|
|
|
|
|
|
|
 |
 |
 |
 |
2022 สึนามิ วันโลกสังหาร เสียงเตือนจากผู้กำกับที่ถูกตราหน้าว่า บ้า ที่สุดในวงการหนังไทย ทรนง ศรีเชื้อ
คอลัมน์ CLOSER นิตยสาร FILMAX
คนรุ่นเก่าอาจคุ้นเคยเขาจากผลงานที่ถ่ายทอดความบ้าคลั่งของสงครามใน สัตว์สงคราม, มหาราชดำ, ถล่มค่ายนรกจางซีฟู, แหกนรกเวียดนาม, นักรบประจัญบาน, กัมพูชา และผลงานที่ถ่ายทอดความดิบเถื่อนของสันดานมนุษย์ใน อุบัติโหด
คนรุ่นกลางอาจคุ้นเคยกับเขาจากผลงานที่ถ่ายทอดความกระสันของมนุษย์และความบิดเบี้ยวของสังคมใน กลกามแห่งความรัก, สวรรค์ชั้น 7 และมาม่าซัง
คนรุ่นใหม่อาจส่ายหน้าเมื่อนึกถึงผลงานที่ประสบความล้มเหลวทั้งด้านรายได้และเสียงวิจารณ์ของเขาอย่าง อมนุษย์
เขาเคยถูกตราหน้าว่าบ้า เสียสติ เขาเคยตัดนิ้วตัวเอง!
แต่ก่อนที่บ้านเราจะมีผู้กำกับออเตอร์ที่นักวิจารณ์ต่างชาติพากันยกย่องว่าเป็นคนทำหนังที่เปี่ยมสไตล์เฉพาะตัว อย่าง อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือ เป็นเอก รัตนเรือง เขาคนนี้เป็นคนทำหนังที่มีความเป็นตัวของตัวเองเด่นชัดที่สุดคนหนึ่งในวงการหนังบ้านเราโดยไม่ต้องยกเอาทฤษฎีอะไรมาอ้างอิง การันตี
หลังผิดหวังจากความล้มเหลวของผลงานเรื่องล่าสุดเมื่อหลายปีที่ผ่านมา วันนี้เขากลับมาอีกครั้งกับผลงานที่เป็นเสมือนดั่งเสียงเตือนต่อคนกรุงเทพฯ และมนุษยชาติ
อีก 13 ปีข้างหน้า มหานครกรุงเทพฯ จะเกิดภัยพิบัติ ! เป็นคำพูดที่อาจจะฟังดูเพ้อเจ้อ ไร้สาระ แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปีก่อน ถ้ามีใครมาบอกว่าบ้านเราจะมีคลื่นยักษ์สึนามิ คงจะถูกหัวเราะเยาะ และตราหน้าว่าบ้าเหมือนกัน มิใช่หรือ?
มาร่วมกันฟังไปพร้อมๆ กันกับเราเถอะว่า ผู้กำกับที่ถูกคนดูปรามาสว่า บ้า ที่สุดในวงการหนังไทยอย่าง ทรนง ศรีเชื้อ คนนี้จะมีอะไรมาเตือนเราบ้าง
FILMAX : เริ่มแรกเลย คุณอาบอกว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทำไมถึงหันมาสนใจเรื่องพวกนี้ล่ะครับ ทรนง : เมื่อประมาณซัก 18 ปีที่แล้ว ผมจะทำหนังเรื่องเขื่อนดงดิบ ประกาศสร้างแล้วนะ แล้วก็เซ็ตงานแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงนะลงข่าวหนังสือพิมพ์ด้วย คือมันเกิดแผ่นดินไหว แล้วเขื่อนแตก จากสมัยนั้นจนถึงวันนี้มันก็ยังเป็นเรื่องหวาดผวาอยู่ ของคนเมืองกาญจน์ คนราชบุรี กลัวเขื่อนเขาแหลม เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนท่าทุ่งนาแตก ซึ่งตอนนั้นผมก็ไปถ่ายหนังอยู่แถวนั้นประจำ เราเคยถ่ายหนังกันอยู่แล้วก็ต้องวิ่งหนีกันทั้งกองมาแล้ว สมัยถ่ายจางซีฟู เพราะชาวบ้านจะกลัวเขื่อนแตก อยู่ๆ ชาวบ้านก็วิ่งมา เร็วๆ เค้าประกาศว่าเขื่อนแตก แผ่นดินไหว ซึ่งเราเห็นแล้วว่า คนไทยไม่คุ้นกับตรงนั้น แต่คนในพื้นที่กาญจนบุรีตั้งแต่ศรีสวัสดิ์ลงมาเจอปัญหานี้ตลอด ผมก็เลยหยิบปัญหาเรื่องเขื่อนมาทำ แต่ผมก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะว่าเขื่อนทุกเขื่อนนั้นก็อยู่ในพระราชดำริ เราก็เลยไม่ทำ ถ้าจะพูดอะไรซักเรื่องก็อย่าพูดเรื่องนี้ดีกว่า แต่ช่วงนั้นผมก็ได้หาข้อมูลไปแล้ว และการหาข้อมูลตรงนั้นเนี่ย มันทำให้ผมสนใจสิ่งแวดล้อมตั้งแต่นั้นมา แล้วก็สนใจรอยเลื่อนทั้งหลายแหล่ ซึ่งรอยเลื่อนทั้งหมดเนี่ย คนไทยเมื่อก่อนพอได้ยินเรื่องแผ่นดินไหวแล้วคนไทยหัวเราะ แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดที่เราเจอกันมาก็คือ ปี 2526 ที่ไหวแล้วตึกประมาณ 7-8 ชั้นขึ้นไปเนี่ย สั่นหมด เพราะว่าแผ่นดินในกรุงเทพฯ เนี่ย เป็นโคลน เป็นดินที่อ่อนนุ่ม เพราะฉะนั้นเวลาไหวมันจะไหวรุนแรงมาก เมื่อวานผมก็ได้อ่านข่าวจากหนังสือ แต่ไม่ได้อ่านละเอียดนักว่า มีการพบรอยแยกที่หลักสี่ หรือบางบัวทอง ซึ่งรอยแยกนี้ต้องมีการเอานักธรณีวิทยามาทำการค้นคว้าจากวันนี้เป็นต้นไป อีก 3 ปีถึงจะรู้ผล ที่นี้เมื่อผมได้ศึกษาข้อมูลสิ่งแวดล้อมโลกเนี่ย มันทำให้เราเรียนรู้อะไรเยอะแยะ ผมเนี่ยเป็นคนค่อนข้างจะบ้า คือเก็บข้อมูลเป็นดีวีดี ไม่สิ สมัยนั้นไม่ได้เป็นดีวีดี เป็น VHS วิดีโอเทป มีเป็นร้อยๆ ม้วน เกี่ยวกับทอร์นาโอ เฮอร์ริเคน น้ำท่วม วาตภัย ภูเขาไฟระเบิด เก็บนี่คือ เก็บๆๆ แล้วก็นั่งดูๆๆ จนมีความรู้สึกว่า โอ้โห ตัวเองเรียนภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์มาเหมือนวัวเหมือนควายน่ะ เพิ่งมาเข้าใจว่าโลกของเรา ที่คนทั่วๆ ไป ส่วนใหญ่ 90% มีความคิดว่า เราอยู่บนแผ่นดิน แล้วใต้ดินลงไปเนี่ย มันแข็งๆๆ เพราะเวลาเราขุดดินเรารู้สึกว่ายิ่งลึกมันยิ่งแข็ง แต่ในแง่ของความเป็นจริงแล้วมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น แกนกลางของเปลือกโลกมันมีแร่ธาตุหลอมละลาย ใจกลางของโลกมันไม่ได้แข็งเป็นเหล็กกล้า มันเคลื่อนไหว เพราะฉะนั้น เปลือกโลกที่เราอยู่ ความหนาประมาณ 30-60 กิโลเนี่ย มันเปราะบางมาก ถ้าเทียบกับอัตราส่วนของโลก ตรงนี้ทำให้ผมสนใจ พอสนใจเสร็จมันก็ตามไปถึงสิ่งแวดล้อมโลก ว่าทำไมถึงเกิดภูเขาไฟระเบิด ทำไมถึงเกิดอะไรต่ออะไร ก็ไปศึกษาตั้งแต่ ภูเขาไฟ การากาตั๊ว ของอินโดนีเซีย ปินาตุโบ ของฟิลิปปินส์ ไปถึงแผ่นดินไหวในอเมริกาในตุรกี แล้วหลังจากนั้นมาเนี่ย ดร. สมิทธ ก็มาพูดเรื่องจะเกิด สึนามิ ก็ยิ่งสนใจใหญ่
FILMAX : ตอนนั้นที่คุณอากำลังค้นคว้าข้อมูลอยู่ ยังไม่ได้เกิดภัยพิบัติสึนามิขึ้นในบ้านเรา? ทรนง : ยังไม่มีๆ พอ ดร. สมิทธ บอกว่าจะเกิดสึนามิขึ้นแล้วคนก็ด่า ด่าท่านเละเลยนะ ไม่ได้ด่าธรรมดา คนภูเก็ตถึงกับไม่ให้ท่านเหยียบภูเก็ต แต่ไม่น่าเชื่อ ผมก็ตามข่าวนี้มาจนกระทั่งวันหนึ่ง เกิดสึนามิขึ้นจริงๆ ผมยังจำได้เลย คุณสรยุทธ์ (สุทัศนจินดา) นั่งอ่านข่าวอยู่ตอนเช้าแล้วก็หัวเราะ เค้าพูดในรายการทีวีว่า มีรายงานข่าวเข้ามาว่า มีคลื่นยักษ์ท่วมเข้ามาทางภูเก็ต คลื่นยักษ์ ผมไม่เข้าใจว่าคลื่นอะไร แต่หลังจากนั้นมาคุณสรยุทธ์ก็รู้ว่านั่นคือสึนามิ ขนาดผู้สื่อข่าวระดับที่มีภูมิความรู้อย่างคุณสรยุทธ์ ก็ยังไม่เชื่อว่าจะเกิดสึนามิ ซึ่งก็ไม่ใช่ความผิดของเค้า เพราะใครก็ไม่เชื่อ ก่อนหน้านั้น ถ้าใครทำหนังว่าเมืองไทยจะเกิดสึนามิเนี่ย เป็นคนเสียสติ คือเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่พอมันเกิดขึ้นมาจริงๆ แล้ว คนไทยก็รู้จักคำว่าสึนามิ นี่แค่ที่ภาคใต้ ขณะเดียวกัน หลังจากนั้นไม่นาน คนที่เชียงราย ลำปาง ลำพูน ก็เจอ แลนด์สไลด์ เค้าก็ได้พบว่า ไอ้ภูเขาที่เค้าอยู่น่ะ ซึ่งเค้าอยู่ในที่สูง ในชาตินี้คงไม่เจอน้ำท่วม แต่เค้าพบว่า หมู่บ้านที่เพชรบูรณ์ ที่อุตรดิตถ์ทั้งหมู่บ้าน มันหายไปเพราะแลนด์สไลด์ จนกระทั่งมาเกิดในปากีสถาน เกิดนาร์กิสในพม่า แล้วก็มาเกิดในเสฉวนของจี ในเดือนพฤษภา ทุกอย่างมันทำให้คนทุกวันนี้หันมาให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อมโลกมากกว่า 50% โดยเฉพาะคนไทย จากเมื่อก่อนนี้ คุณจะไปพูดเรื่องทอร์นาโด สึนามิอะไรเนี่ย คนไทยไม่รับเลย แต่วันนี้รับ แล้วในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาเนี่ย เราได้ค้นพบด้วยตัวเองว่า อากาศมันร้อนจัดจริงๆ แล้วเวลาหนาวก็หนาวผิดปรกติ ในกรุงเทพฯ มีคำว่าลมพัดกระโชก คัทเอาท์ตกทับคนตาย มีคำว่ากรุงเทพฯ ร้อนจัดจนอยู่กันแทบไม่ได้ คนแทบบ้าคลั่ง เวลาเย็น ซึ่งความเย็นไม่น่าจะมาถึงกรุงเทพฯ มันก็ถึง นักวิทยาศาสตร์ก็เพิ่งมาสรุปกันว่าเกิดจากแกนโลกเอียง ด้วยเหตุหลายๆ อย่าง มันทำให้มุมเบี่ยงเบนจากดวงอาทิตย์มันเปลี่ยนไปประมาณ 3 องศา ทั้งหมดทั้งปวงเนี่ย มันเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต เกี่ยวกับมนุษย์เรา เราก็เหมือนกับมดตัวเล็กๆ ที่อาศัยอยู่บนลูกกลมๆ ใบใหญ่ ซึ่งเคลื่อนที่และปรับตัวเองตลอดเวลา วันนึงมันอาจจะน้ำท่วมโลก วันนึ่งมันอาจจะไฟลุกทั้งโลก เหมือน ออสเตรเลีย แคลิฟอร์เนียโดน ซึ่งไม่ว่าจะไฟ น้ำ หรือว่าอุณหภูมิหนาวจัด ร้อนจัด เราก็ไม่สามารถจะยังชีพอยู่ได้ เพราะมนุษย์เปราะบาง แล้วมนุษย์ทุกวันนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อน คนเมื่อก่อนสามารถทนความหนาวจัด ร้อนจัดได้ เพราะเมื่ออากาศร้อนจัด เค้าไม่เคยอยู่ห้องแอร์ เวลาหนาวจัดก็ไม่ได้มีเครื่องทำความร้อน นั่นคือระบบที่มนุษย์อยู่กับธรรมชาติ แต่ทุกวันนี้ เด็กรุ่นใหม่อยู่กับห้องแอร์ ห้องปรับอากาศ เมื่อเค้าไปเจออุณหภูมิที่แตกต่างเพียง 2-3 องศา เค้าจะรู้สึกผิดปกติทันที เค้าจะรับไม่ได้ นั่นคือสิ่งที่ผมเรียนรู้มา
FILMAX : แล้วจากความสนใจตรงนั้น มันกลายมาเป็นหนังเรื่อง 2022 สึนามิ วันโลกสังหารได้ยังไงครับ ทรนง : หนังเรื่องสึนามิก็คือที่บอกว่าจะทำหนังเรื่อง เขื่อนดงดิบ แต่พอโปรเจ็กต์มันพับไป เราก็มาสนใจคำพูดของ ดร.สมิทธ ก็มาปรับบทในระดับนึง แต่พอสึนามิเกิดขึ้นที่ภูเก็ตจริงๆ เนี่ย ก็ปรับบทให้เข้ากับเหตุการณ์ แต่พอปรับเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็หยุดอีก ไม่กล้าทำเรื่องสึนามิในปี 2547 เพราะว่ามันสะเทือนใจเกินไป อีกอย่าง ผมมีความรู้สึกว่า คนไทยมีจุดอ่อนอยู่อย่างนึงคือ ถ้าอะไรที่ไม่ใช่ความทุกข์ยากที่เจอกับตัวเอง เค้าก็จะลืมมันได้ง่ายๆ ถ้าเราไปทำหนังสึนามิที่ภูเก็ตปี 2547 เนี่ย คนจะมีความรู้สึกว่า โอ๊ย! ตอนนั้นเค้าอยู่ที่เชียงใหม่ เค้าอยู่ที่กรุงเทพฯ มันไม่ได้มีผลกระทบกับเค้า
FILMAX : ไม่มีความรู้สึกร่วม ทรนง : ใช่ ไม่ใช่เรื่องของเค้า ผมเลยตั้งคำถามว่า เมื่อมันมีปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก สึนามิมันคงไม่เกิดที่ภูเก็ตอย่างเดียวหรอก มันน่าจะเกิดทุกที่ ที่มันอยู่ติดทะเล ผมก็เลยหยิบสึนามิในอนาคต ก็คืออีก 13 ปีข้างหน้า แต่สึนามิของผมไม่ใช่สึนามิที่อันดามันอย่างเดียว มันเป็นการระเบิดของภูเขาไฟการากาตั๊ว กับปินาตูโบ ในอินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์ และภูเขาไฟยวน ซึ่งอยู่ปลายแหลมเกาะกูดของไทย ซึ่งภูเขาไฟลูกนี้ค้นพบมาประมาณ 40, 50 ปีแล้ว แล้วตอนนี้ภูเขาไฟใต้น้ำลูกนี้ มันก็เจริญเติบโตสูงขึ้นทุกวันๆ เชื่อว่าอีกไม่น่าเกิน 10 ปี มันจะโผล่เหนือน้ำ อย่างเมื่อเช้านี้ คุณก็จะพบข่าวทั่วโลกรายงานว่า ภูเขาไฟใต้น้ำระเบิดครั้งยิ่งใหญ่มาก แล้วสวยมากเลย เค้าถ่ายรูปมา ภูเขาไฟที่อยู่ใต้น้ำ 30 กว่าลูกระเบิดขึ้นพร้อมกัน นี่คือเรื่องจริง ซึ่งทั้งหมดเนี่ย ถามว่าผมเป็นนักพยากรณ์รึเปล่า ไม่เกี่ยวกับการพยากรณ์เลย มันเป็นวิทยาศาสตร์ มันเป็นธรณีวิทยา ตราบใดที่เราอาศัยอยู่ อย่างแผ่นดินกรุงเทพฯ ที่เราอยู่ทุกวันนี้ มันไม่มีมาก่อน มันคือปากน้ำที่ไหลมาจากนครสวรรค์ ทราย ดิน โคลน เลน มันเข้ามาถม พอถมๆๆ มา เมื่อพันปีที่แล้ว คนก็เข้ามาอยู่ ซึ่งแผ่นดินในกรุงเทพฯ ที่เราอยู่กันทุกวันนี้มันก็ไม่ใช่แผ่นดินจริง แผ่นดินจริงมันอยู่ต่ำลงไปประมาณ 2 เมตร แผ่นดินที่เราเหยีบอยู่ทุกวันนี้ก็คือแผ่นดินที่เราเอารถสิบล้อไปขนดินมาจากนครนายก จากอยุธยา จากรังสิตมาถมกัน ไม่มีแผ่นดินไหนในกรุงเทพฯ ตอนนี้ ที่ไม่ถูกถม อันนี้คุณต้องยอมรับว่าจริงๆ แผ่นดินของกรุงเทพฯ มันต่ำกว่านี้มาก แล้วทุกวันนี้มีการคาดการณ์กันว่าแผ่นดินกรุงเทพฯ จะลดลงเป็นเมตร และระดับน้ำจะสูงขึ้น ทำให้พระประแดง สมุทรปราการทุกวันนี้อยู่ต่ำกว่าน้ำทะเล ซึ่งเมื่อ 10 ปีที่แล้วไม่ถึงขนาดนี้ แล้วผมเชื่อว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะหนักกว่านี้ แล้วประจวบกับที่ อดีตรองประธานาธิบดี อัล กอร์ ก็ออกมาเสนอข้อมูลด้านนี้ออกมาอีก หลายๆ ฝ่ายเข้ามาพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมโลก ถามว่าเรากลัวไหม เรากลัวแล้วเราแก้ปัญหาได้ยังไง เราแก้ปัญหาได้ง่ายมาก เราก็อย่าเอาชีวิตไปเสี่ยงอยู่ในจุดที่มันเสี่ยงภัย อย่างเช่น เรามีประเทศที่มันกว้างใหญ่ไพศาล เราสามารถที่จะสร้างเมืองสร้างอะไรก็แล้วแต่ในจุดที่ไม่เสี่ยงภัย เราไม่จำเป็นต้องไปสร้างเมืองอยู่บนจุดที่แผ่นดินแยกแบบซานฟรานซิสโก แบบแคลิฟอร์เนีย คุณย้ายได้คุณก็ย้ายสิ แต่เมื่อคุณดันทุรังอยู่ไป เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นมา คุณก็แย่
FILMAX : กรุงเทพฯ ที่เรากำลังอยู่ตอนนี้เนี่ยนะครับ ทรนง : ใช่ เราสามารถย้ายได้ ในกรุงเทพฯ ตอนนี้มีการเตือนแล้วว่ามีรอยเลื่อน ถ้าเกิดแผ่นดินไหวขึ้นที่เมืองกาญจน์ ที่พม่า หรือทางด้านเหนือของเมืองไทยอย่างเชียงใหม่ ผลกระทบจะมาถึงที่กรุงเทพฯ ทันทีเลย ซึ่งตึกใหญ่ๆ จะมีผลกระทบ ไม่ต้องถึงกับตึกถล่มหรอก ถ้าเกิดแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ จริงๆ เนี่ย กระจก ซึ่งเราใช้หุ้มตึกเพื่อความทันสมัย ทุกตึกจะมีกระจกเป็นหมื่นๆ บาน ทันทีที่ตึกไหวตัวนิดเดียว กระจกพวกนี้ก็คือมีดโกนที่จะปลิวใส่คนเดินถนน นั่นคือเรื่องจริง
