|
Farewell
จริงๆ blog นี้ก็ตายไปนานแล้ว แต่เผื่อมีใครหลงเข้ามาดู ตอนนี้เจ้าของ blog พยายามชุบชีวิต blog ใหม่ แต่ย้ายที่ไปแล้วจ้ะ ขอปิด blog นี้อย่างเป็นทางการ
ที่อยู่บ้านใหม่
//varasorn.spaces.live.com/
Create Date : 02 มกราคม 2550 | | |
Last Update : 2 มกราคม 2550 19:10:33 น. |
Counter : 938 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
Hotel Rwanda
How come I don't know???
เคยไหมเวลาดูหนังสักเรื่องแล้วรู้สึกว่าสิ่งที่กำลังดูอยู่มันเป็นเกินกว่าหนังไปแล้ว ผมเคยดูหนังบางเรื่องที่ดีๆจนตัวเองคิดไปอย่างนั้น หรือหนังอย่าง The Matrix ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเกินกว่าหนัง เมื่อมันกลายเป็นเหมือนลัทธิข้ามชาติลัทธิหนึ่ง บางคนบอกว่า The Thin Red Line หรือหนังอีกหลายๆเรื่อง เป็นเหมือนบทกวีที่สวยงาม กับเรื่องนี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่ามันเป็นมากกว่าหนังไปแล้ว...ในอีกแบบหนึ่งที่แตกต่าง เรื่องนี้ผมคงพูดเกี่ยวกับคุณภาพขององค์ประกอบต่างๆที่เป็นหนังไม่ได้มากนัก แต่คงเป็นเรื่องราวในหนัง และเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงมากกว่า อย่างไรก็ตาม จะพยายามไม่เปิดเผยเนื้อเรื่องที่ทำให้ผู้อ่านดูสนุกน้อยลงอย่างดีที่สุด (ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเรียกว่าดู สนุก ได้หรือเปล่า)
Hotel Rwanda บอกเล่าเรื่องราวโหดร้ายที่สร้างวีรบุรุษ ว่าด้วยการสังหารหมู่ในรวันดา ประเทศในทวีปแอฟริกาซึ่งชาวเผ่าฮูตูฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเผ่าทุตซี เมื่อ Paul Rusesabagina ผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมในรวันดา ได้ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวทุตซีให้หลบซ่อนอยู่ในโรงแรมของเขานับพันคน หนังเรื่องนี้ชนะรางวัลขวัญใจมหาชนจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโต ซึ่งนับเป็นเทศกาลใหญ่ของโลกเทศกาลหนึ่ง
ที่น่าตกใจก็คือเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อนนี่เอง แต่ชาวโลกโดยทั่วไปกลับไม่ได้รับรู้ถึงความรุนแรงครั้งนี้กันเท่าไหร่นัก เท่าที่ทราบในตอนนี้ มันคงเป็นสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในโลก มีคนตายราวๆ 8 แสนคน มากกว่าที่นาซีฆ่าชาวยิวในสงครามโลกราว 3 เท่า และเหตุการณ์ที่กินเวลาประมาณ 3 เดือนก็ทำให้ถ้านับจำนวนคนที่ถูกฆ่าต่อวัน มากกว่าเหตุการณ์สงครามโลกครั้งนั้น 5 เท่า ผมเองในสมัยนั้นก็โตพอจะรู้เรื่องรู้ราวและติดตามข่าวสารรอบโลกทั่วไปบ้างแล้ว แต่กลับจำไม่ได้ว่าเคยได้ยินเรื่องอย่างนี้มาก่อนเลย และถ้าเคยก็คงเป็นการอ่านหัวข้อข่าวเล็กๆ หรือดูรายงานข่าวสั้นๆทั่วๆไป จนไม่ได้ใส่ใจจะจดจำเท่าไหร่นัก คงต้องยอมรับตรงนี้ก่อนว่าผมเป็นคนที่ติดตามข่าวค่อนข้างน้อย และปกติก็ไม่ได้มีความสนใจในเรื่องทางการเมืองมากนัก แต่จากที่ได้คุยกับเพื่อนบางคนที่สนใจเรื่องพวกนี้ ก็ไม่มีใครรู้เรื่องนี้อย่างจริงจัง บางคนไม่เคยได้ยินเช่นกัน บางคนก็เคยได้ยินผ่านๆ แต่ไม่รู้ว่าเรื่องราวมันรุนแรงขนาดไหน
ขอแนะนำว่าใน Bioscope เล่มล่าสุด (หน้าปกแดงแจ๋รูปน้องพลอยในร่างของบุปผาชูสองนิ้ว) มี Footnote ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้อยู่ค่อนข้างละเอียด เขียนโดยพี่เต้ ไกรวุฒิ หัวหน้ากองบรรณาธิการของหนังสือ และผมเชื่อว่าตอนนี้เมื่อหนังเรื่องนี้ออกฉายและได้รับคำชมมาจากทั่วโลกแล้ว เรื่องราวเหล่านี้คงมีให้อ่านมากขึ้นถ้าตั้งใจค้นหาในอินเตอร์เน็ต หรือลองไปตามเว็บไซต์ต่างประเทศเกี่ยวกับหนังใหญ่ๆที่มีที่ให้ผู้ใช้มาโต้เถียงพูดคุยกันอย่างเช่น //www.imdb.com เป็นต้น
ขอยกตัวอย่างบางส่วนของเหตุการณ์มาเล่า ขออนุญาตพี่เต้, นิตยสาร Bioscope และขอขอบคุณไว้ตรงนี้เลยนะครับ (นี่เป็นเพียงแค่ย่อๆ) ใครที่อยากดูหนังก่อนค่อยมาอ่าน ก็ข้ามส่วนต่อไปไปก่อนแล้วกันครับ (แต่คิดว่ามันไม่ได้ Spoil อะไรมากนักนะครับ ก็แล้วแต่)
สาเหตุของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นี้คร่าวๆ เมื่อหลังสงครามโลก ประเทศรวันดาซึ่งประกอบด้วยชนเผ่าฮูตูผู้เป็นเผ่าพื้นเมืองและมีจำนวนมากกว่า และชนเผ่าทุตซีซึ่งเป็นผู้อพยพย้ายถิ่นฐานจากเอธิโอเปียได้ตกเป็นของอาณานิคมของเบลเยียม ในระหว่างการปกครอง เบลเยียมกลับไปผูกมิตรและให้อำนาจทางการเมืองและสังคมแก่ชาวเผ่าทุตซีมากกว่า โดยสองเผ่าจะมีรูปร่างลักษณะแตกต่างกัน และทหารเบลเยียมได้แบ่งแยกชาวเผ่าทั้งสองเป็นลายลักษณ์อักษรในบัตรประชาชน รัฐบาลทุตซีสมัยนั้นก็กดขี่ข่มเหงชาวฮูตูอยู่ ทำให้ชาวฮูตูต้องทนลำบากยากแค้น จนในที่สุดได้ก่อการปฏิวัติขึ้นเพื่อต่อต้านอำนาจของเบลเยียมและชนเผ่าทุตซี และจบลงด้วยชัยชนะของชนเผ่าฮูตู ส่วนชาวทุตซีจำนวนมากได้หนีไปประเทศอูกันดา และตั้งกลุ่มกองกำลังแนวหน้ารักชาติรวันดา (RPF) ขึ้นเพื่อต่อต้านอำนาจชาวเผ่าฮูตู
จากนั้นประธานาธิบดี จูเวนัล ฮับยาริมานาของรัฐบาลฮูตู ได้เลือกการเจรจาสันติภาพกับชาวเผ่ารวันดาเพื่อยุติความรุนแรงระหว่างเผ่า แต่ทางเลือกของประธานาธิบดีดูจะไม่เป็นที่พอใจของคนใหญ่คนโตในรัฐบาลหลายคน และหลังการเซ็นสัญญาสงบศึกนั่นเอง ก็มีจรวดมิซไซล์ลึกลับพุ่งตรงไปยังเครื่องบินที่กำลังจะลงจอดของท่าประธานาธิบดี ปลิดชีวิตของท่านผู้นำทันที ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จากชาวฮูตูที่โกรธแค้น (แต่เชื่อกันว่าผู้สังหารท่านประธานาธิบดี น่าจะเป็นลูกน้องของท่านเอง ผู้ซึ่งไม่พอใจกับการเซ็นสัญญาสันติภาพ)
ไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังจากนั้น เหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้นเมื่อทหารฮูตูรวมถึงประชาชนบางส่วนออกมาไล่ฆ่าชาวเผ่าทุตซี ซึ่งส่วนนี้คือจุดที่หนังเริ่มนำเสนอ การฆ่ามีเป้าหมายไปที่ชายชาวทุตซีทุกคนตั้งแต่เด็กตัวเล็กๆถึงชายชรา ด้วยเหตุผลว่าคนพวกนี้อาจกลายไปเป็นกลุ่มกบฏ RPF ได้ ส่วนผู้หญิงถูกนำมาข่มขืน และพวกที่รอดตายจำนวน 2 ใน 3 ก็ถูกทิ้งไว้กับโรคเอดส์ นอกจากนั้น ชาวฮูตูที่รักสันติก็ถูกฆ่าด้วยเช่นกัน โดยคาดว่ามีชาวทุตซีถูกฆ่าตายประมาณ 750,000 คน และชาวฮูตูผู้รักสันติถูกฆ่าตายประมาณ 50,000 คน
สิ่งที่น่าตกใจยิ่งคือในเวลานั้น องค์กรสันติภาพต่างๆได้รับการพัฒนาจนรุ่งเรืองแล้ว และน่าจะหยุดเหตุการณ์นี้ได้ แต่ความจริงและสิ่งที่จะได้เห็นในหนังก็คือ ไม่มีองค์กรใดๆ หรือประเทศอะไรยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในการยุติเหตุการณ์ครั้งนี้ ในช่วงแรกประเทศผู้นำคืออเมริกา, ฝรั่งเศส, เบลเยียม และทางสหประชาชาติต่างหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ในการบรรยายสถานการณ์ แต่สิ่งที่พวกเขาทำในขณะที่สามารถยับยั้งเหตุการณ์นี้ได้ กลับเป็นการอพยพเฉพาะคนของตัวเองออกจากประเทศ และปฏิเสธการให้ความช่วยเหลืออื่นๆ ทหารของสหประชาชาติไม่สามารถยิงใครได้เพราะไม่ได้รับคำสั่ง และทำหน้าที่ได้แค่เพียงยิงสุนัขที่จะมากัดกินศพของชาวรวันดาเท่านั้น!!! (มีหนังอีกเรื่องชื่อ Shooting Dogs เพิ่งออกฉายปีนี้ ไม่แน่ใจว่าบ้านเราจะได้ดูกันหรือไม่อย่างไร ที่เกี่ยวกับมุมมองของคนขาวในเหตุการณ์นี้ นอกจากนั้น ในช่วงปีที่แล้วถึงปีนี้ มีหนังและสารคดีมากมายที่ออกมาเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้และเพิ่งทำให้ชาวโลกรู้ซึ้งถึงความรุนแรงครั้งนี้กันมากขึ้น ทั้งๆที่ก่อนนั้นแทบจะไม่มีหนังเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย โดยอาจมีสารคดีเพียงเรื่องสองเรื่อง)
มีนักศึกษาชาวรวันดาสรุปเรื่องราวได้อย่างเห็นภาพรวมว่า พวกอเมริกากลัวจะเปลืองเงิน พวกเบลเยียมกลัวจะเสียหน้า ส่วนฝรั่งเศสกลัวจะเสียเพื่อน (ฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลฮูตูและถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ส่งความช่วยเหลือด้านการทหารทั้งก่อนและระหว่างมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์)
