Movieworm
 
คาซูอากิ คิริยะ

เจ้าพ่อวิชวลสุดล้ำแห่งแดนอาทิตย์อุทัยกับหนังอิงประวัติศาสตร์เปี่ยมสไตล์เรื่องล่าสุดของเขา 'Goemon'

เรื่อง/ภาพ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

คาซุอากิ คิริยะ ผู้ชายคนนี้คือใคร?
ถ้าถามแฟนๆ ดนตรีเจป๊อบและเหล่าสาวกผู้นิยมเสพข่าวกอสซิบซุบซิบนินทา คงรู้จักเขาดีในฐานะ (อดีต) สามีของป๊อบสตาร์ฉายา สาวน้อยมหัศจรรย์ (ตัวจริงเสียงจริง) ชาวญี่ปุ่น ฮิกกี้ อูทาดะ ฮิคารุ ที่เพิ่งเลิกร้างกันไปเมื่อไม่กีปีที่ผ่านมา
แต่นอกเหนือไปจากนั้น พวกเขาคงหารู้ไม่ว่า ผู้ชายคนนี้เป็นคนเดียวกันกับคนที่สร้างสรรค์มิวสิกวิดีโอสุดเก๋ล้ำหลายต่อหลายเรื่องของป๊อบสตาร์คนที่ว่า และคงไม่คิดหรอกว่า ผู้ชายคนเดียวกันนี้สำหรับสาวกผู้คลั่งไคล้หนังไซไฟและคนทำงานในสายวิชวล เขาอาจไม่ต่างอะไรกับศาสดา!
หลังจากฝากผลงานภาพยนตร์แอ็กชันไซไฟเปี่ยมสไตล์สุดล้ำอย่าง Casshern ให้เป็นขวัญใจเด็กเนิร์ดและเด็กแนวไว้เมื่อหลายปีก่อน ในวันนี้ เขากลับมาอีกครั้ง กับ ภาพยนตร์ย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นเรื่อง Goemon ที่เชื่อเหลือเกินว่าถ้าอยู่ในมือของคนทำหนังสายวิชวลขั้นเทพระดับนี้แล้ว คงไม่ใช่เรื่องราวอิงประวัติศาสตร์จืดๆ ชืดๆ ดาษๆ ธรรมดาเป็นแน่
ด้วยความที่ในปีนี้ เขาเป็นหนึ่งในแขกรับเชิญของงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ครั้งที่ 7 ปี 2552 (Bangkok International Film Festival 2009) ในบ้านเรา นิตยสาร FILMAX จึงถือเป็นโอกาสอันดี ที่ขอจะกระทบไหล่ และขอสัมภาษณ์พูดคุยเพื่อขุดความคิด คุ้ยทัศนคติ และค้นหาเทคนิควิธีการทำงานอันเป็นเอกลักษณ์ของเขา มาแปรสภาพเป็นตัวอักษรให้คุณๆ ได้อ่านกัน

ภาณุ: ได้ยินมาว่า หนังเรื่อง Goemon นี่ ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวจริงในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น
คิริยะ: ถูกต้องแล้วครับ! เป็นเรื่องของโจรที่ปล้นคนรวยไปช่วยคนจน เขาเหมือน โรบินฮู้ด เขามีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น ผมคิดว่าเขาเป็นร็อกสตาร์ญี่ปุ่นคนแรก (หัวเราะ) ทุกคนรักเขา อย่างที่บอกว่าเขาปล้นคนรวยไปช่วยคนจน และในท้ายที่สุด เขาพยายามลอบสังหารโตโกฮิเดโยชิ (โตโยโทมิ) แต่ถูกจับได้ เลยถูกประหารด้วยการต้มทั้งเป็น นั่นคือเรื่องราวทั้งหมด แต่แน่นอนว่าเรื่องราวในหนังมันไม่เหมือนในประวัติศาสตร์จริง เพราะผมเปลี่ยนมันไปเยอะมาก ผมหยิบเอาแค่ไอเดียของมันมาใช้ และแต่งเรื่องขึ้นมาใหม่ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมคนญี่ปุ่นบางคนถึงหงุดหงิดกับหนังเรื่องนี้เอามากๆ แต่ก็นะ ใครจะรู้จริงๆ ล่ะ ว่าอะไรจริงหรือไม่จริงในประวัติศาสตร์

ภาณุ: ตอนสมัยเด็ก ผมเคยเล่นวิดีโอเกมชื่อ Goemon เหมือนกัน เป็นเรื่องเดียวกันไหม
คิริยะ: เหรอ? ก็น่าจะเอาตัวละครมาจากเรื่องเดียวกัน ก็เหมือนกันกับที่ผมทำนั่นแหละ แบบเดียวกันกับ อเล็กซานเดอร์มหาราช หรือ กษัตริย์อาเธอร์ ทุกคน เอาเรื่องราวจริงในประวัติศาสตร์มาแต่งเติมสีสันเข้าไป

