคารชุน

ข้อมูลเพิ่มเติมประวัติของท่านพุทธทาส

 


มาจองที่ค่ะ



โดย: นจ IP: 203.156.44.86 วันที่: 28 พฤษภาคม 2549 เวลา:0:07:56 น.  

 
รอฟังตอนที่เหลือ แล้วค่อยลงความเห็นนะคะ

แต่มาบอกให้รู้ว่าเห็นแล้วและอ่านแล้ว


โดย: แกะเขี้ยว IP: 124.120.3.136 วันที่: 28 พฤษภาคม 2549 เวลา:4:07:51 น.  

 

ผมเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีความเหมือนคุณ คือได้รับการสั่งสอนให้รู้จักพุทธศาสนาแบบจารีต แม้กระทั่งผมได้มีโอกาสบวชเรียนตามประเพณีแล้ว ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
ก็ยังไม่พัฒนาขึ้น จนเมื่อมาอ่านหนังสือของท่านพุทธทาสภิกขุ จึงได้พบสัจธรรมหลายอย่างที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน

เห็นด้วยกับแนวคิดของคุณทุกประการ ขอบคุณครับ


โดย: หนุ่มร้อยปี (หนุ่มร้อยปี ) วันที่: 28 พฤษภาคม 2549 เวลา:8:57:01 น.  

 


สาธุ อ่านแล้วเปิดสมองมากเลยค่ะ

ขอบพระคุณ ทค



โดย: jengly วันที่: 28 พฤษภาคม 2549 เวลา:10:53:03 น.  

 
ผมแวะมาเยี่ยมเกือบทุกสัปดาห์ ดีใจที่ได้อ่านข้อเขียนของสหายฯ อีกครา

ขอแบ่งประสพการณ์สักเล็กน้อยนะครับ

ผู้รู้จักท่านพุทธทาสครั้งแรกประมาณ ปี 2534 ตอนนั้นอายุประมาณ 13 อยู่ชั้น ม 3 หนังสือเล่มแรกที่ผมอ่านคือ "คู่มือมนุษย์"

เล่มต่อมาที่อ่านก็คือ คู่มือดูพระ ต่อมาก็ แก่นพุทธศาสตร์ (ซึ่งหน้าปกเป็นรูป Mandala ที่สหายเอามาแสดงประกอบ)

หลังจากนี้มีอีกหลายเล่ม ตลอดชีวิต ม ปลายของผม อ่านแต่หนังสือธรรมะ และ ปรัชญาเซน

ซึ่งผมก็มักจะแนะนำสหายที่พอจะสนิทกันว่า ถ้าใครไม่เคยอ่านหนังสือของท่านพุทธทาส ก็ขอให้อ่าน 3 เล่มนี้ ตามความเห็นแล้ว ก็ควรจะอ่าน คู่มือมนุษย์เป็นหนังสือเล่มแรก เพราะเนื้อหาเป็นพื้นฐานมากที่สุด

ส่วน แก่นพุทธศาสตร์นั้น ลึกกว่า แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลหนังสือยอดเยี่ยมด้วยนะครับ

"คู่มือดูพระ" ออกจะเป็นตำราที่ทำให้ เกิดความสั่นคลอนต่อพุทธศาสนาในบ้านเราได้มากที่สุดเล่มหนึ่ง ถ้าคนอ่าน อ่านแล้วคิดตามมาก ๆ หรือ ไม่คิดตามเลย (แล้วไปโวยวาย) อ่านชื่อหนังสือ นึกว่าจะสอนดูพระเครื่อง ที่ไหนได้... ไปการชี้ว่า ดิรัจฉานวิชาคืออะไร และอริยะสงฆ์ในอีกความหมายหนึ่ง ซึ่งไม่ไช่ในเชิงอิทธิฤทธิ์นั้นเป็นอย่างไร และวินัยสงฆ์จริง ๆ แล้วมีอะไรบ้างที่ประชาชนควรรู้และเข้าใจ

นอกจาก "ตัวกู-ของกู", "โรคทางวิญญาณ", "ความว่าง", "สุญญตาธรรม" ที่สหายสิกขา ได้ยกมาแล้วว่า จะเป็นศัพท์ใหม่ ที่อาจจะได้ยินได้อ่านจากหนังสือท่านพุทธทาส

แต่วา มีอีก 2-3 คำนะครับ ซึ่งเกี่ยวข้องกัน และเป็นคำที่ classic มากที่จะยก credit ให้กับท่าน คือ "จิตว่าง" , เอานิพพานเป็นอารมณ์, และ "นิพพานชิมลาง" (เอ่อ คำสุดท้ายนี่ ผมไม่แน่ใจนะ แต่ใจความประมาณนั้น)

