นายสัญชาติ พลมีศักดิ์
Group Blog
 
All Blogs
 

การนวดศรีษะเพื่อผ่อนคลาย

1.มือซ้ายรองต้นคอ และใช้อุ้งมือขวาวางพาดช่วงหน้าผาก กางนิ้วโป้งและนิ้วชี้ กดลงบริเวณคิ้ว จากนั้นให้เลื่อนระดับขึ้นไปอย่างช้า ๆ จนผ่านแนวเส้นผมลึกเข้าไป 1 นิ้ว ทำซ้ำในลักษณะเดียวกัน 5 ครั้ง

2.วางอุ้งมือทั้งสองข้างแนบข้างศีรษะเหนือใบหู และใช้อุ้งมือยกหนังศีรษะขึ้น พร้อมกับการเลื่อนอุ้งมือวนเป็นวง ให้อุ้งมือข้างหนึ่งเลื่อนไปทางด้านหน้า อีกข้างเลื่อนไปที่กลางกระหม่อม แล้วเลื่อนไปทางศีรษะด้านหลังที่บริเวณท้ายทอย และนวดจนทั่วศีรษะ

3.ใช้ปลายนิ้วนวด โดยเริ่มจากหนังศีรษะด้านข้างทั้งสองด้านพร้อมกัน และค่อย ๆ กดไล่ไปทางด้านหน้า ทำซ้ำลักษณะเดียวกัน 5 ครั้ง

4.นวดรอบไรผม โดยเริ่มจากจุดกึ่งกลางของแนวผม คือ บริเวณหน้าผาก ใช้ปลายนิ้วนวดเป็นวงลงไปจนถึงแนวผมข้างขมับ ต่อไปจนถึงบริเวณท้ายทอย ทำซ้ำในลักษณะเดียวกัน 5 ครั้ง

5.วางปลายนิ้วตรงกลางกระหม่อม ก่อนนวดวนเป็นวงจากจุดดังกล่าวไปถึงขมับ และจากข้างขมับสู่กลางกระหม่อมเช่นเดิม

6.ก้มหน้าลง ใช้อุ้งมือซ้ายรองรับหน้าผากไว้ ใช้ปลายนิ้วมือหรืออุ้งมือขวานวดในลักษณะวนเป็นวง จากหลังใบหูผ่านท้ายทอย กระทั่งไปจรดที่หลังใบหูอีกด้านหนึ่ง ทำซ้ำในลักษณะเดียวกัน 2-3 ครั้ง

7.ใช้ปลายนิ้วนวดจากกลางกระหม่อมลงสู่ท้ายทอย จากท้ายทอยขึ้นไปที่กระหม่อม และจากต้นคอด้านซ้ายไปถึงบริเวณต้นคอด้านขวา

8.กำเส้นผมด้วยมือ ดึงเบา ๆ อย่างช้า ๆ นับจังหวะ 1-3 แล้วจึงปล่อย ทำซ้ำในลักษณะเดียวกันให้ทั่วศีรษะ (สำหรับผู้ที่รากผมอ่อนแอ หลุดร่วงง่าย ไม่ควรปฏิบัติในขั้นตอนนี้)

หากคุณผู้อ่านนวดศีรษะตามขั้นตอนข้างต้นอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต การทำงานของปลายเส้นประสาทและเส้นเลือดที่มีอยู่เป็นจำนวนมากใต้หนังศีรษะ แถมยังช่วยแก้ไขปัญหาเส้นผมได้มากมาย อาทิ ผมไร้น้ำหนัก ขาดชีวิตชีวา ผมร่วง เป็นต้น.




 

Create Date : 07 ตุลาคม 2553    
Last Update : 7 ตุลาคม 2553 14:57:26 น.
Counter : 466 Pageviews.  

โรคนอนไม่หลับ

โรคนอนไม่หลับ...





โรคนอนไม่หลับคืออะไร
หากท่านเคยมีอาการหลับยาก ใช้เวลานานกว่าจะหลับ หรือตื่นนอนเร็วมากแม้จะอดนอนและอยากจะนอนต่อก็ตามก็นอนไม่หลับแล้ว และมีอาการแบบนี้อยู่บ่อยๆ ติดต่อกัน นั่นก็แสดงว่าท่านกำลังมีปัญหาโรคนอนไม่หลับ บางครั้งแบบที่เป็น 1-2 วันอาจจะมีสาเหตุมาจากความเครียดหรือตื่นเต้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่ก็เป็นได้ ทั้งนี้อาการนี้จะกลายไปเป็นอาการเรื้อรังได้โดยมีอาการติดต่อกันเป็นเดือน เป็นปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีสาเหตุมาจากความเครียด ความกังวล หรือซึมเศร้า และจะพบมากในคนสูงอายุ คนบางคนต้องการนอน 9-10 ชั่วโมงจึงจะรู้สึกว่าได้พัก กับอีกบางคนนอนเพียว 5-6 ชั่วโมงก็เพียงพอสำหรับเขาแล้ว ดังนั้นในคนที่มีปัญหาโรคนอนไม่หลับอาจจะได้นอนนานกว่าคนเหล่านี้ก็เป็นได้ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาที่เฉพาะเจาะจงวิธีใดวิธีหนึ่งสำหรับโรคนอนไม่หลับ การรักษาจะแตกต่างกันไป โดยต้องสอบถามและค้นหาสาเหตุด้วยเพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ


อาการโรคนอนไม่หลับ
-หลับยากมาก
-หลับไม่ต่อเนื่อง หลับๆ ตื่นๆ อาจจะต้องลุกมาเดินบ่อยๆ
-นอนหลับแต่จะตื่นเช้ามากกว่าที่ต้องการและจะไม่สามารถนอนต่อได้
-อ่อนเพลีย ขาดสมาธิ อารมณ์เสีย


