bloggang.com mainmenu search
{afp}
สืบสานประเพณีอีสาน


บุญเดือนเก้า"ข้าวประดับดิน"


เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และสัตว์นรก ,เปรตหรือผีไม่มีญาติ


 

** แปล
 

ผีไม่ได้ห่อข้าว

 

บัดนี้มากล่าวถึงวิญญาณน้อย เป็นผีพลอยมาคอยเปล่า

มองไปหาลูกและหลานจะเอาข้าวมาส่งบุญ มองไปหาตรงนี้ ตรงนั้นจนทั่วอาราม

ถามเพื่อนมาด้วยกันว่า ไม่เห็นลูกหลานเรา หรือว่ามัวแต่เล่น มัวแต่นอนกลางวันไม่รู้ตื่น

ถึงยามกลางคืนจึงไม่ รู้เลยว่า บุญคุณพ่อแม่ก็สำคัญล่ำลือไปทั่วสารทิศ

"บุญข้าวประดับดิน" ปีละแค่ครั้งเดียวเท่านั้น

ได้มาทำไว้ตั้งแต่แม่ยังมีชีวิตอยู่ เสียงเรียกร้องดัง ตึงๆ ลูกไม่ไดเยินหรอ

เพื่อนฝูงมาด้วยกัน แม่เห็นหมดสิ้น 

หรือลูกหลานมีธุระ จำเป็นอะไรกว่าแม่หนอ

จึงไม่คำนึงถึงบุญคุณ ถึงเมื่อคราวที่แม่ได้เลี้ยงดูลูกอย่างแก้วตาดวงใจของแม่

ถึงคราวแม่ตายไปแล้วบุณคุณของแม่จึงกลับกลายเป็นอื่น

แม่มารอทั้งคืน จนถึงเช้า แม่อ่อนใจ 

สิ่งที่แม่สอนสั่งไว้ลูกกลับลืม ไม่คิดเห็นบุญคุณพ่อแม่ ที่ถนอมเลี้ยง

ไม่ได้แม้เพียงสักนิดตามประเพณีปีละครั้งเดียว

แค่ข้าวเพียงเล็กน้อย แม่รอคอยทั้งคืน 

ถ้ารู้อย่างนี้

เมื่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ จะขายกินให้หมดทั้งนา ทั้งสวน รั้วบ้าน พร้อมทั้งวัว ควาย เป็ดไก่ หรือเอาไปทำบุญให้พระสงฆ์สร้างก่อ

ยังจะได้บุญต่อ ไม่ต้องเกิดต้อยต่ำรอคอยส่วนบุญกับลูกหลานเช่นนี้

ปีนี้หมดห่วงแล้ว ข้าวห่อประดับดิน 

ลูกไม่สนทำบุญทำทานให้อดทนหิวไปอีกจนถึงปีหน้าจะมาเยี่ยมใหม่

 

ฟังเอานะแม่วิญญาณ ขอสั่งไว้ จำให้แม่น ส่งบุญ

 

________________________


และในฐานะเป็นลูกหลานชาวอีสาน จึงมีประเพณีของชาวอีสานมาฝากกัน

ประเพณีบุญข้าวประดับดิน หรือ บุญเดือนเก้า

เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาในภาคอีสาน

ซึ่งในปีนี้ ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม เป็นวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ปีกุน
(คือเช้าตรู่ของคืนวันนี้นี้เองค่ะ)

วิธีทำบุญข้าวประดับดิน

ลูกๆหลานๆหรือชาวบ้านจะนำข้าวปลา อาหาร คาวหวาน ผลไม้ หมาก พลู บุหรี่

มาห่อด้วยใบตองหรือกระทงเป็นห่อๆเล็กๆ

แต่สมัยนี้ง่ายหน่อยไม่ต้องมานั่งจัดเตรียมเองเหมือนสมัยเป็นเด็ก

เพราะมีคนรับทำเป็นอาชีพเลย ห่อเล็กๆห่อละ 5 บาท 10 บาท
   

(รูปไม่ชัด คุณยายกำลังห่อ ถ่ายส่งมาให้ดู ขออนุญาตลงค่ะ)

พอได้เครื่อง คาว หวาน ครบแล้ว เวลาที่เราจะต้องนำไปวาง

ภาษาอีสานชาวบ้านเรียกว่า"ยายห่อข้าวน้อย"

ก็นับตั้งแต่ตีหนึ่งเป็นต้นไปจนถึงตีสี่ตีห้า

*  ยาย ในภาษาอีสาน แปลเป็นภาษากลางหมายถึง กระจัดกระจาย

หรือ วางเป็นระยะๆ

    


เราจะนำไปวางเป็นห่อๆ ที่โคนต้นไม้บ้าง ที่พื้นดินบริเวณรอบ ๆ เจดีย์

หรือโบสถ์ บ้าง บริเวณข้างรั้ววัดบ้าง

โดยการ"ยายห่อข้าวน้อยนี้" ชาวอีสานเราเชื่อกันว่า

เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว

รวมถึงให้กับสัตว์นรก ,เปรต หรือ ผีไม่มีญาติ ด้วย

   

ทั้งนี้"บุญข้าวประดับดิน" ถือว่าเป็นการให้ทานแก่วิญญาณผู้ยากไร้

รวมทั้งสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ ที่ต้องหิว อดมื้อกินมื้อมาตลอดทั้งปีอีกด้วย

