 |
|
 |
| 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 |
7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 |
14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 |
21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 |
28 | 29 | 30 | 31 | |
|
|
 |
19 มกราคม 2550
|
|
|
|
มารครองเมือง มรดกจีไอ ลุงโง่ย้ายภูเขา สามล้อ ฝนใหม่ โคราชขับไล่อเมริกา อีสานคืนถิ่น ฯลฯ
ดังนั้นเพลงเพื่อชีวิตที่สร้างสรรค์ในสภาวะนี้ จึงต้องเปลี่ยนไปเป็นเพลงปฏิวัติ
อาจมีเพลงส่วนหนึ่งของคาราวาน ซึ่งถูกตระเตรียมตั้งแต่อยู่ในเมือง เพื่อบันทึกเสียงอัลบั้มชุดที่ 3 มารครองเมือง แต่เมื่อสภาพพลิกผันจึงต้องใช้สตูดิโอ ป่าไผ่ กลางทิวเทือกเขาภูซาง ระหว่างรอยต่อ เลย-อุดร-หนองคาย บันทึกเสียงราวกลางปี 2520 ประกอบด้วยบทเพลง มารครองเมือง มรดกจีไอ ลุงโง่ย้ายภูเขา สามล้อ ฝนใหม่ โคราชขับไล่อเมริกา อีสานคืนถิ่น ฯลฯ ส่วนนี้อาจจัดเป็นเพลงเพื่อชีวิต ในที่นี้ไม่รวมถึงบทเพลงเพื่อชีวิตที่สร้างสวรรค์โดยวงดนตรีที่มีบทบาทเคลื่อนไหว ในเขตเมือง ในช่วงระยะเวลานั้นเช่น วงฟ้าสาง แฮมเมอร์ ฯลฯ
การศึกษาบทเพลงเพื่อชีวิต เมื่อเปลี่ยนบทบาทและเวที เข้าร่วมเคลื่อนไหวในขบวนปฏิวัติระหว่าง ตุลาคม 2519 ถึงราวกลางเดือนเมษายน 2525 จำต้องแยกพิจารณาเป็น 2 ส่วน คือ บทบาทตัวบุคคลศิลปิน และบทเพลงปฏิวัติ
บทบาทตัวบุคคลศิลปินศิลปินเพลงเพื่อชีวิตยุคนั้นเกือบทั้งหมดเป็นนักศึกษา มีกิจกรรมด้านการเมืองและวัฒนธรรม ไม่มีวงดนตรีที่ประกอบวงลักษณะอาชีพ หรือกึ่งอาชีพ แม้บางวงจะมีผลงานบันทึกเสียงของตนเอง เว้นแต่คาราวาน การลี้ภัยเข้าสู่เขตป่าเขากระจัดกระจาย เป็นการตัดสินใจของแต่ละบุคคล อาจเกาะกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ แทบไม่เหลือสภาพเป็นวงดนตรี อาจมีเพียงคาราวาน ที่เป็นรูปวงสมบูรณ์พร้อมบางส่วนซึ่งเป็นแกนหลักของกรรมาชนและคุรุชน ขึ้นทางป่าภาคอีสานใต้เทือกเขาพนมดงรัก ขณะบางส่วนไปทางใต้ วงกงล้อและแกนของรวมฆ้อนขึ้นเขาค้อ-ภูหินร่องกล้า คาราวานและโคมฉายไปภูซาง บางคนของต้นกล้าขึ้นสู่ดอยยาวในเขตเชียงราย ลูกทุ่งสัจธรรม รุ่งอรุณ จรยุทธ์ไปภาคใต้ ทั้งที่สุราษฎร์ธานี และเขาพับผ้า ตรัง-พัทลุง-สตูล วงนกสีเหลือง (ม.ขอนแก่น) ขึ้นสู่ภูพาน
การเข้าสู่ขบวนการปฏิวัติ ศิลปินต้องปรับเปลี่ยนเป็นนักปฏิวัติ โดยถูกจัดให้ศึกษาในโรงเรียนการเมือง-การทหาร เรียนรู้ทฤษฎีปฏิวัติฝึกฝนการทหารเพื่อการใช้ชีวิตในสภาวะสงครามเป็นการตระเวนความคิด ชีวิตความเป็นอยู่ระดับพื้นฐาน บางส่วนยังได้ร่วมปฏิบัติการจริงในสายงานต่างๆ เช่น งานมวลชน โฆษณานโยบาย พคท. ปลุกระดมจัดตั้งมวลชน ในหน่วยทหารที่มีหน้าที่สู้รบ หน่วยงานการเมือง ซึ่งเป็นสายทฤษฎีวิชาการเพื่อการเรียนรู้ โดยการปฏิบัติ เพิ่มพูนประสบการณ์ในชีวิตในป่า
