บางครั้งโลกแห่งความจริงไม่สวยงาม...เฉกเช่นความฝัน แต่รู้สึกและจับต้องได้
Group Blog
 
 
ธันวาคม 2553
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
30 ธันวาคม 2553
 
All Blogs
 

ปรัชญา คติธรรม กวี คำคม (1)...โก้วเล้ง








โก้วเล้ง เป็นนักเขียน ที่พยายามแสวงหาแนวความคิดใหม่ นำความแปลกใหม่มาสู่นิยายกำลังภายใน เพื่อให้นิยายกำลังภายในมีคุณค่าทาง ศิลปะและผู้คนทุกชนชั้นสามารถอ่านได้ มีทั้งความสนุกสนานและข้อคิดที่เป็น ประโยชน์ผสมผสานเทคนิคอันหลากหลายเข้ากับนิยายกำลังภายใน โก้วเล้งมุ่ง หวังว่านิยายกำลังภายในจะได้รับการยอมรับเป็นวรรณกรรมประเภทหนึ่งเช่นเดียวกับวรรณกรรมประเภทอื่น สามารถประดับอยู่ในห้องหนังสือหรือห้องรับแขกได้ อย่างเต็มภาคภูมิ ความพยายามของโก้วเล้งพ้องกับคำ “เพชรต้องผ่านการเจียรไน จึงเปล่งประกาย กระบี่ต้องฝนจึงคมกล้า” หากไม่ใช่เผชิญความลำเค็ญ ไม่ ได้ผ่านเบ้าหลอมที่เคี่ยวกรำ ไหนเลยประสบความสำเร็จได้ ?

หมวดที่ 1 ชีวิต

กล่าวถึงชีวิตในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อเตือนใจ
• การมีชีวิตอยู่เป็นสิ่งที่มีคุณค่า ดังนั้น การมีชีวิตอยู่ดีกว่าตกตายไป
• ในชีวิตหนึ่งมีอะไรที่เราไม่คาดหมายเกิดขึ้นได้ 108 ประการ ดังนั้น อย่าได้ยึดมั่นถือมั่นจนเป็นจริงเป็นจังเกินไปนัก
• ความประมาทเลินเล่อนำพาชีวิตไปสู่ความผิดพลาด
• คนเราเกิดมาแตกต่างกัน
• ความเปลี่ยนแปลงในชีวิตมักเกิดจากการตัดสินใจในพริบตาเดียว
• การมีความหวังในชีวิต
• ความสุขในชีวิต
• ความเศร้าในชีวิต ความคิดถึงที่ทำให้เกิดความปวดร้าว
• การมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมาย
• ความอดทนต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตเรา

การไม่ยึดมั่นถือมั่น
• จริงๆเท็จๆ เท็จๆจริงๆ ชีวิตคนความจริงเป็นละครบทหนึ่ง ไยต้องยึดถือเป็นจริงเป็นจังไป ? (แค้นสั่งฟ้า น. 100)
• ชีวิตคนไยมิใช่เฉกเช่นเวทีละครฉากหนึ่ง พวกเราไยมิใช่กำลังเล่นละคร ? (ทวนทมิฬ น. 243)
• เรื่องราวของชั่วชีวิตหนึ่ง คล้ายเป็นความฝันอย่างยิ่ง จริงหรือเท็จ ความจริงมีน้อยคนนัก จะสามารถแยกแยะได้แน่ชัด (เหยี่ยวเดือนเก้า เล่ม 3 น. 723)
• ทุกข์หรือสุข โชคหรือเคราะห์ ความจริงก็มิใช่เป็นความแน่นอนที่สุด หากท่านคิดจะไปได้ในด้านใดมากกว่า ก็ต้องทอดทิ้งอีกด้านหนึ่งไปบ้าง ความจริงชีวิตคนเรา มิต้องถือจริงจังเกินไปนักอยู่แล้ว (เดชขนนกยูง น. 113)


ความหวัง
• “วันพรุ่งนี้” เต็มไปด้วยความหวังตลอดกาล เนื่องเพราะยังมีวันพรุ่งนี้ ในโลกจึงมีคนจำนวนมากสามารถดำรงชีวิตต่อไป (ไม่มีวันก้มหัวให้ น. 39)
• ในโลก ความจริงไม่มีเรื่องโชคช่วยที่แท้จริง และต้องไม่มีเคราะห์ร้ายที่แท้จริงด้วย ระยะของโชคและเคราะห์ ความจริงก็พิสดารอย่างยิ่ง ดังนั้น หากท่านพบพานกับเรื่องเคราะห์ อย่าได้ตัดพ้อตำหนิ อย่าได้ท้อแท้เป็นอันขาด แม้นับว่า ท่านถูกเคราะห์จู่โจมจนล้มลงก็มิเป็นไร เนื่องเพราะขอเพียงท่านยังมีชีวิต ท่านก็ต้องยังมีเวลาทรงกายขึ้นยืนได้ (เดชขนนกยูง น. 16)
• ขอเพียงแต่มีความหวัง ย่อมมีโอกาส (ราชายุทธจักร เล่ม 5 น. 2103)

