Let' s share to make the world beautiful.
Group Blog
 
All blogs
 

14. ตามรอย...ตำนานเกนจิ


ตามรอย...ตำนานเกนจิ

วันนี้โตชีโกะและชีจัง ครอบครัวญี่ปุ่น จัดโปรแกรมพาเราเที่ยวชมเมืองที่เราพักอยู่ นั่นคือ “เมืองอุจิ” (Uji) จังหวัดเกียวโต

 

 

พ่อแม่ญี่ปุ่นไม่ได้ไปกับเราด้วย เพราะมีงานแต่เช้า จึงไม่ได้ติดรถแท็กซี่พ่อออกไป ทำให้เราได้มีโอกาสเดินชมหมู่บ้าน ทักทายเพื่อนบ้าน เด็กชายออกมาเดินเล่น คุณลุงกำลังตกแต่งบอนไซ จากนั้นจึงต่อรถไปถึงสถานที่แรกคือ “พิพิธภัณฑ์ตำนานเกนจิ” (The tale of Genji Museum)

 

สัญลักษณ์ที่พื้น บอกทางไปพิพิธภัณฑ์ตำนานเกนจิ 

 

ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์

 

  ว่ากันว่าตำนานเกนจิ (Genji Monogatari) เป็นนวนิยายที่เก่าแก่ที่สุดของโลก เขียนขึ้นในศตวรรษที่ 11 ประพันธ์โดย มุราซากิ ชิคิบุ (ราว ค.ศ. 973 –1014) นางข้าหลวงในราชสำนักญี่ปุ่นสมัยเฮอัน เป็นเรื่องราวความรักหลากหลายของ ฮิคารุ เกนจิ มีความยาว 54 บท แบ่งเป็นสามช่วง

ช่วงแรก เกนจิวัยเยาว์จนถึงการถูกเนรเทศ 

ช่วงที่ 2 การกลับมาเรืองอำนาจ จนถึงการตายของชายาสุดที่รักและเกนจิ  

และช่วงที่ 3 (บทที่ 45-54) เรียกว่า ภาคอุจิจูโจ (Uji-Jojo) เล่าถึงรุ่นลูกของเกนจิ  

 

วรรณกรรมเรื่องนี้ได้สะท้อนถึงวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี พิธีกรรม ค่านิยม ความเชื่อ การเมือง จารีตในราชสำนักสมัยนั้นแล้ว สิบบทสุดท้ายผู้ประพันธ์ได้ใช้เมืองอุจิเมืองตากอากาศที่งดงามและเงียบสงบ ของชนชั้นสูงเป็นฉากเหตุการณ์ ทำให้เราเริ่มอยากรู้จักเมืองนี้มากขึ้นแล้วละค่ะ

 

ส่วนจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ 

 

 

ก่อนอื่นเราเดินดูส่วนจัดแสดงนิทรรศการ ที่จำลองชีวิตของผู้คนในพระราชวังหลวงในอดีต จากนั้นจึงเข้าห้องฉายวีดิทัศน์ ซึ่งมีบริการเครื่องพกพาแปลเป็นภาษาอังกฤษ เราชมตำนานเกนจิ บทที่ 51 อุกิฟุเนะ Ukifune” (The Floating Boat)

 

 

 

  เนื้อเรื่องเล่าถึงคาโอรุลูกชายเกนจิไปหลงรักและตามจีบอุกิฟุเนะ ระหว่างนั้นมีชายอีกคนมาหลงเสน่ห์อุกิฟุเนะ คาโอรุต่อว่าหญิงสาว เธอเศร้าโศก ทุกข์ระทม จึงกระโดดแม่น้ำอุจิเพื่อฆ่าตัวตาย ทว่าอุกิฟุเนะกลับรอดชีวิต นอนเกยฝั่งใต้ต้นไม้ริมน้ำ สาธุคุณโยคาวะได้ช่วยชีวิต สุดท้ายอุกิฟุเนะบวชเป็นชี เพื่อหนีความวุ่นวาย

 

เดินออกมาจากห้องฉายวีดิทัศน์ยังงงๆ กับความสัมพันธ์ของตัวละครต่างๆ ค่ะ ต้องอ่านคู่มือแนะนำพิพิธภัณฑ์และเนื้อเรื่องย่อประกอบอีกครั้ง มารู้ตัวอีกทีเมื่ออยู่หน้าห้องพบว่าหมวกที่เราถือเข้าไปด้วยหล่นหาย โตชีโกะและเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์จึงช่วยประสานงานจนหาเจอค่ะ