เรื่องราวต่อจากที่มีในหนังก็คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทุตซียุติลง 3 เดือนให้หลัง เมื่อกลุ่ม RPF เข้ายึดกรุงคิกาลีจนรัฐบาลฮูตูและชาวฮูตูราว 2 ล้านคนอพยพไปอยู่คองโกโดยที่ขณะนั้นชาวทุตซีที่มีชีวิตรอดมีอยู่ราว 130,000 คนเท่านั้น แต่นั่นไม่ได้ยุติความรุนแรง เมื่อทหาร RPF ก็ไล่สังหารชาวฮูตูเพื่อเป็นการแก้แค้น โดยใช้ให้เด็กชาวฮูตูไปตามหาพ่อแม่ที่หนีเข้าซ่อนตัวตามป่าเขา เพื่อนำตัวมาสังหาร นอกจากนั้นชาวทุตซีบางส่วนก็อพยพไปยังคองโกด้วย และผู้อพยพก็ยังถูกสังหารจากทหารคองโกอยู่แม้กระทั่งในปัจจุบัน
นอกจากนั้นหลังเกิดเหตุ รวันดาประสบปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมจนถึงปัจจุบันซึ่งถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ยากจนเป็นอันดับ 3 ของโลก และได้มีการลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รุนแรงครั้งนั้นติดต่อกันมายาวนาน ซึ่งที่น่าตกใจอีกอย่างก็คือในเดือนมกราคมที่ผ่านมา การตัดสินผู้กระทำผิดยังไม่จบสิ้น โดยเพิ่งจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าชาวรวันดา 1 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 8 ของประชากรทั้งประเทศ จะต้องขึ้นศาลทีละคนเนื่องจากมีส่วนพัวพันกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งนั้น และมีคนประมาณ 8 แสนคนติดคุกอยู่ โดยเชื่อกันว่าคงจะมีหลายคนที่เสียชีวิตไปก่อนได้รับการตัดสิน
เหตุการณ์ปัจจุบันยังคงต้องเรียกว่าคุกรุ่น เพราะชาวทุตซีหลายคนยังมีความเชื่อว่าการจะอยู่รอดก็คือต้องปราบปรามชาวฮูตู ส่วนชาวฮูตูก็เชื่อว่าพวกเข้าคงโดนประทับตราบาปจากเหตุการณ์นั้นไปอีกนารน โดยไม่มีใครสนใจความยากแค้นของเขาในสมัยที่รัฐบาลทุตซีปกครองประเทศเลย จึงเป็นไปได้ว่าอาจยังมีเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้นอีกในอนาคต
พูดถึงตัวหนัง สิ่งที่โดดเด่นอีกอย่างนอกจากเรื่องราวคงเป็นการแสดงที่ได้ชิงออสการ์ของ Don Cheadle ในบท Paul ผู้จัดการโรงแรมชาวฮูตู ผู้ที่เราผ่านตาในฐานะตัวประกอบเล็กๆมายาวนาน กับบทที่เด่นและได้แสดงฝีมือเต็มที่ครั้งแรก ซึ่งการแสดงของเขาก็นับว่าสมควรอย่างยิ่งที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ นอกจากนั้นบทภรรยาของ Paul ที่ชื่อ Tatiana ผู้ซึ่งเป็นชนเผ่าทุตซี ก็เล่นได้เด็ดขาดโดย Sophie Okonedo จนได้ชิงออสการ์สมทบหญิงเช่นกัน รวมถึงบทภาพยนตร์ที่ได้ชิงบทภาพยนตร์ดั้งเดิมด้วย นอกจากนั้นผมเชื่อว่าตัวภาพยนตร์เองก็คงพลาดการเข้าชิงไปแค่เพียงฉิวเฉียดเท่านั้นเอง
แต่อย่างที่กล่าวไว้ในช่วงต้น นอกจากการแสดงที่โดดเด่น และเรื่องราวที่น่าตกใจ ผมคงไม่สามารถกล่าวถึงองค์ประกอบแต่ละส่วนของหนังได้ว่าแต่ละส่วนดีเพียงใด เพราะแค่นั้นก็ทำให้ผมไม่มีความสนใจจะสังเกตอย่างอื่นแล้ว และเป็นการดูหนังที่เหมือนตกเข้าไปอยู่ในเรื่องราวนั้นอย่างเต็มตัว ผมบอกได้แค่หนังเรื่องนี้เป็นหนังดีมากแน่ๆ และเป็นหนังที่ต้องดูเลยทีเดียว คงต้องยกความดีส่วนใหญ่ให้ผู้กำกับ Terry George ในการกำกับหนังใหญ่ครั้งแรก โดยมีเครดิตผลงานเด่นๆคือการเป็นผู้เขียนบทคู่บุญของ Jim Sheridan โดยเฉพาะเรื่อง In the Name of the Father
บทเด่นของหนังนอกจากที่ว่ามายังมีบทของนายพล Oliver (รับบทโดย Nick Nolte) นายพลของสหประชาชาติที่ประจำการในรวันดา โดยเขาได้พยายามช่วยเหลือชาวรวันดาอย่างมากที่สุดแล้ว แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากเบื้องสูงแต่อย่างใด ว่ากันว่าบทนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดต่างๆมาจากชีวิตจริงของนายพล Roméo Dallaire ผู้ซึ่งหลังจากได้พบเห็นความเลวร้ายเหล่านั้นมา ได้พยายามทำการฆ่าตัวตายมากกว่าหนึ่งครั้ง ซึ่งในเทศกาลหนัง Sundance ที่เพิ่งผ่านมาไม่นานนี้ ซึ่งนับว่าเป็นอีกเทศกาลที่ได้รับการยอมรับว่ามีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆของโลกภาพยนตร์ ได้มีสารคดีเรื่อง Shake Hands with the Devil: The Journey of Roméo Dallaire เข้าฉายและเข้าชิงในสายประกวด รวมถึงชนะรางวัลสารคดีขวัญใจมหาชนมาเช่นกัน ว่ากันว่าหลังจากหนังฉายจบ ผู้ชมได้แต่อึ้งตะลึง บางคนเอาแต่ร้องไห้ แล้วท้ายที่สุดก็ลุกขึ้นปรบมือกันยาวนาน