ในระยะต่อมา ศิลปินบางส่วน ได้รับการจัดการให้รับการศึกษาเป็นการเฉพาะ ทฤษฎีการทำงานศิลปะวรรณคดีปฏิวัติ โดยเฉพาะบทที่ว่าด้วยคำปราศรัยของ เหมา เจ๋อ ตุง ในการสัมมนาศิลปะวรรณคดีที่เยนอาน ทฤษฎีวิชาการดนตรีสากลเบื้องต้น กระทั่งปฏิบัติการขั้นสูงในต่างประเทศ เช่น การประพันธ์และเรียบเรียงเสียงประสาน เครื่องดนตรีทั้งสากลและพื้นบ้านที่ผ่านการปรับปรุงยกระดับให้มีความเป็นสากลแล้ว เช่น ไวโอลิน วิโอลา เชลโล่ ซอ โอโบ คลาริเนต ทรัมเป็ต ฟลุต แอคคอร์เดียน ขิม พิณ และการขับร้องรวมถึงการประกอบวงดนตรีขนาดเล็กและขนาดกลาง
การศึกษาอบรมในต่างประเทศช่วงสั้นๆ ราว 4 เดือนเศษ เกิดผลในทางยกระดับความรู้ความสามารถไม่น้อย เห็นได้จากการวัดผลด้วยบทเพลงบรรเลง 2 เพลง ซึ่งมีการบันทึกเสียงและเผยแพร่คือ อรุโณทัย และเมล็ดพืชสีแดง
บทบาทการทำงานในระยะแรก เนื่องด้วยความจำกัดของสภาพการณ์ในแต่ละท้องถิ่น ความไม่พร้อมด้านตัวบุคคลศิลปิน ไม่อยู่ในสภาพพอจะประกอบวงเป็นเอกเทศในรูปเดิมการขาดแคลน เครื่องมืออุปกรณ์ และการวางเป้าหมายระยะยาวของ พคท. วงดนตรีเพื่อชีวิตจึงถูกยุบรวมกัน เสริมเพิ่มด้วยบุคคลภายนอกผู้มีความสามารถตามความจำเป็น เพื่อการทำงานจะได้สอดคล้องกับความเรียกร้องต้องการของมวลชนเช่น
การรวมวงกรรมาชน โคมฉาย นักร้องนำสตรีคุรุชน นักร้องนักดนตรีหมอลำท้องถิ่นเป็น วงภูซาง 6-10 ร่วมตระเวนแสดงราว 1 ปี และบันทึกเสียงเพลง 1 ชุด อาทิ ถั่งโถมโหมแรงไฟ ความแค้นของแม่ เมล็ดพืชสีแดง นกน้อย เดินทางไกลใต้ตะวันสีแดง ชูธงแดงแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ไทย นกหวีดปฏิวัติ ฯลฯ
การรวมวงกรรมาชนเข้ากับหน่วยศิลป์ภาคเหนือของ พคท. และกลุ่มวัฒนธรรม พี่น้องแสงธรรม บันทึกเสียงเพลงร่วมกัน 1 ชุด อาทิ เจ็ดสิงหาสู้บนทางปืน บินหลากู้เสรี อรุโณทัย สหายเทิดเกียรติหญิงไทย ไม่ลืมบุญคุณพรรค ฯลฯการรวมวงจรยุทธเข้ากับบางคนของกงล้อ คุรุชน กลุ่มศิลปะการแสดงเปลวเพลิง มร. ในเขต ตรัง-พัทลุง-สตูล มีบทเพลงบันทึกเสียงเผยแพร่ อาทิ ฝากใจสู่นาคร ไม่รบนายไม่หายจน ปักษ์ใต้แดนทอง ความเป็นธรรมอยู่ที่ไหน ฯลฯ
การรวมกงล้อกับกลุ่มศิลปะการแสดงตะวันเพลิง มธ. และร่วมทำงานกับ ประเสริฐ จันดำ ในเขตน่านเหนือ ได้บันทึกเสียงเผยแพร่บทเพลง อาทิ ไฟป่า ปากกากับกระสุน นักข่าวไทยไปแนวหน้า เสียงเพลงจากภูผา ตุลาชัย แสงรวีชี้ทางชัย ฯลฯ
การทำงานของบางคนในต้นกล้ากับศิลปินพื้นบ้านเฉพาะกิจในเขตเชียงราย มีบทเพลงบันทึกเสียงเผยแพร่ เช่น ลุกขึ้นเถิดชาวนา จับปืนเถิดชาวนา จดหมายถึงบ้าน จากนาและโรงงานสู่การปฏิวัติ ฯลฯ