ภาณุ: หนังเรื่องที่แล้วของคุณ Casshern สร้างโดยได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือการ์ตูน ทำไมเรื่องนี้คุณหันมาใช้เรื่องราวจริงในประวัติศาสตร์ล่ะ?
คิริยะ: โอ! ผมคิดว่าการเอาการ์ตูนมาทำหนังมันจบสำหรับผมแล้วล่ะ เพราะผมเองก็เป็นคนที่เริ่มทำมันเป็นคนแรกๆ ในญี่ปุ่น ย้อนกลับไปตอนนั้น ผมคิดว่าคนญี่ปุ่นน่าจะรับอะไรพวกนี้ได้ เหมือนกับ Batman, Spiderman, Superman แต่ตอนนี้ทุกคนหันมาทำกันหมด (เน้นเสียง) ไม่มีอะไรเหลือให้ทำแล้วล่ะ (หัวเราะ) ผมเลยเกิดความคิดขึ้นมาว่า ตอนนี้ทุกคนต้องสร้างเรื่องราวของตัวเอง สร้างตัวละครของตัวเองขึ้นมา นั่นเป็นสิ่งที่ผมเชื่อ

ภาณุ: คุณเลยสร้างฮีโร่ของตัวเองขึ้นมา?
คิริยะ: ใช่! แต่ก็แน่นอนว่าผมเอามันมาจากเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ผมเชื่อว่าในประเทศไทยเองก็คงมีบุคคลหรือเรื่องราวบางอย่างที่เป็นที่รู้จักของทุกคนอยู่เหมือนกัน ใช่ไหม? นั่นเป็นสิ่งที่น่าหยิบเอามาทำ

ภาณุ: ที่คุณบอกว่าเปลี่ยนนี่ มันเปลี่ยนไปขนาดไหนหรือ?
คิริยะ: เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเลยแหละ ทุกอย่าง เสื้อผ้า อาคารบ้านเรือน เหมือน Star wars น่ะ แต่ Star wars เอง ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังซามูไรของญี่ปุ่นเหมือนกันนะ

ภาณุ: หนังของ อากิระ คุโรซาว่า?
คิริยะ: ถูก! คุโรซาว่า แล้วเขาก็เปลี่ยนทั้งหมดให้เป็นเรื่องราวในอนาคต (หัวเราะ) แล้วทำไมจะไม่ได้ล่ะ Lord of the Rings ก็เหมือนกัน Lord of the Rings เป็นเรื่องราวแฟนตาซีก็จริง แต่มันก็ได้แรงบันดาลใจอย่างมาก จากวัฒนธรรมของพวกเคลติก ในอังกฤษ เหมือนกันกับหนังของผมที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น แต่มันไม่ใช่หนังญี่ปุ่นอย่างเดียว มันก็ได้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมของจีน อินเดีย จากทุกแห่งหนในเอเชีย ทุกสิ่งมีปรากฏอยู่ใน Geomon นั่นเป็นสิ่งที่ผมอยากให้มันเป็น ผมไม่อยากจำกัดหนังของตัวเองให้เป็นแค่หนังญี่ปุ่นเท่านั้น

ภาณุ: แล้ว Geomon เป็นหนังประเภทไหนกันแน่ล่ะ แฟนตาซี ย้อนยุค อิงประวัติศาสตร์?
คิริยะ: ผมไม่อยากเจาะจง นั่นเป็นอีกสิ่งที่ผมรำคาญในการ ทำงานศิลปะ ทุกคนอยากจะ เจาะจง จำแนกแจกแจง แบ่งประเภท ทุกคนอยากจะขีดเส้นใต้ นั่นหนังญี่ปุ่น โน่นหนังเกาหลี นี่หนังไทย สุดท้ายมันก็เป็นหนังน่ะ (หัวเราะ) จะหนังฮอลลีวูด หนังเอเชีย ก็แค่หนังน่ะ แค่ภาพยนตร์ จะหนังผี จะหนังแฟนตาซี, ย้อนยุค, ไซไฟ ผมไม่แคร์! ผมทำหนัง ผมทำงานศิลปะ ผมสร้างเรื่องราว ทั้งหมดมันก็แค่นั้น นั่นคือสิ่งที่ผมทำ ผมถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในญี่ปุ่น เพราะผมเอาคนที่ไม่ใช่คนญี่ปุ่นมาเล่นในหนังของผม ทำไมผมใช้นักแสดงเกาหลี... คนเกาหลีเองก็หงุดหงิดเพราะผมเอานักแสดงเกาหลีมาเล่นเป็นคนญี่ปุ่น (หัวเราะ) ทำไม? แล้วไงล่ะ! ก็เขาเป็นนักแสดงนี่

ภาณุ: เหมือนที่คนญี่ปุ่นหงุดหงิดที่เอาคนจีนมาเล่นใน Memoirs of Geisha?
คิริยะ: ใช่! ผมโอเคนะกับเรื่องนั้น คนญี่ปุ่น หรือแม้แต่คนอเมริกันหลายคนหัว เสียกับเรื่องนี้ แต่ผมโอเคนะ เพราะ เฮ้! ถ้าโรเบิร์ต เดอ นีโร เล่นเป็นคนอิตาเลี่ยนใน The Godfather หรือ รัสเซล โครวว์ เล่นเป็นคนโรมันใน Gladiator ได้ ทำไมเราจะทำแบบเดียวกันไม่ได้ นั่นเป็นสิ่งที่ผมเชื่อ ผมไม่เชื่อการแบ่งแยกเผ่าพันธุ์ ผมไม่เชื่อในการแบ่งแยกชนชาติ นั่นเป็นเหตุผลที่ผมทำหนัง นั่นเป็นเหตุผลที่ผมไม่สนใจการเมือง (หัวเราะ)