FILMAX : ซึ่งตรงส่วนนี้จะปรากฏอยู่ในหนังด้วย? ทรนง : มีด้วย เราพูดถึงเขื่อน พูดถึงแผ่นดินไหว เราพูดถึงภูเขาไฟระเบิดแล้วทำให้สิ่งแวดล้อมในเมืองไทยเปลี่ยนแปลง อย่างตอนนี้ คนเชียงใหม่ คนทางภาคเหนือรู้จักคำว่าหมอกควันแล้ว มองไปทางไหน ทัศนวิสัยไม่ดี เริ่มชินมา 3-4 ปีแล้ว ซึ่งต่อไปมันก็จะหนักหนาขึ้น เมื่อก่อนนี้ พอไฟไหม้ป่าที่อินโดนีเซีย คนกรุงเทพฯ คนภาคใต้จะมีปัญหาเรื่องหมอกควัน แต่ในขณะเดียวกัน คนเชียงใหม่มีปัญหาเรื่องหมอกควันจากการเผาป่า ทั้งหมดมันเป็นระบบนิเวศวิทยาโดยตรง ซึ่งเราปฏิเสธมันไม่ได้ คุณจะเป็นสีเหลือง คุณจะเป็นสีแดง คุณจะขัดแย้งกันทางกันเมืองยังไงก็แล้วแต่ แต่ถ้าเกิดภัยพิบัติมันกวาดคุณด้วยเวลาแค่นิดเดียว สึนามิใช้เวลากวาดล้างคุณแค่ 15 นาที คุณก็หมดทั้งเมืองแล้ว การที่คุณทะเลาะกันมา ฆ่ากันมามันไม่มีความหมายอะไรเลย มันก็แค่นั้นเอง FILMAX : คุณอามีเจตนาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองบ้านเราด้วยไหมครับ ทรนง : พูดจริงๆ หนังเรื่องนี้พูดเรื่องการเมืองทั้งเรื่อง เพราะตัวเอกของเรื่องเป็นนายกรัฐมนตรี FILMAX : นายกรัฐมนตรีหนุ่มหล่อเสียด้วยนะครับ อันนี้มีนัยยะแฝงอะไรไปถึงนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันด้วยหรือเปล่าครับ ทรนง : โอ๊ย ไม่เกี่ยวเลย มันเป็นความบังเอิญ บทภาพยนตร์เรื่องนี้ เขียนเสร็จสมบูรณ์เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ตอนที่ผมเขียนเนี่ย คุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ผมสร้างนายกฯ ในความฝันของผมขึ้นมา โดยส่วนตัวแล้วผมเป็นคนชอบคาแรคเตอร์ของ โทนี่ แบลร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ผมก็ถอดเอาคาแรกเตอร์ของเค้าออกมา ในขณะเดียวกัน ตอนที่ผมเขียนเนี่ย นายกรัฐมนตรีทักษิณ ไทยรักไทย ครองอำนาจสภาด้วยพรรคเดียว ไม่มีพรรคอื่น แต่ในหนังผมเขียน 5 พรรคร่วมรัฐบาล แล้วคนแรกที่ผมไปติดต่อให้มาเล่นเป็นนายกฯ คือคุณสรยุทธ์ เค้าก็ปฏิเสธ เมื่อเค้าปฏิเสธมาผมก็ไล่ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมาจบที่คุณดุ๊ก ภาณุเดช (วัฒนสุชาติ) ซึ่งผมมีความรู้สึกว่าใกล้กับ โทนี่ แบลร์ คุณดุ๊กก็เข้ากล้องมาทั้งหมดเกือบ 2 ปีครึ่ง ตอนที่ถ่ายทำพอดีคุณทักษิณถูกขับไล่ออกไป นายกฯ ก็เป็นพลเอกสุรยุทธ์ แล้วมาเป็นคุณสมัคร แล้วมาเป็นสมชาย ซึ่งทั้งหมดก็ไม่ได้เหมือนคุณดุ๊กเลย แต่พอหนังผมกำลังจะออกฉาย กลายเป็นคุณอภิสิทธิ์มาเลย แล้วก็เป็นอภิสิทธิ์ที่ตรงกับเรื่องอีก คือ 5 พรรคการเมือง
FILMAX : มันจะส่งผลดีหรือผลเสียกับตัวหนังไหมครับเนี่ย ทรนง : ไม่ทราบเหมือนกัน ว่ามีผลดีหรือผลเสีย แต่ถ้าคนไปดูหนังปั๊บ จะบอกเลย ผมสร้างหนังแล้วปิดกล้องเมื่อวานนี้ แต่จริงๆ หนังเรื่องนี้เขียนบทมา 4 ปี นักแสดงในเรื่องรู้ดี คนในวงการก็รู้ดี ว่ามันถ่ายกันมานานแล้ว
FILMAX : ที่บอกว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นในอนาคตปี 2022 นี่ เป็นจินตนาการหรือการคาดเดาครับ ทรนง : ไม่ใช่การคาดเดา มันมาจากหลายเหตุผล อันนึงก็คือ มีคนประเมินว่า กรุงเทพฯ จะจมน้ำ อย่าง ดร. อาจอง (ชุมสาย) เนี่ย เค้าฟันธงไว้ 10 ปี นักวิทยาศาสตร์ฝรั่งบอกว่า 12 ปี พ.ศ. ไม่มีใครตรงกันเลย แต่ของผมเนี่ย 2565 หรือ 2022 อีก 13 ปีเนี่ย ผมได้ข้อมูลมาจากพระ
FILMAX : พระ? ทรนง : พระภิกษุ ผมบวชมาแล้ว 5 โบสถ์ ครั้งสุดท้ายที่ผมบวชแล้วเดินธุดงค์ ผมไปเจอหลวงปู่รูปนึง หลวงปู่รูปนี้บอกว่าจะเกิดภัยน้ำท่วม ในช่วงปีนี้ๆ ผมไม่เชื่อ พอมาเกิดสึนามิขึ้น ผมก็เลยนึกถึงท่าน แล้วเมื่อผมไปพบท่านอีกที ท่านบอกว่า ในช่วงประมาณไม่เกิน 15 ปีเนี้ย กรุงเทพฯ จะหายไปเลย
FILMAX : ส่วนนึงเป็นวิทยาศาสตร์ ส่วนนึงเป็นคำทำนายทางโหราศาสตร์ ไม่ขัดแย้งกันไปหน่อยเหรอครับ ทรนง : ไม่ขัดแย้งเลย เรื่องเดียวกัน เพราะว่าการทำนายก็มาจากสถิติ เหมือนกับประเทศไทยน่ะ เคยเกิดแผ่นดินไหวครั้งนึงเมือ 1200 ปีที่แล้ว คือโยนกนคร เมืองทั้งเมืองทรุดหายไปเลย อย่างการเกิดสึนามิ พอพูดถึงสึนามิเนี่ย คนจะนึกถึงญี่ปุ่น หรือเมืองอีกหลายเมืองที่เคยเกิดสึนามิบ่อยๆ แล้วประเทศไทยเนี่ย แต่ก่อนบอกว่าจะเกิดสึนามินี่ เป็นเรื่องตลกมากเลย แล้วสุดท้ายสึนามิที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยครั้งที่แล้ว เป็นสึนามิที่ใหญ่ที่สุดครั้งนึงที่โลกเคยเจอกันมา นี่คือ เราไม่น่าจะเกี่ยวข้อง แต่มันก็เกี่ยวข้อง แล้วพอพูดถึงเปลือกโลกเนี่ย เราก็พบว่าไอ้รอยแยกของเปลือกโลกที่มันมี 8 เพลทเนี่ย เปลือกนี้อยู่ห่างประเทศไทยแค่ 500 กิโล มันอยู่ใกล้มาก ซึ่งถามว่าประชาชนเคยให้ความสนใจไหม เหมือนกับที่ผมเคยเขียนในบทความว่า เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ที่กัมพูชามีการฆ่าประชาชนถึง 3 ล้านคน ที่เวียดนามมีคนตายมากกว่า 7 ล้านคนจากการรบ ที่ลาวมีคนตายนับล้านคน รอบประเทศไทยมีคนตาย แต่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดเหล่านี้ไม่เกินสี่ห้าร้อยกิโลเนี่ย เรายังเต้นรำ เรายังกินเหล้า เรายังจัดงานเลี้ยง เรายังเสพสุข เรายังทำทุกอย่างโดยไม่สนใจว่ามีคนเป็นล้านๆ คนถูกฆ่ารอบตัวเราตลอดเวลา เฉกเช่นวันนี้ มีคนถูกฆ่าตายที่ปักษ์ใต้ทุกวัน แต่คนในกรุงเทพฯ ก็ยังดำเนินชีวิตเหมือนกับไม่มีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น เราหลับหูหลับตา เหมือนกับที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่า วันนี้คุณจะไม่ตาย ผมมีความเชื่อแบบนั้น คุณจะเรียกว่าอะไรล่ะ ไสยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มันเป็นความจริงที่ว่า ไม่มีใครหนีความตายพ้น แต่เราก็ชอบคิดเสมอว่าเราไม่ตาย สึนามิ แผ่นดินไหวก็เหมือนกัน
FILMAX : แล้วที่ทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมา คุณอามีประเด็นอะไรที่ต้องการจะบอกกับผู้ชม ทรนง : ผมบอกว่า ถ้าเราจะอยู่ในโลกนี้ เพราะเราเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดมาบนโลกนี้ เราต้องทำความเข้าใจกับโลกนี้ แล้วหาทางปรับตัวเข้ากับโลกนี้ ยกตัวอย่างง่ายๆ คุณจะซื้อที่ดินซักแปลงนึงเพื่อจะสร้างบ้านอยู่กับครอบครัวคุณ คุณมีเงินอยู่ก้อนเดียวแล้วคุณต้องการสร้างบ้าน ถามซิ คุณจะไปสร้างบ้านบนโคลนเลนไหม คุณจะไปสร้างบ้านตรงที่แม่น้ำเจ้าพระยามันจะถล่มไหม คุณจะไปสร้างบ้านตรงที่ไฟป่ามันจะมาไหม้บ้านคุณไหม คุณเพียงแต่เลือกมัน ออกไปนอกกรุงเทพฯ ไปประมาณ 20 กิโล คุณจะพบว่ามีทุ่งนากว้างใหญ่มากเลย แล้วก็มีภูเขา มันมีที่ที่คุณจะสร้างเมืองใหญ่ อดีตทีผ่านมาเนี่ย อย่าลืมว่าว่ากรุงเทพฯ สร้างเป็นเมืองเป็นรูปเป็นร่างจริงๆ ประมาณ 100 ปี แต่เราต้องดำรงชีวิตอยู่จากกรุงเทพฯ อีกเป็น 1,000 ปี จะให้ 100 ปีมาตรึงเราไว้ เป็นไปไม่ได้ เรามีอยุธยา เราก็มีกรุงรัตนโกสินทร์ได้ มันมีเกียวโตแล้วก็มีโตเกียวได้ ทุกอย่างมันปรับปรุงได้ มันขึ้นกับว่าคุณจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้ไหม นั่นคือสิ่งที่ผมพยายามจะบอก
FILMAX : ถ้าเกิด ปี 2022 ไม่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นจริงๆ คุณอาไม่กลัวคนด่าว่าเพ้อเจ้อหรือครับ ทรนง : ดีสิ ไม่เป็นไร คนด่าผมไม่มีอะไรเสียหาย ผมบอกว่าจะเกิดสึนามิเป็นการเตือนภัย แต่จริงๆ ผมไม่ได้พูดถึงสึนามิอย่างเดียว ผมพูดถึงสิ่งแวดล้อม จะเกิดสึนามิได้ ต้องเกิดแผ่นดินไหว แผ่นดินไหวเกิดจากอะไร เกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกตลอดเวลา ในขณะเดียกัน เราก็ไปดูดเอาสสารออกมาจากพื้นโลกเพื่อเอามาทำน้ำมัน เมื่อคุณไปดูดเอาวัตถุขึ้นมาจากพื้นโลก พื้นโลกก็เกิดช่องว่าง มีการขยับตัว คุณดูดน้ำมันๆๆ ออกมา แล้วคุณบอกมันไม่ส่งผลอะไรไม่ได้ การที่คุณไปเอาทรัพยากรของโลกมาใช้มันก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มันขยับตัว คุณต้องมีวิธีคิด ทุกวันนี้เราเริ่มใช้พลังงานทดแทน เริ่มอยู่อย่างประณีประนอมกับธรรมชาติแล้ว แต่ ถ้ามันเกิดสึนามิในปี 2022 ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ แล้วมันทำให้คนตาย 10 ล้านคน ถามว่าผมดีใจไหม ถ้าผมดีใจผมเป็นโรคประสาท คนตาย 10 ล้านคน เพื่อให้คำพูดผมถูกต้อง แล้วผมดีใจ ผมบ้า แต่ถ้าวันนั้นมันไม่เกิดสึนามิ ผมดีใจที่ผมทำนายผิด แต่ประเทศอยู่อย่างสันติสุข คนเป็นล้านๆ คนสันติสุข ไม่มีใครเสียชีวิต ไม่มีใครบาดเจ็บ และไม่เกิดภัยพิบัติ ผมควรจะดีใจ ผมภาวนาและพูดอยู่เสมอว่า ถ้าหนังหายนะ ดีกว่าให้เกิดหายนะขึ้นจริงๆ เมื่อคนดูหนังผมจนจบ มันจะมีประโยคนึงที่ผมเขียนแล้วลงชื่อตัวเองว่า มนุษย์เรา ยอมจ่ายงบประมาณเป็นล้านๆๆ เพื่อจะทำสงครามทุกสงครามในโลก มนุษย์เราจ่ายเงินเป็นล้านๆ เพื่อจะสร้างยานอวกาศไปสำรวจดาวทุกดวงในจักรวาล แต่มนุษย์เราใช้เงินเพียงน้อยนิด เพื่อจะรักษาโลก องค์การนาซ่าคิดอยู่อย่างเดียวว่า ใช้เงินทั้งหมดเลย เพื่อจะเดินทางไปดาวอังคาร โลกทั้งใบคุณยังรักษาไม่ได้ มีป่าไม้อยู่เป็นล้านๆๆ ต้น คุณดูแลไม่ได้ แต่คุณสนใจวิธีที่จะไปปลูกต้นไม้บนดาวอังคาร ปลูกได้ 5 ต้น คุณเฮ คุณเปิดแชมเปญ คุณบ้ารึเปล่า คุณจะไปสร้างเมืองบนดาวอังคาร ในขณะที่คุณอยู่นี่มีเขาใหญ่ให้คุณเที่ยว คุณยังไม่เที่ยว มีทะเลคุณยังไม่ไป แต่คุณจะไปดูหนองน้ำเล็กๆ บนดาวอังคารกัน ถามว่าความคิดนี้วิปริตไหม ทุกวันนี้ประเทศชาติ โลกทั้งโลกมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ องค์การนาซ่าหยุดใช้งบประมาณแค่ 4 ปี ทุกอย่างก็ดีขึ้น ถามว่าถ้าเกิดคุณไปสำรวจดาวอังคารช้าไป 4 ปีจะเกิดอะไรขึ้น นั่นคือคำถามในหนังของผม ทำไมอเมริกาเสียเงินเป็นล้านๆๆๆ เพื่อจะทำสงครามในเวียตนาม โซมาเลีย ในอิรัก ในตะวันออกกลาง พร้อมที่จะจับซัดดัม ทุ่ม (เน้นเสียง) ใช้เฮลิคอปเตอร์พันลำ ใช้เรือบรรทุกเครื่องบิน แต่พอเกิดอุทกภัย วาตภัย หรือสึนามิ มันส่งเรื่อช่วยเหลือมา 3 ลำ เฮลิคอปเตอร์ 10 ลำ แล้วก็ตีข่าว ยูเอ็นช่วย (เน้นเสียง) ในหนังผมพูดถึงเรื่องเนี้ย มันปล่อยยานอวกาศทีเผาผลาญน้ำมันเชื้อเพลิงตูมเดียวขึ้นไปเนี่ย รถยนต์เป็นแสนๆ คันยังใช้น้ำมันไม่เท่ากับมันเลย ทางการแพทย์บอกว่า ไปเพื่อค้นยาตัวใหม่ๆ มาเพื่อรักษาชีวิตมนุษย์ ไปเพื่อหายามารักษาโรคมะเร็ง แต่ในขณะเดียวกันมันกลับเอาเอ็ม 16 ยัดใส่มือทหารแล้วก็ไล่ยิงคนทั้งโลก คุณว่ามันรักษาแบบไหนล่ะ ยาที่มันคิดได้อาจจะรักษาได้แค่ 20 คน แต่ระหว่างที่มันคิดค้นหายาเนี่ย คนตายไปเยอะแยะแล้ว FILMAX : หนังเรื่องนี้คุณอาใช้ทุนสร้างลงไปเยอะเลยใช่ไหมครับ ทรนง : ไม่เยอะนะ ถ้าพูดกันตรงๆ ในแง่ของความเป็นหนังแบบนี้ ผมอยากได้เงินประมาณ 800 ถึง 1,200 ล้าน เพื่อจะทำหนังเรื่องนี้ ซึ่งตรงนี้นะคุณ (ชี้ไปที่รูปฉากน้ำท่วม) ไม่ใช่คลองแสนแสบ ผมทำนี่ผมทำแบบคนจน ประหยัดที่สุด 160 ล้าน ซื้อฟิล์มก็ล่อไป 4- 5 ล้านแล้ว อุปกรณ์ก็ 10 กว่าล้านแล้ว นักแสดงใหม่เก่าผสมกัน แล้วใช้เวลา 3 ปีน่ะ หนังนี้ถ่าย 3 ปี 500 กว่าม้วน 3 ปีนะคุณ ถ้าเป็นในแง่ธุรกิจล่ะก็ ล้มเหลวแน่นอน แต่ผมแก่แล้ว ผมทำหนังมา 20- 30 เรื่องแล้ว ผมอายุ 58 แล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อผมทำหนังเนี่ย ผมคิดว่าหนัง มันเหมือนหนังสือดีๆ เล่มนึง มันเหมือนคุณไปเรียนมหาวิทยาลัยได้ปริญญามาใบนึง เวลาคุณทำหนัง คุณต้องพูดอะไรที่มันเหมาะสม แล้วผมถือว่า สึนามิ มันเป็นเรื่องของคนทั้งโลก ไม่ใช่เป็นเรื่องของคนไทยคนเดียว
FILMAX : แต่ไหนแต่ไรมา การทำงานกับ CG ก็ยังเป็นจุดอ่อนของหนังไทยหลายๆ เรื่องมาตลอด แต่คุณอาก็ยังกล้าทำ ทรนง : ถูกต้องๆ ที่ผมกล้าทำ ผมถือว่าตอนนี้ CG บ้านเรา หรือ CG ทั้งโลกน่ะ อยู่ในขั้นที่ยอมรับกันได้ ตอนที่ผมทำใหม่ๆ น่ะ น้ำ CG ในหนังผมนี่แย่มาก เมื่อ 3 ปีที่แล้ว วันนี้ ความที่หนังล่าช้าด้วยเนี่ย ทำให้น้ำใน CG ผมน่ะ พัฒนาไปคนละเรื่อง เมื่อก่อนผมจะได้น้ำขยับประมาณ 24 เฟรม ผมต้องใช้เวลา 1 วัน แต่วันนี้ผมใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที มันได้แล้ว มันทันสมัยมาก มันคนละเรื่องเลย แต่จริงๆ แล้วผมไม่ได้สนใจ CG มาก ในหนังผมจะทำของจริงมากที่สุด CG เข้ามาช่วยผมในหนังอยู่ 174 ช็อต จาก 1,200 กว่าช็อต ผมเอามาใช้เนี่ย เพราะผมเลี่ยงไม่ได้จริงๆ น้ำเข้ากรุงเทพฯ น้ำเข้าพระประแดง น้ำทำลายสะพานพระราม 9 สะพานพระประแดง มันไม่มีทางเลือก แต่อะไรที่มันเล็กกว่านั้นปุ๊บ ผมทำของจริงหมด ผมทำแท็งค์น้ำ แล้วก็สร้างฉากขึ้นมา