สาเหตุของโรคนอนไม่หลับ
โรคนอนไม่หลับมักจะเกิดจากปัจจัยอื่นๆ มากระทบ เช่น การเดินไปเปลี่ยนสถานที่พัก อาการปวด ความเครียด ความกดดันทางจิตใจ บรรยากาศที่นอนไม่ดี เช่น มีเสียงดัง เผชิญปัญหาชีวิต และอื่นๆ และเมื่อปัญได้รับการแก้ไข อาการนอนไม่หลับก็จะดีขึ้นจนเป็นปกติ ทั้งนี้อาการโรคนอนไม่หลับอาจจะถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยอื่นๆ คือ
-คาเฟอีนและสารกระตุ้นประสาทอื่นๆที่ได้รับระหว่างวัน เช่น ชา กาแฟ หรือ ยาบางชนิด
-เครื่องดื่มที่มีอัลกอฮอล์จะทำให้ร่างกายหลับไม่ปกติ เช่น ทำให้ตื่นบ่อย หลับไม่สนิท หลับๆ ตื่นๆ
-โรคบางชนิดก็ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ เช่น โรคหัวใจ ปอด Hyperthyroidism โรคปวดไขข้อ เป็นต้น นอกจากนี้ โรคต่อมลูกหมากโต โรคไต เบาหวาน ก็เป็นเหตุให้นอนหลับๆ ตื่นๆ หลับไม่ปกติ เพราะอาจจะต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะกลางดึกบ่อยๆ
-การออกกำลังหนักในช่วงบ่ายๆ
-ภาวะตั้งครรภ์ (โดยเฉพาะช่วงเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์)
-การสูบบุหรี่
-การรับประทานอาหารมื้อเย็นมากหรือน้อยเกินไป
-ที่นอนไม่ดี
ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับได้ให้ความเห็นว่า อาการนอนไม่หลับมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการนอนของผู้ป่วยที่ปฏิบัติต่อเนื่องมานาน เช่น การใช้เวลาอยู่บนเตียงมากเกินไป อาจจะนั่งเฉยๆ หรือนั่งเล่นโดยไม่ได้นอนหลับ การใช้ยาบางชนิด การพฤติกรรมการงีบหลับบ่อยๆ และความกังวล ทั้งนี้ยิ่งกังวลเกี่ยวกับการนอนมาก เท่าไหร่ก็จะยิ่งหลับยากเท่านั้น สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ โรคการหายใจติดขัดขณะนอนหลับ (sleep apnoea and hypopnoea syndrome -OSAHS) ซึ่งจะเกิดจากการที่หลอดลมเกิดการบีบตัวทำให้การหายใจเกิดการหยุดชะงัก โดยมีอาการกรนเสียงดังเป็นอาการหลักของโรคนี้ ทำให้ผู้ป่วยจะหลับไม่ต่อเนื่อง หลับๆ ตื่นๆ การรักษาต้องใช้เครื่องมือในระหว่างนอนหลับเพื่อขยายกล้ามเนื้อบริเวณคอ เพื่อลดอาการดังกล่าว

การรักษาและการป้องกัน
การรักษาด้วยยาจะถูกใช้บ่อยๆ เป็นการรักษาแบบง่ายๆ ที่แพทย์ทั่วไปมักนิยมใช้กัน โดยจะให้ยานอนหลับซึ่งแพทย์มักจะบอกให้ใช้ได้ชั่วคราว หรือเมื่อต้องการเท่านั้น ห้ามใช้ยาต่อเนื่องเพราะอาจจะทำให้เกิดการติดยาได้ ทั้งนี้บางทีผู้ป่วยอาจจะต้องการแค่ยาแบบอ่อนๆ เพื่อเริ่มหลับได้เท่านั้น ไม่ถึงกับต้องใช้ยานอนหลับก็เป็นได้ บางทีคนที่อาการนอนไม่หลับอาจจะต้องการยากลุ่มยาแก้อาการซึมเศร้า (Antidepressant) หรือกลุ่ม Anti-anxiety มากกว่าจะต้องการยานอนหลับ ซึ่งน่าจะลองปรึกษาแพทย์ดูเพื่อให้มีทางเลือกมากขึ้น แต่หากปัญหาการนอนหลับยังคงเป็นแบบต่อเนื่องและเรื้อรัง แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชขาญการนอนหลับ เพื่อหาสาเหตุโดยละเอียด และหาวิธีวางแผนการรักษาต่อไป ซึ่งจะมีทั้งการแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวร่วมด้วย เช่น ไปที่เตียงเฉพาะเมื่อจะไปนอนเท่านั้น การฝึกการผ่อนคลาย นอนให้เป็นเวลา นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาแบบแพทย์ทางเลือกที่อาจจะช่วยได้เช่น การฝังเข็ม การนวด การนั่งสมาธิเพื่อลดความเครียด ซึ่งอาจได้ผลไม่แพ้การรักษาด้วยยานอนหลับ แต่ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อน โดยสอบถามถึงวิธีการอื่นที่ท่านสนใจกับแพทย์ ทั้งนี้ไม่แนะนำให้หยุดยาที่แพทย์จ่ายให้ด้วยตนเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์


