วัดถ้ำแสงเพชร
สาขาที่ 5
ของวัดป่าหนองพง
จัดเป็นวัดป่าที่มีป่าสมบูรณ์ที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ภาคอีสาน
วัดถ้ำแสงเพชร นี้ตั้ง อยู่บนเชิงภูเขาขาม เขาลูกนี้
มีลักษณะลาดไปทางทิศตะวันออก จึงมีถ้ำเกิดขึ้นจากเพิงหินหลายแห่ง
ในจำนวนนี้ได้มีถ้ำขนาดใหญ่อยู่ 2 แห่ง คือ ถ้ำพระใหญ่(ถ้ำแสงเพชร)
และถ้ำพระน้อย(ถ้ำโคนอน)
เดิมชาวบ้านเรียกภูเขานี้ว่า ภูถ้ำขาม หรือ ถ้ำพระใหญ่
อยู่ท่ามกลางป่าไม้อันร่มรื่น มีต้นไม้นาๆชนิดขึ้นเขียวชอุ่ม อุดมสมบูรณ์
ร่มรื่น มีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่
เมื่อก่อนชาวบ้านแถวนี้อาศัยเข้าไปหาของป่าและล่าสัตว์เป็นประจำ
มูลเหตุที่เรียกว่า ภูเขาขาม นี้ เนื่องมาจากมีต้นมะขามขนาดใหญ่ขนาด 4 คนโอบ
ต้นหนึ่ง ขึ้นอยู่ใกล้เชิงผาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของภูเขา ใกล้กับต้นมะขาม
มีถ้ำอยู่แห่งหนึ่ง เล่ากันว่าเมื่อก่อนถ้ำนี้เป็นที่พำนักของ ฤาษีตนหนึ่ง
ชาวบ้านจึงเรียกถ้ำนี้ว่า ภูถ้ำขาม
เมื่อ พฤศจิกายน พ.ศ.2511 หลวงพ่อชา สุภัทโท(พระโพธิญาณเถร)
พร้อมด้วยพระมหาอมร เขมจิตโต(พระมงคลกิตติธาดาเจ้าอาวาสวัดป่าวิเวกธรรมชาน์)
และพระอาจารย์ โรเบิร์ต สุเมโธ(โรเบิร์ต แจคแมน)(พระราชสุเมธาจารย์)
ได้เดินทางมายัง อำเภออำนาจเจริญ
ซึ่งสมัยนั้นเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี
ในคราวนั้นหลวงพ่อชาพร้อมด้วยคณะได้เดินทางผ่านหน้าร้าน แสงชัยบริการ
ซึ่งเป็นร้านของคุณกระจ่าง แซ่แต้ และคุณ แสงจันทร์ หอมศรี
สองสามีภรรยาเจ้าของร้าน มองเห็นพระเถระที่มีจริยาวัตร อันงดงาม
น่าเคารพเลื่อมใสจึงเกิดความศรัทธา จึงได้นิมนต์เข้าไปนั่งในร้าน
ถวายน้ำดื่ม และสอบถามถึงจุดหมายปลายทางที่จะเดินทางไป
เมื่อควรแก่เวลา พระเถระทั้งสามรูป จึงเดินทางต่อไปจนถึง
สำนักสงฆ์บ้านบกเตี้ย ซึ่งมี พระอาจารย์โสม ถิรจิตโต พำนักอยู่
(หลังจากสร้างวัดถ้ำแสงเพชรแล้ว สำนักสงฆ์นี้ก็ร้างไป ปัจจุบันนี้เรียกว่า
วัดบ้านดงเจริญ) หลวงพ่อชา และคณะได้พักที่สำนักสงฆ์บ้านบกเตี้ย 1 คืน
ครั้นรุ่งหลังจากฉันภัตตาหารเช้าเสร็จ
หลวงพ่อชา และคณะพร้อมญาติโยมแถวนั้นอีก 2-3 คน เดินทางขึ้นภูถ้ำขาม
เดินลัดเลาะไปตามป่า โดยอาศัยเส้นทางเดินป่าของชาวบ้านถิ่นนั้น
ครั้นตกเย็น หลวงพ่อชา และคณะได้พักที่หน้าถ้ำพระใหญ่
โดยญาติโยมได้ทำนั่งร้านปูด้วยไม้กระดาน เป็นที่พักชั่วคราว
คืนนั้นหลวงพ่อชาและคณะ ได้ทำวัตรเย็น
นั่งสมาธิแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ทั้งหลายทุกคืนอยู่ที่หน้าถ้ำแห่งนี้เป็นประจำ
ล่วงมาเข้าคืนที่ 4 หลังจากทำวัตรเย็น นั่งสมาธิ และแผ่เมตตา
เวลา ประมาณ 3 ทุ่ม ขณะที่กำลังนั่งพักผ่อนฉันน้ำปานะอยู่นั้น
