|
สุนทรียสนทนา(Dialogue)
Dialogue หรือ สุนทรียสนทนา ฟังชื่อแล้วหลายท่านคงคิดถึงการพูดแบบมีศิลปะอะไรซักอย่าง แต่เมื่อได้เรียนรู้และทำความเข้าใจจริงๆแล้ว ไม่ใช่อย่างที่คิด เพราะสุนทรียสนทนา เน้นการฟังมากว่าพูด โดยอาจารย์มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร วิทยากรผู้เชี่ยวชาญเรื่องสุนทรียสนทนา ท่านได้พยายามอธิบายอย่างเข้าใจยากว่า สุนทรียสนทนา ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ คือ ฟัง ไตร่ตรอง ซักถาม และนำเสนอความคิด ทั้งนี้องค์ประกอบที่ต้องให้ความสำคัญและให้เวลามากที่สุด คือ ฟัง และต้องเป็นการฟังอย่างตั้งใจ ฟังให้ได้ยินที่ภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า Deep Listening โดยเทคนิคของการฟังแบบนี้ ต้องมีสมาธิตลอดระยะเวลาที่ฟัง วางชุดความรู้ของตัวเองที่เคยมีเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังฟังลง เปิดใจฟังอย่างเต็มที่ ฟังแล้วคิด ไตร่ตรอง ซักถาม จนเต็มอิ่มและตกผลึกเป็นชุดความรู้ใหม่ ที่อาจารย์ใช้คำว่า Reframe แล้ว จึงค่อยพูดให้คนอื่นฟัง ด้วยน้ำเสียงที่เรียบ แต่ทุกคำพูดเป็นคำพูดที่สร้างสรรค์ ไม่ขัดแย้งกับใคร ไม่สรุปว่าคำพูดของใครผิด ถูก ดี ไม่ดี แต่สรุปด้วยเวลาที่ตกลงกันไว้ก่อนที่จะเริ่มวงสุนทรียสนทนา ว่าประเด็นที่เราเปิดวงสุนทรียสนทนาครั้งนี้ เป็นเรื่องอะไร และจะใช้เวลานานเท่าไหร่ แต่ส่วนใหญ่ไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง ทั้งนี้ ถ้ายังเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจ อาจเปิดวงสุนทรียสนทนาใหม่ได้ ไม่จำกัดครั้ง หรือ หากมีประเด็นที่ต้องการสรุป หรือตัดสินใจดำเนินการใดๆ อาจใช้วิธีพูดคุย หรือประชุมตกลงกันในแบบอื่นๆได้อีก ด้วยเหตุนี้เองเครื่องมือการพัฒนาองค์กรที่เรียกว่าสุนทรียสนทนานี้ จึงไม่ใช่เครื่องมือที่ใช้แก้ปัญหา หรือพัฒนาองค์กรในระยะสั้นๆ และไม่ควรคาดหวังผลในการดำเนินการ หากแต่ควรใช้เมื่อต้องการพัฒนาองค์กรในระยะยาว เพราะผลผลิตของสุนทรีนสนทนาจะค่อยๆปรากฎชัดขึ้นๆ จนกลายเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อดีที่น่าทึ่งอีกอย่าง ก็คือ เป็นการพัฒนาที่ไม่แยกงานออกจากคน แต่ทำไปพร้อมๆกัน โดยเชื่อว่าเมื่อคนพัฒนา งานและองค์กรจะพัฒนาตามเป็น Self Organize คือ องค์กรสามารถทำงานเองโดยอัตโนมัติ และพัฒนาเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้ในที่สุด ข้าพเจ้า ได้อ่านทบทวนเรื่องเล่าทั้งหมดแล้ว เห็นเป็นนามธรรมอยู่มาก อาจเป็นการยากที่จะทำให้ผู้อ่านได้รู้จัก และเข้าใจสุนทรียสนทนาจนนำไปทดลองปฏิบัติ ในฐานะเครื่องมือที่เป็นตัวช่วยให้เกิดการพัฒนาคนและองค์กรได้ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงขอสอดแทรกข้อสรุปเกี่ยวกับ Dialogue หรือ สุนทรียสนทนา ไว้ท้ายเรื่องเล่า ให้ได้ทบทวน ทำความเข้าใจ ด้วยรูปธรรมที่จะทำให้เข้าใจได้ชัดเจนขึ้น ดังนี้ 