อาหารอะไรที่ช่วยได้
จากที่ค้นมาพบว่ามีการศึกเกี่ยวพืชชื่อ "Valerian" มีคุณสมบัติช่วยในเรื่องการนอนหลับได้ดี และควรใช้สลับกับพืชชนิดอื่นๆ จะยิ่งให้ผลดียิ่งขึ้น เช่น Chamomile, Melissa, Kava ล้วนแต่เป็นพืชที่ไม่มีและไม่มีขายในเมืองไทยเลย แต่มีคำเตือนเกี่ยวกับ Kava ให้ระมัดระวังในการใช้เพราะมีผลข้างเคียงต่อตับ elatonin ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ที่เลียนแบบการรักษาและการป้องกันฮอร์โมนธรรมชาติที่เกี่ยวกับการนอนหลับ คนที่เดินทางไปเมืองนอกบ่อยๆ จะนิยมรับประทาน Melatonin เพราะช่วยได้ดีในเรื่องอาการ Jet lag ซึ่งในที่ป่วยเรื้อรังแนะนำให้ใช้ Melatonin สลับกับ Valerian และจะได้ผลดีขึ้นหากใช้สลับกับ GABA (gamma-aminobutyric acid) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่จะขัดขวางการสื่อประสาทในสมองที่เกี่ยวข้องกับความเครียด อีกตัวก็ 5-HTP (เป็นกรดอมิโนชนิดหนึ่ง) ที่จะช่วยเพิ่มระดับการนอนหลับได้ดีขึ้น โดยการไปเพิ่มการสร้างสารชื่อ Serotonin ารที่ร่างกายขาด Calcium หรือ Magnesium ก็จะส่งผลให้เกิดการนอนไม่หลับหรือนอนหลับยากในบางคน อีกทั้ง มันยังไปช่วยเสริมประสิทธิภาพของ 5-HTP ให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น ย่างไรก็ตามหากอาการโรคนอนไม่หลับมีสาเหตุมาจากภาวะซึมเศร้า (Depression) แนะนำให้เริ่มต้นด้วยพืช St. John's wort ซึ่งมีการศึกษาวิจัยมากมายในการช่วยบรรเทาอาการภาวะซึมเศร้า (Depression) อย่างได้ผลดีทีเดียว แต่เนื่องจาก St. John's wort เป็นพืชชนิดหนึ่งซึ่งเป็นสารธรรมชาติจะออกฤทธิ์ช้าดังนั้นควรรับประทานต่อเนื่องกันอย่างน้อย 1 เดือนถึงจะเริ่มเห็นผลเต็มที่

วิธีดูแลรักษาด้วยตนเอง
-ควรนอนหลับอย่างเป็นเวลาไม่ว่าจะเป็นวันทำงานหรือวันหยุด พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงการงีบหลับระหว่างวัน
-งดชา กาแฟและเครื่องดื่มที่ผสมอัลกอฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว
-งดสูบบุหรี่
-ออกกำลังกายเบาๆ ซึ่งมันจะช่วยลดความเครียด และทำให้หลับง่ายขึ้น (อย่างไรก็ดีควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในเวลาช่วงเย็น เพราะอาจจะทำให้ง่วงช้าลง)
-พยายามผ่อนคลายสักชั่วโมงก่อนจะถึงเวลานอน เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูทีวี แต่หลีกเลี่ยงที่จะดูเรื่องที่ตื่นเต้น เร้าใจ
-อาบน้ำให้สบายและผ่อนคลายโดยอาจจะใช้สมุนไพร Chamomile ผสมในน้ำอุ่นอาบน้ำ ก็จะช่วยผ่อนคลายได้มาก
-หลีกเลี่ยงการทำงานบนที่นอน หรือดูทีวีบนที่นอน
-ลุกจากเตียงหากว่าเกิดตื่นขึ้นมากลางดึกและไม่สามารถนอนหลับได้ จนกว้าจะรู้สึกเริ่มง่วง
หลีกเลี่ยงอาหารเสริมที่อาจจะทำให้หลับยาก เช่น โสม Gaurana Kola-Nut

เมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์
-มีอาการนอนไม่หลับติดต่อกันมากกว่า 1 เดือนและยังหาสาเหตุไม่ได้
-รู้สึกเพลียทั้งวัน และงีบหลับในระหว่างวันบ่อยๆ
-รู้สึกเหนื่อยมากๆ จนรบกวนการทำกิจกรรมปกติของเรา
-มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงกับชีวิต เช่น สูญเสียคนรัก ตกงาน เป็นต้น


--------------------------------------------------------------------------------






ที่มา ://www.healthdd.com/article




 

Create Date : 02 มิถุนายน 2553    
Last Update : 2 มิถุนายน 2553 14:55:25 น.
Counter : 287 Pageviews.  

ไขมันเกาะตับ

หากพูดถึงโรคตับแข็งหรือมะเร็งตับ เรามักจะนึกถึงสาเหตุการเกิดโรคว่ามาจากการดื่มสุรา ไวรัสตับอักเสบ หรือมาจากยาบางชนิด แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงตัวการสำคัญอีกประเภทที่ทำให้เกิดโรคร้ายกับตับได้เช่นกันคือ ภาวะไขมันสะสมในตับ ที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มสุรา ซึ่งเป็นอีกสาเหตุที่พบบ่อย และพบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน

ภาวะไขมันสะสมในตับ (หรือโรคไขมันเกาะตับ) คือภาวะที่มีการสะสมของไขมันภายในเซลล์ตับ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของไตรกลีเซอไรด์ โดยอาจมีเพียงการสะสมของไขมันอย่างเดียว หรืออาจมีการอักเสบของตับร่วมด้วย ซึ่งในผู้ป่วยบางรายการอักเสบเรื้อรังนี้อาจนำไปสู่การเกิดพังผืดในตับ หรือที่เราเรียกว่าภาวะตับแข็งได้

ไขมันสะสมในตับพบได้บ่อยขนาดไหน?

การศึกษาในประเทศอเมริกาและญี่ปุ่นพบว่า ประชากรทั่วไปประมาณร้อยละ 10-20 มีภาวะไขมันสะสมในตับ โดยการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ และประมาณร้อยละ 1-3 จะพบการอักเสบเรื้อรังของตับร่วมด้วย โดยจะพบเพิ่มขึ้นในกลุ่มประชากรที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป

กรณีที่ผู้ป่วยมีค่าการทำงานของตับผิดปกตินานกว่า 3 เดือน ซึ่งบอกถึงภาวะตับอักเสบเรื้อรังโดยที่ไม่ได้เกิดจากไวรัสตับอักเสบ บี, ซี, การดื่มสุรา หรือรับประทานยา พบว่ามากกว่าร้อยละ 60 ของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีภาวะไขมันสะสมในตับที่อาจเป็นสาเหตุได้

สาเหตุและความเสี่ยงของภาวะไขมันสะสมในตับที่ไม่ได้เกิดจากดื่มสุรา

สาเหตุของโรคนี้ ปัจจุบันยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด อาจมีหลายปัจจัยร่วมกัน โดยข้อมูลในปัจจุบันเชื่อปัจจัยสำคัญของการเกิดภาวะไขมันสะสมในตับคือภาวะดื้อต่ออินซูลิน และจากนั้นอาจมีกลไกอื่นที่มากระตุ้นให้เซลล์ตับที่มีไขมันเกาะอยู่นั้นเกิดการอักเสบและการตายของเซลล์ตับ