ในหนังมีฉากที่ผมชอบมากๆคือฉากการลี้ภัยของคนขาวจากโรงแรมที่เกิดเรื่อง คงต้องเรียกว่าเป็นฉากที่เจ็บปวดจริงๆ เพราะเราแทบจะว่าอะไรผู้คนเหล่านั้นไม่ได้เลย สิ่งที่เราเห็นก็คือเกือบทุกคนต่างอยากช่วยชาวรวันดาเหล่านั้น บางคนมีความผูกพันกันลึกซึ้ง แต่ก็ต้องแยกจากกันโดยไม่สามารถทำอะไรได้เลย นอกจากนั้นสิ่งที่นักข่าวอังกฤษคนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ (รับบทโดย Joaquin Phoenix) พูดขึ้น ทำให้ผมแทบสะอึกเพราะรู้สึกว่าตัวเองก็โดนตำหนิ และมันก็เป็นเรื่องจริงแบบที่ปฏิเสธไม่ได้เลย
อีกหลายๆสิ่งที่ได้รับจากหนังก็คือ ผมรู้สึกเหมือนมนุษย์เกิดมากับความงี่เง่า ทั้งเรื่องที่จุดเริ่มต้นดูไร้เหตุผลกลับนำมาซึ่งความรุนแรงเลวร้ายเกินบรรยาย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากวิธีที่หนังบอกเล่าเหตุผลและวิธีของการแบ่งแยกชาวเผ่าทั้งสองออกจากกัน), ความงี่เง่าของประเทศและองค์กรผู้มีอำนาจที่ปล่อยให้เรื่องราวบานปลายขนาดนั้นโดยไม่ได้ให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสม (จากการคุยกับเพื่อนเรื่องนี้ เค้าได้ให้เหตุผลที่ง่ายๆแต่น่าจะจริงว่า รวันดามันเป็นประเทศห่างไกลในแอฟริกา ที่ไม่ได้มีทรัพยากรอะไรจะทำเงินให้ประเทศมหาอำนาจพวกนั้นได้เท่าไหร่ เลยไม่มีใครสนใจ), ความงี่เง่าของการแบ่งแยกเผ่าพันธุ์ของชาวโลก คนขาวกับคนดำ, คนดำด้วยกันเองแต่ต่างเผ่า, คนดำเผ่าเดียวกันเองแต่ต่างทัศนคติ ในหนังเราจะได้ยินคำว่าแมลงสาบ ซี่งเป็นคำที่พวกฮูตูที่ใช้ความรุนแรงเรียกพวกทุตซีตลอดหลายสิบครั้ง
นอกจากนั้นผมคิดว่าหนังเรื่องนี้ได้นำเสนอเรื่องราวของความอ่อนแอและความเข้มแข็งของมนุษย์ออกมาได้อย่างสุดโต่งในเวลาเดียวกัน ฉากบางฉากมีการเปลี่ยนอารมณ์ที่รวดเร็วแต่ก็ดูจริง และพาคนดูไปด้วยได้เป็นอย่างดี ทั้งการเปลี่ยนจากความอุ่นใจเป็นความเจ็บปวดโศกเศร้า หรือการที่บทมีคำพูดหรือการกระทำที่ออกติดตลกของตัวละครลงไปในช่วงเวลาที่ออกจะบีบคั้น หรือตึงเครียดอยู่ และบางครั้งในขณะที่คนดูยังหัวเราะตามในลำคอ ก็กลับมาสู่ความตึงงเครียดอีกครั้ง
อีกสิ่งที่ทำได้ดีก็คือการทำให้หนังที่เนื้อเรื่องเต็มไปด้วยความรุนแรงเช่นนี้ได้รับแค่เรต PG-13 ในอเมริกา ซึ่งน่าจะเป็นจุดประสงค์ที่ทำให้หนังได้คนดูมากขึ้นจากกลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งก็ดูเนื้อหาเป็นเรื่องเหมาะสมที่น่าจะต้องศึกษารับรู้กันอยู่ ภาพในหนังไม่ได้มีความรุนแรงถึงกับมากนักขนาดที่ทนดูไม่ได้ เพียงแต่มันสื่อได้ถึงความเลวร้ายของเรื่องราวจนคนดูรู้สึกไปกับเรื่องที่ดูอยู่ได้อย่างเต็มที่
หลายๆคนอาจเปรียบเทียบหนังเรื่องนี้กับ The Killing Fields ซึ่งเป็นหนังว่าด้วยการฆ่าล้างในประเทศกัมพูชา แต่ผมยังไม่ได้ดูเรื่องนั้นครับ คงเปรียบเทียบได้กับ Schindlers List ที่ว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยนาซีในค่ายกักกันสงครามโลก แต่สิ่งที่แตกต่างก็มีเห็นได้ชัดหลายอย่าง อย่างแรกคือในขณะที่เรื่องราวการฆ่าในสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นเป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วโดยทั่วไป แต่เหตุการณ์ในรวันดากลับไม่ได้มีการรับรู้มากนัก หรืออาจจะรับรู้ในฐานะเป็นเรื่องห่างไกลที่ได้ยินผ่านๆ ทั้งๆที่ความรุนแรงนั้นไม่ได้น้อยกว่าเลย ซึ่งทำให้การนำเสนอใน Schindlers List เหมือนจะเป็นการเล่าเรื่องให้คนดูฟังและแสดงภาพให้เห็นเฉยๆ ในขณะที่ Hotel Rwanda มีหลายๆครั้งที่คนดูก็รู้สึกเหมือนถูกวิพากษ์วิจารณ์พร้อมๆกันไปด้วย และน่าจะส่งผลให้คนที่ได้ดูกระตือรือร้นจะทำอะไรมากขึ้น
เรื่องที่สองคือในขณะที่ Oscar Schindler เป็นวีรบุรุษที่อยู่ในฐานะทางสังคมค่อนข้างสูง มีอำนาจในการช่วยเหลือโดยที่ตัวเองไม่ได้เสี่ยงต่ออันตรายจากเหตุการณ์นัก แต่ Paul Rusesabagina นับว่าเป็นผู้ที่ต้องตกอยู่ในอันตรายจากเหตุการณ์ด้วยโดยตรง และจากในหนังจะเห็นว่ามีหลายๆครั้งที่เขาก็เฉียดตายชนิดเส้นยาแดงผ่าแปดอยู่เหมือนกัน