ความสุขในชีวิต
• ชีวิต หากพยายามให้ดำเนินไปตามครรลองอันถูกต้อง จะเป็นเศรษฐีมีทรัพย์นับอนันต์ หรือยากไร้จนต้องภิกขาจาร หากถืออุเบกขามิฟุ้งเฟ้อทะเยอทะยาน ย่อมมีความสุขสมอัตภาพทุกรูปนาม (นักสู้ผู้พิชิต เล่ม 8 น. 3163)
• ได้อยู่ดีกินดี สวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ดี นั่นไม่อาจนับเป็นวันเวลาประเสริฐ ที่สำคัญสุดคือ ต้องดูหัวใจท่านมีความสุขหรือไม่ ขอเพียงหัวใจมีความสุข เรื่องอื่นๆ ต่างมิเป็นที่สำคัญเลย (เดชขนนกยูง น. 89)
• ก่อนที่ความมืดจะปกคลุมพสุธา เทพยดามักประทานแสงสีแก่โลกมนุษย์เป็นพิเศษ เช่นเดียวกับคนผู้หนึ่ง ก่อนตายมักแสดงออกซึ่งเมตตาธรรม แสดงออกซึ่งสติปัญญาเป็นพิเศษ นี่คือชีวิตของคน ท่านหากเข้าใจชีวิตของคนอย่างถ่องแท้ ความเศร้าเสียใจของท่านจะลดน้อยลง และมีความสุขมากยิ่งขึ้น (ซาเสียวเอี้ย เล่ม 3 น. 1226)
• ความสุขเป็นสิ่งที่ประหลาดยิ่ง หาได้ลดน้อยเพราะท่านแบ่งปันแก่ผู้อื่นไม่ บางครั้ง ท่านยิ่งแบ่งปันแก่ผู้อื่นมากขึ้น ความสุขที่ตนเองได้รับ ก็จะมากยิ่งขึ้น (ดาบมรกต น. 23 – 24 )

ความเศร้า
• คนเมื่อมีชีวิตอยู่ ก็มีความเจ็บปวดรวดร้าว ที่ความจริงเป็นเรื่องที่ไม่ว่าผู้ใด ก็ไม่มีปัญญาหลีกเลี่ยงได้ (หลั่งเลือดสะท้านภพ เล่ม 3 น. 915)
• ความเศร้าเสียใจ ความจริงสามารถกัดกร่อนผู้คนจนเหน็ดเหนื่อย (ยอดมือปราบ น. 155)
• บางครั้ง ความเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยว ยังคับแค้นทรมานกว่าความตาย ไม่เช่นนั้น ในโลกไหนเลยมีคนเสียชีวิต เพราะความเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยว (ซาเสียวเอี้ย เล่ม 3 น. 1076)

การมีชีวิตอย่างมีความหมาย
• ความหมายของชีวิตที่จริงก็คือ มานะพยายามต่อสู้ด้วยความเข้มแข็ง (ราศีดอกท้อ เล่ม 1 น. 87)
• คนที่ครอบครองทุกสิ่งผู้หนึ่ง ยังมีความสนุกสนานอันใด โลกนี้ยังมีเรื่องใดคู่ควรให้ต่อสู้ดิ้นรนอีก ? อย่างเขามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร หรือว่า อยู่เพียงเพื่อมีชีวิตอยู่ ? ในชีวิตคนผู้หนึ่ง ต้องมีเป้าหมายที่คู่ควรให้ต่อสู้ดิ้นรน ชีวิตของคนผู้นี้จึงมีความหมาย (กล้วยไม้เที่ยงคืน น. 239)

ความอดทน
• ในช่วงชีวิตหนึ่ง อย่างไรก็มีเรื่องเบิกบานแจ่มใสได้อยู่หลากหลาย ผู้ใดแม้จะพบพานเรื่องโชคร้าย เผชิญกับความทุกข์ยากลำเค็ญอยู่บ้าง ก็มีคุณค่าให้อดกลั้นทนทานอยู่ ขอเพียงสามารถอดกลั้นทนทาน ก็ต้องได้รับคุณค่าตอบสนองแน่นอน (ผู้ยิ่งใหญ่ เล่ม 1 น. 246)
• หนทางแต่ก่อนนั้นแม้จะทุรกันดาร แต่สิ่งที่ได้มาอย่างลำบาก ไยมิใช่ยิ่งมีคุณค่าน่าทะนุถนอม (ราชายุทธจักร เล่ม 3 น. 1146)
• คนมีชีวิตอยู่ก็ต้องอดทน อดกลั้น ความหมายอีกหนึ่งของอดทน ... คือดิ้นรนต่อสู้ อดกลั้นทนทานโดยไม่หยุดยั้ง ก็คือ ดิ้นรนต่อสู้โดยไม่หยุดยั้ง มิเช่นนั้น ชีวิตของท่านจะไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง เนื่องเพราะความจริง ชีวิตเติบใหญ่ขึ้นจากห้วงทุกข์ทรมาน (ผู้ยิ่งใหญ่ เล่ม 1 น. 223)


หมวดที่ 2 ชื่อว่า คน

เป็นการพูดถึงคนโดยรวม เกี่ยวกับประเภทของคนและอุปนิสัยของคนแบบต่างๆ โดยแบ่งออกเป็น
• คนโง่และคนฉลาด
• คนที่พยายามทุกวิถีทางให้มีชีวิตรอดต่อไป
• คนที่หมดกำลังใจที่จะมีชีวิตต่อ
• จุดอ่อนและปมด้อยของคน
• ลักษณะนิสัยด้านลบของคน
• ลักษณะนิสัยด้านบวกของคน