ภาณุ: มีคนตั้งข้อสังเกตุกันว่า หนังที่มีงานด้านภาพและสไตล์โดดเด่นหวือหวาแบบหนังของคุณ มักจะมีความอ่อนด้อยในด้านเนื้อหา คุณคิดอย่างไรบ้าง?
คิริยะ: โอ! เป็นคำถามที่ดีมาก ผมกำลังค้นหาความเป็นไปได้ไง ทุกวันนี้มีคนหลายคนที่ไม่อาจคิด นอกกรอบได้ Casshern เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง ตอนที่ Casshern ออกมาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว นั่นมันก่อน 300 ก่อน Sin City ก่อน Sky Caption ก่อนทุกเรื่อง เราเป็นเรื่องแรกที่ทำมันขึ้นมา ถ้าไม่นับ Star wars นะ (หัวเราะ) เราเป็นเรื่องแรกที่ทำขึ้นมาด้วยทุนแค่ 6 ล้าน ดอลล่าร์ ซึ่งแทบจะทำอะไรไม่ได้เลย แต่ผมตั้งใจที่จะทำมันขึ้นมาเพื่อแสดงให้คนอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนทำหนังรุ่นเยาว์ทั้งหลาย เห็นถึงความเป็นไปได้ในการทำหนังแบบนี้ ก่อนหน้านั้นในญี่ปุ่น เราพูดกันว่า เราทำไม่ได้หรอก หนังแบบนี้ เพราะมันต้องใช้เงินมหาศาล ต้องฮอลลีวูดเท่านั้นถึงจะทำได้ แต่ผมก็ทำมันขึ้นมา แน่นอนว่า ในบางฉากผมเองก็อยากให้มีเงินมากกว่านี้ เพื่อทำมันให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ แต่มันไม่ใช่ประเด็นไง สิ่งสำคัญคือการถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ในหัวคุณออกมา แน่นอนว่ามันมีบางฉากใน Geomon เอง ที่ผมอยากได้เงินมากกว่านี้เช่นกัน แต่กับ Geomon ผมสามารถพูดได้อย่างเต็มปากเลยว่า ไม่มีคนทำหนังคนใดในญี่ปุ่นที่ทำหนังในสเกลขนาดนี้ได้... ยกเว้น(อากิระ) คุโรซาว่าคนนึงก็แล้วกัน แต่เราใช้เทคโนโลยีดิจิตัล และ CGI แน่นอนว่ามันดูเป็น CGI อยู่แล้ว แต่ก็โอเค ก็มันเป็น CGI นี่ (หัวเราะ)

ภาณุ: คุณไม่อยากทำ CGI ให้ดูเหมือนจริงหรือ?
คิริยะ: ถ้าคุณอยากดูอะไรแบบนั้น คุณไปดู Alexander ไปดู Troy ไม่ดีกว่าเหรอ? ใช่ไหม! เราอยากทำอะไรที่แตกต่าง อะไรที่ใหม่ ด้วยเงินที่น้อยกว่า แน่นอนว่าเราก็มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ประเทศไทยเองก็น่าจะเป็นเหมือนกัน เราคงไม่สามารถใช้เงิน 100 ล้าน ดอลล่าร์ มาทำหนังสักเรื่องได้ และผมรู้ว่าคนทำหนังรุ่นหลังๆ หรือผู้กำกับส่วนใหญ่มักจะใช้มันเป็นข้ออ้างที่จะไม่ลองอะไรใหม่ๆ เรามีเงินไม่พอจะที่ทำอย่างโน้น เราเงินไม่พอจะที่จะทำอย่างงี้ มันแพงเกินไป อย่าคิดแบบนั้น! ลองทำดูก่อนสิ เฮ้! แล้วถ้าต่อไปมีเงินมากกว่านี้ เราค่อยทำอะไรที่มันแพงๆ ทีหลัง (หัวเราะ) เราต้องลองพยายามที่จะทำในสิ่งที่เราเชื่อ ในสิ่งที่เราคิดออกมาให้ได้ โดยไม่ประนีประนอม โดยไม่มัวแต่พูดว่าเรามีเงินไม่พอ ทำไมเราจะทำไม่ได้ล่ะ เออ! มันดูเป็น CGI ดูไม่สมจริง แล้วไง? แอนิเมชั่นก็ดูไม่เหมือนจริง!