นอกจากนั้นคงต้องบอกว่าเรื่องราวและภาพใน Hotel Rwanda ออกจะดูดิบกว่า เป็นจริงมากกว่า ให้ความรู้สึกว่าเป็นหนังน้อยกว่า โดยจุดเด่นอย่างหนึ่งของ Schindlers List น่าจะเป็นการใช้เทคนิคของภาพได้อย่างโดดเด่น ในการเป็นหนังขาว-ดำ ที่มีฉากสำคัญของหนังที่เด็กผู้หญิงใส่เสื้อสีแดง และใช้การถ่ายภาพที่สวยงาม ขณะที่ Hotel Rwanda ใช้ภาพที่ค่อนข้างไร้การประดิดประดอยในแง่ของมุมกล้องที่จัดวางมากมายนัก และดำเนินเหตุการณ์โดยคนดูจะอยู่ในจุดเดียวกับพระเอกตลอดเวลา ซึ่งทำให้คนดูรู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์มากกว่า
สิ่งที่หนังอาจจะขาดไปก็คือการให้รายละเอียดในส่วนของเหตุผลที่ทำให้ชาวฮูตูโกรธแค้นถึงขนาดทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทุตซีอย่างโหดเหี้ยมขนาดนั้น กล่าวคือหนังดูจะกำหนดให้ชาวฮูตูเหล่านั้นเป็นผู้ร้ายในแบบที่เลวร้ายเต็มร้อย ไม่มีอะไรที่คนดูจะเห็นใจอยู่เลย หลายๆครั้งดูเหมือนคนเหล่านั้นเป็นเครื่องจักรสังหารอะไรสักอย่างด้วยซ้ำ ซึ่งอย่างแรกอาจจะเป็นเพราะเวลามีไม่พอที่จะเล่าเรื่องทั้งหมดอย่างละเอียด จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ในหนังเป็นเพียงแค่ส่วนที่อาจจะเรียกได้ว่าคับขันรุนแรงที่สุด หรือเป็นไคลแม็กซ์ของเรื่องราวของรวันดาทั้งหมดนั่นเอง แต่ถ้าจะคิดอีกแง่หนึ่งซึ่งหนังทำสำเร็จสำหรับผม คือการกระตุ้นให้คนดูอยากรู้ว่าทำไมคนเหล่านั้นถึงทำได้ขนาดนั้นราวกับอีกฝ่ายไม่ใช่มนุษย์และตัวเองก็เหมือนไม่มีความเป็นมนุษย์เหลืออยู่ และกลับมาหาข้อมูลเพิ่มเติมเอาเอง
บทสรุปของหนังเรื่องนี้สำหรับผมคือมันอาจไม่ใช่หนังที่ดีที่สุด แต่เท่าที่ผมคิดทบทวนดูน่าจะเรียกได้ว่า Hotel Rwanda เป็นหนังในแบบที่ทุกคนควรจะดู หลายๆคนต้องดู และไม่น่าพลาดมากที่สุด และน่าจะยังทำสำเร็จในการทำให้คนดูไปหาข้อมูลต่อไปและอาจจะทำอะไรสักอย่างมากที่สุด เพราะมันช่างน่าตกใจยิ่งที่เหตุการณ์รุนแรงขนาดนี้เกิดในระยะเวลาที่ผมน่าจะรับรู้และติดตามข่าว แต่ผมกลับไม่เคยรับรู้เรื่องราวเหล่านั้นเลย โดยถ้าจำไม่ผิดผมน่าจะเคยอ่านพบว่าตัวละครเด่นๆทั้งหมดในหนัง นอกจากนายพล Oliver ที่มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดต่างๆแล้ว มีตัวตนอยู่จริง และแทบจะไม่ต้องดัดแปลงอะไรกันอีกเลยในการที่กลายมาเป็นบทหนัง
บัดนี้ 10 ปีผ่านไป เมื่อ Hotel Rwanda สร้างชื่อในเทศกาลหนังและประเทศต่างๆที่หนังเข้าฉาย รวมถึงมีหนังหลายๆเรื่องที่ออกมาเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนั้น Paul Rusesabagina ซึ่งปัจจุบันไปตั้งรกรากในประเทศเบลเยียมกลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงจนมีนักข่าวตามไปสัมภาษณ์มากมาย สิ่งที่ Paul บอกซ้ำๆก็คือเหตุการณ์แบบเดียวกับที่เกิดในรวันดา ทุกๆวันนี้ก็ยังคงเกิดอยู่ในคองโก และก็ยังไม่เห็นจะมีประเทศหรือองค์กรที่มีอำนาจพอจะช่วยเหลือได้ลงมือทำอะไรจริงๆจังๆตามที่ควรนักอยู่ดี และโลกควรจะรู้ได้แล้วว่าชีวิตคนแอฟริกันก็มีค่าไม่ได้น้อยไปกว่าชีวิตชาวตะวันตกผิวขาวหรือใครต่อใครในโลกเลย
คงต้องขอบคุณ พี่เต้ ไกรวุฒิ จุลพงศธร หัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสาร Bioscope อีกครั้งจริงๆล่ะครับ เพราะเอาข้อมูลมาจากบทความที่พี่เค้าเขียนอยู่มากเลย หลังจากดูแล้วได้พูดคุยกับพี่เค้านิดหน่อย ผมก็บอกว่าหนังดีนะ พี่เค้าก็บอก นั่นสิ ถ้าใครบอกหนังเรื่องนี้ไม่ดีนี่ดูจะใจร้ายมาก ผมก็ว่าอย่างงั้น คิดว่าถ้าจะมีคนไม่ชอบคงเป็นเพราะไม่ชอบดูหนังแนวนี้เลยมากกว่า หรือไม่อยากได้รับความเครียดอะไรจากการดูหนังเลยมั้ง และคงต้องขอขอบคุณทีมงาน Bioscope ด้วยที่จัดรอบพิเศษให้ผมได้ชมหนังที่ไม่น่าพลาดอย่างยิ่งเรื่องนี้ ผมคงจะพาเพื่อนไปชมในโรงอีกอย่างน้อยรอบนึงล่ะครับ แล้วก็คงบอกต่อๆให้ใครหลายคนได้ไปชมหนังดีๆเรื่องนี้กันอีก
สำหรับใครที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้ ถ้ายังไม่ได้ไปชม ก็ไปเถอะครับ อยากให้ดูจริงๆเรื่องนี้
Create Date : 11 มีนาคม 2548 | | |
Last Update : 11 มีนาคม 2548 14:29:31 น. |
Counter : 5965 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
Ray
You've got to listen...
