นายสัญชาติ พลมีศักดิ์
Group Blog
 
All Blogs
 

การจัดการความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์

การจัดการความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ ทุกวันนี้เป็นทศวรรษแห่งเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีการชิงความได้เปรียบในเรื่องความเร็วของข้อมูลวัดผลแพ้-ชนะกันที่องค์ความรู้ที่แม่นยำและถูกต้อง แต่ไม่ว่าความเปลี่ยนแปลงของอารยธรรมใหม่ ๆ จะล้ำหน้าไปเพียงใด ปัจจัยแห่งความสำเร็จก็หนีไม่พ้นที่จะต้องอาศัย “คน” แต่สิ่งที่หลีกไม่พ้นในการทำงานของคนก็คือ ความขัดแย้งทั้งหลายแหล่
ความขัดแย้งเป็นกระบวนการที่เกิดจากความพยายามของฝ่ายหนึ่ง ที่ไปขัดขวางความพยายามของอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามบรรลุเป้าหมาย ได้รับความก้าวหน้าหรือผลประโยชน์ตามที่ต้องการ ด้วยวิธีการใดวิธีหนึ่ง (Stephen P. Robbin,1991)
ความขัดแย้งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นตอน ๆ ในแต่ละตอนจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นตามลำดับ ตัวอย่างเช่นความขัดแย้งที่เกิดจาก “ความคับข้องใจ” ของฝ่ายหนึ่งที่ถูกอีกฝ่ายหนึ่งกระทำ การกระทำที่ก่อให้เกิดความคับข้องใจดังกล่าว เช่น ไม่เห็นด้วย ไม่ช่วยเหลือ ดูถูก เอาเปรียบ ให้ร้าย เสียศักดิ์ศรี ฯลฯ ดังนั้น ต่างฝ่ายจึงต่างพยายามหาหลักฐานหรือเหตุผลเพื่อมาสนับสนุนความถูกต้องของตนเอง และหาทางออกด้วยวิธีการเอาแพ้เอาชนะมากกว่าอย่างอื่น จึงเกิดเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหารูปแบบต่าง ๆ เช่น การเอาชนะ ต่อรอง ร่วมมือ หลีกเลี่ยง ผ่อนปรนเข้าหากัน เป็นต้น
โบราณกล่าวไว้ว่า มากคนก็มากความ แถมบางคนยังไม่ได้ความอีกต่างหาก ไม่ว่าหน่วยงานของเราจะมีคนเป็นแสนหรือมีแค่สองคน เราก็ต้องทำให้คนเหล่านั้นทำงานเข้ากันให้ได้ คงไม่มีใครในโลกนี้ไม่เคยขัดแย้งกับคนอื่น ทุกวันนี้ปัญหาความขัดแย้งที่พบในหน่วยงานต่าง ๆ มีเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เห็นได้จากพฤติกรรมที่แสดงออกมาอย่างชัดเจน หรือซ่อนเร้นอยู่ในใจของพนักงาน แต่ร้อนรุ่มอยู่ตลอดเวลา สิ่งนี้บั่นทอนสุขภาพจิตของพนักงานและสร้างความถดถอยให้แก่หน่วยงาน ไม่ว่าความขัดแย้งนั้นจะอยู่ในรูปแบบใดหากยังคงอยู่ในองค์กรโดยไม่ได้รับการบริหารจัดการ นั่นย่อมหมายความว่า หน่วยงานของเรากำลังสูญเสียบางสิ่งบางอย่าง หรือความสามารถในการแข่งขันของเรากำลังลดลง เนื่องจากพนักงานของเรายังคงต้องทำงานร่วมกันต่อไปท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ “คน” มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น
อย่างที่เราพอทราบเป็นนัย ๆ แล้วว่า สิ่งใดก็ตามที่มีคนเข้ามาเกี่ยวข้อง การแก้ไขแทบจะไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว และไม่มีวิธีใดที่ดีที่สุดเพียงวิธีเดียวที่สามารถใช้ได้กับทุกสถานการณ์ แต่แนวคิด หลักคิดและความเข้าใจในปัญหา ความเข้าใจในสภาพแวดล้อมของปัญหา รวมทั้งความเข้าใจผู้อื่น ความมีใจกว้างและเปิดใจยอมรับฟัง จะช่วยให้การวิเคราะห์และตัดสินใจแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างราบรื่น ลงตัวและเกิดความร่วมมือในที่สุด ดังนั้น ทุกครั้งที่เราจะต้องตัดสินใจเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง ทุกคนต้องตั้งความหวังไว้เสมอว่าเมื่อความขัดแย้งสิ้นสุด บทสรุปความสัมพันธ์ต้องเหมือนเดิม
แนวคิดเรื่องความขัดแย้ง แนวคิดดั้งเดิมเกี่ยวกับ “ความขัดแย้ง” เรามักมองว่าความขัดแย้งเป็นอุปสรรคของการทำงานเสียเวลา คนที่มีความขัดแย้งจะถูกคนอื่นมองว่าเป็นพวกมองโลกในแง่ร้าย พวกแกะดำ ไม่มีสัมมาคารวะไม่ห่วงอนาคต แถมยังทำให้องค์กรไม่ก้าวหน้า เสียเวลาในการทำงาน ฯลฯ ด้วยเหตุนี้คนเราจึงไม่ค่อยกล้าแสดงความเห็นที่ขัดแย้ง เพราะกลัวภาพลักษณ์ของตนเองจะถูกคนอื่นมองในด้านลบ ดดยมีความเชื่อว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องที่สามารถหลีกเลี่ยงได้
“แนวคิดใหม่” สำหรับความขัดแย้ง มองว่าความขัดแย้งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ความขัดแย้งสามารถส่งผลทั้งด้านบวกและด้านลบแก่องค์กร ทำให้องค์กรไม่หยุดนิ่ง ทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ เกิดการยอมรับและไว้วางใจซึ่งกันและกัน ช่วยในการสร้างทีมงานได้เป็นอย่างดี
ความขัดแย้งอาจเกิดจากปัญหาในการทำงาน แต่บ่อยครั้งก็มีสาเหตุมาจากเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องงาน แต่ส่งผลกระทบต่อการทำงานร่วมกัน แล้วก็มีหลายครั้งที่มีสาเหตุมาจากเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับงาน แต่ส่งผลกระทบต่องานและเพื่อนร่วมงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งท้ายสุดก็คืออาจส่งผลกระทบถึงลูกค้า ทั้งลูกค้าภายในซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานและลูกค้าภายนอก ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดล้วนมีผลต่อความผาสุกในการทำงานของมวลหมู่พนักงานและบริษัทอย่างแน่นอน
การพิจารณาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง จะต้องใช้ความรอบรู้และรู้รอบ ต้องมีการวางแผน รู้จังหวะ และหาโอกาสที่เหมาะสม นอกจากนี้ การได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองกับผู้เกี่ยวข้อง ยังช่วยให้ได้ข้อมูลและพบทางออกที่ได้รับการยอมรับจากสังคมมากที่สุด