ออกจากพิพิธภัณฑ์ โตชีโกะชวนเรานั่งพักกินอาหารกลางวัน ลองรสชาติไอศกรีมชาเขียว เดินชมทัศนียภาพริมแม่น้ำอุจิ ถ่ายรูปกับรูปปั้นมุราซากิ ชิคิบุ ก่อนไปวัด “เบียวโดอิน” (Byodoin Temple) ซึ่งเป็นสถานที่พักตากอากาศในสมัยก่อน มีศาลาเก่าแก่งดงามจนได้รับการจดทะเบียนเป็นมรดกโลก

 

 

 

 

รูปปั้น มุราซากิ ชิคิบุ 

บริเวณเชิงสะพานอุจิ สะพานเก่าแก่นับพันปี

 

 

วัด "เบียวโดอิน” ที่ปรากฏบนเหรียญ 10 เยน

 

กลับถึงบ้าน แม่เตรียมอาหารเย็น นำกุ้งและผักต่างๆ ชุบแป้งทอดกรอบเหลืองน่ากิน เพราะเห็นเราบอกว่า อยากกิน “เทมปุระ” แม่จึงจัดอาหารตามใจแขกผู้มาเยือน

 

 

 

 

ก่อนนอนคืนนี้ (ซึ่งเผลอหลับโดยไม่ได้ปิดไฟอีกเช่นเคย) และก่อนจากกันในวันพรุ่งนี้ โตชีโกะมอบชุดยูกะตะให้เราเป็นที่ระลึกด้วยค่ะ

 

 

เราถ่ายรูปกับครอบครัวทานากะ  ครอบครัวน่ารัก ในเมืองอุจิ เมืองเล็กๆ ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเกียวโต ที่ไม่เพียงแต่ขึ้นชื่อเรื่องการปลูกและผลิตชาเขียวเท่านั้น เรายังได้ซึมซับบรรยากาศหลากหลาย การพักกับครอบครัวญี่ปุ่น ความเป็นมิตรของผู้คน ความงามทางสถาปัตยกรรมและวรรณกรรมล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ ที่บ้านเมืองของเขายังคงอนุรักษ์ไว้

 

หากใครที่เป็นคอนิยาย ไม่ควรพลาดมาเดินตามรอยตำนานเกนจิกันนะคะ แล้วจะพบว่าเมืองอุจิเป็นเมืองที่มีเส่นห์อีกเมืองหนึ่ง ทำให้เราหลงรักได้ไม่ยากค่ะ




 

Create Date : 25 เมษายน 2560    
Last Update : 29 เมษายน 2565 0:23:15 น.
Counter : 3822 Pageviews.  

13. พักกับครอบครัวญี่ปุ่น



ขณะอยู่ที่เมืองเกียวโตในช่วงสุดสัปดาห์ คณะเยาวชนได้ชมแฟชั่นโชว์กิโมโนแล้ว ยังได้สัมผัสวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นพิธีชงชาที่วัดคินคะคุจิ และพักกับครอบครัวชาวญี่ปุ่

วัดคินคะคุจิ หรือวัดทอง ที่เราคุ้นเคยจากการ์ตูนเรื่อง เณรน้อยเจ้าปัญญา “อิ๊กคิวซัง” ซึ่งเป็นวังของโชกุนอาชิคะงะ โยชิมิตซึ สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1397 เพื่อเป็นที่พำนักอาศัยหลังเกษียณอายุของโชกุนอะชิคะงะ โยชิมิซึ และตอนหลังได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นวัดแบบนิกายเซนหลังจากที่โชกุนโยชิมิซึเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1408



ในช่วงเย็นขากลับจากวัดทอง พวกเราต่างตื่นเต้นที่จะได้พักกับครอบครัวชาวญี่ปุ่นในกิจกรรมโฮมสเตย์ (HomeStay) ซึ่งมีกำหนดสองวันสองคืน เพื่อเรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ ได้ฝึกพูดภาษาญี่ปุ่นบอกเล่าแลกเปลี่ยนข้อมูลวิถีชีวิตระหว่างวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด  ตอนนี้เราเริ่มกังวลแล้วละว่าภาษาญี่ปุ่นที่ได้เรียนมาก่อนหน้านี้จะช่วยสื่อสารกับครอบครัวญี่ปุ่นได้เข้าใจตรงกันไหมหนอ

