Movieworm
 
สรุปย่อการประชุมชี้แจงผลการพิจารณาทุนส่งเสริมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของกระทรวงวัฒนธรรม (ไทยเข้มแข็ง)

จากกรณีที่กระทรวงวัฒนธรรมเชิญประชาชน สื่อมวลชน คนในวงการหนัง และผู้ที่มีข้อสงสัย คำถามเกี่ยวกับทุนสนับสนุนภาพยนตร์ของกระทรวงวัฒนธรรม เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม ในวันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม ซึ่งก็คือวันนี้ ปรากฏว่า หลังจากเดินทางฝ่าฝนไปถึงกระทรวงวัฒนธรรมถึงที่จุดนัดหมาย ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 19 กระทรวงวัฒนธรรม ตึกธนาลงกรณ์เป็นเวลา 10:32 น. ปรากฏว่าไม่พบการแถลงข่าวใดๆ พบแต่นักข่าวหลายสำนักนั่งทอดหุ่ยรอกันอยู่ในห้องประชุม สอบถามได้ความว่า ทางคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงวัฒนธรรมได้มีการเรียกตัวผู้ที่ยื่นจดหมายคัดค้านเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกันก่อน โดยมีการย้ายที่พูดคุยและกันนักข่าวออกจากห้องประชุม โดยอ้างว่ามีพื้นที่ไม่เพียงพอให้นักข่าวเข้าร่วมรับฟัง หลังจากการประชุมหารือ (ที่ไม่เปิดเผยให้สื่อมวลชนรับรู้) อันเนินนานผ่านพ้นไป เวลา 12:20 น. คณะกรรมการของกระทรวงวัฒนธรรมพร้อมกับกลุ่มคนทำหนังและแนวร่วมที่ยื่นจดหมายัดค้านก็ทยอยปรากฏตัวลงมาแถลงข่าวให้กับสื่อมวลชนที่นั่งรอกันจนแทบจะหลับกันไปหมดแล้ว โดยไม่ปรากฏแม้แต่เงาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (นายธีระ สลักเพชร) แม้แต่น้อย มีแต่ ศ. ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงบางท่าน นายจาฤก กัลย์จาฤก นายกสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ และคณะอนุกรรมการบางคนอย่าง นายสุรศักดิ์ สรรพิทักษ์เสรี (คนที่ออกรายการคมชัดลึกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา) นายพันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ นายกิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน รวมถึงฝ่ายคัดค้านอย่าง นายอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และ นายมานิต ศรีวานิชภูมิ เข้าร่วมนั่งแถลงข่าวด้วย

โดยนายอภินันท์ได้ออกมาแถลงว่า ทางกระทรวงและคณะกรรมการได้รับเรื่องที่มีการเสนอคัดค้านไว้ และรู้สึกขอบคุณที่มีการแสดงความคิดเห็น และจะนำความคิดเห็นเหล่านี้มาปรับใช้ในการทำงานในอนาคต (มีหรือ?) และกล่าวต่อไปว่าการประชุมในวันนี้ได้ข้อสรุปมาว่า งบ 50 ล้านบาทที่ไม่ใช่หนังยาว สามารถดำเนินการต่อไปได้ ส่วนเรื่องการคัดค้าน ทางคณะกรรมการจะเสนอเรื่องไปทางบอร์ดใหญ่ (เขาใช้คำว่าคณะกรรมการชาติ) เพื่อพิจารณาในลำดับต่อไป จากนั้นก็เปิดโอกาสให้ฝ่ายคัดค้านแถลงถึงเจตนาและเจตจำนงในการคัดค้าน และเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนผู้ที่สงสัยถามคำถาม

ซึ่งในส่วนของการตอบข้อซักถาม คณะกรรมการบางท่านเห็นว่า หนัง "นเรศวร" มีสิทธิ์โดยชอบธรรมในการของบสนับสนุนจากรัฐบาล และยืนยันที่จะเดินหน้ามอบเงินสนุนต่อไป ส่วนประเด็นในเรื่องงบ 330 ล้านที่กกระทรวงพาณิชย์อนุมัติให้หนังเรื่องนี้ด้วยนั้น mk’คณะกรรมการของสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยทุกคนไม่ทราบถึงเงินก้อนดังกล่าวมาก่อน และให้เหตุผลว่า เงินก้อนดังกล่าวไม่มีผลต่อการตัดสินใดๆ ทั้งสิ้น