FILMAX : เพื่ออะไรครับ ทรนง : เพื่อให้มันสมจริง เพราะน้ำจริงกับน้ำปลอมมันคนละเรื่องเลยนะ คุณเอานักแสดงมาเล่นบนบลูกสกรีนนะ คนละอารมณ์ ผมเอาน้ำจริงๆ เทใส่นักแสดงตู๊ม แล้วก็กระเด็น ถามว่านักแสดงยอมรับได้ไหม ยอมรับได้ นั่นคือการทำงานของผม น้ำ CG เข้ามา มันจะไม่มีน้ำหนัก เหมือน จูราสสิก พาร์ก หรือไดโนเสาร์ทั้งหลายแหล่ที่เราดูน่ะ คุณเห็นไหม ไดโนเสาร์แม่งตัวใหญ่ฉิบหาย ทำไมมันวิ่งเบาหวิว นั่นคือคอมพิวเตอร์กราฟิก ผมดูแล้วมันไม่ได้ แต่ว่าผมใช้เทคโนโลยี่มารองรับงาน ถามว่า CG ผมเนียนไหม ก็ไม่ได้เนียนอะไรมากมาย แต่จากเนื้อเรื่องของหนัง จากวิธีพรีเซ็นต์มันจะทำให้คนรับรู้ได้ โอเค เข้าใจ ทุกคนจะเข้าใจตรงนี้
FILMAX : หนังเรื่องล่าสุดที่ผ่านมาของคุณอาอย่าง อมนุษย์ ก็เจอปัญหาตรงนี้เหมือนกัน ทรนง : อมนุษย์ก็เป็นเนื้อเรื่องที่ชอบมาก แต่มันก็ล้มเหลว เพราะเราไมได้เป็นเจ้าของหนัง เพราะว่าเดิมเนี่ย หนังมันจะเป็นเรื่องของคนที่อยากแสวงหาความเป็นอมตะ อยากมีชีวิตยืนยาว แล้วมันก็มีคนหัวใสกลุ่มนึงเห็นว่า เศรษฐีทั้งโลกเนี่ย เวลาอวัยวะเจ็บป่วย เค้าก็จะไป ซื้อไตคนอื่นมา ซื้อตับคนอื่นมา ซื้อหัวใจคนอื่นมา มีแพทย์ระดับโลกหลายคนก็เลยมาสุมหัวกัน แล้วมันก็พบวิธีนึงก็คือโคลนนิ่งมนุษย์ขึ้นมา คือการไปเอาของมนุษย์จริงๆ ไปฆ่าแล้วเอาอวัยวะเค้ามามันมีปัญหา ก็ไปโคลนนิ่ง แล้วที่นี้จะโคลนนิ่งมนุษย์เนี่ย มนุษย์คนนั้นต้องมีภูมิต้านทานสูง ต้องมีส่วนผสมของสัตว์ อย่างคนจีนกินอุ้งตีนหมี ดีเสืออะไรพวกนี้ ก็เอาดีเอ็นเอมาผสมจนกลายมาเป็นมนุษย์เผ่าหนึ่ง เสร็จเรียบร้อยแล้วมันไปอยู่ในยุโรป อยู่ในอเมริกาไม่ได้ ก็ต้องมาอยู่ในประเทศด้อยพัฒนา มาอยู่แถวเอเชีย อยู่แถวชายแดนไทย ไอ้พวกนี้มันก็ไปสร้างแล็ปทดลองอยู่ ในขณะเดียวกันคนพวกนี้เมื่อถูกสร้างขึ้นมาก็มีชีวิตจิตใจ แล้วพอมีออเดอร์จากเศรษฐีทั่วโลกว่าต้องการหัวใจ ไอ้พวกนี้ก็จะถูกจับมาแล้วฆ่าเอาหัวใจ ต้องการแขนขา ก็จะถูกฆ่าแล้วเอาไป สุดท้ายพวกนี้มันทนไม่ไหว มันก็หนีออกมา พอหนีออกมาคนไปเห็น คนก็ไปล่ามัน เพราะคิดว่าเป็นมนุษย์ต่างดาว ทั้งที่จริงเค้าก็เป็นมนุษย์ในโลกนี้ ผมทำไว้เยอะ แต่ว่าเจ้าของหนังผมเค้ามีความรู้สึกว่า เค้าอยากเน้นพระเอกนางเอก ไม่อยากเน้นในเรื่องนี้ เค้าตัดพวกนี้ทิ้งออกไปประมาณ 30% ซึ่งพอมันถูกตัดทั้งหมดออกไปเลย มันเลยจบ มันเลยแป๊ก (เน้นเสียง) แต่ไม่เป็นไร คือเป็นสิทธิของเค้าผมก็ไม่ว่า ผมก็ไม่อยากต่อสู้แล้ว เมื่อ 20 ปีที่แล้วผมเคยมีปัญหาสูงสมัยตอนทำอุบัติโหด ซึ่งชิง 11 ตุ๊กตาทองน่ะ มีโปรดิวเซอร์เข้ามายุ่ง แล้วก็ทะเลาะกัน ผมก็ถอนชื่อออกจากการเป็นผู้กำกับหนัง เป็นเรื่องร้ายแรงมาก ผมก็ไม่อยากมีเรื่องเป็นครั้งที่ 2 มันจะกลายเป็นว่า ทรนงไปรับจ้างกำกับให้ใครก็มีปัญหา คือผมเข้าใจอารมณ์ของผู้ลงทุน มีความรู้สึก เฮ้ย! มันเสี่ยงเว้ย เค้าก็กลัวมันขาดทุน เค้าก็คิดว่า ขายหน้านางเอกสวยๆ หน้าพระเอกหล่อๆ มันน่าจะดูดีกว่า เข้าใจ ก็เลยปล่อย
FILMAX : คุณอาทำหนังหลายแนวมากเลยนะครับ ทรนง : จริงๆ ผมมี 3 แนว เวอร์ชั่นแรก ผมทำหนังสงคราม ก็ทราบกันดีใช่ไหม ผมทำหนังสงครามมากที่สุดในโลก สัตว์สงคราม ไทยรบในลาว มหาราชดำ ไทยรบกับพม่า จางซีฟู ไทยรบกับขุนส่า แหกนรกเวียดนาม ไทยรบเวียดนาม กัมพูชา ไทยรบกัมพูชา มันจะมีหมด พอทำเสร็จปุ๊บ ก็มาจับเวอร์ชั่นเล็กลง เวอร์ชั่นที่ 2 ก็คือ อุบัติโหด คือมือปืน กลกามฯ คือโสเภณี เป็นอาชีพที่เน้นๆ ผมทำ กลกามฯ ทำ มาม่าซัง ทำ สวรรค์ชั้นเจ็ด เป็นเรื่องของผู้กำกับคนนึง ทำหนังสงครามมาตลอดแล้วล้มเหลว คนไม่อยากดู ผลสุดท้ายพอไปทำหนังเรตอาร์แล้ว คนแห่มาดู ซึ่งก็คือเรื่องของผมเอง เสร็จแล้วทิ้ง จะไปสร้างโรงถ่าย พอไปเจอไอเอ็มเอฟก็กลับมาทำหนังอีกแนว ก็เริ่มจากอมนุษย์ ก็คิดแบบคนแก่แล้วล่ะ คือทุกอย่างต้องลุ่มลึก แต่ก็ล้มเหลว ก็เลยมาจับสึนามิ
FILMAX : ช่วงตอนหนุ่มๆ ดูคุณอาเป็นคนที่ทำหนังแบบใช้แรง ใช้สัญชาติญาณมากกว่าตอนนี้นะครับ ทรนง : ถูกต้องเพราะการทำหนังสงครามต้องใช้แรงเยอะ ผมเริ่มกำกับหนังตั้งแต่อายุ 25 สมัยนั้นก็ถือว่าเด็กมาก ทำแบบไม่ต้องหลับต้องนอนน่ะ 3 วัน 3 คืน อยู่กับลูกน้องในป่า ทำหนังอินดี้จริงๆ ปืนจริงๆ ยิงจริงๆ ระเบิดกันจริงๆ เมื่อก่อนทำกันแบบนั้น เอ็ม 16 กระบอกนึงจะทำปลอมมันต้องนั่งแกะไม้นุ่นกัน เดี๋ยวนี้มีขายเยอะเยอะ BB Gun เมื่อก่อน ฟิล์มก็คือฟิล์ม เมื่อ 25 ปีที่แล้ว ผมถ่ายหนังเสร็จ กว่าผมจะได้ดูมันอีก 7 วัน ถ่ายๆ เสร็จ ผมถามตากล้อง ใช้ได้ไหม มันพยักหน้า ได้ ต้องส่งไปล้างแล็ป แล้วอีกเจ็ดวันก็ตามมากรุงเทพฯ เพื่อมาดู เฮ้ย! ทำไมมันเป็นยังงี้วะ ไปถ่ายใหม่ ทุกวันนี้ไม่ใช่ ทุกวันนี้ผู้กำกับนั่ง...
FILMAX : หน้ามอนิเตอร์? ทรนง : เออ! เท่ฉิบหายเลย (หัวเราะ) ดื่มโค้ก ดื่มเบียร์ คนละอารมณ์ แล้วตัดหนังเมื่อก่อนตัดเอง ฟิล์มคล้องคอนั่งตัดป๊าบๆ ตัดหนังเนี่ย กล้ามขึ้นน่ะ เดี๋ยวนี้ ตู๊ดๆๆๆ (หัวเราะ) ก็ดี ก็ได้ประสบการณ์ ตอนนี้ข้อดีของผู้กำกับรุ่นใหม่คือว่าเทคโนโลยีเค้าดีแล้ว ผู้กำกับรุ่นใหม่ผู้กำกับเมืองไทยนะ มือดีหลายๆ คน ขาดอย่างเดียว เค้าขาดประสบการณ์ ไม่ใช่ประสบการณ์ทำหนังนะ ประสบการณ์ชีวิต อย่างผมนี่เคยเดินจากนี่ไปเชียงราย เดินเท่าเปล่า ผมเคยไปหมกตัวอยู่ในป่าอยู่เป็นปี รุ่นผมนี่ 14 ตุลา เดินแถวหน้า ตีหัวหมาด่าแม่คน สูบกัญชาชักดิ้นกระแด่วๆ นี่ทำมาหมดแล้ว เขียนหนังสือ ตั้งหนังสือ คาราวาน แล้วสุดท้ายเพื่อนก็เอาไปตั้งเป็นชื่อวงคาราวานจนทุกวันนี้ นั่นมันคือที่มาหมดเลย ขณะที่ผู้กำกับรุ่นนี้เค้าอายุ 27- 28 เค้าเริ่มกำกับหนังจากการไปเสนอโปรเจ็กต์ และพอได้เงินมาเสร็จปุ๊บ เค้าก็มานั่งหน้ามอนิเตอร์ เค้าไม่เคยรู้ว่า ล่องแก่งมันเป็นยังไง ความตายมันเป็นยังไง เค้าไม่เคยเห็นคนตายมันเป็นยังไง คนโดนยิงมันเป็นยังไง คนที่เจ็บปวดมันเป็นยังไง เค้าไม่เคยมีหนี้ 100 ล้าน เค้าไม่เคยนอนกับผู้หญิง 100 คน เค้าไม่เคยอดจนไม่มีข้าวกิน 7 วัน พอเป็นอย่างงี้ปุ๊บ มันจะทำอะไรล่ะ ก็ต้องทำหนังผี เพราะหนังผีเป็นเรื่องเดียวที่คิดเอาเองได้หมด ถูกต้องไหม คุณจะทำผียังไงก็ได้ ผีหกหัว เจ็ดขาก็ได้ ทำได้หมด เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่ จะรู้เรื่องเทคโนโลยีหมดเลย แต่ไม่รู้อะไรเลย
FILMAX : พูดแรงไปรึเปล่าครับ ทรนง : ไม่ได้แรง ตรง! เอ้า ลูกผมอายุ 37 เนี่ย มันก็เรียนหนังมาโดยตรง แต่ผมไม่ให้ลูกผมเข้ามาในวงการเลย เพราะเค้ายังไม่รู้จักชีวิต
FILMAX : จำเป็นด้วยเหรอครับ ทรนง : จำเป็นดิ คุณทำสิ่งที่คุณไม่รู้ให้คนอื่นดูได้ไง มันน่ะแรง ผมไม่ได้แรง ไอ้ผู้กำกับหนังที่ทำสิ่งที่ตัวเองไม่รู้สิแรง คุณไปสร้างเรื่องที่ไม่รู้ให้คนอื่นดูได้ไง แล้วพอเค้าถามก็บอก นึกเอา จินตนาการ บ้าเหรอ! มึงจะบ้ารึเปล่า ไม่ได้! จินตนาการต้องมีพื้นฐานรองรับ ถ้าคุณเป็นจิตรกรเขียนภาพแอปสแตรก เซอร์เรียลริสต์ คุณต้องมาจากเรียลลิสติก
FILMAX : ประสบการณ์หรือความรู้ที่ว่าเนี่ย คนรุ่นใหม่ก็สามารถหาได้จากสื่อต่างๆ มากมายที่มีอยู่รอบตัวไม่ใช่หรือครับ อย่างโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ท ทรนง : ไอ้นั่นไม่ใช่ความรู้หรอกครับ ไอ้นั่นเค้าเรียกของปลอม นั่นคือเฟก คุณไม่ต้องเอาเรื่องความเป็นความตายหรอก คนรุ่นใหม่ เอาแค่ความเหงา เฮ้ย มึงลองนั่งอยู่คนเดียว 3 วัน 3 คืนแล้วไม่มีคนมาเยี่ยมมึง แฟนมึงไม่มา พ่อแม่มึงก็ไม่มา แค่นั้นก็ตายแล้ว เหงาจริงๆ มันต้องเหงาที่ชายแดน เหงาจริงๆ แม่งต้องเหงาแล้วงูจะกัดกูรึเปล่า เสือจะแดกกูรึเปล่า คอมมิวนิสต์จะยิงกูรึเปล่า นั่นแหละเหงาเจ็บปวด ก็เหมือนกับคนไทย คนไทยส่วนใหญ่ขับรถเร็วหมดเลย แต่เราไม่เคยมีนักขับรถแข่งเป็นแชมป์โลก ไปไหนก็เจอแต่คนเตะบอล แต่ทีมฟุตบอลเราไม่เคยเป็นแชมป์โลก เรามีๆๆๆ หมด เลย เราเก่งกันหมด แต่เราเก่งไม่จริง เราขับรถทุกยี่ห้อบนถนน แต่เราไม่มีรถเมดอินไทยแลนด์ วันนี้คุณนั่งเล่นเกมตั้งแต่ 10 โมงเช้า จนถึงตี 1 คุณยิงไป 200 ศพ คุณออกไปที่ถนน แล้วคุณเจอมือปืนเดินมาแล้วเอาปืนจ่อหัวคุณโดยไม่มีลูกนะ แช๊ะเดียว เยี่ยวคุณราดเดี๋ยวนั้นเลยนะ มันคนละอารมณ์ คุณเล่นเกมวันนี้ทำคะแนนได้หมื่นนึง โอ๊ย! อย่ามาพูดเลย ไม่ได้ ชีวิตจริงมันไม่ได้ แค่คุณข้ามถนน คุณเผลอนิดเดียว รถชนคุณตาย จริงป่ะ ชีวิตจริงๆ กับชีวิตปลอมๆ มันไม่เหมือนกันนะ มันจะมีประโยชน์อะไร ถ้าคนไทยใส่สูท ญี่ปุ่นใส่สูท ฝรั่งใส่สูท ทุกคนใส่สูทเหมือนกันหมด แล้วเราจะไปดูมันทำไม ผมไปดูอินเดียแดง เพราะอินเดียแดงมันแต่งชุดอินเดียแดง ผมไปดูแม้วเพราะแม้วมันแต่งแม้ว ผมไปลาวเพราะคนลาวแต่งตัวแบบนี้ ผมไปญี่ปุ่นเพราะคนญี่ปุ่นแต่งตัวแบบนี้ ถ้าทั้งโลกแต่งตัวเหมือนกันแล้วคุณจะไปทำไม ทำไมเด็กไทยต้องแต่งตัวเหมือนเด็กญี่ปุ่น ทำไมเด็กญี่ปุ่นต้องแต่งตัวเหมือนเด็กฝรั่ง ถามว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเหรอ ไม่ใช่เลย เด็กสมัยนี้เล่นเว็บไซต์ เล่นเกม เล่นอินเตอร์เน็ท เสร็จแล้วมันก็วิ่งเข้าบ้าน เพื่อให้แม่ทอดข้าวไข่เจียวให้กิน คุณดื่มโค้กคุณบอกเท่ คุณดื่มเป๊ปซี่คุณบอกยอดเยี่ยม สุดท้ายคุณก็ต้องกินน้ำเปล่าใช่ไหมล่ะ เสร็จแล้วคุณก็ต้องไปนอน เสร็จแล้วคุณก็ต้องการความอบอุ่น ต้องการความรัก ยิ่งคุณห่างไกลความเป็นมนุษย์เท่าไหร่ คุณก็ยิ่งเหงา เปล่าเปลี่ยว ผมพูดแล้วคุณจำไว้เลย อีกไม่เกิน 10 ปีคนไทยจะฆ่าตัวตายระเนระนาดทุกวัน จากสิ่งที่เป็นอยู่ เพราะนั่นคือความเหงาจากเทคโนโลยี เมื่อ 30 ปีที่แล้วผมเขียนบทละครให้ตัวละครของผมใส่หน้ากากป้องกันไอพิษในเมือง โอ้โห! โดนวิพากษ์วิจารณ์หาว่าผมบ้า พอถึงวันนี้เป็นไง ตำรวจจราจรยืนใส่หน้ากากกันตรึม ผมถามเพื่อนผมว่า เป็นไงมึง เมื่อก่อนหัวเราะกูจ๊างงง
FILMAX : แล้วตอนนั้นคุณอาไปเอาความคิดแบบนั้นมาจากไหน ทรนง : ก็สิ่งแวดล้อมรอบตัวผมไง ผมอยู่ในค่ายทหารตั้งแต่เกิด อยู่มา 20 กว่าปี ผมตื่นนอนด้วยเสียงเครื่องบินรบปลุกผม เสร็จแล้ว 3 โมงเช้าก็กลับมา บางลำตกมั่ง โดนยิงมามั่ง ไฟลุกมามั่ง นักบินโดนยิงตายคาที่มั่ง ชีวิตมันอยู่อย่างงั้นมาตลอด พี่ไปรบลาวก็ตายลาว ไปเวียดนามก็เจ็บกลับมา พ่อรบเชียงตุง ทุกคนแม่งทุพพลภาพกลับมา คือตระกูลผมผู้ชายทุกคนเป็นทหารหมด มีผมคนเดียวที่เดินออกมาได้ ผมบอกทุกคน กูจะเป็นศิลปิน กูจะไม่ยุ่งกับทหาร แล้วพอทำหนังปัง ไม่รู้เรื่องอะไรเลย รู้เรื่องทหารอย่างเดียว ทำหนังทหารแม่ง 6 เรื่อง (หัวเราะ) โดนหัวเราะเยาะ นี่คือเรื่องจริง ที่ผมพูดถึงผู้กำกับหนังรุ่นใหม่เนี่ย ผมไม่ได้มีเจตนาไปจาบจ้วงนะ แต่ที่ผมพูด ผมพูดในฐานะที่ผมผ่านประสบการณ์มาแล้ว ประสบการณ์ของความเป็นคน ไม่ว่าคุณจะทำหนังผี หนังอะไร ถ้าคุณเจอผีจริงๆ คุณจะรู้ว่ามันเป็นยังไง ถ้าคุณได้สัมผัสกับความตายจริงๆ คุณจะรู้ว่ามันน่ากลัวขนาดไหน มันน่ากลัวเกินกว่าที่คุณจะบรรยายด้วยการตัดเร็ว ใช้แสงทึม ทำฟิล์มนัวร์ มันไม่ใช่ คุณจะมาใช้ซาวน์ดีไซน์ผ่างๆ ไอ้นี่มันเป็นเทคนิค เค้าเรียกลักไก่ ภาษาผมเรียกเฟก มันได้อะไรจากการนั้น สังคมมันก็หลอกตัวเองอยู่แล้ว แล้วเรายังจะไปหลอกมันเพิ่มอีก แต่วันนึงคนเหล่านี้เค้าจะรู้ เมื่อเค้าอายุมากขึ้น เค้าจะทำสิ่งที่เค้ารู้จริงๆ ถามว่าตอนนี้ ผมเห็นผู้กำกับหนังไทยมือดีๆ ไหม มีหลายคนเลย แต่ต้องรอให้เค้าบ่มจนสุก แต่ถ้าคุณไม่แสวงหาข้อมูล ไม่แสวงหาประสบการณ์ชีวิต ก็จบอีก คุณจะมากำกับหนังเรื่องสองเรื่องแล้วเป็นอัจฉริยะ มันเป็นไปไม่ได้ อย่างเจ้ย (อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล) เนี่ยชอบ แต่เค้าก็ต้องสั่งสมประสบการณ์ให้มากขึ้นอีก เค้ายังปรับตัวเข้ากับโลกไม่ได้ เหมือนผม ตอนนี้ผมก็ยังปรับตัวเข้ากับโลกไม่ได้ (หัวเราะ)
FILMAX : แต่ทุกวันนี้ผู้กำกับรุ่นเก่าๆ ก็ค่อยๆ หายไปเรื่อยๆ ทรนง : ที่หายไปมีเหตุผลเดียว มันไม่มีเม็ดเงินทำหนัง คุณทำหนังเดี๋ยวนี้ 20 ล้าน มันไม่ได้อะไรเลย จริงป่ะ แล้วด้วยความที่เค้าอายุมาก เค้าก็ไม่อยากเสี่ยง หมดแล้วหมดเลยนะ ขายบ้านทั้งหลังได้ 50 ล้านมา แป๊กนี่ ไปเลยนะ แล้วหนังเดี๋ยวนี้ก็รู้กันอยู่แล้ว 4 วันรู้ผล 4 วันอันตราย เข้าพฤหัส ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ก็รู้แล้วว่าตัวเองจะไปไหน