คนโง่และคนฉลาด
• แม้นับเป็นคนฉลาดปราดเปรื่องสุดยอด แต่ในบางด้านก็กลายเป็นคนโง่เขลาได้ (ราศีดอกท้อ เล่ม 2 น. 667)
• คนผู้หนึ่งหากตั้งใจเป็นตัวโง่งม ท่านได้แต่ปล่อยให้มันเป็น ม้าตัวหนึ่งหากดึงดันไม่ยอมเดินทางต่อ ท่านก็ได้แต่ปล่อยให้มันหยุดยั้งลง (ทวนทมิฬ น. 171)
• คนโง่ก็มิใช่ทุกผู้คนจะหลอกลวงได้ ยิ่งเป็นคนฉลาดเพียงใด ยิ่งหลอกคนโง่เขลาไม่ได้ ... เนื่องจากคนฉลาดมีความคิดกลอกกลิ้งเกินไป ส่วนคนโง่นั้นไม่มีความคิดมากมาย หากมันแน่ใจว่าเจ้าจะหลอกลวง แม้วาจาที่เจ้ากล่าวเป็นความจริง มันก็ไม่เชื่อ (นักสู้ผู้พิชิต เล่ม 6 น. 2346 – 2347 )

คนที่พยายามทุกวิถีทางให้มีชีวิตรอดต่อไป
• มิถึงยามอับจนปัญญา มิมีผู้ใดคิดใคร่ตาย (จับอิดนึ้ง เล่ม 1 น. 369)
• ทุกคนเสี่ยงชีวิตเพื่อคิดอยู่สืบไป (ไม่มีวันก้มหัวให้ น. 318)
• ไม่ว่าผู้ใดล้วนมีสิทธิ์พิทักษ์รักษาชีวิตตนเอง เพื่อปกป้องสิทธิ์นี้ คนผู้หนึ่งไม่ว่าทำอะไร สมควรได้รับความเคารพ (ทวนทมิฬ น. 221)

คนที่หมดกำลังใจที่จะมีชีวิตต่อ
• คนที่ป่วยหนัก สามารถรอดต่อไปหรือไม่? อย่างน้อยต้องดูตัวมันเอง คิดจะมีชีวิตต่อไปหรือไม่? (เหยี่ยวเดือนเก้า เล่ม 3 น. 667)
• บุคคล ... หากทำลายชีวิตโดยง่ายดาย นับเป็นเรื่องราวอันน่าอัปยศอดสู (ราชายุทธจักร เล่ม 3 น. 1065)
• การอัตวินิบาตกรรม มิใช่เป็นพฤติการณ์ของผู้กล้าหาญ แต่เป็นการกระทำของคนอ่อนแอมิกล้าสู้โลก (นักสู้ผู้พิชิต เล่ม 4 น. 1473)

จุดอ่อนและปมด้อยของคน
• ผู้ที่หยามเหยียดตนเอง มักจงใจเสแสร้งเป็นเย่อหยิ่งลำพอง (ดาบมรกต น. 167)
• ในตัวของแต่ละคน ต่างมีเชือกที่มองไม่เห็นพันธนาการอยู่เส้นหนึ่ง เวลาส่วนมากในชั่วชีวิต ต่างถูกเชือกเส้นนี้ พันธนาการไว้แนบแน่น เชือกของคนบางจำพวกคือ บุตรภรรยาและครอบครัว เชือกของคนบางจำพวกคือ ทรัพย์สินเงินทอง กิจการและหน้าที่ (ไม่มีน้ำตาวีรบุรุษ น. 187)
• คนผู้หนึ่งไม่อาจหนีตัวเองได้ ความผิดพลาดของตัวเอง ความเสียใจของตัวเอง ความรับผิดชอบของตัวเอง ล้วนแล้วแต่หนีไม่ได้ เนื่องเพราะนั่นคล้ายเป็นเงาของตัวเอง ซึ่งติดตามตนไปทุกแห่งหน ไม่อาจหนีรอดได้เด็ดขาด (ล่าสุดขีด เล่ม 1 น. 134)

ลักษณะนิสัยด้านลบของคน
• ดาบแม้ไม่แหลมคมเท่ากระบี่ ถึงกับทื่อกว่ากระบี่ แต่โดยแท้ที่จริง มันมีส่วนที่กลอกกลิ้งและรู้จักซ่อนตัวเอง เช่นเดียวกับบุคคลบางคนในโลกนี้ (คมดาบสั้น น. 203)
• ความมักใหญ่ใฝ่สูงก็คล้ายเป็นน้ำป่า ยามเมื่อทะลักลงมา จะไม่มีผู้ใดสามารถควบคุมบังคับได้ กระทั่งตัวเองก็ไม่อาจ ดังนั้น มักใหญ่ใฝ่สูง มิเพียงทำลายผู้อื่นเท่านั้น ยังทำลายตัวเองด้วยเช่นกัน และมักจะทำลายตัวเองก่อนที่ได้ทำลายผู้อื่นเสมอมา แต่ทว่า หากมนุษย์เราไม่มีความมักใหญ่ใฝ่สูงโดยสิ้นเชิง ชีวิตไยมิใช่ชืดชาไร้รสชาติยิ่ง นี่ไยมิใช่ เป็นโศกนาฏกรรมประการหนึ่งของมนุษย์เรา (เหยี่ยวเดือนเก้า เล่ม 3 น. 901)
• ขอเพียงเป็นผู้คน ไม่ว่าเป็นคนเยี่ยงไร คิดหัดประพฤติชั่วล้วนง่ายกว่าประพฤติดีงาม โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับอบายมุข กระทั่งเรียนก็ไม่ต้องเรียน (ซาเสี่ยวเอี้ย เล่ม 3 น. 951)