ผมไม่ได้รู้จักตัวตนของ Ray Charles จริงๆจังๆก่อนที่จะดูหนังเรื่องนี้ อาจจะเคยได้ยินชื่อมาบ้างผ่านๆ แต่ที่แน่ๆ ตลอดเวลาที่ดูหนังเรื่องนี้ มีบางเพลงในหนังที่ผมรู้จัก และต้องคิดในใจว่า อ๋อ เพลงนี้นี่เอง และอีกหลายๆเพลงที่คิดว่าคุ้นๆเหมือนต้องเคยฟังมาก่อนแน่ๆ และด้วยอะไรหลายๆอย่างที่ประจวบเหมาะ ทำให้หนังเรื่อง Ray ทำรายได้ไปในระดับที่เรียกว่าประสบความสำเร็จในอเมริกา และกลายเป็นหนึ่งในห้าชื่อสุดท้ายที่ได้เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของออสการ์ (ถึงที่สุดแล้วคงจะได้แค่เข้าชิง) และอีกหลายๆสาขา ส่วนหนึ่งก็คงเพราะคุณภาพของตัวหนังเอง, ความยิ่งใหญ่ของเรื่องราวของศิลปินตาบอดผู้เป็นอัจฉริยะระดับโลก, และการที่ตัว Ray Charles เอง เพิ่งจะเสียชีวิตไปก่อนหน้าหนังเรื่องนี้ได้ฉายแค่ไม่กี่เดือนเท่านั้นเอง และที่แยกออกจากหนังเรื่องนี้ไม่ได้เลยก็คือ การแสดงที่ต้องเรียกว่าอยู่ในระดับที่เกิดมาเพื่อรับบทนี้ของ Jamie Foxx นั่นเอง
ดูจบแล้ว ผมมั่นใจเหลือเกินว่าคงไม่มีใครแย่งออสการ์นำชายจาก Jamie Foxx ได้อีกแล้ว และต่อให้นำนักแสดงนำชายที่ชิงออสการ์ทั้งหมดใน 5 ปีให้หลังมาแข่งกันใหม่ จะเรียกว่าออสการ์นำชายในรอบ 5 ปี ผมก็คิดว่า Jamie Foxx จากเรื่องนี้จะชนะรางวัลไปไม่ยากเย็นนัก พูดจริงๆคือหลังจากดูหนังจบและกลับบ้าน ผมเข้า web เพื่อนั่งดูรายชื่อผู้เข้าชนะและผู้เข้าชิงนำชายของออสการ์ย้อนหลังไปเรื่อยๆเพื่อดูว่ามีใครที่เคยให้การแสดงระดับนี้บ้าง และผมพอจะยอมรับได้ว่าถ้าไม่ใช่ก็ใกล้เคียงก็ตอนผมเจอชื่อ Geoffrey Rush ที่เป็นผู้ชนะจากเรื่อง Shine ในออสการ์ปี 1997 (สำหรับหนังปี 1996) ซึ่งรับบทนักเปียโนที่มีความผิดปกติในหนังชีวประวัติเหมือนกันเสียด้วย
คงจะไม่ได้เป็นการกล่าวเกินเลยไปนัก ถ้าผมจะบอกว่า Foxx แสดงแบบแทบจะไม่เหมือนกำลังแสดงอยู่ แต่เหมือนเขา กลายร่าง ไปเป็น Ray Charles เลย (จริงๆก็พูดไม่ได้เต็มปากล่ะครับ ก็อย่างที่บอกว่าไม่ได้รู้จัก Ray Charles มากนักก่อนที่ดู แต่อยากจะยืนยันเฉยๆว่า Foxx เล่นดีขนาดไหน และหลายๆคนที่รู้จัก Ray Charles มาก่อน ก็ยืนยันกับผมว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงๆ) และเพียงแค่เพื่อจะได้ชมการแสดงของเขา ก็เกินกว่าคุ้มค่าแล้วที่ได้ตีตั๋วเข้าไปดูหนังเรื่องนี้
ถึงจะเห็นได้ชัดว่าถ้าปราศจาก Foxx ไป หนังเรื่องนี้คงไม่มีวันเป็นได้ในระดับเดียวกับที่มันเป็นอยู่ แต่คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่างานด้านอื่นๆอีกมากที่มีผลต่อความสำเร็จของ Ray ในระดับที่ควรค่าแก่การยกย่อง ทั้งการกำกับและตัดต่อ ซึ่งทำให้ฉากแสดงและอัดเสียงดนตรีต่างๆ ซึ่งน่าจะกินเวลาเกินครึ่งของหนัง ออกมาเฉียบขาด, ชวนติดตาม, ได้อารมณ์เป็นอย่างดี (ทั้งการกำกับโดย Taylor Hackford และการตัดต่อล้วนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์เช่นกัน) ที่น่าสังเกตก็คือในขณะที่ฉากแบบเดิมๆซ้ำๆ ปรากฏอยู่ตลอดเวลาที่หนังดำเนินเรื่อง ซึ่ง Ray มีความยาวถึง 152 นาที แต่ผมกลับรู้สึกไม่ซ้ำ และไม่น่าเบื่อเลยสักนิด บทพูดต่างๆในหนังก็เรียกว่าทำได้ดี และทำให้มีฉากหลายๆฉากที่น่าประทับใจเป็นพิเศษ รวมถึงประเด็นต่างๆทั้งเรื่อง ยาเสพย์ติด, ผู้คนที่เอารัดเอาเปรียบศิลปินตาบอดผู้นี้, ชีวิตโลดโผนในเรื่องผู้หญิงของ Ray Charles, และชีวิตครอบครัวที่เรียกไม่ได้ว่าราบรื่นของเขา ประเด็นทั้งหมดถูกถ่ายทอดออกมาโดยหลีกเลี่ยงการตัดสินเด็ดขาดเกินไป แต่เหมือนเป็นการเล่าให้ฟัง มากกว่า รวมถึงเรื่องราวชีวิตผู้คนใกล้ชิดของ Ray ทั้งภรรยา, ผู้จัดการส่วนตัว และนักดนตรีในวงที่เป็นเพื่อนสนิท และผู้หญิงบางคนของ Ray ก็ทำได้มีมิติและน่าติดตามดีทีเดียว
