หมวดธงประจำพระองค์
(คัดลอกจาก ฉวีงาม มาเจริญ. ธงไทย. กรุงเทพมหานคร : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2520.)
ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์
 รูปที่ ๖ ธงจอมเกล้า
คือธงประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ เริ่มมีเป็นครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงพระราชดำริว่า เมื่อเวลาเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคมีเรือขบวนหลายลำ คนทั่วไปไม่มีที่สังเกตว่าประทับอยู่เรือลำใด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำธงประจำพระองค์ขึ้น มีลักษณะคือพื้นนอกสีแดง พื้นในสีขาบ กลางธงเป็นรูปพระมหาพิไชยมงกุฎ มีเครื่องสูง ๗ ชั้นอยู่สองข้าง ใช้สำหรับชักขึ้นบนเสาเรือพระที่นั่ง เป็นเครื่องหมายว่าเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือลำนั้น และโปรดเกล้าฯ ให้ชักขึ้นบนเสาในพระบรมมหาราชวังด้วย เมื่อไม่ได้ประทับอยู่ในพระนครก็ลดธงสำหรับพระองค์ลง ชักธงไอยราพตขึ้นแทน ธงรูปพระมหามงกุฎนี้เรียกกันในขณะนั้นว่า “ธงจอมเกล้า” (รูปที่ ๖)
 รูปที่ ๗ ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์ หรือ ธงมหาราช
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ใช้ธงประจำพระองค์ คือ ธงจอมเกล้านี้ต่อมา โดยเพิ่มรูปโล่ตราแผ่นดินลงภายใต้พระมหาพิไชยมงกุฎด้วย ปรากฏลักษณะอยู่ในพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยธงต่างๆ ฉบับแรกของไทย ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม รัตนโกสินศก ๑๑๐ (พ.ศ.๒๔๓๔) คือ พื้นนอกสีแดง พื้นในสีขาบ กลางธงเป็นรูปโล่ตราแผ่นดินมีจักรและตรีไขว้กันอยู่บนโล่ มีพระมหาพิไชยมงกุฎสวมอยู่บนจักรและตรีอีกทีหนึ่ง สองข้างโล่เป็นรูปเครื่องสูง ๗ ชั้น ภายในโล่ตราแผ่นดินแบ่งออกเป็น ๓ ช่อง ช่องบนเป็นรูปช้างไอยราพตสามเศียรบนพื้นเหลือง หมายถึงแผ่นดินสยามเหนือ กลางและใต้ ช่องล่างข้างขวาเป็นรูปช้างเผือกบนพื้นชมพู หมายถึงประเทศลาว ช่องล่างข้างซ้ายเป็นรูปกริชสองอันไขว้กันบนพื้นแดง หมายถึงแผ่นดินฝ่ายมลายู มีแท่นรองรูปโล่และเครื่องสูง ๗ ชั้นพื้นเหลือง ธงนี้มีชื่อว่า “ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์” ใช้สำหรับชักขึ้นบนเรือพระที่นั่ง และชักขึ้นที่เสาในพระบรมมหาราชวังเมื่อเวลาเสด็จประทับอยู่ในพระนคร
ธงมหาราช
ถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ โปรดให้เปลี่ยนชื่อ ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์ เป็น “ธงมหาราช” ส่วนลักษณะที่ปรากฏในพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖ นั้นยังคงเดิม ธงนี้เมื่อทหารคลี่เชิญไปในกระบวนใด เป็นที่หมายว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่นั่น ในกรณีที่เป็นเรือพระที่นั่งหรือเรือรบ ต้องเชิญขึ้นบนเสาใหญ่เสมอ (รูปที่ ๗)
ต่อมาเมื่อมีพระราชบัญญัติธงออกประกาศใช้อีกฉบับหนึ่ง คือ พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๘ แบบอย่างธงประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ยังคงใช้ธงมหาราชแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และคงใช้เรื่อยมาจนกระทั่งสิ้นรัชกาล
พ.ศ.๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธงขึ้นใหม่เรียกว่า “พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๙” ตามประกาศลงวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๓ มีผลใช้ยังคับตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๔ (ขณะนั้นนับเดือนเมษายนเป็นเดือนเปลี่ยนศักราชใหม่) เป็นต้นไป และยกเลิกพระราชบัญญัติธงฉบับก่อนหน้านี้ทั้งหมด พระราชบัญญัติธงฉบับนี้ได้เปลี่ยนลักษณะธงประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ใหม่กำหนดเป็น ๒ ขนาด คือ ธงมหาราชใหญ่ และ ธงมหาราชน้อย ธงมหาราชใหญ่
