Movieworm
 
Inception กับ Lucid Dream ในฝันฉันรู้ตัวว่าฝัน

https://www.youtube.com/watch?v=66TuSJo4dZM

คำเตือน : บทความนี้ไม่ใช่บทความวิจารณ์หรือแนะนำหนังเรื่อง Inception ใดๆ ทั้งสิ้น หากใครต้องการอ่านอะไรแบบที่ว่า หรืออยากโดนสปอยล์ล่ะก็ ให้ไปหาอ่านที่อื่นโดยพลัน!

หลังจากดูหนังเรื่อง Inception จบลง ทำให้รู้สึกคันไม้คันมืออยากจะเขียนอะไรออกมาเป็นอย่างยิ่ง แต่ด้วยความที่เข้าใจความรู้สึกของคนที่ยังไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้ เหมือนตอนที่ตัวเองยังไม่ได้ดู เลยพาลทำให้ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาต้องท่อง Facbook ด้วยอารมณ์หวาดระแวงพิลึก ก็เลยไม่อยากจะสปอยล์ใครให้เสียอารมณ์

แต่อดไม่ได้ที่จะหยิบยกเอาทฤษฎีที่ไม่ได้ถูกพูดถึงตรงๆ ในหนัง แต่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับเนื้อหา ซึ่งถ้าได้ลองศึกษาดูก่อน อาจสนุกกับหนังเรื่องนี้ขึ้น ไม่มากก็น้อย และรับรองอีกทีว่าไม่สปอยล์ (หรือเปล่าหว่า?)

Inception เป็นหนังที่มีเนื้อหาเกือบทั้งหมดเกี่ยวข้องกับความฝัน (อันนี้บอกได้ เพราะเห็นอยู่ว่าบอกกันโทงๆ ในตัวอย่างหนัง) ซึ่งเรื่องราวในหนังมีความคล้ายคลึงและเกี่ยวพันกับทฤษฎีความฝันอันหนึ่งที่ผู้เขียนเคยศึกษามา นั่นคือ

ทฤษฎี ‘ฝันลูซิด’ หรือ ‘Lucid Dream’

ก่อนที่จะพูดเรื่องฝันลูซิด ขอเกริ่นถึงทฤษฎีความฝันโดยทั่วๆ ไปก่อนก็แล้วกัน

เดิมที ตั้งแต่โบราณกาลมา ความฝันของคนเรา มักถูกมองในแง่เรื่องเหนือธรรมชาติ บ้างก็มองว่าเป็นนิมิต เป็นการดลบันดาลใจจากเทพยดาหรือภูตผีปิศาจ จนกระทั่งมีการมาถึงของวิทยาศาสตร์ ที่วิเคราะห์ทุกสิ่งทุกอย่างบนพื้นฐานของหลักการและเหตุผล ความฝันจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาวิเคราะห์เช่นกัน

การวิเคราะห์ศึกษาเกี่ยวกับความฝันขึ้นมาอยู่ในจุดพีคและตื่นตัวที่สุดในยุคของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ บิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์ชาวออสเตรียเชื้อสายยิว

ฟรอยด์ เชื่อว่า ความฝัน คือการแสดงออกของจิตใต้สำนึก พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าคนๆ หนึ่ง มีความอยากหรือความต้องการที่จะทำอะไร แล้วความต้องการนั้นไม่ได้รับการตอบสนองหรือไม่อาจทำสิ่งนั้นได้ในชีวิตจริง ความต้องการนั้นก็ยังไม่ได้หายไปไหน แต่มันจะถูกเก็บไว้ในจิตใต้สำนึก และถูกปลดปล่อยออกมาโดยการฝัน แต่ ฟรอยด์ ยังโยงต่อไปอีกว่า โดยแท้จริงแล้ว ความฝันมีความเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออกกับแรงขับทางเพศ ดังนั้น ความฝัน จึงเป็นการชดเชยความต้องการทางเพศดีๆ นี่เอง

แต่ทฤษฎีนี้ก็ถูกนักจิตวิเคราะห์รุ่นหลังมองว่าไม่ถูกต้องทั้งหมด อาทิ คาร์ล จุง ลูกศิษย์ของฟรอยด์เอง ที่คิดในหลักการเดียวกับฟรอยด์ แต่ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นเรื่องเพศเพียงอย่างเดียว แต่ความฝันก็เป็นการเติมเต็มความปรารถนาบางส่วนที่ขาดหายไปในชีวิตจริง เพื่อสร้างความสมดุลทางจิตใจ หรือ แอดเลอร์ ลูกศิษย์อีกคนของฟรอยด์ ที่มองว่าความฝัน เป็นความต่อเนื่องของอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของคนตอนตื่นที่กลายไปเป็นความฝันต่อตอนนอนหลับมากกว่า หรือจะเป็นทฤษฎีความฝันในยุคหลังๆ ที่มองการทำงานของความฝัน ในแง่สรีระวิทยามากกว่าจะเป็นจิตใต้สำนึกว่า ความฝัน น่าเป็นผลจากการทำงานของสมองในการดึงเอาความทรงจำตกค้างกลับมาถ่ายทอดใหม่

ลักษณะของความฝันแบบต่างๆ ในหนัง Inception นั้น ดูจะเป็นการรวบรวมเอาทฤษฎีเหล่านี้มาผูกโยงร้อยเรียงเป็นเรื่องราว แต่โดยหลักๆ จะเป็นการนำเอาทฤษฏีจิตวิเคราะห์เกี่ยวกับความฝันของฟรอยด์ รวมถึงคาร์ล จุง มาใช้เสียมาก ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวมีข้อสรุปเกี่ยวกับความฝันที่ว่า

