Mygazine : เก็บทุกสิ่งที่สนใจ
"อินเทอร์เน็ต" ตลาดสะดวกซื้อสินค้า"เลียนแบบ"แห่งใหม่

คำโบราณท่านว่า "ความวัวยังไม่ทันหาย ความbufก็เข้ามาแทรก" คงจะใช้ได้ดีกับ "ธุรกิจอินเทอร์เน็ต" ในยุคปัจจุบัน ซึ่งยังไม่ทันจะเคลียร์ตัวเอง จากข้อกล่าวหาว่าเป็น "เครื่องมือการแลกเปลี่ยนไฟล์เพลง-ภาพยนตร์ละเมิดลิขสิทธิ์" แต่ล่าสุด กลับต้องเจอมรสุมลูกใหม่ เมื่อเหล่าเจ้าของแบรนด์เนมชื่อก้องโลกไล่ฟ้องในข้อหาเป็น "สถานที่ซื้อขายสินค้าเลียนแบบ"

ว่ากันว่า ก่อนหน้านี้ กระเป๋า และแว่นตาเลียนแบบ เคยยึดหัวหาดวางขายกันบนทางเท้ามานานหลายปีติดต่อกัน แต่การมาถึงของ "อินเทอร์เน็ต" ได้สร้างความยุ่งยากให้กับการกวาดล้างสินค้าเลียนแบบของบริษัทหรูแถวหน้าของโลกหลายแห่ง

ทิฟฟานี่ แอนด์ โค. กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่ง เมื่อยื่นฟ้อง อีเบย์ อิงค์. บริษัทให้บริการประมูลออนไลน์ แต่คดีที่ว่านี้ เป็นเพียงความพยายามกำจัดแหล่งชุมนุมสินค้าเลียนแบบบนอินเทอร์เน็ตส่วนหนึ่งของบริษัทผลิตสินค้าหรูยักษ์ใหญ่แห่งนี้เท่านั้น

10 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่า "อินเทอร์เน็ต" เบียด "คาแนล สตรีท" ศูนย์รวมสินค้าเลียนแบบกลางมหานครนิวยอร์ก กลายเป็นตลาดซื้อขายของปลอมอันดับสามของโลก เป็นรองก็เฉพาะ "จีน" และ "อิตาลี" เท่านั้น

ขณะที่อุตสาหกรรมอื่น อย่างอุตสาหกรรมเพลงและภาพยนตร์ออกแคมเปญลดแลกแจกแถม ไปพร้อมๆ กับการฟ้องผู้ซื้อ แต่ผู้ผลิตสินค้าหรูมูลค่าสูง อาทิ มงกุฎเทียราเพชร หรือกระเป๋าถือเคลลี่ ของแบรนด์เนมยี่ห้อดัง เฮอร์เมส อินเตอร์เนชั่นแนล เอสเอ กลับวางแผนจะเล่นงานช่องทางการจัดจำหน่ายที่ว่านี้ ด้วยตัวบทกฎหมาย และนั่นหมายความ อีเบย์ รวมถึง กูเกิล อิงค์. และ ยาฮู อิงค์. คือ เป้าหมายต่อไป

"อินเทอร์เน็ตเป็นวิธีการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่ได้รับการชื่นชมและสนับสนุน แต่เปิดโอกาสให้ขายสินค้าเลียนแบบได้" เจมส์ สไวร์ ทนายความจากบริษัทดอร์ซีย์ แอนด์ วิทนีย์ ตัวแทนของทิฟฟานี่กล่าว

นักวิเคราะห์ด้านกฎหมาย ตั้งข้อสังเกตว่า อีเบย์ จะโต้ตอบการฟ้องร้องในครั้งนี้ ซึ่งจะเริ่มขึ้นในเดือนหน้านั้น อย่างถึงพริกถึงขิง พร้อมเสริมว่า การฟ้องร้องในครั้งนี้ จะเป็นการตรวจสอบภารกิจขายสินค้าเลียนแบบของอีเบย์ในเชิงกฎหมายเป็นครั้งแรก แม้ว่า ก่อนหน้านี้ "โรเล็กซ์" แบรนด์นาฬิกาหรูระยับระดับโลก ได้ยื่นฟ้องเวบไซต์ภาษาเยอรมันของอีเบย์ในข้อหาละเมิดเครื่องหมายการค้า แต่แพ้คดีและอยู่ระหว่างการอุทธรณ์

"ไม่น่าจะมีผลกับรูปคดีแรกของอีเบย์ในสหรัฐ" นักวิเคราะห์ด้านกฎหมายคนเดิมให้ความเห็น

อย่างไรก็ดี หาก ทิฟฟานี่ชนะ จะมีการฟ้องร้องตามมาอีกหลายคดี แต่ถ้าแพ้โอกาสที่บริษัทหรูแห่งนี้ จะผลักความรับผิดชอบให้กับอีเบย์ก็จะจบลง

"เราไม่มีความรู้เกี่ยวกับสินค้าที่นำมาประมูลกันบนเวบไซต์ เนื่องจากไม่ใช่ธุรกิจของเรา" คริส ดอนเลย์ โฆษกหญิงอีเบย์ ว่าไว้อย่างนั้น

ความเสียหายมหาศาล

แม้มูลค่าความเสียหายที่เกิดจากสินค้าเลียนแบบของบริษัทหรู ยังไม่สามารถคำนวณเป็นตัวเลขที่แท้จริงได้