ลักษณะผู้ป่วยที่มีความสัมพันธ์กับการดื้อต่ออินซูลิน หรือที่ทางการแพทย์เรียกกลุ่มอาการนี้ว่า Metabolic syndrome ได้แก่ผู้ป่วยที่มีลักษณะต่อไปนี้






1. อ้วน โดยเฉพาะอ้วนที่ลำตัว หรือ อ้วนลงพุง (รอบเอวมากกว่า 36 นิ้วในผู้ชาย หรือมากกว่า 32 นิ้วในผู้หญิง)
2. เป็นเบาหวาน
3. ไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะไขมันไตรกลีเซอไรด์
4. ความดันโลหิตสูง

พบว่าผู้ป่วยที่มีลักษณะอย่างน้อย 1 ข้อดังกล่าว จะมีโอกาสเกิดภาวะไขมันสะสมในตับสูง กล่าวคือประมาณร้อยละ 80 ของคนอ้วน และร้อยละ 20-40 ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน จะมีภาวะไขมันสะสมในตับ

อาการของภาวะไขมันสะสมในตับ

ผู้ป่วยส่วนมากไม่มีอาการ มักตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจเลือดเช็คสุขภาพ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการจุกแน่นชายโครงด้านขวา หรือในรายเป็นมานานอาจมีอาการเริ่มต้นของภาวะตับแข็ง เช่น อ่อนเพลีย, ท้องโต เป็นต้น การตรวจร่างกายโดยแพทย์ในระยะแรกมักจะปกติ หรือพบแค่ผู้ป่วยมีรูปร่างอ้วน

การตรวจเลือดดูการทำงานของตับ จะพบค่า ALT และ AST มีค่าสูงกว่าปกติประมาณ 1.5-4 เท่า ซึ่งบ่งบอกถึงการอักเสบของเซลล์ตับ และอาจมีค่า ALP สูงขึ้นเล็กน้อย

การวินิจฉัยภาวะไขมันสะสมในตับ

1. ตรวจเลือดดูการทำงานของตับ จะพบว่ามีการอักเสบ (ค่า ALT และ AST สูงกว่าปกติ)
2. ตรวจเลือดดูระดับน้ำตาล และไขมัน อาจมีค่าสูงกว่าปกติ
3. ตัดโรคอื่นที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะตับอักเสบเรื้อรังออกไป โดยประวัติ และการ ตรวจเลือด (เช่น การดื่มสุรา, ทานยา, ไวรัสตับอักเสบ บี หรือซี เป็นต้น) หรือบางรายอาจจำเป็นต้องเจาะตรวจชิ้นเนื้อตับ
4. ตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ จะพบว่าตับมีสีขาวขึ้นกว่าปกติ และอาจมีขนาดโตขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเกิดจากการที่มีไขมันแทรกอยู่ในเซลล์ตับทั่วๆไป
5. ตรวจโดยวิธีเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) และเอ็กซ์เรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
6. เจาะชิ้นเนื้อตับมาตรวจลักษณะทางพยาธิวิทยา ซึ่งมีประโยชน์ช่วยบอกสาเหตุ และประเมินความรุนแรงของภาวะตับอักเสบ อาจจำเป็นต้องทำในผู้ป่วยบางราย






อันตรายของภาวะไขมันสะสมในตับ

โดยรวมแล้วไขมันสะสมในตับมักมีพยากรณ์โรคที่ดี เราสามารถแบ่งความรุนแรงของภาวะไขมันสะสมในตับได้เป็น 4 ระดับ ตามลักษณะทางพยาธิวิทยา โดยผู้ป่วยส่วนมากจะอยู่ในระดับที่ 1 และ 2 ซึ่งไม่รุนแรง คือมีเพียงไขมันสะสมในเซลล์ตับอย่างเดียว หรืออาจมีการอักเสบที่ไม่รุนแรงร่วมด้วย ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะสบายดี แม้ว่าจะติดตามไปนาน 10-20 ปี

สำหรับผู้ป่วยกลุ่มที่มีภาวะไขมันสะสมในตับในความรุนแรงระดับ 3 และ 4 กล่าวคือมีการอักเสบรุนแรงทำให้เซลล์ตับบวม และอาจมีพังผืดในตับเกิดขึ้นร่วมด้วย กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้องระวัง เนื่องจากสามารถเกิดตับแข็งได้ร้อยละ 20-30 ในเวลา 10 ปี และทำให้เสียชีวิตจากโรคตับ หรือมะเร็งตับได้ประมาณร้อยละ 9 ในเวลา 10 ปี โดยปัจจัยเสี่ยงที่พบในผู้ป่วยที่จะมีการดำเนินโรคที่รุนแรงนี้ ได้แก่ อายุมาก, อ้วนมาก หรือเป็นเบาหวานร่วมด้วย

เนื่องจากภาวะไขมันสะสมในตับมีความสัมพันธ์กับกลุ่มอาการดื้อต่ออินซูลินดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
มีข้อมูลว่าผู้ป่วยที่มีสองภาวะนี้ร่วมกัน จะมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นด้วย