FILMAX : แล้วคุณอาล่ะครับไม่กลัวเสี่ยงบ้างเหรอ ทรนง : ผมไม่กลัว เพราะว่าตอนนี้ผมทำโรงถ่ายเป็นพันล้าน หนักกว่านั้นเยอะ แล้วอีกอย่างผมก็ให้สัมภาษณ์เสมอว่า ธุรกิจอะไรล่ะ ที่ไม่เสี่ยง คุณค้าทอง คุณไปถามร้านทองเยาวราชสิ เครียดฉิบหาย คุณทำร้านเพชร เพชรวันนึงจะขายได้เม็ดสองเม็ดรึเปล่ายังไม่รู้เลย คุณค้าน้ำมัน น้ำมันก็ขึ้นก็ลง เฮ้ย! ไปเล่นการเมือง เดี่ยวคุณก็เป็นรัฐบาล เดี๋ยวคุณก็เป็นฝ่ายค้าน มันไม่มีอะไรแน่สักอย่าง เพราะฉะนั้นถามว่าทำหนังมั่นคงหรือเปล่า เปล่า แต่อาชีพอื่นก็ไม่ได้มั่นคงเหมือนกัน แต่มันเป็นอาชีพที่เราทำได้ เราสร้างสมมาตอนนี้ 30 ปีแล้ว เราทิ้งมันเราก็เหมือนคนที่ทำอะไรไม่สำเร็จ ผมจะทำไปเรื่อยๆ ถามว่าทำแล้วหวังผลอะไร ไม่ได้หวังผลอะไรเลย ทำให้ดีที่สุด
FILMAX : แล้วทำไมต้องออกมาลงทุนทำเอง ทรนง : สาเหตุที่ต้องลงทุนเองก็คือ ไม่ต้องไปถามใคร ผมจะทำฉากนี้ได้ไหม เฮ้ย! เบาๆ หน่อย มึงจะเอาทำเชี่ยอะไรสองล้าน เอาไปแค่สี่แสนพอ มันก็จบอ่ะดิ ตอนนี้ตื่นขึ้นมา กูจะไปทำฉากนี้ ผมก็ไปเลย จบ ไปถามนายทุนเมื่อไหร่จะได้สร้างล่ะ จริงๆ ผมก็ทำเองมานานแล้ว หนังเรื่องแรก เรื่องที่สองทำเอง กลกามฯ สวรรค์ชั้นเจ็ด ทำเอง
FILMAX : แล้วอยู่ได้ยังไงครับ ทรนง : ผมทำธุรกิจตัวอื่นไง ผมทำเรื่องที่ดิน ก็เนี่ย โรงถ่ายก็ที่ดิน อย่างเรามีที่ดิน 30,000 ไร่ ที่ดินเราไร่ละ 3 แสน 4 แสน เราก็ไปสร้างโรงถ่าย เราก็หวังว่า ไอ้ไร่ละ3 - 4 แสน เมื่อมันเป็นโรงถ่ายที่ทันสมัยและดีที่สุดในเอเชีย มันอาจจะเป็นไร่ละล้าน ถ้าเราขายได้ เรามีหนี้ 5,000 ล้านเรายังพอใช้ได้ เราสร้างหนังได้โรงถ่าย สร้างโรงถ่าย ได้พัฒนาที่ดิน ได้แหล่งท่องเที่ยว ทุกวันนี้ทำทุกอย่าง แต่ถ้าสร้างหนังแล้วรอดู 4 วันอันตราย เฮ้ย! เรียบร้อย บ้านใครบ้านมัน จบ (หัวเราะ)
FILMAX : แสดงว่าถ้าหนังเรื่องนี้ไม่ทำเงินก็ไม่เป็นไร ทรนง : อ๋อ! ขาดทุนแน่นอน แต่ว่าต้องไปต่อ หยุดทำไม ตัวเลขมันไม่เห็นกำไรน่ะ แต่ที่อยากได้มากที่สุดก็คือ อยากจะดึงผู้กำกับหนังไทยส่วนนึง ให้กลับมาทำหนังที่มันจริงจัง
FILMAX : จริงจังในที่นี้หมายความว่า? ทรนง : หนังที่เป็นจริง คนไทยทำหนังผีกับหนังตลก มีเหตุผลเดียว หนึ่ง ผู้มีอำนาจในแผ่นดินบอก มึงอย่าแตะสถาบัน อย่าแตะตำรวจ อย่ายุ่งทหาร เฮ้ย! อย่าไปยุ่งกับศาล ทนายพูดแบบนี้ไม่ได้นะ 6 ตุลา14 ตุลามึงอย่าไปทำ อย่าไปแตะปัญหาภาคใต้นะโว้ย แล้วตกลงจะให้กูทำอะไร มึงไปทำหนังผีดิ ทำไปเลย หนังตลกก็ได้ อะไรก็ได้ บ้าๆ บอๆ ทำหนังรักก็ได้ ผู้ชาย 3 ผู้หญิงหนึ่ง ผู้หญิง 3 ผู้ชาย 1 ก็ได้ ทำไปเลย ถามดิ๊ คุณจะมีชีวิตอยู่เพื่อให้คนอื่นมาบล็อกคุณเหรอ
FILMAX : แล้วคุณอาเองไม่โดนบ้างเหรอครับ ทรนง : โดน ผมก็สู้ดิ ผมเคยสู้ ผมเคยตัดนิ้วตัวเองมาแล้ว แต่ตอนนี้ไม่ตัดนิ้วตัวเองแล้ว สาบาน ตัดนิ้วคนอื่น (หัวเราะ) คนทำหนังสมัยนี้มันไม่สู้กันไง อย่าให้พูดเลย ผมอยากให้ผู้กำกับหนังแม่งมา เฮ้ย! อยากทำหนังมาคุยกับทรนง จบ ดีจริงได้ทำแน่นอน ผมอนุมัติ คุณก็สร้างเลย แต่ไม่มีใครกล้ามาเลย มันกลัวผมกันหมดไง (หัวเราะ)

Create Date : 21 มิถุนายน 2553 |
| |
|
Last Update : 21 มิถุนายน 2553 0:44:19 น. |
| |
Counter : 1435 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
 |
 |
 |
 |
|
|
|
|
|
|
 |
 |
 |
 |
บทสัมภาษณ์ 'ทุนสนับสนุนหนังไทย ใครเข้มแข็ง (กันแน่?)'
ส่วนขยายจากบทความ 'ทุนสนับสนุนหนังไทย ใครเข้มแข็ง (กันแน่?)' จากนิตยสาร Filmax ฉบับที่ 36
ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
จากการที่คณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสนับสนุนกิจกรรมหรือโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ได้พิจารณาจัดสรรเงินส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตามโครงการส่งเสริมสนับสนุนภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ให้แก่ภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 3 และ 4 เป็นจำนวน 100 ล้านบาทจากงบประมาณ 150 ล้านบาทที่จัดสรรไว้สำหรับสนับสนุนภาพยนตร์เรื่องยาว ซึ่งมีผู้ยื่นเสนอโครงการเข้ามาทั้งสิ้น 98 ราย และเป็น 100 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งหมด 200 ล้านบาท ซึ่งมีผู้ยื่นเสนอโครงการทั้งหมด 250 ราย ยังไม่นับรวมการที่ ครม.ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 330 ล้านบาทให้แก่โครงการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย ภายใต้การดูแลของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่างบประมาณดังกล่าวจะถูกนำไปใช้เพื่อสนับสนุนภาพยนตร์เรื่องนี้เช่นกัน
ส่งผลให้เกิดคำถามและความคับข้องใจขึ้นในวงการ จนกระทั่งมีกลุ่มผู้กำกับภาพยนตร์อิสระร่วมกับเครือข่ายในวงการภาพยนตร์จำนวนหนึ่ง นำโดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และมานิต ศรีวานิชภูมิ ได้มีการยื่นจดหมายเปิดผนึกเพื่อคัดค้านการตัดสินใจดังกล่าว
กระทรวงวัฒนธรรมจึงได้มีการจัดการประชุมชี้แจงผลการพิจารณาการจัดสรรเงินส่งเสริมฯ ร่วมกับเครือข่ายผู้คัดค้านดังกล่าวในวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งทางคณะกรรมการมีมติว่าจะนำข้อเสนอและเสียงคัดค้านไปพิจารณาทบทวนและเสนอทางคณะกรรมการชาติในลำดับต่อไป
ในขณะที่เรากำลังรอการ 'ทบทวน' ผลพิจารณา ของทางกระทรวงฯ (ซึ่งมีทีท่าว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงผลการพิจารณาแต่อย่างใด) เราลองมาดูท่าที ความคิดเห็นของกลุ่มคนทำหนังและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบจากการจัดสรรทุนหนังไทยเข้มแข็งครั้งนี้ โดยเราจะแบ่งพวกเขาออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกก็คือ กลุ่มคนทำหนังที่ถูกปฏิเสธในการยื่นเสนอในโครงการครั้งนี้ โดยมีแกนนำคือ มานิต ศรีวานิชภูมิ ศิลปิน/นักทำหนังอิสระ (พลเมืองจูหลิง) (ถูกปฏิเสธการให้ทุนในโครงการหนังเรื่อง 'เชกเสปียร์ต้องตาย')
Q : จุดประสงค์ในการเรียกร้องของคุณในครั้งนี้คืออะไร?
มานิต : หลังจากที่มีการรับทราบและได้มีการยืนยันกันแล้วว่ากระทรวงพานิชย์จะมีการมอบเงินงบประมาณ 330 ล้าน ให้หนัง ตำนานสมเด็จพระนเศวร ภาค 3,4 เพราะฉะนั้นเมื่อคณะกรรมการได้มีการรับรู้แล้ว เป็นไปได้ไหมว่าจะทบทวนการมอบเงิน 100 ล้านให้กับหนังเรื่องนี้ เพราะถ้ายังไม่มีการเซ็นสัญญา ยังไม่มีการจ่ายเงิน มันจะหยุดเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าอยากจะหยุด
Q : ไม่กลัวคนอื่นจะมองหรือครับ ว่าคุณไม่ได้ทุนแล้วองุ่นเปรี้ยว แพ้แล้วพาล
มานิต : ผมถามว่าเวลาที่มีการอนุมัติโครงการต่างๆ มากมาย เงินช่วยเหลือต่างๆ คนที่ไม่ได้รับเนี่ย ไม่มีสิทธิ์เรียกร้องความเป็นธรรมหรือ? ผมกำลังประท้วงในเรื่องของการแจกจ่ายงบประมาณที่ไม่เป็นธรรม ในขณะที่เบอร์ 1 ได้ไป 100 ล้าน เบอร์ 2 ได้ 8 ล้าน ผมถามว่าคุณเอากติกาอันไหนมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน เพราะถ้าเบอร์ 1 กับ เบอร์ 2 มันได้ไล่เลี่ยกัน เราจะเห็นว่ามันจะมีงบประมาณเหลือ ซึ่งมันจะกระจายไหลไปให้รายอื่นที่มาต่อคิวได้อีกเยอะ ถ้าจะมาบอกว่าผมแพ้แล้วพาล พาลยังไงล่ะครับ? ก็ในเมื่อรายที่ 1 มันเอาไปมากที่สุดแล้ว 100 ล้านจาก 200 ล้าน แล้วรายที่เหลืออื่นๆ ล่ะ? ทำไมไม่ใช้มาตรฐานเดียวกัน? แล้วถ้าคนที่เสียสิทธิ์ ไม่มีสิทธิ์ออกมาเรียกร้องความชอบธรรมของตัวเอง แล้วจะให้ใครที่ไหนมาเรียกร้องล่ะครับ? (และหลังจากนี้ หากมีการพิจารณาจัดสรรทุนใหม่ขึ้นมาจริงๆ มานิตเองก็ได้แสดงเจตจำนงที่จะขอถอนตัวและสละสิทธ์ในการรับทุน เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจในการเรียกร้องครั้งนี้) ประเด็นทีสำคัญต่อมาก็คือ ในการพิจารณามันไม่มีการกำหนดกรอบเพดานในการให้เงินในแต่ละช่วง ผมว่าการที่มันไม่ตั้งกติกาแบบนี้ มันก็เหมือนว่า ถ้าใครมีพวก มีเส้นสาย มันก็มีโอกาสที่จะเกิดการทุจริตขึ้นได้
Q : ส่วนคนที่ไม่มีโอกาส ก็ไม่มีโอกาสกันต่อไป?
มานิต : มันเหมือนกับการสร้างพระเอกอยู่คนเดียวน่ะ เมืองไทยมันไม่ได้มีพระเอกอยู่คนเดียว คนไทยเก่งๆ เยอะแยะไป ทำไมไม่ให้โอกาสคนอื่น ทำไมไม่สนับสนุนรายอื่นขึ้นมา ทำไมจะต้องมีอยู่รายเดียว ทำไมไม่ทำให้มีหลายๆ ราย เพื่อจะได้สร้างศักยภาพในการแข่งขัน ให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของบ้านเราให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ล่ะ?
Q : บางทีจุดมุ่งหมายในการตั้งงบประมาณครั้งนี้อาจไม่ได้เป็นเหมือนอย่างในภาพที่มันนำเสนอไว้
มานิต : ถูก! ผมกำลังสงสัยว่าจริงๆ รัฐบาลไม่ได้มีความจริงใจที่จะส่งเสริมวงการภาพยนตร์ไทยหรอก มันเกิดขึ้นมาเพราะอะไรก็รู้ๆ กันอยู่ ถ้าเขาจริงใจที่จะให้ เขาคงไม่ให้หนังนเรศวรฯ มาแย่งเงินก้อนนี้หรอก แยกไปเลย จะไปตั้งกองทุนกู้ยืมอีกก้อนอะไรก็ว่าไป แล้วการส่งเสริมวงการหนังไทยก็จะได้ส่งเสริมกันจริงๆ ไม่ใช่ส่งเสริมหน้าแค่ฉากกันแบบนี้ ผมยังไม่แน่ใจว่าการตอบโจทย์ของกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงพาณิชย์ในเชิงเศรษฐกิจ (สร้างสรรค์) แบบนี้ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ว่านี่มันตกอยู่กับประชาชนส่วนใหญ่หรือว่าตกอยู่กับนายทุนแค่กลุ่มเดียว ประโยชน์มันจะเกิดกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของบ้านเราจริงหรือเปล่า? หรือว่าเกิดประโยชน์เฉพาะกับอุตสาหกรรมของคนบางกลุ่ม อันนี้ผมว่ามันเป็นคำถามใหญ่ที่ต้องถามกันต่อไป
Q : แล้วจากนี้จะดำเนินการอย่างไรต่อไปครับ
มานิต : ตอนนี้ทางเราก็จะคอยจับตาดูทางกระทรวงวัฒนธรรมจะว่าอย่างไร จะเดินหน้าต่อหรือจะยอมถอยโดยล้มโครงการที่จะให้เงิน 100 ล้านให้กับหนังนเรศวร แล้วก็มาพิจารณาโครงการอื่นๆ ที่ไม่ได้รับกันใหม่ ซึ่งตอนนี้ทางกระทรวงฯ ก็แบ่งรับแบ่งสู้อยู่ ทางตัวแทนก็รับเรื่องไปว่าจะไปเสนอทางคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติต่อไป แต่ในท้ายที่สุดถ้ากรรมการยังยืนยันตามความเห็นเดิม การเรียกร้องของเราก็ยังจะไม่จบ ก็คงต้องไปดูว่ามีช่องทางไหนต่อ ไม่ว่าจะเป็นการยื่นฟ้องศาลปกครอง ปปช. หรือคณะกรรมาธิการตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐเป็นลำดับต่อไป
รายต่อมาก็คือ ก้อง ฤทธิ์ดี คอลัมนิสต์/นักวิจารณ์แห่งหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์/นักทำหนังอิสระ (มูอัลลัฟ) ผู้คร่ำหวอดในวงการภาพยนตร์นานาชาติ และมีความรอบรู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบการขอทุนของต่างประเทศเป็นอย่างดี กับ อภิวัฒน์ แสงพัทธสีมา นักทำหนังสารคดีอิสระ (Behind The Wall) เจ้าของรางวัล "สันติภาพ" และรางวัล "พิราบขาว" จาก จากงานเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 7 ของมูลนิธิหนังไทย (ซึ่งทั้งคู่ถูกปฏิเสธจากการยื่นเสนอทุนครั้งนี้เช่นกัน)
Q : มีความเห็นอย่างไรกับการจัดสรรทุนสนับสนุนหนังไทยที่มันออกมาแบบนี้บ้างครับ?
ก้อง : อย่างแรกเลย ยังไม่ต้องพูดถึงเงินสนับสนุนหนัง นเรศวรฯ ด้วยซ้ำ ผมเชื่อเลยว่าโปรเจ็กต์ที่ได้เงินไป ครึ่งนึงเนี่ย ไม่ได้ทำหรอก สมมุติว่าเค้าขอ 5 ล้าน แล้วให้เขาล้านนึง เค้าจะไปทำได้ยังไงน่ะ แล้วทุนได้เปล่าที่ให้ไปแล้ว ถ้าไม่ได้มีการทำหนังจริงๆ แล้วมันจะมีการติดตามผลยังไง จะมีหรือเปล่า? ปัญหาคือกฎเขาไม่เคลียร์ และกรรมการอาจจะไม่มีความรู้พอในอุตสาหกรรมนี้ ว่าให้ไปแล้วมันจะได้ผลยังไง อย่างเช่นบางคนงบพัฒนาบทแต่ได้ไปถึงหกเจ็ดแสน คือทุนสำหรับพัฒนาบทเยอะสุดในโลกอย่าง ของร็อตเตอร์ดามเนี่ย เขายังให้ไม่ถึงเลย เค้าให้แค่สามสี่แสนเองน่ะ เรี่องใครได้เงินจะว่าไปมันก็ยังพอที่จะอธิบายได้ คนนี้ได้เพราะอย่างงี้ๆ แต่ที่เค้าอธิบายไม่ได้เลยคือสัดส่วนและจำนวนเงินในแต่ละไอเท็ม
อภิวัฒน์ : ผมว่ามันน่าจะมีรอบสกรีนน่ะ สมมุติส่งมาสองร้อยกว่าคน อาจจะไม่ได้ตัดสินไปเลย อย่างน้อยน่าจะมีรอบสอง ให้เข้ามาคุยกันก่อนว่าคุณทำถึงไหน คุณทำอะไร และทำไปทำไม
ก้อง : ใช่ มันควรจะมีการสัมภาษณ์ อย่างคณะกรรมการเท่าที่รู้ก็คือเป็นข้าราชการก็เยอะ คือมันต้องมีความรู้ในอุตสาหกรรมนี้พอสมควรถึงจะรู้ว่า... เอ้า! พูดง่ายๆ สมมุติว่าคนนี้ชื่อไม่ดี ทำหนังไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าให้ทุนไปโอกาสที่หนังมันจะไม่ได้ทำก็สูง เค้าต้องรู้ทันนิดนึง เราเชื่อว่าเขาอ่านแค่ประเด็นน่ะ เค้าไม่ได้ดูเลยว่าโปรดิวเซอร์มีหรือเปล่า ทำหนังได้จริงๆ หรือเปล่า
อภิวัฒน์ : มันน่าจะแยกไปเลยนะ ระหว่างทุนที่มีการคืน และทุนให้เปล่า แบบนี้บริษัทใหญ่ๆ ก็มาเบียดบังคนทำหนังอิสระที่เขาต้องการทุนจริงๆ ไปหมด
Q : ปกติทุนสนับสนุนหนังของเมืองนอกนี่เขามีการให้กับบริษัทเอกชนรายใหญ่ๆ บ้างหรือเปล่า?
