พอดี พอใจ พอเพียง
เมื่อก่อนอยากมี "คนรัก" พอมีแล้ว ก็อยากให้ "คนรักดีได้อย่างใจ" เมื่อดีได้อย่างใจแล้ว ก็อยากให้ "คนรักเข้าใจเรา" เมื่อเขาเข้าใจเราแล้ว ก็อยากให้....... และอยากให้....... และอยากให้........ ไม่มีที่สิ้นสุด ! เมื่อก่อนอยากมี "รถ" พอมีแล้ว ก็อยากได้ยี่ห้อที่ดีกว่านี้อีก และเมื่อได้แล้ว ก็จะอยากได้..... อยากได้..... อยากได้... อยากได้อีก..... อยากได้มากกว่านี้อีก....... อยากไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ! กว่าจะรู้ตัวว่า "ถูกหลอก" เราก็ตกเป็นทาสของกิเลสอยู่ตลอดเวลา บางคนไหวตัวทัน ก็หลุดออกมาได้เร็วหน่อย บางคนไหวตัวไม่ทัน ก็โดนหลอกไปตลอดชีวิต จนวาระสุดท้าย ก็ยังถูกหลอก ! เมื่อก่อนเคยคิดอยากรวยมากๆ เพราะคิดว่าถ้ารวยมากๆแล้วจะมีความสุข แต่ก็มาไหวตัวทัน ตอนที่เราได้สิ่งที่เราอยากได้มาครอบครอง แต่ใจกลับไม่มีความสุขอย่างที่คิดไว้ ใจก็แสวงหาสิ่งอื่นๆอยู่ตลอดเวลา เพื่อไปให้ถึงความสุขนั้น ! ความสุขที่เป็นเสมือนภาพลวงตา ไม่เคยมีอยู่จริง ! เราไม่เคยรู้สึกพอใจ ในสิ่งที่เรามีอยู่เลย ถึงแม้วันหนึ่งเราจะร่ำรวยอย่างที่ฝันไว้ ณ เวลานั้นก็ทำนายได้เลยว่า ใจก็ยังไม่มีความสุข เพราะใจเรามันหิวตลอดเวลา มันไม่เคยพอนั่นเอง แล้วชีวิตที่พอเพียงมันอยู่ที่ไหน จุดไหนถึงจะเรียกว่าพอเพียง ? เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยคำ 3 คำ คือ พอดี, พอใจ, พอเพียง 1. ความพอดี มีความพอดีในการใช้ชีวิต คือ เรามีปัจจัย 4 ครบครัน และมีเครื่องอำนวยความสะดวกสบายพอประมาณ ชีวิตของเรามีความพอดีขึ้นมา คือ ไม่มากเกินไป และ ไม่น้อยเกินไป บ้านของเราหลังไม่ใหญ่ แต่สะอาดสะอ้านน่าอยู่ โทรศัพท์มือถือ ไม่ใช่รุ่นที่ดีที่สุด แต่ใช้งานได้คุ้มค่าที่สุด เป็นต้น 2. ความพอใจ เมื่อ พอดีแล้ว ก็เกิด ความพอใจ คือ เราพอใจในสิ่งที่เรามีอยู่ ทุกอย่างที่เรามีล้วนแล้วแต่ทำประโยชน์ให้เราทั้งสิ้น เรามีความสุขกับปัจจุบัน ไม่ร้อนรนกระวนกระวาย ถึงสิ่งที่เราไม่มี ถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง พระพุทธองค์ทรงแนะนำชาวโลกให้หาความสุขโดยการถือสันโดษ สันโดษ คือ ความยินดี ความพอใจ คือความรู้จักพอดี ความรู้จักพอเพียง มีลักษณะ 3 อย่าง คือ - ยินดีพอใจในสิ่งที่มีที่ได้มา ด้วยเรี่ยวแรงของตนในทางชอบธรรม ไม่ดิ้นรนอยากได้จนทำให้เกิดความเดือดร้อน
- ยินดีพอใจกำลังของตน ใช้กำลังที่มีอยู่ เช่นความรู้ ความสามารถให้เกิดผลเต็มที่ ไม่ย่อหย่อนบกพร่อง