ความฝัน คือรูปแบบความปรารถนาซึ่งไม่ได้บรรลุที่ถูกเก็บ กด ซ่อน เอาไว้ในจิตใต้สำนึก จะเนื่องด้วยสภาพสังคม ค่านิยม กฎหมาย ศีลธรรม จริยธรรม หรืออะไรก็ตามแต่ เมื่อจิตสำนึกอ่อนแรงลงขณะที่เราหลับ ความปรารถนาเหล่านั้นก็จะฉวยโอกาสระบายออกมาในรูปแบบของความฝัน (แต่ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าความปรารถนาเหล่านั้นจะได้รับการบรรลุและหายไปได้ มันเพียงแต่บรรเทาลงชั่วคราว อุปมาด้วยสำนวนของฟรอยด์ก็คือ “การกวาดเศษแก้วที่แตกเอาไปซุกไว้ใต้พรม” ซึ่งหากความปรารถนานี้ไม่ได้รับการตอบสนองในชีวิตจริง มันก็จะกลายเป็นบางสิ่งบางอย่างที่ตกค้างในจิตใจและกลายเป็นความไม่สบายใจไปจนถึงความป่วยไข้ทางจิตในที่สุด เหมือนกับเศษแก้วที่รอวันที่จะแทงทะลุพรมออกมา อาการป่วยทางจิตที่เรียกว่า 'ฮิสทีเรีย' เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนอันหนึ่งของกรณีนี้ (ฮิสทีเรีย ไม่ใช่อาการเสพติดเซ็กส์ แต่เป็นอาการป่วยทางจิตรูปแบบหนึ่ง อ่านเกี่ยวกับ ฮิสทีเรียได้ที่ Link : //women.thaiza.com/detail_92636.html)

ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ถ้าท้องเราหิวตอนนอนหลับ เราอาจจะฝันว่าเราได้กินอาหารมื้อใหญ่ แต่ในความเป็นจริงเมื่อเราตื่นขึ้นมา เราก็หิวอยู่ดีนั่นแหละ แต่ในทางกลับกัน ถ้าการระบายความปรารถนานั้นมีส่วนที่เชื่อมโยงกับการตอบสนองบางอย่างที่ร่างกายเราสามารถกระทำได้แบบอัตโนมัติ ร่างกายเราก็จะทำสิ่งนั้นออกไปโดยที่เราไม่รู้ตัว อาทิเช่น ถ้าหากตอนนอนหลับเราปวดฉี่ เราก็มักจะฝันว่าเรากำลังฉี่อยู่ หรือหากเรากำลังมีความอัดอั้นทางเพศที่ไม่ได้ระบาย เราก็อาจจะฝันว่าเรากำลังมีเซ็กส์กับใครอย่างเมามัน แล้วในที่สุดเราอาจพบว่าตัวเองตื่นขึ้นมาพร้อมกับเป้ากางเกงและที่นอนที่เปียกโชก (กันไปคนละแบบ อิอิ) นั่นคือที่มาของการ ‘ฉี่รดที่นอน’ และ ‘ฝันเปียก’ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับเด็กๆ และวัยรุ่น ตามลำดับ

ที่นี้ มันน่าสนุกตรงที่ว่า เมื่อเราโตขึ้น มีความรู้ผิดชอบชั่วดี รู้อับรู้อายเพิ่มขึ้นตามขนบ จารีต หรือกฏระเบียบของสังคมทั่วๆ ไป หรือถ้าพูดในภาษาของฟรอยด์ก็คือ เรามี ซูเปอร์อีโก้* มากขึ้น เราก็มักจะคิดว่าการฉี่รดที่นอนและการฝันเปียกเป็นสิ่งเลวร้ายและน่าอับอาย นานๆ ไป จิตสำนึกของเราก็จะสร้างกลไกป้องกันการเชื่อมโยงอันนั้นเสีย (ซึ่งกลไกการป้องกันอันนี้มีปรากฏอยู่ในหนังด้วย)
ซูเปอร์อีโก้* ดู Link : //dit.dru.ac.th/home/023/human/05.htm

ลองสังเกตกันดูดีๆ ว่า หากใครฝันว่ากำลังฉี่ การฉี่นั้นมักจะไม่จบไม่สิ้น หรือฉี่ยังไงก็ไม่สุด จนกระทั่งเราต้องตื่นขึ้นมาฉี่จริงๆ หรือถ้าหากเรากำลังฝันว่ามีเซ็กส์ การมีเซ็กส์ในความฝันของเราก็มักจะไม่ถึงจุดสุดยอด (Orgasm) (โดยมาก กรณีนี้มักจะเป็นกับผู้ชาย ซึ่งการถึงจุดสุดยอดทางเพศจะขึ้นอยู่กับการเคลื่อนตัวของน้ำอสุจิ หรือเรียกง่ายๆ ว่าการหลั่ง) ค้างๆ คาๆ ทุกที (ให้มันได้อย่างงี้สิ!)