 รูปที่ ๘ ธงมหาราชใหญ่
พื้นสีเหลือง ขนาดกว้าง ๑ ส่วน ยาว ๓ ส่วน (รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส) ตรงกลางเป็นรูปครุฑพ่าห์สีแดง ใช้เป็นธงประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อนายทหารคลี่เชิญไปในกระบวนใด เป็นที่หมายว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จโดยกระบวนนั้น หรือเชิญขึ้นในที่แห่งใดก็เป็นที่หมายว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ ณ ที่นั้น ถ้าประทับอยู่ ณ เรือพระที่นั่งลำใด ให้เชิญธงมหาราชขึ้นไว้ที่ยอดเสาใหญ่เป็นเครื่องหมาย
ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้มีการตราพระราชบัญญัติธงขึ้นอีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ.๒๔๗๙ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน มีผลบังคับใช้เมื่อครบ ๓๐ วัน หลังจากประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เรียกว่า “พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙” พระราชบัญญัตินี้ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติธงก่อนหน้านี้ทั้งสิ้น แต่ในหมวดธงหมายพระอิสริยยศนั้น ธงมหาราชใหญ่ยังมีลักษณะและการใช้เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และยังคงใช้มาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ (รูปที่ ๘) ธงมหาราชน้อย
 รูปที่ ๙ ธงมหาราชน้อย
ตอนต้นมีลักษณะและสัณฐานเหมือนกับธงมหาราชใหญ่ กว้างไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร มีชายต่อสีขาวแปลงเป็นรูปธงยาวเรียว ปลายกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น รวมทั้งธงมีความยาว ๑๔ ส่วน ชายธงตัดเป็นรูปแฉกอย่างหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่สองของด้านยาว ธงนี้ใช้สำหรับเชิญขึ้นที่เสาใหญ่ในเรือพระที่นั่งลำใดลำหนึ่ง เช่นเดียวกับธงมหาราชใหญ่ แต่ถ้าเวลาใดที่โปรดเกล้าฯ ให้ชักธงมหาราชน้อยแทนธงมหาราชใหญ่แล้ว ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ยิงสลุตถวายคำนับ ใน พ.ศ. ๒๔๗๙ เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติธงออกบังคับใช้ใหม่ ธงมหาราชน้อยยังมีลักษณะคงเดิม แต่ได้บอกขนาดไว้ชัดเจนคือ ตอนต้นกว้างไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร ตอนปลายกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น ส่วนยาวโดยตลอดเป็น ๘ เท่า ของตอนต้น ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึก ๓ ใน ๘ ของส่วนยาว การใช้ก็คงเดิม คือถ้าชักขึ้นแทนธงมหาราชใหญ่ หมายความว่าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้งดยิงสลุต (รูปที่ ๙)
ธงชัยราชกระบี่ยุทธ และธงชัยพระครุฑพ่าห์
 รูปที่ ๑๐ ธงชัยราชกระบี่ยุทธ
 รูปที่ ๑๑ ธงชัยพระครุฑพ่าห์
นอกจากธงมหาราชแล้วยังมีธงที่ใช้เนื่องในองค์พระมหากษัตริย์อีก ๒ อย่าง คือ ธงชัยราชกระบี่ยุทธ และธงชัยพระครุฑพ่าห์น้อย
ธงชัยราชกระบี่ยุทธ มีรูปวานรทรงเครื่องบนพื้นผ้าแดง ธงชัยพระครุฑพ่าห์ มีรูปครุฑสีแดงบนพื้นผ้าเหลือง