ภาณุ: แต่คนส่วนใหญ่มักจะวิพากษ์วิจารณ์หนังแนวนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังเรื่องที่ผ่านมาของคุณว่า มันไม่มีเนื้อหา หรือว่าดูไม่รู้เรื่อง
คิริยะ: เรื่องไหนล่ะ Casshern เหรอ ถ้าเป็น Casshern ผมก็ยอมรับว่ามันเข้าใจยาก (หัวเราะ) เพราะผมตั้งใจทำมันให้ออกมาเป็นแบบนั้น เพราะผมชอบ สแตนลีย์ คูบริก ผมชอบ เดวิด ลินซ์ ผมชอบคนทำหนังที่ท้าทายผม นั่นคือความแตกต่าง ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ชอบดูหนังที่เขาไม่ต้องคิดอะไร ดูเอาสนุก เอาขำ ดูแล้วหัวเราะ ฮ่าๆๆ (ตบมือฉาด) แต่ผมไม่ได้โตมากับหนังแบบนั้น ผมโตมากับหนังของ ลาร์ วอน ทเรียร์, เดวิด ลินซ์, ปีเตอร์ กรีนอะเวย์, หนังของ (เฟรเดอริโก) เฟลินี ซึ่งดูไม่รู้เรื่อง! เราหาเหตุผลกับมันไม่ได้! จริงไหม? แต่มันติดตัวคุณ มันติดตัวผมไป เหมือนกับ ‘2001 Space Odyssey’ ตอนที่ผมดูตอนแรก ผมก็ดูไม่รู้เรื่อง แต่มันติดตัวผมมา ผมจำมันได้จนทุกวันนี้ ‘Apocalypses Now’ ก็จบแบบไม่มีเหตุผล แต่มันฝังอยู่ในหัวผมมาจนทุกวันนี้

ภาณุ: แสดงว่าคุณให้ความสำคัญกับงานด้านภาพ มากกว่าเรื่องราวของหนัง?
คิริยะ: ไม่! นั่นไม่จริงเลย! โอเค เรามามองกันแบบนี้ดีกว่า ว่าทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องราวด้วยล่ะ ทำไม? ใครกำหนดไว้เหรอ? ใครบอก? เราทำงานศิลปะ! ผมคิดอย่างนั้น ผมคิดว่าคนเรามักจะยึดติดมากเกิน ไป ยึดติดอยู่กับ สิ่งที่หนังควรจะต้องเป็น หนังต้องเป็นอย่างงั้น หนังต้องเป็นอย่างงี้ ใครบอกกันล่ะ? แบบเดียวกันกับที่บอกว่า คุณเป็นคนไทย คนไทยต้องเป็นอย่างงั้น คุณเป็นคนญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นต้องเป็นอย่างงี้ เราทำงานศิลปะ! (เน้นเสียง) เราต้องเป็นอิสระ! นั่นเป็นสิ่งที่ผมคิด ตอนที่ผมทำ Casshern เสร็จออกมาใหม่ๆ บางคนบอกว่า “โอ พระเจ้า! มันเป็นหนังที่ห่วยที่สุด ดูไม่รู้เรื่องเลย” แต่บางคนบอกว่า “มันเป็นหนังที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยดูมา!” แต่มันก็แค่นั้นน่ะ ว่าไหม? ผมคิดว่าทุกวันนี้ คนทำหนังส่วนใหญ่พยายามจะเอาใจทุกคน พวกเขาพยายามจะทำหนังที่ทุกคนชอบ แต่คุณจำหนังแบบนั้นได้ไหม? ตอนดูคุณอาจจะสนุก ขำ ชอบ แต่หลังจากผ่านไปแล้ว 5 ปี 10 ปี คุณก็ลืมมันหมด คุณจำมันไม่ได้แล้ว ผมไม่อยากทำหนังแบบนั้น

ภาณุ: ผมเคยได้ยินมาว่าตอนที่คุณทำ Casshern คุณบอกว่าคุณอยากมีเงินและเวลามากกว่านี้ ถ้าเปรียบเทียบกับตอนทำ Goemon ล่ะ มันถึงจุดที่คุณพอใจแล้วหรือยัง
คิริยะ: โอย! ผมก็อยากมีเงินและมีเวลามากกว่า นี้เหมือนกันนั่นแหละ (หัวเราะลั่น) มันไม่เคยพอหรอก เพราะในเรื่องแบบนี้ เรามีฉาก CGI ถึง 2,000 กว่าช็อต มากกว่า Star wars เสียอีก (หัวเราะ) ด้วยงบประมาณที่จำกัดจำเขี่ย ผมอยากมีเงินมากกว่านี้ แต่ผมคิดว่าคนอื่นก็คิดแบบนั้นเหมือนกัน แต่ผมจะทำอะไรได้ล่ะ ชีวิตมันก็เป็นอย่างงี้แหละ

ภาณุ: ถ้าอย่างนั้นแล้ว คุณพอใจกับผลงานที่ออกมามากน้อยแค่ไหน?
คิริยะ: พอใจมากๆ ผมหวังว่าพวกคุณคงจะได้ดูกัน มันน่าจะดูรู้เรื่องกว่า Casshern นะ (หัวเราะ) และผมคิดว่าเรื่องราวมันค่อนข้างเป็นสากลนะ ไม่ว่าคนชาติไหนๆ ก็น่าจะสามารถจะเข้าใจมันได้ ผมพอใจกับมันมากๆ ถึงผมอยากจะมีเงินทำมันมากกว่านี้ก็เหอะ (หัวเราะ)