พวกเราในคณะไม่มีใครรู้มาก่อนว่าจะได้พักกับครอบครัวไหนมีสมาชิกกี่คน ทำอาชีพอะไร แต่พี่แอนได้เตรียมของที่ระลึกได้แก่ ผ้าขาวม้าผ้าพันคอผ้าไหม ตุ๊กตาหัวโขนตกแต่งบ้าน ซีดีเพลงไทยและของที่ระลึกชิ้นเล็กชิ้นน้อยเผื่อไว้ด้วยค่ะ

ครอบครัวที่พี่แอนพักอยู่คือครอบครัวทานากะ (TANAKA) มีสมาชิกสี่คน ได้แก่ พ่อ แม่ลูกสาว (โตชิโกะ) และหลานสาว (ชีจัง) ซึ่งเป็นลูกของโตชิโกะ พ่อเป็นคนขับแท็กซี่แม่เป็นแม่บ้าน บางวันแม่ไปทำงานพิเศษเป็นพนักงานทำความสะอาดที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ส่วนโตชิโกะทำงานบริษัทเอกชน และชีจังเรียนอยู่ระดับมัธยมศึกษา



พ่ออายุ 71 แล้ว ยังตื่นแต่เช้า แต่งตัวเรียบร้อย 

เตรียมไปขับแท็กซี่


แม้บ้านหลังไม่ใหญ่ แต่มีการใช้สอยเนื้อที่อย่างประหยัดและคุ้มค่า มีห้องอเนกประสงค์ที่ใช้เป็นห้องครัว กลางห้องจัดวางโต๊ะรับประทานอาหารตั้งโทรทัศน์ตรงมุมห้อง เป็นห้องที่จะได้นั่งพูดคุยกัน เมื่อกินเสร็จก็เก็บกวาดล้างจานในห้องนี้



อาหารที่ครอบครัวทานากะเลี้ยงในตอนค่ำคือแกงกะหรี่ไก่ รากบัว สลัดผัก 

ติดกับห้องอเนกประสงค์คือห้องอาบน้ำ ชาวญี่ปุ่นนิยมอาบน้ำร้อนในอ่างโดยให้เกียรติแขกอาบน้ำก่อน ดังนั้นใครไปพักบ้านชาวญี่ปุ่นก็ต้องรักษาความสะอาดหน่อยนะคะ แต่พี่แอนอาบน้ำจากฝักบัวแทนแช่ในอ่าง

ส่วนห้องส้วมแยกต่างหากจากห้องอาบน้ำ เป็นห้องส้วมขนาดเล็ก ภายในมีชักโครกกับถังขยะ มีที่ล้างมือบนชักโครกน้ำที่ใช้ล้างมือไหลลงไปในโถชักโครก จึงช่วยประหยัดน้ำ


ที่ล้างมือบนชักโครก ช่วยประหยัดน้ำ

ห้องนอนและห้องอเนกประสงค์อยู่ชั้นสองของบ้าน พี่แอนนอนในห้องอเนกประสงค์ เข้าไปก็เห็นมีปูเสื่อทาทามิ หมอน ที่นอนเตรียมไว้อย่างเรียบร้อย โตชิโกะบอกว่าเวลาจะนอนก็หยิบที่นอนจากตู้แล้วปูบนเสื่อ เมื่อไม่ใช้แล้วจึงเก็บเข้าตู้



คืนแรก เผลอหลับไปทั้งที่ไฟเปิดอยู่ อาจด้วยความเพลียผสมกับความตื่นเต้นกับเจ้าบ้านต่างถิ่นต่างภาษา  ส่วนเรื่องการสื่อสารวันนี้ผ่านไปด้วยดีค่ะ ใช้ทั้งภาษาญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษ ภาษามือ

วันรุ่งขึ้นโตชิโกะและชีจังจะพาไปเที่ยวที่ไหนนะ... ติดตามอ่านตอนหน้าค่ะ




 

Create Date : 17 พฤษภาคม 2557    
Last Update : 24 พฤษภาคม 2560 0:22:46 น.
Counter : 2301 Pageviews.  