1. สุนทรียสนทนา หมายถึง การสื่อสารภายในองค์กร ที่มีลักษณะของการเปิดประเด็นสนทนา โดยกลุ่มคน เกิดเป็นวงสนทนา ที่กำหนดกฎ กติกา มารยาทในการสนทนาไว้เพื่อสร้างกระบวนการคิดร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีบทสรุป เกิดการพัฒนากระบวนการคิด เพื่อสร้างความเข้าใจในระดับที่หยั่งลึก ทำให้มีการไหลของความหมายที่เรียกว่า Meaning Flow ตกผลึกจนเกิดเป็นชุดความรู้ใหม่ในตัวคนที่ลุ่มลึกกว่าชุดความรู้เดิมที่เคยมี 2. การที่วงสนทนาธรรมดาวงหนึ่ง จะกลายเป็นวงสุนทรียสนทนาได้ ต้องพิจารณาจากการเกิดการไหลของความหมาย หรือ Meaning Flow เป็นหลัก โดยการไหลของความหมาย คือ การที่ทุกคนพูดในประเด็นเดียวกัน ต่อเนื่องกัน จนเกิดความหมายที่ลึกซึ้ง และการจะเกิดการไหลของความหมายได้ มีเทคนิคอยู่ที่การใช้สมาธิในการฟังอย่างเต็มที่ ไม่กังวลและเตรียมคำพูดสำหรับตัวเอง เมื่อถึงคราวต้องนำเสนอความคิด และให้เชื่อมั่นว่า ทำแบบนี้แล้ว ถึงเวลาต้องนำเสนอ จะสามารถนำเสนอได้ และนำเสนอได้ดีด้วย หากทำสำเร็จ ผลพวงที่สำคัญ คือ สมาธิ ปัญญา และการบรรลุถึงการปล่อยวาง 3. กลุ่มคนที่เหมาะจะเข้าร่วมวงสุนทรียสนทนา อยู่ระหว่าง 10-50 คน ถ้ากลุ่มใหญ่เกินไปอาจใช้เวลานานมาก กลุ่มเล็กเกินไป ในระยะแรกๆ ความหมายอาจไม่ลื่นไหล 4. หัวข้อ หรือประเด็นการเปิดวงสุนทรียสนทนา เลือกเรื่องอะไรก็ได้ ที่กลุ่มสนใจร่วมกัน กำหนดกว้างๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนที่กว้างขวาง และลึกลงไปในเรื่องที่ทุกคนสนใจได้มากเท่าที่จะมีการไหลของความหมายได้ ในเวลาที่กำหนด 5. หลักสำคัญของวงสุนทรียสนทนาที่ทุกคนต้องยึดถือร่วมกัน เป็นกติกาพื้นฐาน คือ - ไม่เปิดเสียงโทรศัพท์มือถือขณะอยู่ในวงสนทนา - ไม่มีจุดมุ่งหมายในการหาข้อสรุป หรือแก้ปัญหาเรื่องใด เรื่องหนึ่งร่วมกัน - เปิดโอกาสให้ทุกคนได้นำเสนอความคิดโดยเท่าเทียมกัน ในลักษณะของการเปิดพื้นที่ ให้มีที่ว่างสำหรับทุกคน - ไม่พูดนอกประเด็น พูดแทรกระหว่างคนอื่นพูดยังไม่จบ - ไม่ตัดสิน ไม่สรุป - ดำรงความเงียบไว้ได้ ตราบที่ทุกคนยังอยู่ในกระบวนการไตร่ตรอง และวางสมมุติฐานของตนเอง บทส่งท้าย ขอให้ทุกท่านเปิดใจรับสุนทรียสนทนา และเชื่อไว้ก่อนว่า... สุนทรียสนทนาจะทำให้คนรู้จัก และเห็นคุณค่าของการฟังกันมากขึ้น ช่วยลดปัญหา และความขัดแย้งในการพูดที่ไม่สร้างสรรค์ สร้างกระบวนการเรียนรู้หยั่งลึกร่วมกัน เกิดการกระตุ้น จนฟอร์มเป็นรูปร่างของการสนใจ ใฝ่รู้ พูดดี ฟังเป็น คิดสร้างสรรค์ แบ่งปันประสบการณ์ สานวัฒนธรรมองค์กร ย้อนสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ โดยยึดคนเป็นศูนย์กลาง แล้วลองฝึกปฏิบัติดูก่อน ถ้าไม่เป็นจริงตามสมมุติฐาน จะเลิกทำเมื่อไหร่ก็ได้ ง่ายจะตายไป.. อ้างอิง:รัตติยา จันทร์ฉวี
Create Date : 10 พฤศจิกายน 2552 |
Last Update : 10 พฤศจิกายน 2552 15:56:05 น. |
|
0 comments
|
Counter : 15874 Pageviews. |
 |
|
|
| |
|
|