ประโยชน์ของความขัดแย้ง
บางคนถามว่าความขัดแย้งดีหรือไม่? เพราะแค่ได้ยินชื่อก็เกิดความรู้สึกในทางลบไปเรียบร้อยแล้วแต่ในความเป็นจริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ ความขัดแย้งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ไม่ใช่ส่งผลร้ายเสมอไป
เราพบความหลากหลายของคน ทั้งที่มีความเชื่อ วิถีชีวิต ค่านิยม ทัศนคติ ที่ต่างจากเราหรือคล้ายกับเรา จนกระทั่งไม่เหมือนกับเราเลย ดังนั้น ทุกครั้งที่มีการตัดสินใจ จึงยากมากที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง คงไม่มีใครในโลกนี้ไม่เคยขัดแย้งกับคนอื่น ไม่มีใครคนไหนจะมีความคิดเห็นที่ตรงกันไปได้ทุกเรื่องและทุกเวลา แม้กระทั่งความขัดแย้งในตัวเอง แต่ต้องถามกลับว่า มีความขัดแย้งอีกมากเท่าไหร่ ที่เรายังไม่ได้จัดการ
มีคำกล่าวว่า อยากเป็นใหญ่ต้องผู้มิตรมากกว่าสร้างศัตรู แต่คนที่ประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ล้วนมีศัตรูที่แข็งแกร่งและเข้มแข็งทั้งสิ้น นั่นหมายความว่า อุปสรรคยิ่งยาก เราก็ยิ่งแข็งแกร่ง ดังนั่น องค์กรใดไม่มีความขัดแย้ง องค์กรนั้นก็ยากที่จะบินขึ้นสู่ที่สูง
สาเหตุของความขัดแย้งที่สำคัญมี 6 ประการ
1. ความไม่พอเพียงของทรัพยากร ทำให้เกิดการแข่งขัน แย่งชิง เพื่อให้ตนเองสามารถบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย จนบางครั้งละเลยความรู้สึกและความสัมพันธ์ของทีมงานและเพื่อนร่วมงาน
2. ลักษณะของงานที่ต้องพึ่งพากัน ถ้าหน่วยงานหรือบุคคลกลุ่มใดมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันความขัดแย้งก็จะมีความแปรผันและรุนแรงมากขึ้น
3. การสื่อสารที่ไม่ชัดเจน การสื่อสารที่ดีจะต้องยึดหลัก “4Cs” คือ
- Correct เนื้อหาต้องถูกต้อง เป็นจริง ไม่ปิดบังซ่อนเร้น
- Clear ต้องมีความชัดเจน ผู้รับข้อมูลจะต้องเข้าใจสิ่งที่ผู้ให้ข้อมูลต้องการสื่อสาร
ได้อย่างถูกต้อง
- Concise ข้อมูลต้อวกระชับ ไม่เยิ่นเย้อ เน้นประเด็นสำคัญของเนื้อหาที่ต้องการ
สื่อสาร
- Complete เนื้อหาจะต้องมีความสมบูรณ์ ไม่ตกหล่นสาระที่มีความสำคัญต่อการ
สื่อสารในครั้งนั้น ๆ
4. ความคลุมเครือในเรื่องขอบเขตของงานและหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ ความไม่ชัดเจนในเรื่องการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละคน ความไม่ชัดเจนของขั้นตอนการทำงาน และความซ้ำซ้อนของการมอบหมายงานของผู้บริหาร
5. คุณลักษณะของแต่ละบุคคล เนื่องจากแต่ละบุคคลมีความคิด ความคาดหวัง ความเชื่อ ค่านิยม ประเพณี การอบรมเลี้ยงดู การศึกษา ประสบการณ์ ความฝังใจ ที่แตกต่างกัน
6 บทบาทและหน้าที่ เนื่องจากแต่ละท่านได้รับบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันไปในสถานการณ์นั้น ๆ นอกจากนี้ ภารกิจและเป้าหมายที่ได้รับก็แตกต่างกันไป ดังนั้น แนวคิด หลักคิดและบทบาทของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกัน จึงเป็นเหตุของความขัดแย้งได้อย่างเป็นอย่างดี
การจำแนกความขัดแย้ง
1. ความขัดแย้งภายในบุคคล
2. ความขัดแย้งระหว่างบุคคล
3. ความขัดแย้งภายในกลุ่ม
4. ความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม
5. ความขัดแย้งภายในองค์กร
6. ความขัดแย้งระหว่างองค์กร
วิธีการจัดการกับความขัดแย้ง
โทมัส และ คิลเมน (Kenneth W. Thomas and Ralph H. Kilmann) ได้ศึกษาว่า ในกรณีที่คนเราต้องเผชิญกับความขัดแย้ง เราจะมีวิธีการจัดการ (หรือขจัด) ความขัดแย้งนั้นอย่างไร? ซึ่งผลจากการศึกษาได้จำแนกวิธีการจัดการกับความขัดแย้งออกเป็น 5 แนวทาง ดังนี้
1. การเอาชนะ (Competition) เมื่อคนเราพบกับความขัดแย้ง จะมีบางคนที่แก้ไขความขัดแย้งนั้น ด้วยวิธีการเอาชนะ โดยมุ่งเน้นชัยชนะของตนเองเป็นสำคัญ จึงพยายามใช้อิทธิพล วิธีการหรือช่องทางต่าง ๆ เพื่อจะทำให้คู่กรณียอมแพ้หรือพ่ายแพ้ตนเองให้ได้ การแก้ไขความขัดแย้งในแนวทางนี้ จะทำให้เกิดผลลัพธ์ในลักษณะ “ชนะ-แพ้”
2. การยอมรับ (Accommodation) จะเป็นพฤติกรรมที่เน้นการเอาใจผู้อื่น อยากเป็นที่ยอมรับและได้รับความรัก มุ่งสร้างความพอใจให้แก่คู่กรณี โดยที่ตนเองจะยอมเสียสละ แนวทางการแก้ไขความขัดแย้งแบบนี้ เกิดผลลัพธ์ในลักษณะ “ชนะ-แพ้”
3. การหลีกเลี่ยง (Avoiding) เป็นวิธีจัดการกับความขัดแย้งในลักษณะไม่สู้ปัญหา ไม่ร่วมมือในการแก้ไขปัญหา ไม่สนใจความต้องการของตนเองและผู้อื่น พยายามวางตัวอยู่เหนือความขัดแย้ง พูดง่าย ๆ ก็คือทำตัวเป็นพระอิฐพระปูนนั่นเอง แนวทางการแก้ไขความขัดแย้งแบบนี้ มักเกิดผลลัพธ์ในลักษณะ “แพ้-แพ้” เป็นส่วนใหญ่
4. การร่วมมือ (Collaboration) เป็นพฤติกรรมของคนที่มุ่งจัดการความขัดแย้ง โดยต้องการให้เกิดความพอใจทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น เป็นความร่วมมือร่วมใจในการแก้ไขปัญหาที่มุ่งให้เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่ายซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในแบบนี้ เรียกได้ว่าเป็นวิธีการแก้ไขความขัดแย้งที่ Win-Win ทั้งสองฝ่ายแนวทางการแก้ไขแบบนี้จึงเกิดผลลัพธ์ในลักษณะ “ชนะ-ชนะ”
5. การประนีประนอม (Compromising) เป็นความพยายามที่จะให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้รับความพอใจบ้าง และต้องยอมเสียสละบ้าง แต่ก็มีแนวโน้มที่จะใช้วิธีที่ 1 คือวิธีเอาชนะมากกว่าวิธีอื่น แนวทางการแก้ไขความขัดแย้งแบบนี้ จึงเกิดผลลัพธ์ในลักษณะ “แพ้-แพ้” หรือ “ชนะ-แพ้”
แนวทางการลดข้อขัดแย้งในองค์กร
จากประสบการณ์ของผู้เขียน พบว่า วิธีการลดความขัดแย้งภายในองค์กรที่นิยมปฏิบัติกันมา คือการประชุมผู้เกี่ยวข้อง การตั้งทีมงานเพื่อแก้ไขปัญหา การโอนย้านงาน การทำงานแบบข้ามสายงาน การเปิดรับข้อเสนอแนะ การสำรวจความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง การออกเสียงข้างมาก แต่มีอยู่วิธีหนึ่งซึ่งผู้เขียนได้ทดลองนำไปใช้กับหน่วยงานบางแห่ง ผลปรากฎว่า กลุ่มคนที่ขัดแย้งกันเริ่มมีความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น โดยทดลองให้พวกเขาเข้าร่วมกิจกรรม “สุนทรียสนทนา” หรือ Dialogue ซึ่งถ้ามีโอกาสผมจะเขียนถึงเรื่องนี้ในคราวต่อ ๆ ไป หรือผู้อ่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากหนังสือวิชาการ
กิจกรรม “สุนทรีสนทนา” เป็นเรื่องของการเปิดใจยอมรับฟัง และการร่วมแสดงความคิดเห็นโดยมุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาและการเสนอแนะ ไม่ได้เน้นที่ตัวบุคคลหรือค้นหาผู้กระทำผิด พร้อมทั้งสร้างทัศนคติที่ดีต่อกัน ผลลัพธ์สุดท้ายของกิจกรรมนี้ก็คือ องค์กรจะเกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เกิดบรรยากาศในการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ และรู้สึกปลอดภัยในการให้ข้อมูล ซึ่งเมื่อเกิดความรู้สึกแบบนี้แล้ว ความขัดแย้งก็จะสลายไปในที่สุด

บทส่งท้าย
ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถใช้ความขัดแย้งเป็นเครื่องมือ “สร้างโอกาส” ในการพัฒนาและปรับปรุงองค์กรได้เป็นอย่างดี หากท่านมีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ท่านจะเลือกทางออกอย่างไร ระหว่าง การเอาชนะ (Competition) การยอมให้ (Accommodation) การหลีกเลี่ยง (Avoiding) การร่วมมือ (Collaboration) หรือการประนีประนอม (Compromising) อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่เราต้องตระหนักก็คือ เรากำลังหาทางออกของปัญหา ไม่ใช่การหาผู้กระทำผิดหรือผู้ที่มีความเห็นไม่ตรงกับเราและพยายามอย่างยิ่งในการหาทางออกแบบ “ชนะ-ชนะ”
ทักษะที่สำคัญอย่างหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งก็คือ ทักษะในการฟัง โดยต้องเป็นการฟังอย่าง “เข้าอกและเข้าใจ” ดังคำว่า “First to understand and then to be understood” และทดลองใช้เครื่องมือเพื่อขอความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ขอความร่วมมือ เพื่อลดปัญหาความขัดแย้ง “แบบเชิงรุก” โดยใช้ “สุนทรียสนทนา” (Dialogue)
สุดท้ายนี้ขอให้ทุกท่านโชคดีในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
อ้างอิง: นายสุรเชษฎ์ พลวณิช Surachet@ftpi.or.th




 

Create Date : 10 พฤศจิกายน 2552    
Last Update : 10 พฤศจิกายน 2552 15:48:37 น.
Counter : 553 Pageviews.  