ก้อง : ไม่มี คือทุนสนับสนุนหนังส่วนใหญ่มันก็เป็นทุนสำหรับประเทศโลกที่สาม ว่าง่ายๆ น่ะ เช่นประเทศในยุโรปเนี่ย เขาห้ามขออยู่แล้ว เพราะเค้าถือว่าประเทศเหล่านั้นมีระบบสนับสนุนจากรัฐบาลของตัวเองเพียงพอ อย่างร็อตเตอร์ดามเนี่ย คนไทยก็ได้เยอะนะ แต่ก็เป็นคนทำหนังอินดี้เกือบหมดไง แล้วหนังที่ได้ก็จะเป็นหนังแปลกๆ หน่อย มีประเด็นใหม่ๆ ไม่ใช่หนังตลาด หนังตลาดไปเค้าก็ไม่ให้อยู่แล้ว เพราะมันเป็นทุนเพื่อการพัฒนาทางศิลปวัฒนธรรมไง จริงๆ ไอ้เรื่องที่กระทรวงแจกเงินให้กับหนังเรื่องเดียวถึงร้อยล้านเนี่ย มันอาจจะมีผลที่ไม่ดีทางอ้อมก็คือ ไอ้ประเทศที่เคยให้ทุนพวกเรามันอาจจะบอกว่าคุณมีเงินแล้ว รวยแล้ว ถ้ามันมองอย่างนี้ต่อไปมันอาจจะตัดรายชื่อของเราออกจากลิสต์ อย่างสิงค์โปรนี่ขอไม่ได้นะ เพราเขาถือว่ารวยแล้วไง อันนี้เราอาจจะกลัวไปเองก็ได้ พูดตรงๆ แต่มีความเป็นไปได้ไหม มันก็มี
อภิวัฒน์ : คือไอ้เรื่องที่เกี่ยวกับต่างประเทศเนี่ย ผมมองว่าอย่างน้อยมันก็เป็นการเปิดทางให้เขามองว่าประเทศเรามีเงินสนับสนุนด้านนี้อยู่แล้ว แต่ก็ต้องถามย้อนกลับมาว่าโปรเจ็กต์แบบนี้ในเมืองไทยมันยั่งยืนไหม? ถ้าเกิดความเข้าใจมันคลาดเคลื่อนไปแล้ว ต่างประเทศตัดหนทางเข้าถึงทุนของคนทำหนังอิสระบ้านเราในการขอทุนเมืองนอกขึ้นมาแล้วคุณจะรับผิดชอบยังไง? ถ้าอย่างนั้นการให้ทุนแบบนี้มันก็ถือว่าเป็นการตัดโอกาสกันเอง ทำลายวงการหนังด้วยกันเองเหมือนกันนะ
ก้อง : คือไม่ใช่ว่าให้ไม่ได้นะ แต่คนใหม่ก็น่าจะให้เขาบ้าง ไม่ใช่ว่ามีแต่ท่านมุ้ย เป็นเอกหรืออภิชาตพงศ์ อะไรอยู่แค่นี้ อย่างน้อยๆ ก็น่าจะสัมภาษณ์เค้าสักหน่อย นี่ไม่มีเลย
Q : คิดว่าการที่คนทำหนังอิสระอย่าง อภิชาตพงศ์ (วีระเศรษฐกุล) หรือ อโนชา (สุวิชากรพงศ์) ได้รับทุนนี่ คิดว่าทางคณะกรรมการต้องการปิดปากคนทำหนังอิสระหรือเปล่า?
ก้อง : อาจจะไม่ได้เรียกว่าปิดปาก แต่เดาว่าเค้าคงคิดว่าได้ผลงานชัวร์ๆ คนพวกนี้มีชื่อเสียง อาจจะไม่ถึงขนาดนั้น แต่เชื่อว่าเขาให้คนเหล่านี้มันจะไม่มีใครด่า มันเป็นข้ออ้างไง
อภิวัฒน์ : เรื่องนี้ผมว่ามันเป็นการสร้างความชอบธรรมสำหรับวงการหนังอิสระไง เพื่อจะได้พูดได้ว่า นี่ไง เราก็ให้คนทำหนังอิสระนะ ไม่ใช่ไม่ให้ แต่มันไม่ได้พูดถึงอีกสองร้อยกว่าเรื่องที่ไม่ได้น่ะ
ก้อง : อย่างอาทิตย์ อัสรัตน์ (Wonderful Town) เองก็ไม่ได้ โปรไฟล์เขาก็ดีจะตาย หนังเค้าก็จะเสร็จแล้ว เค้าขอแค่ล้านเดียวเอง เค้าไม่ได้โลภเลย เค้าขอตามจริง เขาขอค่าโปรโมทและโพสต์โปรดักชั่น 1 ล้าน อย่างงี้ทำไมไม่ให้ หนังเค้าเสร็จแน่ๆ น่ะ แล้วการจัดสรรสัดส่วนของทุน 200 ล้าน ที่ให้หนังยาวไปถึง 150 ล้าน แล้วให้หนังเรื่องเดียวตั้ง 100 ล้าน เนี่ย มันเยอะเกินไป
อภิวัฒน์ : มันน่าจะกระจายให้มากกว่านี้ หนังสั้นหนังอิสระบางเรื่องได้สามหมื่น เทียบกับอีกคนได้ร้อยล้านเนี่ย มันเรียกว่าสนับสนุนยังไง สนับสนุนมันต้องช่วยให้เขาทำให้ได้สิ ให้คนละล้านมันก็ได้หนัง 100 เรื่องแล้ว
ก้อง : คืออย่างเกาหลีเนี่ย ยกตัวอย่างว่ารัฐบาลมันไม่ควรจะลงทุนกับเอกชนใช่ไหม มันทำไม่ได้ แต่เกาหลีมันจะตั้งเป็นกองทุนที่ได้มาจากหน่วยงานวัฒนธรรมอะไรก็ตามแต่ แล้วกองทุนนี้มันก็เหมือนกองทุนตามแบ็งค์น่ะ รัฐบาลก็ลงทุน รัฐบาลก็ได้เงินคืน แล้วทุนนี้ก็จะมีการจ่ายคืน มีหักส่วนอะไรก็ว่าไป แต่หนังอินดี้ หนังอิสระ มันก็มีการสนับสนุนแยกออกมาเลย คือระบบเค้าจะละเอียดกว่าไง อีกอย่าง คนมักจะพูดว่าให้ไปดูเกาหลี ที่เค้าให้เงินสนับสนุนคนทำหนัง แล้ววงการหนังเค้าก็เจริญรุ่งเรือง
อภิวัฒน์ : แต่คนที่พูดเขาไม่เข้าใจโครงสร้างว่าการให้ทุนสนับสนุนของเกาหลีเขาเป็นยังไง
ก้อง : ใช่ มันเป็นทั้งระบบน่ะ มันไม่ได้ให้เงินหนังที่ขายได้อย่างเดียว หนังนักเรียนมันก็ให้ โอเค วงการหนังเกาหลีมันก็มีปัญหาเยอะแหละ แต่รายเล็กรายน้อยอะไรมันดูทั่วถึง เทศกาลหนังเล็ก น้อย ใหญ่ อะไรมันช่วยหมด แต่ของเราเหมือนกับโยนมาสองร้อยล้าน แล้วก็ไปแย่งกันเอง
อภิวัฒน์ : อย่างหนังตลาดบางเรื่องเนี่ย รัฐสนับสนุนในแง่ของการลงทุนได้ เหมือนให้ยืมเงิน แต่ไม่ควรมาเบียดเบียนการสนับสนุนหนังเรื่องอื่นที่เขาก็ต้องการความช่วยเหลือที่อาจจะมากกว่าด้วยซ้ำไง
ก้อง : คือในเชิงโครงสร้างเนี่ย เราก็มองว่ามันประหลาด เพราะถ้างบมาจากกระทรวงพาณิชย์หรือกระทรวงอุตสาหกรรม มันก็พูดได้ว่านี่คืองบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หนังอย่างนเรศวรก็มีสิทธิ์ที่จะขอเงิน เพราะว่าเป็นหนังฟอร์มยักษ์อะไรก็ว่าไป พูดง่ายๆ คือรัฐเป็นคนร่วมลงทุนหรือให้เงินกู้แบบไม่มีดอกเบี้ยแก่เอกชน มันทำได้ แต่พองบมันมาจากกระทรวงวัฒนธรรม เป้ามันควรจะเป็นอีกอย่างนึงไม่ใช่หรือ หน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรมคือการส่งเสริมความหลากหลาย ส่งเสริมองค์ความรู้ ส่งเสริมโอกาสให้แก่คนทำงานสร้างสรรค์ หรืออะไรก็แล้วแต่ มันไม่ควรจะเป็นงบที่ให้เพื่อหวังผลทางเศรษฐกิจไง กระทรวงวัฒนธรรมไม่ควรจะมีหน้าที่คิดเรื่องการค้าหรือว่ากลายเป็นเจ้าหนี้เงินกู้แบบนี้ กระทรวงวัฒนธรรมมีหน้าที่ปล่อยเงินกู้ตั้งแต่เมื่อไหร่ มันผิดตั้งแต่วิธีคิดแล้ว คุณไม่ได้มีหน้าที่ปล่อยเงินกู้! คุณมีหน้าที่ส่งเสริมวัฒนธรรม!
Q : แต่ทางกระทรวงวัฒนธรรมเองก็ได้ให้เหตุผลว่า หนังเรื่องนี้ส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมอันดี ให้ความรู้ในแง่ประวัติศาสตร์ชาติไทยและสร้างความสามัคคีให้คนในชาติล่ะครับ
ก้อง : ถ้าคุณจะมองว่านี่คือวาระแห่งชาติ คุณก็ต้องบอกให้ชัด แล้วก็แยกการสนับสนุนต่างหากไปเลย เสร็จแล้วเราก็ต้องดูฟรี รัฐบาลต้องจ่ายเงินให้เราดูฟรี แค่นั้นเอง
Q : คิดว่าที่หนังนเรศวรได้ทุนสนับสนุนเยอะขนาดนี้ อาจเป็นเพราะมันสนับสนุนแนวคิดในเชิงชาตินิยมที่รัฐพยายามจะปลูกฝังให้กับประชาชนหรือเปล่า?
ก้อง : มันก็มีแหละ แต่มันอาจจะไม่ได้โจ่งแจ้ง หรือคนทำเขาอาจจะไม่ได้คิดตั้งหลักเอาไว้ตั้งแต่แรก แต่ว่าในเชิงโครงสร้าง ในระบบความคิดมันมีอยู่แล้วน่ะ ในการใช้ประวัติศาสตร์เพื่อก่อให้เกิดความรู้สึกอะไรบางอย่าง โดยไม่เคยตั้งคำถามน่ะ ในเชิงการเมืองมันก็คงมีวาระซ่อนเร้นอยู่แล้วน่ะ
Q : สังเกตอีกอย่างว่าหนังที่ได้ทุนมันเป็นหนังที่จำกัดความเป็นวัฒนธรรมอยู่แต่ในวงแคบ อาทิเช่นในแง่ของศาสนา
อภิวัฒน์ : มีหนังที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมในรูปแบบอื่นบ้างไหม อย่างอิสลามเนี่ย?
ก้อง : เท่าที่เราเห็นไม่มีนะ แต่ถ้าเราพูดมันก็จะกลายเป็นว่า เราไปขอทุนแล้วไม่ได้เลยพาลจับผิด
อภิวัฒน์ : แต่ในแง่นี้มันแสดงให้เห็นถึงการขาดความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกระทรวงวัฒนธรรมจริงๆ ไง
ก้อง : คือเราแค่อยากจะสะท้อนกลับไปที่ว่า คำว่า 'วัฒนธรรม' ของกระทรวงฯ มันคืออะไร ในขณะที่หน้าที่ของเขาคือการส่งเสริมความหลากหลาย เราไม่ได้บอกนะว่าการที่หนังเหล่านั้นได้รับการสนับสนุนมันผิด แต่เราแค่บอกว่ามันไม่แสดงความหลากหลายจริงๆ ทั้งที่มันควรจะเป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ของกระทรวงนี้ ซึ่งก็อาจจะแปลว่าเค้าไม่ได้ทำหน้าที่ของเขาอย่างเต็มที่
Q : ในฐานะที่คุณก้องเองก็เป็นสื่อมวลชนและคนทำหนังอิสระที่ขอทุนนี้แล้วไม่ได้ ไม่กลัวคนจะมองว่าคุณอคติหรือองุ่นเปรี้ยวหรือ
ก้อง : ก็กลัวนะ กลัวเหมือนกัน เราก็รู้สึกตัวว่าเราก็หลายอย่างไปหน่อยน่ะ แต่เราเชื่อว่าเราก็ตอบคำถามได้ อย่างเวลาเราเขียนบทความเราก็บอกไปเลยว่าเราก็ขอ เราเชื่อว่าประเด็นที่เราเลือกพูดมันชัดเจนน่ะ อย่างการให้งบสนับสนุนครึ่งนึ่งของงบประมาณทั้งหมดกับหนัง นเรศวรฯ เพียงเรื่องเดียวเนี่ย ผมว่าการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินมันชัดเจนว่ามันไม่แฟร์กับคนอื่น เราคิดว่าใครๆ ก็มีสิทธิ์พูด ถ้าไม่งั้นเราก็จะกลายเป็นคนที่ไม่กล้าทำอะไร เพราะกลัวคนโน้นคนนี้ด่าไปหมด เพราะเมื่อเราเห็นอะไรที่มันไม่ชัดเจน ไม่ถูกต้อง เราก็ต้องพูดน่ะ
อภิวัฒน์ : เราไม่ได้มองว่าหนังนเรศวรผิด หรือเป็นหนังไม่ดี ไม่สมควรได้รับการสนับสนุนนะ แค่บอกว่าสัดส่วนของการให้ทุนมันไม่ยุติธรรมน่ะ
Q : สรุปแล้วภาพรวมข้อบกพร่องของการจัดสรรทุนก้อนนี้คืออะไร
ก้อง : เรื่องมาตรฐาน โครงสร้าง เมื่อเปรียบเทียบกับการให้ทุนของทั่วโลก ความโปร่งใสในการพิจารณาของคณะกรรมการ
อภิวัฒน์ : การให้ทุนกับหนัง นเรศวรฯ ในลักษณะนี้เป็นตัวสะท้อนปัญหาโครงสร้างของการให้ทุนไทยเข้มแข็งของกระทรวงวัฒนธรรมที่ชัดเจนที่สุด
ส่วนขยายจากบทความ 'ทุนสนับสนุนหนังไทย ใครเข้มแข็ง (กันแน่?)' จากนิตยสาร Filmax ฉบับที่ 36 ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
กลุ่มที่สอง คือกลุ่มคนที่ได้รับเงินสนับสนุน แต่ยังเกิดคำถามและความเคลือบแคลงใจในความไม่ชอบมาพากลของการจัดสรรทุนนี้ โดยมีแกนนำคือ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล นักทำหนังอิสระผู้มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติและคนทำหนังไทยคนแรกและคนเดียวที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ปาล์มทองคำ จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ จากหนังเรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (ซึ่งได้รับการอนุมัติให้ได้รับทุนนี้ไป 3,500,000 บาท)
Q : แรกสุดเลย อยากทราบเหตุผลที่คุณเจ้ยออกมาคัดค้านการจัดสรรทุนในครั้งนี้ครับ?
อภิชาติพงศ์ : ในมุมมองของผม มันตีความได้หลายมุมว่าทำไมหนังเรื่องนี้ (ตำนานสมเด็จพระนเรศวร ภาค 3,4) ต้องเข้ามาร่วมแชร์ทุนกับหนังเรื่องอื่น โดยที่ทาง อ.อภินันท์ ก็ออกมาประกาศหลังจากการตัดสินว่า กระทรวงวัฒนธรรมสนองนโยบายของนายกฯ ว่าต้องสนับสนุนเรื่องนี้ ผมถามว่า แล้วทำไมไม่ทำเป็นงบ 100 ล้าน แยกให้เขาไปเลย ดีลกันเอง ไม่ต้องแสร้งสร้างชุดคณะอนุกรรมการขึ้นมาตัดสิน หากจะต้องคำนึงถึงปัจจัยนอกทางการเมืองเช่นนี้ ถ้าเขาคิดว่ามันจะช่วยสนับสนุนวัฒนธรรมของชาติ ส่งเสริมให้มีความสามัคคี ซึ่งมันก็เป็นมุมมองของเขา
Q : บางคนมองเป็นเรื่องแปลก ที่ทั้งๆ ที่คุณเจ้ยเป็นคนหนึ่งที่ได้เงินสนับในส่วนนี้ แต่กลับออกมาคัดค้าน?
อภิชาติพงศ์ : ถึงผมจะได้หรือไม่ได้เงิน มันไม่ใช่ประเด็น ถึงผมจะได้เงิน 80 ล้าน 100 ล้าน ถ้ามันเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ผมก็ต้องพูดเพราะมันไม่ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นผมไม่เปลืองตัวออกมาให้คนต่อว่าหรอก คนหลายๆ คนในบ้านเราอาจจะสนับสนุนหนังเรื่องนี้ แต่เขาไม่ได้มองไปถึงหลักการ เขามองแค่ว่ามันสมควรจะได้ 500 ล้าน 1000 ล้าน ด้วยซ้ำ ซึ่งถ้ารัฐอยากจะสนับสนุนจริงๆ ควรตั้งเป็นกองทุนเฉพาะให้หนังเรื่องนี้ไปเลย แต่ว่าการเอาตรงส่วนนี้เหมือนมารวมกับอีกโจทย์หนึ่ง แล้วก็ออกมาประกาศให้คนทั่วไปมาสมัครโดยที่ไม่ได้กำหนดเพดานของงบสำหรับหนังแต่ละเรื่องว่าจะขอได้เท่าไหร่ และก็ไม่ได้กำหนดด้วยว่าจะสนับสนุนในขั้นตอนอะไร เช่นขั้นตอนพัฒนาบท ขั้นตอนถ่ายทำ ตัดต่อ ประชาสัมพันธ์ เป็นสิ่งที่ต้องถามคำถาม แล้วที่น่ากลัวยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การเปิดโอกาสให้ทางสตูดิโอหรือผู้สร้างภาพยนตร์เสนอเอาเองว่าจะให้ผลประโยชน์ต่อกระทรวงเท่าไหร่ แล้วมาตกลงสรุปหาข้อตกลงกันทีหลัง ซึ่งประเทศที่เจริญแล้วเขาไม่ทำกัน ยกตัวอย่างว่าหนังเรื่องหนึ่งขอทุนรัฐบาล เขาก็จะกำหนดเลยว่า หนังต้องแบ่งกำไรกี่เปอร์เซ็นต์กับรัฐบาล ซึ่งมันเป็นหลักสากล สมมุติว่าขอทุนฝรั่งเศส เขาก็จะมีข้อแม้ว่า 50% ของทุนต้องใช้จ่ายในฝรั่งเศสนะ เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมของท้องถิ่นเขา อย่างที่เยอรมันแม้จะให้ 100% ก็ต้องใช้ 150% ในเยอรมันแต่ถ้าจะประเสริฐจริงๆ อย่างเนเธอร์แลนด์ ให้ไปโดยไม่มีข้อแม้ด้านการตลาดเลย หว่านพืชผลไป คุณจะทำเสร็จไม่เสร็จเขาก็ไม่ว่า แต่ทุนไทยเข้มแข็งที่ผ่านทางกระทรวงนี้นี้มีช่องโหว่มาก คนที่ส่งโครงการเข้าไปจะไม่มีแนวทางในการจัดสรรงบเลย มันไม่ได้สร้างมาตรฐานให้ผู้สมัครเข้าใจในโครงสร้างของทุน เพื่อที่จะต้องเสนอโครงการ เช่น ช่วงร่างบทภาพยนตร์ต้องขอเท่าไหร่ แล้วเพดานของการให้ทุนสำหรับขั้นตอนนี้เท่าไหร่ ในกรณีนี้ รัฐไม่ต่างอะไรกับการเป็นแค่นายทุนที่ต้องการเอาผลประโยชน์จากหนังเรื่องหนึ่งมาใช้ และหวังว่าหนังเรื่องนั้นจะได้กำไร ถึงแม้ว่าหนังเรื่องนั้นจะอ้างว่าจะปันผลมากกว่า 100 ล้านซึ่งเป็นไปได้ แต่ถ้าเขาไม่ได้กำไรล่ะ? ทำไมรัฐต้องไปเสี่ยงกับหนังเรื่องเดียวด้วยงบประมาณครึ่งหนึ่งของทุนที่มี และเมื่อทราบว่ากระทรวงพาณิชย์จะให้ทุนสนับสนุนหนังเรื่องเดียวกันนี้อีก 330 ล้านบาท ทำให้เกิดคำถามว่า ขณะที่ทุนยังไม่มีการแจกจ่ายออกไปนี้ เหมาะสมแล้วหรือที่รัฐจะต้องสนับสนุนภาพยนตร์เพื่อการค้าโครงการหนึ่งถึงเกือบ 100% ของงบประมาณการสร้าง ทั้งๆที่งบสนับสนุนจำนวนมหาศาลที่ให้แก่ภาพยนตร์เชิงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของผู้กำกับคนเดียวกันจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมาก็ทำให้เกิดประโยชน์ต่อบริษัทผู้สร้างแล้วไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอุปกรณ์ราคาสูงต่างๆ หรือรายได้ที่ผ่านมา เราควรเปรียบเทียบศักยภาพในการหาทุนสนับสนุนของผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้กับเรื่องอื่นๆที่ต้องการความเหลียวแลจากรัฐด้วย การที่กระทรวงวัฒนธรรมและคณะกรรมการฯพยายามมุ่งตอบโจทย์เพื่อการค้า มันเป็นการไปทำลายโจทย์ที่พวกเขาตั้งไว้เอง ว่าจะสนับสนุนเพื่อความก้าวหน้าของวงการภาพยนตร์ไทย มันเป็นการทำลายโอกาสในการสนับสนุนโครงการอื่นๆ ซึ่งทุนนี้จะทำให้เกิดการกระจายรายได้ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในโครงการอิสระ และในต่างจังหวัด ประเทศไทยต้องการความหลากมิติทางภาพยนตร์ ซึ่งประโยชน์ของมันมีค่าทางด้านสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาวมาก
Q : เหมือนความเจริญมันกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มเดียว?