ในอีกแง่หนึ่งฟรอยด์เชื่อว่า ในทางตรงกันข้าม ความฝัน ก็เป็นการระบายและลบล้างความรู้สึกผิดบาปของจิตใจของคนนั้นๆ อย่างหนึ่ง ซึ่งแสดงออกมาในรูปแบบของ ฝันร้าย (Nightmare) โดยจะเป็นกลไกการลงโทษตัวเองทางจิตใจ (แต่ก็เหมือนอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าเป็นแค่การบรรเทา ไม่อาจลบล้างความรู้สึกผิดบาปให้หายไปจริงๆ ไ้ด้)

ฟรอยด์ยังกล่าวถึงกายภาพของความฝันด้วยว่า

ความฝันมักจะมีลักษณะย่นย่อ (Condensation) มักจะนำเอาของสิ่งหนึ่งมารวมกับสิ่งหนึ่งให้เห็นเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แปลกใหม่ประหลาด เหลวไหล ไร้เหตุผล ดูเหนือจริง ไม่ปะติดปะต่อ,

มีลักษณะสับที่ (Displacement) มักจะนำเอาสิ่งหนึ่งไปวางไว้อีกที่หนึ่งเพื่อหันเหจุดสำคัญหรือเพื่อการปลอมแปลงอำพราง บิดเบือน มักจะอยู่ผิดที่ผิดทาง,

มีลักษณะเป็นสัญลักษณ์ (Symbol) ที่มักจะไม่แสดงออกตรงๆ แต่แสดงถึงสิ่งของ กิจกรรม หรือบางสิ่งบางอย่างที่ชี้นำไปสู่สิ่งเหล่านั้น เช่นฝันถึง งู อาจหมายถึงเรื่องความปรารถนาทางเพศ ฝันถึงรถไฟ อาจหมายถึงการความอาลัยอาวรณ์และการจากลา ฝันถึงกุญจหรือตู้เซฟ อาจหมายถึงการเก็บงำความลับเอาไว้ในใจ

และมีลักษณะเป็นภาพเรื่องราว (Dramatization) ที่ผิดแปลกไป อาจมีลักษณะเป็นเรื่องราวเหมือนละคร หนัง มีการแสดงบทบาท สีสัน ที่เกินจริงหรือแปลกประหลาดไปบ้าง แต่จะไม่เกินจริงเกินไปจนผู้ฝันตกใจตื่นเสียก่อน

ซึ่งลักษณะทางกายภาพของความฝันเหล่านี้ เรามักเรียกมันว่า พาราด็อกซ์ (Paradox) (ซึ่งจุดนี้จะไม่ขออธิบาย เพราะมีคำอธิบายอยู่ในหนัง และเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของปริศนาในหนัง ดูแล้วจะรู้เอง)


ที่นี้มาถึงส่วนสำคัญแล้ว หลังจากเกริ่นมาเสียยาว นั่นก็คือลักษณะของความฝันที่เกี่ยวข้องและเป็นหัวใจหลักของหนังเรื่องนี้โดยตรง (แต่เข้าใจว่าไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในหนัง) นั่นก็คือ ‘ฝันลูซิด’ หรือ ‘Lucid Dream’ (ในที่นี้จะขอใช้คำว่า Lucid Dream)

Lucid Dream คืออะไร?

ถ้าจะให้ความหมายง่ายๆ ของความฝันลักษณะนี้ก็คือ “ความฝันที่ผู้ฝันรู้ว่าตัวเองกำลังฝันอยู่” (งงไหม?) คนที่กำลังฝันแบบลูซิด นอกจากจะรับรู้ว่าตัวเองกำลังอยู่ในความฝันแล้ว ยังสามารถมีส่วนร่วม จัดการ สร้างสรรค์ และเนรมิตสภาพแวดล้อมและเรื่องราวในความฝันที่ว่านั้นได้อีกด้วย ความฝันแบบ Lucid Dream จะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างสมจริงหรือแปลกประหลาดแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับสภาวะการรับรู้ของคนที่ฝันอยู่นั้นๆ

อนึ่ง คำว่า Lucid Dream บัญญัติโดยจิตแพทย์และนักเขียนชาวดัชต์ ฟเรดเดอริค แวน เอเดน (Frederik van Eeden 1860–1932) คำว่า Lucid มีความหมายว่า สว่าง, กระจ่าง, ชัดเจน Lucid Dream ก็น่าจะแปลว่า ความฝันที่กระจ่างแจ้ง ชัดเจน (ว่ากำลังฝันอยู่)

ความฝันแบบ Lucid Dream ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งที่เราปรารถนาให้เกิดขึ้นในความเป็นจริง (ตามหลักการของฟรอยด์) Lucid Dream มักจะเกิดขึ้นในช่วงที่ร่างกายตกอยู่ในสภาวะหลับลึกที่สุด (R.E.M. - Rapid Eyes Movement จริงๆ ความฝันแบบปกติก็มักจะเกิดขึ้นในช่วงนี้เหมือนกัน) และมักจะเกิดขึ้นในช่วงกลางถึงปลายของความฝัน บางคนที่รู้สึกว่าตัวเองอยู่ในสภาพ Lucid Dream ที่จริงอาจอยู่ในสภาวะหลายชั้นของการฝัน หรือเรียกง่ายๆ ว่าฝันซ้อนฝัน (มีอยู่ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยฝันร้ายมากๆ แต่รู้สึกตัวได้ว่ามันเป็นความฝัน เลยบังคับให้ตัวเองตื่น แต่ดันกลับตื่นมาอยู่ในฝันอีกอันหนึ่ง แล้วก็ตกใจตื่นขึ้นมาอีกที เป็นความรู้สึกที่หลอนเอามากๆ เหมือนวิญญาณหลุดออกจากร่างแล้วกลับเข้าร่างยังไงยังงั้น) ผู้ฝันอาจจะรู้ว่า เรื่องราว เหตุการณ์ ผู้คน และสิ่งที่เขาหรือเธอกำลังประสบพบเจออยู่นั้น มันไม่ใช่ความเป็นจริง หากแต่เป็นความฝัน และในขั้นสูงสุดของ Lucid Dream ผู้ฝันอาจสามารถที่จะควบคุมหรือแม้แต่เนรมิตความฝันนั้นให้เป็นดั่งที่ใจต้องการได้