ส่วนคำถามในส่วนของงบประมาณที่เหลือที่มีการมอบให้หนังยาวเรื่องอื่นๆ มีข้อสงสัยจากสื่อมวลชนว่า เหตุใดจึงมอบให้ค่ายหนังเอกชนรายใหญ่ที่มีโอกาสและกำลังในการทำหนังสูงอยู่แล้ว นายสุรศักดิ์หนึ่งในคณะอนุกรรมการได้ตอบข้อสงสัยนักข่าวว่า คณะกรรมการได้พิจารณาหนังทุกเรื่องที่ส่งเข้ามาอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมตามหลักเกณฑ์การพิจารณาจาก 4 ส่วนคือ เนื้อหา การบริหารโครงการ ผลประโยชน์และผลกระทบ และคุณค่าทางศิลปะ ซึ่งภาพยนตร์ที่ได้รับการมอบทุนทั้งหมด (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำนานสมเด็จพระนเรศวร) มีความเหมาะสมและได้รับคะแนนสูงในการพิจารณา

ซึ่งหนึ่งในคณะอนุกรรมการ นายกิติศักดิ์ สุวรรณโภคิน ได้ออกมาแถลงต่อมาว่า การพิจารณาหนังยาวเรื่องอื่นๆ เองก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์การพิจารณาอย่างเคร่งครัด โดยยกตัวอย่างหนังเรื่อง ‘อีนางเอ้ย’ หนังจากค่ายสหมงคลฟิล์มที่ได้รับทุน 5225000 บาท ว่าถูกยกขึ้นมาพิจารณาโดยไม่มองว่าเป็นหนังของค่ายสหมงคลฟิล์มด้วยซ้ำ แต่พิจารณาจากการที่หนังชนะเลิศรางวัลการประกวดบทยอดเยี่ยม และเป็นหนังที่สหมงคลฟิล์มพิจารณาแล้วว่าในทางการตลาดหนังเรื่องนี้ไม่มีแนวโน้มที่จะขาย ซึ่งหากหนังเรื่องนี้ไม่ได้รับการสนับสนุน ก็อาจไม่มีโอกาสได้สร้างขึ้นมา

ทางคณะกรรมการได้ชี้แจงต่อไปเกี่ยวกับประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างคณะกรรมการและผู้ยื่นเสนอทุน ว่าเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ ที่จะมีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้เสนอทุนเป็นหนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาทุน เพราะบุคคลากรในวงการภาพยนตร์ไทยมีน้อย แต่ได้ก็แก้ไขไปด้วยการที่ถ้าคณะกรรมการพิจารณาฯ คนใด คนหนึ่ง มีความเกี่ยวข้องหรือมีสายสัมพันธ์กับบริษัทหรือบุคคลผู้ยื่นขอทุน คณะกรรมการรายนั้นจะต้องเดินออกจากการประชุมพิจารณาทุนนั้นๆ โดยทันที

สำหรับรายชื่อของคณะกรรมการที่มีส่วนในการตัดสินทุน นายอภินันท์กล่าวว่าทางการทรวงเปิดเผยและโปร่งใส ประชาชนและผู้ที่สงสัยอยากรู้รายละเอียดสามารถหารายชื่อของคณะกรรมการและอนุกรรมการได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงฯได้

ซึ่งในประเด็นนี้ นายสัญชัย โชติรส แห่งมูลนิธิหนังไทย ได้เรียกร้องให้ทางคณะกรรมการและอนุกรรมการแสดงหลักฐานซึ่งก็คือ เทปบันทึกภาพการประชุมพิจารณาฯ ดังกล่าว เพื่อเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจและโปร่งใสของคณะกรรมการ ซึ่งนายอภินันท์ก็ได้รับเรื่องไว้และจะนำไปพิจารณาต่อไป


