bloggang.com mainmenu search

จินตนา ปิ่นเฉลียว หรือ จินตนา ภักดีชายแดน เป็นชื่อจริงของนักเขียนนวนิยายแนวระทึกขวัญที่รู้จักกันดีในนาม จินตวีร์ วิวัธน์

และยังได้ชื่อว่าเป็นกวีหญิงฝีปากกล้าคนหนึ่ง ของคณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีชื่อเสียงเลื่องลือไกลออกไปนอกรั้วอุดมศึกษา ไม่ว่าจะเป็น กลอนวิพากษ์สังคม การเมือง กลอนหวาน หรือแม้แต่กลอนหักมุม

ส่วนบทประพันธ์นวนิยายของ จินตนา นอกจากจะเป็นแนวสยองขวัญที่หยิบยกเอาเรื่องผีสาง ความเร้นลับ หรือความเชื่อโบราณมาผูกเป็นเรื่องราวแล้ว ยังมีอีกหลายเรื่องที่ถือเป็นบทประพันธ์อันโดดเด่นและฉีกแนวจากนวนิยายทั่วไปเป็นอย่างมาก

จากการนำเรื่องราวของวิทยาศาสตร์ จิตศาสตร์ หรือแม้แต่ พฤกษศาสตร์ เข้ามาผนวกกับความเชื่อและความสยองขวัญอันชวนระทึก จนเกิดเป็นนวนิยายแนวไซไฟ-ระทึกขวัญ ที่มีความเหนือล้ำกาลเวลา

ชนิดไม่ว่าจะผ่านไปกี่สิบปี ความทันสมัยของตัวเนื้อหาในนวนิยายก็ล้วนยังชวนให้น่าทึ่ง ระคนไปกับความระทึกอันเป็นอารมณ์หลักของเรื่อง ซึ่งมีจุดเชื่อมโยงกันได้อย่างลงตัว เช่น กึ่งหล้าบาดาล ศีรษะมาร มนุษย์สังเคราะห์ มฤตยูเขียว เป็นต้น

แม้กระทั่งงานเขียนแนวร่วมสมัยที่นำเอาเรื่องราวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น อารยธรรมโบราณ เทพปกรณัม อสุรกาย ภูติผี มาผนวกเข้ากับความสยองขวัญ

จนเกิดเป็นนวนิยายแนวดาร์กแฟนตาซีที่ผสมกลมกลืนกับความเป็นไทยได้อย่างกลมกล่อม อาทิ อมฤตาลัย แทบหัตถ์เทวี หรือสาบนรสิงห์ เป็นต้น ก็ได้ปรากฏภายใต้การจรดอักษรของจินตนามาแล้วเช่นกัน

ที่สำคัญ บทประพันธ์หลายเรื่องภายใต้นามปากกาต่าง ๆ ของจินตนา ยังได้ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์โทรทัศน์มาแล้วแทบทั้งสิ้น อาทิ ศีรษะมาร สาบนรสิงห์ คฤหาสน์ดำ ขุมทรัพย์โสมประภา

อมฤตาลัย สุสานภูเตศวร มฤตยูเขียว วังไวกูณฑ์ อาศรมสาง บ้านศิลาทราย มายาลวง มายาพิศวาส นอกจากนี้ก็ยังมี บุปผาเพลิง ที่ได้รับการสร้างเป็นละครวิทยุอีกด้วย

จากการประสบความสำเร็จดังกล่าวข้างต้น จึงถือเป็นเครื่องยืนยันความยอดเยี่ยมในผลงานของจินตนาได้เป็นอย่างดี

ทว่าจะมีสักกี่คนที่รู้ว่าผลงานชวนระทึกขวัญทุกชิ้นดังกล่าวนั้น จะเกิดจากจรดอักษรขึ้นโดยนักเขียนหญิงซึ่งเป็นคนกลัวผีมาก มากเสียจนถูกขนานนามว่าเป็น ราชินีนิยายสยองขวัญที่กลัวผีมากที่สุด


ประวัติ

จินตนา ปิ่นเฉลียว หรือ จินตนา ภักดีชายแดน เป็นบุตรีคนสุดท้องของ นายวิวัธน์และนางพวง ปิ่นเฉลียว มีพี่สาวคนโตชื่อมาลัย ส่วนพี่ชายมีสองคนคือ ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว และ วาทิน ปิ่นเฉลียว (ผู้ให้กำเนิดนิตยสารต่วยตูน)

จินตนาเกิดเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2485 ที่โรงพยาบาลศิริราช และถึงแก่อาสัญในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 ด้วยโรคมะเร็งตับ ซึ่งถือเป็นการจากไปอย่างรวดเร็วด้วยวัยเพียง 46 ปี

และเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการนิยายสยองขวัญ เพราะนับแต่นั้นเป็นต้นมาก็เรียกได้ว่ายังไม่มีนักเขียนหญิงคนใดสามารถก้าวขึ้นมาแทนที่ตำแหน่งราชินีนิยายสยองขวัญผู้นี้ได้อีกเลยแม้แต่คนเดียว

ด้านการศึกษา จินตนาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปีการศึกษา 2506 และจบการศึกษาปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต สาขาภาษาและวรรณคดีไทย จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตรในปีการศึกษา 2517

ด้านงานเขียน จินตนาเริ่มเขียนกลอนตั้งแต่อายุราว 10 ปี และส่งผลงานไปยังนิตยสารเด็กสม่ำเสมอ กระทั่งช่วงที่อยู่มัธยมฯ 3 ผลงานก็ได้ตีพิมพ์ในนิตยสารชัยพฤกษ์และดรุณสาร

ทั้งยังเคยได้รับรางวัลที่ 2 จากการประกวดบทสักวาในนิตยสารชัยพฤกษ์ ส่วนงานร้อยแก้วนั้น จินตนาเริ่มต้นด้วยการเขียนเรื่องสั้นลงพิมพ์ในเสรีคอลัมน์สำหรับเด็กของหนังสือพิมพ์สารเสรี

และเคยได้รับรางวัลโบว์สีฟ้าจากการประกวดเรื่องสั้นในโครงการของนิตยสารสยามสมัย

นอกจากงานด้านร้อยแก้วแล้ว จินตนายังถนัดเขียนบทกลอนและมีผลงานแพร่หลายตามนิตยสารอยู่เสมอ โดย พ.ศ. 2505 ได้ชนะการประกวดชุมนุมกลอนชาวบ้านทางโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4

ซึ่งสมัยนั้นจินตนากำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาที่เตรียมอุดมศึกษา, พ.ศ. 2514 และ พ.ศ. 2515 ได้รับรางวัลจากมูลนิธิจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ สองปีซ้อนจากผลงานเรื่อง นิราศพระอาราม และเรื่อง อยุธยาวสาน,

พ.ศ. 2523 ได้รับรางวัลชมเชยจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือประเภทกวีนิพนธ์จากผลงานเรื่อง เพลงมนุษย์ จากนั้นในปีถัดมาก็ยังได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดในรายการเดียวกันจากผลงานเรื่อง ศรีจุฬาลักษณ์

สำหรับนามปากกา จินตวีร์ วิวัธน์ ได้เริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ. 2518 ซึ่งตลอดช่วงเวลากว่าสิบปีที่ใช้นามปากกานี้ ได้ทำให้ผลงานของจินตนาเป็นที่ชื่นชอบของผู้อ่านอย่างกว้างขวางจนบรรดานิตยสารชั้นนำต่าง ๆ ต้องการตัวและดึงมาร่วมงาน

ไม่ว่าเครือบางกอก-ทานตะวัน หรือสกุลไทย-หญิงไทย ยังผลให้ไม่มีเวลาสร้างสรรค์ผลงานในด้านบทกวี อีกทั้งช่วงเวลาดังกล่าวก็ยังเป็นช่วงเดียวกับที่พี่น้องปิ่นเฉลียวเริ่มจัดทำนิตยสารรายเดือนต่วยตูนพิเศษ

จึงมอบให้จินตนาเป็นบรรณาธิการเพื่อนำเสนอเรื่องราวลึกลับอิงไสยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ลงในนิตยสารอีกด้วย ซึ่งจินตนาก็ดำรงตำแหน่งบรรณาธิการนี้เรื่อยมาจนกระทั่งถึงแก่อาสัญด้วยโรคมะเร็งตับ