การปฏิบัติตัวเมื่อทราบว่าตนเองมีภาวะไขมันสะสมในตับ

เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มียาที่ได้ผลการรักษาดีมาก หรือหายขาดจากโรคนี้ ดังนั้นการรักษาที่สำคัญ และได้ประโยชน์มากที่สุดคือการลดน้ำหนัก ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าลดไขมัน และการอักเสบในตับได้จริงโดยเฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยอ้วน อีกทั้งยังมีผลดีต่อสุขภาพโดยรวมด้วย แนะนำให้ค่อยๆลดน้ำหนักลงประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อเดือน โดยตั้งเป้าให้ลดลงอย่างน้อยร้อยละ 15 ของน้ำหนักเริ่มต้น หรือจนน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ วิธีลดน้ำหนักที่ถูกสุขภาพ คือควบคุมอาหาร ควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ได้แก่ นม เนย ชีส กะทิ ปลาหมึก กุ้ง ไขมันสัตว์ และไข่แดง การทานอาหารจำพวกแป้ง หรือน้ำตาลมากเกินไป ก็สามารถเปลี่ยนเป็นไขมันไตรกลีเซอรายด์ได้เช่นกัน ควรลดขนาดของมื้ออาหารแต่ละมื้อ โดยเฉพาะมื้อเย็น แต่ต้องพึงระวังไว้ว่าการลดน้ำหนักที่เร็วเกินไปหรือลดอย่างผิดวิธี เช่นการอดอาหารหรือการใช้ยาลดความอ้วนโดยไม่มีข้อบ่งชี้ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ และทำให้ตับอักเสบแย่ลงได้

การควบคุมระดับน้ำตาล และระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ สำหรับผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ การใช้ยาลดไขมันจะสามารถลดระดับไขมันในเลือด รวมถึงความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานว่ายากลุ่มดังกล่าวจะสามารถลดไขมันหรือการอักเสบภายในตับได้ อีกทั้งยาลดไขมันเองยังอาจก่อให้เกิดตับอักเสบได้ในผู้ป่วยบางราย ดังนั้นจึงแนะนำให้เริ่มต้นด้วยการควบคุมอาหาร ร่วมกับออกกำลังกายก่อนเสมอ และในรายที่ต้องใช้ยาลดไขมัน ก็ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์

ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเหล้า และการใช้ยาที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะยาสมุนไพรที่เราไม่ทราบส่วนผสม เนื่องจากยาเหล่านี้ อาจส่งผลเสียต่อตับโดยตรง และจะทำให้แพทย์มีความสับสนในการติดตามภาวะการอักเสบของตับโดยการตรวจเลือดได้

การรักษาภาวะไขมันสะสมในตับด้วยยา

เป้าหมายของการรักษาภาวะไขมันสะสมในตับ คือ ลดปริมาณไขมันและการอักเสบภายในตับ เพื่อป้องกันการเกิดพังผืด หรือตับแข็งในอนาคต ซึ่งยาที่ใช้รักษาในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังอยู่ในช่วงการศึกษาวิจัย อย่างไรก็ตาม มียาหลายตัวที่มีหลักฐานจากการศึกษามากพอสมควร และมีข้อมูลบ่งว่าน่าจะมีประโยชน์ สามารถลดความผิดปกติของค่า ALT และ AST ในเลือด รวมถึงอาจลดปริมาณไขมันและการอักเสบภายในตับลงได้ ได้แก่
1. ยากลุ่มกระตุ้นความไวต่ออินซูลิน ได้แก่ ยา Metformin และ Thiazolidinediones
2. วิตามินอี ขนาด 800-1,200 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งมีฤทธิ์ต้านสารอนุมูลอิสระ (Anti-oxidant)
3. ยา Pentoxifylline มีฤทธิ์ต้านสาร TNF ซึ่งเกี่ยวข้องกับการอักเสบของตับ
4. Ursodeoxycholic Acid (UCDA) เป็นกรดน้ำดีที่มีประโยชน์กับตับ
5. Silymarin เป็นสารสกัดจากดอก Milk Thrisle มีฤทธิ์ต้านสารอนุมูลอิสระ

เนื่องจากยาแต่ละตัวอาจมีผลข้างเคียงได้ และเหมาะสมกับผู้ป่วยกลุ่มต่างๆกัน ดังนั้นการใช้ยาจึงความอยู่ในความควบคุมดูแลของแพทย์ เพื่อการติดตามที่เหมาะสม สำหรับผู้ป่วยที่เกิดตับแข็งแล้ว ก็ยังมีการรักษาอีกหลายอย่างที่จะช่วยให้อาการดีขึ้น และป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้ ตลอดจนปัจจุบันการผ่าตัดเปลี่ยนตับในกรณีที่เป็นตับแข็งระยะสุดท้าย สามารถทำได้แล้วในประเทศไทย

ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเวชธานี //www.vejthani.com




 

Create Date : 06 พฤษภาคม 2553    
Last Update : 6 พฤษภาคม 2553 11:36:51 น.
Counter : 389 Pageviews.  

สะอึก

สะอึก หลายๆ ท่านคงจะมีประสบการณ์ในการ "สะอึก" มาบ้างแล้ว และทราบดีว่าการที่จะทำให้หยุดสะอึกอย่างจงใจนั้นไม่สามารถจะกระทำได้ การสะอึก (hiccup) เป็นอาการที่เกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อกระบังลมที่อยู่ตรงรอยต่อระหว่าง ช่องปอดและช่องท้องที่เกิดขึ้นเองโดยไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดการหายใจเอาอากาศเข้าไปก่อน และจะหยุดหายใจเข้านั้น ทันทีทันใด เนื่องจากทางเข้าหลอดลมจะปิด ทำให้เสียงดังของการสะอึกเกิดขึ้นทุกครั้งไป

อาการสะอึกเกิดจากการหดตัว ของกล้ามเนื้อกะบังลมที่อยู่ตรงรอยต่อระหว่างช่องปอด และช่องท้องที่เกิดขึ้นเองได้โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่คาดว่าเกิดจากมีสิ่งมากระตุ้นเส้นประสาท 2 เส้น คือ เส้นประสาทเวกัส vagus nerve และเส้นประสาทฟรีนิก phrenic nerve ซึ่งเป็นส่วนที่เชื่อมระบบประสาทต่อกับระบบทางเดินอาหารส่วนต้น โดยเสียงสะอึกที่เกิดขึ้นมาจากการหายใจออกขณะที่กะบังลมเกิดการกระตุกทันที ทันใด ทำให้เกิดเสียงดังของการสะอึกขึ้น อาการสะอึกอาจเกิดขึ้นเป็นช่วงสั้นๆ และหายไปได้เอง อาจใช้เวลาเป็นวินาทีหรือ 2-3 นาที ซึ่งอาจพบได้บ่อยๆ แต่ถ้าหากสะอึกอยู่นานๆ เป็นครั้งค่อนชั่วโมงหรือเป็นวันๆ อาจจะต้องหาสาเหตุว่ามาจากโรคของอวัยวะต่างๆ ควบคู่กันไปด้วย เช่น โรคเกี่ยวกับอวัยวะในช่องท้อง ในช่องปอด ในระบบสมองและประสาทส่วนกลาง เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสะอึกที่เกิดขึ้นในขณะนอนหลับจะมีความหมายมากกว่าการสะอึกในเวลากลางวัน

