เจ้าสวามิภักดิ์ต่ออำนาจ ยอมเป็นทาสคณาธิปไตย เพียงหัวโขนไม่กี่ใบ ก็ทำให้เจ้าลืมตน โดยลืมไปว่าคนที่หลงใหลต่อการเสพอำนาจนั้นมีจุดจบที่น่าสยดสยองเพียงใด เพราะคำกล่าวที่ว่า “อำนาจทำให้ฉ้อฉล ยิ่งอำนาจเบ็ดเสร็จเท่าใด ยิ่งฉ้อฉลเบ็ดเสร็จเท่านั้น” (power tends to corrupt ,and absolute power corrupts absolutely) ยังคงเป็นความจริงอยู่เสมอ
 
กุมภาพันธ์ 2550
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728 
3 กุมภาพันธ์ 2550

กองทัพไทยกับความมั่นคงเดิม

บทที่ 5

กองทัพไทยกับความมั่นคงเดิม



1. กองทัพไทยกับความมั่นคงแห่งชาติในยุคก่อนสงครามเย็น
1.1 สถานการณ์ทั่วไป

ก่อนที่ชุมชนชาวตะวันออกของเรา จะได้เปลี่ยนคำเรียกชื่ออาณาเขต มาเป็นประเทศอย่างเช่นทุกวันนี้ ดินแดนที่มีประชากรมาอยู่ร่วมกัน อาศัยอยู่ใต้การปกครองจากระบบ หรือผู้ปกครองเดียวกัน มีอำนาจอธิปไตยของตนเอง มิได้ตกเป็นเมืองขึ้น หรืออาณานิคมของใคร เราเรียกว่า “ อาณาจักร “ ประเทศไทย และประเทศในภูมิภาคแห่งนี้ เคยมีอาณาจักรของตนเองอยู่ทั้งสิ้น แตกต่างกันแต่เพียงว่า อาณาจักรใดแข้มแข็งกว่ากัน ยิ่งใหญ่กว่ากัน มีอาณาเขตกว้างขวางกว่ากันเท่านั้นเอง อีกทั้งเส้นแบ่งเขตของอาณาจักร จำนวนประชากร อำนาจในการปกครอง ก็มิได้มีความชัดเจนแน่นอนเช่นในปัจจุบัน อาณาจักรใดที่เข้มแข็งกว่า มีความเจริญรุ่งเรืองกว่า และผู้นำมีความต้องการที่จะขยายอำนาจหรือขอบเขตอาณาจักรของตน ก็จะนำกำลังทหารไปรุกรานอาณาจักรที่อ่อนแอกว่าที่อยู่ใกล้เคียง ในทางกลับกันอาณาจักรที่อ่อนแอกว่าก็จะต้องรู้จักที่จะถนอมตัว ถ้าไม่ต้องการให้เกิดศึกสงครามสู้รบกัน ก็จะต้องแสดงความจงรักภักดี หรือเข้าไปสวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรอื่นที่เข็มแข็งกว่า ทั้งนี้ก็เพื่อความอยู่รอดของตน และหวังว่าเมื่อตนมีศึกสงครามหรือความเดือดร้อน ก็จะมีอาณาจักรที่ตนไปสวามิภักดิ์ ให้ความคุ้มครองช่วยเหลือ สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมานานนับพันปี ดังเห็นได้จากประวัติศาสตร์ของประเทศในภูมิภาคนี้ที่มี อาณาจักรสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ของไทย อาณาจักรพุกาม จนถึงโค บองของพม่า (หรือเมียนม่าร์) อาณาจักรขอมของกัมพูชา อาณาจักรศรีวิจายา (หรือศรีวิชัย) และอาณาจักรมาจาปาฮิต ของอินโดนีเซีย อีกทั้งยังมีอาณาจักรเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่อีกอย่างมากมาย

ความสัมพันธ์ของอาณาจักรต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น เป็นความสัมพันธ์ที่ดำรงต่อกันด้วยการใช้ความเข็มแข็ง และอำนาจทางทหารที่เหนือกว่าเป็นเครื่องมือ ดังนั้นแต่ละอาณาจักรจึงได้มีการสร้างสมกำลัง และพลังอำนาจทางทหารของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นกำลังพล ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี หรือแม้แต่นโยบาย หรือกโลบายต่าง ๆ เพื่อให้อาณาจักรตนมีความมั่นคง และอยู่รอดปลอดภัยจากสังคมในยุคนั้น ความสำคัญด้านการทหารดังกล่าวนี้สำคัญมากจนถึงระดับที่ว่า ผู้ปกครองอาณาจักรซึ่งก็คือกษัตริย์ จะต้องเป็นจอมทัพด้วย

1.2 บทบาทของกองทัพไทย

บทบาทของกองทัพในยุคดังกล่าวนี้ จึงมีความชัดเจนเป็นสถาบันหลักของความมั่นคงทั้งปวง หรือมีผู้กล่าวว่าเป็นบทบาทที่เป็นหัวใจในการปกครองอาณาจักรเลยทีเดียว[57]

ในยุคสุโขทัยระบบทหารเป็นไปในแบบ “ ทำเนียบกองทัพ “ กล่าวคือ มีการจัดแบ่งประชาชนออกเป็นหมู่เป็นกอง มีเจ้าหมู่มูลนายที่เป็นนายทหาร ควบคุมดูแลหน่วยดังกล่าว โดยเจ้าหมู่มูลนายนี้ทำหน้าที่ปกครองดูแลทุกข์สุขของประชาชน หรือทหารที่อยู่ในหมู่ในกองของตน เมื่อมีศึกสงคราม เจ้าหมู่มูลนายดังกล่าวจะต้องรวบรวมผู้ที่อยู่ใต้การปกครองไปทำสงครามให้ได้ สำหรับในระดับที่สูงขึ้นไปก็มีการจัดการควบคุมไปตามลำดับชั้นจนถึงผู้ปกครองอาณาจักร[58]

ในสมัยอาณาจักรอยุธยา ด้วยประชากรที่มีจำนวนมากขึ้น และอาณาเขตที่กว้างมากขึ้น ก็ได้มีการปฏิรูปการทหารและการปกครองขึ้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โดยแบ่งหน้าที่ออกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายทหาร และฝ่ายพลเรือน ฝ่ายทหารมีสมุกลาโหมเป็นผู้รับผิดชอบ ในการจัดเตรียมกองทัพไว้ในยามศึกสงคราม มีอำนาจในการปกครองเจ้าเมืองตามหัวเมือง และตามภูมิภาคด้วย ในขณะที่ฝ่ายพลเรือน ทำหน้าที่สะสมเสบียง อาวุธยุทโธปกรณ์ และรักษาความสงบภายใน มีสมุหนายกเป็นผู้รับผิดชอบ โดยจัดเป็น เวียง วัง คลัง นา

ในสมัยอาณาจักรกรุงรัตนโกสินทร์ สังคมของประเทศในภูมิภาคนี้ ได้เปลี่ยนไปอย่างมาก ชาวตะวันตกที่เข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อความสัมพันธ์ของอาณาจักรต่าง ๆ จนถึงขั้นที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า “ศัตรูของไทยในอนาคตไม่ใช่พม่า ซึ่งระบบทหารคล้ายไทย แต่ศัตรูจะเป็นชาติตะวันตกที่ระบบการทหารมีประสิทธิภาพสูงกว่าชาติตะวันออก“[59] และก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ ดังจะเห็นได้ว่าหลายอาณาจักรในภูมิภาคนี้ ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของตะวันตกในเวลาต่อมา ในขณะที่อีกหลายอาณาจักรซึ่งรวมทั้งอาณาจักรรัตนโกสินทร์ของไทย ก็ถูกรุกราน และถูกคุกคามอย่างรุนแรง สถานการณ์ดังกล่าว ได้ส่งผลให้ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และในสมัยรัชกาลต่อมา ได้มีการพัฒนาระบบการทหารให้มีประสิทธิภาพพอที่ตามแบบตะวันตก เช่น มีการสะสมยุทธโธปกรณ์ การสร้างป้อมปราการ การสร้างเรือรบ การจัดหมู่เหล่าของทหาร การจัดหมู่ หมวด กองร้อย การเกณฑ์ทหาร และการฝึกทหารในแบบยุโรป จนกระทั่งได้มีการจัดกองทัพครบทั้งสามเหล่าทัพ เป็นกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศในปี พ.ศ. 2480[60] นอกจากนี้แล้ว จากผลของกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2483 และสงครามโลกทั้งสองครั้ง ที่ไทยได้มีส่วนร่วมในการสู้รบ ได้ส่งผลให้กองทัพไทยได้เร่งพัฒนากองทัพเพื่อให้ทันสมัย พร้อมที่จะป้องกันประเทศจากภัยคุกคาม ทั้งที่มาจากในภูมิภาคเดียวกัน และจากนอกภูมิภาคได้