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๕๓ เนื่องจากเมื่อเสด็จไปทรงสมโภชพระปฐมเจดีย์ และพระราชมณเฑียร ณ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ในวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ราษฎรขุดได้แผ่นสัมฤทธิ์รูปกระบี่ ๑ รูป ครุฑ ๑ รูป ซึ่งเป็นของประจำธงชัยสำหรับกษัตริย์แต่โบราณ เจ้าพระยาศรีชัยชนินทร์ (ชม สุนทราชุน) เมื่อยังเป็นพระยาสุนทรบุรี สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย จึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงคิดเครื่องประกอบเป็นธงพระกระบี่ธุชและพระครุฑพ่าห์น้อยขึ้น ให้พระยาอนุรักษ์ราชมณเทียร (ม.ร.ว. ปุ้ม มาลากุล) เป็นผู้ตักทำให้ทันงานพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ในวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๓ ซึ่งเป็นวังตั้งน้ำวงด้ายเริ่มการพระราชพิธี โปรดให้ตั้งราวไว้ข้างข้างพระแท่นมณฑลสำหรับจะได้เชิญขึ้นผูกเสาพระแท่นมณฑลเข้าพระราชพิธีพร้อมกับพระฤกษ์จุดเทียนชัย (ธงพระกระบี่ธุชพระครุฑพ่าห์ใหญ่ของเดิมผูกเสาหลัง สำหรับน้อยนี้ผูกเสาหน้า)
ธงพระกระบี่ธุชและพระครุฑพ่าห์น้อยนี้ ภายในธงแนบผ้าขาวลงยันต์และอักษรตามแบบธงพระกระบี่ธุชและพระครุฑพ่าห์ของเดิม พระครูสุทธธรรมสมาจารย์ วัดประดู่ ได้ทำพิธีลงยันต์และอักษรที่วัดตูม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คันธงใช้ไม้ชัยพฤกษ์ ยอดหอกคร่ำทองกาบธงผูกหางนกยูงเป็นรูปแพน สอดลงในแผ่นกระบี่และพระครุฑพ่าห์ของโบราณนั้นเหมือนกันทั้งคู่
เมื่อเสด็จพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์แล้ว โปรดเกล้าฯ ให้เชิญธงพระกระบี่ธุชและพระครุฑพ่าห์ไปถวายสมเด็จกรมพระวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อทรงจารึกแผ่นสัมฤทธิ์ด้านหลังรูปพระกระบี่และพระครุฑพ่าห์ สมเด็จกรมพระวชิรญาณวโรรสทรงประกอบพิธีจารึกคาถาภายในพระอุโบสถพระพุทธชินสีห์ พระสงฆ์สวดชัยมงคล มีโหรพราหมณ์และการประโคม เสร็จแล้วเจ้าพนักงานเชิญกลับพระมหาราชวัง ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชองครักษ์เชิญธงพระกระบี่ธุชและพระครุฑพ่าห์น้อย นำเสด็จพระราชดำเนินในกระบวนราบทหารบกธงพระกระบี่ธุชไปทางขวา ทหารเรือเชิญธงพระครุฑพ่าห์น้อยไปทางซ้าย แต่ถ้าเสด็จเป็นกระบวนรถม้าจึงให้ราชองครักษ์ทหารบกเชิญทั้งสองนาย (รูปที่ ๑๐, ๑๑)
ถึง พ.ศ. ๒๔๗๒ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทรวงวังได้กราบบังคมทูลเรียนพระราชปฏิบัติระเบียบการเชิญธง โดยอ้างว่าสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประทานพระกระแสว่า ธงพระกระบี่ธุชควรอยู่ซ้าย ธงพระครุฑพ่าห์น้อยควรอยู่ขวาโดยถือหลักประเพณีเดิมซึ่งปรากฏอยู่ในตอนหนึ่งของโคลงพระราชพิธีทวาทศมาศ เมื่อความกราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ว่า เมื่อได้ความแน่ชัดถึงประเพณีเดิมแล้วก็ให้เปลี่ยนเสียให้ถูก กระทรวงวังจึงถือเป็นหลักปฏิบัติสืบมา และเรียกว่า “ธงชัยราชกระบี่ยุทธ” และ “ธงชัยพระครุฑพ่าห์”
ธงราชินี
 รูปที่ ๑๒ ธงราชินี
เป็นธงประจำพระองค์สมเด็จพระราชินีและพระอัครมเหสี เดิมใช้ธงพระเยาวราชธวัช ต่อมาเมื่อตราพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖ ออกบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๐ แล้ว จึงมีธงประจำพระองค์สมเด็จพระราชินีขึ้นเป็นครั้งแรก มีลักษณะ คือ พื้นนอกสีแดง ขนาดกว้าง ๑๐ ส่วน ยาว ๑๕ ส่วน ชายตัดเป็นแฉกอย่างหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่ ๔ แห่งด้านยาว พื้นในถัดมุมแฉกเข้ามาส่วนหนึ่งนั้นสีขาบ ขนาดกว้าง ๖ ส่วน ยาว ๘ ส่วน รูปเครื่องหมายในพื้นสีขาบเหมือนธงมหาราช คือ ตรงกลางเป็นรูปรูปโล่ตราแผ่นดินซึ่งแบ่งเป็น ๓ ช่อง ช่องบนเป็นรูปช้างไอยราสามเศียรอยู่บนพื้นเหลือง บอกนามสยามเหนือ กลาง และใต้ ช่องบ่างขวาเป็นรูปช้างเผือกบนพื้นชมพูหันหน้าเข้าข้างเสา เป็นสัญลักษณ์ถึงประเทศลาว ช่องล่างข้างซ้ายของโล่เป็นรูปกริชคดและตรงไขว้กันอยู่บนพื้นแดง เป็นสัญลักษณ์ของดินแดนฝ่ายมลายู เบื้องบนโล่มีรูปจักรและตรีไขว้กัน มีรูปพระมหาพิไชยมงกุฎอยู่เบื้องบน สองข้างโล่เป็นรูปเครื่องสูง ๗ ชั้นมีแท่นรองรับโล่และเครื่องสูงด้วย ธงนี้ใช้เป็นเครื่องหมายเฉพาะพระองค์สมเด็จพระอัครมเหสี สำหรับชักขึ้นบนเสาใหญ่ในเรือพระที่นั่ง ซึ่งสมเด็จพระอัครมเหสีได้เสด็จโดยพระอิสริยยศ เป็นที่หมายว่าได้เสด็จอยู่ในเรือลำนั้น
