Let' s share to make the world beautiful.
Group Blog
 
All blogs
 

4. เรียนรู้จากการเล่น ที่ปราสาทของเด็กญี่ปุ่น

จากนี้ไปพวกเราคณะเยาวชนสาขาสวัสดิการสังคม (เด็ก) ต้องใช้ชีวิตในเมืองใหญ่สองเมือง คือโตเกียว และเกียวโต ต้องแยกจากเพื่อนอีกกลุ่มเพื่อไปดูงานตามสาขาของตน พี่แอนได้สัมผัสความมีสีสันของโตเกียว เมืองหลวงของประเทศ ที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และหลงใหลเสน่ห์ทางวัฒนธรรมของเกียวโต เมืองหลวงเก่า ที่มีการอนุรักษ์สภาพบ้านเมือง วัดวาอารามไว้เป็นอย่างดี

ยามเช้าวันที่ 7 หน่วยงานแรกในเมืองโตเกียวที่คณะเยาวชนเดินทางไปคือ กระทรวงสุขภาพ แรงงาน และสาธารณสุข เราได้ฟังบรรยายในหัวข้อ “การจัดตั้งนโยบาย วางแผน และการเผยแพร่การบริหารสวัสดิการสังคมของญี่ปุ่นและสถานการณ์ในปัจจุบัน” ทำให้ทราบว่างานสวัสดิการสังคมของญี่ปุ่นมุ่งเน้นให้บริการด้านต่างๆ เพื่อให้ทุกคนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โดยแบ่งลักษณะงานเป็นสองชนิด คือชนิดที่ 1 เช่น สถานรักษาบำบัดผู้พิการทางกายและเด็กด้อยโอกาส มีปัญหา สถานดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น ชนิดที่ 2 เช่น สถานเลี้ยงเด็ก หน่วยบริการถึงบ้าน สถานบริการช่วงกลางวัน ศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำ เป็นต้น



สิ่งสำคัญหนึ่งของสวัสดิการคือ ต้องเหมาะสมกับสภาพสังคม อย่างในอดีตคนสูงอายุมีน้อย ส่วนใหญ่เป็นผู้พิการจากสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมทั้งหญิงหม้าย เด็กกำพร้า จึงเน้นให้สวัสดิการแก่คนกลุ่มเหล่านี้เป็นหลัก เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป รัฐบาลได้มีการปรับปรุงด้านสวัสดิการให้ทันสมัยอยู่เสมอ จึงถือว่าประเทศญี่ปุ่นมีระบบสวัสดิการสังคมที่ดีเป็นประเทศต้นๆ ของโลก

ปราสาทของเด็ก
ช่วงบ่ายเราไปเยี่ยมชมปราสาทของเด็ก (Kodomo no Shiro) เมืองโตเกียว แค่ได้ยินชื่อก็น่าสนใจแล้ว บางคนอาจนึกถึงลักษณะปราสาทดั่งในเทพนิยาย ภายในมีโชกุนนั่งอยู่ หรือมีอัศวินผู้แกล้วกล้ายืนถืออาวุธในท่าพร้อมรบ แม้ภาพจะไม่เป็นอย่างที่คิด แต่เมื่อเข้าไปแล้ว เราได้พบโลกอีกใบของเด็กๆ ที่มีแต่ความสนใจใฝ่รู้ มีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะเหมือนต้องมนต์สะกดเลยละ



ปราสาทของเด็กสร้างขึ้นเนื่องในปีเด็กสากล พ.ศ. 2522 โดยกระทรวงสุขภาพ แรงงาน และสาธารณสุข เพื่อส่งเสริมให้เด็กเติบโตอย่างสมบูรณ์ กลุ่มเป้าหมายคือตั้งแต่เด็กทารกจนถึงเด็กมัธยมปลาย โดยแบ่งกิจกรรมเป็นแผนกดนตรี Play Hall วิดีโอ ศิลปะ และกีฬา