ภาณุ: เรียกได้ว่าคุณเป็นผู้กำกับคนแรกๆ ในญี่ปุ่นที่ทำหนังด้วยการให้นักแสดงเล่นอยู่บลูสกรีนเกือบทั้งเรื่อง มันเป็นการยากไหมสำหรับนักแสดง ที่จะแสดงอะไรบนพื้นฐานของความว่างเปล่าแบบนั้น?
คิริยะ: คุณรู้ไหมว่ามันเป็นสิ่งที่คนทั่วไปคิด และเป็นสิ่งที่นักแสดงส่วนใหญ่คิดก่อนที่เขาจะได้ลองมาเล่น มันไม่จริงเลย เพราะมันเหมือนกับอุปรากร หรือละครเวที ใช่ไหม? นักแสดงอยู่บนเวทีแล้วจินตนาการว่ามันมีดวงจันทร์ มีปราสาท คุณเคยฝึกฝนสิ่งเหล่านี้อยู่หน้ากระจก เพราะฉะนั้น นักแสดงตัวจริงไม่มีปัญหากับสิ่งเหล่านี้ นักแสดงบางคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์อาจจะมีปัญหา ผมจำได้ว่า ครั้งแรกที่ผมทำ Casshern นักแสดงหลายคนเคยผ่านหนังของคุโรซาว่ามาแล้วทั้งนั้น พวกเขาไม่มีปัญหาเลย พวกเขาเป็นนักแสดงชั้นดี นักแสดงที่ดีสามารถแสดงที่ไหนก็ได้ คุณบอกพวกเขาว่า ตอนนี้พวกคุณอยู่ในทะเล อยู่บนเรือไททานิก ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เขาก็ทำได้ ถ้าคุณไปบอกนักแสดงอ่อนประสบการณ์ พวกเขาก็จะบอกว่า ไม่ได้หรอก ผมต้องสัมผัสน้ำทะเล ต้องได้กลิ่นทะเล ผมต้องสัมผัสเรือ... (หัวเราะ) ผมมักจะทำงานกับนักแสดงชั้นเยี่ยม ผมเลยไม่เจอปัญหาแบบนั้น

ภาณุ: ถ้าให้คุณเปรียบเทียบระหว่าง CGI ในหนังของคุณ กับ CGI ในหนังฮอลลีวูดล่ะ มันแตกต่างกันอย่างไร
คิริยะ: แน่นอน เขามีเงินมากกว่า Transformers ใช้เงิน 300 ล้าน ดอลล่าร์ Goemon ใช้ไป เท่าไรน้า... 9 ล้าน ดอลล่าร์ CGI มันเหมือนรถสูตร1 (Fomular1) น่ะ ยิ่งคุณมีเงินมากเท่าไหร่ รถยิ่งเร็วมากเท่านั้น แปลง่ายๆ ว่า คุณซื้อคอมพิวเตอร์ได้มากเครื่องแค่ไหน คุณก็ทำ CGI ได้ดีเท่านั้น

ภาณุ: แต่ถึงแม้จะมีเงินเท่าๆ กัน แต่งาน CGI ของคุณ กับฮอลลีวูดก็ไม่น่าจะเหมือนกันนะ คุณว่าไหม?
คิริยะ: ก็แล้วแต่ เอาอย่างงี้ก็แล้วกัน บริษัทของเรา พยายามนำเสนอมันออกมาด้วยสไตล์ แต่ฮอลลีวูดพยายามทำออกมาให้เหมือนจริงที่สุด งานอย่าง Sin City หรือ 300 นั่นคือการใช้สไตล์ ใช่ไหม? แต่ Transformers พวกเขาพยายามทำออกมาให้เหมือนจริงที่สุด หุ่นยนต์พวกนั้นมันอยู่ตรงหน้า คุณ คุณแทบจะจับต้องมันได้เลย สำหรับผม ผมบอกคนดูเสมอ ว่านี่คือ CGI นี่คือ แอนิเมชั่น ดูซะ! ไม่มีใครตำหนิว่างานของ ฮายาโอะ มิยาซากิ (จิบลิสตูดิโอ) ดูไม่สมจริง ใช่ไหม? Spirited Away, Princess Monoke ดูไม่สมจริงหรือเปล่า ใครแคร์?