เพราะการที่ตั้งอาหารไว้ที่พื้นหมายเพื่อให้สัตว์เหล่านั้น

สามารถเข้ามากินอาหารได้

สมัยใหม่ประเพณีอีสานที่เรียกว่าบุญเดือนเก้า"ข้าวประดับดินนี้"

ก็ยังคงสืบสานกันอยู่เพียงแค่เอาความสะดวกสบาย ง่ายมากขึ้น

บางครอบครัวอาจละเลยเพราะคิดว่าไปทำบุญอุทิศให้วันไหนก็ได้รับเหมือนกัน

แต่ส่วนมากจะยังคงสืบสานกันอยู่เพราะเราเชื่อกันว่า

พญายมราช จะปล่อยให้วิญญาณได้ขึ้นมารับส่วนบุญนี้

เปรียบเสมือนวันเยี่ยมญาติ อะไรทำนองนั้นที่เราเข้าใจ

และเชื่อว่า บรรพบุรุษ เขามารอกิน รอพบลูกหลานในวันนี้  

ส่วนตัวคิดว่าหากละเลย บรรพบุรุษท่านคงเสียใจหากเราลืมเขา
  

และส่วนตัวก็ไม่ได้อยู่ร่วมทำบุญเหมือนสมัยเด็กๆแล้ว

เพราะด้วยหน้าที่การงาน และต้องย้ายถิ่นฐานตามงานที่ต้องทำ

จึงทำได้เพียงส่งกำลังปัจจัย ไปทางครอบครัว

สมัยนี้โชคดีที่มีโซเชียล สามารถติดต่อกันง่าย

อยู่ที่ไหนก็เหมือนได้อยู่ร่วมกับครอบครัวเสมอ

และที่ทำได้ เพื่อความระลึกถึง เราจึงทำได้เพียง เท่านี้ค่ะ

วางที่ประตูหน้าบ้าน ซ้าย และ ขวา

หมาหอนเกรียว

  



พิธีกรรมบุญข้าวประดับดิน เมื่อสมัยเก่าก่อนจริงๆ มีดังนี้

เริ่มตั้งแต่ วันแรม 13 ค่ำ เดือน 9 ชาวบ้านจะเตรียม ข้าว ข้าวต้มมัด ขนม อาหารคาวหวาน หมาก พลู และบุหรี่ไว้แบ่งเป็น 4 ส่วน


ส่วนที่ หนึ่ง เลี้ยงดูกันภายในครอบครัว


ส่วนที่สอง แจกให้ญาติพี่น้อง


ส่วนที่สาม อุทิศให้ญาติที่ตายไปแล้ว


และสุดท้ายส่วนที่สี่ นำไปถวายพระสงฆ์

ในส่วนที่สาม ญาติโยมจะห่อข้าวน้อย ส่วนอื่นไม่ต้องห่อ

 ซึ่งมีวิธีการห่อตามที่ได้กล่าวข้างต้น


และในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 เราชาวบ้านก็จะไปวัดตั้งแต่เวลาตี1 ไปจนถึงตี 4 (ส่วนตัวครอบครัวเราจะไปราวๆสักตีสอง ถึง ตีสามประมาณนี้ค่ะ)

เพื่อนำสิ่งของที่เตรียมไว้จัดใส่กระทง ไปวางตามที่ต่าง ๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้น

ซึ่งการวางแบบนี้ เรียกว่า การวางห่อข้าวน้อย แต่หากเป็นการนำไปวางในวัด จะเรียกว่า "การยาย" ภาษาไทยหมายถึง การวางเป็นระยะ ๆ 


หลังจากวางเสร็จสิ้นแล้ว เราชาวบ้านก็จะแยกย้ายกันกลับบ้าน

เพื่อไปเตรียมอาหารทำบุญที่วัดอีกทีหนึ่งในตอนเช้า

ภาษาอีสานเรียกว่า ถวาย "จังหัน"

เมื่อถวาย"จังหัน" และ พระสงฆ์ฉันเช้าเสร็จก็จะเทศน์ฉลองบุญข้าวประดับดิน

ต่อจากนั้น ชาวบ้านก็จะนำปัจจัยถวายแด่พระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ให้พรเสร็จ

ก็จะกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

เป็นการเสร็จสิ้นตามประเพณี


 blog นี้เพียงอย่างบอกเล่าเผื่อไปยังผู้ที่ไม่เคยรู้

หรือผู้ที่อยากจะรู้ ถึงประเพณีอีสานที่สืบสานกันมาอย่างยาวนาน

และอยากเป็นหนึ่งในลูกหลานชาวอีสานที่ช่วยสานต่อประเพณี

"บุญเดือนเก้า ข้าวประดับดิน"

ให้รุ่นลูก รุ่นหลานได้มีโอกาสเรียนรู้ประเพณี และวัฒนธรรม แบบนี้ด้วยเช่นกัน


*ข้อมูลที่นำมาลงกระทู้ คือข้อมูลที่ ได้ยิน ได้เห็น และได้ปฏิบัติ

มาตั้งแต่สมัยเด็กๆ โดยข้อมูลไม่ใช่จากทฤษฎี

แต่ได้จากการได้เห็นคุณย่า คุณยายปฏิบัติสืบต่อกันมา 



และหากข้อมูลเหล่านี้ผิดพลาดประการใดขออภัยชาวอีสานมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

 
Create Date :28 สิงหาคม 2562 Last Update :30 สิงหาคม 2562 17:06:27 น. Counter : 2237 Pageviews. Comments :0