การซักถามดำเนินไปได้เพียงไม่นานเท่าไหร่ จู่ๆ ทางคณะกรรมการและผู้บริหารของกระทรวงวัฒนธรรมก็ปิดการแถลงข่าวเอาแบบดื้อๆ และเรียงแถวกันเดินออกจากห้องประชุมโดยเร่งด่วน ทิ้งสื่อมวลชนและผู้ที่เข้าร่วมฟังการประชุมที่งุนงงเอาไว้เบื้องหลัง (อ้างว่าจะมีคนใช้ห้องประชุมต่อทันทีทันใดนั้น)

หลังจากนั้นทางกลุ่มผู้ที่เรียกร้องฯ ซึ่งมีตัวแทนคือ นายอภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล และ นายมานิต ศรีวานิชภูมิ ให้ออกมาแถลงและให้คำตอบต่อหน้าสื่อมวลชนในภายหลังดังนี้...

อภิชาติพงศ์ : ผมขอออกตัวก่อนนะครับว่าไม่ใช่แค่ผมกับพี่มานิตแค่สองคน แต่เราเป็นเครือข่ายรวมทั้งคนดูหนัง คนทำหนัง โปรดิวเซอร์ แล้วก็นักวิจารณ์หนังด้วย ไม่อยากให้เข้าใจผิดว่ามีแค่เรามาเรียกร้อง จากที่คุยกันวันนี้ผมว่ามันได้ประโยชน์มาก เพราะเห็นได้ชัดเลยว่า ทุกคนมีความจริงใจ คณะกรรมการ กระทรวงฯ มีความตั้งใจที่จะสนับสนุนภาพยนตร์ไทยจริงๆ แต่ว่าในมุมมองของเรา เราเป็นคนทำภาพยนตร์ อย่างที่พี่คนนึงบอกไปในห้องประชุม ซึ่งผมก็เห็นด้วยก็คือ "เราก็เกิดและตายกับภาพยนตร์" เพราะฉะนั้น ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ทางรัฐจะให้ทุนสนับสนุน ซึ่งตอนแรกตกใจมาก เอ๊ะ! เป็นจริงหรือเปล่า? แต่พอมันเป็นจริงขึ้นมา เราก็รู้สึกว่าเราอยากจะช่วยเหลือ จากประสบการณ์ของเรา เพราะว่าผมทำหนังมานานกว่า 10 ปี ผมได้รับทุนจากต่างประเทศมาตลอด แล้วมันก็มีมาตรฐานสากลในการให้ทุน แต่ทีนี้พอทางกระทรวงฯ จัดการเนี่ย เรารู้สึกว่ามันยังมีข้อบกพร่องแล้วก็ข้อที่ไม่ชัดเจนเยอะในด้านมาตรฐาน โดยเฉพาะเรื่องสัดส่วนการกระจายทุน ผมไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องของท่ายมุ้ย หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ แต่เรามองถึงสามัญสำนึกและเรื่องของมาตรฐานการกระจายทุนของภาพยนตร์ในการสนับสนุนวงการหนังไทยจริงๆ มันควรจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นเราก็เลยมาพูดคุยกัน มาแสดงความคิดเห็นเพื่อการช่วยเหลือกันในสองประเด็น ประเด็นนึ่งก็คือ ในอนาคตเพื่อเราจะพัฒนาทุนนี้ ผมอยากเห็นมากเลยที่จะให้คนทำหนังที่ไม่ใช่คนที่เป็นที่รู้จัก อาจจะอยู่ต่างจังหวัด ได้มีโอกาสมากกว่านี้ เขาอาจจะแค่ขอทุนเขียนบทหรืออะไรก็ตาม แต่พอมาตรฐานมันเป็นอย่างนี้ มันเกิดช่องว่าง ช่องโหว่ ที่ทำให้เกิดความลักลั่และความแปลกประหลาดของทุนนี้ อีกประเด็นนึงก็คือ นอกจากอนาคตแล้ว ปัจจุบันเราทำอะไรกันได้บ้าง? กับผลของทุนที่ประกาศออกมาแล้ว ในขณะที่มันยังไม่ได้เซ็นอนุมัติ หรือแม้แต่เซ็นไปแล้วเนี่ย เราสามารถทำอะไรที่จะแสดงจุดยืนว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ภาพยนตร์ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐ และเมื่อมองย้อนกลับมาในอนาคตอีกสิบปียี่สิบปีเนี่ย เราภูมิใจกับการตัดสินนี้แค่ไหน?