ปัจจุบัน Lucid Dream ได้ถูกวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งจริงจัง โดยริเริ่มจากที่นักจิตวิทยาอเมริกัน สตีเฟน ลาเบิร์ก (Stephen LaBerge) ที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับ Lucid Dream อย่างลึกซึ้งยาวนาน จนในที่สุดก็ก่อตั้งสถาบัน The Lucidity Institute เพื่อค้นคว้าและพัฒนาเทคนิคที่จะช่วยบำบัดอาการป่วยไข้ทางจิตโดยความฝันหรือที่เรียกกันว่า ‘ฝันบำบัด’ (Lucid Dream Therapy) ในเวลาต่อมา

เทคนิคในการฝึกฝันลูซิดของลาเบิร์กคือ ทำใจให้ปลอดโปร่ง สบาย บอกตัวเองว่าอยากฝันถึงเรื่องอะไร และจดจำไว้จนกระทั่งหลับไป คนที่มีปัญหาก็ตั้งจิตท่องถึงวิธีแก้ไขปัญหาหรือคนช่วย เมื่อพบวิธีทางแก้ไขปัญหาหรือคนช่วยในความฝันนั้น ก็ให้รีบสอบถามและจดจำวิธีแก้ปัญหานั้นไว้ ซึ่งก็จะได้วิธีแก้ปัญหาตามที่ต้องการ การฝึกฝันลูซิดเช่นนี้เป็นการช่วยผ่อนคลายความคับข้องใจ ความกดดัน และความขัดแย้งในชีวิต ลดความเครียด รักษาอาการนอนไม่หลับ เดินละเมอ วิตกจริตฯลฯ แถมยังช่วยให้สนุกสนานผ่อนคลายอีกด้วย

ซึ่งผู้เขียนมีความเชื่อส่วนตัวว่า (ย้ำว่าส่วนตัวนะครับ) หนังล้ำๆ เรื่องล่าสุดของผู้กำกับสุดแนว คริสโตเฟอร์ โนแลน อย่าง Inception เรื่องนี้ มีพื้นฐานจากทฤษฎีความฝันดังที่กล่าวมาข้างต้น และก็หวังว่าถ้าได้อ่านกันจบแล้ว บทความนี้คงจะไม่สปอยล์ (สปอยล์ตรงไหน? พูดถึงหนังแค่ติ๊ดเดียวเอง!) และมีส่วนช่วยให้คนที่ยังไม่ได้ดูหนัง (และยังไม่เคยรู้เรื่องเหล่านี้) ดูหนังได้สนุกและมีอรรถรสขึ้น

ส่วนคนที่ดูหนังแล้ว หรือรู้เรื่องพวกนี้แล้ว ก็ขออภัย(มณี) ที่สะเหล่อเอามาะพร้าวห้าวมาขายสวนนะขอรับกระโผ้มมม



แถมท้าย ฝันแบบ Lucid Dream เองก็ได้ ไม่ยากอย่างที่คิด

ความฝันแบบ Lucid Dream ไม่ใช่พรสวรรค์ ที่ต้องเกิดมาร้อยปีถึงจะมีสักคน แต่เป็นความสามารถที่ใครๆ ก็ฝึกฝนกันได้ ผู้เขียนเองก็ฝึกอยู่ เลยอยากจะเอาเทคนิคในการฝึกฝนการฝันแบบ Lucid Dream อย่างย่อ ที่ไปเจอในอินเตอร์เน็ตมาแชร์ให้อ่านกัน

วิธีฝึกให้เป็น Lucid Dreamer

1.ระหว่างตอนที่กำลังตื่น ลองถามตัวเองว่า “นี่ฉันกำลังฝันอยู่หรือเปล่า?” และลองเช็คดูว่ากำลังตื่นอยู่จริงๆ ไหม ด้วยการฝึกฝนแบบนี้อย่างเพียงพอ คุณจะรู้สึกตัวได้โดยอัตโนมัติเวลาที่คุณกำลังฝันอยู่

2.หมั่นจดบันทึกความฝัน นี่เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งในการฝึก Lucid Dream วางบันทึกไว้ใกล้ๆ ที่ๆ คุณนอนหลับ และจดบันทึกสิ่งที่คุณฝันทันทีที่คุณตื่น หรือใช้อุปกรณ์บันทึกเสียงที่หาได้ง่ายๆ เพื่อบันทึกสิ่งที่คุณจดจำได้จากความฝัน สิ่งนี้จะช่วยคุณในการจดจำองค์ประกอบของความฝันและแยกแยะมันกับความเป็นจริง และช่วยย้ำเตือนสมองของคุณอย่างแข็งขันให้จดจำความฝันของคุณให้ได้ (ก่อนจะนอนครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยตั้งใจเอาไว้ว่าจะจดบันทึกความฝันของตัวเองตอนตื่น จนกระทั่งหลับไปและฝันอย่างเมามันมาก เมื่อตื่นขึ้นมาผู้เขียนก็รีบจดความฝันทั้งหมดนั้นลงในสมุดบันทึกที่วางอยู่ข้างเตียงโดยด่วน สุดท้ายกลับกลายเป็นว่า ที่ผู้เขียนกำลังจดบันทึกความฝันของตัวเองอยู่นั้น มันดันเป็นความฝันไปด้วยน่ะสิ! ป้าดดดดด!)