ลักษณะนิสัยด้านบวกของคน
• วิญญูชนย่อมไม่สร้างความลำบากยากใจแก่ผู้อื่น (จับอิดนึ้ง เล่ม 1 น. 224)
• คนผู้หนึ่งบากบั่นดิ้นรนชั่วชีวิต บางครั้งไม่ได้เพราะชื่อเสียงลาภยศ ... ยังมีอีกประการหนึ่ง ... เพราะอุดมการณ์ (ซาเสี่ยวเอี้ย เล่ม 1 น. 160)
• มนุษย์ที่เป็นมนุษย์ เนื่องเพราะมนุษย์มีมนุษยธรรม ส่วนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยธรรม มักเป็นสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ (ล่าสุดขีด เล่ม 2 น. 516)

หมวดที่ 3 สตรีเพศ

เป็นการกล่าวถึงสตรีในหลายๆด้าน ทั้งความรู้สึกนึกคิดของสตรี อุปนิสัย และ การปฏิสัมพันธ์ต่อบุคคลอื่นทั้งบุรุษและสตรี

• ความในใจและจิตใจของสตรี
• สตรี VS บุรุษ
• สตรี VS สตรีด้วยกัน
• อาวุธของสตรี
• นิสัยด้านลบของสตรี
• นิสัยด้านบวกของสตรี

ความในใจและจิตใจของสตรี
• เรื่องราวในโลกผันแปรไม่แน่นอน จิตใจอิสตรีแปรผันเร็วยิ่งกว่า (ตะขอจำพราก น. 57)
• สตรีหากใจแข็งขึ้นมา ยังแข็งกระด้างกว่าบุรุษมากนัก (คมดาบสั้น น. 426)
• หากคิดศึกษาซึ้งถึงจิตใจอิสตรี ยังลำบากยากเย็นกว่าการฝึกปรือฝีมือเสียอีก (จับอิดนึ้ง เล่ม 1 น. 114)

สตรี VS บุรุษ
• บุรุษที่เชื่องฟังวาจาเกินไป สตรีนับว่าไม่ชมชอบเท่าใด (ยอดมือปราบ น. 132)
• ผู้หญิงมักมีความรู้สึกที่หกอันลึกลับ ดูเรื่องราวที่ผู้ชายจำนวนมากดูไม่ออก (ไม่มีวันก้มหัวให้ น. 361)
• อิสตรีนางหนึ่งหากคิดเป็นภรรยาอันเลอเลิศ ได้รับคำชมเชยจากทุกผู้คน ขณะอยู่เบื้องหน้าสหายของคู่หมั้นหมายหรือสามี ใบหน้าสมควรประดับด้วยรอยแย้มยิ้มตลอดเวลา (จับอิดนึ้ง เล่ม 2 น. 613)

สตรี VS สตรีด้วยกัน
• ผู้ที่สตรีกริ่งเกรงกังวลอย่างแท้จริง คล้ายมักเป็นสตรี (ยอดมือปราบ น. 87)
• อาจบางทียามสตรีรับมือกับสตรีด้วยกัน จะกลายเป็นอำมหิตดุดันกว่าธรรมดาบ้าง (ราศีดอกท้อ เล่ม 1 น. 312)

อาวุธของสตรี
• มีแต่รอยยิ้มอันนุ่มนวล จึงเป็นอาวุธที่ดีที่สุดของสตรี (ทวนทมิฬ น. 145)
• มิว่าเป็นอาวุธลับที่ร้ายกาจเพียงใด อย่างมากก็ซัดใส่ร่างท่านให้เป็นรู เป็นโพรงไม่กี่แผล
แต่น้ำตาของสตรี กลับสามารถราดรดหัวใจท่านจนแหลกลาญ (ราศีดอกท้อ เล่ม 1 น. 193)
• สตรีที่รักจนคลั่งไคล้นางหนึ่ง มักใช้กลอุบายเล็กๆน้อยๆต่อบุรุษที่นางรัก ใช้การหลอกลวงส่วนหนึ่ง เล่ห์กลส่วนหนึ่ง ข่มขู่ส่วนหนึ่ง และความหวานอยู่ 3 ส่วน (กล้วยไม้เที่ยงคืน น. 229)

นิสัยด้านลบของสตรี
• ฟังว่า ขณะที่สตรีนางหนึ่งบังเกิดความหึงหวง กระทั่งกษัตริย์เจ้าชีวิตยังไม่อาจควบคุมบังคับได้ (ดาบมรกต น. 136)
• มีแต่ความแค้น ซึ่งเกิดจากความรักอันระอุคุกรุ่น จึงสามารถบันดาลให้ดรุณีที่บริสุทธิ์ดีงาม กลับกลายเป็นชั่วร้ายดุจอสรพิษ (หลั่งเลือดสะท้านภพ เล่ม 1 น. 97)
• ริษยาขุ่นเคือง ... นี่เป็นสัญชาตญาณของดรุณีทุกนวลนางในใต้หล้า (ราชายุทธจักร เล่ม 2 น. 507)

นิสัยด้านบวกของสตรี
• การสะกดกลั้น นับเป็นคุณสมบัติประการหนึ่งของอิสตรี (จับอิดนึ้ง เล่ม 2 น. 840)
• มิว่าสตรีประเภทใด ต่างมีปมเด่นที่น่ารักของนางอยู่ ขอเพียงท่านมีความอดทนไปแสวงหา ท่านต้องหาพบแน่ (ราศีดอกท้อ เล่ม 1 น. 11)
• ความนุ่มนวลเอาใจของสตรี ย่อมสามารถบันดาลให้บุรุษหวั่นไหวตื้นตันได้ (เหยี่ยวเดือนเก้า เล่ม 3 น. 887)