- ยินดีพอใจแต่ไม่เกินเลย คือรู้จักพอเป็น อิ่มเป็น และแบ่งปันส่วนที่เกินเลยไปเอื้อเฟื้อผู้อื่นตามสมควร
สันโดษ เป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้เกิดความพอดีในชีวิตประจำวัน ไม่ฟุ้งเฟ้อเกินไป ไม่เขียมเกินไป ไม่ฟุ้งซ่านจนเกิดเดือดร้อน เป็นต้น เป็นแนวปฏิบัติกลางๆ เพื่อให้ชีวิตมีความอิ่ม ไม่พร่อง อันเป็นเหตุให้มีความสุขดังคำกล่าวที่ว่า "รู้จักพอก่อสุขทุกสถาน" (ขอบคุณข้อมูลความหมายของ สันโดษ จาก วิกิพีเดีย ) 3. ความพอเพียง จาก "ความพอใจ" ก็เข้าสู่โหมด "ความพอเพียง" โดยอัตโนมัติ เราจะมีชีวิตที่พอเพียง อยู่บนทางสายกลางในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านความรัก-ครอบครัว ด้านสุขภาพ เรียกได้ว่าทุกมิติของการใช้ชีวิตเลยทีเดียว เราไม่แสวงหาให้มากเกินความจำเป็น เพราะเราเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า สิ่งที่มากเกินความพอดี ไม่ได้ทำให้ใจเรามีความสุข ในขณะที่ น้อยเกินไป ก็ทำให้เราเป็นทุกข์เช่นกัน ทุกอย่างดำรงอยู่เป็นปกติ ได้ด้วยทางสายกลาง ดังนั้น เมื่อใจรู้จักคำว่า "พอดี" จนก่อเกิดเป็น "ความพอใจ" และเข้าสู่วิถีชีวิตของ "ความพอเพียง" ใจก็สัมผัสกับความสุข เพราะไม่นึกถึงเรื่องในอดีต ไม่กังวลถึงอนาคต แต่จดจ่อกับปัจจุบันด้วยสติรู้ตื่นและเบิกบาน ลองสำรวจใจตัวเองดูนะคะ ตอนนี้เรายังแสวงหาอะไรที่เกินพอดีหรือไม่ ? ลองถามต่อไปว่า ถ้าได้มาแล้ว จะมีความสุขอย่างที่ฝันไว้จริงหรือ ? และ ลองย้อนกลับมาดูใจตัวเอง ว่าเราละเลยสิ่งที่เรามีอยู่ในปัจจุบันไปหรือเปล่า ? บุคคลที่เรารัก ที่เรามัวแต่คาดหวังให้เขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ วันนี้เราดูแลเขาได้ดีหรือยัง ? หรือวัตถุที่เราครอบครอง เมื่อได้มาแล้ว เรากลับไม่สนใจ ปล่อยปละละเลย อยากได้ของใหม่ๆอยู่ร่ำไป เราไม่เคยชื่นชมคุณค่าคุณประโยชน์ของมันอย่างแท้จริงเลย ! บางทีเมื่อลองสำรวจดูแล้ว คุณอาจพบว่า ชีวิตของคุณมีส่วนที่เกินพอดีอยู่มากจนคุณคาดไม่ถึง และคุณอาจพบความสุขจากสิ่งที่คุณมีในปัจจุบันอย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียวค่ะ " ใจที่รู้จักพอ เป็นใจที่มีความสุข " - ท่าน ว. วชิรเมธี -
Create Date : 08 เมษายน 2556 |
Last Update : 17 เมษายน 2556 11:35:02 น. |
|
10 comments
|
Counter : 4146 Pageviews. |
 |
|
ชอบ 3 คำ คือ พอดี , พอใจ และ พอเพียง ...
ขอขอบคุณสำหรับข้อคิดดีๆที่นำมาฝาก Like ครับ