ต่อมา พ.ศ. ๒๔๔๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ตราพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖ ขึ้นใช้ โดยให้ยกเลิกพระราชบัญญัติธงฉบับเก่า ในส่วนที่ว่าด้วยธงประจำพระองค์สมเด็จอัครมเหสีนั้น ยังคงใช้ธงราชินีและมีลักษณะเหมือนเดิมทุกประการ (รูปที่๑๒)
ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติธงเดิมทั้งหมด และตราพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๙ ขึ้นใช้แทนเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ พระราชบัญญัติธงฉบับนี้ได้เปลี่ยนลักษณะธงประจำพระองค์สมเด็จพระราชินี และแบ่งเป็น ๒ แบบ คือ
ธงราชินีใหญ่
 รูปที่ ๑๓ ธงราชินีใหญ่
พื้นสีเหลือง ขนาดกว้าง ๑๐ ส่วน ยาว ๑๕ ส่วน ชายตัดเป็นแฉกอย่างรูปหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่ ๔ แห่งด้านยาว ที่กึ่งกลางมีรูปครุฑพ่าห์สีแดงเหมือนกับธงมหาราช ใช้เป็นเครื่องหมายสำหรับองค์สมเด็จพระราชินี สำหรับชักขึ้นบนเสาใหญ่ในเรือพระที่นั่งเมื่อเสด็จโดยพระราชอิสริยยศ ให้เป็นที่หมายว่าได้เสด็จอยู่ในเรือลำนั้น (รูปที่ ๑๓) ธงราชินีน้อย
 รูปที่ ๑๔ ธงราชินีน้อย
พื้นสีเหลือง กว้างไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร มีชายต่อสีแดงเป็นรูปยาวเรียวปลายขนาดกว้างปลายธงเท่ากับครึ่งหนึ่งของความกว้างตอนต้น (๓๐ เซนติเมตร) ชายตัดเป็นแฉกอย่างรูปหางนกแซงแซว สัดส่วนอย่างอื่นเหมือนกับธงมหาราชน้อย ธงนี้ใช้แทนธงราชินีใหญ่ซึ่งที่โปรดเกล้าฯ มิให้มีการยิงสลุต (รูปที่ ๑๔)
ภายหลังพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๙ ถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ ลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ลักษณะธงราชินีใหญ่และราชินีน้อยที่ปรากฏในพระราชบัญญัติใหม่ยังคงเหมือนเดิมที่กำหนดไว้ใน พระราชบัญญัติเดิมทุกประการ และยังคงใช้ธงทั้งสองแบบนี้มาจนถึงปัจจุบัน
ธงประจำพระองค์สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗
 รูปที่ ๑๕ ธงประจำพระองค์สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่างๆ ในระหว่างรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทางใช้ธงราชินีเป็นธงประจำรถหรือเรือพระที่นั่ง
ครั้นถึงรัชกาลปัจจุบันก็ยังคงมีสิทธิใช้ธงราชินีและเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศอื่นๆ เหมือนเดิมทุกประการ แต่ทรงพระราชดำริว่าซ้ำกับสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดแก่คนทั่วไป ดังนั้นจึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้ธงประจำพระองค์โดยเฉพาะ เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๕(1) มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นธงสีชมพูตามสีวันอังคารซึ่งเป็นวันพระราชสมภพ กลางธงปักอักษรพระปรมาภิไธยย่อ รพ. ไขว้กัน สีชมพูขลิบเขียว มีชฎาพระมหากฐินสีเหลืองอยู่เบื้องบน (รูปที่ ๑๕)
--------------เชิงอรรถ----------------
1) สำเนาหนังสือหม่อมเจ้าผ่องสัมผัสมณี จักรพันธุ์ ราชเลขานุการประจำพระองค์สมเด็จพระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ ถึงเลขาธิการพระราชวัง ลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๒
Create Date : 25 มิถุนายน 2550 |
Last Update : 30 มิถุนายน 2551 1:15:29 น. |
|
2 comments
|
Counter : 5788 Pageviews. |
 |
|