ทางกลุ่มเรียกร้องให้มีการปรับปรุงกฎกติกาหรือผลการตัดสินอย่างไรบ้าง?

อภิชาติพงศ์ : ก็ร่างมาแล้วครับ (ข้อบกพร่องของทุนสนับสนุนโครงการและกิจกรรมส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์) มันเป็นประเด็นที่ผมบอกว่ามันเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ถ้าจะพูดรายละเอียดก็คือ ในกฎระเบียบควรต้องมีการระบุประเภทของการให้ทุนตั้งแต่แรก ซึ่งก็คือมาตรฐานสากลน่ะครับ ตั้งแต่การเขียนบท การพัฒนาบท การถ่ายทำ การตัดต่อ การโพสโปรดักชั่น มันต้องแบ่งชัดเจน และมีเพดานเงินด้วย (เน้น) ว่าจะให้เท่าไหร่ ในแต่ละขั้นตอน เพราะฉะนั้นมันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ยื่นส่งโครงการเข้ามาว่าเขาจะบริหารทุนอย่างไร ไม่ใช่ว่า โอเค ขอมา 20 ล้าน แล้วได้ไป 3 ล้าน แล้วเขาจะทำอะไร? มันคือการเสียเปล่า เพราะจริงๆ มันก็คือเงินภาษีของประชาชน

ตัวคุณอภิชาตพงศ์เอง คาดหวังว่าจะได้เงินเพิ่มขึ้นอีกไหม?

อภิชาติพงศ์ : ไม่ได้คาดหวัง และก็ไม่ได้อยากได้ด้วย (หัวเราะ) เพราะว่าโครงการที่ผมยื่นขอเนี่ย มันเป็นขั้นโพสต์โปรดักชั่น ซึ่งความจริงหนังก็เสร็จแล้ว พูดซื่อๆ ก็คือ ยังเป็นหนี้อยู่ เราเป็นหนี้ 3.5 ล้าน (สามจุดห้า ไม่ใช่ สามสิบห้า) เราก็ขอ 3.5 ล้าน เขาก็พิจารณาให้มา เราไม่ได้ประท้วงในจุดนั้น จริงๆ อย่าใช้คำว่าประท้วงเลย เราคิดว่าอยากให้มีการพิจารณาเรื่องสัดส่วนอีกที ในแง่ของการสร้างมาตรฐานในอนาคตน่ะครับ

จากการพูดคุยวันนี้ แนวโน้มจะไปได้ด้วยดีไหมครับ? ทางนี้เขาจะรับเรื่องของฝ่ายเราไหม?

อภิชาติพงศ์ : ก็จากการที่พูดคุยก็คือ ในทางคำพูดนะครับ เค้าจะดำเนินการต่อ

มานิต : เห็นว่าเค้ารับไปว่าจะทบทวน คือเราก็หวังว่าคณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติจะรับเรื่องนี้ไปทบทวน ในเรื่องเกี่ยวกับการให้เงิน 100 ล้านของนเรศวรฯ ก็ลองจินตนาการนะครับ ถ้า 100 ล้านของนเรศวรฯ กลับมาอยู่กองกลาง แล้วก็มีการพิจารณาโครงการอื่นๆ ผมคิดว่าเราอาจจะมีหนังไทยดีๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย เพราะอย่างไรก็แล้วแต่ อย่างที่เราได้บอกกับทางคณะกรรมการว่า นเรศวรฯ ได้ไปแล้ว 330 ล้าน จากกระทรวงพาณิชย์ เพราะฉะนั้น ในเมื่อหนังนเรศวรฯ ได้เค้กค่อนข้างจะก้อนใหญ่กว่าทุกคนอยู่แล้ว ทีนี้ในส่วนของผู้ที่เป็นนักทำหนังอิสระหรือจะมีสังกัดก็แล้วแต่จำนวนกว่า 200 ราย ซึ่งยังต้องการความช่วยเหลือเนี่ย ผมคิดว่าน่าจะพิจารณานำเงินในส่วน 100 ตรงนั้น กลับมาเกลี่ยกันใหม่ แล้วก็มาพิจารณากันอีกครั้งนึง ซึ่งผมก็กวังว่า ถ้ามองกันในทางบวก ว่าถ้าคณะกรรมการยอมรับข้อเสนอของเรา ผมคิดว่าเราคงจะได้ดูหนังดีๆ กันอีกหลายเรื่องนะครับ