“ในปัจจุบัน สังคมญี่ปุ่นมีอัตราการเกิดของเด็กน้อย รัฐบาลจึงต้องหาวิธีที่จะสนับสนุนเด็กรุ่นต่อไป ปราสาทของเด็กก็เช่นกัน เราได้ดูแลเด็กระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ส่วนนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เราจัดการฝึกอบรมเป็นพี่เลี้ยง เป็นอาสาสมัครดูแลเด็ก รวมทั้งให้คำปรึกษาแก่แม่ที่ตั้งครรภ์”



“พ่อแม่ส่วนใหญ่ส่งลูกเรียนกวดวิชา เพื่อจะได้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนที่ดี ทำให้ลูกไม่มีความสุข หรือไม่อยากให้ลูกออกไปเล่นข้างนอก เพราะกลัวอันตราย เด็กจึงอยู่แต่ในบ้าน คนข้างบ้านก็ไม่สนใจ ไม่พูดคุยกัน เด็กไม่มีโอกาสที่จะรู้จักเพื่อนวัยเดียวกัน ดังนั้นปัจจัยที่ขาดไม่ได้คือ การเล่น เราจึงรณรงค์ให้เด็กมีเวลาเล่น เพื่อให้มีการพัฒนาทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคม อารมณ์ การเรียนรู้ รู้จักเล่นกับคนอื่น เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคม กล้าแสดงออก และค้นพบความสามารถของตน ในกรณีที่เด็กมีปัญหา เช่น พัฒนาการช้า จะมีคุณหมอ นักจิตวิทยา มาให้คำปรึกษา” ผู้จัดการแผนกสุขภาพสำหรับเด็กบอกแก่เรา



หลังเลิกเรียนหรือวันหยุด จึงมักพบเห็นพ่อแม่จูงมือลูกมาใช้บริการ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น ออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เล่นดนตรี ร้องเพลง สร้างงานศิลปะ รวมทั้งไปแค้มปิ้งในต่างจังหวัด เพื่อให้เด็กๆ ได้สัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ทำให้โลกของเด็กสวยงามยิ่งขึ้น




 

Create Date : 27 พฤษภาคม 2553    
Last Update : 27 พฤษภาคม 2553 3:19:43 น.
Counter : 762 Pageviews.  

3. รู้จักโอซากา ผ่านพิพิธภัณฑ์

วันที่ 4 หลังจากเรียนภาษาญี่ปุ่นในช่วงเช้า เราได้ฝึกพูดคุยภาษาญี่ปุ่นกับอาสาสมัครในช่วงบ่าย พี่แอนได้รู้จักกับ “มะลิ” ชื่อเต็มๆ คือ Mari Sugimoto มะลิพาพี่แอนไปกินอาหารกลางวัน ให้ลองสั่งอาหาร พาไปนั่งรถไฟใต้ดินโดยให้หยอดเหรียญซื้อตั๋วที่เครื่องจำหน่ายตั๋วเอง



ระหว่างเดินทาง มะลิชี้สิ่งของรอบตัวให้พี่แอนรู้จักคำศัพท์หลายอย่าง และถามถึงคำเรียกในภาษาไทยบ้าง เช่น ตะเกียบ จาน ชาม ฯลฯ

จุดหมายเราอยู่ที่ร้านหนังสือเด็ก และ “พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์โอซากา” (Osaka Museum of History) แหล่งเรียนรู้ที่พี่แอนสนใจ





พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์โอซากา จัดแสดงศิลปวัตถุ และสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เมืองโอซากา เราขึ้นลิฟต์ไปที่ชั้น 10 เพื่อเริ่มต้นเดินตามรอยอารยธรรมโบราณ เราพบหุ่นจำลองขนาดเท่าจริงเป็นข้าราชบริพารของจักรพรรดิ ที่นี่ยังมีมุมให้เราได้ลองสวมชุดด้วย มะลิชวนพี่แอนสวมชุดอันทรงเกียรตินี้ คุณป้าซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่อาสาสมัครได้แต่งตัวให้พี่แอนและถามว่ามาจากไหน เมื่อตอบว่า แบ็ง-กอก (Bangkok) เธอพยักหน้าบอกว่ารู้จัก “บาง-กอก” และดีใจที่ได้เจอคนไทย คุณป้ายังโค้งแล้วโค้งอีกเมื่อพี่แอนกล่าวขอบคุณ นี่คือความมีอัธยาศัยดีของชาวเมืองนี้ที่พี่แอนได้สัมผัส