3.เรียนรู้เวลาที่จะเกิด Lucid Dream โดยหมั่นนอนให้เป็นเวลา (ส่วนใหญ่ช่วงเวลาที่เกิด Lucid Dream จะเป็นช่วงหลับลึก (R.E.M. - Rapid Eyes Movement) ประมาณตีสามถึงตีห้า) หรือสองสามชั่วโมงก่อนที่จะตื่น นั่นหมายความว่าคุณต้องมีเวลานอนเพียงพอที่จะเกิดช่วงหลับลึกคุณถึงจะมี Lucid Dreamได้

4.จากการวิจัย ความฝันครั้งหนึ่งมักจะมีช่วงระยะเวลา 60 นาที ถ้าคุณอยากฝึกให้ตัวเองให้รู้สึกตัวว่ากำลังฝันอยู่ คุณอาจช่วยโดยการตั้งนาฬิกาปลุกหลังจากระยะเวลาที่ว่า (ซึ่งน่าจะเป็นเวลาประมาณตีสี่ครึ่ง หกโมง และเจ็ดโมงครึ่ง) และเมื่อคุณตื่นขึ้นมาแล้วให้พยายามระลึกถึงความฝันนั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เมื่อนึกได้มากที่สุดแล้ว กลับไปนอนต่อโดยจินตนาการว่าคุณกำลังฝันต่อจากที่คุณตื่น แต่ให้เฝ้าบอกตัวเองว่า “ฉันจะรู้ตัวว่าฉันกำลังฝันอยู่” จนกระทั่งมันซึมซับเข้าไปในความคิดคุณ แล้วเข้านอน อย่าเพิ่งท้อ ถ้าทำไม่สำเร็จ ยิ่งคุณพยายามเท่าไหร่ มันยิ่งยากขึ้นเท่านั้น ทำจนเป็นความเคยชิน เดี๋ยวมันจะเกิดขึ้นเอง

5.ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับ Lucid Dream หาข้อมูลเกี่ยวกับ Lucid Dream ในอินเตอร์เน็ต ดูหนังที่เกี่ยวกับ Lucid Dream (อาทิ Abre los Ojos (Open Your Eyes เวอร์ชั่นสเปนนะ) และแน่นอน! 'Inception' !!! อ่านหนังสือเกี่ยวกับมัน พูดง่ายๆ ก็คือหมกมุ่นกับมันนั่นแหละ!


6.กำหนด Totem ของตัวเองในฝัน (อันนี้มีอยู่ในหนัง ไปดูเอาเอง) และหมั่นสำรวจความเป็นจริง เช็คความเป็นจริงอย่างน้อยสามครั้ง หากมีสิ่งผิดปกติธรรมดาบางอย่างเกิดขึ้นกับคุณ สิ่งเหล่านั้นอาจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าคุณกำลังฝันอยู่ หมั่นเช็คความเป็นจริงในขณะที่คุณกำลังตื่นอยู่ สิ่งเหล่านั้นจะเป็นตัวแยกแยะความจริงกับความฝันของคุณ กลับไปอ่านบันทึกความฝันของคุณ สังเกตลักษณะของสิ่งที่อยู่ความฝัน ซึ่งโดยมากจะเป็นสิ่งที่ผิดปกติไปจากความเป็นจริง อาทิ

-ดูนาฬิกา โดยเฉพาะนาฬิกาดิจิตอล ว่ามันเดินอย่างปกติเที่ยงตรงไหม?
-อ่านตัวหนังสือที่เห็น แล้วสังเกตดูว่าพอหันกลับมาอ่านอีกครั้งมันเปลี่ยนไปไหม?
-ลองเปิดปิดสวิตซ์ไฟดู
-มองไปในกระจกเงา (ในความฝัน ภาพสะท้อนของเรามักจะเบลอกว่าความเป็นจริง) แต่ให้ระวัง เพราะภาพในกระจกของคุณอาจบิดเบี้ยวและนำพาฝันที่ว่าให้กลายเป็นฝันร้ายได้
-อุดจมูกแล้วลองหายใจดู ถ้าหายใจออกแสดงว่าฝันอยู่
-มองดูมือของตัวเอง (เวลาฝัน เรามักจะมองเห็นมือเรามีนิ้วน้อย หรือมากไปกว่าปกติ)
-ลองกระโดดดู ในฝัน เรามักจะกระโดดได้สูงมากๆ ลอยตัวได้นานผิดปกติ หรือไม่ก็บินได้เลย
-ลองดัดตัว บิดตัว หรือทำท่าผิดธรรมชาติดู ในความฝัน ร่างกายของเรามักจะยืดหยุ่นได้มากกว่าความเป็นจริง
-ลองหยิก หรือกัดตัวเองดู เราจะไม่รู้สึกเจ็บ (อันนี้ลองสังเกตดูแล้ว ปรากฏว่าไม่จริงครับ ในฝันเรามีความรู้สึกเจ็บ ปวด ร้อน หนาว เพียงแต่ความรู้สึกจะไม่เข้มข้นเท่ากับความเป็นจริง แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมารู้สึกแน่ๆ)
-ลองพิงกำแพงดู ในความฝัน เรามักจะทะลุกำแพงได้