ขอพูดเรื่อง "นิพพานชิมลาง" ก่อน ท่านว่า ไม่ต้องรอชาติภพไหน ไม่ต้องตายก่อนถึงไปนิพพาน นิพพานเป็นสภาวะจิต ถ้าจิตสงบ นั่นก็ใกล้เคียง แต่มันยังไม่ใช่หรอกนะ ท่านบัญญัติว่า นิพพานชิมลาง คือแบบนี้น่ะ ให้รู้ว่าประมาณนี้ แต่ยังไม่ใช่ ดังนั้นอย่าเพิ่มติดและคิดไปว่าได้ถึงแล้ว เขาให้ชิมดูก่อน ให้ลองดูก่อนว่า จิตสงบ และ ว่างแล้ว สภาวะจิตนิพพานก็ประมาณนี้

"เอานิพพานเป็นอารมณ์" เนืองจาก มีข้อถกเถียงกันมากเกี่ยวกับ ไตรลักษณ์ ที่ว่า ทุกอย่างนั้น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ... สัพเพ ธัมมา นาลัง สุญญัง... แล้วนิพพานล่ะ อยู่ในกฎนี้ไหม เป็นอนัตตาไหม ซึ่งถกเถียงกันหลายสำนักบ้าง เอาว่าสรุปแล้ว นิพพานไม่ใช่อัตตาละกัน ก็ให้เอานิพพานเป็นอารมณ์ แล้วก็ไม่ต้องไปยึดติดนิพพานที่เอามาเป็นอารมณ์นั้น

ผมไม่ได้ศึกษาต่อว่า สุดท้ายแล้วท่านสรุปหรือไม่ ว่าประเด็นนี้ ตอบได้หรือไม่ มีคำตอบที่ดีกว่าบอกว่า ไม่ใช่อัตตาหรือไม่

"จิตว่าง" คำนี้เป็นคำที่ทำให้ท่านพุทธทาสถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด มีคนหาว่าท่านเป็นบ้า ก็เพราะว่าคำนี้ (เอ่อ ผมไม่ได้คิดนะ) และเพราะว่าคำ ๆ นี้ จึงเป็นที่มาของเสวนาประวัติศาสตร์ ระหว่าง ท่านคึกฤทธิ์ ปราโมช และ ท่านพุทธทาสภิกขุ

เพราะท่านคึกฤทธิ์ ปฎิเสธเรื่องจิตว่างอย่างหัวชนฝา ถึงขนาดบอกว่า มีคนบ้าที่ไชยาที่เอาแต่บอกว่าจิตว่าง จนมีผู้ที่อยากเป็นสองปราชญ์ ระหว่าง ฝ่ายโลกียะ และฝ่ายโลกุตระ มานั่งถกประเด็นกัน

จึงมีหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งบันทึกคำสนทนาเหล่านี้ไว้ ชื่อว่า "วิวาทะ" ซึ่งผมแนะนำให้อ่านเป็นเล่มหลัง ๆ เลย ถ้าคิดว่าพอจะเข้าใจแนวคิด สุญญตามาบ้างแล้ว จะได้ไม่คล้อยตามไปทาง ท่านคึกฤทธิ์ไปเสียหมด

สำหรับผู้ที่เคยบวชเรียน หรือ ยังไม่เคยบวช มีหนังสืออีกเล่มของท่านพุทธทาสชื่อว่า "บวชทำไม" (ผมยังไม่ได้บวชนะครับ) ท่านพุทธทาสกล่าวว่า บวช มาจากคำว่า ปวช แปลว่า ไปให้พ้นจาก.... ซึ่งผมก็ไม่เคยได้ยินการแปลความแบบนี้มาก่อน

สำหรับภาพวาดในมหรสพทางวิญญาณนั้น มีจำลองให้ดูที่ "วัดอุโมงค์" ในจังหวัดเชียงใหม่ด้วยนะครับ

โอ้ ตอนแรกว่าจะเขียนนิดเดียว พอดีมันมือไปหน่อย ผมไม่ได้อ่านหนังสือธรรมมะหลายปีแล้ว เพราะคนรุ่นผมไม่ค่อยอ่านกัน หาคนคุยด้วยไม่ได้

แม้ใน internet จะมีห้องคุยกันบ้าง แต่ก็คุยแบบรายละเอียดเช่น พระสูตร นั้น พระสูตรนี้ ราวกับจะสอบนักธรรมกัน หรือคุยไปคุยมา ก็ลงที่อภินิหาร หรือ ชาติภพแบบ ที่ชาวบ้านคุยกัน

ก็ขอขอบคุณ และขออนุโมธนาด้วยครับ ที่มีข้อเขียนมีประโยชน์เช่นนี้ให้อ่านทุกครั้งครับ


โดย: Plin, :-p วันที่: 28 พฤษภาคม 2549 เวลา:11:19:05 น.  