แต่ สมาพันธ์อุตสาหกรรมนาฬิกาของสวิตเซอร์แลนด์ ประเมินว่า สินค้าปลอมทำให้ธุรกิจนาฬิการาคาแพงต้องสูญรายได้ปีละ 800 ล้านฟรังก์สวิส หรือประมาณ 600 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ในปีที่แล้ว บริษัท LVMH Mo?t Hennessy Louis Vuitton SA ได้ทุ่มเงินเพื่อกวาดล้างสินค้าปลอม คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 14.5 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5 เท่า ของเมื่อ 10 ปีก่อน

"อินเทอร์เน็ต กลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ผลิตสินค้าเลียนแบบส่งของไปถึงมือลูกค้าได้อย่างง่ายดาย พวกเขารู้ ว่าจะใช้อินเทอร์เน็ตในการขายสินค้าของตัวเองได้อย่างไร" เดวิด มาร์กูลิส ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของบริษัทจีนูวัน อิงค์. ธุรกิจปกป้องแบรนด์ในบอสตัน ซึ่งติดตามการขายออนไลน์ของบริษัทสินค้าหรู อาทิ LVMH และ Cie. Financi?re Richemont AG กล่าว

อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึงสินค้าหรูนั้น ปฏิบัติตามกฎหมายการค้า คือ ไม่ห้ามการซื้อสินค้าปลอม ยกเว้นในฝรั่งเศล ที่ซึ่งเจ้าหน้าที่จะยึดสินค้าปลอมจากลูกค้าเป็นเรื่องปกติ

"เครือข่ายการขาย การเก็บสินค้า และวิธีการชำระ ยังไม่ชัดเจน" มาร์ค-แอนโทนี จาเม็ต ประธานสมาพันธ์ผู้ผลิต ซึ่งเป็นผู้นำในการต่อต้านสินค้าเลียนแบบ ให้ความเห็น และยกตัวอย่างว่า ผู้ค้าจำนวนมากบนเวบไซต์อีเบย์ในสหรัฐ อาศัยอยู่ในจีน หรือฮ่องกง

ขณะที่นักวิเคราะห์เสริมว่า ปัจจุบันชาวเยอรมันส่วนใหญ่ หันไปซื้อ-ขายสินค้าปลอมแปลงผ่านเวบไซต์อีเบย์ในเนเธอร์แลนด์แทนเวบไซต์อีเบย์ในประเทศ เนื่องจากตำรวจเยอรมันกวาดล้างการขายสินค้าปลอมแปลงอย่างหนัก

ตาต่อตาฟันต่อฟัน

บริษัทสินค้าหรูเกือบทุกแห่ง มอบหมายให้ลูกจ้างสองสามคนทำหน้าที่ตรวจจับสินค้าต้องสงสัยในหลายเวบไซต์ และนั่นทำให้ทางทิฟฟานี่ กล้าออกมาฟันธงว่า 73% ของสินค้ายี่ห้อทิฟฟานี่บนอีเบย์เป็นของปลอม

แต่ถึงกระนั้น "เทคโนโลยี" ก็อาจจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ที่จะโต้ตอบกลุ่มผู้ผลิตสินค้าปลอมที่ใช้เทคโนโลยีเป็นช่องทางในการจัดจำหน่าย

เมื่อปีที่แล้ว จีนูวัน ได้ออก "จีนูเน็ต" (GenuNet) บริการตรวจสอบ โดยใช้คีย์เวิร์ดในการค้นหา และราคาเป็นตัวชี้นำเวอร์ชั่นพิเศษสำหรับอีเบย์

จีนูเน็ต ปฏิบัติการผ่าน "เวโร" (VeRO) โครงการระบุสิทธิเจ้าของของอีเบย์ ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อปี 2540 ข้อตกลงระหว่างบริษัทเจ้าของสินค้าและเวบไซต์ประมูลออนไลน์ยอดนิยมแห่งนี้ นอกจากจะลดภาระตรวจสอบการขายให้กับบริษัทเจ้าของสินค้าแล้ว ยังช่วยอีเบย์กำจัดสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ได้ตามที่บริษัทเจ้าของสินค้าต้องการได้อีกด้วย ปัจจุบัน มีบริษัทเจ้าของสินค้ากว่า 12,000 แห่ง เป็นสมาชิกโครงการเวโร และทั้งหมดก็ใช้ความรู้ในสินค้าของตัวเองตรวจหาของปลอม

อย่างไรก็ดี ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมสินค้าหรูหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงทิฟฟานี่ และแอลวีเอ็มเอชนั้น ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าว

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ เรียบเรียงจากสำนักข่าวดาวโจนส์



Create Date : 24 กรกฎาคม 2552
Last Update : 24 กรกฎาคม 2552 22:38:04 น. 0 comments
Counter : 603 Pageviews.

Never be Afraid to Dream
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]









หมายเหตุ :
1. ขอขอบคุณเจ้าของโค้ด รูป และของแต่งบล็อกที่รวมกันเป็นบล็อกนี้ทุกท่านและขออภัยที่ไม่สามารถเอ่ยชื่อได้ เนื่องจาก จขบ.เซฟมาเยอะจนไม่สามารถจำได้ว่าเอามาจากบล็อกของท่านใดบ้าง

2. ขอขอบคุณไว้ล่วงหน้า ณ ที่นี้ สำหรับทุกท่านที่แวะมาเยี่ยม มาแสดงความเห็นค่ะ และขออภัยหากไม่ได้กลับไปเยี่ยม
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Never be Afraid to Dream's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.