หมวดที่ 4 บุรุษเพศ

เป็นการกล่าวถึงบุรุษในหลายๆด้าน ทั้งความรู้สึกนึกคิดและอุปนิสัยของบุรุษ การปฏิสัมพันธ์ต่อสตรี และการเป็นลูกผู้ชายชาตรี หรือ วีรบุรุษที่แท้จริง โดยอาจแยกออกได้เป็นดังนี้

• บุรุษ VS เงินทอง
• ลูกผู้ชาย วีรบุรุษ
• อุปนิสัยของบุรุษ
• บุรุษ VS สตรี

บุรุษ VS เงินทอง
• บุรุษผู้หนึ่งไม่อาจใช้จ่ายเงินทองโดยพร่ำเพรื่อ แต่มิอาจไม่รู้จักใช้เงินทอง (ดาบมรกต น. 65)
• ในโลก นอกจากชื่อเสียง สมบัติ และสตรี ยังมีอันใดสร้างความหวั่นไหวใจแก่บุรุษยิ่งกว่า (ซาเสียวเอี้ย เล่ม 1 น. 216)
• คนกลัวภรรยาต่างรุ่มรวย (ราศีดอกท้อ เล่ม 1 น. 150)
ลูกผู้ชาย วีรบุรุษ
• บุรุษเพศ หากไม่ยอมรับชะตากรรม สามารถต่อสู้ดิ้นรนชีวิต ก็นับเป็นชายชาติอันเข้มแข็ง วีรบุรุษที่แท้จริง (จับอิดนึ้ง เล่ม 1 น. 366)
• ชายชาติชาตรีสมควรยืดได้หดได้เมื่อถึงคราจำเป็น (ราชายุทธจักร เล่ม 5 น. 1969)
• ลูกผู้ชายชาติชาตรี เมื่อได้ลั่นปากไปแล้ว ก็เฉกเช่นกับผ้าขาวที่แต้มลงด้วยสี (พิฆาตทรชน เล่ม 1 น. 14)
• บุรุษชาติชาตรีที่แท้จริง หากเมื่อถึงคราจำเป็น มักต้องเสียสละตัวเอง ไปส่งเสริมผู้อื่นอยู่เสมอ (เหยี่ยวเดือนเก้า เล่ม 3 น. 626)

อุปนิสัยของบุรุษ
• บุรุษผู้หนึ่ง หากลอบทำร้ายผู้อื่น จะไม่รอให้ผู้อื่นค้นหาหลักฐานผูกมัดตัวมันได้ (แค้นสั่งฟ้า น. 132)
• หากท่านเป็นบุรุษ ควรเข้าใจเรื่องประการหนึ่งจึงประเสริฐ หากมีบุรุษอื่นมายกย่องชมเชยท่านต่อหน้า หากมิใช่เคารพนับถือท่านจนศิโรราบจริงใจ ก็ต้องเป็นเห็นท่านต่ำทรามจนไร้ค่า และมักยังมีจุดประสงค์อื่นแอบแฝงด้วย แต่หากมันชมท่านลับหลัง นั้นก็เป็นการชมโดยจริงใจ (ผู้ยิ่งใหญ่ เล่ม 3 น. 818)
• บุรุษที่ปราศจากความทะเยอทะยานอยาก ไม่อาจนับเป็นบุรุษที่แท้จริง (ยอดมือปราบ น. 131)

บุรุษ VS สตรี
• บุรุษที่เข้าใจว่า ตนเองเข้าใจสตรีซึ้งกระจ่างยิ่ง หากมิใช่เป็นคนวิกลจริต ก็ต้องเป็นตัวโง่เขลาบัดซบ (ทวนทมิฬ น. 47)
• ต่อให้สตรีนางนั้นเคยร่วมทุกข์ร่วมสุข อยู่ร่วมกับบุรุษผู้นั้นมานานปี ก็ไม่แน่นักว่า จะเข้าใจความนึกคิดและความรู้สึกของบุรุษผู้นั้นจนหมดสิ้น (ซาเสียวเอี้ย เล่ม 1 น. 290)
• มีคนมากหลายอย่างยิ่ง ไม่ยอมแสดงน้ำใจของตัวเองออกมา โดยเฉพะสตรีที่ตัวเองพอใจ ... อาจบางที เนื่องเพราะพวกมันรู้สึก แสดงความรักจนลุ่มหลงต่อหน้าอิสตรี ไม่มีบุคลิกภาพของชายชาตรีอันเข้มแข็ง อาจบางที เนื่องเพราะพวกมันที่จริงไม่รู้จะกระทำเยี่ยงไร (ไม่มีน้ำตาวีรบุรุษ น. 169)

หมวดที่ 5 ความรัก

กล่าวถึงความรักในรูปแบบต่างๆ ความรักระหว่างบุคคลต่อบุคคล ความแตกต่างระหว่างความรักและความแค้น รวมไปถึงพลานุภาพแห่งความรัก โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

• ความรัก VS บุคคล
• ความรัก VS ความแค้น
• ความรักในรูปแบบต่างๆ
• พลังแห่งความรัก