อาณาจักร หรือประเทศชาติในยุคที่กล่าวไปแล้วนั้นจะมั่นคงได้ก็ต่อเมื่อ ประเทศมีความเข็มแข็งพอที่จะต่อสู้กับภัยคุกคามที่มีมาจากภายนอกเป็นหลัก โดยแยกออกได้เป็นภัยที่เกิดขึ้นจากประเทศในภูมิภาคเอง กับภัยที่มาจากประเทศตะวันตก ภัยคุกคามทั้งสองแบบดังกล่าวมีรูปแบบที่ไม่แตกต่างกันมากนัก นั่นก็คือ การคุกคามด้วยกำลังทางทหาร ไม่ว่าจะเป็นการคุกคามทางทหารด้วยการใช้กองทัพที่มีช้าง ดาบ มีด เป็นอาวุธ หรือ ปืนคาบศิลา ปืนเล็กยาว ปืนใหญ่ เรือปืน เครื่องบินรบ เป็นอาวุธ ก็คือ ภัยที่ต้องใช้พลังอำนาจด้านการทหารในการป้องกันประเทศเพื่อรักษาความมั่นคง และความปลอดภัยของประเทศชาติ ประชาชน อธิปไตย และดินแดนของตนไว้นั่นเอง สิ่งดังกล่าวส่งผลให้กองทัพ เป็นตัวแสดงหลัก และมีบทบาทหลักในสังคมมาโดยตลอด ในขณะที่ฝ่ายพลเรือนนั้น ในช่วงแรก ๆ สมัยอาณาจักรสุโขทัยอาจถือได้ว่า รวมเป็นหนึ่งกับฝ่ายทหารมาตลอด ต่อมาเมื่อมีประชากรมากขึ้น ก็ทำให้ได้มีการแบ่งหน้าที่กันไป ส่งผลให้ประชากรส่วนหนึ่งเข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายทหาร ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งทำหน้าที่ฝ่ายพลเรือน มีหน้าที่คอยสนับสนุนฝ่ายทหารในการป้องกันประเทศอีกต่อหนึ่ง

ดังนั้นเราอาจสรุปได้ว่า บทบาทของทหาร หรือกองทัพไทยในอดีตก่อนยุคสงครามเย็นบทบาทในการใช้พลังอำนาจทางการทหารเป็นบทบาทหลัก และเป็นบทบาทนำ เป็นเครื่องชี้ถึงความอยู่รอดของประเทศ โดยทหารมีหน้าที่ในการที่จะป้องกันประเทศ จากภัยคุกคามด้วยการใช้กำลังเข้ามารุกราน และในยามปกติที่ไม่มีศึกสงคราม ก็จะทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เข้มแข็ง พร้อมที่จะเข้าสู่สงครามซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา



2. บทบาทของกองทัพไทยกับความมั่นคงแห่งชาติในยุคสงครามเย็น
2.1 สถานการณ์ทั่วไป

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง บรรยากาศของสถานการณ์ในภูมิภาค และสังคมโลกได้เปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก โลกตะวันออก และโลกตะวันตกเริ่มเชื่อมต่อกันอย่างเห็นได้ชัดเจนขึ้น วัฒนธรรม และแนวความคิดของโลกตะวันตกได้แผ่อิทธิพลเข้ามามากขึ้น แนวความคิดในเรื่อง รัฐชาติ ความรู้สึกชาตินิยมแบบตะวันตก ได้แพร่ขยายเข้ามาอย่างมากในภูมิภาคของเรา ในขณะเดียวกัน แนวความคิดในการปกครองด้วยรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่มีประชาชนเป็นผู้มีสิทธิ์มีเสียงในการปกครองตนเอง แทนการปกครองที่มีกษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดแต่เพียงผู้เดียว ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในหลายประเทศ เช่น เกิดการปฏิวัติในฝรั่งเศส เป็นต้น อีกทั้งแนวความคิดมาร์กซิสต์ก็ได้เกิดการแพร่ขยาย และมีการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการปฏิวัติในรัสเซีย ความแตกต่างของแนวความคิดในระบอบการปกครองประเทศแบบประชาธิปไตย และแบบคอมมิวนิสต์ของมาร์กซิสต์ดังกล่าวได้ส่งผลให้ สังคมโลกเกิดขั้วอำนาจสองขั้วจากสองประเทศอภิมหาอำนาจ ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกซึ่งรวมทั้งภูมิภาคที่เราอยู่นี้ด้วย อภิมหาอำนาจฝ่ายคอมมิวนิสต์ ก็คือ รัสเซีย ประเทศที่เป็นต้นแบบ ในการนำแนวความคิดมาร์กซิสต์มาประยุกต์ใช้ในการปกครองประเทศ อภิมหาอำนาจฝ่ายโลกเสรีประชาธิปไตย ได้แก่สหรัฐอเมริกา ประเทศซึ่งก่อกำเนิดมาจากความต้องการเสรีภาพของชาวตะวันตก ที่ได้อพยพไปสู่ทวีปอเมริกาครอบครองดินแดน และเป็นเจ้าของประเทศในเวลาต่อมา

ในขณะเดียวกันในภูมิภาคของเรานี้ หลายประเทศที่ตกเป็นเมืองขึ้น หรืออาณานิคมของประเทศตะวันตกกันมาเป็นเวลาหลายสิบปี หรือหลายร้อยปี ได้เกิดชนชั้นนำของประเทศที่ได้รับแนวความคิดชาตินิยม รัฐชาติ เสรีประชาธิปไตย หรือมาร์กซิสต์จากตะวันตกขึ้น บุคคลสำคัญต่าง ๆ ดังกล่าวเหล่านี้ ได้รับการกระตุ้นจากแรงผลักดันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และอาศัยสถานการณ์ในห้วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองใหม่ ๆ ที่หลายฝ่ายยังคงสับสนวุ่นวายกับการจัดระเบียบโลกอยู่ ได้ทำการจุดประกายสังคมภายในประเทศที่เป็นอาณานิคม ให้มีการกู้ชาติ กู้เอกราชขึ้น ดังเราเห็นได้จากการกู้ชาติโดย อู อ่อง ซาน ของพม่า ซูการ์โนของอินโดนีเซีย และโฮจิมินท์ของเวียดนามเป็นต้น ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคได้รับเอกราชในเวลาต่อมา