อภิชาติพงศ์ : สิ่งที่ผมสู้มาตลอดตั้งแต่แรกเลยและพยายามจะสื่อสารกับกระทรวงวัฒนธรรมว่า คุณควรจะสนับสนุนหนังทุกเรื่องในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็น นเรศวรฯ หรือหนังเรื่องอื่นๆ หนังตลก หนังผี สารคดี ฯลฯ ภาพยนตร์มีคุณค่าต่างๆกันไปตามความคิดของปัจเจก คนต่างจังหวัดหรือใครก็ตามที่เขาอยากเขียนบท แต่เขาไม่มีโอกาส แล้วเขามาเจอคนทำหนังมืออาชีพ แล้วยิ่งเอา 100 ล้านไปให้หนังนเรศวรฯ อีกเนี่ย คนพวกนั้นหมดสิทธิ์ไปเลยนะ อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องคุณภาพของคณะอนุกรรมการตัดสิน ผมมีความคิดว่าหลายคนในคณะอนุกรรมการเป็นผู้ที่ไม่มีศักยภาพพอในการพิจารณา แค่มาเพื่อเป็นตัวแทนของกระทรวงต่างๆ เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ของความร่วมมือกันระหว่างหลายๆกระทรวง ทำให้เหมือนเกิดความชอบธรรม ซึ่งรัฐมองว่าภาพยนตร์ก็คืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวโยงกับการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ ธุรกิจ หรืออื่นๆ แต่ว่าคนเหล่านี้มีความรู้ด้านภาพยนตร์และวัฒนธรรมแค่ไหน ผมคิดว่าเขาเหล่านั้นเหมาะที่จะมีตำแหน่งที่ปรึกษามากกว่าที่จะเป็นอนุกรรมการตัดสิน พวกเขาจะได้ใช้ความรู้เฉพาะทางของเขาได้เต็มที่ มากกว่าที่จะมานั่งอ่านบทภาพยนตร์เป็นร้อยๆเรื่อง นี่คือสิ่งที่แตกต่างระหว่างบ้านเรากับการให้ทุนสนับสนุนภาพยนตร์ของประเทศอื่นที่มีศักยภาพ ปัญหาคือคนที่เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์และวัฒนธรรมบ้านเรามีจำนวนน้อย พอไม่มีผู้เชียวชาญแล้ว การร่างโครงการการร่างกฎระเบียบก็จะแสดงความความไม่รู้ของเขาออกมา ซึ่งมันก็จะทำให้เกิดช่องว่างที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นและอีกประเด็นที่เลี่ยงไม่ได้เลยก็คือ กระทรวงวัฒนธรรมประกาศออกมาตั้งแต่แรกว่าจะมีทุน 200 ล้าน สำหรับงบประมาณปี 2552 และในเดือนพฤษภาคมก็จะมีงบประมาณอีก 280 ล้าน ซึ่งจุดนี้ดีมาก คือการมีทุนสนับสนุนสองครั้งในเวลาประมาณหนึ่งปีเหมือนในหลายๆประเทศ เพราะวงจรการสร้างภาพยนตร์ของผู้สร้างจะแตกต่างกัน คนที่สมัครขอทุนไปตอนแรกแล้วไม่ได้ก็จะมีโอกาสแก้ตัวอีก ปรับปรุงและ update เอกสาร หรือคนที่ได้แล้ว เช่นได้ในส่วนของการพัฒนาบท ก็อาจจะของบสำหรับการถ่ายทำอีกก็ได้ มันช่วยเหลือได้มาก แต่ตอนนี้ 280 ล้านที่ว่าหายไปแล้ว ซึ่งผมไม่รู้ว่าหายไปไหน? อยากให้ทางกระทรวงชี้แจงเช่นกัน
Q : แต่ทางคณะกรรมการฯ และกระทรวงวัฒธรรมก็อ้างว่าหนังเรื่องนี้มีความเหมาะสมที่จะได้ทุนดังกล่าว เหตุเพราะมันเป็นหนังที่ส่งเสริมประวัติศาสตร์ของชาติไทยและความสามัคคีของคนในชาติ
อภิชาติพงศ์ : ข้อกำหนดในการมอบทุนมันก็เป็นตัวแสดงมาตรฐานของประเทศเรา ซึ่งเป็นประเทศอนุรักษ์นิยม มีประเด็นว่าว่าต้องส่งเสริมศีลธรรมอันดี คุณธรรมอันดี ไม่วิพากษ์รัฐ เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งโดยส่วนตัวผมถือว่ามันเป็นส่วนนึงของประเทศที่ล้าหลังกว่าสังคมอื่น 30 ปี มันเหมือนการศึกษาสมัยโบราณซึ่งในปัจจุบันมันยังมีอยู่ในโรงเรียนทั้งหลายในเมืองไทย ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็คือภาพสะท้อนวุฒิภาวะทางปัญญาของผู้บริหารประเทศนั่นแหละ ว่ามันมีแค่นี้เกิดขึ้นจากความกลัว และเพื่อการป้องกันตัวเอง มองสังคมเป็นขาว-ดำ ดี-ชั่ว กระทรวงวัฒนธรรมเกิดขึ้นมาเพราะการพยายามจะรณรงค์สูตรที่เขาเชื่อว่าจะทำให้สังคมเดินไปทางไหนตั้งแต่สมัยจอมพล ป.แล้ว มันมีหน้าที่ของมัน แต่มันก็ยังไม่สามารถที่จะเป็นสิ่งที่เราเรียกกันว่าวัฒนธรรมโดยบริสุทธิ์ได้ แม้แต่ในทางพุทธะ เพราะเขาไม่เข้าใจว่าวัฒนธรรมในสังคมอิสระคือความหลากหลาย การมีทางเลือก การไม่ยัดเยียดมุมมองของตัวเองให้คนอื่นโดยการบังคับหรือใช้อำนาจ หรือการเลี่ยงประเด็น ซึ่งนี่คือส่วนหนึ่งของการสร้างปัญหาที่ทำให้เมืองไทยทะเลาะกันขนาดนี้
Q : เป้าหมายสุดท้ายในการดำเนินการครั้งนี้คืออะไรครับ?
อภิชาติพงศ์ : สิ่งทีเราพอจะทำได้ก็คือการไปฟังเขาชี้แจง และบอกเขาว่า ระบบการให้ทุนของสากลเขาเป็นอย่างนี้นะ ไม่มีที่ไหนในโลกเขาให้ทุนกันแบบนี้นะ ต้องหันหน้ามาคุยกัน ช่วยเหลือกัน จุดประสงค์คือเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม เพิ่มความร่ำรวยทางวัฒนธรรม ซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวเลยกับการเป็นหนังของใคร หรือว่าเป็นหนังแห่งสยามประเทศอะไรก็แล้วแต่
นอกจากอภิชาติพงศ์แล้ว ยังมีคนทำหนังและคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับวงการหนังที่ได้รับทุนอย่าง อโนชา สุวิชากรพงศ์ นักทำหนังอิสระที่เพิ่งได้รางวัล ไทเกอร์ อวอร์ดส์ จากเทศกาลหนังนานาชาติร็อตเตอร์ดาม (เจ้านกกระจอก) (ได้ทุนจาก -ดาวคะนอง 1,500,000 บาท) กับ สัณห์ชัย โชติรสเศรณี แห่งมูลนิธิหนังไทย (ได้ทุนจาก -โครงการเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 14 -1,400,000) ที่เกิดความคลางแคลงใจและร่วมออกมาเป็นหนึ่งในเครือข่ายคนทำหนังที่ออกมาคัดค้านการจัดสรรทุนในครั้งนี้ด้วย
Q : ในฐานะที่คุณอโนชาเป็นคนหนึ่งที่ได้ทุนนี้ ทำไมถึงตัดสินใจออกมาคัดค้านครับ?
อโนชา : "เราดูตัวเลขแล้วรู้สึกว่ามันเป็นการไม่ยุติธรรม ในเมื่องบประมาณมันมีอยู่ 200 ล้าน โดยที่ครึ่งหนึ่งของงบให้หนังเรื่องเดียว มันไม่ใช่เรื่องปกติ เราดูตัวเลขแล้วรู้สึกว่ามันเป็นการไม่ยุติธรรม ในเมื่องบประมาณมันมีอยู่ 200 ล้าน โดยที่ครึ่งหนึ่งของงบให้หนังเรื่องเดียว มันไม่ใช่เรื่องปกติ ส่วนตัวที่ได้เต็มจำนวนเท่าที่ขอ เป็นแค่ส่วนหนึ่งของงบประมาณเอง คือเราทำหนังด้วยทุนตัวเอง 10 กว่าล้าน แต่เรารู้ว่าเราไม่ควรขอขนาดนั้น เรารู้ว่าในเมื่องบประมาณมันมีอยู่แค่นี้ แล้วมันต้องเฉลี่ยไปให้หลายๆ โปรเจ็กต์แล้วเราจะไปขอเยอะๆ มันก็ไม่เข้าท่าไง เพราะมันเป็นทุนจากรัฐบาลซึ่งมันก็มาจากภาษีประชาชน มันก็ควรจะแบ่งให้หลายๆ คนน่ะ เราได้มาแค่นี้เราก็ดีใจแล้ว แต่พอรู้เรื่องเราก็เสียใจที่ว่ามันเป็นวิธีเลือกปฏิบัติน่ะ เห็นอยู่ว่าหนังเรื่องนึงได้ 100 ล้าน แต่หนังสั้นบางเรื่องได้ 30,000 มันแตกต่างกันเยอะเกินไปน่ะ ซึ่งอันนี้มันต้องโทษที่กฏเกณฑ์ กติกาที่มันไม่ชัดเจนตั้งแต่แรกน่ะ มันไม่ได้แบ่งว่าขอสำหรับขั้นตอนอะไร และไม่มีเพดานในการขอทุนด้วย ไม่มีกองทุนที่ไหนในโลกที่ไม่มีเพดาน จริงๆ มันไม่ควรจะให้ผู้สมัครกำหนดเองว่าจะเรียกร้องเงินเท่าไหร่ ส่วนใหญ่เค้าจะกำหนดเลยว่าทุนกองนี้จะให้หนังกี่เรื่อง แล้วแต่ละเรื่องจะได้ประมาณนี้ มีเพดานอยู่เท่านี้ ไม่สามารถขอมากกว่านี้ได้ เพราะเราเองก็ทำหนังนอกกระแสและขอทุนจากต่างชาติอยู่เหมือนกัน อย่างเรื่องที่ได้ทุนนี่ เราก็ได้ทุนจากต่างชาติมาส่วนนึงเล็กๆ แต่มันก็ยังห่างไกลกับเงินจำนวนทั้งหมดที่เราต้องหาเพิ่มอีก แต่เราก็ไม่ได้คิดว่าจะไปหวังพึ่งรัฐบาลเอา 100% มาลงกับหนังเรา มันเป็นไปไม่ได้ไง มันไม่ Make Sense น่ะ เพราะถ้าคิดว่าเงินนี้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนคนที่ไม่สามารถเข้าหาแหล่งทุน หรือมีโอกาสจำกัดในการหาแหล่งทุน
Q : แต่ทางกระทรวงวัฒนธรรมก็อ้างว่าเงินนี้ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อให้คนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนหรือคนที่ไม่มีโอกาส แต่เป็นเงินทุนเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์
สัณห์ชัย : ถ้าอย่างนั้นมันก็ต้องตั้งกองทุน ระหว่างทุนที่จะให้เปล่าหรือ Seed Fund อย่างที่พี่เจ้ยว่า กับทุนเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์แยกกันไปให้ชัดเจน
อโนชา : ตอนแรกที่มีการแถลงข่าวจาก สศร. (สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย) เค้าบอกว่าอันนี้เป็นกองทุนที่ตั้งมาเพื่อให้เปล่า แต่หากท่านใดมีความประสงค์อยากจะให้คืนกลับไปเขาก็ยินดี เพราะเขาจะได้เอาไปตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนในครั้งต่อไป แต่วัตถุประสงค์หลักของเขาคือให้เปล่า
สัณห์ชัย : แต่ถ้าเป็นในลักษณะของการคืนทุนกลับเนี่ย มันต้องเป็นลักษณะของกองทุนอีกแบบ อาจจะเป็นกองทุนดอกเบี้ยต่ำ หรือกองทุนกู้ยืม ซึ่งทุกบริษัทมีสิทธิ์เท่าถึงกันหมดไง ก็แบ่งๆ กันไป ซึ่งถ้าสังเกตดูดีๆ จะเห็นความแปลกประหลาดในเรื่องนี้ก็คือ ทุกคนรู้ว่ากองทุนไทยเข้มแข็งมีทั้งหมด 200 ล้าน แต่มันดันมีคนยื่นขอทุนนี้มา 480 ล้าน มันเป็นความ Absurd น่ะ ทุกคนรู้หมดว่ามีทุนอยู่เท่านี้ แล้วคนที่เขียนยื่นขอทุนมา ถ้าเป็นคนสติดีน่ะ ก็จะต้องเขียนมาภายใน 200 ล้าน แต่นี่ดันขอมา 480 ล้านมันหมายความว่ายังไง?
Q : มีความเป็นไปได้ไหมว่า ถ้าไม่มีหนัง ตำนานสมเด็จพระนเรศวร ภาค 3,4 ก็คงไม่กองมีทุนนี้เกิดขึ้น?
สัณห์ชัย : อันนี้ก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่วันแรกที่ประกาศผลของโครงการนี้ ทางสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเองก็ได้มีการประกาศออกมาชัดเจนว่า การที่หนังเรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรได้เงินไป 100 ล้านบาทเพราะเป็นนโยบายของรัฐบาล และคณะกรรมการที่พิจารณางบประมาณนี้ก็เป็นข้าราชการเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นมันก็อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่ง ผมถึงพยายามให้คณะกรรมการและอนุกรรมการแสดงหลักฐาน ซึ่งก็คือเทปบันทึกภาพการประชุมพิจารณาฯ ดังกล่าว เพื่อเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจและความโปร่งใสของคณะกรรมการ นั่นคือสิ่งที่ควรจะเปิดเผยออกมา
Q : ตอนนี้ทางเครือข่ายฯ จะมีมาตรการอย่างไรต่อไปครับ?
สัณห์ชัย : ตอนนี้เราก็ต้องรอดูว่าทางกระทรวงฯ จะมีปฏิกิริยาอย่างไร แต่กว่าบอร์ดชาติจะประชุมก็คือปลายเดือนนี้ (30 พฤษภาคม 2553) แล้วทุกคนที่ได้ทุนก็ต้องเซ็นสัญญาแล้ว แล้วอีกปัญหานึงก็คือ สัญญาสำหรับผู้ที่ได้ทุนมันคือสัญญาทาสชัดๆ ไง ทีนี้ก็เป็นปัญหาของผู้ที่ได้ทุนแล้วล่ะ ว่าจะยอมให้ทุกสิ่งทุกอย่างตกเป็นของรัฐทั้งหมดหริอเปล่า?
Q : รวมถึงทุนให้เปล่าด้วย?
อโนชา : มันเป็นสัญญาฉบับเดียวกันหมดไง
Q : แปลว่าถึงแม้ว่าจะให้เงินสนับสนุนแค่ในส่วน พรีโปรดักชั่น หรือ โพสต์โปรดักชั่น หรือส่วนเล็กๆ แค่ส่วนเดียว แต่รัฐก็จะได้หนังไปทั้งเรื่อง?
สัณห์ชัย : ใช่ ทุกคน ทุกโปรเจ็กต์น่ะ
อโนชา : มันมีอีกข้อนึงด้วยที่ว่า ถ้าจะรับเงินก้อนที่เขาให้คุณต้องเอาเงินมาค้ำประกันเท่าจำนวนนั้นเลย มันไม่ Make Sense น่ะ ถ้าเกิดว่าคุณมีเงินจำนวนนั้นอยู่แล้วคุณจะมาขอทำไม? แต่ทางกระทรวงฯ เขาก็สัญญาว่าจะกลับไปแก้ไขให้นะ เพราะเขาก็เห็นว่ามันไม่เวิร์กเหมือนกัน
สัณห์ชัย : สิ่งที่เราพอจะทำได้ก็คือ การรอดูท่าทีอย่างที่ว่านั่นแหละ แล้วเราก็จะมีการทำลิสต์ข้อบกพร่องของทุนนี้ออกมาเพื่อให้เป็นกรณีศึกษาต่อไป
หมายเหตุ : ภายหลังทางสำนักงานศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัยซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงวัฒนธรรมได้มีการอธิบายเพิ่มเติมมาว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากเงินก้อนที่ได้รับการสนับสนุนเท่านั้น จะตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ยกตัวอย่างเช่น สมมติผู้ได้รับทุนได้เงินไปเขียนบท เมื่อบทเสร็จ บทก็จะเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงหนังทั้งเรื่องอย่างที่เข้าใจกันแต่แรก
ใครว่ามีแต่หนังที่มีปัญหา?
นอกจากในสายภาพยนตร์แล้ว ในงานสร้างสรรค์ประเภทเกม ก็มีเสียงสะท้อนให้เห็นปัญหาเช่นกัน ดังที่ นพพล วรรณเพ็ญสกุล Managing Director บริษัทผลิตซอฟต์แวร์และเกม CORECELL Technology (ถูกปฏิเสธการให้ทุนในหมวด เกม) ได้สะท้อนให้ฟังว่า "งบส่วนนี้มันมีส่วนของเงินทุนสนับสนุนอุตสาหกรรมเกมด้วย ที่ถึงมันจะมีงบประมาณน้อยนิดเพียง 10 ล้านจากทั้งหมด แต่มันก็เป็นก้าวแรกๆ ที่ดีสำหรับคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมด้านนี้ แต่เนื่องจากขั้นตอนและกระบวนการในการตัดสินไม่ได้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเกมเลย อีกทั้งบริษัทที่ได้รับทุนไปนั้นเป็นบริษัทที่ผลิตเกมจริงๆ หรือไม่?
คณะกรรมการมีความโปรงใสอย่างไรที่ตัดสินมอบเงินให้กับบริษัทที่ไม่เคยพัฒนาทางด้านนี้จริงๆ จังๆ เลย แรกที่ได้รู้เรื่องโครงการนี้ ผมเข้าใจว่ามันเป็นทุนอุดหนุนที่จะช่วยให้เกิดการจ้างงาน เกิดการกระจายรายได้ให้กับอุตสาหกรรมนี้ แต่สุดท้ายแล้วรายได้มันไปกระจุกอยู่ที่ไหนกันแน่?
ผมมองว่าขั้นตอนในการพิจารณาตัดสินโครงการงบประมาณ 200 ล้าน แต่พิจารณาจากการส่งกระดาษไม่กี่แผ่น ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกทำกัน ไม่ใช่โครงการประกวดเรียงความนะครับ! มันเป็นโครงการที่ต้องอธิบาย ยิ่งในส่วนของเกมที่เป็นซอฟต์แวร์ด้วยแล้ว ยิ่งต้องอธิบายว่าวิธีการเล่นเป็นยังไง? เล่นแล้วจะสนุกไหม? บริษัทที่ขอทุนมีศักยภาพแค่ไหนในการทำโครงการนี้? แต่ไม่มีขั้นตอนในการให้พรีเซนต์สิ่งเหล่านี้เลย ดูจากแค่กระดาษที่ส่งไป แล้วสุดท้ายก็ประกาศออกมาว่าใครได้หรือไม่ได้ อยากถามว่าคณะกรรมการพิจารณาจากอะไรกันแน่?