ภาวะผู้นำ กับ PMQA

ภาวะผู้นำ : กลไกตอบสนองคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐและความต้องการของชุมชน

หลักการและเหตุผล
คำว่า “โลกแห่งการแข่งขันเปรียบเทียบ” เป็นคำกล่าวที่อยู่ในยุคสมัยตราบเท่าที่มนุษย์มีอารยะธรรม มีความเจริญ และความเสื่อม มีคำกล่าวว่าอะไรก็ตามหากมีการวัดได้ก็จะสามารถมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น เมื่อปี 2540 สภาพเศรษฐกิจของไทยมีความเสียหายเป็นอันมาก เป็นการสูญเสียการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และสูญเสียโอกาสด้านอื่นๆอีกมากมาย อาจเนื่องจากคุณภาพของการบริหารจัดการ ขีดความสามารถของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคุณภาพของคนในชาติ ต่อมาประเทศไทยได้มีการปฏิรูประบบราชการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ. ศ. 2545 และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ. ศ. 2545 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545 ทำให้ระบบราชการมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของหน่วยงาน วิธีการทำงาน การปรับเปลี่ยนแนวคิด พฤติกรรมการทำงาน โดยเน้นเป้าหมายสู่ประชาชนอย่างน้อยสองประการ คือ สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็วมากขึ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นจากการการปฏิรูประบบราชการครั้งนั้น รัฐบาลโดยคณะกรรมการพัฒนาระบบบริหาร (ก.พ.ร.) ได้กำหนดปรับเปลี่ยนกฏกระทรวง ระเบียบพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฏีกา หลายฉบับ เพื่อเป็นกลไกในการผลักดัน และเสริมสร้างระบบการทำงานภาครัฐในรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ. 2546 – 2550) ไว้ 4 ประการได้แก่

1. วิสัยทัศน์การพัฒนาระบบราชการไทย
ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ. 2546 – 2550) กำหนดเป็นวิสัยทัศน์ว่า “พัฒนาระบบราชการไทยให้มีความเป็นเลิศ สามารถรองรับการพัฒนาประเทศยุคโลกาภิวัฒน์ โดยยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และประโยชน์สุขของประชาชน”

2. กำหนดเป้าประสงค์หลัก 4 ประการ คือ
2.1) พัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนที่ดีขึ้น (Better Service Quality)
2.2) ปรับบทบาท ภารกิจ และขนาดให้มีความเหมาะสม (RightsiZing)
2.3) ยกระดับขีดความสามารถ และมาตรฐานการทำงานให้อยู่ในระดับสูงและเปรียบเทียบกับเกณฑ์
สากล (Hight Performance)
2.4) ตอบสนองต่อการบริหารปกครองในระบอบประชาธิปไตย(Democratic Govermance)

3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย
ภายใต้เป้าประสงค์ข้างต้น มีการกำหนดยุทธ์ศาสตร์ที่สำคัญ 7 ยุทธ์ศาสตร์ คือ
3.1) การปรับเปลี่ยนกระบวนการและวิธีการทำงาน
3.2) การปรับปรุงโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน
3.3) การรื้อปรับระบบการเงินและการงบประมาณ
3.4) การสร้างระบบบริหารงานบุคคลและค่าตอบแทนใหม่
3.5) การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วัฒนธรรม และค่านิยม
3.6) การเสริมสร้างระบบราชการให้ทันสมัย
3.7) การเปิดระบบราชการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

4. การนำยุทธ์ศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ
ในการนำแผนยุทธ์ศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย (พ.ศ. 2546 – 2550) ไปสู่การปฏิบัติอย่างประสบความสำเร็จ จะต้องอาศัยปัจจัยเกื้อหนุน อย่างน้อยที่สุด 4 ประการ คือ
4.1) ภาวะผู้นำ และความเป็นเจ้าของในการบริหารการเปลี่ยนแปลง
4.2) การแก้ไขกฎหมายอันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบราชการ
4.3) การเชื่อมโยงและบูรณาการสรรพกำลังของทุกภาคส่วนในการพัฒนาระบบราชการ
4.4) การจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาระบบราชการให้แก่ส่วนราชการต่างๆ
ทั้งหมดที่กล่าวนำ คือ บริบทการพัฒนาระบบราชการไทย ในช่วง พ. ศ. 2546 – 2550 ซึ่งจะนำเนื้อหารายละเอียดเสนอเป็นแนวคิดในการพัฒนางานหรือปรับปรุงงานให้มีประสิทธิภาพตามที่หน่วยงานต้องการต่อไป

บทวิเคราะห์/แนวคิด/ข้อเสนอ

แนวคิดเรื่องการใช้ภาวะผู้นำ เพื่อเป็นกลไกตอบสนองคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ และความต้องการของชุมชน แนวคิดในการพัฒนางาน หรือปรับปรุงงาน ให้มีประสิทธิภาพตามนัยที่เสนอนี้ เนื่องจากบริบทการพัฒนาระบบราชการไทย ในช่วง พ. ศ. 2546 – 2550 แม้ว่าในปี 2551 นี้จะผ่านพ้นการพัฒนาตามแผนยุทธ์ศาสตร์นี้แล้วก็ตาม สำนักงาน ก.พ.ร. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันการพัฒนานี้ยังจะคงบทบาทในการผลักดันให้มีการพัฒนาระบบราชการที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป จะเห็นจากคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบให้นำการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ตามข้อเสนอของสำนักงาน ก.พ.ร. เป็นเครื่องมือการผลักดัน ที่เรียกว่า เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ หรือเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2548 เรียกย่อๆว่า “PMQA” (Public Management Quality Award) และในปีงบประมาณ 2551 มีจังหวัดต่างๆอย่างน้อย 19 จังหวัดทั่วประเทศได้ดำเนินการตามตัวชี้วัด “ระดับความสำเร็จของการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ” ตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ หากได้ศึกษาในรายละเอียดจะพบว่า ทั้งยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย ข้อ 4.1 และเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐที่กำหนดไว้ในหลักคิด : 11 Core Value ให้ความสำคัญอย่างยิ่งข้อหนึ่ง คือ ภาวะผู้นำ และการนำองค์กรอย่างมีวิสัยทัศน์

ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกๆภูมิภาคของโลก ประเทศไทยซึ่งจัดอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนาย่อมได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจนอย่างน้อยสองประการได้แก่ภาษากลางของชาวโลก ที่นิยมใช้กันมากที่สุด คือ ภาษาอังกฤษ และเทคโนโลยีการสื่อสารคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เนตเครือข่ายไร้พรมแดน ในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วมีการนำเอาระบบคุณภาพในการบริหารจัดการมาใช้ทั้งภาครัฐและเอกชน มากกว่า 70 ประเทศเพื่อเพิ่มผลผลิตและยกระดับคุณภาพมาตรฐานการทำงานไปสู่ระดับสากล (Hight Performance)