 
788


โดย: i89i9o IP: 203.114.103.21 วันที่: 29 พฤษภาคม 2549 เวลา:0:27:26 น.  

 
ถึงท่านผู้อ่านทุกท่าน, ผมได้มีการแก้ไขข้อมูลและข้อความบางส่วนในบทความ และปรับปรุงข้อมูลในเชิงอรรถให้เรียบร้อยขึ้น ลองตรวจสอบเพิ่มเติมดูนะครับ

คุณนจ: ยินดีที่บทความเป็นประโยชน์เน้อ
คุณแกะเขี้ยว : รับทราบครับ
คุณหนุ่มร้อยปี : ขอบคุณที่มาเยี่ยมเยือน และดีใจที่บทความมีประโยชน์และ ขอขอบคุณสำหรับข้อคิดในความคิดเห็นที่โพสต์ลงมานะครับ
คุณi89i9o IP: 203.114.103.21 : อ้า, เอ้อ ขอขอบพระคุณที่เข้ามาเยี่ยมเยือนนะครับ


โดย: ฮันโซ วันที่: 29 พฤษภาคม 2549 เวลา:17:54:28 น.  

 
คุณ Plin, :-p

สำหรับคอมเม้นต์นี้คงต้องตอบยาวหน่อยครับ เพราะท่านเล่นโพสต์เข้ามาให้ยาว จนแทบจะกลายเป็นอีกบทความไปเลย ดีครับดีผมก็ชอบอ่านอยู่แล้ว

ก่อนอื่นผมต้องขอขอบพระคุณคุณ Plin นะครับที่ติดตามอ่านสหายสิกขาแทบทุกสัปดาห์ ทั้งที่เข้ามาแล้วก็เจอกับสุญญตาธรรม (คือความว่างนั่นเอง) แฮ่ม, ใจจริงผมอยากจะเีขียนบทความลงทุกสัปดาห์เหมือนกันนั่นแหละครับ โดยเฉพาะบทความที่ยังคิดค้างกันอยู่ (คือเรื่องนโยบายทักษิณ) แต่ด้วยเหตุัขัดข้องในภารกิจส่วนตัว ประกอบกับผมเริ่มหมดอารมณ์ในการค้นคว้าข้อมูล และการเขียนไปเฉยๆ ด้วยสาเหตุหลายๆประการ (ผมจะเล่าให้ฟังทีหลังนะครับ) ก็เลยคิดว่าเราเว้นวรรคไปพร้อมกับท่านนายกฯ ดีกว่า (พอท่านกลับมา ผมก็เลยกลับมาตามไงครับ)

อ่าผมล้อเล่นอีกแล้ว บทความเรื่องสืบสานปณิธานพุทธทาส ๑๐๐ ปีชาตกาล ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๙ นี้ ผมตั้งใจจะเขียนขึ้นมาให้ทันกับวันที่เฉลิมฉลองพอดีครับ ก็โชคดีที่บังคับตัวเองให้ทำตามความตั้งใจได้ เป็นนิมิตหมายที่ดีที่มีแนวโน้มว่าผมจะสามารถบังคับตัวเองให้เขียนบทความนโยบายทักษิณให้จบให้ได้ แม้ว่าคนจะเริ่มเบื่อทั้งการเมืองและบทความไปแล้วก็ตาม (ฮา)

มาคุยกันต่อเรื่องธรรมะก็แล้วกันนะครับ

คุณเริ่มอ่านหนังสือหลายเล่มของท่านพุทธทาส คล้ายๆกับผมนะครับ เข้าใจว่าคนรุ่นใหม่หลายคนที่สนใจศึกษางานของท่านพุทธทาส ก็คงเริ่มจากหนังสือชุดนี้ ส่วนรูปที่ผมเอามาลงประกอบบทความคือรูป ภวจักร หรือ กาฬจักร (สังสารจักร) (Wheel of Becoming หรือ Wheel of Life) น่าจะแตกต่างจากรูป มณฑล (Mandala)