ที่ชั้น 9 จัดแสดงหุ่นจำลองขนาดเล็ก สะท้อนภาพวิถีชีวิตของชาวเมืองโอซากาในอดีต ซึ่งรู้จักกันในฐานะที่เป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของชาติ เราเห็นภาพชีวิตคน สภาพบ้านเรือน ซึ่งจัดแสดงด้วยเทคนิคการหมุน 360 องศา ให้เรามองเห็นอย่างรอบด้าน

ที่ชั้น 8 คือศูนย์วิจัยด้านโบราณคดี จัดแสดงขั้นตอนการขุดและการวิจัยทางโบราณคดี ถัดลงมาอีกชั้น จัดแสดงเมืองโอซากาในยุคสมัยใหม่ตอนต้น ที่มีความเจริญคล้ายคลึงกับปัจจุบัน มีหุ่นจำลองยวดยานพาหนะขนาดเท่าจริง ทำให้ทราบว่ารถไฟ JR และรถไฟใต้ดิน เริ่มมีมานานแล้ว



เราได้เพลิดเพลินกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ระบบสัมผัส สื่อผสมต่างๆ ที่ถ่ายทอดเรื่องจากอดีต เดินทอดน่องชมเพลิน เอ...ได้ยินเสียงประกาศ แม้แปลภาษาญี่ปุ่นไม่ออก แต่เดาได้ว่า ใกล้หมดเวลาทำการแล้ว อย่างนี้พี่แอนต้องขอตัวก่อนแล้วละค่ะ




 

Create Date : 25 พฤษภาคม 2553    
Last Update : 26 พฤษภาคม 2553 14:10:49 น.
Counter : 671 Pageviews.  

2. ลัดฟ้าสู่นครโอซากา

เครื่องบินทะยานขึ้นจากสนามบินดอนเมือง พาเราลัดฟ้าสู่สนามบินคันไซ ประเทศญี่ปุ่น รวมเวลาเดินทาง 5 ชั่วโมงเศษ สนามบินแห่งนี้ตั้งอยู่กลางทะเล และไม่น่าเชื่อเลยว่าสร้างจากการนำขยะมาถมให้เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่


ผืนน้ำทะเลข้างล่างสีฟ้าใส ท้องฟ้ามีก้อนเมฆลอยล่องดุจปุยนุ่นปลิวพัดผ่าน อากาศยามนี้ทำให้เห็นสภาพภูมิประเทศได้ชัดเจน




เวลาที่ญี่ปุ่นเร็วกว่าไทย 2 ชั่วโมง จึงต้องปรับนาฬิกากันใหม่ เมื่อก้าวผ่านประตูสนามบินสู่ผืนดินประเทศญี่ปุ่น สัมผัสอากาศเย็นสดชื่น ไม่หนาวจนเกินไปนัก สูดลมหายใจเข้าเต็มปอด จากนั้นขึ้นรถบัสเดินทางไปที่ศูนย์นานาชาติโอซากา (OSIC)

เราขนสัมภาระเข้าสู่ที่พัก OSIC ศูนย์แห่งนี้มีเครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า โต๊ะรีดผ้า บริการให้ยืมเตารีด จักรยาน มีห้องสัมมนา ห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์ โรงยิม ห้องคาราโอเกะ ที่นี่เรายังได้พบคนไทยที่ได้รับทุนมาศึกษาและวิจัย