จากการพูดคุยที่เพิ่งผ่านมาวันนี้ คิดว่าทางคณะกรรมการฯ มีความโปร่งใสแค่ไหน?

............(หัวเราะกันหมด) อภิชาติพงศ์ : คือ...พูดยากเพราะว่าแต่ละคนก็มีจุดยืนของตัวเอง แต่สิ่งที่ผมขอย้ำอีกทีก็คือเรื่องมาตรฐาน เรื่องของสามัญสำนึก ว่าเราสามารถที่จะเอาความเสี่ยงความเสี่ยงไปให้กับโปรเจ็กต์แค่หนึ่งโปรเจ็กต์มันเป็นเรื่องดีหรือเปล่า? อีกอย่างนึงการโปรเจ็กต์นี้ได้รับ 330 ล้านจากกระทรวงพาณิชย์ มันเป็นข้อมูลใหม่ พอมีข้อมูลใหม่แล้วเนี่ย แสดงว่าที่หนังเรื่องนี้จะได้ก็คือ 430 ล้าน แต่ว่าทางท่านมุ้ยเนี่ย ยังตั้งงบประมาณไว้ถึง 480 ล้าน ทีนี้ 430 ล้านเนี่ย ถือเป็น 89.5% มันเหมาะสมหรือไม่ที่รัฐบาลจะสนับสนุนเงินเกือบ 90% หรือเรียกได้ว่า เกือบ 100% ให้กับหนังเรื่องหนึ่ง ซึ่งมันก็จะโยงไปที่ประเด็นที่ว่า ทุนนี้มันคืออะไร ทุนเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ? ซึ่งมันก็จะมีเหตุผลของเขาว่า หนังนเรศวรฯ เนี่ย ได้เงินแน่ๆ เพราะว่านักเรียนและข้าราชการชอบไปดู เพราะฉะนั้น รายได้มันก็จะกลับมา แต่ว่าเราจะยินยอมให้เขาสร้างมาตรฐานนี้ต่อไปหรือเปล่า? ในการมองเรื่องของ ‘ทุน’ เป็นหลักในการสนับสนุนภาพยนตร์และวัฒนธรรม ว่าในอนาคตสองสามปีจะมีหนังเพื่อสยามประเทศ หรือว่าหนังที่จะลงทุนไปอีกเจ็ดแปดร้อยล้านบาท อีกกี่เรื่องขึ้นมา ซึ่งมันจะไปมีผลกระทบกับหนังเรื่องอื่นๆ ซึ่งผมก็เลยเสนอว่า โครงการอย่างนี้มันควรเป็นโจทย์ต่างหาก มันไม่ใช่โจทย์ที่จะมายุ่งกับโครงการสนับสนุนภาพยนตร์แบบให้เปล่า ซึ่งมันมีอยู่ทั่วโลก ซึ่งการให้เปล่าแบบนี้เขาเรียกว่า ‘Seed Fund’ Seed นี่แปลว่าเมล็ดพืช ก็คือ รัฐ จะหว่านเมล็ดพืชไป จะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ ผมเองก็เหมือนกัน ผมได้ทุน Seed Fund มาสองสามโปรเจกต์ ผมยังไม่ได้ทำอะไรเลย เขาก็ไม่ได้เรียกเงินคืน นี่คือ Seed Fund คือการแสดงความจริงใจในการพัฒนาภาพยนตร์อีกประเภทนึง รัฐบาลต้องเคลียร์ในจุดนี้ว่า ถ้าคุณมีความจริงใจในการสนับสนุนภาพยนตร์จริงๆ เนี่ย มันต้องมีลักษณะของการสนับสนุนแบบ Seed Fund มากกว่านื้ และไม่เกิดกรณีแบบนี้ ที่ให้โครงการใหญ่ๆ มาฮุบเงินส่วนใหญ่ไป ซึ่งผมดีใจมากเลยที่เหตุการณ์อย่างนี้มันเกิดขึ้น เพราะมันทำให้เราได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และมันจะไม่มีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นอีก