กลไกการสะอึก

1. ขณะที่หายใจเข้า กะบังลมที่อยู่ตอนล่างของช่องอกจะเคลื่อนลงล่าง ทำให้ปอดขยายตัว และดึงดูดให้อากาศเข้าปอด

2. กะบังลมเกิดการกระตุก ทำให้ลมหายใจตีกลับขึ้นข้างบน ขณะที่ลิ้นกล่องเสียงปิด ตัดกระแสลม ทำให้เกิดเสียงสะอึกขึ้น

3. ในที่สุดลิ้นกล่องเสียงเปิด กะบังลมคลายตัว และลมหายใจออกจากปอด

4. แม้ว่ากลไกการเกิดการสะอึก ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าอาการนี้อาจจะเป็นการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติชนิดหนึ่ง โดยศูนย์กลางของการสะอึกจะอยู่บริเวณก้านสมองบริเวณเมดัลลา แล้วเชื่อมระบบประสาทต่อกับระบบทางเดินอาหารส่วนต้นด้วยเส้นประสาทเวกัสและ เส้นประสาทฟรีนิก

ลักษณะอาการ อาจแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

1. อาการสะอึกช่วงสั้นๆ อาจเพียง 2-3 นาที

2. สะอึกหลายๆ วันติดกัน

3. สะอึกติดๆ กันหลายสัปดาห์

4. สะอึกตลอดเวลา

การสะอึกติดต่อกันหลายๆ วัน เป็นอาการที่ไม่ธรรมดา เนื่องจากมีสาเหตุมาจากโรคอื่นๆ เช่นความผิดปกติทางสมองการเป็นอัมพาตการเป็นโรคทางเดินอาหาร การอักเสบในช่องท้องบริเวณกะบังลม โรคหลอดเลือดสมองตีบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบพิษสุราเรื้อรัง รวมถึงอาการทางภาวะจิตใจ และผลกระทบจากการใช้ยาบางชนิด

ส่วนมากผู้ป่วยที่มาหาพบแพทย์ ด้วยการสะอึกเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน เนื่องมาจากมีอาการผิดปกติทางสมอง หรือเป็นอัมพาต ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถให้ยาที่ช่วยบรรเทาอาการสะอึกได้ แต่ก็อาจมีการสะอึกเกิดขึ้นมาอีก เพราะอาการสะอึกเป็นเพราะต่อเนื่องที่เกิดจากการเจ็บป่วย

สาเหตุของอาการสะอึก

1. สำหรับสาเหตุเชื่อกันว่าเกิดจาก การรับประทานอาหารมากเกิน เร็วเกินไป บางคนอาจจะมีความตึงเครียดมากไป บางคนอาจเกิดจากการดื่มเครื่องดื่มประเภทมีแอลกอฮอล์ในกระเพาะอาหาร หรือสูบบุหรี่มากเกินไป นอกจากนี้การบริโภคอาหารที่ทำให้มีก๊าซมากก็อาจเป็นสาเหตุของการสะอึกได้

2. สาเหตุของการสะอึกอาจเกิดจากมี อะไรไปรบกวนประสาทที่ควบคุมการทำงานของกะบังลม ลมในกระเพาะอาหารขยายตัวไปกระตุ้นปลายประสาทที่มาเลี้ยวกะบังลม หรืออวัยวะใกล้กะบังลมเป็นโรคบางอย่าง เช่น เยื่อหุ้มปอดอักเสบ มูลเหตุเหล่านี้ทำให้ กะบังลมหดตัวอย่างรุนแรงทันทีทันใด การบีบรัดตัวของกะบังลมทำให้แผ่นเหนือกล่องเสียงที่คอหอยซึ่งปกติคอยกั้นไม่ ให้อาหารเข้าไปในหลอดลมปิดลง เมื่อกะบังลมหดอย่างรุนแรงก็จะดึงอากาศเข้าสู่ปอดผ่านคอหอย อากาศจึงกระทบกับแผ่นปิด แล้วทำให้สายเสียงสั่นสะเทือน จึงเกิดเสียงสะอึก อย่างที่ได้ยินเวลาสะอึก

3. อาการสะอึกเกิดได้กับคนทุกคน สาเหตุเป็นเพราะกระเพาะอาหารเกิดการระคายเคือง จึงได้ไปกระคุ้นให้เส้นประสาทในบริเวณนี้ทำงานผิดปกติ ชักนำให้กล้ามเนื้อกะบังลม กล้ามเนื้อที่กั้นกลางระหว่างช่องอกกับช่องท้อง มีการหดเกร็งตัวเป็นจังหวะๆ และกล้ามเนื้อซี่โครงก็ได้รับผลกระเทือนให้เกิดจากหดเกร็งตัวในลักษณะเดียว กัน อย่างไรก็ตาม สาเหตุก็ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการระคายเคืองที่กระเพาะอาหารเสมอไป บางครั้งก็อาจก่อตัวที่ศูนย์การสะอึกที่อยู่ในสมองที่บังคับควบคุมให้เกิด การเคลื่อนไหวผิดปกติของกะบังลม จนเกิดเป็นอาการสะอึก

4. นอกจากนี้ยังอาจมีสาเหตุจากความ ผิดปกติในบริเวณคอ และหน้าอก เช่น ก้อนเนื้องอก ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น หรือเกิดจากโรคในช่องท้อง เช่น เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ไตวาย หรือภายหลังการผ่าตัดช่องท้อง เป็นต้น หรือบางครั้งก็อาจเกิดจากสาเหตุทางด้านอารมณ์ เช่น ความรู้สึกช็อก ความเครียดเรื้อรัง เป็นต้น

5. สาเหตุอาจเกิดจากยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะกลุ่ม beta-lactams, macrolides, fluoroquinolone หรือแอลกอฮอล์

การรักษา

1. ในแง่ของการรักษาอาการสะอึกนั้น ถ้าสะอึกเป็นเวลาสั้นๆ ไม่นานแต่เป็นหลายครั้ง ท่านอาจต้องสังเกตกิจวัตรประจำวัน การรับประทานอาหารดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือการสูบบุหรี่ว่ามีความ สัมพันธ์กับการสะอึกหรือไม่ ถ้าสัมพันธ์กัน ท่านก็ควรที่จะปรับปรุงสิ่งเหล่านั้น หากสะอึกอยู่เป็นเวลานานๆ ท่านควรไปพบแพทย์จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด

2. สำหรับเทคนิคการหยุดอาการสะอึก มีหลายแบบ ล้วนแล้วแต่มีบันทึกไว้ในตำราทางการแพทย์ ซึ่งไม่มีความแน่ชัดในการหวังผลจากการรักษาด้วยวิธีต่างๆ

3. ถ้าไม่ดีขึ้น อาจจะต้องพบแพทย์เพื่อใช้ยาบางตัวช่วย เช่น Lagactil, Baclofen หรือกลุ่มยาช่วยย่อย เช่น Cisapride, Omperazole เป็นต้น

4. ถ้าใช้ยาแล้วยังไม่ดีขึ้น อาจจะต้องพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุโรคอย่างอื่นร่วมด้วย แล้วแก้ไขตามสาเหตุ หรือทำการผ่าตัดทางศัลยกรรมประสาท

5. การฝังเข็ม การสวดมนต์ทำสมาธิ การใส่สายเข้าไปในกระเพาะอาหารเพื่อดูดเอาลม และน้ำย่อยออก

6. ในการแก้ไขจะต้องค้นให้พบสาเหตุ ของการสะอึกเสียก่อน ถ้ามีโรคที่ซ่อนเร้นอยู่ แพทย์ก็จะให้การรักษาเพื่อแก้ไขอาการสะอึกควบคู่กับการแก้ไขโรคที่เป็นต้น เหตุ ในกรณีที่ไม่มีสาเหตุชัดเจน ก็มักจะเกิดจากความผิดปกติในกระเพาะอาหาร เช่น การกินอิ่มเกินไป การกินอาหารเผ็ดจัด การดื่มเหล้า การกินอาหารที่ร้อนจัดหรือเย็นจัด ก็อาจชักนำให้เกิดอาการสะอึกได้

7. ถ้าทราบว่าเกิดจากสาเหตุใด สาเหตุหนึ่งดังกล่าว แล้วหาทางหลีกเลี่ยงเสีย ก็จะช่วยป้องกันมิให้เกิดอาการกำเริบขึ้นได้อีก แต่ถ้าหากอาการสะอึกเป็นอยู่นาน จนทำให้รู้สึกเหนื่อยอ่อนและตึงเครียด ก็ควรจะไปปรึกษาแพทย์

เทคนิคหยุดสะอึก

1. ใช้นิ้วโป้ง และนิ้วชี้จับลิ้นเอาไว้แล้วดึงออกมาข้างหน้าแรงๆ เพื่อช่วยเปิดหลอดลมที่ปิดอยู่ วิธีกระตุ้นผิวด้านหลังของลำคอ แถวๆ บริเวณที่เปิดปิดหลอดลม อาจใช้ด้ามช้อนเขี่ยที่ปิดเปิดหลอดลม

2. กลั้นหายใจเอาไว้โดยการนับ 1-10 แล้วหายใจออก จากนั้นดื่มน้ำตามทันที หรือหายใจลึกๆ กลั้นหายใจ หายใจในถุงกระดาษ 3-5 นาที

3. กลั้วน้ำในลำคอ จิบน้ำเย็นจัด ดื่มน้ำเย็นจัดช้าๆ โดยดื่มตลอดเวลา และกลืนติดๆ กัน ไปเรื่อยๆ จนกว่าอาการสะอึกหาย หรือจนกลั้นหายใจไม่ได้ ดื่มน้ำจากขอบแก้วที่อยู่ด้านนอกหรือด้านไกลจากริมฝีปาก

4. เขี่ยภายในรูจมูกให้จาม

5. กลืนน้ำตาลทราย 1-2 ช้อนโต๊ะ โดยไม่ต้องใช้น้ำ หรือ กลืนก้อนข้าว ก้อนขนมปัง ก้อนน้ำแข็งเล็กๆ

6. ทำให้เกิดอารมณ์รุนแรง เช่น โกรธ ตื่นเต้น หรือกลัว

7. จิบน้ำส้มสายชูที่เปรี้ยวจัด หรือดมสารที่มีกลิ่นฉุน เช่น แอมโมเนีย

8. ถ้าเป็นเด็กอ่อนควรอุ้มพาดบ่าใช้มือลูบหลังเบาๆ ให้เรอ

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
//www.bangkokhospital.com
//www.bangkokhealth.com




 

Create Date : 04 พฤษภาคม 2553    
Last Update : 4 พฤษภาคม 2553 15:19:51 น.
Counter : 338 Pageviews.  

ความดันโลหิตสูง....ภัยเงียบ

ความดันโลหิตสูง” เป็นโรคที่คุ้นหูของทุกคน แต่จะมีสักกี่คนที่ทราบว่าความดันโลหิตสูงคือภัยเงียบที่อาจระเบิดขึ้นมาอย่างไม่ทันตั้งตัวได้ในวันใดวันหนึ่ง...