ขณะเดียวกันได้มีบทสรุปที่มองให้เห็นว่า ก่อนปี 2504 การพัฒนาเขตเมืองและชนบทของภาคราชการไทย คือ “ยุคผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม” เป็นอุทาหรณ์ในการพัฒนา เพราะคนยุคนั้นใช้วิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ใช้ภูมิปัญญา ภูมิรู้ ใช้ประสบการณ์ตามลักษณะอาชีพและความถนัด ไม่มีคนภายนอกมาบังคับด้วยเงินตราและวิธีการอื่นมาชี้นำให้ทำตาม ชาวบ้านมีอิสระในความคิด ทำเพื่อความอยู่รอดมากกว่าความร่ำรวย ต่อเมื่อประเทศไทยได้มีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่แผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะไม่เป็นไปตามหลักธรรมชาติ คือความเจริญของการพัฒนาไปปรากฏขึ้นที่กลุ่มคนระดับส่วนบนมากกว่าส่วนล่าง คนส่วนล่างขาดการมีส่วนร่วม ขาดโอกาส ขาดการเรียนรู้ ขาดความมีอิสระในการคิดเอง ทำเอง สังคมไทยเปลี่ยนตัวเองจากที่อยู่แบบ “พอเพียง” เป็นสังคมที่อยู่แบบมั่งคั่ง แบบสะสมส่วนเกิน ระดมการผลิตและส่งเสริมการบริโภคแบบทันสมัย เป็นยุคสมัยแห่งการสร้างหนี้สิน ครอบครัวแตกแยก ชุมชนล่มสลาย มีปัญหาโรคเอดส์และยาเสพติด

มองว่าหากมีการปรับแผนใหม่ พัฒนาระบบราชการใหม่ โดยเปิดโอกาสให้ทุกคน ทุกฝ่าย ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนายึดหลักให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยภาคราชการทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง คอยให้การสนับสนุนและส่งเสริม ภาคราชการที่ประกอบไปด้วย ตัวแทนจากกระทรวง ทบวง กรม ทุกระดับ เช่น นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ครูอาจารย์ ผู้นำในชุมชน ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล/ส่วนจังหวัด อาสาสมัครสาธารณสุขในหมู่บ้าน และกลุ่มทุนต่างๆในชุมชน เช่น กองทุนสุขภาพประจำตำบล กองทุนเงินล้าน เป็นต้น โดยนับรวมชุมชนเขตเมืองและชนบท หากใช้กลไกเหล่านี้เพื่อตอบสนองคุณภาพบริหารจัดการภาครัฐและความต้องการของชุมชนด้วยภาวะผู้นำทั้งในแง่มุมวิชาการ และพฤติกรรมตามมิติของผู้นำ เช่น ความเสียสละ จริงใจ โปร่งใส อุทิศตน และทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคม โดยผู้นำจะต้องมองบริบทของสังคม ที่จะสร้างความอบอุ่น ความรักความสามัคคี การช่วยเหลือเกื้อกูลไม่เอารัดเอาเปรียบ ใช้ทุนทางสังคมที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประชาชนมีส่วนร่วมแก้ปัญหาชีวิตด้วยตนเอง แบบใช้สติปัญญานำหน้าใช้เงินตราตามหลัง

แนวคิดที่เสนอนี้เสนอเป็นมุมมองในเชิงภาวะผู้นำ ที่มีต่อกลไกตอบสนองคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐและความต้องการของชุมชนทางด้านวิชาการซึ่งมองเชิงระบบที่เกี่ยวข้องการบริหารงานและงานบริการสาธารณสุขในชุมชน โดยแบ่งเป็นสองส่วนได้แก่แนวคิดการบริหารจัดการ ผู้นำ และภาวะผู้นำ อันจะส่งผลตอบสนองคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐและความต้องการของชุมชน

แนวคิดการบริหารจัดการ (Management concept) เป็นแนวคิดต่อการทำงานที่จะให้บรรลุผลสำเร็จ จะต้องมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิผล (effectiveness) และประสิทธิภาพ(efficency) การบริหารจัดการเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับองค์กรทุกขนาด ทุกประเภท และทุกระดับขององค์กร ดังนั้นผู้บริหาร คือ บุคคลที่เป็นหัวหน้าหรือผู้นำองค์กร เป็นผู้จัดระเบียบการใช้ทรัพยากร การประสานงานของบุคคลฝ่ายต่างๆ เป็นผู้รับผิดชอบ ทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย
Federick W. Taylor เสนอแนวคิดการบริหารที่มีหลักเกณฑ์ สาระสำคัญของแนวคิดนี้ คือ “การเปลี่ยนจากความไม่มีประสิทธิภาพ อันสืบเนื่องจากการวิธีปฏิบัติที่ไม่มีหลักเกณฑ์ มาเป็นความมีประสิทธิภาพ มีวิธีการบริหารอย่างมีหลักเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นโดยตัวผู้บริหาร ตามความรับผิดชอบที่ควรจะมีมากขึ้นกว่าเดิม” หลักเกณฑ์สำคัญที่กล่าวถึง 4 ประการได้แก่

1. ต้องมีการคิดค้นและกำหนดวิธีที่ดีที่สุด (One best way) สำหรับงานที่จะทำแต่ละอย่าง
2. ต้องมีการคัดเลือกและพัฒนาคน หมายถึง การตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของคน รู้จักจัดงานให้เหมาะสมสอดคล้องกับคน
3. พิจารณาอย่างรอบคอบเกี่ยวกับวิธีทำงาน ซึ่งการทำงานอย่างถูกวิธีจะช่วยให้ผลผลิตสูงขึ้น
4. ประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างผู้บริหารและพนักงาน แต่ไม่ใช่เป็นการลงมือปฏิบัติงานที่ควรจะเป็นของพนักงานนั้นๆ

Fayol ได้เสนอแนวคิดด้านการบริหาร ไว้ดังนี้
1. แนวคิดเกี่ยวกับหน้าที่การบริหาร(Management fuctions) หน้าที่การบริหารมี 5 ประการ คือ
การวางแผน Planning
การจัดองค์กร Oganizing
การบังคับบัญชาการสั่งการ Commanding
การประสานงาน Coordinating
การควบคุมกำกับงาน Controlling
2. ผู้บริหารจะต้องมีคุณลักษณะพร้อมด้วยความสามารถทางร่างกาย จิตใจ ไหวพริบ การศึกษาหาความรู้เทคนิคในการทำงานและประสบการณ์ต่างๆ
3. แนวปฏิบัติสำหรับผู้บริหาร หรือที่เรียกว่า หลักการบริหาร (Management Principles) มีหลักการ 14 ประการ คือ
ต้องมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ (Authority and responsibility)
ต้องมีการบังคับบัญชาเพียงคนเดียว (Unity of Command)
ต้องมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน(Unity of Direction)
ต้องธำรงไว้ซึ่งสายการบังคับบัญชาตามลำดับ (Scalar chain)
ต้องมีการแบ่งงานกันตามถนัด (Specialization)
ต้องมีระเบียบวินัย (Discipline)
ต้องถือประโยชน์ส่วนตนรองจากประโยชน์ส่วนรวม(Subordination of individual to general
interrest)
ต้องให้ประโยชน์ตอบแทนอย่างยุติธรรม (Renumeration)
ต้องกระจายอำนาจ/มอบอำนาจตามสมควร (Centralization)
ต้องมีระเบียบเรียบร้อย (Order)
ต้องมีความเสมอภาค (Equity)
ต้องมีเสถียรภาพของการว่าจ้างงาน(Stability of tenure)
ต้องมีความคิดริเริ่ม (Intiative)
ต้องมีความสามัคคี (Esprit of corps)

แนวคิดด้านความเป็นผู้นำ หรือ ภาวะผู้นำ ในองค์กรที่มีการดำเนินงานเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จำเป็นต้องมีผู้บริหารระดับต่างๆ เพื่อให้งานสำเร็จดังความมุ่งหมาย ผู้บริหารจึงต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำ (Reader) โดยทั่วไปจะแบ่งลักษณะผู้นำออกเป็น 3 ประเภท คือ
1. ผู้นำแบบเผด็จการ (Autocratic Leader) เป็นลักษณะที่เน้นการออกคำสั่ง ตัดสินใจด้วยตัวเองเป็นส่วนมาก ไม่ค่อยมอบอำนาจให้แก่ผู้บังคับบัญชา
2. ผู้นำแบบประชาธิปไตย(DemocreticLeader)เป็นผู้นำที่ให้ความสำคัญต่อผู้ใต้บังคับบัญชา เปิดโอกาสให้ผู้ใต้บังคับบัญชาแสดงความคิดเห็น และมีโอกาสร่วมตัดสินใจ
3. ผู้นำแบบเสรีนิยม(Laissez-faire Leader)เป็นผู้นำที่ไม่สามารถควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชาได้