เจ้าหน้าที่จาก Japan International Coorperation (JICC) คือคุณฮิโรโกะ เซนซุย และคุณทิพกร อัญชลีภรณ์ หรือคุณปุย ซึ่งเป็นผู้ประสานงานและล่ามในส่วนของเยาวชนกลุ่มสวัสดิการสังคม (เด็ก) คุณปุยชี้แจงกฎระเบียบของที่พัก นัดหมายเวลาพิธีเปิด คุณฮิโรโกะซึ่งพูดไทยได้ดียังแนะอีกว่า เมื่อเจอกับเยาวชนกัมพูชาซึ่งจะเข้าร่วมพิธีเปิดกับเราในวันรุ่งขึ้น ให้พูดว่า จอมเลียบสวะ แปลว่า สวัสดี


ถ่ายรูปร่วมกันในพิธีเปิดโครงการ



คุณฮิโรโกะและคุณปุย เจ้าหน้าที่ที่ดูแลเราตลอดสามสัปดาห์



ระหว่างพักอยู่ที่ OSIC มีกิจกรรมหลักในช่วงห้าวันแรก คือฟังบรรยาย เพื่อเข้าใจวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น เรียนภาษาญี่ปุ่นจากอาจารย์ญี่ปุ่น ฝึกพูดภาษาญี่ปุ่นกับอาสาสมัคร โดยเรียนนอกห้องกับอาสาสมัครชาวญี่ปุ่น เพื่อคุ้นเคยกับการใช้ภาษาในสถานการณ์จริง

ยามเย็นหลังเลิกเรียน พี่แอนและเพื่อนๆ ออกมาชมสภาพบ้านเมืองรอบที่พัก สองข้างทางถนนเป็นระเบียบ เห็นผู้คนข้ามถนนในที่ให้ข้าม ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

วันที่ 2 เราลงรถที่ศูนย์การค้า Vivre ป๋วยตื่นตากับขนมเค้กที่แต่งหน้าไว้อย่างน่ากิน ขณะที่หมีสนใจดูตุ๊กตาบาร์บี้ หนิงบอกแพง ข้าวของบางอย่างบ้านเราดีกว่า เช่น ผ้า ฯลฯ





การเรียนภาษาที่เพิ่งเรียนมายามบ่าย ช่วยให้สื่อสารอย่างได้ผล เมื่อแจ้งกับเจ้าหน้าที่เพื่อยืมเตารีด พี่แอนพูดว่า นานา-นิ-ซาน แปลว่า 723 เลขที่ห้องพัก เมื่อพูดแล้วคนอื่นเข้าใจ เราก็ดีใจมากแล้ว ขณะไปรอบที่พักเมื่อซื้อของ แม่ค้าอาจเข้าใจ แต่ตอบเป็นภาษาอังกฤษไม่ได้ คู่มือพกพาจึงเป็นผู้ช่วยเรา ทำให้ลดความประหม่าลงได้บ้าง



ช่วงสัปดาห์แรกร่างกายต้องปรับตัว อย่างตั๊กเพื่อนในคณะรู้สึกเจ็บคอ ผู้ประสานงานและล่ามพาไปหาหมอ ตั๊กมาพร้อมกับยาหลายเม็ด และเอกสารเกี่ยวกับยา ซึ่งมีภาพถ่ายและรายละเอียดของยามาด้วย







 

Create Date : 24 พฤษภาคม 2553    
Last Update : 24 พฤษภาคม 2553 17:45:48 น.
Counter : 871 Pageviews.  