ความรัก VS บุคคล
• ความผิดของผู้ที่เรารัก จะมีมากมายเพียงไร ย่อมยังพออภัยกันได้เสมอ (พิฆาตทรชน เล่ม 3 น. 780)
• การรับความทุกข์ เพื่อบุคคลที่เรารักใคร่ ... เป็นความสุขประการหนึ่ง เพียงแต่ว่า ในใต้หล้า มีบุคคลสักกี่คนที่หยั่งซึ้งถึงความหมายเช่นนี้ และมีวาสนาได้รับ? (ราชายุทธจักร เล่ม 1 น. 388)
• ตัวของความรักไม่มีผิด มิว่าผู้ใดไปรักคนอีกผู้หนึ่งต่างไม่ผิด (ไม่มีน้ำตาวีรบุรุษ น. 181)

ความรัก VS ความแค้น
• ระหว่างรักและแค้น คล้ายคมดาบ มีข้อแบ่งแยกตรงจุดใด ยากที่จะคำนวณได้ (คมดาบสั้น น. 244)
• ไม่รักก็คือแค้น รักถึงที่สุดก็กลายเป็นแค้น ในระหว่างรักกับแค้น ที่จริงห่างกันเพียงเส้นกั้นเท่านั้น (ไม่มีน้ำตาวีรบุรุษ น. 324)
• ที่ความแค้นริษยานำพามาได้ มีแต่ทุกข์ทรมาน พินาศย่อยยับเท่านั้น ดังนั้น ท่านโปรดละทิ้ง ลืมเลือนความแค้นและริษยา มาให้ความรักที่บริสุทธิ์จริงใจต่อกัน ซึ่งย่อมนำพาความสุขแก่ท่านชั่วนิจนิรันดร์ (ราศีดอกท้อ เล่ม 2 น. 798)

ความรักในรูปแบบต่างๆ
• เมื่อเสพรับความสุขของการอยู่ร่วมแล้ว ไฉนไม่อาจกล้ำกลืนรับความปวดร้าวของการจำพราก? หากไม่เคยเผชิญความปวดร้าวของการจำพราก? ไหนเลยล่วงรู้ความสุขของการอยู่ร่วม? (ตะขอจำพราก น. 113)
• ความจริง รักนั้นมักเกิดขึ้นโดยฉับพลันเสมอ มีแต่รักของมิตรสหายเท่านั้น ที่ต้องสะสมขึ้นจากวันเวลา จึงจะหนักแน่นยืนนาน (กระบี่อมตะ น. 55)
• ในวงของความรักนั้น มิเพียงรวมทั้งความรักของมิตรสหาย ยังได้รวมถึงความรักที่มีต่อมนุษยชาติด้วย (ราศีดอกท้อ เล่ม 2 น. 622)

พลังแห่งความรัก
• ความรัก ความจริงตาบอด ความหึงหวงยิ่งสามารถทำให้คนที่ฉลาดที่สุด กลายเป็นทั้งตาบอดทั้งโง่เขลา (ไม่มีวันก้มหัวให้ น. 325)
• พลังจากรักแท้เป็นสิ่งประโลมขวัญ จรรโลงชีวิตผู้คนยั่งยืนนานชั่วนิจนิรันดร์ (จับอิดนึ้ง เล่ม 2 น. 698)
• ความจริง รักมิใช่แตะต้องสัมผัสได้ บางครั้งเจ็บปวดทรมาน บางครั้งหวานชื่นดื่มด่ำ บางครั้งเบิกบานแจ่มใส บางครั้งกลับเศร้าโศกรันทด คนที่โศกเศร้ารันทด เมื่อมีรักอาจจะกลับกลายเป็นร่าเริงแจ่มใสก็ได้ คนที่ร่าเริงแจ่มใส อาจจะเจ็บช้ำรันทดเพราะความรักก็ได้ นี่คือความลับที่ลึกซึ้งของรัก (ราศีดอกท้อ เล่ม 2 น. 509)

หมวดที่ 6 แม่

หมวดที่ 6 ความรักของแม่

• ความรักของมารดา เป็นประกายเจิดจ้าจำรัสที่สุด ในอุปนิสัยใจคอของอิสตรี (จับอิดนึ้ง เล่ม 2 น. 698)
• ไม่มีมารดาคนใด มิมุ่งหวังให้บุตรธิดาของตัว มีชีวิตด้วยความสุขสมบูรณ์ มารดาย่อมต่างหวังให้บุตรธิดามีความสุขสมบูรณ์ (ราศีดอกท้อ เล่ม 2 น. 744)


ที่มาของคำคมเหล่านี้มาจากนวนิยายจีนจำนวน 22 เรื่อง คือ
1. ไม่มีน้ำตาวีรบุรุษ
2. กระบี่อมตะ
3. เดชขนนกยูง
4. ยอดมือปราบ
5. แค้นสั่งฟ้า
6. ตะขอจำพราก
7. ดาบมรกต
8. ทวนทมิฬ
9. คมดาบสั้น
10. ไม่มีวันก้มหัวให้
11. กล้วยไม้เที่ยงคืน
12. ฟันฟ้าผ่านรก
13. จับอิดนึ้ง เล่ม 1 – 2
14. เหยี่ยวเดือนเก้า เล่ม 1 – 3
15. ราศรีดอกท้อ เล่ม 1 – 2
16. ซาเสี่ยวเอี้ย เล่ม 1 - 3
17. ล่าสุดขีด เล่ม 1 - 2
18. นักสู้ผู้พิชิต เล่ม 1 - 8
19. ผู้ยิ่งใหญ่ เล่ม 1 - 3
20. ราชายุทธจักร เล่ม 1 - 5
21. พิฆาตทรชน เล่ม 1 – 4, 7 – 8
22. หลั่งเลือดสะท้านภพ เล่ม 1 – 3