สำหรับเรื่องข้อถกเถียงว่า นิพพานเป็นอัตตา หรือนิพพานเป็นอนัตตา ผมก็ไม่เคยเห็นท่านพุทธทาสชี้แจงเรื่องนี้แบบละเอียดเหมือนกัน แต่ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นขึ้นมาเนื่องจากมีกลุ่มพุทธศาสนิกกลุ่มหนึ่ง (กลุ่มใหญ่) มีข้อขัดแย้งในแง่การตีความพระสูตร เพราะถูกมองว่าไปยึดติดกับนิมิต และมองว่าไปติดในเรื่องอัตตา เขาเลยพยายามถอดข้อมูลจากพระสูตรออกมาว่านิพพานก็เป็นเรื่องอัตตา การที่พุทธศาสนาถือเรื่องนิพพานเป็นเป้าหมาย ก็ไม่น่าจะแตกต่างอะไรกับการที่กลุ่มเขาจะถือนิมิตที่ถือกันอยู่เป็นเป้าหมายเช่นกัน ในขณะที่ฝ่ายคัดค้านก็มีหลักฐานตรงข้ามมาชี้แจงเช่นกัน ก็คงจะต้องติดตามกันต่อไปครับ ว่าจะเป็นอย่างไร

อันที่จริงถ้ามีคนถามผมถึงว่า นิพพานคืออะไร เป็นยังไง เมื่อก่อนนี้ผมคงจะตอบและถกเถียงกันได้สนุก แต่หลังจากผมได้อ่านนิทานเซ็น เรื่อง เซ็นเนื้อเซ็นกระดูก ทำให้ผมมาคิดได้ว่า สำหรับเรื่องของธรรมะ เรื่องของนิพพาน คงจะบอกอะไรใครไม่ได้ เราทำได้แต่ชี้ทางไป ธรรมะหรือนิพพานย่อมไม่ใช่นิ้วมือของเรา ยิ่งอาจไม่ใช่ทางที่จะไป แต่ต้องเป็นการเดินทางไปของแต่ละคนเท่านั้นล่ะครับ

ซึ่งผมมีความเชื่อส่วนตัวว่า สำหรับองก์ความรู้ทางตะวันออก นั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการศึกษาจากการตีความจากตำรา แล้วก็ต้องมีการฝึกปฏิบัติควบคู่กันไป (จะให้ได้ผลก็ต้องมีครูหรืออาจารย์คอยชี้แนะกำกับอยู่ด้วย)

ถ้าสนใจงานเขียนของท่านพุทธทาส ผมอยากแนะนำหนังสือในชุดธรรมโฆษณ์

แนะนำอย่างยิ่งสามเล่มต่อไปนี้ คือ
๑. อิทัปปัจจยตา
๒. ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์
๓. อานาปานสติบรรยาย อภิปราย-สัมมนา-สาธิต (เล่มนี้อาจจะใช้อานาปานสติ ฉบับบรรยายสำหรับนึกศึกษาซึ่งเล่มเล็กกว่ากันแทนได้)

ส่วนเล่มที่แนะนำเพิ่มเติมคือ
๑. ไกวัลยธรรม
๒. ตามรอยพระอรหันต์

ขออนุโมทนา และยินดีที่ได้มีโอกาสสนทนาธรรมเนื่องในวาระเฉลิมฉลองการสืบสานปณิธานท่านพุทธทาสด้วยเช่นกันครับ


โดย: ฮันโซ วันที่: 29 พฤษภาคม 2549 เวลา:18:29:13 น.  

 
ขอบคุณครับ

แหะ ๆ ผมพลาดไปแล้วครับเรื่อง Mandala สงสัยต้องไปศึกษาเรื่องศิลปะภูฐาน กับ ทิเบต เพิ่มแล้วครับ จะได้ดูภาพออก

พูดถึง Bhutan นี่ นึกออกแต่ Gross National Happiness กับ Gross Domestic Happiness ก็นึกออกแต่ชื่อนะครับ ไม่ได้นึกออกว่าจะวัดได้ยังไง หรือใครที่ไหนในบ้านเราไปอ้างเขามา

ส่วนที่ท่านฮันโซว่าผม comment จนแทบจะเป็นอีกบทความนั้น ผมก็เลยเอาที่ผมตอบไปทำเป็นอีก blog นีงไปเลยครับ แหะ แหะ (แต่เพิ่มเติมรูปเพื่อความสวยงามไปด้วย)

ขอบคุณเรื่อง link manadala กับ wheel of life นะครับ เพราะเดี่ยวผมคงต้องไป post ตอบแก้ไขว่า นั่นไม่ใช่รูป mandala น่ะครับ

แต่คงไม่ไปแก้ตัวเนื้อความเพราะผมเขียนว่า เอาแบบนั้นมาตอบที่นี่น่ะครับ



โดย: Plin, :-p วันที่: 29 พฤษภาคม 2549 เวลา:21:53:48 น.  