หลังจากที่ วินัย ภักดีชายแดน ผู้เป็นสามีสิ้นชีวิตอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุได้เพียงสองปีกว่าเท่านั้น ถือเป็นการปิดฉากราชินีสยองขวัญแห่งเมืองไทย

นอกจากนี้ จินตนายังเคยให้สัมภาษณ์ว่าการที่มาเขียนเรื่องลึกลับนั้นก็เพราะพี่ชายคือ วาทิน ปิ่นเฉลียว เป็นผู้ที่ชอบอ่านหนังสือประเภทนี้มากและมักจะแอบซ่อนหนังสือเอาไว้เป็นอย่างดีเพราะกลัวน้องจะหยิบมาอ่านเข้า

เนื่องจากวาทินรู้ดีว่าน้องสาวของตนเป็นคนกลัวผีมาก แต่ที่สุดแล้วจินตนาก็พยายามแอบขโมยมาอ่านทุกเรื่องจนได้ ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นข้อดีของนักเขียนที่เฉพาะเจาะจงเขียนเรื่องแนวเร้นลับและผีสาง

เพราะสิ่งนั้นทำให้จินตนาสามารถถ่ายทอดความรู้สึกออกมาในบทบรรยายได้ใกล้เคียงกับความรู้สึกกลัวของตัวเอง


นามปากกา

1. นามปากกาในบทประพันธ์นวนิยาย

- จินตวีร์ วิวัธน์, ก่ำฟ้า เฟือนจันทร์, หทัยธรณี, สการะวาตี

2. นามปากกาในงานเขียนอื่น ๆ ที่ตีพิมพ์ลงนิตยสารต่วยตูน

- ไดโนเสาร์ (แก่), ไอคิว 45


บทประพันธ์ในนามปากกา จินตวีร์ วิวัธน์

- 1. กึ่งหล้าบาดาล
- 2. ขุมทรัพย์โสมประภา
- 3. จุมพิตเพชฌฆาต
- 4. พรายพระกาฬ
- 5. พลังหลอน

- 6. มณีสวาท
- 7. มนุษย์สังเคราะห์
- 8. มฤตยูเขียว
- 9. มนุษย์ชิ้นส่วน (มฤตยูเขียว ภาค 2)
- 10. มาแต่หิมพานต์

- 11. มายาลวง
- 12. มิติเร้น
- 13. โลก:2599
- 14. วังไวกูณฑ์
- 15. อุโมงค์มาร

- 16. เสกอสุรกาย (อุโมงค์มาร ภาค 2)
- 17. อาศรมสาง
- 18. คฤหาสน์ดำ
- 19. คุ้มคำพญา
- 20. ใต้เงาปิรามิด

- 21. บ้านศิลาทราย
- 22. อมฤตาลัย
- 23. ม่อนมนต์ดำ
- 24. ศตวรรษสวาท
- 25. ศีรษะมาร

- 26. สางสยอง
- 27. มายาพิศวาส
- 28. สาบนรสิงห์
- 29. สุสานภูเตศวร
- 30. ภูตพระจันทร์

- 31. คัมภีร์ภูต
- 32. แทบหัตถ์เทวี
- 33. อาถรรพณ์เทวี
- 34. สางสีทอง
- 35. ผาโหงพราย
- 36. รวมเรื่องสั้น ขวัญหนี


บทประพันธ์ในนามปากกา ก่ำฟ้า เฟือนจันทร์
- 37. พิภพสนธยา
- 38. บาดาลนคร (พิภพสนธยา ภาค 2)
- 39. บุปผาเพลิง


บทประพันธ์ในนามปากกา หทัยธรณี
- 40. มิติหลง


บทประพันธ์ในนามปากกา สการะวาตี
- 41. เจ้าชายในฝัน
- 42. รักระทึก


บทประพันธ์ที่ไม่มีการรวมเล่มตีพิมพ์
- 43. จักราพยาบาท
- 44. เหยื่อยมบาล
- 45. ภวังค์
- 46. สุสานเสน่หา


ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


โสรวารสิริสวัสดิ์ มานมนัสรมณียย์ค่ะ


Create Date :26 ธันวาคม 2552 Last Update :26 ธันวาคม 2552 17:00:32 น. Counter : Pageviews. Comments :0