12. โรงเรียนฝึกอาชีพ ระดับมัธยมปลาย



โรงเรียน“นารุทากิ” เมืองเกียวโต เปิดสอนหลักสูตรสายสามัญและสายอาชีพ มีทั้งเด็กประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย  ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเปิดสอนหลักสูตรดูแลตัวอาคารทำความสะอาดพื้น และหลักสูตรซักรีด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างพัฒนาการสำหรับเด็กที่มีปัญหาด้านสมองแขนขาลีบ และพิการด้านต่างๆ ให้สามารถนำทักษะการเรียนรู้ไปประกอบอาชีพ สร้างรายได้และดูแลตัวเองได้

การเรียนรู้สายอาชีพ เรียนไม่ง่ายเลย เพราะนักเรียนส่วนใหญ่ที่นี่มีพัฒนาการช้า  การเรียนรู้เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ จึงอาจทำได้ไม่คล่องแคล่วว่องไว ดังนั้นการเรียนรู้อุปกรณ์แต่ละชนิด จึงช่วยพัฒนาทักษะต่างๆให้มากขึ้นไปด้วย

หลักสูตรดูแลตัวอาคารทำความสะอาดพื้น ผู้เรียนต้องเรียนรู้การใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่นเครื่องขัดพื้น เครื่องทำความสะอาดพรม เป็นต้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญสอนให้ผู้เรียนสามารถแยกประเภทพื้นและชนิดของวัสดุที่นำมาใช้เพื่อทำความสะอาดได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ยังต้องรู้จักการบริการลูกค้า การทักทาย พูดคุยกับลูกค้าอย่างเหมาะสมในขณะปฏิบัติงาน ที่สำคัญคือ เน้นให้นักเรียนมีความพยายาม ขยันและมีระเบียบวินัย

นอกจากเรียนทฤษฎีและการใช้อุปกรณ์ได้อย่างคล่องแคล่วแล้วนักเรียนต้องออกไปฝึกปฏิบัติในองค์กรต่างๆ เป็นการเตรียมความพร้อมในการสอบ จนได้รับวุฒิบัตรเพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการทำความสะอาดอาคารสำนักงาน

หลังจากคณะเยาวชนฟังบรรยาย พวกเราจึงได้ไปเยี่ยมชมนักเรียนทำความสะอาดตามอาคาร สักพักโรงเรียนก็สะอาด มองดูสวยงามสบายตา

ส่วนหลักสูตรซักรีด ไม่ใช่แค่นำเสื้อผ้าเข้าเครื่องซักผ้า แล้วรีด เพราะมีอุปกรณ์มากมายที่ต้องเรียนรู้และใช้ให้ถูกต้อง เช่น ฝึกใช้เครื่องซักผ้าขนาดใหญ่เครื่องปั่นผ้า เครื่องรีดเสื้อเชิ้ตขนาดใหญ่ เตารีดไอน้ำไฟฟ้า เครื่องห่อผ้าและอุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็น และใส่ใจกับการให้บริการลูกค้าการต้อนรับลูกค้า อีกทั้งต้องไปฝึกในบริษัทและห้างร้านต่างๆเพื่อเตรียมตัวสอบสำหรับผู้เชี่ยวชาญเช่นเดียวกับหลักสูตรแรก


อุปกรณ์รีดผ้าอันทันสมัยแต่ราคาแพงมาก


วิธีใช้งานไม่ยุ่งยากเลย




เยี่ยมชมศูนย์ศิลปะสิ่งทอ

ช่วงบ่าย คณะเยาวชนเดินทางไปชมแฟชั่นโชว์ชุดกิโมโนที่ศูนย์ศิลปะสิ่งทอนิชิจินโอริไคคัง ซึ่งจัดแสดงเรื่องราวของกิโมโนที่ผ่านประวัติศาสตร์ยาวนานนับพันปีและมีการพัฒนาตามยุคสมัย ที่นี่ยังได้จัดแสดงอุปกรณ์การทอผ้า เครื่องทอผ้า จนถึงการออกแบบลวดลายที่ผสมผสานคุณค่าความงามเชิงศิลปะจึงไม่แปลกที่ชุดกิโมโนเป็นเครื่องแต่งกายที่สวยงามยิ่ง

ปัจจุบันเรายังคงพบเห็นชาวญี่ปุ่นสวมชุดกิโมโนในโอกาสสำคัญแม้ว่าแต่ละชุดมีราคาแพง และต้องรู้จักวิธีการดูแลรักษาที่ถูกต้องเพื่อให้กิโมโนมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน



นางแบบสวมชุดกิโมโนเดินอย่างสง่างามอยู่บนเวที

ซึ่งการสวมใส่ชุดกิโมโนมีวิธีการสวมใส่ที่มีขั้นตอนตามแบบแผน

และมีชิ้นส่วนต่างๆ มากมาย จนถึงเครื่องประดับและอุปกรณ์ต่างๆ


วันนี้พี่แอนได้ข้อตระหนักว่าการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ควรทำความเข้าใจจากจุดเริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการของการทำงาน อย่าประมาทว่าเป็นเรื่องง่ายและใส่ใจในหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดค่ะ 




 

Create Date : 15 พฤษภาคม 2557    
Last Update : 12 พฤษภาคม 2560 13:26:35 น.
Counter : 817 Pageviews.  