ผู้กำกับเคยบอกไว้ว่าน่าเสียดายที่ Ray ไม่มีโอกาสอยู่เห็นผลลัพธ์สุดท้ายที่กลายเป็นหนังเรื่องนี้ แต่ตลอดเวลาที่สร้าง ก็ได้มีการปรึกษา, พูดคุยกับ Ray โดยตลอด และสิ่งหนึ่งที่ผมเห็นด้วยก็คือคำพูดที่เขาบอกว่า ถึงแม้หนังเรื่องนี้จะไม่ได้นำเสนอแต่เรื่องดีๆของ Ray แต่เชื่อว่าเขาคงจะไม่ผิดหวังและรู้สึกภูมิใจไปกับหนังเรื่องนี้แน่นอนครับ
ไม่รุ้ใครยังไม่ได้ดูจะไปดูทันรึเปล่านะ ปลายโปรแกรมซะแล้ว แต่สำหรับคนชอบเสียงดนตรี ไม่น่าพลาดนะครับ
Create Date : 23 กุมภาพันธ์ 2548 | | |
Last Update : 9 มีนาคม 2548 15:30:03 น. |
Counter : 1280 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
Finding Neverland
The Man Who Was Peter Pan
ความรู้สึกที่ได้จาก Finding Neverland อยากลุกขึ้นยืนปรบมือดังๆให้ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องทำให้เกิดหนังเรื่องนี้...
น่าจะเรียกได้ว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ผมรู้สึกว่านี่เพิ่งจะต้นปี แต่ผมมีหนังที่ดูแล้วชอบมากๆหลายเรื่องทีเดียวตั้งแต่เริ่มปี 2548 นี้มา และ Finding Neverland ก็เป็นหนังอีกเรื่องที่ผมตกหลุมรักเอาจริงๆจังๆ
Finding Neverland เป็นชีวประวัติของ Sir J.M. Barrie (ซึ่งต่อจากนี้ผมจะขอเรียกเค้าว่า James เหมือนคนอื่นๆในหนัง) ชายผู้ให้กำเนิดบทละครอมตะเรื่อง Peter Pan และความสัมพันธ์ของเขากับครอบครัว Llewelyn Davies ทั้งหม้ายสาวและลูกชายทั้ง 4 คนของเธอ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดบทประพันธ์เรื่องนี้ขึ้น
เรื่องเริ่มขึ้นที่บทละครที่ล้มเหลวของ James และการได้พบกับครอบครัว Llewelyn Davies เป็นครั้งแรก ในขณะที่ชีวิตครอบครัวของ James ก็ดูท่าว่าจะไม่ดีนัก โดยเราจะได้เห็นว่าเขาและภรรยานอนคนละห้องกัน
เรื่องราวของ Finding Neverland โดยรวม เกี่ยวข้องอยู่กับสิ่งที่เรียกได้ว่าสำคัญที่สุดในชีวิตของ James ที่เราได้เห็น นั่นคือจินตนาการ และจุดเด่นของเรื่องก็คือการนำจินตนาการมาใช้เป็นตัวดำเนินเรื่อง ทั้งในบทพูด, การดำเนินเรื่อง และภาพที่ปรากฏบนจอ ฉากที่ผมชอบมากฉากหนึ่งคือฉากที่บอกคนดูให้รู้กันตรงๆว่า James นอนคนละห้องกับภรรยาล่ะครับ (ก่อนนั้นก็บอก แต่ไม่ชัดเจนเท่า) ถ้าจำไม่ผิดจากที่ผมได้เคยอ่านมา ชีวิตของ James และครอบครัว Llewelyn Davies หลังจากในหนัง ก็ยังเต็มไปด้วยเรื่องเศร้า และยังมีประเด็นด้านลบอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่นำมาสร้างเป็นหนัง แต่ผู้สร้างฉลาดที่จะตัดส่วนเหล่านั้นทิ้ง และเล่าเฉพาะเรื่องราวที่ต้องการจะเล่า โดยที่ตัวผู้กำกับก็เคยให้สัมภาษณ์ชัดเจนเลยว่าเค้าตัดสินใจตัดส่วนเหล่านั้นทิ้งเอง เพราะเค้าไม่ได้ต้องการจะเล่าความจริงทุกแง่มุมของ J.M. Barrie นอกเหนือไปจากที่ได้เล่าไปในหนัง ซึ่งพอดูจบแล้วผมคงต้องบอกว่าเห็นด้วยอย่าง เพราะเรื่องราวเท่าที่เป็นนี้ ทำให้อารมณ์ของหนังลงตัวและซาบซึ้งตื้นตันใจมากๆเลยทีเดียว
ความสำเร็จยิ่งใหญ่ของหนังเรื่องนี้อีกสองส่วนที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือการคัดเลือกตัวละคร และบทภาพยนตร์ครับ ต้องบอกว่าหนัง Casting ทุกบทมาได้เด็ดขาดจริงๆ โดยเฉพาะในบทนำทั้ง Johnny Depp ซึ่งแสดงฝีมือแบบหายห่วงให้เห็นอีกครั้ง, Kate Winslet และ Freddie Highmore ในบทแม่ผู้เป็นผู้หญิงคนสำคัญในชีวิตของ James และเด็กชายผู้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิด Peter Pan ขึ้นมา ซึ่งผมเชื่อว่าทั้งสองบทพลาดการเข้าชิงออสการ์ไปเพียงฉิวเฉียดเท่านั้น