รูปแบบพฤติกรรมของผู้นำ (Leader behaviour) แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
รูปแบบที่ 1 แบ่งตามการศึกษาของมหาวิทยาลัยมลรัฐโอไฮโอ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1. พฤติกรรมมุ่งสร้างโครงสร้าง(Initiating structure) ผู้นำมีลักษณะดังนี้
- จัดบทบาทและกลุ่มสมาชิกอย่างชัดเจน
- กำหนดวัตถุประสงค์ของภารกิจ
- กำหนดมาตรการในการทำงาน เงื่อนไขเวลา สถานที่ และผู้รับผิดชอบ
2. พฤติกรรมมุ่งสร้างน้ำใจ(Consideration) เป็นผู้นำที่มีการสื่อสาร 2 ทางตอบสนองความต้องการของกลุ่ม ให้ความไว้วางใจต่อทีมงาน ให้เกียรติและรับความคิดเห็นเน้นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน
รูปแบบที่ 2 เสนอโดย Hersay และ Blanchard 1988 เป็นการเสนอแนวคิด Situational Leadership ซึ่ง
แบ่งพฤติกรรมของผู้นำออกเป็น
1. พฤติกรรมมุ่งงานคู่กับโครงสร้าง (Task parallels structure)
2. พฤติกรรมมุ่งคนคู่กับการสร้างสัมพันธภาพที่ดี

ซึ่งตามแนวคิดนี้จะแบ่งผู้นำออกเป็น 4 ลักษณะ คือ
1). มุ่งงานสูง และมุ่งคนต่ำ ผู้นำประเภทนี้ จะมีลักษณะ
- สื่อสารทางเดียว
- กำหนดงาน กำหนดบุคคลรับผิดชอบ กำหนดระยะเวลาดำเนินงาน
- พึงพอใจเมื่องานบรรลุเป้าหมาย
- กลุ่มไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
2). มุ่งงานสูง และมุ่งคนสูง
- จัดสมดุลย์ระว่างผลสัมฤทธิ์ของงานและสนใจความต้องการของผู้ใต้บังคับบัญชา
- กำหนดงานและผู้รับผิดชอบ แต่เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานแสดงความคิดเห็น
- ปรับแผนงานได้ เมื่อผู้ร่วมงานส่วนใหญ่เสนอแนะ
3). มุ่งงานต่ำ และมุ่งคนสูง
- สนใจความต้องการของคน เพื่อให้คนสามารถทำงานได้ตามเป้าหมาย
- เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงาน ร่วมตัดสินใจ
4). มุ่งงานต่ำ และมุ่งคนต่ำ
- ไม่มีลักษณะผู้นำ
- ให้ผู้ร่วมงานดำเนินการเอง แต่จะเป็นที่ปรึกษาหรือผู้สนับสนุน เมื่อกลุ่มต้องการ
- อำนาจการควบคุมอยู่ที่ผู้ร่วมงานแทน

ทักษะของผู้บริหาร
Katz (1955) เป็นคนแรกที่เสนอว่าผู้บริหารควรมีทักษะสำคัญ 3 ประการ คือ
1). Technical skill หมายถึง ความสามารถที่จะใช้ความรู้ เทคนิควิธีการต่างๆ ที่เกิด
จากประสบการณ์ การศึกษา และการฝึกอบรม
2). Human skill หมายถึง ความสามารถที่จะปรับตัวในการทำงานกับคนหลาย
ประเภท รวมทั้งเข้าใจถึงแรงจูงใจ และการเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ
3). Conceptual skill หมายถึง ความสามารถที่จะคิดหาวิธีการให้บรรลุเป้าหมายของ
องค์การ

ผู้บริหารทุกระดับจะต้องมีทักษะทั้ง 3 ด้าน โดยผู้บริหารระดับต้นต้องมี Technical skill มากกว่า
ทุกระดับ และผู้บริหารระดับสูงต้องมี Conceptual skill มากที่สุด ในขณะที่ผู้บริหารทุกระดับต้องมี
Human skill



ผู้นำยุคโลกาภิวัฒน์
รศ. ดร. สมเจตน์ ทิณพงษ์ เสนอลักษณะผู้นำยุคโลกาภิวัฒน์ไว้ดังนี้
- เป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ และปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมาย
- สร้างผู้ตาม
- ริเริ่มสร้างสรรค์ คิดและนำในสิ่งที่ถูกต้อง (Do the right things)
- มีความคิดฝันถึงอนาคต จะทำให้บรรลุเป้าหมายอย่างไร เมื่อไร(Horizons)
- มีความรู้ มีปัญญา เป็นนักคิด (Head)
- มีการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย (Hand)
- ทำงานด้วยใจรัก รักเพื่อนร่วมงาน และผู้รับบริการ(Hart)
- มีสุขภาพดี ทั้งกายและใจ (Health)
โดยผู้นำยุคใหม่ต้องมี 5P ในการบริหาร ได้แก่
- Picture เป้าหมายชัดเจน สำหรับทุกคนในองค์กร
- Problem/Plan เห็นปัญหาร่วมกัน และวางแผน
- Priority จัดลำดับความสำคัญของปัญหา
- People จัดงานเหมาะกับคน
- Progress ติดตามความก้าวหน้าของงาน

การพัฒนาภาวะผู้นำมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1. เพื่อเพิ่มทักษะในการประสานงานและการทำงานให้แก่ผู้ปฏิบัติพร้อมทั้งการเพิ่มพูนและปรับปรุงวิชาการกับเทคโนโลยีใหม่ๆ
2. เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและการปรับตัวของผู้ปฏิบัติงาน
3. เพื่อการเพิ่มผลผลิต
4. เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานทำให้ทุกคนเห็นว่าการพัฒนาตัวเขานั้นทำให้เขามีโอกาสก้าวหน้า ได้เลื่อนตำแหน่ง และมีรายได้เพิ่มขึ้น
5. สร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน

เป้าหมายการพัฒนาภาวะผู้นำ
แบ่งออกได้ เป็น 3 ส่วน ดังนี้
1. เพื่อพัฒนาภาวะผู้นำในองค์กรหรือในหน่วยงานเดียวกัน ได้แก่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ หัวหน้าสถานีอนามัย เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และลูกจ้าง ทุกคน จำนวน 29 คน
2. เพื่อพัฒนาภาวะผู้นำนอกองค์กรหรือนอกหน่วยงาน ได้แก่ ส่วนราชการต่างๆในอำเภอ เช่น เกษตร พัฒนากร ปศุสัตว์ วัฒนธรรม ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฝ่ายปกครอง จำนวน 50 คน
3. เพื่อพัฒนาภาวะผู้นำในภาคเอกชนและประชาชน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำคุ้มบ้าน อาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) กลุ่มสตรี กลุ่มเยาวชน จำนวน 800 คน
กิจกรรมดำเนินการ
1. การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการของบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ หลักสูตร 10 ชั่วโมง
2. การประชุมระดมสมอง มอบนโยบาย ติดตามงาน ประเมินผลงาน เดือนละ 1 ครั้ง
3. การรายงานผลการปฏิบัติงานทุกเดือน
4. การศึกษาดูงานในและนอกพื้นที่
วิธีดำเนินการ
1.จัดทำโครงการพัฒนาภาวะผู้นำในองค์กรหรือในหน่วยงานเดียวกัน ซึ่งเป็นการจัดการด้านบริหารที่ต้องมีแบบแผน ใช้ทั้งศาสตร์ทางวิชาการและใช้ศิลปะที่สามารถมีอิทธิพลเหนือคนอื่น ผู้นำที่สร้างขึ้นมีทักษะที่สามารถชี้นำบุคคลอื่นโดยให้เขาเกิดความไว้วางใจและเชื่อใจอย่างเต็มที่ พร้อมให้ความเคารพนับถือและมีความมั่นใจในตัวผู้นำอย่างจริงจัง สามารถจูงใจหรือใช้อิทธิพลต่อบุคคลอื่นในสถานการณ์ต่างๆเพื่อปฏิบัติการ และอำนวยการโดยการใช้กระบวนการสื่อความหมายให้ร่วมใจกับตน ดำเนินการจนกระทั่งบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ มีการค้นหาปัญหาที่แท้จริงขององค์กรเพื่อนำมาใช้ในการวางแผนงาน และการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง ผู้นำต้องมีการพัฒนาตัวเองให้ทันกับสถานการณ์ต่างๆ ตลอดเวลา โดยการศึกษา หรือฝึกอบรม อย่างต่อเนื่อง โดยการพัฒนาในขั้นตอนนี้เริ่มจากกระบวนการกำหนดหลักสูตร การสรรหาวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ การปฐมนิเทศ การประชุมกลุ่ม การดำเนินงานตามโครงการนี้ อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และการนิเทศติดตามไม่ต่ำกว่า 2 เดือน/ครั้ง
2.การพัฒนาภาวะผู้นำนอกองค์กรหรือนอกหน่วยงาน คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการปฏิบัติงานจะสำเร็จผลตามวัตถุประสงค์ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งบุคลากรทั้งในองค์กร หรือในหน่วยงาน และที่สำคัญที่จะขาดไม่ได้คือ การร่วมมือกับนอกองค์กรหรือนอกหน่วยงานเช่นกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น การสร้างภาวะผู้นำในระดับนี้ เป็นลักษณะการติดต่อประสานงาน การประชุม และการมีกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งการที่จะทำให้เกิดภาวะผู้นำระดับนี้เป็นการเกิดขึ้นได้โดยไม่ยาก ส่วนใหญ่ภาวะผู้นำนอกองค์กรหรือนอกหน่วยงานที่พึงประสงค์จะต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ไม่คิดอยู่ในกรอบ ยอมรับฟังปัญหาของผู้อื่น กล้าแสดงความคิดเห็นที่ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้งานในระหว่างองค์กรดำเนินการได้อย่างราบรื่นและบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมาย ซึ่งกำหนดเป้าหมายในการทำงานหรือประชุมร่วมกันอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
3.การพัฒนาภาวะผู้นำในภาคเอกชนและประชาชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำคุ้มบ้าน อาสาสมัครสาธารณสุข เป็นเป้าหมายสำคัญที่จะเป็นผู้นำเอานโยบายสู่การปฏิบัติ การสร้างผู้นำระดับนี้เป็นการสร้างทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยมีการแบ่งงานแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ผ่านกระบวนการสร้างภาวะผู้นำมาแล้ว โดยมีการจัดทำโครงสร้างหลักสูตร ผู้นำชุมชน ด้านสาธารณสุข ในรูปแบบการมีส่วนร่วมแบบบูรณาการอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จัดประชุมพัฒนาศักยภาพการเป็นผู้นำของอาสาสมัครสาธารณสุขทุกๆ 3 เดือน นิเทศติดตามทุกเดือน มีการประกวดกิจกรรมดีเด่นประจำปี เป็นต้น

ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1.ประชาชนได้รับบริการด้านสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็วมากขึ้น
2.บุคลากรด้านสาธารณสุขได้รับการพัฒนาภาวะผู้นำสามารถให้บริการแก่ประชาชนอย่างมี
ประสิทธิภาพ
3.ระบบราชการไทยได้รับการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ

ตัวชี้วัดความสำเร็จ
1. มีการจัดทำโครงการอบรมและพัฒนาหลักสูตรการสร้างภาวะผู้นำ และมีกิจกรรมตามโครงการไม่
ต่ำกว่า 1 หลักสูตร
2. คะแนนจากการประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานในระดับอำเภอและระดับจังหวัดทั้งด้าน
ปริมาณไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 หรือระดับ A และเชิงคุณภาพในระดับ ดี
3. หน่วยงานระดับอำเภอ (สสอ. รพช. คปสอ.) ได้รับการประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ หรือเกณฑ์
คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ เรียกย่อๆว่า “PMQA” (Public Management Quality Award) ผ่าน
การประเมิน 100 %



เอกสารอ้างอิง

กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวง กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร.กฏหมายระเบียบและแนวทางปฏิบัติที่
เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบราชการ 2547.
ครู เคลื่อน นาราช. แนวคิด แนวปฏิบัติ และประสบการณ์ การพัฒนาชุมชนระดับรากหญ้า (เอกสาร
ประกอบการบรรยายวิทยากร ไม่ทราบปีพิมพ์)
ติน ปรัชญพฤทธิ์. การพัฒนาการบริหารงานบุคคล(การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์) เอกสารประกอบการฝึกอบรม
โครงการพัฒนาและเตรียมผู้บริหารรัฐกิจ รุ่นที่ 10. 2 มิถุนายน- 29 สิงหาคม 2540
ผศ.น.พ กิติ ตยัคคานนท์. เทคนิคการสร้างภาวะผู้นำ สำนักพิมพ์ บริษัท เชษฐ สตูดิโอฯจำกัด, 2531
ธงชัย สันติวงษ์ , องค์การและการบริหาร.ฉบับแก้ไขปรับปรุง กรุงเทพมหานคร,บริษัทไทยวัฒนาพานิช จำกัด
2539
บุญทิวา บุณยะปภัศร ,การบริหารทรัพยากรบุคคล, เอกสารประกอบการฝึกอบรม ,โครงการพัฒนาและเตรียม
ผู้บริหารรัฐกิจ รุ่นที่ 10. 2 มิถุนายน- 29 สิงหาคม 2540
พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ,วัดรอยเท้าช้าง ,พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพมหานคร.บริษัทอินเตอร์เนชัลแนล เอ็นจีเนียริ่ง
(มหาชน) จำกัด ,2542
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, คู่มือคำอธิบายตัวชี้วัด การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ
ปีงบประมาณ 2551,พิมพ์ครั้งที่ 1 เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร, บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งพับลิชชิ่ง
จำกัด (มหาชน),2550
ศิริกุล อิศรานุรักษ์, หลักการวางแผนงานอนามัยครอบครัว, พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพมหานคร, เจริญดีการพิมพ์,
2542




 

Create Date : 05 พฤศจิกายน 2552    
Last Update : 5 พฤศจิกายน 2552 14:26:22 น.
Counter : 2530 Pageviews.  

=====>โดนทุกคำ<=======

>>>บางทีความนิ่งจัดการอะไรได้ดีกว่าความเคลื่อนไหว
>>>ถ้าอยากเติบโตต้องฉลาดที่จะเรียนรู้จากสิ่งที่ทำอยู่
>>>บางช่วงชีวิตไม่ควรก้าวหน้าหรือถอยหลังแต่ควรเรียนรู้ที่จะนิ่งให้เป็นเพื่อรอจังหวะเวลาที่เหมาะสม
>>>เปลือกเป็นเพียงจุดเริ่มต้นให้เราค้นพบสิ่งที่อยู่ข้างในของกัน
>>>ตามเพราะความเหนื่อยดีกว่านั่งให้สนิมขึ้น
>>>อย่ามุ่งแต่จะไปให้ถึงเป้าหมายจนลืมใส่ใจระหว่างทางของชีวิต
>>>ความไม่สวยงามในบางความทรงจำทำให้ใช้ชีวิตด้วยความรอบคอบมากขึ้น
>>>เราควรมีระยะห่างที่เหมาะสมกับโลกแต่ละใบของคนแต่ละคน
>>>ถ้ารู้สึกเหนื่อยลองหลับตาหยุดคิดหลุดจากความเป็นจริงบ้างใจจะบางเบาขึ้น




 

Create Date : 13 ตุลาคม 2552    
Last Update : 13 ตุลาคม 2552 11:49:33 น.
Counter : 431 Pageviews.  

สิ่งไหนควรทำ/ไม่ควรทำ

ทำ / ไม่ทำ ที่นำชีวิตเจริญ

ก ที่ควรทำ ได้แก่ กอด พ่อแม่ ลูก สามี หรือภริยา วันละครั้ง เพื่อแสดงความรัก ความห่วงใย กอดเพื่อน เพื่อแสดงความเห็นใจ หรือให้กำลังใจ และก่อนนอน อย่าลืม กราบ พระ/สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ เพื่อขอบคุณ และขอพรสำหรับวันต่อไป

ก ที่ไม่ควรทำ คือ ก้าวร้าว ไม่ว่ากับใคร เพราะจะทำให้เป็นคนน่าเบื่อ ไม่น่าอยู่ใกล้ ไม่มีใครอยากให้ไปไหนด้วย กลัวไปทะเลาะวิวาทกับเขา



ข ที่ควรทำ ได้แก่ ขอบคุณ จงกล่าวทุกครั้ง ที่มีคนทำอะไรให้ และขำขัน คือ ให้เป็นคนมีอารมณ์ดี อารมณ์ขัน

ข ที่ไม่ควรทำ คือ ขุดคุ้ย เอาเรื่องเก่ามาว่าไม่จบสิ้น หรือหาเรื่องมาประจานเขา



ค ที่ควรทำ ได้แก่ ครุ่นคิด และ ใคร่ครวญ คือ คิดก่อนทำอะไรทุกครั้ง เพื่อมิให้ตัวเอง และคนอื่นเสียใจภายหลัง

ค ที่ไม่ควรทำ คือ คลั่งแค้น อย่าเป็นคนโกรธไม่รู้หาย อาฆาตไม่รู้จบ ทำให้คนอยู่ใกล้ไม่มีความสุข