หลวงพ่อชา สุภัทโท ได้ปรารภกับ พระมหาอมร เขมจิตโตว่า
สถานที่นั่งสมาธิบำเพ็ญธรรมแห่งนี้สงบเย็นสบาย ปลอดโป่รงใจดีเหลือเกิน
เหมือนกับว่าเป็นที่เราเคยอยู่มาก่อน
ถ้าไม่เห็นแก่สังขารจะนั่งสมาธิตลอดทั้งคืนโดยไม่นอนก็ได้
หลวงพ่อได้ปรารภต่อไปอีกว่า ถ้ำแห่งนี้เขาเรียกว่า "ถ้ำแสงเพชร"
พระมหาอมรจึงค้านว่า ชาวบ้านเขาเรียกว่า ถ้ำพระใหญ่
แต่ หลวงพ่อชา ก็ยืนยันว่า ไม่ใช่ ต้องเรียกว่า ถ้ำแสงเพชร ถึงจะถูก
ตั้งแต่นั้นมาถ้ำพระใหญ่จึงกลายเป็น ถ้ำแสงเพชร ตามที่หลวงพ่อชาได้ปรารภ
ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ไม่มีใครกล้าถามถึงมูลเหตุแต่อย่างใด
ครั้นมาถึง พ.ศ.2515 ความจริงก็ได้มาเปิดเผยขึ้นมา
โดยแม่พัด ซึ่งเป็นคนบ้านก่อ ได้มากราบนมัสการหลวงพ่อชาที่วัดหนองป่าพง
แล้วแม่พัด เกิดอาการเหมือนเจ้าเข้าทรงพระมหาอมรจึงถือโอกาสสอบถาม
เกี่ยวกับ ความเร้นลับต่างๆหลายๆอย่าง
จนกระทั่งได้ถามถึงถ้ำแสงเพชรจากคำบอกเล่าของแม่พัดที่เข้าทรง ได้ความว่า
ที่ถ้ำแสงเพชรนี้ เดิมในสมัยก่อน เป็นที่อยู่ของ พระยาเพชรราช
เป็นเจ้าผู้ปกครองดั้งเดิม มีพระมเหสีอยู่ 2 พระองค์ พระยาเพชรราช
เป็นผู้มีสมบัติ เพชรนิลจินดามากมาย แต่ไม่ยอมยกให้ใคร
จากคำบอกเล่าของ แม่พัด พระมหาอมรจึงนึกได้ว่าคงเป็นเพราะเหตุนี้นั้นเอง
หลวงพ่อชา สุภัทโท จึงได้ปรารภชื่อของถ้ำที่แท้จริง คือ ถ้ำแสงเพชร
นอกจากนี้มีชาวบ้าน บ้านหาดทรายมูลได้เล่าให้ ฟัง
เมื่อคราว ไปถ้ำแสงเพชรครั้งแรก เมื่อพ.ศ.2511 ว่าก่อนหน้านั้น
มี พระธุดงค์หลายรูปสะพายบาตรแบกกลด เข้ามาบำเพ็ญเพียรภาวนา
อยู่ในบริเวณถ้ำแห่งนี้ และได้เกิดความโลภอยากได้สมบัติ
เจ้าของผู้ดูแลรักษาสมบัติ จึงได้แสดงปาฏิหาริย์ เขย่าถ้ำ ราวกับหินจะพังลงมา
จนพระภิกษุเหล่านั้นเกิดความกลัวต้องเตลิดหนไปอยู่ไม่ได้
ถ้ำแสงเพชรนี้ ความจริงยังมีถ้ำลึกเข้าไปอีกถ้ำหนึ่ง
ปากถ้ำอยู่ขวามือของถ้ำแสงเพชร ปากถ้ำใหญ่ประมาณ 1 เมตร
แต่ลึกมาก หลวงพ่อโสม ถิรจิตโต เคยเข้าไปแต่ยังไปไม่สุดทาง
ก็ต้องกลับออกมาก่อน เนื่องจากเป็นทางแคบ และมืดมากในถ้ำ
เคยมีพระพุทธรูปเล็กๆทำด้วยไม้ ทองและเงิน
บางองค์เป็นพระผงคล้ายดินเผาผสมผงว่าน
พระพุทธรูปที่ว่านี้อยู่จำนวนมากในถ้ำลึก
หลวงพ่อชาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นที่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม
ของผู้แสวงหาความหลุดพ้น จึงได้ เริ่มปรับปรุงบริเวณหน้าถ้ำแสงเพชร
โดยมีญาติโยมที่เป็นชาวบ้านใกล้เคียงมาช่วยเหลือจึงได้ปรับปรุงพื้นที่
ให้เป็นที่อยู่ชั่วคราวได้แต่เนื่องจากพื้นที่อยู่บนภูเขาสูง ไป - มาลำบาก
หลวงพ่อชาจึงย้ายลงมาอยู่ที่ราบเชิงเขาทางทิศใต้ ได้มีญาติโยมผู้มีจิตศรัทธา