2.2 ผลกระทบของสถานการณ์ยุคสงครามเย็นต่อความมั่นคง

ด้วยสถานการณ์ในระดับโลกที่มีสองขั้วอภิมหาอำนาจ และสถานการณ์ของการต่อสู้เพื่อเอกราชในระดับภูมิภาคในห้วงดังกล่าวนี้ ประกอบกับความเชื่อของประเทศอภิมหาอำนาจทั้งสอง ที่ต้องการจะนำพาประเทศในโลกนี้ ให้เป็นประชาธิปไตย หรือคอมมิวนิสต์ตามที่ตนเองเชื่อ ได้ส่งผลให้เกิดแนวความคิดในการสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศ และกลุ่มประเทศ ที่เราเรียกกันในปัจจุบันนี้ว่า ความมั่นคงร่วม (Collective Security)[61] ก่อให้เกิดยุทธศาสตร์ในการป้องกันร่วม การรวมกลุ่มกันทางทหาร สนธิสัญญาความร่วมมือด้านการทหารตามมามากมาย และได้เกิดความพยายามขยายอำนาจ ขยายแนวความคิดของตนเองครอบงำประเทศต่าง ๆ ที่ยังมิได้ตัดสินใจว่าจะเป็นพวกใด หรือแม้แต่เป็นพวกหนึ่งไปแล้ว แต่ก็พยายามเข้าไปแทรกแซง เพื่อให้เปลี่ยนเป็นพวกตนให้ได้ในที่สุด อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่ประเทศอภิมหาอำนาจทั้งสองต่างก็มีความก้าวหน้าทางวิทยาการการทหาร และมีอาวุธทำลายล้างรุนแรงอยู่เป็นจำนวนมากใกล้เคียงกัน ส่งผลให้ประเทศทั้งสองไม่กล้าที่จะเผชิญหน้า และทำสงครามโดยตรงต่อกัน ทั้งนี้ก็เนื่องจากทั้งคู่ต่างตระหนักดีว่า ความสูญเสียจะเกิดขึ้นอย่างมหาศาลเพียงใด ในการทำสงครามต่อกันโดยตรง ประเทศทั้งสองจึงต่อสู้กันในรูปแบบของการขยายพันธมิตร ขยายอิทธิพล และขยายแนวความคิดของตนออกไป[62] สภาพการณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวเหล่านี้เรารวมเรียกกันว่า “สงครามเย็น“ ประเทศที่มีการสู้รบกันจริง ๆ นั้น ก็คือบรรดามิตรประเทศ หรือประเทศที่เป็นเป้าหมายในการแย่งชิงของมหาอำนาจทั้งสอง ซึ่งอาจเป็นการต่อสู้ระหว่างประเทศต่อประเทศ หรือต่อสู้กันภายในประเทศของตนเอง โดยมีมหาอำนาจดังกล่าวคอยหนุนหลังในด้านต่าง ๆ อยู่ เป็นสภาพที่เราเรียกกันว่า “สงครามตัวแทน” [63]

ในภูมิภาคของเรามีสภาพของสงครามตัวแทนดังกล่าวค่อนข้างจะชัดเจน อีกทั้งยังมีสงครามการกู้ชาติ กู้เอกราชเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย การกู้ชาติของบางชาติได้พึ่งพาศักยภาพด้านการทหารจากประเทศอภิมหาอำนาจค่ายคอมมิวนิสต์ ในขณะที่บางชาติได้รับความเห็นใจจากชาติตะวันตกที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตยปลดปล่อยให้เป็นเอกราช แต่ทั้งนี้ก็ต้องแลกด้วยเลือดเนื้อของคนในชาติเช่นเดียวกัน หลังการกู้ชาติดังกล่าวสงครามตัวแทนเต็มรูปแบบก็ได้เกิดขึ้น การสู้รบของเวียดนามเหนือกับเวียดนามใต้ การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในลาว และกัมพูชา ความเชื่อในทฤษฎีโดมิโน ที่ทำนายว่าประเทศไทยจะต้องเป็นคอมมิวนิสต์ต่อไป เป็นตัวอย่างที่ดีของการสู้รบกันของประชาชนประเทศเดียวกันเอง หรือแม้แต่ในภูมิภาคเดียวกันเพื่อตอบสนองต่อยุคสงครามเย็น และสภาพสงครามตัวแทน

อย่างไรก็ตามด้วยสภาพที่พิเศษออกไปในภูมิภาคนี้ ประเทศส่วนมากเพิ่งได้รับเอกราชขึ้นมาใหม่หลังจากที่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นอยู่เป็นเวลานาน ทำให้ยังคงมีโครงสร้างพื้นฐานของรัฐชาติ หรือประเทศอยู่ในสภาพที่อ่อนแอ ทั้งนี้ขึ้นกับประเทศเจ้าอาณานิคมที่เข้ามาครอบครองว่า ได้จัดระเบียบโครงสร้างพื้นฐาน หรือทำลายโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ไว้มากน้อยเพียงใด ผลดังกล่าวได้ทำให้แต่ละประเทศที่ได้รับเอกราช พยายามที่จะสถาปนาความมั่นคงของรัฐชาติตนด้วยการวางระเบียบโครงสร้างพื้นฐานในทุกเรื่องที่เป็นพื้นฐานของสังคม ซึ่งสามารถแยกออกในประเด็นหลัก ๆ ได้คือ ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมจิตวิทยา และด้านการทหาร ประเด็นดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดแนวความคิดด้านความมั่นคง ความมั่นคงสมบูรณ์แบบ(Comprehensive Security) ขึ้นในอินโดนีเซียเมื่อปี พ.ศ.2516 ในรูปของ “ความยืดหยุ่นแห่งชาติ(National Resilience)”[64] ที่พิจารณา องค์ประกอบของความมั่นคงในทุกประเด็นดังที่ได้กล่าวไปแล้ว นอกจากนี้แล้วในเวลาใกล้เคียงกัน ประเทศญี่ปุ่น ในฐานะผู้พ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ได้พัฒนาแนวความคิดที่ได้นำเอาองค์ประกอบอื่น นอกเหนือองค์ประกอบของความมั่นคงด้านการทหาร เข้ามากำหนดนโยบายด้านความมั่นคงขึ้น ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการถูกกดดันจากฝ่ายสัมพันธมิตร ที่ได้กำหนดให้ผู้แพ้สงครามเช่นญี่ปุ่นจะต้องไม่มีกองทัพเพื่อไปรุนรานผู้อื่นอีก อีกทั้งผลจากการแพ้สงครามทำให้นักการทหาร และนักวิชาการด้านความมั่นคงของญี่ปุ่น ก็ได้กำหนดแนวความคิด “ความมั่นคงแห่งชาติสมบูรณ์แบบ (Comprehensive Overall National Security)” ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2521 รวมทั้งได้มีการจัดตั้ง สภาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Council” ในอีกสองปีต่อมา[65]

หลังจากที่ในยุโรปได้ใช้แนวความคิด ความมั่นคงร่วม (Collective Security) ที่มีมุมด้านความมั่นคงเฉพาะด้านการทหารเป็นหลักมาเป็นห้วงระยะเวลานาน ได้เกิดปัญหาการกระทบกระทั่งกันเองขึ้นอยู่เสมอ ถึงแม้ว่าจะเป็นกลุ่มหรือพวกเดียวกันเอง ส่งผลให้นักการทหาร และนักวิชาการด้านความมั่นคงในยุโรป ได้พยายามพัฒนาแนวความด้านความมั่นคงของตนภายในกลุ่มขึ้น เพื่อสร้างความปรองดองที่ดีต่อกัน ซึ่งในปี พ.ศ. 2525 ก็ได้เกิดแนวความคิด ความมั่นคงสามัญ (Common Security) ขึ้นในยุโรป ในรายงานการประชุมว่าด้วยการลดอาวุธและความมั่นคง โดยมีการพิจารณาองค์ประกอบของความมั่นคงครอบคลุมขึ้นกว่าเดิม และพยายามไม่ยึดติดความมั่นคงไว้กับการทหารเท่านั้น[66]