บทสรุปของเรื่องราวนี้จะเป็นอย่างไร จะออกหัวหรือออกก้อย จะจบแบบหนังเศร้าแอนตี้ไคลแม็กซ์ หรือจบแบบโรแมนติกคอเมดี้แฮปปี้เอนดิ้ง เราก็ยังไม่อาจคาดเดาได้ (จริงเร้อ?) แต่ก็ถือได้ว่า ปรากฏการณ์ครั้งนี้เป็นนิมิตหมายใหม่ในวงการภาพยนตร์ไทย ในการที่คนทำศิลปะภาพยนตร์มีบทบาทและโอกาสมากขึ้น ในการต่อรองและตั้งคำถามกับภาครัฐ และไม่ว่ามันจะสรุปอย่างไรก็ตาม อย่างน้อยๆ ปรากฏการณ์ครั้งนี้ก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งในการที่จะทำให้ 'คนดูหนัง' อย่างเราๆ กลับมาคิด ทบทวน และตั้งคำถามถึง บทบาท และ สิทธิ ในการเสพศิลปะแขนงที่เจ็ดที่เรียกกันว่า ภาพยนตร์ ของตัวเราเองบ้างก็เป็นได้
หมายเหตุอีก : นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ภายหลังการประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เพื่อพิจารณาเรื่องการจัดสรรงบประมาณโครงการไทยเข้มแข็งสนับสนุนภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 3-4 จำนวน 100 ล้านบาท ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบปรับลดงบฯของภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯลง 53,903,098 บาท โดยสนับสนุนให้แค่ 46,096,902 บาท ตามข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เนื่องจาก พณ.สนับสนุนให้แล้ว 330 ล้านบาท เมื่อเห็นว่าซ้ำซ้อนกันก็ควรตัดออก การปรับลดงบฯครั้งนี้ ไม่ได้ทำเพราะมีการร้องเรียนและลบข้อครหา แต่ วธ.ไม่ทราบว่า พณ.ให้งบฯสนับสนุนอีก ส่วนภาพยนตร์และกิจกรรมอีก 48 โครงการที่ได้รับอนุมัติงบฯไปยังยึดตามมติเดิม ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบให้นายอภินันท์ โปษยานนท์ รองปลัด วธ. ไปคัดเลือกภาพยนตร์เรื่องยาว สั้น นอกกระแส และกิจกรรมอื่น ๆ ที่ขอสนับสนุนงบฯเข้ามา 295 โครงการ มาพิจารณาเพื่อจัดสรรงบฯที่เหลือ 53 ล้านบาท ให้แก่โครงการเหล่านั้น เพราะเห็นว่าหลายเรื่องมีคุณภาพ และควรได้รับการสนับสนุน ด้านนายอภินันท์กล่าวว่า จะประชุมคัดเลือกภาพยนตร์และกิจกรรมทั้งหมดที่จะได้รับงบประมาณในส่วนนี้ ในวันที่ 31 พฤษภาคม โดยยังคงยึดหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาเหมือนเดิมทุกอย่าง
จากเว็บไซต์ : //www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1274964363&grpid=01&catid
หมายเหตุอีก (แล้ว) ปัจจุบัน นายธีระ สลักเพชร ได้ถูกปลดออกจากการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมแล้ว โดยมี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน มารับตำแหน่งแทน
ดูรายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับการคัดค้านทุน 'ไทยเข้มแข็ง' ได้ที่ : //thaiaudience.wordpress.com/2010/05/05/budgetcritic/, //thaicinema.org/news53_tff5.asp, //www.bloggang.com/mainblog.php?id=movieworm&month=04-05-2010&group=3&gblog=19

Create Date : 07 มิถุนายน 2553 |
| |
|
Last Update : 7 มิถุนายน 2553 22:28:34 น. |
| |
Counter : 964 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
 |
 |
 |
 |
|
|
|
|
|
|
 |
 |
 |
 |
อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล กับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าหนังในดวงใจของเขา
จากคอลัมน์ 5X2 นิตยสาร FILMAX ฉบับที่ 14
การที่หนังเรื่องหนึ่งหรือผู้กำกับคนหนึ่งจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในเทศกาลภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของโลก อย่างเทศกาลหนังเมืองคานส์ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่าว่าแต่การได้รับรางวี่รางวัลอะไรเลย แค่การได้รับเชิญไปฉายก็เป็นเรื่องยากเสียแล้ว ดังนั้น หนังเรื่องไหนที่ได้รับเกียรติให้เข้าฉายหรือได้รับรางวัลในเทศกาลนี้ก็ถือเป็นการการันตีในระดับหนึ่งว่าหนังเรื่องนั้น ต้องมีคุณภาพในเชิงสุนทรีย์ หรือมีอะไรดีอยู่ในตัวสักอย่าง
การที่ผู้กำกับชาวไทยคนหนึ่งได้รับรางวัลจากเทศกาลหนังที่ว่า บางคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องบังเอิญ หรือโชคช่วย แต่การที่เขาเป็นคนไทยคนแรกที่รับเกียรติให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรางวัลในเทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งล่าสุด คงจะไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือโชคช่วยเป็นแน่ อย่างน้อยๆ มันก็เป็นการการันตีว่า ผู้กำกับหัวดำจากเมืองไทยคนนี้ มีอะไรดีๆอยู่ในตัว (ที่คนในกระทรวงวัฒนธรรมและกองเซ็นเซอร์บ้านเราคงมองไม่เห็น) เป็นแน่
เรามาทำความรู้จักกับ ตัวตน ความรู้สึกนึกคิด ความชอบ ความชัง และประสบการณ์เบื้องหลังเวทีประกวดหนังเมืองคานส์ ไปพร้อมๆ กับเรื่องราวของสิบหนังในดวงใจที่ คุณเจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล คัดเลือกมาเล่าสู่ให้เราฟังกันเลยดีกว่า
FILMAX : ช่วยเล่าประสบการณ์ที่ไปเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรางวัลที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ให้ฟังหน่อยครับ อภิชาติพงศ์ : เป็นประสบการณ์ใหม่ (หัวเราะ) มันทำลายภาพมายาของคานส์ไปเยอะเหมือนกัน เหมือนเวลาเราไปหลังฉากกองถ่ายหนังหรือสตูดิโอทีวีแล้วเห็นว่าข้างหลังมันเป็นไม้อัดอะไรอย่างเนี่ย เออ คานส์ก็ประมาณว่าทุกอย่างคือการสร้างภาพหมด ไม่ได้บอกว่าไม่ดีนะ แต่หมายความว่า จากที่เราเห็นว่า โห! มันคืออะไรที่ค่อนข้างเป็นคอนเซ็ปต์ เป็นไอเดีย แต่ตอนนี้มันจับต้องได้ง่ายขึ้น เพราะเรารู้ว่าไอ้ mechanic การทำงานของมันเป็นยังไง
FILMAX : ผิดกับตอนที่เคยเห็นอยู่ข้างนอกใหมครับ? อภิชาติพงศ์ : ใช่ๆ ข้างนอกทุกอย่างมันจะเฟอร์เพกต์ไง แต่ข้างในมันก็มีความวุ่นวาย มีอะไรเต็มไปหมดก่อนที่จะออกมาสวยงาม
FILMAX : ถ้าอย่างงั้นแล้วหนังที่ได้รางวัลหรือผ่านการฉายในเทศกาลเมืองคานส์นี่มีคุณภาพไหมครับ? อภิชาติพงศ์ : แน่นอน แค่เข้าไปไม่ว่าจะเป็นสายประกวดหรือสายรอง เค้าก็คัดเลือกมาแล้ว ซึ่งพอเอามาประชันกันเนี่ย ระหว่างที่ดู หลายเรื่องก็เฉยๆ นะ แต่ว่าพอย้อนกลับมาดูตอนนี้ก็ เอ้อ! บางเรื่องมันก็มีพลังของมัน แต่พอมันไปอยู่กับอะไรที่มีพลังเหมือนกันมันก็เลยดูด้อยลงไป
FILMAX : แล้วคุณเจ้ยคิดยังไงกับหนังที่ได้รางวัลปาล์มทองคำปีนี้ครับ (The Class) อภิชาติพงศ์ : ปลื้มมากๆ เป็นหนังฝรั่งเศสของ โรแรง กองเตต์ เป็นหนังที่พูดถึงการศึกษาของฝรั่งเศสแล้วมันก็โยงไปถึงการศึกษาของมนุษยชาติด้วย ชอบมาก เราเคยพูดตอนงานแถลงข่าวว่า อยากให้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาของไทยได้ดูจัง แต่ไม่แน่ใจว่าถ้าเอามาฉายที่นี่มันจะโดนแบนหรือเปล่า เพราะมันเป็นอะไรที่พูดถึงเสรีภาพพูดถึงศักดิ์ศรีของอาจารย์และเด็กนักเรียนไง มันไม่ใช่หนังสารคดีด้วยนะ เป็นเรื่องแต่ง แต่ว่ามันทำให้เราย้อนคิดถึงความจริง ถึงความดักดานที่เราเรียนมาสมัยประถม มัธยม ซึ่งเรารู้สึกว่าความดักดาน ความอุบาทว์นี่มันยังมีอยู่ในการศึกษาของไทย ในการที่เอาความคิดของอาจารย์ไปครอบงำเด็ก และการที่เรายับยั้งความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก
FILMAX : เป็นหนังที่ชอบที่สุดในเทศกาลไหม? อภิชาติพงศ์ : ไม่ๆ ชอบสุดเลยจะเป็นหนังอาร์เจนติน่า ชื่อ The Headless Women ชอบเพราะว่ามันท้าทาย และมันอยู่ในหัวเราจนถึงทุกวันนี้ ดูแล้วก็ไม่เข้าใจหรอก แต่หลายฉากมันติดในความทรงจำ มันเป็นเรื่องของผู้หญิงที่ขับรถไปชนอะไรบางอย่างข้างทาง แล้วมองไปในกระจกหลังก็เห็นว่าเป็นหมาตายอยู่ แล้วเหตุการณ์นี้ก็เปลี่ยนชีวิตผู้หญิงคนนี้เลย หนังก็พาไปรู้จักชีวิตของเธอ รู้จักกับที่บ้าน กับแฟน แล้วมันก็ย้อนกลับมาอีกทีว่าจริงๆ แล้วเธอคิดว่าเธอชนคนมากกว่า มันเหมือน ฮิตช์ค็อก รุ่นใหม่ แต่มันไม่มีกลิ่นฮิตช์ค็อกเหลือเลยนะมันกลายเป็นอีกสเต็ปนึงที่เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร เราเลยชอบ แต่ว่ากรรมการคนอื่นเสือกไม่ชอบด้วย (หัวเราะ)
FILMAX : แสดงว่าหนังที่คุณเจ้ยชอบที่สุดก็ไม่ใช่หนังที่ได้รางวัล อภิชาติพงศ์ : ถ้าพูดจริงๆ เราก็ชอบ The Class ด้วยนะ แต่ชอบคนละประเด็นไง ชอบ The Class เพราะว่ามันเห็นความอุบาทว์ในการศึกษาไทยไง
FILMAX : คนส่วนใหญ่คิดว่าหนังที่เข้าไปฉายในเทศกาลหนังเมืองคานส์มักจะเป็นหนังอาร์ตที่ดูไม่สนุก อภิชาติพงศ์ : ไม่จริงๆ ถ้าเทียบมันก็มีหลายเทศกาลนะ คานส์มันก็จะมีเอกลักษณ์ของมัน เราว่ามันเป็นระดับกลางมากกว่า หนังที่พอดูได้ ไม่ได้ฮาร์ดคอร์แบบหนังทดลองไปเลย อันนี้มันค่อนข้างจะสากล อาจจะเป็นหนังที่มีมุมมองส่วนตัว แต่ก็ยังสามารถ link ได้
FILMAX : ในฐานะที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรางวัลคุณเจ้ยมีส่วนแค่ไหนยังไงในการให้รางวัลกับหนัง อภิชาติพงศ์ : มันคือการต่อสู้ให้หนังที่เราชอบ และก็เป็นการหาแนวร่วมว่าเสียงใครมากกว่ากัน อย่างเรานี่ taste จะตรงกับนักแสดงฝรั่งเศสชื่อ ฌอง ปาร์ลิปาร์ ซึ่งเป็นนักแสดงที่บ้าบิ่น และชอบหนังที่ท้าทาย เลือกหนังค่อนข้างตรงกัน ก็มีการแอ็กทีฟกัน ว่าต้องสู้เพื่อเรื่องนี้ บางครั้งสมมุติว่าเค้ามีหนังที่ชอบที่สุดอยู่คนเดียวแต่เราและคนอื่นๆ ไม่ได้ชอบด้วย แต่มีหนังเรื่องที่เค้าชอบรองลงมาซึ่งเราเองก็ชอบด้วย แต่คนอื่นๆ ไม่ชอบ เราก็บอกว่าเออ เธอทิ้งหนังเรื่องแรกไปดีกว่า แล้วมาช่วยกันยกมือให้เรื่องนี้กันนะ (หัวเราะ) มันก็สนุก
FILMAX : มีการเมืองไหม? อภิชาติพงศ์ : ไม่นะ ส่วนใหญ่มันจะเป็นเรื่อง taste ของแต่ละคน มันไม่มีการเมืองว่าประเทศนี้ๆ ต้องได้ ไม่ใช่
FILMAX : ค่อนข้างยุติธรรม อภิชาติพงศ์ : ปีนี้นะ ปีอื่นไม่รู้ (หัวเราะ)
FILMAX : งั้นเข้าเรื่องหนังที่คุณเจ้ยเลือกมาดีกว่า (เดี๋ยวจะยาว) เรื่องแรก The Unchanging Sea ชอบตรงไหน อภิชาติพงศ์ : เรื่องนี้ได้ดูตอนสมัยอยู่ชิคาโก เป็นเรื่องที่นางเอกรอแฟนที่เป็นชาวประมง ซึ่งไม่กลับมา แล้วเธอก็รอๆๆ มันเป็นหนังเงียบขาวดำ ซึ่งส่วนใหญ่คนจะรู้จักผู้กำกับ ดี. ดับบลิว. กริฟฟิธ จากเรื่อง Intolerance (1916) หรือว่าเรื่อง The Birth of a Nation (1915) น่ะ เรื่องนี้มันเป็นหนังเซนมากเลย ซึ่งมันสร้างมาตั้งไม่รู้กี่ปีแล้ว แต่ว่าพูดไงดี... มันช็อคเวลาดูครั้งแรก เพราะนึกไม่ถึงว่าสมัยนั้นมันมีความโมเดิร์นขนาดนี้แล้ว ซึ่งหนังหลายๆ เรื่องสู้ไม่ได้ แล้วมันเป็นหนังที่ดูแล้วสะเทือนใจโดยไม่ต้องมีเสียงไม่มีอะไรเลย ซึ่งช่วงนั้นมันเต็มไปด้วยหนังแบบ ชาร์ลี แชปลิน อะไรอย่างเนี่ย เรื่องนี้มันโดดมากๆ ถ้าดูสมัยนี้มันอาจจะธรรมดา แต่ถ้าเป็นมุมมองสมัยก่อนนี่ถือว่าล้ำหน้ามากๆ เราต้องคารวะเลย
FILMAX : เรื่องถัดมา ‘ลูกอีสาน’ ล่ะครับ อภิชาติพงศ์ : ลูกอีสาน นี่ก็คารวะเหมือนกัน (หัวเราะ) คือไม่รู้เหมือนกันว่าถ้าดูตอนนี้จะรู้สึกยังไงนะ
FILMAX : แสดงว่าเคยดูนานมาแล้ว? อภิชาติพงศ์ : ดูตอนเด็กๆ ที่ขอนแก่น รู้สึกว่ามันเป็นหนังที่ได้บรรยากาศมากๆ บรรยายกาศของความร้อน ของกลิ่นดินของอะไรต่อมิอะไร แล้วนักแสดงแต่ละคนหน้าตาก็ธรรมดา เค้าก็ใช้นักแสดงอยู่นะ เราก็จำไม่ได้ว่ามีใครบ้าง ก็เป็นดารา แต่ว่าหน้าตาไม่ได้เหนือมนุษย์น่ะ ก็เลยชอบ
FILMAX : ไม่เหนือมนุษย์? อภิชาติพงศ์ : ไม่เหนือมนุษย์เหมือนสมัยนี้ ที่แบบว่าดูดีเกินไป ไม่ใช่ อนันดา (หัวเราะ)
FILMAX : ทำไมล่ะ ไม่ชอบอนันดาเหรอ? อภิชาติพงศ์ : ไม่ชอบมากๆ ไม่ใช่ไม่ชอบเค้านะ แต่หมายความว่า ไม่ชอบเทรนด์ในการที่ผู้สร้างเอาเค้ามาเล่นหนัง... เหมือนกับว่า มึงคิดว่าจะหลอกกูได้แค่นี้เหรอ ฉาบฉวยมาก มันต้องแก่กว่านี้น่ะ อนันดาตอนนี้อาจจะดูน่ารักไปหน่อย ความเชื่อถือเลยไม่มีไง ต้องให้เหี่ยวๆ หน่อย (หัวเราะ) มันก็โทษเค้าไม่ได้นะ แต่ถ้าส่วนตัวแล้วมันเลี่ยนไง บางทีเรารู้สึกเหมือนถูกดูถูกเหมือนกัน ไม่ใช่ถูกอนันดาดูถูกนะ แต่ถูกคนทำหนังกับพวกสื่อดูถูกแบบว่าไม่มีหัวคิดในการเอาคนอื่นมาแล้วเหรอ แบบเพลย์เซฟไง
FILMAX : มาที่เรื่องที่สามบ้าง Women WorkersLeaving the Factory อภิชาติพงศ์ : อ๋อ เรื่องนี้หนังชิลีมั้ง เป็นหนังใหม่เหมือนกัน แต่ว่าเป็นหนังที่เลียนแบบหนังเก่าของ เอดิสัน ที่เป็นหนังเรื่องแรกๆ ของโลกน่ะ คือเค้าจะตั้งกล้องแล้วก็ถ่ายผู้หญิงทำงานโรงงานเดินออกจากประตูโรงงาน ไม่ยาวสั้นๆ เพราะว่าสมัยก่อนเค้าใช้กล้องแบบมือหมุนไง แต่ว่าเป็นเรื่องที่ทำขึ้นมาใหม่ แล้วตีความเป็นเหมือนมุมมองว่าถ้าย้อนกลับไปแล้วมันจะเป็นยังไง เป็นการแสดงความคารวะหนังเก่าแต่ว่ายืดเวลาออกมา แล้วก็ถ่ายความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าพวกผู้หญิงพวกนี้เป็นวัตถุในหนังอีกแล้ว มันกลายเป็นภาพของชีวิตจริงที่อยู่ในโรงงานนั้นมันมีการสะท้อนประวัติศาสตร์ที่พูดถึงเวลาจริงๆ
FILMAX : เป็นหนังสารคดี? อภิชาติพงศ์ : ไม่ใช่ๆ เอ้อ... น่าจะปนกันนะ คือถ่ายที่จริง แต่เราไม่รู้แน่ว่าเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า เพราะตอนหลังเจ๊นางเอกเค้าก็จะไปอยู่ที่ชายหาด เราก็ไม่รู้ว่าเป็นการแสดงหรือว่าเป็นสิ่งที่เค้าทำประจำอยู่แล้ว
FILMAX : ฟังดูเหมือนหนังคุณเจ้ยเลยนะ อภิชาติพงศ์ : ไม่ๆ มันเซนกว่านั้น มันไม่มีเรื่อง ไม่มีอะไรเลย (หัวเราะ) เป็นผู้หญิงทำงานอยู่ แล้วกล้องก็ตาม อันนี้ดูตอนปี 2005 ผู้กำกับ (โจเซ่ หลุยส์ ทอร์เรส เลียว่า) เค้าบอกด้วยซ้ำว่าเค้าได้อิทธิพลมาจากหนังของเรา (หัวเราะ) เออ เค้ายังเด็กอยู่ไง