มานิต : จริงๆ ผมคิดว่า ในแง่นึงเราก็ต้องให้ความยุติธรรมกับกระทรวงวัฒนธรรมเหมือนกันนะครับ ผมเข้าใจว่างบประมาณ 200 ล้านที่มีมาเนี่ย ความตั้งใจเดิมก็คงต้องการมาส่งเสริมหนังไทยโดยตรง แต่เนื่องจากว่ารัฐบาลมีวาระซ่อนเร้นในเรื่องของการให้เงินสนับสนุนหนังนเรศวรฯ คำถามคือว่า ทำไมรัฐบาลไม่ไปตั้งงบประมารแยกไปเลยล่ะครับ ว่า 480 ล้าน ให้กับหนังเรื่อง นเรศวรฯ ไม่ใช่มาตั้ง 330 ล้าน ที่กระทรวงพาณิชย์ แล้วที่เหลือให้มาเอาที่กระทรวงวัฒนธรรม มันก็เลยเกิดการยื้อแย่งเงินงบประมาณกันตามที่ปรากฏนะขณะนี้ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่ากระทรวงวัฒนธรรมก็อยู่ในภาวะที่อึดอัด เพราะจำเป็นจำต้องแบ่งงบประมาณของตัวเองให้กับ นเรศวรฯ ซึ่งผมเชื่อว่า ลึกๆ เนี่ย กระทรวงวัฒนธรรมก็ไม่ได้อยากให้ แต่เนื่องจากบอกว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลก็ประเด็นนึง แต่ต้องไม่ลืมว่าตอนที่เปิดรับโครงการ ในชื่อโครงการไม่ได้มีการระบุรายละเอียดเลยว่างบประมาณครึ่งนึงจะให้กับหนังเรื่อง นเรศวรฯ ทุกคนเป็นที่เข้าใจกันว่าอันนี้คือการเปิดกว้างให้กับหนังในทุกรูปแบบ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่ากระทรวงวัฒนธรรมเองอยู่ในภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เมื่อต้องมาให้หนัง นเรศวรฯ และยังมาถูกทางฝ่ายผู้สร้างหนังอิสระหรือมวลชนต่อต้าน ในเมื่อถ้ารัฐบาลมีความชัดเจนว่าไหนๆ จะต้องทำอยู่แล้ว ซึ่งก็มีการประกาศไปตั้งแต่ต้น นายกฯ อภิสิทธิ์ ก็ได้ขี่ช้างแถลงข่าวไปเรียบร้อย เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ก็แล้วทำไมไม่ตั้งเป็นโปรเจกต์แยกออกมาล่ะ? หรือว่าการไปตั้งในลักษณะนั้น อาจทำให้รัฐบาลไปตอบกับรัฐสภาได้ลำบากในการแจงการใช้จ่ายเงินงบประมาณ? ผมคิดว่ามันมีวาระซ่อนเร้นเกี่ยวกับเรื่องนี้พอสมควร ผมอยากให้สื่อมวลชนลองติดตามดู เพราะว่าเรื่องนี้ถ้าย้อนกลับไปในอดีต เงินงบประมาณหนัง นเรศวรฯ ภาค 1,2 เจ็ดร้อยล้าน ที่เป็นเงินของกองสลากเนี่ย คณะรัฐบาลของคุณทักษิณก็ยังมีชนักติดหลัง ก็ยังต้องขึ้นศาลอยู่ ผมไม่รู้ว่ากรณีนี้น่าเป็นห่วง ว่าการอนุมัติโครงการต่างๆ เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้เนี่ย ในท้ายที่สุดมันจะลงเอยในลักษณะเดียวกันกับการให้เงินอุดหนุนแบบหวยที่ผ่านมาในสองภาคแรกหรือเปล่า?