1. ก้าวแรกของมิตรภาพ

“พี่แอน”

บันทึกประสบการณ์ในช่วงเวลา 23 วัน เมื่อครั้งที่ได้ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นไปดูงานด้านสวัสดิการเด็ก (Child Welfare) ทำให้ได้เปิดหู เปิดตา ทั้งยังเปิดใจยอมรับเพื่อน จนเกิดเป็นมิตรภาพระหว่างเพื่อนคนไทยและต่างชาติ นอกจากนี้พี่แอนยังได้นำมาปรับใช้กับงานอาชีพด้านหนังสือเด็กด้วย

โครงการมิตรภาพเยาวชนอาเซียน-ญี่ปุ่น ที่กำลังจะพูดถึง จัดโดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency) หรือ JICA ดำเนินงานในนามของรัฐบาลญี่ปุ่น และสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ (สท.) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ ซึ่งเปิดรับสมัครสอบคัดเลือกเยาวชนในกลุ่มสาขาต่าง ๆ ในแต่ละปี

พี่แอนอยู่ในกลุ่มสาขาสวัสดิการสังคม (เด็ก) ซึ่งมีจำนวน 23 คน เดินทางไปพร้อมกับเพื่อนกลุ่มสาขาการศึกษา (สายอาชีพ) 22 คน กิจกรรมของกลุ่มแรกคือ การฟังบรรยายและทัศนศึกษาสถานที่ที่เด็ก ๆ ไปหลังเลิกเรียน สถานรับเลี้ยงเด็กทั้งเด็กปกติและเด็กพิการ ได้เห็นหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีการบริหารงานเพื่อรองรับปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะสถานที่พัฒนาศักยภาพของเด็กหลายแห่งที่เมืองเกียวโต การเข้าค่ายสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเยาวชนญี่ปุ่น การพักกับครอบครัวในท้องถิ่น และนอกเหนือจากตารางกิจกรรมคือ ได้ไปชมแหล่งเรียนรู้ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีอยู่มากและหลากหลาย

ก่อนเดินทางเริ่มต้น คณะเยาวชนต้องเข้าค่ายเพื่อปฐมนิเทศและเตรียมความพร้อม พวกเราได้รับความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ เช่น ความรู้เรื่องสวัสดิการสังคม สถานการณ์ปัจจุบันด้านเศรษฐกิจสังคมและการเมืองไทย ความสัมพันธ์ไทย-อาเซียนและญี่ปุ่น เอกลักษณ์และวัฒนธรรมไทย ผลกระทบจากการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม นโยบายเด็ก ปัญหาสถานการณ์ด้านเด็ก การใช้ชีวิตในญี่ปุ่น เรียนรู้สังคมและวัฒนธรรมญี่ปุ่น เรียนภาษาญี่ปุ่น และฝึกสำเนียงจากเจ้าของภาษา นอกจากนี้ยังต้องฝึกซ้อมการรำเพื่อเตรียมไปเผยแพร่ด้วย

ในงานเลี้ยงส่ง มีการแสดงของพวกเราที่จะไปเผยแพร่ที่ญี่ปุน ถือเป็นการซักซ้อมไปในตัว พวกเราสนุกสนานกับงานเลี้ยง พร้อม ๆ กับความรู้สึกตื่นเต้นกับวันข้างหน้า เพราะไม่รู้ว่าจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง



- “เข็มเยาวชนพระราชทาน” ที่เยาวชนได้รับมอบติดไว้ที่หน้าอก เป็นเครื่องเตือนใจให้ประพฤติดีงาม อย่างถูกต้องเหมาะสม

“เราไปในฐานะเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการ ฐานะหนึ่งคือแสวงหาความรู้เฉพาะด้าน แล้วนำกลับมาพัฒนาประเทศ ต้องรู้เขา รู้เรา แล้วเปรียบเทียบนำสิ่งดี ๆ มา สิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้คือ ฉันเป็นคนไทย จะชอบญี่ปุ่นไม่ว่า ขอให้รำลึกเสมอว่า เราเป็นคนไทย” คุณสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพิทักษ์เยาวชน สท. ให้ข้อตระหนักแก่เยาวชนในวันปฐมนิเทศ




 

Create Date : 23 พฤษภาคม 2553    
Last Update : 29 เมษายน 2565 1:05:34 น.
Counter : 1039 Pageviews.  

1  2  3  

แอนเทล
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add แอนเทล's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.