ได้ปลูกสร้างศาลามุงด้วยหญ้าคาไว้สำหรับ พระได้อาศัยบำเพ็ญธรรมชั่วคราว
เส้นทางสัญจรไป-มาในขณะนั้นเป็นเพียงทางท้าวที่เชื่อมต่อถนนใหญ่ด้านหน้า
หลวงพ่อชา สุภัทโท คิดจะปรับปรุงถ้ำแสงเพชรให้เป็นวัด
เป็นสาขาที่ 5 ของวัดหนองป่าพง
จึงนำลูกศิษย์จากวัดหนองป่าพง เริ่มแผ้วถางป่า ทำทางผ่านป่าละเมาะ
มุ่งสู่ถ้ำแสงเพชร โดยจัดให้พวกหนึ่งอยู่ที่ถ้ำแสงเพชรและตีระฆังเป็นระยะ
และให้อีกพวกหนึ่งแผ้วถางทางไปตามเสียงระฆัง เมื่อได้แนวของเส้นทางแล้ว
จึงกำหนดให้ถางออกกว้างโดยอาศัยปักไม้ไผ่ไว้เป็นระยะๆตามเสียงระฆัง
เป็นสามหลักเป็นเส้นตรงเดียวกัน ก่อนจะถอนแต่ละหลักไปปักข้างหน้าเรื่อยๆไป
จนทะรุถึงถ้ำแสงเพชร เครื่องมือเครื่องใช้ มี มีด จอบ เสียม ตามแต่ชาวบ้าน
ผู้มีจิตศรัทธาจะหามาได้ ด้วยร่วมมือกันของชาวบ้านด้วยความเสียสละ
โดยหวังเพียงบุญกุศล แม้จะได้ทางเข้าพอรถเล่นได้บ้าง แต่ยังไม่สะดวกนัก
จนกระทั่งวันหนึ่ง นายช่าง น้อยเสริม แสงสุพรรณ
นายช่างใหญ่แขวงการทางอุบลราชธานี พร้อมด้วยภรรยาได้มาเยี่ยมหลวงพ่อชา
เกิดมีจิตศรัทธา จึงได้ชักชวน นายช่างใหญ่แขวงการทางอำนาจเจริญและคณะ
มาช่วยปรับปรุงเส้นทางเพื่อให้รถยนต์ สามารถเข้าออกได้สะดวกขึ้น
สถานที่ปฏิบัติธรรม ธรรมะ-ธรรมชาติ โดยแท้อยู่ที่นี่
"วัดถ้ำแสงเพชร"
นกเงือกสัญลักษณ์แห่งรักแท้และนักปลูกป่าแห่งภูผาสูง
นกเงือกเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของป่า“ที่ไหนมีนกเเงือกที่นั่นป่าสมบูรณ์”
นกเงือกสามารถช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้มากกว่า 100 ต้น/สัปดาห์
ต้นไม้เหล่านี้จะมีอัตราเติบโตเป็นไม้ใหญ่ราว5 เปอร์เซ็นต์
“หนึ่งชีวิตของนกเงือก” จึงสามารถปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ป่าได้ถึงราว500,000 ต้น
นกเงือก1 ตัวกินเมล็ดพืช100 เมล็ดต่อวันเมล็ดดังกล่าว
มีอัตรางอกเป็นต้นไม้แค่5%
ในหนึ่งปีมี365 วันนกเงือก1 ตัวมีอายุเฉลี่ย 25 ปี
จะสามารถเพิ่มต้นไม้ใหญ่ในป่าได้ถึง45,625 ต้นต่อปี
ป่าสมบูรณ์จึงต้องมีนกเงือกไม่ต่ำกว่า500 ตัวในการสืบเผ่าพันธุ์ให้คงอยู่
เมื่อหนึ่งชีวิตปลิดปลิว...ต้นไม้จะหายไปกี่ต้น?
แวะกราบพระ และเดินชมป่า
ดังเช่นนั้น "วัดถ้ำแสงเพชร" แห่งนี้น่าจะเป็นวัดป่าที่สมบูรณ์อันดับต้นๆ
ในภาคอีสานก็ว่าได้
เครดิต : ข้อมูลจาก https://www.watthamsaengphet.com/16645927/เกี่ยวกับเรา
และสถาบันปลูกป่า ปตท.https://www.pttreforestation.com/Storyview.cshtml?Id=25
ภาพ : i phone 7
ตอนต่อไป
โดย: ไวน์กับสายน้ำ 27 มิถุนายน 2562 15:28:34 น.
โดย: โชคดีหนักหนาเกิดมาเป็นคน (สมาชิกหมายเลข 5236191 ) 27 มิถุนายน 2562 15:41:29 น.