ในส่วนของเงินงวดที่สองของทุนสนับสนุนหนังไทยอีก 280 ล้านบาท ที่มีการแถลงในตอนแรกเริ่ม ได้ถามคณะกรรมการหรือเปล่า ว่ามันหายไปไหน?

มานิต : ก็คงไม่มีมาแล้วครับ เพราะว่าจริงๆ ตั้งแต่ต้นผมก็ไม่แน่ใจว่าการตั้งทุนสนับ 200 ล้านเนี่ย ให้มาเพื่อที่จะสนับสนุนวงการหนังไทยหรือเปล่า หรือว่ามันเป็นอุบัติเหตุ? สำหรับผม ผมตั้งข้อสังเกตว่า กระทรวงวัฒนธรรมมีโครงการต่างๆ ที่ขอเงินงบประมาณไทยเข้มแข็ง ปรากฏว่าทางรัฐบาลให้มา 200 ล้าน แต่รัฐบาลก็ไม่ได้บอกกระทรวงวัฒนธรรมว่า 200 ล้านในใจของรัฐบาลเอง คืองบสำหรับหนังนเรศวรฯ เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติของกระทรวงวัฒนธรรมเอง เขาก็ยังเข้าใจอยู่ว่าเป็นเงินที่ทางกระทรวงฯ ขอ และได้มา จึงเอามาตั้งเป็นโครงการส่งเสริมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ขึ้นมา

อภิชาติพงศ์ : ถ้าจะขยายประเด็นของคุณมานิตก็คือ ทางนายกฯ อภิสิทธิ์ ที่ได้ไปขี่ช้างตั้งแต่ปีที่แล้ว มันเป็นก่อนที่จะมี หรือมันอาจเป็นเหตุผลนึงเลยที่มีทุนนี้ขึ้นมา แต่เราต้องพิจารณาว่า พอมันเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมา และการที่ท่าน อ.อภินันท์ ออกมาประกาศหลังจากการประกาศทุนแล้วว่า โปรเจกต์นี้ส่วนนึงที่ได้เพราะเป็นโปรเจกต์ที่รัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ สนับสนุน เพราะฉะนั้นเราก็ย้อนกลับมาคิดว่า ถ้าอย่างนั้น อิทธิพลของคณะกรรมการจะมีประโยชน์อะไร เนื่องจากการมีปัจจัยทางการเมืองภายนอก แรงกดดันภายนอกจากรัฐบาล ซึ่งคณะอนุกรรมการมากกว่าครึ่งนึง จาก 22 ท่าน มี 14 ท่านที่เป็นข้าราชการ แล้วมันเป็นไปได้ไหมที่แรงกดดันนี้จะทำให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น มันแสดงให้เห็นว่า หนังเรื่องนี้พิเศษกว่าหนังเรื่องอื่น ซึ่งถ้ามันเป็นลักษณะอย่างนี้จริงๆ (ซึ่งมันเป็นไปได้) ผมก็คิดว่ามันไม่เป็นธรรมสำหรับภาพยนตร์เรื่องอื่นที่จะมาแข่งในสนามเดียวกัน

ท้ายสุดทางผู้ยื่นเรื่องเสนอคัดค้านกล่าวว่าจะรอดูท่าทีของกระทรวงวัฒนธรรมว่าจะมีการดำเนินการใดๆ ต่อข้อเสนอคัดค้านนี้หรือไม่ หากทางกระทรวงยังดึงดันที่จะดำเนินการมอบงบต่อไปก็อาจต้องมีการพิจารณาการดำเนินการทางกฎหมายกับกระทรวงฯ และภาครัฐต่อไป




Create Date : 04 พฤษภาคม 2553
Last Update : 4 พฤษภาคม 2553 2:59:48 น. 1 comments
Counter : 679 Pageviews.  
 
 
 
 
กุดมอร์นิ่ง ทักทายตอนสายๆ จ้า :)^^
 
 

โดย: หาแฟนตัวเป็นเกลียว วันที่: 4 พฤษภาคม 2553 เวลา:10:53:36 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

panueddie
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add panueddie's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com