การรวมวงนกสีเหลืองเข้ากับคณะหมอลำปฏิวัติ เพชรภูพาน เป็นวง ภูพาน 66 ตระเวนแสดงในเขตสกลนคร-นครพนม-กาฬสินธุ์ บันทึกเสียงบทเพลงเผยแพร่ อาทิ จากลานโพธิ์ถึงภูพาน นักรบจรยุทธ ดาวแห่งชาวนา พิราบแดงแห่งเดือนตุลา ศิลปินมาแล้ว นักรบอาจหาญ ความหวังแห่งชีวิตใหม่ ฯลฯ
ในปี 2521 ได้มีการระดมศิลปินเพลงเพื่อชีวิตเกือบทั้งหมด เดินทางไปรวมตัวกับหน่วยศิลปินภาคเหนือของ พคท. ทั้งคาราวาน กรรมาชน กงล้อ ต้นกล้า โคมฉาย ตั้งสำนักถาวรในภาคเหนือของประเทศลาว มีรหัสเป็น หน่วยศิลป์ 82 เตรียมการเพื่อเดินทางไปศึกษาอบรม โครงการระยะสั้นที่สิบสองปันนา มีบทเพลงที่บันทึกเสียงร่วมกัน อาทิ เจ็ดสิงหาจงเจริญ เสียงปืนแตก เสียงเพลงสู่แนวหน้า พบกันวันปีใหม่ มุ่งไปขยายเขตงาน จับปืนสู่แนวหน้า เคลื่อนขบวนทัพ เยาวชนเหล็ก ฯลฯ หน่วยศิลป์ 82 ดำรงสภาพเป็นหน่วยงานศิลปวัฒนธรรมขนาดใหญ่เกือบปี มีความจำเป็นต้องจัดสรรกำลังออกเป็น 3 หน่วย ตระเวนเคลื่อนไหวในเขตเชียงราย น่านเหนือและน่านใต้ ก่อนจะรวมตัวกันอีกครั้งที่ ผาจิ-ผาช้าง เขตพะเยา ในปี 2524 ก่อนการล่มสลายของขบวนปฏิวัติและยุติบทบาทโดยสิ้นเชิงในปี 2525 บทบาทเพลงปฏิวัติ ในระยะเวลา 5 ปีเศษ หลังเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 เฉพาะในเขตป่าเขาคาดว่าบทเพลงปฏิวัติถูกสร้างสรรค์ไม่น้อยกว่า 400 เพลง ทั้งจากบรรดาศิลปินที่มีหน้าที่โดยตรง ผู้สนใจที่มีความรู้ ความสามารถ หน่วยศิลปินเฉพาะกิจ เฉพาะเขต มือสมัครเล่น จำนวนหนึ่งได้รับการบันทึกเสียงเผยแพร่ บางส่วนบันทึกเสียงแต่ไม่ได้เผยแพร่ แต่จำนวนมากไม่ได้บันทึกเสียงเผยแพร่ในท้องถิ่นเฉพาะ การศึกษาด้านนี้เพื่อความสะดวกจึงเลือกพิจารณาตามกระแสอารมณ์ความคิด ช่วงเวลาและตามบทบาทหน้าที่ อารมณ์เจ็บปวด คลั่งแค้น จากเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลา 19 เมื่อถูกต้อนขับให้ต้องทิ้งบ้าน ทิ้งเมือง หลบลี้หนีภัยไปสู่เขตป่าเขาประกาศการต่อสู้ด้วยอาวุธ ก่อกำเนิดบทเพลงอย่าง จากลานโพธิ์ถึงภูพาน ลาไปเป็นทหารปลดแอก เปิดประตูคุกให้เพื่อน 6 ตุลาฯ แหล่ 6 ตุลาฯ ลูกจะกลับพร้อมชัย เมล็ดพืชสีแดง สหายฝากใจสู่นาคร ฯลฯ
เมื่อก้าวสู่สายทางปฏิวัติ ผ่านโรงเรียนการเมือง-การทหาร ปรับเปลี่ยนความรู้ ความคิดและใช้ชีวิตทหารแดง มีหน้าที่การงานชัดเจนลงสู่การปฏิบัติ สั่งสมประสบการณ์ จิตใจเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว ฮึกห้าวเหิมหาญเชื่อมั่นด้วยแนวทางการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธอย่างบทเพลงถั่งโถมโหมแรงไฟ เจ็ดสิงหาสู้บนทางปืน เดินทางไกลใต้ตะวันสีแดง เสียงเพลงจากภูผา ไม่รบนายไม่หายจน เสียงเพลงสู่แนวหน้า ฯลฯ
การได้รับการโอบอุ้มและรู้สึกปลอดภัย การได้รับข่าวคราวรุดหน้าของสถานการณ์ปฏิวัติยิ่งเพิ่มพูนความรู้สึกเชื่อมั่นต่อองค์กรนำ เกิดบทเพลงสดุดีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย อรุโณทัย แสงรวีชี้ทางชัย ดาวแดงแห่งภูพาน ตะวันสีแดง ติดตามพรรคไป ความหวังแห่งชีวิตใหม่ ไม่ลืมบุญคุณพรรค ฯลฯ