7.ลองหมุนตัวในความฝันดู ถ้าคุณฝันอยู่ คุณจะพบว่า เมื่อคุณหยุดหมุน สถานที่จะเปลี่ยนไปจากก่อนที่จะหมุน

8.ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนแน่วแน่เสมอๆ ก่อนที่จะนอน ว่าอยากจะฝันเรื่องอะไร

9.ฟัง Binaural Beats ว่ากันว่าการฟัง Binaural Beats มักจะทำให้เกิด Lucid Dream อ่านเกี่ยวกับ Binaural Beats ได้ที่ Link //technology.thaiza.com/Digital%20Drugs%20ยาบำบัดบนโลกไซเบอร์_1212_114420_1212_.html (อันนี้ต้องฟังหูไว้หู)

10.เมื่อคุณเริ่มรู้จักรูปแบบของความฝันของคุณแล้ว คุณจะสังเกตเห็น สัญญาณของความฝัน หรือสิ่งที่มักจะปรากฏซ้ำๆ ในความฝันของคุณ และเมื่อคุณจับสังเกตสิ่งเหล่านั้นได้ คุณจะรับรู้ว่าตัวเองกำลังฝันอยู่ และเมื่อนั้น คุณก็อาจจะเริ่มที่จะกำหนดความฝันของคุณได้

อ่านเกี่ยวกับ Lucid Dream และวิธีการฝึกฝน Lucid Dream ได้ที่ Link
//www.wikihow.com/Lucid-Dream

หมายเหตุ : โปรดใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลและนำไปฝึกฝน ทุกอย่างเป็นดาบสองคม สิ่งใดมีคุณอนันต์ ก็ย่อมมีโทษมหันต์ Lucid Dream เองก็เช่นกันครับ

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Lucid Dream และการทำงานของสมองเกี่ยวกับความฝันได้จากหนังสือ 'โลกจิต' ตอน 'ความจริงต่างระดับ' หน้า 225 โดย แทนไท ประเสริฐกุล



แถมท้าย (อีกนิด)

เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ในการฝึกฝันแบบลูซิด, วิธีช่วยแก้ผีอำ, และการนำขุมทรัพย์ในความฝันออกมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง

แปลจาก //www.wikihow.com/Lucid-Dream ประกอบความรู้งูๆ ปลาๆ ของผู้เขียน :-P

จากที่เคยกล่าวถึง Lucid Dream หรือ “ความฝันที่ผู้ฝันรู้ว่าตัวเองกำลังฝันอยู่” ว่าคนที่สามารถฝันแบบลูซิด นอกจากจะรับรู้ว่าตัวเองกำลังอยู่ในความฝันแล้ว ยังสามารถมีส่วนร่วม จัดการ สร้างสรรค์ และเนรมิตสภาพแวดล้อมและเรื่องราวในความฝันที่ว่านั้นได้อีกด้วย ความฝันแบบ Lucid Dream จะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างสมจริงหรือแปลกประหลาดแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับสภาวะการรับรู้ของคนที่ฝันอยู่นั้นๆ และการเป็นนักฝันแบบลูซิด (Lucid Dreamers) ก็ไม่ใช่พรสวรรค์ที่ต้องเกิดมาร้อยปีถึงจะมีสักคน แต่เป็นความสามารถที่ใครๆ ก็ฝึกฝนกันได้ และก็ได้ลงวิธีการเล็กๆ น้อยๆ ในการฝึกฝันลูซิดไปในบทความที่แล้ว คราวนี้จะขอเพิ่มเติ่มเกร็ดเกี่ยวกับความฝันแบบลูซิดและเกร็ดย่อยๆ เกี่ยวกับการเล่นสนุกกับความฝันอีกนิดหน่อยมาให้อ่านเล่นๆ กัน

การฝันแบบลูซิด อาจช่วยในการบำบัดอาการฝันร้ายต่อเนื่อง ในการให้โอกาสผู้ฝันในการควบคุมฝันของตัวเอง หรืออาการนอนไม่หลับ (เพราะฝันสนุกจนอยากนอนหลับ) เดินละเมอ

การบินในความฝันก็น่าสนุกดีเหมือนกัน. อาจเริ่มต้นด้วยการกระโดดให้สูงขึ้นๆ หรือก้าวให้ยาวขึ้นในขณะที่กำลังเดินอยู่ในความฝัน. คุณอาจลองเดินบนกำแพง หรือเพดานดู, (อันนี้ Inception มากๆ) ประสบการณ์การบินในฝันเป็นครั้งแรกอาจดูน่ากลัว ถ้าคุณยังไม่รู้ตัวว่าคุณกำลังฝันอยู่. หลังจากนั้นแล้วหลายๆ คนที่เคยมีประสบการณ์การบินในฝันมักจะรู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่เป็นธรรมชาติและน่าประทับใจเอามากๆ

ถ้าคุณต้องการที่จะฝันถึงบางสิ่งหรือบางคนโดยเฉพาะเจาะจง ก่อนที่จะนอนหลับ ให้คิดถึงคนๆ นั้น หรือสิ่งๆ นั้น โฟกัสไปที่ความรู้สึก สัมผัส รูปร่าง หน้าตา ลักษณะพิเศษ รูป รส กลิ่น เสียง ของสิ่งของหรือคนๆ นั้น สิ่งนี้จะเป็นตัวช่วยให้จิตของคุณเพ่งสมาธิไปที่คนหรือสิ่งของนั้นๆ และมีโอกาสที่ความฝันของคุณจะสะท้อนภาพเหล่านั้นออกมา