นพ.เทิดศักดิ์ เชิดชู อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด อธิบายว่า แรงดันโลหิต คือแรงดันในหลอดเลือดแดงเฉลี่ย ซึ่งเกิดจากปริมาณเลือดที่หัวใจบีบตัวออกมาในแต่ละครั้ง คูณกับแรงต้านทานของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย

การบอกค่าความดันโลหิต เรามักจะบอกเป็นสองค่าคือ แรงดันโลหิตค่าบน ซึ่งเป็นแรงดันขณะหัวใจสูบฉีดเลือดออกมาในเส้นเลือดแดง (หัวใจบีบตัว) และแรงดันโลหิตค่าล่าง เป็นแรงดันที่ยังมีค้างอยู่ในหลอดเลือดแดงขณะที่หัวใจไม่ได้ฉีดเลือดออกมา (หัวใจกำลังคลายตัว) โดยเกณฑ์การวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูงตามแนวทางของคณะกรรมการป้องกันรักษาโรคความดันโลหิตสูงของสหรัฐ (JNC7) กำหนดว่า

ความดันโลหิตปกติ คือค่าความดันโลหิตค่าบนน้อยกว่า 120 มม.ปรอท และค่าความดันโลหิตค่าล่างน้อยกว่า 80 มม.ปรอท

ความดันโลหิตเริ่มสูง คือความดันโลหิตค่าบน 120 - 139 มม.ปรอท หรือความดันโลหิตค่าล่าง 80 - 89 มม.ปรอท

ความดันโลหิตสูง คือความดันโลหิตค่าบนตั้งแต่ 140 มม.ปรอทขึ้นไป หรือความดันโลหิตค่าล่างตั้งแต่ 90 มม.ปรอทขึ้นไป



จากการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า สองในสามของประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปี จะมีความดันโลหิตสูง และเป็นความเข้าใจผิดที่มักจะคิดว่าถ้ามีความดันโลหิตสูงก็จะมีอาการปวดศีรษะ จากการสำรวจจะเห็นได้ว่า คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตนเองมีความดันโลหิตสูง เนื่องจากไม่มีอาการใดๆ และความดันโลหิตก็ทำให้เกิดผลเสียโดยไม่ทันได้ป้องกันหรือรับการรักษา ด้วยเหตุนี้โรคความดันโลหิตสูงจึงได้รับสมญาว่า “ฆาตกรเงียบ” (Silent Killer)

ความดันโลหิตสูง ทำให้เกิดผลเสียต่อระบบต่างๆ ของร่างกายดังนี้

หัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวและหัวใจโตขึ้น นอกจากนั้นยังทำให้หลอดเลือดหัวใจเสื่อมสภาพและเกิดการอุดตัน ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด เจ็บหน้าอก กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจวายได้

สมอง ความดันโลหิตสูง สามารถทำให้หลอดเลือดสมองตีบตันได้เช่นเดียวกับเส้นเลือดหัวใจ และอาจจะทำให้เส้นเลือดสมองแตกได้ ซึ่งทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้

ไต ความดันโลหิตสูง สามารถทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงไตเสื่อมได้เช่นกัน ซึ่งจะทำให้เป็นไตวาย

ตา จอประสาทตาของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจะมีโอกาสเสื่อมจากเส้นเลือดฝอยอุดตัน เส้นเลือดฝอยแตก จอประสาทตาลอกได้ง่าย ทำให้เกิดภาวะตามัว หรืออาจตาบอดได้

หลอดเลือด ความดันโลหิตสูงจะทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายเสื่อม จึงสามารถส่งผลกระทบต่ออวัยวะทั่วร่างกายได้ เช่น เลือดไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่เพียงพอ ทำให้ปวดกล้ามเนื้อ ปวดขา เดินได้ไม่ไกล

ควบคุมภาวะความดันโลหิตสูงได้อย่างไร

ควบคุมน้ำหนัก ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีน้ำหนักตัวเกินกำหนด เมื่อลดน้ำหนักลง 10 กิโลกรัม จะสามารถลดความดันโลหิตค่าบนลงได้ 2.5 มม.ปรอท และลดความดันโลหิตค่าล่างลงได้ 5.20 มม.ปรอท

จำกัดปริมาณเกลือในอาหาร จำกัดปริมาณเกลือที่รับประทานในแต่ละวันไม่เกิน 6 กรัม (เกลือ 1 ช้อนชามีประมาณ 5 กรัม) จะช่วยลดความดันโลหิตลงได้ประมาณ 2-8 มม.ปรอท

หลีกเลี่ยงความเครียด งดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 20-30 นาทีต่อวัน เป็นระยะเวลาต่อเนื่องกัน 3-6 เดือนขึ้นไป จะสามารถลดความดันโลหิตลงได้ประมาณ 10-20 มม.ปรอท การออกกำลังกายที่เหมาะสมต้องเป็นการออกกำลังแบบที่มีการใช้ออกซิเจนให้มาก มีการเคลื่อนไหว หรือที่เรียกว่าการออกกำลังกายแบบ แอโรบิก

พบแพทย์และรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ แจ้งแพทย์เกี่ยวกับโรคประจำตัวและยาที่รับประทานอยู่เป็นประจำทุกชนิด แพทย์จะพิจารณายาลดความดันโลหิตที่เหมาะสมและติดตามผลการรักษาต่อไป

ในกรณีที่ท่านมีเครื่องวัดความดันโลหิตที่บ้าน หรือมีห้องพยาบาลในที่ทำงาน การวัดความดันโลหิตเป็นประจำและจดบันทึกไว้ จะเป็นประโยชน์ในการช่วยให้แพทย์ควบคุมความดันโลหิตของท่านได้ดีขึ้น และหากท่านมีความเข้าใจและสามารถปฏิบัติได้ตามคำแนะนำเหล่านี้แล้ว จะทำให้ท่านสามารถป้องกันตนเองจากฆาตกรรายนี้ได้อย่างรู้เท่าทัน

ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี
//www.vejthani.com




 

Create Date : 31 มีนาคม 2553    
Last Update : 31 มีนาคม 2553 16:22:48 น.
Counter : 336 Pageviews.  

1  2  3  

sunchart
Location :
ยโสธร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ยินดีต้อนรับสู่ MY BLOG ครับผม
Friends' blogs
[Add sunchart's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.