11. ศิลปะในสถานเลี้ยงเด็ก

ขณะไปเยี่ยมชมสถานดูแลเด็ก สถานพัฒนาการเลี้ยงดูเด็ก ที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เราได้เห็นห้องต่างๆ ตกแต่งอย่างสวยงาม มีป้ายน่ารักๆ แนะนำครูและนักเรียน ปฏิทิน แสดงผลงานศิลปะของเด็กๆ ช่วยเสริมสร้างบรรยากาศให้ห้องเรียนมีชีวิตชีวา





กล่องกระดาษกลายเป็นยักษ์ตามจินตนาการของเด็ก










ปฏิทินรูปเด็กสวมหมวก



นี่ก็ปฏิทิน รูปสัตว์ถือลูกโป่ง




ผลงานศิลปะของเด็ก

นี่ละค่ะ ความช่างคิดช่างทำ   งานศิลปะเหล่านี้ไม่ยากจนเกินไป ขอเพียงมีใจรักที่จะประดิดประดอย ตกแต่งสภาพแวดล้อมก็จะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศให้ห้องเรียนมีชีวิตชีวาขึ้นค่ะ




 

Create Date : 11 พฤษภาคม 2557    
Last Update : 15 พฤษภาคม 2557 21:09:03 น.
Counter : 6370 Pageviews.  

9. ศูนย์เพื่ออนาคตของเด็ก

เสียงเพลงประกอบการเล่านิทานดึงดูดพวกเราเข้าไปนั่งล้อมวงกับเด็กๆ ก่อนหน้านั้นมีแม่คนหนึ่งปรึกษากับเจ้าหน้าที่เรื่องการเลี้ยงลูก ขณะที่เด็กๆ เล่นอย่างเพลิดเพลินอยู่ในสนามเด็กเล่น ทำให้คำแนะนำดูไม่เคร่งเครียด เพราะแวดล้อมด้วยบรรยากาศของ “การเล่น”

นี่คือบรรยากาศส่วนหนึ่งของ ศูนย์เพื่ออนาคตของเด็ก เมืองเกียวโต ใช้ชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า โคโดโมะมิไรคัง (Kodomo No Mirai Kan) ซึ่งเป็นศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็ก ตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 5 ปี ให้คำปรึกษาแก่ผู้ปกครอง บริการข้อมูล สร้างเครือข่าย ฝึกงานให้ความรู้ รวมทั้งงานวิจัยส่งเสริมการเลี้ยงดูเด็ก และงานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาเพื่อเด็กวัยก่อนเข้าเรียน



ศูนย์ฯ แห่งนี้ก่อตั้งโดยโรงเรียนอนุบาลเอกชนห้าแห่ง เมื่อปี พ.ศ. 2543 ด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งหน่วยงานด้านการศึกษาและสังคมสงเคราะห์ มีเจ้าหน้าที่ 35 คน รวมทั้งมีการจัดการบริหารร่วมกับคนในท้องถิ่น จึงทำให้มีอาสาสมัครมากกว่า 500 คน ในแต่ละวันมีอาสาสมัคร 30 คนมาปฏิบัติงาน



เมื่อเข้าไปในอาคาร จะพบพื้นที่เล่น ซึ่งออกแบบเป็นพิเศษสำหรับเด็กและผู้ปกครอง มีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อแนะนำด้านการเลี้ยงดูเด็ก ทำให้คำแนะนำดูเป็นกันเอง ท่ามกลางบรรยากาศของความสนุกสนาน นอกจากนี้ยังมีอาสาสมัครมาแสดงดนตรีออร์แกน (organ performances) ประกอบการร้องเพลง เล่านิทาน จึงเป็นสถานที่ที่สร้างเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม ก่อให้เกิดความสบายใจ อุ่นใจ มั่นใจ แก่เด็กและผู้เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูเด็ก