บทเพลงที่จำเป็นต้องรับใช้สถานการณ์ต่างๆ ปลุกเร้ากระตุ้นจิตใจสู้รบ ต้านการล้อมปราบ อาทิ ไฟป่า นักรบอาจหาญ ศึกผาแดง จับปืนขึ้นสู่แนวหน้า ร้อยห้าแหนบหัก เตรียมต้านศึก ฯลฯ ร่วมเทศกาลรำลึก เช่น ตุลาชัย เจ็ดสิงหาจงเจริญ เสียงปืนแตก รำวงเจ็ดสิงหา เทิดเกียรติหญิงไทย หญิงสู้หญิงชนะ สามัคคีหญิงไทย รำวง 1 ธันวาฯ พบกันวันปีใหม่ ฯลฯ การต้องเดินทางไปรับภาระหน้าที่ใหม่ในเขตงานอื่นเมื่ออำลากัน เช่น คำสัญญา กำลังใจ เราต่างมาจากทั่วทุกสารทิศ ฯลฯ
เมื่อการปฏิวัติผ่านไปถึงช่วงสุดท้าย เกิดความขัดแย้งทางความคิดระหว่างฝ่ายต่างๆ นำไปสู่การเกิดวิกฤติศรัทธาต่อพรรคคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค เกิดบทเพลงที่แสดงความสับสน ใช้สัญลักษณ์ซับซ้อน กระทั่งศิลปินหันไปสร้างบทเพลงที่มีลักษณะทั่วไป กลับไปสู่เพลงเพื่อชีวิตในที่สุด มีการปรากฏของบางบทเพลงที่ไม่ได้รับการเผยแพร่ เช่น รัตติกาล นาวาเดือนหงายกลางป่า ย่ำค่ำ ฝั่งน้ำน่าน นกเขาไฟ คาราวาน บ้านนาสะเทือน รวมถึงเพลงคิดถึงบ้าน ของนายผี ฯลฯ เดือนเมษายน 2525 ศิลปินปฏิวัติชุดสุดท้าย ออกจากป่าเขตผาจิ-ผาช้าง คืนเมือง ส่วนที่เป็นนักศึกษา นักกิจกรรม กลับไปสู่ห้องเรียนหรือเลือกประกอบอาชีพเพื่อการมีรายได้เลี้ยงชีพ เริ่มต้นการต่อสู้ชีวิตครั้งใหม่ อาจมีบางคนเกี่ยวข้องกับวงการเพลงอยู่บ้าง แต่คงมีเพียงคาราวาน ที่กลับมาประกอบอาชีพศิลปินเพลงเพื่อชีวิตอย่างเต็มตัว ประกาศตัวอย่างเป็นทางการ ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2525 ใน คาราวาน อิน คอนเสิร์ต ฟอร์ ยูนิเซฟ
Create Date : 19 มกราคม 2550 |
Last Update : 19 มกราคม 2550 9:24:11 น. |
|
0 comments
|
Counter : 1658 Pageviews. |
|
 |
|
|
| |
|
 |
Street Fighting Man |
|
 |
|
Location :
[ดู Profile ทั้งหมด]
|
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]

|
ถึงชนจะชิงชัง แต่กูยังจะหยัดยืน กู้เกียรติที่มารกลืน ให้มวลชนเข้าใจใจ กูชาติทหารหาญ ประวัติการณ์นั้นยาวไกล พิทักษ์ไผทไทย นี้สืบทอดมายาวนาน ทหารไทยบ่ขายชื่อ บ่ขายชาติและวิญญาณ เกียรติยศอุดมการณ์ บ่ขายกินเป็นเงินตรา เพื่อผองประชาชาติ จะพลีชีพให้ลือชา ลบคราบน้ำตา
อา ! ที่อาบนองแก้มผองชน ผู้นำผู้ใดดี จะร่วมทางด้วยอดทน ผู้นำที่เดนคน จะคัดค้านไม่เกรงใคร น้ำใจนี้เดี่ยวเด็ด ดั่งเหล็กเพชรที่ทนไฟ เนื้อร้ายต้องตัดไป ไม่ลังเลให้คนแคลน ถึงแม้สมุนมาร จะคงคอยคำรามแทน อุปสรรคถึงเหลือแสน จะบุกหน้าบ่ถอยหลัง มอบรักต่อคนดี และต่อผีคือชิงชัง ผีดิบจะล้มดัง เพราะเรี่ยวแรงที่ระดม เสียงสูคือเสียงผี ที่หลอกคนด้วยคารม
|
|
|