2.3 บทบาทของกองทัพโดยทั่วไปในยุคสงครามเย็น

จากการผนึกกำลังภายในกลุ่มด้วยสนธิสัญญา หรือองค์การความร่วมมือต่าง ๆ เช่นแผนการมาร์แชล องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจของยุโรป จนถึงองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติคเหนือหรือนาโต้ ของค่ายเสรีประชาธิปไตย และแผนการโมโลตอฟ หรือสภาความช่วยเหลือเศรษฐกิจซึ่งกันและกัน จนถึงองค์การสนธิสัญญาวอซอร์ ของค่ายคอมมิวนิสต์ ได้ส่งผลเกิดเป็นสงครามเย็นโดยทั่วไป และสงครามตัวแทนในบางภูมิภาค เช่น สงครามประชาชนในประเทศจีน ที่มีสหรัฐหนุนหลังเจียงไคเช็คอยู่ฝ่ายหนึ่ง กับเหมาเจ๋อตุงที่มีรัสเซียหนุนหลังอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง สงครามเกาหลี สงครามเวียตนาม ก็มีสภาพไม่ได้แตกต่างไปจากสงครามในประเทศจีนมากนัก ในขณะที่มีการต่อสู้กันทางด้านการเมือง และอุดมการณ์ในการปกครองประเทศใน อินโดนีเซีย คิวบา ลาว กัมพูชา และไทย ก็มีประเทศอภิมหาอำนาจของทั้งสองค่ายอยู่เบื้องหลังเช่นกัน การสู้รบการของอิสราเอลที่มีสหรัฐหนุนหลัง กับอิยิปต์ อิรัก จอร์แดน เลบานอน และซีเรีย ในตะวันออกกลาง[67] ได้ทำให้กองทัพโดยทั่วไปได้มีโครงสร้างการจัด ที่มุ่งไปสู่การเตรียมการเข้าสู่สงครามเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนากองทัพของแต่ละประเทศ หรือแม้แต่การพัฒนาการปฏิบัติการร่วมกันของกองกำลังทหารในนามของนาโต้ ของประเทศในยุโรป โดยมุ่งที่จะสร้างสรรค์กองทัพให้มีความพร้อมที่จะเข้าสู่สนามรบกับรัสเซีย และประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ในขณะเดียวกัน ประเทศบริวาร หรือประเทศที่เกิดขึ้นมาใหม่ก็ได้พยายามที่จะเอาตัวรอด ด้วยการเข้าเป็นสมาชิกของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือประกาศตัวไม่เข้าข้างฝ่ายใด ซึ่งผลที่เกิดขึ้น ก็คือ ความแตกแยก และความขัดแย้งของประชากรภายในชาติ และผลจากความพยายามเข้ามาแทรกแซงของประเทศอภิมหาอำนาจ ทำให้กองทัพของประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ต้องถูกพัฒนาในทิศทาง สำหรับเตรียมความพร้อมที่จะเข้าไปสู่สถานการณ์สงครามตามแบบ เมื่อประเทศกลุ่มลัทธิความเชื่อของตนต้องการความช่วยเหลือ หรือได้รับสัญญานจากประเทศอภิมหาอำนาจที่ตนสังกัดให้เข้าสู่สงคราม เช่น ที่หลายประเทศ ต้องเข้าไปสู้รบกันในสงครามเวียดนาม และสงครามเกาหลีเป็นต้น

ในขณะเดียวกัน กองทัพของประเทศเหล่านี้ก็ต้องพร้อมที่จะเข้าไปแก้ปัญหาภายในประเทศ ที่เกิดขึ้นมาจากความขัดแย้งกันเองของชนภายในชาติ ซึ่งก็คือการแก้ปัญหาความมั่นคงภายใน ในรูปแบบของ การป้องกัน และปราบปรามการก่อความไม่สงบนั่นเอง นอกจากนี้แล้ว ประเทศที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ กองทัพของประเทศเหล่านี้ส่วนมากแล้วมาจากประชาชน เกิดจากการรวมตัวกันขึ้นมาต่อสู้เพื่อเอกราช ทำให้กองทัพยังคงมีบทบาท และมีความสำคัญกับระบบการเมือง และการสร้างชาติเป็นอย่างมาก ดังเห็นได้จากบทบาทของทหารในอินโดนีเซียและพม่า เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป บทบาทของกองทัพโดยทั่วไปในยุคนี้ได้แก่

- การป้องกันประเทศจากภัยคุกคามภายนอก และ

- การรักษาความมั่นคงภายในจากปัญหาลัทธิอุดมการณ์

2.4 บทบาทของกองทัพไทยในยุคสงครามเย็น

กองทัพไทยมีความเกี่ยวพันกับสังคมไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสงครามเย็น เริ่มตั้งแต่การได้มีแนวความคิดประชาธิปไตย และคอมมิวนิสต์หลั่งไหลเข้ามาในประเทศในเวลาใกล้เคียงกัน ในขณะที่แนวความคิดชาตินิยมนั้นเป็นเพียงแนวความคิดที่ถูกนำมาใช้ เพื่อการสนองตอบกลุ่มที่ต้องการเป็นประชาธิปไตย หรือคอมมิวนิสต์ หรือเพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นให้เกิดกับประเทศชาติเป็นครั้งคราวเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจากระบอบกษัตริย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในปี พ.ศ. 2475 ที่มีกลุ่มทหารบก และทหารเรือ ที่มีอำนาจ และกำลังทหารอยู่ในมือเป็นผู้ปฏิบัติ ได้ก่อให้เกิดประชาธิปไตยขึ้นในไทยอย่างฉับพลัน ขณะเดียวกันแนวความคิดแบบสังคมนิยมก็มีผู้สนใจ และพยายามที่จะเผยแพร่ขึ้นในประเทศ ส่งผลให้ สังคมไทยได้เกิดความขัดแย้งกันเองในเรื่องของการแสวงหาระบอบ หรือลัทธิการปกครองประเทศที่ดีที่สุดสำหรับสังคม ผลดังกล่าวทำให้คนไทยต้องรบกันเอง ระหว่างฝ่ายที่ยึดมั่นในระบอบเสรีประชาธิปไตย กับฝ่ายที่เชื่อในระบอบคอมมิวนิสต์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 ในวันเสียงปืนแตก จนถึงวันเสียงปืนดับในปี พ.ศ. 2528 กินเวลาถึง 20 ปี ส่งผลต่อความสูญเสียชีวิตของทั้งสองฝ่ายกว่าหมื่นชีวิต ทุพลภาพอีกสองหมื่นกว่าคน[68] สูญเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศชาติ และสูญเสียทรัพยากรไปกับเหตุการณ์ต่าง ๆ นี้มากมาย ในขณะเดียวกันความเชื่อในทฤษฏีโดมิโนที่ไทยอาจต้องเป็นคอมมิวนิสต์เป็นรายต่อไปจากเวียดนาม ลาว และกัมพูชา ก็ได้ทำให้เราต้องเตรียมความพร้อมที่จะป้องกันประเทศจากภัยคุกคามภายนอกที่มาจากด้านทิศตะวันออกอย่างเต็มอัตรา หรือแม้แต่ด้านทิศตะวันตกที่ติดกับประเทศพม่า เราก็ต้องเตรียมแก้ปัญหาความขัดแย้งตามแนวชายแดนอยู่อย่างสม่ำเสมอ

กองทัพไทยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของความแตกแยก ในอุดมการณ์ด้านการเมือง ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา โครงสร้างความมั่นคงเดิมของรัฐชาติ ที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์มาเป็นเวลานับพันปีได้เปลี่ยนไป สู่ระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก รากฐานการเป็นประชาธิปไตยที่ยังไม่ทั่วถึงในสังคม ได้ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงทางด้านการเมืองขึ้น เกิดความขัดแย้งในสังคมไทย ทั้งในระดับผู้บริหารประเทศในเบื้องต้น และกระจายไปสู่สังคมไทยโดยทั่วไปในกาลต่อมา ในระดับประเทศ กองทัพจึงต้องเข้ามามีบทบาทด้านการเมือง ทั้งในรูปแบบของการปฏิวัติรัฐประหาร และเพื่อปรับสภาพของสังคม นอกจากนี้กองทัพยังได้เข้าไปมีส่วนร่วม ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมด้วยการพัฒนาประเทศในพื้นที่ทุรกันดาร ที่มีปัญหาความขัดแย้งทางอุดมการณ์ หรือหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐเข้าไม่ถึง และกองทัพยังต้องแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยกำลังในการปราบปรามกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ตามแนวทางการแก้ปัญหาในห้วงเวลาดังกล่าวนั้น สำหรับภัยคุกคามที่มีมาจากภายนอก กองทัพก็ได้จัดเตรียมความพร้อม โดยการจัดตั้งกองกำลังต่าง ๆ เข้าไปอยู่ในพื้นที่ชายแดน ที่พร้อมต่อการปกป้องอธิปไตยจากผู้รุกราน และเพื่อให้การป้องกันมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กองทัพไทยยังได้จัดกำลังเข้าไปปฏิบัติการในพื้นที่นอกประเทศ เพื่อมิให้ภัยคุกคามที่มาจากภายนอก เข้ามาประชิดแนวชายแดนไทยได้โดยง่าย สถานการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องกันจนสิ้นยุคสงครามเย็น