ง ที่ควรทำ ได้แก่ งดงาม ด้วยการทำตัวเรา ให้งดงามทั้งกาย วาจาและใจเสมอ ง้องอน เมื่อเราทำผิด หรือง้อเพื่อทำให้คนที่เรารักรู ้สึกดีขึ้น และรู้จัก เงียบ ไม่โต้เถียงเสียบ้าง เพื่อให้เกิดความสงบสุข

ง ที่ไม่ควรทำ คือ งก อยากได้เกินควร และไม่รู้จักแบ่งปัน



จ ที่ควรทำ ได้แก่ รู้จัก จดจำ วันเกิด วันสำคัญของคนในครอบครัว เพื่อนฝูง คนรัก และทำอะไรเป็นพิเศษให้บ้าง ข้อสำคัญต้อง จริงใจ ไม่เสแสร้งหลอกลวง อันจะทำให้ต้องหวาดระแวงกันตลอดเวลา

จ ที่ไม่ควรทำ คือ จู้จี้จุกจิก พิถีพิถันเกินเหตุ ใครทำอะไรให้ก็ไม่พอใจสักที และไม่เจ้าชู้ ให้เกิดปัญหาในครอบครัว หรือที่ทำงาน



ฉ ที่ควรทำ ได้แก่ ทำตัวให้ ฉลาดเฉลียว รู้ว่าอะไรควร ไม่ควร รู้กาลเทศะ รู้จักพูด รู้จักทำสิ่งต่างๆ

ฉ ที่ไม่ควรทำ คือ ฉุนเฉียว ให้คนหวาดผวา


ช ที่ควรทำ ได้แก่ ชมเชย ชื่นชม คือ รู้จักกล่าวคำชม หรือแสดงความชื่นชม ในความสำเร็จ หรือเรื่องดีๆ ของผู้อื่นบ้าง

ช ที่ไม่ควรทำ คือ ช่วงชิง คือ อย่าไปแย่งของรัก ของหวงของผู้อื่น หรือ ชุบมือเปิบ ฉวยประโยชน์ของคนอื่น มาเป็นของเราโดยไม่ลงทุนลงแรง



ซ ที่ควรทำ ได้แก่ ซื่อสัตย์ ทั้งต่อตนเอง และผู้อื่น

ซ ที่ไม่ควรทำ คือ ซุบซิบนินทา หาเรื่องผู้อื่น หรือ เซ้าซี้ จนน่ารำคาญ และอย่าทำท่า เซ็ง จนคนอื่นไม่สนุกไปด้วย



ฒ ที่ควรทำ ได้แก่ การเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ ที่ทรงความรู้ และทำตัวให้น่าเชื่อถือ

ฒ ที่ไม่ควรทำ คือ อย่าทำตัวเป็น เฒ่าทารก ไม่รู้จักโต เฒ่าสารพัดพิษ ที่เจ้าเล่ห์ แสนกล และ เฒ่าหัวงู ที่เป็นอันตรายแก่เด็กสาว และกลายเป็นคนแก่ที่ไม่น่านับถือ


ด ที่ควรทำ ได้แก่ ดี คือ การทำความดี ทำสิ่งที่ถูกต้อง มีเหตุมีผล

ด ที่ไม่ควรทำ คือ ดุด่า อย่าไปดุด่าว่าใคร หรือใช้อารมณ์จนเกินเหตุ และอย่า โดดร่ม หนีงานบ่อย เพราะเป็นการเอาเปรียบคนอื่น และอย่าเป็น ไดโนเสาร์เต่าล้านปี รุ่นโบราณคร่ำครึ แต่จงเป็นรุ่นจูราสิคปาร์ค ที่คุยกับเด็กๆ สมัยใหม่รู้เรื่อง



ต ที่ควรทำ ได้แก่ ตักเตือน เมื่อเห็นใครทำผิด หรือทำไม่ถูกต้อง ด้วยความหวังดี

ต ที่ไม่ควรทำ คือ ตลบตะแลง ใช้เล่ห์กล หรือโกหกหลอกลวงให้ผู้อื่นหลงเชื่อ



ถ ที่ควรทำ ได้แก่ ไถ่ถาม ห่วงใยทุกข์สุขของเพื่อนฝูง คนรู้จัก และคนที่เรารัก

ถ ที่ไม่ควรทำ คือ ถากถาง อันเป็นการพูดเหน็บ หรือค่อนว่าให้คนอื่นเขาเจ็บใจ



ท ที่ควรทำ ได้แก่ ทะนุถนอม คือ การดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน

ท ที่ไม่ควรทำ คือ ทิฐิมานะ คือ การโอ้อวดถือดี ถือตัว ไม่ยอมแพ้ จะเอาชนะให้ได้



ธ ที่ควรทำ ได้แก่ ธรรมะ คือ มีหลักธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เป็นแนวทางการดำเนินชีวิต

ธ ที่ไม่ควรทำ คือ ธุระไม่ใช่ ด้วยการละเลย บอกปัด ไม่สนใจจะช่วยเหลือใครทั้งสิ้น



น ที่ควรทำ ได้แก่ นอบน้อม เคารพคนที่ควรเคารพ มี น้ำใจ ให้กับทุกๆ คน ช่วยเท่าที่ช่วยได้

น ที่ไม่ควรทำ คือ นอกลู่นอกทาง หรือ นอกคอก ด้วยการไม่ประพฤติตนตามที่ควรเป็น



บ ที่ควรทำ ได้แก่ บุญ คือ การประกอบคุณงามความดีทุกรูปแบบ

บ ที่ไม่ควรทำ คือ บัดสีบัดเถลิง อันจะทำให้ตัวเรา และผู้เกี่ยวข้องอับอายขายหน้า เป็นที่รังเกียจ



ป ที่ควรทำ ได้แก่ ปลอบโยน เห็นใครมีทุกข์ ก็ปลอบใจ /ให้คำปรึกษา และเห็นอกเห็นใจเขา

ป ที่ไม่ควรทำ คือ โป้ปดมดเท็จ เป็นการกล่าวโกหก ครั้นต่อไปพูดอะไร คนเขาก็ไม่เชื่อ



ผ ที่ควรทำ ได้แก่ ผัวเดียวเมียเดียว อันจะช่วยลดปัญหาครอบครัว และสังคม ทำให้เด็กๆ อบอุ่น

ผ ที่ไม่ควรทำ คือ ผรุสวาท (ผะรุสะวาด) กล่าวคำหยาบ เป็นที่ระคายเคืองหูต่อผู้ที่ได้ยิน



ฝ ที่ควรทำ ได้แก่ ฝึกฝน คือ ทำอะไรด้วยความเพียร พยายามฝึกให้ชำนาญ

ฝ ที่ไม่ควรทำ คือ ใฝ่ต่ำ ชอบทำอะไรในทางลบ ก่อความเสียหายแก่ตัวเองและครอบครัว



พ ที่ควรทำ ได้แก่ พรหมวิหารสี่ คือ มีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาต่อตนและคนรอบข้าง

พ ที่ไม่ควรทำ คือ พนัน เพราะจะทำให้เสียเงิน เสียเวลา และนำไปสู่ความเดือดร้อนเรื่องอื่นๆ



ฟ ที่ควรทำ ได้แก่ ฟังหูไว้หู ไม่เชื่อใครง่ายๆ หรือไม่ฟังคำยุยง ที่จะทำให้เกิดความแตกแยก

ฟ ที่ไม่ควรทำ คือ ฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ เพราะจะทำให้เสียทรัพย์โดยใช่เหตุ และไม่จำเป็น



ภ ที่ควรทำ ได้แก่ ภาคภูมิ คือ ทำตัวให้สง่า ผึ่งผาย ไม่ซอมซ่อ ทำให้คนที่รักภูมิใจในตัวเรา

ภ ที่ไม่ควรทำ คือ ภาระ กล่าวคือ ทำตัวไม่รู้จักโต ไม่รู้จักคิด เป็นที่หนักใจแก่คนอื่นตลอดเวลา



ม ที่ควรทำ ได้แก่ มัธยัสถ์ คือ รู้จักใช้จ่ายอย่างประหยัด และเท่าที่จำเป็น ทำให้ไม่เดือดร้อน

ม ที่ไม่ควรทำ คือ โมหะ นั่นคือทำตัวมืดมน มัวเมาด้วยความหลงผิดต่างๆ นานา



ย ที่ควรทำ ได้แก่ ยกย่อง ให้เกียรติทุกคน ไม่ดูหมิ่น ดูแคลนไม่ว่ากับพ่อแม่ พี่น้องหรือเพื่อนฝูง

ย ที่ไม่ควรทำ คือ เย้ยหยัน /เยาะเย้ย ทำให้เขาเจ็บใจ เสียใจและผูกใจเจ็บ หรือ ยุยง ให้แตกแยก