ถ้าคุณเกิดฝันซ้อนฝัน การหมั่นตรวจเช็คความเป็นจริงจะช่วยคุณได้มาก ถ้าคุณรู้สึกว่าบางสิ่งบางที่อย่างเกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของความฝันซ้อนความฝัน (อาทิเช่น Paradox) ให้คิดกับตัวเองว่า “สิ่งนี้เกิดขึ้นได้แค่ในฝัน มันต้องเป็นความฝันแน่ๆ”

ถ้าคุณพบว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่เหลือเชื่อ และไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง อาทิเช่นสามารถหายใจตอนอยู่ใต้น้ำ (หรือมีแฟนเป็นดาราฮอลลีวูด เป็นต้น :-P) สิ่งเหล่านี้มักจะเป็นสัญญาณเตือนคุณ ว่าความจริงแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณคือความฝัน แต่ถ้าคุณถามคนอื่นๆ ในความฝันของคุณว่า “นี่ฉันกำลังฝันอยู่ใช่ไหม?” คนเหล่านั้นมักจะตอบว่า “มรึงฝันซะเมื่อไหร่กัน บ้าป่าววว?”

ถ้าคุณรู้สึกตัวว่าฝันในขณะที่กำลังเดิน (อยู่ในความฝัน) พยายามหยุดนิ่งไว้ อย่าเคลื่อนไหว เพราะการตอบสนองของเซลล์กล้ามเนื้อของคุณอาจตื่นตัวขึ้นมาจริงๆ และอาจทำให้การเข้าสู่สภาวะลูซิด (รู้ตัวว่าฝัน) ได้ยากขึ้น และอาจจะพาลตื่นขึ้นมาก่อน

ถ้าคุณไม่สามารถจดจำความฝันของคุณได้ ให้ตั้งสติ ทำใจให้สบาย และระลึกถึงที่ความรู้สึกที่คุณได้รับจากความฝันนั้น อย่าพยายามฝืน การพยายามฝืนจดจำความฝันอย่างขัดขืนมีแต่จะทำให้เราลืมมัน เพราะมันจะทำให้จิตของเราคิดถึงแต่เรื่องอื่นที่ไม่ใช่ความฝัน

การตื่นขึ้นมาเองอย่างเป็นธรรมชาติ (โดยไม่ได้ใช้นาฬิกาปลุก) จะช่วยให้จดจำฝันได้ดีขึ้น หลังจากตื่น ให้ตั้งสติ เพ่งโฟกัสไปที่วัตถุแรกที่คุณเห็นเมื่อลืมตา อาจเป็นลูกบิดประตู หลอดไฟ หัวตะปูบนผนัง ฯลฯ วัตถุนั้นจะช่วยเป็นตัวช่วยรวบรวมรายละเอียดและความทรงจำเกี่ยวกับความฝันที่กระจัดกระจายไม่ชัดเจนเอาไว้ด้วยกันและทำให้จดจำความฝันที่ผ่านมาได้ง่ายขึ้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยกระตุ้นคุณให้ตื่นตัวรับวันใหม่ และช่วยรวมรวมความรู้สึก รายละเอียด และรวบรวมความทรงจำเกี่ยวกับความฝันที่กระจัดกระจายให้ชัดเจนขึ้นมาได้

การใช้นาฬิกาปลุกมักจะเป็นตัวกระแทกความทรงจำของความฝันให้หลุดหายออกไปจากหัวคุณ

เทคนิกการหลุดจากสภาวะ ‘ผีอำ’ (สภาวะผีอำ น่าจะเป็นสภาวะฝันแบบลูซิดแบบร้ายอย่างหนึ่ง แต่ไม่ค่อยมีอันตรายนัก) เมื่อรู้สึกตัวว่าเกิดผีอำ ให้พยายามขยับนิ้วเท้า หรือกลืนน้ำลาย 'ผีอำ' คือสภาวะที่สมองของคุณตัดสัญญาณเชื่อมโยงกับร่างกายในเวลานอนหลับ ซึ่งส่งผลให้ร่างกายขยับเขยื้อนไม่ได้ (หรือเป็นอัมพาต) ชั่วคราว เพื่อที่คุณจะได้ไม่ทำร้ายร่างกายตัวเองหรือคนอื่นๆ ตอนหลับ (คนที่นอนดิ้นหรือละเมอเดิน น่าจะเกิดจากอาการที่การทำงานส่วนนี้ของสมองทำงานบกพร่อง) กล้ามเนื้อที่ใหญ่และแข็งแรงกว่ามักจะมีผลกระทบจากสภาวะนี้มากกว่ากล้ามเนื้อเล็กๆ อย่างเช่นนิ้วเท้า ดังนั้นการขยับนิ้วเท้าหรือกลืนน้ำลายจะช่วยกระตุ้นให้สมองหยุดตัดสัญญาณและปลดคุณออกจากสภาวะผีอำได้

กำหนดเป้าหมายว่าคุณอยากฝันเรื่องอะไรก่อนนอน เมื่อคุณเข้านอนและเข้าสู่ฝันลูซิด คุณจะรู้ตัวว่าคุณอยากกำลังจะทำอะไร

การกำหนดให้ตัวเองตื่นหลังจากเข้าสู่โหมดฝันแบบลูซิดไม่กี่นาที อาจช่วยให้คุณจดจำประสบการณ์ในการฝันแบบลูซิดของคุณได้ชัดเจนและสมจริงยิ่งกว่าการปล่อยให้ตื่นเอง เพราะมันจะทำให้ความทรงจำเกี่ยวกับฝันของคุณค่อยๆ เลือนราง และอาจหลงลืมมันไปในตอนที่ตื่นได้