ภาณุ: แล้วคุณชอบแบบไหนมากกว่ากันล่ะ แบบสมจริง หรือแบบเปี่ยมสไตล์?
คิริยะ: รู้ไหม ผมไม่แคร์ ผมไม่ตัดสินใคร มันไม่ใช่เรื่องชอบหรือไม่ชอบ ถ้าถามว่าผมชอบหนังเรื่องนี้เรื่องนั้นไหม ผมตอบได้ ว่าผมชอบหนังเรื่องนี้ ไม่ชอบเรื่องนั้น แต่ถามว่าผมชอบรายละเอียดปลีกย่อยของมันไหม ผมชอบ CGI ของมันไหม ผมไม่แคร์ CGI มักจะเป็นสิ่งที่ถูกจับผิดอยู่เสมอ ถ้าคุณดู Apocalypses Now ดู The Godfather ไม่มีใครมานั่งบอกว่า หนังเรื่องนี้ถ่ายภาพไม่สมจริง แสงมันปลอมว่ะ ไม่มีใครพูดแบบนั้น ไม่มีใครมานั่งแคร์ แต่ในขณะเดียวกัน CGI เป็นสิ่งเดียวที่คนมักจะจับผิด ดู Titanic สิ ถ้าคุณเอามาดูตอนนี้ CGI ในเรื่องนี่ห่วย มาก ดูปลอมมาก แต่มีใครแคร์ไหม โอเค คุณดู Transformers ตอนนี้ คุณร้อง ว้าว! แต่ถ้าผ่านไป 10 ปี คุณกลับมาดูมันอีก มันก็คงห่วยเหมือนกันแหละ (หัวเราะ) Star wars ก็เหมือนกัน คุณจำครั้งแรกที่ดู Star wars ไม่ได้เหรอ คุณก็ ว๊าว! ลองเอามาดูตอนนี้สิ อะไรวะเนี่ย! (หัวเราะ) แต่มันไม่ใช่ประเด็นไง ไม่มีใครจับผิดก็อตซิลล่า ก็อตซิลล่านี่ก็โคตรปลอมเลย

ภาณุ: ก็อตซิลล่าญี่ปุ่น?
คิริยะ: ใช่ ก็อตซิลล่าญี่ปุ่น (หัวเราะ) โคตรปลอมเลย ใครแคร์ล่ะ คนดูหนังในปัจจุบันมัวแต่ให้ความสำคัญกับประเด็นที่ว่าอะไรจริงอะไรไม่จริงกันมากเกินไป ผมคิดว่ามันค่อนข้างอันตรายนะ เพราะมันจะจำกัดความคิดของคุณ มันทำให้คุณไม่เป็นอิสระ ผมคิดว่าหนังหรือภาพยนตร์ควรจะเป็นสื่อที่ทำให้คนดูเป็นอิสระมากๆ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมในปัจจุบันถึงไม่มีหนังอย่าง 8 1/2 หรือ La dolce vita ของเฟลลินี เราไม่มีหนังแบบนี้ให้ดูกันอีกแล้ว เราไม่มีหนังอย่าง 1984 หรือ Brazil ของ เทอรี่ กิลเลี่ยมส์ อีกแล้ว เพราะคนดูหนังมัวแต่ไปสนใจว่า อะไรจริง อะไรไม่จริง ดูรู้เรื่องไหม มีองค์ที่ 1 องค์ที่ 2, 3, 4 ไหม เป็นหนังแนวอะไร หนังตลก หนังแอ๊กชั่น แล้ว Brazil เป็นหนังแนวอะไรล่ะ 8 ½ เป็นหนังแนวอะไร ไม่มีใครบอกได้ แล้ว Citizen Kane ล่ะ คุณจำแนกแจกแจงมันไม่ได้ ว่าไหม? คนสมัยนี้ชอบจำกัดตัวเอง กังวลมากเกินไป กังวลกันเอง กังวลกับตลาด ภาพยนตร์นะ ไม่ใช่ตลาดหุ้น (หัวเราะ)

ภาณุ: แล้วคุณไม่แคร์ตลาดเหรอ
คิริยะ: การทำหนังมันใช้เงินมหาศาล คุณต้องทำให้คนลงทุนได้เงินกลับคืนไปบ้าง แน่นอนว่าผมคิดถึงตลาดเหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตามผมพยายามที่จะไม่ตกลงไปในวังวนของการตลาด นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม Casshern ถึงเป็นแบบนั้น มันไม่เหมือนกับ Spiderman หรือ Superman มันแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง นั่นเป็นเหตุผลที่ทำไมบางคนบอกว่า ดูไม่รู้เรื่อง บ้าบอ แต่ในขณะเดียวกันก็มีบางคนร้อง ว๊าว! เคยมีคนบอกกับผมว่า “หนังของคุณเปลี่ยนชีวิตผม” จะมีสักกี่ครั้งเชียว ที่คุณจะได้ยินคำพูดแบบนี้ ที่ผลงานของคุณ เปลี่ยนชีวิตของใครบางคนได้ ซึ่งผมคิดว่ามันคงไม่เกิดขึ้นกับ Goemon หรอก (หัวเราะ) เรื่องนี้มันเป็นหนังที่เอนเตอร์ เทนคนดูมากๆ เลยล่ะ คุณอยากดูอะไรสนุกๆ กัน เอ้า! จัดให้ ไปดูซะ! (หัวเราะ) ไม่รู้สิ ผมคิดว่าคนสมัยนี้... กับดนตรีก็เหมือนกัน ต้องมีป๊อบ ร็อก ป๊อบร็อก ทุกอย่างต้องจำแนกแจกแจงให้หมด มันอันตรายมากๆ เลย ผมรับเรื่องแบบนี้ไม่ได้ เช่นเดียวกันกับคน ที่เราต้องแบ่งว่า คุณเป็นคนขาว คนดำ คนเอเชีย คนไทย คนญี่ปุ่น คนเกาหลี ใครแคร์ล่ะ!