ร ที่ควรทำ ได้แก่ รัก ตัวเอง และรักผู้อื่นให้เป็น และมี ระเบียบ ในการปฏิบัติตนและการทำงาน

ร ที่ไม่ควรทำ คือ รังควาน ด้วยการรบกวน ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน รำคาญทั้งกาย และใจ หรือ แรด อันหมายถึง ดัดจริต จนคนเขาระอา และหมั่นไส้ไปทั่ว



ล ที่ควรทำ ได้แก่ ละมุนละม่อม หรือ ละมุนละไม คือ ทำอะไรด้วยความอ่อนโยน นิ่มนวลต่อกัน

ล ที่ไม่ควรทำ คือ ลวนลาม ล่วงเกิน แทะโลมผู้อื่นด้วยวาจา หรือการกระทำ จนเป็นที่ดูถูก



ว ที่ควรทำ ได้แก่ วันทา คือ การไหว้ และแสดงอาการเคารพต่อบุคคล สถานที่ที่ควรเคารพ

ว ที่ไม่ควรทำ คือ วู่วาม ไม่รู้จักเก็บอารมณ์ และทำให้เกิดเรื่องเกิดราวได้ง่าย



ศ ที่ควรทำ ได้แก่ ศักดิ์ศรี คือ ทำตนให้มีเกียรติ และมี ศีล ทำให้เราน่าคบ และน่าเคารพนับถือ

ศ ที่ไม่ควรทำ คือ ศัตรู อย่าก่อศัตรู หรือเป็นศัตรูกับผู้อื่น จะทำให้ชีวิตเราไม่สงบสุข และกลุ้มใจ


ส ที่ควรทำ ได้แก่ สติ คือทำอะไรให้มีสติอยู่ตลอดเวลา และเสียสละ ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสบ้าง

ส ที่ไม่ควรทำ คือ ส่อเสียด และ เสแสร้ง เพราะจะทำให้คนโกรธ และไม่อยากคบ เพราะไม่จริงใจ


ห ที่ควรทำ ได้แก่ หอมแก้ม คนที่เรารักบ้างเป็นครั้งคราว อันจะทำให้ชีวิตรักสุข สดชื่น

ห ที่ไม่ควรทำ คือ หงุดหงิด อารมณ์เสียอยู่เสมอ ทำให้คนอยู่ใกล้หมดความสุข



อ ที่ควรทำ ได้แก่ อโหสิ ให้อภัย แก่คนรอบข้าง

อ ที่ไม่ควรทำ คือ เอาใจยาก หรือ เอาใจออกห่าง ล้วนทำให้เกิดปัญหาทั้งสิ้น



ฮ ที่ควรทำ ได้แก่ แฮปปี้ ( Happy )คือ ทำตัวให้สบาย มีความสุขตลอดเวลา อย่าเป็นคนเจ้าทุกข์

ฮ ที่ไม่ควรทำ คือ โฮกฮาก ทำเสียงกระแทกเวลาพูด ทำให้เสียบุคลิกภาพ




 

Create Date : 05 ตุลาคม 2552    
Last Update : 5 ตุลาคม 2552 9:37:28 น.
Counter : 436 Pageviews.  

วิธีฝึกสมองให้ไบรท์

1. จิบน้ำบ่อยๆ สมองประกอบด้วยน้ำ 85 เปอร์เซ็นต์
เซลล์สมองก็เหมือนต้นไม้ที่ต้องการน้ำหล่อเลี้ยง ถ้าไม่มีน้ำ ต้นไม้ก็เหี่ยว ถ้าไม่อยากให้เซลล์สมองเหี่ยว ซึ่งส่งผลให้การส่งข้อมูลช้า กลายเป็นคนคิดช้าหรือคิดไม่ค่อยออก แต่ละวันจึงควรดื่มน้ำบ่อยๆ

2. กินไขมันดี คนไม่ค่อยรู้ว่าสมองคือก้อนไขมัน
ซึ่งจำเป็นต้องมีไขมันดีไปทดแทนส่วนที่สึกหรอ แนะนำให้กินไขมันดีระหว่างวัน จำพวกน้ำมันปลา สารสกัดใบแปะก๊วย ปลาที่มีไขมันดีอย่างปลาแซลมอน นมถั่วเหลือง วิตามินรวม น้ำมันพริมโรสเป็นน้ำมันดีที่ทำให้เซลล์ชุ่มน้ำ ส่วนวิตามินซีกินแล้วสดชื่น

3. นั่งสมาธิวันละ 12 นาที หลังจากตื่นนอนแล้ว ให้ตั้งสติและนั่งสมาธิทุกเช้า วันละ 12 นาที
เพื่อให้สมองเข้าสู่ช่วงที่มีคลื่น Thet a ซึ่งเป็นคลื่นที่ผ่อนคลายสุดๆ ทำให้สมองมี Mental Imagery สามารถจินตนาการเห็นภาพและมีความคิดสร้างสรรค์ (ถ้าทำไม่ได้ตอนเช้า ให้หัดทำก่อนนอนทุกวัน)

4. ใส่ความตั้งใจ
การตั้งใจในสิ่งใดก็ตาม เหมือนการโปรแกรมสมองว่านี่คือสิ่งที่ต้องเกิด ระหว่างวันสมองจะปรับพฤติกรรมเราให้ไปสู่เป้าหมายนั้น ทำให้ประสบความสำเร็จในสิ่งต่างๆ เพราะสมองไม่แยกระหว่างสิ่งที่ทำจริงกับสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งสองอย่างจึงเป็นเสมือนสิ่งเดียวกัน

5. หัวเราะและยิ้มบ่อยๆ
ทุกครั้งที่ยิ้มหรือหัวเราะ จะมีสารเอนเดอร์ฟิน ซึ่งเป็นสารแห่งความสุขหลั่งออกมาเท่ากับเป็นการกระตุ้นให้มีความอยากรักและหวังดีต่อคนอื่นไปเรื่อยๆ

6. เรียนรู้สิ่งใหม่ทุกวัน
สิ่งใหม่ในที่นี้หมายถึงสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น กินอาหารร้านใหม่ๆ รู้จักเพื่อนใหม่ อ่านหนังสือเล่มใหม่ คุยกับเพื่อนร่วมงานและเรียนรู้วิธีการทำงานของเขา ฯลฯเพราะการเรียนรู้สิ่งใหม่ทำให้สมองหลั่งสารเอนเดอร์ฟินและโดปามีน ซึ่งเป็นสารแห่งการเรียนรู้ กระตุ้นให้อยากเรียนรู้และสร้างสรรค์ไปเรื่อยๆ เมื ่อมีความสุขก็ทำให้มีความคิดสร้างสรรค์
7. ให้อภัยตัวเองทุกวัน
ขณะที่การไม่ให้อภัยตัวเอง โกรธคนอื่น โกรธตัวเอง ทำให้เปลืองพลังงานสมอง การให้อภัยตัวเองเป็นการลดภาระของสมอง

8. เขียนบันทึก Graceful Journal ฝึกเขียนขอบคุณสิ่งดีๆ
ที่เกิดขึ้นแต่ละวันลงในสมุดบันทึก เช่น ขอบคุณที่มีครอบครัวที่ดี ขอบคุณที่มีสุขภาพดี ขอบคุณที่มีอาชีพที่ทำให้มีความสุข ฯลฯ เพราะการเขียนเรื่องดีๆ ทำให้สมองคิดเชิงบวก พร้อมกับหลั่งสารเคมีที่ดีออกมา ช่วยให้หลับฝันดี ตื่นมาทำสมาธิได้ง่าย มีความคิดสร้างสรรค์

9. ฝึกหายใจลึกๆ
สมองใช้ออกซิเจน 20-25 เปอร์เซ็นต์ของออกซิเจนที่เข้าสู่ร่างกาย การฝึกหายใจเข้าลึกๆ จึงเป็นการส่งพลังงานที่ดีไปยังสมอง ควรนั่งหลังตรงเพื่อให้ออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้น ถ้านั่งทำงานนานๆ อาจหาเวลายืนหรือเดินยืดเส้นยืดสายเพื่อให้ปอดขยายใหญ่ สามารถหายใจเอาออกซิเจนเข้าปอดได้เพิ่มขึ้นอีก 20 เปอร์เซ็นต์




 

Create Date : 01 ตุลาคม 2552    
Last Update : 1 ตุลาคม 2552 10:37:33 น.
Counter : 505 Pageviews.  

1  2  3  4  

sunchart
Location :
ยโสธร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ยินดีต้อนรับสู่ MY BLOG ครับผม
Friends' blogs
[Add sunchart's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.