สำหรับ Johnny Depp ผมว่าตอนนี้เค้ากลายเป็นนักแสดงอันดับหนึ่งของรุ่นเดียวกันแล้วครับ สาเหตุที่ทำให้ Depp เหนือกว่าคนอื่นก็คือ
1. เค้าเป็นนักแสดงฝีมือดีที่น่าจะเรียกได้ว่า ไม่เคยฝีมือตกเลยก็ว่าได้ ต่างกับนักแสดงอันดับต้นๆหลายๆคนที่มีทั้งช่วงรุ่งช่วงดับ สำหรับช่วงที่เงียบๆของ Depp เกิดจากที่เค้าเลือกเล่นหนังเล็กๆ และต้องเรียกว่าแทบจะไม่เล่นหนังที่กะเอาใจตลาดก่อนเลยครับ
2. เค้ารับบทเป็นใครก็ได้ บทหลายๆบทที่ Depp เล่น เราคงนึกไม่ออกว่าจะมีใครคนอื่นมารับหน้าที่ได้ดีเท่า และลองเทียบ Pirates of the Caribbeans และเรื่องนี้ดู เราจะเห็นว่าเป็นบทที่แตกต่างกันสุดขีด แต่ Depp ทำได้แบบที่ต้องเรียกว่าไร้ที่ติทั้งคู่ กับบท James ใน Finding Neverland นี้ ก่อนได้ดู ผมคิดว่ามันคงเป็นบทที่ค่อนข้างธรรมดา (หมายถึงไม่พิสดาร) ถ้าเทียบกับหนังเรื่องอื่นๆของ Depp และคนอื่นๆก็คงมาเล่นบทนี้ได้ แต่หลังจากดูแล้ว ถึงบทจะออกธรรมดาจริง แต่ผมนึกให้คนอื่นมาเล่นบทนี้ให้ดีกว่านี้ได้ไม่ออกเลยครับ
นอกจากสองข้อนี้แล้ว เค้ายังเป็นไอดอลของหนุ่มเซอร์ที่สาวกรี๊ดและมีแม่ยกจำนวนมากอีกด้วย เชื่อว่าต่อจากนี้ไป เราจะได้เห็น Depp ในหนังใหญ่ๆมากขึ้น และจะได้เห็นเค้าชิงออสการ์อยู่เรื่อยๆเป็นประจำล่ะครับ โดยใน Finding Neverland เค้าก็เข้าชิงออสการ์ได้แบบใสๆ (ถึงแม้ว่าสุดท้ายคงไม่ใช่ผู้ชนะก็เถอะ) และผมประทับใจเค้ามากกว่า Leonardo DiCaprio ใน The Aviator ซะอีก แถมบทอบอุ่นๆอย่างนี้ คงได้แฟนมากขึ้นกว่าเดิมอีกเยอะล่ะครับ
Winslet รับบท Sylvia ได้สมบทบาทและลงตัว ผมว่าสาเหตุที่เธอไม่ได้ชิงออสการ์สมทบหญิงจากเรื่องนี้ น่าจะเป็นเพราะ ถึงเธอจะแสดงได้เนียน, ไร้ที่ติอย่างนี้ แต่บทนี้คงดูง่ายไปสำหรับเธอมั้งครับ ส่วน Freddie Highmore นี่ต้องบอกว่าเป็นหน้าใหม่ที่น่าจับตามองมากๆ จากทั้งหน้าตาและการแสดงของเค้าในเรื่องนี้ ทำให้ผมนึกถึงนักแสดงชายที่ผมชอบอีกคนคือ Ethan Hawke ตลอดเลย จริงๆบทเด็กๆในเรื่องนี่ต้องบอกว่าเล่นได้เยี่ยมกันทุกคนล่ะครับ แต่ส่วนที่ทำให้ Freddie เด่นขึ้นมา คงเพราะบท Peter เป็นบทเด่น และมีบุคลิกแปลกแยกออกจากคนอื่น รวมถึงมีฉากที่เปิดโอกาสให้แสดงอารมณ์ได้ ซึ่ง Freddie ก็แสดงได้ไม่แพ้นักแสดงผู้ใหญ่เลยทีเดียว
อีกส่วนหนึ่งที่ทำได้ยอดเยี่ยมได้แก่ความคมของบทภาพยนตร์ ที่ไม่ได้เน้นจะเร้าอารมณ์คนดูมากเกินไป แต่ก่อให้เกิดความรู้สึกตื้นตันใจมากๆในหลายๆฉาก รวมถึงบทหรือสองบทที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นบทร้ายของหนัง ก็ไม่ใช่บทแบบด้านเดียว แต่สุดท้ายเราจะเข้าใจตัวละครนั้นๆ และคงจะเกลียดไม่ลง นอกจากนั้นบทพูดทั้งเรื่องก็ทำได้เหมาะสม, คมคาย และน่าติดตามตลอดเวลา
นอกจากนั้นงานด้านภาพและดนตรีประกอบคงต้องบอกว่าเรียบง่ายแต่ยอดเยี่ยมครับ นับว่าเป็นหนังอีกเรื่องที่ ไม่ว่าจะอย่างไรก็แล้วแต่ ทำได้สำเร็จในการทำให้ผมรู้สึกราวกับว่ามีเวทมนตร์หรือสิ่งมหัศจรรย์ล่องลอยอบอวลอยู่ในบรรยากาศตลอดเวลา และทำให้ผมรู้สึกว่า 106 นาทีของหนังนี่สั้นเหลือเกิน ยังอยากดูต่ออีกนานๆ
กล่าวโดยสรุปคือ 10 เต็ม 10 สำหรับ Finding Neverland ซึ่งจะเป็นหนังที่ผมประทับใจที่สุดของปีนี้อีกเรื่องหนึ่งอย่างแน่นอนครับ
ดูแล้วชอบก็มาคุยกันนะครับ :)
Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2548 | | |
Last Update : 20 กุมภาพันธ์ 2548 11:45:49 น. |
Counter : 1034 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
| |
|
|