บางคนอาจจิบเครื่องดื่มคาเฟอีนต่ำ(อาทิ ชา) นิดหน่อยก่อนที่จะหลับ เพื่อช่วยกระตุ้นความรู้สึกรับรู้ของสมองในตอนนอนหลับ ซึ่งจะทำเรารู้สึกตัวในความฝันได้ดีขึ้น แต่สำหรับบางคน มันก็อาจจะเป็นตัวขัดขวางและรบกวนการหลับได้

แต่อย่าดื่มน้ำ หรือเครื่องดื่มจำนวนมากๆ (อย่างน้อยหนึ่งชม.) ก่อนนอน สิ่งสุดท้ายที่คุณคงอยากให้เกิดตอนที่คุณกำลังเข้าโหมดฝันแบบลูซิดได้แล้ว ก็คือการตื่นขึ้นมาลุกไปฉี่ จริงไหม?

ยิ่งอายุมากขึ้น คนเราก็ยิ่งฝันแบบลูซิดได้ยากขึ้น และมันจะเริ่มยากขึ้นตั้งแต่ตอนที่คนเป็นวัยรุ่น วัยเจริญพันธุ์

ถ้าคุณพบว่าความฝันไม่เป็นไปตามที่คุณต้องการ อย่ากังวล ให้ “หลับตาลง” (ในฝัน) และเปิดตากว้างๆ มันอาจไม่ได้ผลในคราวแรก ให้ทำไปเรื่อยๆ จะได้ผลในที่สุด

ระวังเวลามองในกระจกเงาเวลาฝัน กระจกเงาอาจช่วยเตือนสติคุณว่าคุณกำลังฝันอยู่ แต่ภาพของคุณในกระจกก็อาจจะกลายเปลี่ยนเป็นบิดเบี้ยว น่าสยดสยอง และนำพาไปสู่ฝันร้าย หรืออาจทำให้คุณตกใจตื่นได้

ในขณะที่ฝันพยายามอย่ามองไปที่ภาพบนจอภาพยนตร์ ทีวี หรือมอนิเตอร์ เพราะมันอาจสั่น กระตุก และบิดเบี้ยวจนนำไปสู้ฝันร้ายได้เช่นเดียวกัน

อย่ากังวลกับเรื่องราวในความฝัน พยายามระลึกอยู่เสมอว่ามันเป็นแค่ความฝัน ไม่มีอะไรหรือใครที่จะทำร้ายคุณได้จริงๆ ในฝัน ยิ่งถ้าคุณกังวลว่าคนในความฝันจะทำร้ายคุณเท่าไหร่ พวกเขาก็ยิ่งจะมีโอกาสที่จะเข้ามาทำร้ายคุณในความฝันได้มากเท่านั้น

จดบันทึกสิ่งที่คุณจำได้หลังจากตื่นนอน ทำให้เป็นกิจวัตร สมองของคุณจะเกิดความเคยชินที่จะบันทึกและจดจำความฝันอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การจดบันทึกความฝัน (Dream Journal) นอกจากจะมีส่วนช่วยในการแยกแยะความเป็นจริงกับความฝันและเข้าสู้สภาวะฝันลูซิดได้ง่ายแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการฝึกจินตนาการ ความคิด และที่สำคัญ 'ความฝัน' ยังเป็นวัตถุดิบอันล้ำค่าสำหรับคนทำงานสร้างสรรค์ อาทิ ศิลปิน นักเขียน นักดนตรี ดีไซเนอร์ ครีเอทีฟ ฯลฯ

มีศิลปินและนักเขียนหลายคนประสบความสำเร็จอย่างสูงจากการหยิบเอาแรงบันดาลใจจากความฝันทำสร้างเป็นผลงาน อาทิ ศิลปินกลุ่มเซอร์เรียลลิสต์ นักเขียนอย่าง แมรี่ เชลลี่ (ผู้เขียนแฟรงเกนสไตน์) หรือแม้แต่นักเขียนร่วมสมัยผู้โด่งดังอย่าง สตีเฟ่น คิงก์ หรือ เจ เค โรว์ลิ่ง เองก็ตาม




Create Date : 26 กรกฎาคม 2553
Last Update : 26 กรกฎาคม 2553 0:02:40 น. 4 comments
Counter : 9129 Pageviews.  
 
 
 
 
ได้รับความรู้จากเรื่องฝันๆมากมาย
หรือเรากำลังฝันอยู่กันน้อ
 
 

โดย: Mr.Chanpanakrit วันที่: 26 กรกฎาคม 2553 เวลา:13:17:36 น.  

 
 
 
ได้รับความรู้จากเรื่องฝันๆมากมาย
หรือเรากำลังฝันอยู่กันน้อ
 
 

โดย: Mr.Chanpanakrit วันที่: 26 กรกฎาคม 2553 เวลา:13:18:09 น.  

 
 
 
ขอบคุณสำหรับการให้ความรู้เรื่อง Lucid Dream
 
 

โดย: moonfleet วันที่: 26 กรกฎาคม 2553 เวลา:17:37:07 น.  

 
 
 
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

ขอบคุณค่ะ
 
 

โดย: นนนี่มาแล้ว วันที่: 26 กรกฎาคม 2553 เวลา:18:38:19 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

panueddie
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add panueddie's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com