คำนำสำนักพิมพ์

ในบรรดานักประพันธ์นิยายกำลังภายในแล้ว
นามปากกา “โก้วเล้ง” ย่อมเป็นที่รู้จัก เล่าขานยอมรับในความเป็นเอก
ที่รับประกันคุณภาพได้ทีเดียว ผลงานของ “โก้วเล้ง” โดดเด่นด้วยเนื้อเรื่อง
และวิธีการดำเนินเรื่องที่แปลกใหม่กว่าใครๆ รวมทั้งการเป็นเจ้าของลีลาสำนวน และความสามารถในการสอดแทรกปรัชญาชีวิตที่ล้ำลึกกินใจ

นับเป็นโอกาสดีที่ ไพโรจน์ อยู่มณเฑียร ได้ใช้ความมานะพยายาม
รวบรวมสำนวน วาทะ คำคม ของโก้วเล้ง จากที่ต่างๆ มาแยกแยะเป็นหมวดหมู่ อย่างมีระบบระเบียบ เป็นประโยชน์และสะดวกอย่างยิ่งต่อผู้สนใจ
เพราะเท่ากับได้เก็บเอาหัวใจหรือแก่นความคิดของนักประพันธ์อัจฉริยะมาไว้ในที่เดียวกัน สำนักพิมพ์ข้าวฟ่าง
ตุลาคม 2539

คำนำของ ว. ณ เมืองลุง

“โก้วเล้ง” นักเขียนยุทธจักรนิยาย ได้วายชนม์ไปแล้วหลายปี
ทิ้งไว้เพียงผลงานที่ถูกกล่าวขานกัน ทั้งผู้ผลิตในวงการพิมพ์ (พิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก) จอเงิน จอแก้ว (ที่สร้างซ้ำแล้วซ้ำอีก) ว่าไม่มีอีกแล้วในหมู่นักเขียนใหม่และเก่า เพราะหลายปีมานี้ไม่เห็นแววที่จะใกล้เคียงกับผลงานของโก้วเล้งเลย

โก้วเล้งสร้างตัวขึ้นจากความยากจน ต้องทำงานไปเรียนไป
จนกระทั่งจบมหาวิทยาลัยตั้นเจียง (เดิมคือวิทยาลัยภาษาต่างประเทศ) ของไต้หวัน จึงมีภาษาต่างประเทศที่แตกฉานลึกซึ้งจนได้เป็นบรรณารักษ์ของห้องสมุด “ยูซิส” ในไต้หวัน (ช่วงนั้นมีทหารกองเรือที่ 7 ของอเมริกาอยู่ในไต้หวันกับเกาะคีมอยหลายหมื่นคน) แต่ทหารเรือเมื่อขึ้นบก สุรา-นารีย่อมมีเสน่ห์กว่าหนังสือในห้องสมุดมากนัก โก้วเล้งจึงมีเวลาว่างมากพอจะศึกษาค้นคว้าตำรับคำรา และฆ่าเวลาด้วยนวนิยาย ของนักเขียนดังๆ ทั่วโลกแทบทุกคน !

และในช่วงเวลานั้น ไต้หวันกำลังนิยมเรื่องยุทธจักรนิยายมาก
นักเขียนกว่าสองร้อยคนต่างมีความเป็นอยู่ที่อุดมสมบูรณ์ โก้วเล้งที่ยังจนอยู่ จึงลาออกจากบรรณารักษ์กระโดดลงสู่วงการนักเขียนยุทธจักรนิยายบ้าง และเขียนอยู่หลายปี ยังคงมีสภาพพอยู่ได้ โดยไม่เด่นดังเหนือนักเขียนเก่าทั้งหลาย !

โก้วเล้งที่มีภูมิความรู้สูง เป็นอัจฉริยะเปี่ยมพรสวรรค์ได้คิดว่า
จะเหนือกว่าคนอื่นๆ จำเป็นต้องเขียนให้แปลกใหม่กว่าคนอื่นๆ
ที่ย่ำอยู่แต่ในวงจำกัดของน้ำนิ่ง ที่แทบจะกลายเป็นเน่าแล้ว!

ดังนั้นเอง โก้วเล้งจึงเปลี่ยนแนวเขียน โดยผสมผสานเรื่องต่างประเทศเข้าไป มากบ้างน้อยบ้างให้พอสมควร ด้วยสำนวนความเรียงที่แปลกใหม่สะดุดหู ลีลาดำเนินเรื่องที่รวดเร็วกระชับ ยังแทรกปรัชญาชีวิตทั้งของตะวันตกกับตะวันออกไว้อีกด้วย

เรื่องแนวใหม่ของโก้วเล้ง จึงเด่นและดังจนถึงระดับสูงสุด
ครอบคลุมทั้งฮ่องกงกับไต้หวัน ตั้งแต่บัดนั้น (ประมาณปี 2510) เป็นต้นมา

หลักปรัชญาชีวิตที่โก้วเล้งแทรกเข้าในข้อเขียน
หากอ่านโดยพินิจใคร่ครวญ พอจะจุดประกายความคิดขึ้นได้บ้างพอสมควร

บัดนี้ คุณไพโรจน์ อยู่มณเฑียรได้ “แกะ” ออกมาเป็นหมวดหมู่
ช่วยให้อ่านง่าย เข้าใจง่าย นับเป็นคุโณปการต่อผู้อ่านที่ชื่นชอบผลงาน
ของโก้วเล้งเป็นอย่างมากทีเดียว

โก้วเล้งชื่อจริงว่า “โสงเอี๋ยวฮว๋า” มีรูปร่างอ้วนๆเตี้ยๆ ตัวโตๆ
ทั้งยังแซ่ “โสง” ที่แปลว่า “หมี” จึงถูกเพื่อนๆสนิทเรียกว่า “หมีหัวโต”
(โสงต้าโถว) นับเป็นฉายาที่น่ารักดี !