กองทัพไทยที่พัฒนาขึ้นมาโดยมีแบบอย่างมาจากยุโรป ด้วยความมุ่งหมายที่จะป้องกันประเทศจากภัยคุกคามที่มาจากประเทศฝรั่งเศส และอังกฤษ เมื่อเข้าสู่ยุคสงครามเย็นจากบทบาทต่าง ๆ ที่กองทัพต้องเข้าไปรับผิดชอบ กองทัพจึงทำการปรับโครงสร้าง โดยนอกจากที่จะเป็นการสร้างกองทัพเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากภายนอกแล้ว ยังต้องสร้างกองทัพเพื่อป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบภายในประเทศ อันเกิดจากการกระทำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยด้วย อีกทั้งประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ เพิ่งจะได้รับเอกราชมาไม่นานนัก ทุกชาติได้ตระหนักดีถึงความอ่อนแอของชาติตนจนต้องตกเป็นข้าทาส หรืออาณานิคมของชาติอื่น ดังนั้นกองทัพที่เกิดขึ้นใหม่ในภูมิภาคนี้ก็ได้แข่งขันกันสะสมอาวุธ และพัฒนาศักยภาพของกองทัพอย่างจริงจัง ดังเห็นได้ว่าจากเดิมที่ประเทศในภูมิภาคขาดวิวัฒนาการด้านอาวุธทางทหารเป็นอย่างมาก เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็นในปี พ.ศ. 2533 กองทัพของทุกประเทศในภูมิภาคล้านมีอาวุธยุทโธปกรสมัยใหม่สำหรับการทำสงครามเป็นจำนวนมาก

กองทัพไทยภายใต้การสนับสนุนของกองทัพสหรัฐ ได้ถูกยกบทบาทให้เป็นด่านต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอีกด่านหนึ่งของมหาอำนาจ กองทัพซึ่งแต่เดิมก็มีบทบาททางการเมืองโดยเข้าไปร่วมในการปฏิวัติรัฐประหารอยู่แล้ว ได้เพิ่มการเข้าไปยุ่งเกี่ยวทางการเมืองมากขึ้น ด้วยการมีผู้นำทางทหารขึ้นไปเป็นผู้นำประเทศ หรือเข้าไปเป็นสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามแต่ที่กฎหมาย และสถานการณ์เอื้ออำนวย แม้ว่าดูแล้วประเทศจะเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือกึ่งเผด็จการก็ตาม มหาอำนาจฝ่ายประชาธิปไตย ก็ให้การสนับสนุนรัฐบาลทหารอย่างแน่นแฟ้น ทั้งนี้ก็เพื่อความเข้มแข็งในการต่อต้านกับฝ่ายคอมมิวนิสต์นั่นเอง อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์ในลักษณะดังกล่าวก็ได้ส่งผลให้เกิดความแตกแยกทางสังคม ระหว่างกลุ่มชนชั้นนำของประเทศ ที่เป็นทหาร กับกลุ่มชั้นนำที่เป็นพลเรือนหัวก้าวหน้า และยังเป็นการเพิ่มพูนเงื่อนไขในการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมากยิ่งขึ้น จนในที่สุดก็ได้มีการเริ่มต่อสู้ด้วยอาวุธขึ้นในปี พ.ศ. 2508 ดังกล่าวแล้ว

ยิ่งมีปัญหาในการใช้กำลังมากก็ยิ่งทำให้กองทัพไทยต้องพึ่งพาสหรัฐอเมริกามากขึ้น มีการส่งกำลังพลของกองทัพไปศึกษาในสหรัฐมาก มีที่ปรึกษาของกองทัพสหรัฐที่เข้ามาคอยแนะนำ และให้ความช่วยเหลือทางทหารมากขึ้น และด้วยความช่วยเหลือ รวมทั้งคำแนะนำดังกล่าว ส่งผลให้กองทัพกำหนดภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์เป็น ภัยคุกคามด้านการทหาร ที่เกิดจากกองโจรของฝ่ายตรงข้าม ที่ส่งเข้ามาในช่วงสงครามตามแบบ หน่วยงานต่าง ๆ ของกองทัพจึงมุ่งฝึก มุ่งจัดเตรียมไปในทิศทางของการต่อสู้กับกองโจรเป็นหลัก แต่ผลที่ออกมาปรากฏว่า พรรคคอมมิวนิสต์ได้ขยายตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายเป็นแนวทางการเมืองนำการทหาร[69] โดยมิได้แก้ปัญหาเฉพาะปัญหาเปลือกนอกที่เป็นปัญหาด้านการทหารเท่านั้น แต่ได้มองลึกลงไปถึงรากเหง้าของปัญหา ที่เป็นเรื่องของความเชื่อในอุดมการณ์ทางการเมืองของประชาชนที่เป็นคนชาติเดียวกัน การเข้าไปแก้ปัญหาในลักษณะดังกล่าว กองทัพต้องการความเป็นเอกภาพในการแก้ปัญหาที่มีความหลากหลาย ทั้งปัญหาด้านการทหาร ปัญหาด้านการเมือง และปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นพื้นฐานความอยู่รอดและความผาสุขของประชาชน ส่งผลให้กองทัพต้องผลักดันให้มีการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจต่าง ๆ เช่น ศูนย์รักษาความปลอดภัย, หน่วยบัญชาการพลเรือน ตำรวจ ทหาร, หน่วยทหารพราน และ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในในแต่ละระดับขึ้น โดยมีบุคลากรของกองทัพเป็นแกนนำในการปฏิบัติตั้งแต่ระดับชาติ จนถึงระดับท้องถิ่นที่มีปัญหารุนแรง การจัดตั้งหน่วยต่าง ๆ ดังกล่าว รวมทั้งนโยบายการเมืองนำการทหาร ได้ส่งผลให้การแก้ปัญหาคอมมิวนิสต์ดังกล่าวได้สงบลงไปด้วยการหันหน้าเข้าหารือกัน ปรึกษากัน ผู้ก่อการร้ายหันมาวางอาวุธเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และร่วมกันพัฒนาชาติไทยในที่สุด

นอกจากการจัดตั้งหน่วยงาน หรือส่งบุคลากร เข้าไปทำงานเพื่อการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ จากการกระทำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยแล้วนั้น ในขณะเดียวกันก็ได้มีการจัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อขจัดเงื่อนไขความยากจนของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล โครงการต่าง ๆ เหล่านี้มีทั้งโครงการที่รัฐบาลได้กำหนดขึ้นมา หรือเป็นโครงการตามพระราชดำริขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงกำหนดโครงการต่าง ๆ ขึ้นมา เพื่อการแก้ปัญหาความยากจน และความขัดแย้งในสงคม ตลอดจนเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่นการเข้าไปแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อย ประชาชนในที่สูง และประชาชนตามแนวชายแดน โครงการต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้หน่วยทหารที่เกี่ยวข้อง ได้มีบทบาทเข้าไปดำเนินงานการพัฒนาประเทศ ในรูปแบบของการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ และการดำเนินงานตามโครงการพระราชดำริมากยิ่งขึ้น เช่น ได้มีการจัดหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ ซึ่งปัจจุบัน คือ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาของกองบัญชาการทหารสูงสุด และมีการจัดตั้งกองพลพัฒนาในระดับกองทัพบก และมีการจัดหน่วยทหารพัฒนาในพื้นที่เฉพาะโดยทั่วไป

นอกจากปัญหาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่กล่าวไปแล้วนั้น ประเทศไทยยังมีปัญหาด้านความมั่นคงที่สำคัญอีกปัญหาหนึ่งได้แก่ ปัญหาความต้องการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง จากแนวความคิดของกลุ่มที่เชื่อว่าจังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางพื้นที่ในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประชาชนโดยส่วนใหญ่มีศาสนา วัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ควรจะได้มีการปกครองตนเองแยกออกไปจากประเทศไทย การแก้ปัญหาดังกล่าวกองทัพก็ได้เข้าไปมีบทบาทเป็นอย่างมากทั้งในการปราบปรามด้วยกำลัง และการพัฒนาในรูปของโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการทักษิณพัฒนา โครงการความหวังใหม่ หรือโครงการฮารัปปันบารู รวมทั้งโครงการในพระราชดำริอีกมากมาย ที่ลงไปเชื่อมประชาชนในประเทศเข้าด้วยกัน จนปัญหาดังกล่าวได้ลดความรุนแรงลงไปจนถึงปัจจุบัน

ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ไม่สามารถมั่นใจได้ว่า ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ และมีประเทศอภิมหาอำนาจในค่ายคอมมิวนิสต์ ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง จะคิดมารุกรานอธิปไตยของประเทศในวันใดวันหนึ่งหรือไม่ อีกทั้งการที่ประเทศเหล่านั้น ได้ให้การสนับสนุนต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย รวมทั้งมีการเคลื่อนกองทัพมาประชิดติดชายแดนไทยในบางห้วงเวลา ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ประเทศไทย พยายามพัฒนากองทัพ เพื่อให้มีความพร้อมที่จะปฏิบัติการสงครามตามแบบ นอกเหนือไปจากการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และการพัฒนาประเทศตามที่ได้กล่าวไปแล้ว กองทัพได้พยายามจัดโครงสร้างของกองทัพสำหรับการสงครามสมัยใหม่ โดยการพัฒนาตามแบบของสหรัฐอเมริกา ดังเห็นได้ว่ากองทัพบกได้จัดให้มีหน่วยเคลื่อนที่เร็วในรูปแบบหน่วยส่งกำลังทางอากาศ และหน่วยเคลื่อนที่ทางอากาศขึ้น จัดให้มีหน่วยรถสายพานลำเลียงพลในระดับกองพลขึ้น กองทัพอากาศก็เร่งพัฒนากองบินเครื่องบินขับไล่ขึ้น ในขณะที่กองทัพเรือก็พยายามมีกองเรือที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ในยุคนี้ประเทศไทย ต้องเผชิญทั้งภัยคุกคามจากภายนอก และจากภายใน อีกทั้งขอบเขตของภัยคุกคามนั้นได้เริ่มเปลี่ยนรูปแบบไป มีความลึกซึ้ง และต้องการความรอบคอบในการพิจารณาปัญหาภัยคุกคาม และแสวงหาแนวทางในการแก้ปัญหามากยิ่งขึ้น ปัญหาความมั่นคงแห่งชาติ มิได้ขึ้นกับความเข้มแข็งด้านการทหารแต่เพียงอย่างเดียวเช่นในอดีตแล้ว ขอบเขตของปัญหาที่เกิดขึ้น ได้ก้าวล้ำเข้าไปสู่การต่อสู้กันด้านแนวความคิด และอุดมการณ์ในการปกครองประเทศ ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นปัญหาทางด้านการเมืองการปกครอง ส่งผลให้แนวทางในการแก้ปัญหาต้องเปลี่ยนไปด้วย

การใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เป็นตัวอย่างอันดีของการไม่เข้าใจสภาพของปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง จึงต้องมีการประยุกต์นำพลังอำนาจด้านการเมือง มาใช้ผสมผสานพลังอำนาจด้านการทหาร เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ในรูปแบบการเมืองนำการทหารตามที่ได้กล่าวไปแล้ว นอกจากนี้ ด้วยวิวัฒนาการของเทคโนโลยี่ และการเผยแพร่วัฒนธรรมตะวันตก ความสะดวกสะบาย ความคาดหวังในชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชากร ความเป็นเสรีประชาธิปไตยที่ค่อย ๆ กระจายไปสู่สังคมระดับล่างของประเทศ ได้ส่งผลให้ประชาชนมีความต้องการด้านความเจริญทางวัตถุมากขึ้น อีกทั้งเมื่อปัญหาด้านเศรษฐกิจ คือ เงื่อนไขสำคัญยิ่งในการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้ปัญหาเศรษฐกิจต้องเป็นปัญหาที่รัฐบาลจะละเลยไม่ได้ ทำให้พลังอำนาจด้านเศรษฐกิจต้องถูกนำมาใช้ในการแก้ปัญหาด้านความมั่นคงของประเทศด้วย

การใช้พลังอำนาจด้านการเมือง และด้านเศรษฐกิจที่กล่าวไปแล้วนั้น กล่าวกันไปแล้วในสังคมยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในสภาพของสังคมไทย มิได้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของกองทัพที่จะใช้พลังอำนาจดังกล่าวนี้โดยตรง แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยการเข้าไปมีอิทธิพลต่ออำนาจด้านการเมือง ตั้งแต่เมื่อเริ่มเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งด้วยสถานการณ์ของประเทศ ที่ส่งผลให้ประเทศไทยของเรามีผู้นำประเทศส่วนมากมีพื้นฐาน หรือความเป็นมาจากผู้นำทางทหารมาก่อน สถานการณ์ของสังคมในภูมิภาค และในระดับโลกที่ทำให้สังคมไทยยังคงมีความต้องการผู้นำที่มีความเข็มแข็ง เพื่อนำประเทศต่อสู้กับภัยคุกคามทั้งภายนอกและภายในที่กำลังเผชิญอยู่ อีกทั้งประเด็นที่สำคัญก็คือ กระบวนการแก้ปัญหาในระดับผู้ปฏิบัติเวลานั้น นอกเหนือจากกองทัพแล้ว หน่วยงานอื่น ๆ ทั่วไปค่อนข้างจะไม่พร้อมที่จะเข้าไปแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เต็มไปด้วยภัยอันตรายต่อผู้ปฏิบัติ จึงทำให้กำลังพลของกองทัพเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการดำเนินงานอยู่อย่างมากในช่วงเวลาดังกล่าว และกลับกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการแก้ปัญหา

บทบาทของกองทัพในห้วงสงครามเย็น จึงมีทั้งบทบาททางการทหารที่เข้าไปใช้กำลังรบ หรือใช้พลังอำนาจด้านการทหารในการป้องกันประเทศ บทบาทการรักษาความมั่นคงภายในด้วยการต่อสู้กับกองโจรของฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งบทบาทของทหารจะเป็นรูปแบบที่ใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร โดยใช้สายงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน และบทบาทด้านการพัฒนาประเทศ

ในแต่ละพื้นที่ บทบาทดังกล่าวนี้ โดยแท้จริงแล้วเป็นการเข้าไปทำงานทดแทน หรือสนับสนุนบทบาทด้านการเมืองการปกครองภายในประเทศของกระทรวงมหาดไทยนั่นเอง

นอกจากนี้แล้ว ด้วยความพยายามใช้นโยบายการเมืองนำการทหารดังกล่าว ได้มีความพยายามกำจัดปัญหาเงื่อนไขทางเศรษฐกิจในสังคม ซึ่งเป็นเงื่อนไขหลักของฝ่ายคอมมิวนิสต์ และด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีต่อปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ ได้ทรงรับสั่งให้กองทัพเข้าไปดำเนินงานตามโครงการพระราชดำริ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ และยกระดับสภาพทางด้านเศรษฐกิจของประชาชนไทยในพื้นที่ธุรกันดารต่าง ๆ ทำให้กองทัพได้มีโอกาสใช้ขีดความสามารถของกำลังพลในกองทัพไปทำงาน ด้านการพัฒนาประเทศ ด้วยการมอบหมายงานโครงการต่าง ๆ ไปให้กับหน่วยในสายงานของ กอ.รมน. หรือแม้แต่หน่วยงานของกองทัพด้านการพัฒนาประเทศโดยทั่วไป และงานด้านการพัฒนาดังกล่าวนี้ก็คือ บทบาททหารในการใช้พลังอำนาจด้านเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ และสภาพความเป็นอยู่โดยทั่วไปของประชาชน แทนหน่วยงานข้าราชการพลเรือนอื่น ๆ

ภัยคุกคามที่มีมาจากภายนอก เป็นการคุกคามด้วยกำลังทางทหาร ที่มาจากการแนวโน้มของการรุกรานเข้ามาของประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ เป็นภัยที่ต้องใช้พลังอำนาจด้านการทหารในการป้องกันประเทศเพื่อรักษาความมั่นคง และความปลอดภัยของประเทศชาติ ประชาชน อธิปไตย และดินแดนของตนไว้โดยตรง เป็นบทบาทของทหารโดยตรงที่ต้องรับผิดชอบ และเป็นบทบาทที่กองทัพจะปล่อยให้บกพร่อง หรือมีความผิดพลาดไม่ได้ ทั้งนี้ก็เพราะความหวังของประเทศชาติทั้งสิ้น ฝากไว้กับการป้องกันประเทศจากภัยคุกคามด้านการทหารที่มาจากภัยนอกประเทศดังกล่าว