ภาณุ: พูดถึงดนตรี คุณให้นักดนตรีร็อกชื่อดังของญี่ปุ่นมาทำดนตรีให้กับหนังของคุณด้วยใช่ไหม?
คิริยะ: ใช่ โยชิกิ X Japan เขาเป็นเพื่อนรักของผม เราสนิทกันมาเป็นสิบปีแล้ว และผมขอให้เขาทำเพลงให้ เขาก็โอเค มันเป็นเพลงที่งดงามมากๆ นี่ก็เหมือนกัน คนมักจะคิดว่าเขาเป็นร็อกสตาร์ แต่จริงๆ เขาเป็นนักดนตรีคลาสสิกที่มีฝีมือคนหนึ่ง เขาแต่งคอนแชร์โต้ แต่งออร์เคสตร้า ไม่ต่างกันเลยใช่ไหม

ภาณุ: หลังจากเสร็จหนังเรื่องนี้แล้ว ได้ข่าวว่าคุณมีโครงการที่จะไปทำหนังในฮอลลีวูด?
คิริยะ: ใช่ ก่อนหน้านี้เคยผมไปอยู่ ฮอลลีวูดมา 4-5 ปี

ภาณุ: เล่าให้เราฟังบ้างได้ไหม?
คิริยะ: ผมเล่าไม่ได้จริงๆ บอกได้แค่ว่ามันเป็นโปรเจ็กต์ที่ใหญ่มากๆ และแตกต่างจากสิ่งที่ผมเคยทำมาก่อนหน้านี้ทั้งหมด ก็หวังว่าจะได้ทำออกมา แต่ตอนนี้ยังอยู่ในระหว่างหาทุนอยู่ (หัวเราะ)

ภาณุ: มันจะเป็นหนังโปรดักชั่นใหญ่โตแบบฮอลลีวู้ด ฮอลลีวูดเลยไหม?
คิริยะ: ใช่ แต่ก็อีกล่ะ มันก็จะแตกต่างจากหนังฮอลีวูดทั่วๆ ไปแน่นอน เป็นอะไรที่ใหม่ และผมเดาว่าคงจะมีคนหัวเสียกับผมอีกแน่ๆ (หัวเราะ)

ภาณุ: ผู้กำกับหลายคนจากฝั่งยุโรป ละตินอเมริกา หรือแม้กระทั่งเอเชีย หลายคนได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในฮอลลีวูด แต่ก็เสียความเป็นตัวของตัวเองไป คุณไม่กลัวหรือ?
คิริยะ: อืม... ผมเข้าใจพวกเขา แต่ผมไม่คิดว่ามันเลวร้ายนะ ดูอย่าง จอห์น วู สิ เขาทำหนังฮ่องกงดีๆ มาก่อนหน้ามากมาย แล้วต่อมาก็ได้ทำหนังกับ ฌอง คล๊อด แวน แดมม์ (Broken Arrow) หรือทำ Face Off ในฮอลลีวูด หลายๆ คนอาจร้องยี้ แต่เพราะอย่างนั้น เขาเลยได้ทำ Red Cliff ในตอนนี้ไง คุณเข้าใจที่ผมพูดไหม ถ้าเขายังอยู่ในฮ่องกงตอนนี้ คงไม่มีทางที่เขาจะได้ทำหนังระดับ Red Cliff แน่ๆ มันเป็นวิบากกรรมของคนทำหนังน่ะคุณ เพราะคุณต้องใช้เงินมหาศาลในการทำหนังสักเรื่องหนึ่ง เสร็จแล้วยังต้องใช้เงินอีกมหาศาลในการโปรโมทและทำการตลาด (หัวเราะแค่นๆ) และการจะทำอย่างงั้นคุณก็ต้องเข้าไปในวงจรอุบาทว์นั้น มันโอเค ถ้าคุณทำหนังเล็กๆ หนังอินดี้ คุณก็ไม่ต้องไปเจออะไรแบบนั้น แต่ถ้าคุณทำหนังใหญ่ๆ มันก็เป็นสิ่งที่คุณต้องเจอ และแน่นอนว่าในการนั้น คุณต้องประนีประนอม คุณต้องตามใจสตูดิโอ แต่ในท้ายที่สุด คนทำหนังทุกคนอยากทำหนัง ‘หนึ่งเดี่ยว’ ของตัวเองทั้งนั้น หนังอย่าง Apocalypses Now หนังอย่าง 2001 Space Odyssey หนังอย่าง The Red Cliff ใช่ไหม นั่นเป็นสิ่งที่ผมรู้สึก แต่ก็นะ หนังเรื่องต่อไปของผมมันก็เป็นอะไรที่แตกต่างมากๆ มันไม่ใช่หนังสตูดิโอแน่ๆ

ภาณุ: แล้วเราจะได้ดูกันเมื่อไหร่ล่ะ?
คิริยะ: โอ พระเจ้า! มันต้องใช้เงินมหาศาลมาก ผมอยากบอกว่าปีหน้า (หัวเราะ) ไม่รู้สิ ผมบอกไม่ได้ แต่มันก็เป็นอะไรที่น่าท้าทาย ถ้าผมยังอยู่แต่ในญี่ปุ่นก็เหมือนกับถ้าจอห์น วู จะอยู่แต่ในฮ่องกงนั่นแหละ แต่ผมต้องการอะไรที่ใหญ่กว่านี้ ดีกว่านี้ เพราะแม้แต่กับ Goemon มันก็ยังมีข้อจำกัด ด้วยงบประมาณที่ผมมี ผมคงทำได้ดีที่สุดแค่นี้ ผมคงไม่สามารถไปได้ไกลกว่านี้ ผมทำในสิ่งที่ผมต้องทำ