บัดนี้ โก้วเล้งวายชนม์ไปแล้ว เก็บข้อคิดที่ละลายเป็นวาทะและคารมของเขาไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้รำลึกถึงนักเขียนที่เพื่อนๆเรียกว่า “หมีหัวโต”
แต่ทุกคนในวงการเรียกว่า “อัจฉริยะปีศาจ” ที่อาจจะไม่มีอีกแล้วก็ได้ !

ว. ณ เมืองลุง

คำนำของ น. นพรัตน์
นิยายกำลังภายใน เป็นสิ่งพิมพ์ชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากนักอ่านกลุ่มหนึ่ง แต่นักเขียนที่เขียนนิยายกำลังภายในได้อย่างยอดเยี่ยม
จนนักอ่านที่ไม่เคยอ่านนิยายกำลังภายในต้องขวนขวายอ่านนิยายกำลังภายในกัน มีอยู่ท่านหนึ่ง ซึ่งคือโก้วเล้ง มังกรโบราณผู้ล่วงลับดับสูญไปนานปี
แต่ยังฝากผลงานอยู่คู่กับบรรณพิภพตรบเท่าทุกวันนี้

ก่อนที่โก้วเล้งจะมีชื่อเสียงโด่งดัง ตลาดหนังสือนิยายกำลังภายในที่ฮ่องกงเป็นของกิมย้ง ผู้แต่งมังกรหยก ตลาดไต้หวันเป็นของอ้อเล้งเซ็ง ผู้แต่งกระบี่ล้างแค้น โก้วเล้งแม้เขียนนิยายกำลังภายในหลายปี ยังไม่มีผลงานโดดเด่นอันใด เมื่อเขียนเรื่องบู๊ลิ้มงั่วซื่อ (ราชายุทธจักร) จึงเริ่มเปลี่ยนแนวการเขียน ใช้สำนวนความเรียงใหม่ นอกจากนั้น ยังสามารถดัดแปลงนิยายตะวันตก ให้เป็นนิยายกำลังภายในอย่างแนบเนียน รู้จักสอดแทรกปรัชญาชีวิต
ทั้งตะวันออกและตะวันตก จนเป็นสีสันอีกรูปแบบหนึ่ง ถึงกับได้รับยกย่องเป็นอัจฉริยะปีศาจของโลกยุทธจักรนิยาย

ซึ่งความจริง ปรัขญาการดำรงชีวิตที่โก้วเล้งเขียนถึง ล้วนได้รับจากประสบการณ์ ชีวิตเมื่อครั้งตกทุกข์ได้ยาก กลั่นกรองจากหยดเลือดและหยาดน้ำตา ขณะเดียวกัน โก้วเล้งชมชอบดื่มสุรา คบหาสหาย
ดังนั้นในนิยายกำลังภายในของโก้วเล้งทุกเรื่อง ล้วนไม่อาจขาดสองสิ่งนี้
น่าเสียดายที่โก้วเล้งด่วนจบชีวิตด้วยโรคตับ เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2528

กล่าวไปชีวิตของโก้วเล้งเฉกเช่นเทียนไขที่จุดขึ้นพร้อมกันทั้งสองด้าน
มาตรว่าเปล่งแสงเรืองรองพิเศษ แต่ก็มอดไหม้มลายรวดเร็วเป็นพิเศษเช่นกัน

ผลงานของโก้วเล้งยุคหลัง ล้วนได้รับการแปลเรียบเรียบเป็นภาษาไทยทั้งสิ้น นอกจากนั้นยังมีผู้เพียรพยายามรวบรวมคำคม หลักปรัชญาจากในเรื่องต่างๆ ที่โก้วเล้งเขียนไว้ นำมาจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มหลายเล่ม ซึ่งถือว่ามีส่วนช่วยเผยแพร่ ผลงานของมังกรโบราณท่านนี้เช่นกัน

สำหรับรายล่าสุด คุณไพโรจน์ อยู่มณเฑียร ได้รวบรวมคำคมต่างๆของโก้วเล้ง โดยแบ่งแยกเป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจน นับเป็นการรวบรวมที่ค่อนข้างสมบูรณ์กว่า ฉบับพิมพ์ต่างๆที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อเรื่อง “คำคม คารมโก้วเล้ง” จึงสมควรแก่ การครอบครอง เพื่อศึกษาค้นคว้าถึงแก่นแท้แห่งความหมาย
จะได้นำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันเป็นอย่างดี

น. นพรัตน์

ข้อมูลจากคุณ : Natty //bbznet.pukpik.com/
เสียงประกอบ //www.palungjit.com/




 

Create Date : 30 ธันวาคม 2553
1 comments
Last Update : 6 มกราคม 2554 12:48:03 น.
Counter : 8548 Pageviews.

 

 

โดย: deeplove 31 ธันวาคม 2553 1:45:59 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


atruthoflife10
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




กลับคืนสู่ธรรมชาติ ด้วยสุขภาพที่ดีกว่า

ไตรลักษณ์
เกิดขึ้น 26 พ.ย.2553

ดับไป....???

Friends' blogs
[Add atruthoflife10's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.