3. การกำหนดยุทธศาสตร์ทหาร

จากสถานการณ์อันซับซ้อนต่าง ๆ ในยุคนี้ที่ได้กล่าวไปแล้ว การที่กองทัพจะกำหนดบทบาทหรือภารกิจอย่างใดนั้น จำเป็นต้องมีกระบวนการที่เป็นระบบ ซึ่งมีการกลั่นกรองพิจารณาโดยรอบคอบ กระบวนการสำคัญที่กองทัพใช้ก็คือ การกำหนดยุทธศาสตร์ทหาร ซึ่งอาศัยแนวความคิดในลักษณะเดียวกันกับการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ

การกำหนดยุทธศาสตร์ทหาร ก็คือ การกำหนดวัตถุประสงค์ทางทหาร และแนวความคิดทางยุทธศาสตร์ทหารนั่นเอง โดยทั้งนี้ มีขั้นตอนในการดำเนินการอยู่ทั้งสิ้น 5 ขั้นตอนตามผังที่ได้แสดงไว้ และมีรายละเอียดในการกำหนดยุทธศาสตร์ทหารคือ[70]

1. การพิจารณาหาความมุ่งประสงค์ทางทหาร เป็นการรวบรวมข้อมูลเพื่อค้นหาความมุ่งหมายทางทหาร ด้วยการพิจารณาจาก รัฐธรรมนูญ พ.ร.บ. การจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม, พ.ร.บ. และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของกองทัพ, นโยบายความมั่นคงแห่งชาติที่ออกมา, คำสั่งเฉพาะต่าง ๆ ที่ออกมาโดยรัฐบาล หรือหน่วยเหนือ พระราชดำรัส หรือพระราชดำริของพระมหากษัตริย์ไทย นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ นโยบายทางทหารของกระทรวงกลาโหม โดยผลที่ออกมานั้น อาจเป็นในเรื่อง การเตรียมทำสงคราม, การป้องปราม และขัดขวางการเกิดสงคราม, การรักษาเอกราช และอธิปไตยของชาติ, การพัฒนาประเทศ หรือ การรักษาทรัพยากรและผลประโยชน์ชาติ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายประการก็ได้

2. การประเมิน และกำหนดยุทธศาสต์ทหารขั้นต้น เป็นการแปลงวัตถุประสงค์แห่งชาติ และนโยบายแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับด้านการทหาร ซึ่งก็คือ ความมุ่งประสงค์ทางทหารที่ได้มาจากขั้นตอนที่หนึ่ง มาเป็นวัตถุประสงค์ทางทหาร และแนวความคิดทางยุทธศาสตร์ทหารเผื่อเลือก โดยมีลำดับในการดำเนินการคือ

2.1 การวิเคราะห์วัตถุประสงค์แห่งชาติ และนโยบายแห่งชาติ เพื่อกำหนดหาพันธะทางการทหาร ที่ต้องกระทำเพื่อตอบสนองต่อวัตถุประสงค์แห่งชาติ และนโยบายแห่งชาติดังกล่าว เป็นการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติ เข้ากับยุทธศาสตร์ทหารต่อไป

2.2 การตรวจสอบสถานการณ์ และสภาวะแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เป็นการตรวจสอบสถานการณ์ทั้งภายใน และภายนอกประเทศเพื่อกำหนดออกมาเป็น ภัยคุกคาม และโอกาสในการดำเนินงานด้านการทหารต่อไป ซึ่งในขั้นนี้ก็คือ การจัดทำประมาณการข่าวกรองร่วมทางยุทธศาสตร์ระยะปานกลางนั่นเอง

2.3 การวิเคราะห์ผลกระทบของสถานการณ์ ที่จะมีผลต่อวัตถุประสงค์ทางทหาร เป็นขั้นตอนในการนำผลจากข้อ 2.2 มาวิเคราะห์หาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการดำเนินงานด้านการทหาร ทั้งผลกระทบเชิงบวก หรือโอกาส และผลกระทบเชิงลบ หรือภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น

2.4 การกำหนดวัตถุประสงค์ทางทหารเผื่อเลือก เป็นการนำเอาผลของการวิเคราะห์ความมุ่งประสงค์ทางทหาร และพันธะทางทหาร ที่ได้มาจากวัตถุประสงค์แห่งชาติ และนโยบายแห่งชาติ มาทำการวิเคราะห์เข้ากับสถานการณ์ สภาวะแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง และผลกระทบต่อกิจการทางทหาร ออกมาเป็นวัตถุประสงค์ทางการทหารเผื่อเลือกที่เป็นไปได้ ทั้งนี้วัตถุประสงค์ดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งสามารถตอบสนองต่อนโยบายแห่งชาติ และวัตถุประสงค์แห่งชาติได้

2.5 การกำหนดแนวความคิดทางยุทธศาสตร์เผื่อเลือก เป็นการกำหนดแนวความคิดทางยุทธศาสตร์เผื่อเลือกที่เป็นไปได้ ที่สามารถตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ทางทหารเผื่อเลือกแต่ละประการที่ได้กำหนดไว้ในข้อ 2.4 โดยการกำหนดแนวความคิดทางยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ และสภาวะแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง

3. การวิเคราะห์ และกำหนดยุทธศาสตร์ทหาร เป็นการนำเอาผลจากวัตถุประสงค์ทางทหารเผื่อเลือก และยุทธศาสตร์ทางทหารเผื่อเลือกในข้อ 2 มาทำการวิเคราะห์หาความเป็นไปได้ ข้อดี ข้อเสีย การตอบสนองต่อนโยบายแห่งชาติ และวัตถุประสงค์แห่งชาติ เพื่อกำหนดออกมาเป็นวัตถุประสงค์ทางทหาร และยุทธศาสตร์ทางทหารที่ดีที่สุด

4. การวิเคราะห์โครงสร้างทหารเผื่อเลือก เป็นขั้นตอนหลังจากที่ได้มีการกำหนดวัตถุประสงค์ทางทหาร และยุทธศาสตร์ทางทหารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กล่าวคือ มีจุดหมายหรือเป้าหมาย หรือ Ends ซึ่งก็คือ วัตถุประสงค์ทางทหาร และมีหนทางปฏิบัติ หรือ Ways ซึ่งก็คือ แนวความคิดทางยุทธศาสตร์ทหารแล้ว ต่อไปก็จะต้องกำหนด วิธีการ หรือ เครื่องมือ หรือMeans ออกมา ซึ่งก็คือ การวิเคราะห์กำหนดโครงสร้างทางทหารเผื่อเลือกขึ้นมา เพื่อตอบสนอง ต่อการนำเอาแนวความคิดยุทธศาสตร์ทางทหารไปใช้ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางทหารที่ได้ตั้งไว้ สำหรับขั้นตอนในการวิเคราะห์โครงสร้างนี้สามารถแยกได้เป็น

4.1 การวิเคราะห์ และกำหนดภัยคุกคาม เป็นการทบทวนสถานการณ์ สภาวะแวดล้อม และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อกิจการทหาร และกำหนดออกมาเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงด้านการทหาร และภัยคุกคามต่อการไปให้ถึงวัตถุประสงค์ทางทหาร
4.2 การประมาณการขีดความสารถทางทหารที่ต้องการ เป็นการประมาณการกำหนดกำลังทหาร และขีดความสามารถด้านการทหารที่ต้องการ เพื่อตอบสนองต่อแนวความคิดทางยุทธศาสตร์ทหาร ที่จะไปให้ถึงวัตถุประสงค์ทางทหาร และฝ่าฟันอุปสรรคจากภัยคุกคามต่าง ๆ ไปได้

4.3 การประมาณการโครงสร้างทางทหารเผื่อเลือก เป็นการนำเอาผลจากข้อ 4.2 มากำหนดเป็นโครงสร้างทางทหารเผื่อเลือกที่เป็นไปได้ ที่จะสร้างกำลังทหาร และขีดความสามารถที่ต้องการออกมา โดยทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงกำลังพล โครงสร้างที่เป็นอยู่ งบประมาณที่มี และข้อจำกัดในด้านกฎหมาย ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นต้น

5. การกำหนดวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างอำนาจกำลังรบ เป็นการดำเนินการในการกำหนดขั้นตอนขึ้นมา เพื่อพัฒนาโครงสร้างทางทหารเพื่อไปให้ถึงโครงสร้างที่ต้องการ มุ่งสู่การให้ได้มาซึ่งขีดความสามารถ และกำลังทางทหารที่ได้กำหนดไว้ เพื่อตอบสนองต่อแนวความคิดทางยุทธศาสตร์ทหาร และวัตถุประสงค์ทางทหาร โดยมีขั้นตอนในการพิจารณาคือ

5.1 การกำหนดการเสริมสร้างกำลังรบตามลำดับ และงบประมาณที่ต้องการ เป็นการกำหนดความเร่งด่วนในการเสริมสร้างกำลังรบ หรือโครงสร้างกองทัพเพื่อให้มีขีดความสารถที่จะเผชิญต่อภัยคุกคามในระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาว หรือต้องตอบสนองต่อแนวความคิดทางยุทธศาสตร์ทหารในห้วงแรกของแนวความคิด และในห้วงต่อ ๆ ไป โดยทั้งนี้จะมีความเกี่ยวพันกับทรัพยากร งบประมาณที่มีอยู่ งบประมาณที่จะได้รับในแต่ละห้วง ซึ่งจะทำให้เราสามารถเลือกโครงสร้างกองทัพที่เหมาะสม และขั้นตอนในการพัฒนากองทัพให้ไปสู่จุดนั้นได้ดีที่สุด
5.2 การกำหนดกิจกรรมที่ต้องปฏิบัติ หลังจากได้โครงสร้างกองทัพที่เหมาะสม และขั้นตอนในการดำเนินงานเพื่อพัฒนากองทัพให้ไปสู่จุดนั้นได้แล้ว ในขั้นตอนนี้ก็จะเป็นการกำหนดกิจกรรมต่าง ๆ ในรายละเอียดออกมาเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการพัฒนากองทัพไปสู่จุดดังกล่าวได้

ขั้นตอนการกำหนดยุทธศาสตร์ทหาร

การพิจารณาหาความมุ่งประสงค์ทางทหาร








การประเมิน และกำหนดยุทธศาสตร์ทหารขั้นต้น
- การวิเคราะห์วัตถุประสงค์แห่งชาติ และนโยบายแห่งชาติ เพื่อกำหนดเป็นวัตถุประสงค์ทางทหารต่อไป
- การตรวจสอบสถานการณ์ และสภาวะแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง
- การวิเคราะห์ผลกระทบของสถานการณ์ ที่จะมีผลต่อวัตถุประสงค์ทางทหาร
- การกำหนดวัตถุประสงค์ทางทหารเผื่อเลือก
- การกำหนดแนวความคิดทางยุทธศาสตร์เผื่อเลือก
การวิเคราะห์ และกำหนดยุทธศาสตร์ทหาร
- การวิเคราะห์ และเลือกวัตถุประสงค์ทางทหาร
- การวิเคราะห์ และเลือกแนวความคิดทางยุทธศาสตร์ทหาร
การวิเคราะห์โครงสร้างทางทหารเผื่อเลือก
- การวิเคราะห์ และกำหนดภัยคุกคาม
- การประมาณการขีดความสารถทางทหารที่ต้องการ
- การประมาณการโครงสร้างทางทหารเผื่อเลือก

การกำหนดวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างกำลังรบ
- การกำหนดการเสริมสร้างกำลังรบตามลำดับ และงบประมาณที่ต้องการ
- การกำหนดกิจกรรมที่ต้องกระทำ


















































รูปที่ 5 ผังแสดงขั้นตอนการกำหนดยุทธศาสตร์ทหาร







จากยุทธศาสตร์ทหารที่กำหนดขึ้น กองทัพได้กำหนดวัตถุประสงค์ที่ต้องการในการปฏิบัติไว้อย่างแน่ชัด กำหนดวิธีการที่จะปฏิบัติเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์นั้น รวมถึงทรัพยากรที่จะต้องใช้ในการปฏิบัติ ส่งผลให้กองทัพบกที่มีภารกิจในการเตรียมกำลังทางบก และป้องกันอาณาจักร ได้กำหนดพันธกิจของตนออกมาเป็นพันธกิจหลักของสี่ประการ คือ

- การป้องกันราชอาณาจักร หรือการป้องกันประเทศจากภัยคุกคามจากภายนอก

- การรักษาความมั่นคงภายใน หรือการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ

- การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และ

- การพัฒนาประเทศ[71]

โดยภารกิจทั้งสี่ประการนี้ ครอบคลุมขอบเขตของการปฏิบัติการทางทหาร ในการทำสงคราม รวมทั้งการเข้าไปมีส่วนร่วมทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมจิตวิทยา โดยบทบาทของกองทัพที่จะเข้าไปเป็นผู้ดำเนินการหลัก หรือเข้าไปเป็นสนับสนุนขึ้นอยู่กับสถานการณ์

บทบาทของกองทัพในทุกด้าน ในห้วงสงครามเย็น ส่งผลให้กองทัพมีโอกาสเป็นตัวแสดงหลักเช่นเดียวกับในยุคที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น การแบ่งแยกหน้าที่ที่ชัดเจน และสมบูรณ์ขึ้น จนสังคมทหารค่อนข้างจะถูกแยกออกจากสังคมพลเรือนโดยเด่นชัดขึ้น อีกทั้งความแตกแยกของกลุ่มผู้นำด้านการทหาร และด้านพลเรือนในอดีต สถานการณ์ของการก่อความไม่สงบเรียบร้อยในเขตเมืองหลวง และการแก้ไขปัญหาที่ไม่ได้คำนึงถึงการสร้างความปรองดองขึ้นในสังคม ได้ส่งผลให้การปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ ตามบทบาทหลักของกองทัพไม่ได้รับความเข้าใจที่ชัดเจนจากประชาชน โดยเฉพาะในภารกิจที่มิใช่การป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของกองทัพที่จะต้องอธิบาย สร้างความเข้าใจ และทำความชัดเจนให้เกิดขึ้นให้ได้ ภารกิจของกองทัพก็จะสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพตามยุทธศาสตร์ทหารที่กำหนดไว้



4. บทสรุป

กล่าวโดยสรุป บทบาทของกองทัพไทยในห้วงสงครามเย็นได้แก่

- การป้องกันประเทศจากภัยคุกคามจากภายนอกประเทศ

- การรักษาความมั่นคงภายในจากปัญหาความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ความคิด

- การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ จากปัญหาการก่อความไม่สงบในเขตเมือง




 

Create Date : 03 กุมภาพันธ์ 2550
0 comments
Last Update : 3 กุมภาพันธ์ 2550 18:54:48 น.
Counter : 972 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


Street Fighting Man
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ถึงชนจะชิงชัง แต่กูยังจะหยัดยืน
กู้เกียรติที่มารกลืน ให้มวลชนเข้าใจใจ
กูชาติทหารหาญ ประวัติการณ์นั้นยาวไกล
พิทักษ์ไผทไทย นี้สืบทอดมายาวนาน
ทหารไทยบ่ขายชื่อ บ่ขายชาติและวิญญาณ
เกียรติยศอุดมการณ์ บ่ขายกินเป็นเงินตรา
เพื่อผองประชาชาติ จะพลีชีพให้ลือชา
ลบคราบน้ำตา…อา ! ที่อาบนองแก้มผองชน
ผู้นำผู้ใดดี จะร่วมทางด้วยอดทน
ผู้นำที่เดนคน จะคัดค้านไม่เกรงใคร
น้ำใจนี้เดี่ยวเด็ด ดั่งเหล็กเพชรที่ทนไฟ
เนื้อร้ายต้องตัดไป ไม่ลังเลให้คนแคลน
ถึงแม้สมุนมาร จะคงคอยคำรามแทน
อุปสรรคถึงเหลือแสน จะบุกหน้าบ่ถอยหลัง
มอบรักต่อคนดี และต่อผีคือชิงชัง
ผีดิบจะล้มดัง เพราะเรี่ยวแรงที่ระดม
เสียงสูคือเสียงผี ที่หลอกคนด้วยคารม
[Add Street Fighting Man's blog to your web]