FILMAX : เรื่องที่สี่ The Conversation อภิชาติพงศ์ : โอ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดีที่สุดของ (ฟรานซิส ฟอร์ด) คอปโปล่า เค้าทำระหว่าง The Godfather ภาค 1 กับ ภาค 2 แล้วเป็นหนังที่สมบูรณ์มาก พูดถึงเรื่องคดีการลอบดักฟัง เป็นหนังที่สะท้อนถึงสังคมอเมริกันช่วงนั้นจริงๆ ช่วงพารานอยด์น่ะ ตอนที่เกิดคดีวอเตอร์เกต ไอ้ (ริชาร์ด) นิกสัน น่ะ เราคิดว่ามันกล้าตายมากที่ทำเรื่องนี้ไม่ได้วิจารณ์เค้าตรงๆ นะ แต่ว่าพูดถึงภาพรวมของสังคมตอนนั้น แล้วก็พูดถึงอำนาจเงินอำนาจอะไร ซึ่งมัน โคตรจะโดนใจในยุค ทักษิณ เลยน่ะ เค้าทำออกมาฉายในยุคนั้นเลย 1974 เป็นยุคที่หนังอเมริกันกำลังบูม แล้วก็เป็นยุคที่คอปโปล่าเป็นเทพ ก่อนที่จะตกเหวมาจนทุกวันนี้
FILMAX : แล้วไม่ชอบเรื่องอื่นของคอปโปล่าบ้างเหรอครับ อภิชาติพงศ์ : มีอีกเรื่องของคอปโปล่าที่เราชอบ ชื่อ The Rain People (1969) น่าจะก่อนเรื่องนี้ เรื่องนั้นก็ดี คือพอมีเงินน้อยๆ แล้วดี พอมีเงินเยอะๆ แล้วไม่ดี (หัวเราะ)
FILMAX : อ้าว? ทำไมล่ะ มีเงินทำหนังเยอะๆ ไม่ดีเหรอครับ อภิชาติพงศ์ : ไม่ใช่อย่างงั้น คือเงินมันต้องมีอยู่แล้ว ทำหนังเนี่ยแต่ว่าบางทีพอเงินเยอะๆ ยิ่งในฮอลลีวูดมันยิ่งมีข้อแม้เยอะไง ก็รู้กันอยู่แล้ว ถ้าเงินเยอะปุ๊บมันก็ต้องให้สมศักดิ์ศรี ต้องเอาดาราคนนั้นคนนี้มา มันก็เริ่มซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ มันก็ไม่ได้อย่างที่ต้องการ เพราะว่าอย่าง TheConversation นี่มันก็เป็น แฮร์ริสัน ฟอร์ด ช่วงที่ยังไม่ดังไง เป็นช่วงที่ดาราแต่ละคนที่มาเล่นยังไม่ดังมาก ยังไม่มีเทรลเลอร์ ไม่มีรถส่วนตัวไง แล้วมันดิบน่ะ
FILMAX : ดูคุณเจ้ยจะชอบหนังเล็กๆ นะครับ อภิชาติพงศ์ : อื้อ แต่ว่ามันไม่ได้ทำง่ายๆ นะ หนังพวกเนี้ย โดยเฉพาะ The Conversation นี่ เราดูไม่รู้กี่สิบรอบ
FILMAX : ไม่ชอบหนังใหญ่บ้างเหรอ หนังฟอร์มยักษ์ทุนสร้างมโหฬารอะไรแบบนี้ อภิชาติพงศ์ : หนังใหญ่เหรอ มีไหมหว่า มี Satan’s Tangoเรื่องนี้ถือว่าใหญ่นะ
FILMAX : เอ้า เรื่องที่ห้า Satan’s Tango เรื่องนี้ถือว่าใหญ่แล้วเหรอครับ? อภิชาติพงศ์ : คือมันเป็นหนังเล็ก หนังเฉพาะกลุ่ม แต่ว่าน่าจะลงทุนเยอะนะ เพราะว่ามันฉายไม่รู้กี่ปีมาแล้ว แล้วหนังมันยาวตั้ง 7 ชั่วโมง ตัวละครก็ซับซ้อนเหมือนกัน คือทุนอาจจะไม่เยอะ แต่ว่าถ้าเทียบว่าเป็นหนังส่วนตัวแล้วเค้าน่าจะลงไปเยอะเหมือนกัน
FILMAX : ชอบตรงไหน? อภิชาติพงศ์ : ชอบเรื่องความเน่าเฟะของสังคม คือทุกเรื่องที่เลือกมานี่ชอบในด้านสุนทรียศาสตร์ที่เค้าทำอยู่แล้ว แต่ว่าเนื้อหาด้วย ที่เรื่องนี้มันพูดถึงหมู่บ้านหนี่งที่ไม่มีจะกินแล้วคนต้องอพยพไปขอส่วนแบ่ง ไปขอรายได้จากเมืองหลวง แล้วมันก็เละกันมากเลย แม้แต่เด็ก แม้แต่อะไรมันจะมีด้านมืดของแต่ละคนแสดงออกมา หนังที่เราชอบหลายๆ เรื่องมันจะสะท้อนถึงเมืองไทยด้วยไง ถึงความเป็นอยู่ของบ้านเรา ซึ่งหนังไทยไม่เห็นทำได้เลย
FILMAX : อาจจะเพราะว่าทำไม่ได้มากกว่า? อภิชาติพงศ์ : อือ ก็เป็นไปได้นะ (หัวเราะ)
FILMAX : เรื่องที่หก Valentin de las Sierras ครับ อภิชาติพงศ์ : อ๋อ อันนี้ของ บรูซ เบลลี่ย์ คนนี้เป็นป๊ะป๋าเลยชอบมาก เป็นผู้กำกับในยุค 1960 อะไรแถวนั้น ก็ 40-50 ปีมาแล้ว เค้าทำหนังทดลอง ก็จะพูดเรื่องแสง พูดเรื่องความสุขในชีวิต พูดถึงอะไรซึ่งมันดูแล้วอิ่มเอิบมากมันมีความเป็นพระธรรมมากเลย ซึ่งดูแล้วมันนิ่งน่ะ มันนิ่งโดยที่เค้าก็ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ แต่ว่าดูแล้วมันสะท้อนถึงความไม่จีรัง ความเปราะบางของชีวิตคน มันเป็นหนังที่เค้าไปถ่ายที่เม็กซิโก แล้วก็ถ่ายเด็กถ่ายอะไรไปเรื่อย แต่ว่าการตัดต่อ การใช้เสียง มันทำให้เรารู้สึกว่านี่มันคือไดอารี่ที่ไม่ใช้ปากกาเขียน แต่ว่ามันเขียนด้วยแสงน่ะ โหย แบบว่าพี่บรูซนี่ก็เป็นเทพๆ แล้ว และปีหน้านี่เราแพลนจะทำงานร่วมกับเค้าที่ฝรั่งเศส อาจจะรีเมคหนังเค้า แล้วก็แสดงในพิพิธภัณฑ์ที่ฝรั่งเศส ก็เลยย้อนดูหนังเค้าหลายๆ เรื่อง เลยยิ่งเคารพน่ะ ตอนนี้เค้าโคตรจนเลยนะ อยู่ได้ด้วยเงินสนับสนุนจากทางรัฐบาล เราก็เลยรู้สึกว่า แม้แต่รัฐบาลอเมริกันมันก็ไม่ค่อยเห็นค่าของศิลปินมาก นี่ถ้าเป็นรัฐบาลไทยก็คงตายไปแล้ว (หัวเราะ)
FILMAX : ถัดมา เรื่องที่เจ็ด Love Streams ครับ อภิชาติพงศ์ : ของ จอห์น แคสสาเวตส์ เป็นหนังเรื่องสุดท้ายในชีวิตของเค้า ตานี่เค้าบ้าเลือดมาก เราอ่านประวัติชีวิตเค้า จนจบเลย แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รวมเอาพลังงานทุกอย่างในชีวิตมาใส่ แล้วมันไม่เยอะเกินไป มันมีบทสรุปเหมือนเค้ารู้ว่าเค้าจะตายน่ะ ไอ้ตานี่มันคล้ายๆ เอ็ด เวิร์ด หยาง น่ะ แล้วก็สู้ชีวิตมาก ทุกอย่างเพื่อภาพยนตร์ ได้เงินมาก็เอาไปถ่ายหนัง ทุกอย่างเพื่อภาพยนตร์หมด
FILMAX : เล่นเองด้วย? อภิชาติพงศ์ : เล่นเองด้วย แล้วก็เอาชีวิตตัวเอง ชีวิตคนรอบข้างใส่เข้าไปหนังด้วย อันนี้เป็นศิลปินอย่างแท้จริงในการใช้ชีวิตด้วย เราก็ไม่เคยเจอเค้านะ แต่พอเราพูดถึงเค้าแล้วเรารู้สึกเหมือนกับรู้จักเค้าน่ะ มันเหมือน คริสโตเฟอร์ ดอยล์ คือมันมีความบ้าเลือด และมีความเอาไม่อยู่ควบคุมตัวเองไม่ได้ เวลาชอบอะไรแล้วก็สุดโต่งน่ะ
FILMAX : ดีไหมเนี่ย? อภิชาติพงศ์ : เราว่าดีนะ มันเหมือนกับว่าเกิดมาครั้งเดียวใช่ป่ะ (หัวเราะ)
FILMAX : แล้วคุณเจ้ยเป็นถึงขนาดนั้นไหม? อภิชาติพงศ์ : ไม่ เพราะว่าทำไม่ได้ไง มันมีกฎมีระเบียบอะไรที่กั้นไว้ เราเลยนับถือคนที่มันไม่มีกำแพงอะไรกั้นไว้ได้ไง
FILMAX : มาที่เรื่องที่แปด Goodbye, Dragon Inn ครับ อภิชาติพงศ์ : อือ... เป็นหนังที่ดูแล้วร้องไห้ไม่จบเลย อันนี้ชัดที่สุดที่มันสะท้อนเกี่ยวกับโรงหนังในขอนแก่น แล้วมันได้ครบทุกอย่าง ทั้งด้านสุนทรียะ ด้านคอนเซ็ปต์ แล้วก็ด้านเรื่องราว ด้านการสะท้อนชีวิตส่วนตัวเรา มันโดนหมดเลย แล้วพอดีโรงหนังที่ดูตอนนั้นก็ไปดูที่สโลเวเนียมันคล้ายๆ โรงหนังในเรื่องเลย (หัวเราะ) แล้วพอมันมีฉากโรงหนังเปล่าๆ มันเหมือนเป็นกระจกน่ะ พอในจอมันเป็นเก้าอี้เปล่าๆ ปุ๊บ มันเหมือนว่าเราไปดูตัวเราเองในนั้นเลย นับถือๆ
FILMAX : หลายๆ คนบอกว่าดูหนังของ ไฉ้หมิงเลี่ยง แล้วนึกถึงหนังของคุณเจ้ย อภิชาติพงศ์ : ตรงกันข้ามมากกว่า เพราะว่าเราได้อะไรจากเค้าเยอะ (หัวเราะ) อย่างเทคนิคในการเฝ้าดูน่ะ ความอดทนในการดูสิ่งที่เกิดขึ้นหน้าเลนส์ โดยพยายามที่จะพยายามทิ้งกฎทั้งหลายที่เรามีมาเกี่ยวกับภาพยนตร์ออกไปให้หมด แค่เฝ้าดูเฉยๆ
FILMAX : คนดูก็เลยต้องใช้ความอดทนในการดูด้วยเหมือนกัน อภิชาติพงศ์ : ใช่ๆ แต่ว่ามันก็จะได้สิ่งตอบแทนที่มีค่านะเหมือนกับนั่งสมาธิไง แรกๆ มันอาจจะ โอย! ลำบาก เมื่อย! แต่ว่าพอถึงจุดนึงมันก็จะมีความบรรลุ มีความโล่ง หนังเค้ามันก็เหมือนกัน
FILMAX : เปรียบได้ถึงขนาดนั้นเลย? อภิชาติพงศ์ : โอ แน่นอน! ไม่เฉพาะหนังเค้านะ หลายๆ เรื่องที่บางทีมันจูนกันได้กับคนดูน่ะ
FILMAX : แต่จูนค่อนข้างยากนะครับ กับคนดูหนังสมัยนี้ที่ถูกป้อนให้ชินกับความบันเทิงจานด่วนแบบหนังฮอลลีวูดเนี่ย อภิชาติพงศ์ : มันเป็นกรรมครับ ใครจะถูกอรรถรสแบบไหนกรรมใครกรรมมัน มันเป็นสากล แต่ที่กรรมหนักเนี่ยคือกรรมของประชาชนที่แบบว่า เจ้าหน้าที่ภาครัฐไม่เห็นความสำคัญและพยายามยัดเยียดความคิดเห็นส่วนตัวให้ประชาชน ว่าอย่างนี้ดี อย่างนี้ไม่ดี คอยกีดกัน ซึ่งมันเหมือนทำเวรกรรมร่วมกันมา (หัวเราะ) คนมันไม่รู้สึกว่าตัวเองมีค่า มีศักดิ์ศรีไง รู้สึกว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้ ก็สมยอมกันไปหลายเรื่อง ไอ้ความไม่เป็นไรเนี่ย น่ากลัวโดยเฉพาะไอ้พวกที่ทำงานในกระทรวงทั้งหลายที่ขี้เกียจที่บอกไม่เป็นไร โดยเฉพาะ พ.ร.บ. ภาพยนตร์ ที่บอกว่าเอาให้มันผ่านมาก่อน แล้วค่อยมาแก้ทีหลัง มันน่า...ไหมล่ะ
FILMAX : พูดถึงเรื่องแบบนี้ก็เข้าหนังเรื่องนี้เลยดีกว่าเรื่องที่เก้า Salo อภิชาติพงศ์ : Salo เป็นหนังที่เมืองไทยน่าทำที่สุดเลย (หัวเราะ)มันเป็นช่วงที่พูดถึงเผด็จการทางความคิด และก็ทางปฏิบัติด้วย แล้วก็พูดถึงการใช้อำนาจของคนเบื้องบนที่มันส่งผลให้สังคมมันเละเฟะขนาดไหน เออ ซึ่งมันโคตรตรงกับยุคนี้เลย แล้ว (ปิแอร์ เปาโล) พาโซลินี่ นี่มันตรงมากเลยนะ เค้าจะแอนตี้คนที่ออกมาประท้วงในอิตาลีสมัยนั้นไง เค้าเขียนคอลัมน์ลงหนังสือพิมพ์ ว่าไอ้คนที่ประท้วงเนี่ย ต่อไปพวกมึงก็จะเติบโตมาเป็นคนที่อยู่ในชนชั้นใช้อำนาจ แล้วมึงก็จะทำเหมือนกัน แล้วมันก็เกิดขึ้นจริงๆ แล้วมันก็เกิดขึ้นในเมืองไทยด้วย คือมันสะท้อนเรื่องทางสังคมที่มันเป็นสากลไง
FILMAX : แต่ผู้กำกับเองหลังจากทำเรื่องนี้ก็ตายปริศนาใช่ไหม อภิชาติพงศ์ : ไม่ปริศนาเลย มันโดนโสเภณีเด็กฆ่าตาย เค้าไปจับเด็กหากินข้างทางแล้วถูกเด็กคนนี้ฆ่า แต่เราก็ไม่รู้นะ มันเป็นอิตาลีใช่ไหม (หัวเราะ) ความเป็นมาเฟียมันเยอะ เราไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วมันอะไร หนังเรื่องนี้ก็ต่อต้านเค้าไปหมด
FILMAX : ไม่รู้ทำหนังไปเหยียบตีนใครรึเปล่า อภิชาติพงศ์ : อือ... มันก็เป็นไปได้นะ แต่จริงๆ แล้วมันก็เหยียบกันวุ่นวาย เพราะถ้าไม่เหยียบมันก็ไม่พัฒนาใช่ไหม มันต้องมีเสรีภาพในการทำหนังไง
FILMAX : เรื่องสุดท้ายแล้วครับ Chelsea Girls อภิชาติพงศ์ : ความจริง (แอนดี้) วอร์ฮอล์ นี่ พูดได้ทุกเรื่องเลยว่าชอบ เรื่องนี้ก็ชอบที่แสดงถึงการทดลอง และแสดงถึงแก่นของ แอนดี้ วอร์ฮอล์ ที่มันดูเหมือนไม่สนใจอะไรแต่มันคือการสนใจทุกลมหายใจของคนน่ะ ในการบันทึก ในการด้นสดทั้งหมดเลย ว่ามึงจะพูดอะไรมึงก็พูดออกมาเถอะ เป็นการบันทึก ไม่ใช่สารคดีด้วยซ้ำเป็นการบันทึกการแสดงที่รู้ตัวว่ามีกล้องจับอยู่ มันหลายตลบมาก มันไม่ใช่แค่ไปจับภาพคนธรรมดา
FILMAX : เป็นศิลปินที่คุณเจ้ยชอบมากๆ อภิชาติพงศ์ : ในดวงใจมาก ที่แนวความคิดคล้ายกันคือ ในเรื่องของความไร้สาระแต่มีสาระ ซึ่งมันตามมุมมองของเราก็คือความจริงไง ว่าสิ่งที่มันธรรมชาติ สิ่งที่มันธรรมดานี่แหละ คือสุดยอดแล้ว
FILMAX : การดูหนังหรือการเสพงานศิลปะอย่างที่พี่ว่านี่ต้องอาศัยพื้นฐานหรือการเรียนรู้มาก่อนไหม อภิชาติพงศ์ : คือ... พูดยากนะ ตั้งแต่เราจำความได้ เราดูหนังที่เราไม่เข้าใจ เราก็ชอบแล้วว่า เฮ้ย มันแปลก ดูหนังทดลองเรื่องแรกก็ชอบแล้ว มันพูดยาก อย่างบางเรื่องก็หลับ (หัวเราะ) แต่ตื่นขึ้นมาก็ชอบอีก ไม่ใช่ว่าหนังที่ชอบต้องดูจนจบ แล้วต้องมานั่งวิเคราะห์ มันเป็นแค่ความสุขระหว่างที่ดูเท่านั้นแหละ
FILMAX : บางคนบอกว่าหนังประเภทนี้น่าเบื่อหรือชวนหลับเนี่ย คนทำเค้าจงใจให้มันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า? อภิชาติพงศ์ : ไม่นะ มันเป็นเรื่องของบุคลิก หนังมันก็มีบุคลิกของมันนะ มันก็เหมือนคบคนน่ะ บางคนไม่ค่อยพูดเลยหรือบางคนพูดไม่หยุด มันก็อยู่ที่จริตว่าเราจะเข้ากับคนไหน แต่ว่าหนังมันใช่คน มันกว้างกว่านั้นไง มันคือความสุขที่เราได้เจอคนหลายแบบน่ะ ไอ้นี่พูดมาก ไอ้นี่ไม่พูดเลย มันมีความท้าทายที่เราจะจูนคลื่นไปกับมัน ว่า เฮ้ย! มันต้องการอะไร หรือตัวตนของเขามันเป็นยังไง
FILMAX : การดูหนังให้อะไรกับคุณเจ้ยครับ อภิชาติพงศ์ : มันทำให้ใจเปิดกว้าง ให้มุมมองกับโลก เพราะว่าจริงๆ แล้วเราเป็นคนไม่อยากอยู่กับใคร ไม่อยากเข้ากับสังคม แล้วหนังมันเป็นตัวที่เปิดโลก คือมันมีหลาย step นะ step แรกคือตอนดู เราก็เปิดโลกไปกับหนังเรื่องนั้นๆ อีก step นึงก็คือโลกของการทำหนัง พอเราทำหนังปุ๊บก็ได้เจอร้อยแปดพันเก้า ตั้งแต่คนทำเสื้อผ้าไปจนถึงทนายความ นักลงทุนต่างๆ หลากหลายก็เจอมาแล้ว มันเปิดโลกจริงๆ แล้วพอไปฉายหนังก็เจออีกโลกนึง โลกของเทศกาล โลกของหลายๆ ประเทศ เรารู้สึกว่าหนังมันเป็นตัวเชื่อมชีวิตเรากับสังคมภายนอก ก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ให้คนรุ่นใหม่ได้รู้ได้เห็นและได้ทำโดยที่ไม่ถูกปิดกั้น
1.The Unchanging Sea(1910) ประเทศ: อเมริกา กำกับ: ดี. ดับบลิว. กริฟฟิธ แสดง: อาเธอร์ วี. จอห์นสัน, ลินดา อาร์วิสัน 2.ลูกอีสาน (2525) ประเทศ: ไทย กำกับ: วิจิตร คุณาวุฒิ แสดง: ทองปาน โพนทอง, จันทร์เพ็ญ ศิริเทพ 3.Women WorkersLeaving the Factory (2005) ประเทศ: ชิลี/ หนังสั้นความยาว 21 นาที กำกับ: โจเซ่ หลุยส์ ทอร์เรส เลียว่า แสดง: พอลลีน ชามอร์ํร, จูเลียตา ฟิเกอร์โร 4.The Conversation (1974) ประเทศ: อเมริกา กำกับ: ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า แสดง: แฮร์ริสัน ฟอร์ด, ยีน แฮ็คแมน 5.Satan’s Tango (1994) ประเทศ: ฮังการี/ เยอรมัน/ สวิสเซอร์แลนด์ กำกับ : เบล่า ทารร์ แสดง: มิฮาลี่ วิก, พุตยี ฮอร์วาธ 6.Valentin de las Sierras (1971) ประเทศ: อเมริกา/ หนังสั้นความยาว10 นาที กำกับ: บรูซ เบลลี่ย์ 7.Goodbye, Dragon Inn (2003) ประเทศ: ไต้หวัน กำกับ: ไฉ้หมิงเลี่ยง แสดง: หลี่คังเซิง, เฉิงเซียงฉี 8.Love Streams (1984) ประเทศ: อเมริกา กำกับ: จอห์น แคสสาเวตส์ แสดง: จอห์น แคสสาเวตต์, จีน่า โรวแลนด์ 9.Salo, or the 120 Days of Sodom (1975) ประเทศ: อิตาลี/ ฝรั่งเศส กำกับ: ปิแอร์ เปาโล พาโซลินี่ แสดง: เปาโล โบนาเซลลี่, จอร์จิโอ คาตาลดี้ 10.Chelsea Girls(1966) ประเทศ: อเมริกา กำกับ: แอนดี้ วอร์ฮอล, พอล มอร์ริสซี่ย์ แสดง: บริดจิด เบอร์ลิน

Create Date : 28 พฤษภาคม 2553 |
| |
|
Last Update : 28 พฤษภาคม 2553 15:44:28 น. |
| |
Counter : 1246 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
 |
 |
 |
 |
|
|
|
panueddie |
 |
|
 |
|