 
เชื่อ ป่ะ ว่าผมตามมาจากกระทู้ กุ๊กเกิ้ลเทรนนะเนี่ย

หนังสือ ของพุทธทาส เคยอ่านแต่เล่นมเดียวเองครับ
ไม่ต้องบอกก็คงเดาได้ว่า เป็น "คู่มือมนุษย์"

จำได้ว่าตอนที่อ่านนั้น น้ำท่วมบ้านอยู่ ไม่มีหนังสืออะไรเหลือพอจะอ่านได้ แล้วเลยไปหยิบมาจาก หัวเตียงของแม่

อ่านไปฟังเสียงฝนไป ได้อารมณ์ ดีครับ แต่อย่างว่าละครับ คงเหมือนเรื่อง กามนิต ตอนที่ พระพุทธเจ้าพยายามสอนกามนิต ในบ้านช่างปั้นหม้อ ยังทิ้งอัตตาไม่ได้ก็เลยเพียงแค่อ่านผ่าน ๆ ความคิดที่เกิดก็เกิดเพียงแค่แวบเดียวเป็นชาติเดียว แล้วก็จางหายเหมือนคลื่น ดังที่ท่านบอกมา

นี่ว่าเมื่อใดมีโอกาสได้บวชได้ศึกษา คงต้องเตรียมหนังสือท่านพุทธทาส ไว้อ่านในยามนั้นด้วยแล


โดย: นน IP: 202.62.101.3 วันที่: 30 พฤษภาคม 2549 เวลา:14:32:46 น.  

 
ขอบคุณสำหรับข้อเขียนดีๆ ครับ


โดย: ปริเยศ IP: 124.121.96.41 วันที่: 15 มิถุนายน 2549 เวลา:20:13:52 น.  

 
ขอบคุณสำหรับบทความต่างๆ และจะรออ่านบทความอื่นๆต่อไปอีกนะคะ เพราะทำให้ได้มุมมองต่างๆ ที่หลากหลาย ช่วยเพิ่มรอยหยักในสมองได้อีกมากมายค่ะ



โดย: เวลา IP: 192.150.249.114 วันที่: 1 กรกฎาคม 2549 เวลา:18:15:30 น.  

 


เจ้านายที่รัก

นจ มาปัดฝุ่นให้นะเจ้าคะ

ดูสิ หยากไย่ขึ้นหมดแล้ว



โดย: เจ็งลี่ (jengly ) วันที่: 9 กรกฎาคม 2549 เวลา:16:13:13 น.  

 


โดย: 123 IP: 203.131.212.11 วันที่: 12 กรกฎาคม 2549 เวลา:12:13:20 น.  

 
อยากให้วัยรุ่นในสมัยนี้มาศึกษาธรรมกันบ้าง



โดย: แชมป์ IP: 202.29.54.179 วันที่: 15 มิถุนายน 2550 เวลา:14:53:38 น.  

 
อยากให้วัยรุ่นในสมัยนี้มาศึกษาธรรมกันบ้าง



โดย: แชมป์ IP: 202.29.54.179 วันที่: 15 มิถุนายน 2550 เวลา:14:53:38 น.  

 


โดย: มาย IP: 222.123.122.50 วันที่: 28 พฤศจิกายน 2550 เวลา:20:11:04 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ฮันโซ
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




สหายสิกขา Lite version

สหายสิกขาตั้งคำถามกับการเป็นอยู่ของสรรพสิ่งตรงหน้า พร้อมกันนั้นก็เปิดรับแนวคิดของคำตอบในมุมมองที่แตกต่างอย่างเท่าเทียมกัน

สหายสิกขาจะมีความยินดียิ่ง หากคุณได้นำความรู้ที่ได้จุดประกายนี้ไปตีความต่อให้ลึกซึ้งยิ่งๆขึ้น เพราะยิ่งแลกเปลี่ยนยิ่งถกเถียงยิ่งสนทนาก็สามารถแตกประเด็นไปอีกได้มาก

สหายสิกขาต้องการกระตุ้นให้คนอ่านได้คิด และสัมผัสถึงขอบเขตที่ไม่สิ้นสุดแห่งจินตนาการ

พร้อมกันนั้นสหายสิกขา ก็พร้อมอยู่เป็นเพื่อนคู่คิด เพื่อนสนทนา เพื่อจับมือกันเรียนรู้ไปในโลกกว้าง ...ด้วยกัน

CC Developing Nations
Friends' blogs
[Add ฮันโซ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.