ภาณุ: ย้อนกลับมาเรื่อง CGI หนังทั้งสองเรื่องของคุณนี่ ทุกอย่างสร้างขึ้นจาก CGI หมดเลยหรือเปล่า?
คิริยะ: ไม่ๆ ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ เราสร้างฉากขึ้นมา แต่บางครั้งเราก็สร้างแค่พื้น กำแพง นอกเหนือไปจากนั้นก็เป็น CGI หมดเลย บางครั้งเราก็สร้างฉากจริงขึ้นทั้งหมด แต่บางครั้งก็มีแต่กรีนสกรีนทั้งหมด ไม่มีอะไรเลย มันก็เป็นการถ่วงดุลน่ะนะ เพราะบางคนคิดว่าถ้าเป็นหนังของผมก็ต้องเป็น CGI ทั้งหมด แต่มันไม่ใช่ ไปดูแล้วจะรู้เอง (หัวเราะ)

ภาณุ: คุณมีทีมงานในบริษัทกี่คน?
คิริยะ: 50 คน เราทำทุกขั้นตอนในบริษัทเรา และผมเป็นคนตัดต่อขั้นตอนสุดท้าย

ภาณุ: คุณเป็นคนตัดต่อเอง?
คิริยะ: แน่นอน ผมตัดต่อเอง ผมถ่ายภาพเอง และผมปรับสีทุกเฟรมด้วยตัวเอง โอย! มันใช้เวลานานแทบจะชั่วนิรันดร์เลย (หัวเราะ) มันทำให้คุณบ้าได้เลยแหละ... ผมแอบเล่นอยู่ในหนังด้วย 5 วินาที (หัวเราะ)

ภาณุ: แล้วคุณเล่นเป็นใคร?
คิริยะ: ผมเล่นเป็น มิตซูฮิเดะ อาเคจิ ออกมาแค่ 5 วินาทีเท่านั้น (หัวเราะ) เหตุผลที่ผมต้องเข้าไปเล่นเพราะคนที่เล่นบทนี้ซึ่งเป็นดาราใหญ่มาก แต่สองวันก่อนถ่ายทำเขากลับถอนตัว เพราะติดคิวอื่น ผมเลยต้องเล่นเองซะเลย แต่มันสั้นมากจนคนคงไม่สังเกตเห็นหรอก ถ้าคุณไปดูก็หวังว่าคุณจะหาผมเจอนะ (หัวเราะ)

ภาณุ: คุณเคยดูหนัง CGI ของเมืองไทยบ้างไหม มีผู้กำกับไทยที่เก่ง CGI อยู่หลายคนเหมือนกันนะครับ
คิริยะ: ไม่เคยนะ แต่ผมเคยไปเยี่ยม CGI สตูดิโอในเมืองไทย ผมคิดว่าคนไทยมีความสามารถเท่าเทียมหรือมากกว่าประเทศในเอเชียอื่นๆ โดยไม่ต้องอาศัยเงินที่มากมาย ผมคิดว่างั้นนะ ผมมองเห็นอนาคตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในภูมิภาคเอเชียของเรา อีกอย่างประเทศไทยเองก็เป็นโลเคชั่นที่ดีมากๆ สำหรับการถ่ายหนัง

ภาณุ: เท่าที่ผ่านมาคุณทำหนังแค่สองเรื่องเองนะ ค่อนข้างน้อย ถ้าเทียบกับระยะเวลา
คิริยะ: จริง ผมใช้เวลาทำหนัง 5 ปี ต่อเรื่อง ไม่ดีเลยนะ (หัวเราะ) ผมเองก็อยากทำให้มากกว่านี้ อาจจะเป็นสองเรื่องต่อปี (หัวเราะ)

ภาณุ: สุดท้ายมีอะไรจะฝากถึงแฟนๆ หนังชาวไทยไหมครับ
คิริยะ: ผมคิดว่าเรื่องราวใน Goemon มันค่อนข้างเป็นสากลมากๆ น่าจะเข้าใจได้ง่าย ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เป็นเรื่องราวการดิ้นรนของคนๆ หนึ่ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นความดิ้นรนของประชาชน ต่ออำนาจกดขี่ของชนชั้นสูง ผมคิดว่าคนไทยกับคนญี่ปุ่นน่าจะมีพื้นเพของความรู้สึกนึกคิดที่คล้ายกัน ผมหวังว่าพวกคุณจะเข้าใจ และชอบมัน ฉากตอนต้นในหนัง ที่เป็นตลาด ผมหยิบเอาความรู้สึกจากตลาดของตลาดในกรุงเทพฯ มาใช้ในหนัง (หัวเราะ) ก็อยากให้ไปดูกันครับ


Create Date : 08 เมษายน 2553
Last Update : 8 เมษายน 2553 11:48:31 น. 0 comments
Counter : 563 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

panueddie
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add panueddie's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com