อาสาสมัครแสดงดนตรีออร์แกน ประกอบการร้องเพลง เล่านิทาน เมื่อหมุนออร์แกนแล้วจะเกิดเสียงเพลง



มุมเครื่องเล่น




ศูนย์ฯ แห่งนี้ได้จัดรูปแบบการให้คำปรึกษาที่หลากหลาย หากผู้ปกครองไม่สบายใจ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็ก จะมีผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัว สำหรับเด็กพูดช้า หรือเข้ากับเพื่อนไม่ได้ ก็จะมีเครื่องเล่นต่างๆ ใช้ทดสอบสภาพจิตใจ (play therapy) ด้านสุขภาพโดยแพทย์เมืองเกียวโต และให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์โดยอาสาสมัคร

นอกจากนี้ยังให้บริการด้านข้อมูล มีบริการห้องสมุดและนิตยสาร จัดกิจกรรมและอบรม การอบรมมีสี่หลักสูตร ได้แก่ Power Up เน้นผู้ปกครองทำกิจกรรมร่วมกับเด็กเพื่อเสริมทักษะการเลี้ยงดู เช่น งานประดิษฐ์ เป็นต้น การสัมมนาการเลี้ยงดูเด็ก ให้ข้อมูลเพื่อวิเคราะห์แก้ไขปัญหา การอบรมด้านอาหาร การใช้หนังสือภาพเพื่อใกล้ชิดกับเด็ก มีการแสดงเล่านิทานจากภาพ สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับเด็ก การประชุมปรึกษาเรื่องการเลี้ยงดูเด็ก ผู้ปกครองร่วมกันพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตามความสมัครใจ โดยการประชุมมีผู้ประสานงาน ผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมด้วยบรรยากาศเป็นกันเอง หลักสูตรเพื่อสุขภาพเด็ก มีแนวคิดที่จะทำให้การเลี้ยงดูเด็กเป็นเรื่องสนุกสนาน เน้นกลุ่มผู้ปกครองของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน โดยแพทย์มาให้ความรู้ความเข้าใจถึงสภาพร่างกายและจิตใจของเด็ก แก้ปัญหาแม่ที่รู้สึกเดียวดายให้เข้าสังคมมากขึ้น


บริการอินเทอร์เน็ต มุมข้อมูลข่าวสาร ในห้องสมุด



เด็กๆ ฟังนิทานจากอาสาสมัคร


ห้องสมุดของที่นี่มีหนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็ก หนังสือภาพ หนังสือนิทาน วิดีโอ วีดิทัศน์ รวมมากกว่า 20,000 ชิ้น และเอกสารเฉพาะด้านสำหรับครูโรงเรียนอนุบาลและพยาบาลเลี้ยงเด็ก มีกิจกรรมการเล่านิทานและหนังสือภาพ กิจกรรมเสริมความรู้ให้เด็กร่วมสนุก เช่น หุ่นเชิดเล่านิทานจากกระดาษ เป็นต้น



หน้าที่อีกอย่างของโคโดโมะมิไรคังคือ สร้างเครือข่าย เครือข่ายได้แก่ทุกคน ที่มีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูเด็ก โรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก ชมรมผู้เลี้ยงเด็ก โดยฝึกอบรมอาสาสมัคร แบ่งเป็นอาสาสมัครให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ อาสาสมัครช่วยเหลือและสนับสนุนการเลี้ยงเด็ก อาสาสมัครกิจกรรมการใช้สมุดภาพ เช่น เมื่อเด็ก 8 เดือนมาตรวจสุขภาพ อาสาสมัครจะให้ความรู้แก่ผู้ปกครองในการใช้สมุดภาพและการละเล่นโดยใช้มือ เพื่อส่งเสริมวิธีการสร้างความสัมพันธ์และความผูกพันระหว่างผู้ปกครองกับเด็ก



จากการไปเยี่ยมชม ทำให้เราพบว่า คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อการเลี้ยงดูเด็ก ไม่ใช่เพียงแค่สร้างสถานที่ หากแต่ยังสร้าง “สังคม” สังคมที่หล่อเลี้ยงด้วยน้ำใจ จากบุคคลหลายฝ่ายที่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว หน่วยงานการศึกษา และชุมชนของพวกเขา




 

Create Date : 28 มกราคม 2554    
Last Update : 28 มกราคม 2554 5:24:20 น.
Counter : 1788 Pageviews.  

1  2  3  

แอนเทล
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add แอนเทล's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.