กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
มีนาคม 2566
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
space
space
28 มีนาคม 2566
space
space
space

บุญกิริยา




235ชาวบ้าน ดำเนินมรรคาด้วยการศึกษาบุญ


    ก่อนหน้านี้   ได้บอกแล้วว่า   ในคำสอนธรรมเพื่อให้เหมาะสำหรับคฤหัสถ์คือชาวบ้าน  แทนที่ท่านจะนำระบบของมรรคมาจัดขั้นตอนในรูปของไตรสิกขา เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา  แต่ท่านจัดใหม่เหมือนดังจะให้เป็นไตรสิกขาฉบับที่ง่ายลงมา   โดยวางรูปขั้นตอนใหม่   เป็นหลักทั่วไป ที่เรียกว่าบุญกิริยา หรือบุญกิริยาวัตถุ   ซึ่งมีจำนวน ๓ ข้อ  หรือ ๓ ขั้น เท่ากับไตรสิกขานั่นเอง แต่มีชื่อหัวข้อต่างออกไปเป็น ทาน ศีล ภาวนา

   ถึงตอนนี้   เมื่อยกไตรสิกขาขึ้นมาย้ำในแง่การศึกษาแล้ว   ก็ควรให้เข้าใจบุญกิริยาในความหมายของการศึกษาด้วย และแท้จริงนั้น   สาระหรือเนื้อแท้ทั้งหมดของบุญกิริยา คือการทำบุญนั้น ก็คือการศึกษานั่นเอง

   ขอให้ดูพุทธพจน์ที่แสดงหลักบุญกิริยาวัตถุ ๓ ดังนี้

     "ภิกษุทั้งหลาย  บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการนี้...คือ  ทานมัย  บุญกิริยาวัตถุ ๑   ศีลมัย  บุญกิริยาวัตถุ ๑  ภาวนามัย   บุญกิริยาวัตถุ ๑ ...

     "ผู้ใฝ่อัตถะนั้น   พึงศึกษาบุญนั่นทีเดียว   อันมีผลกว้างไกล   มีความสุขเป็นกำไร คือ พึงเจริญทาน  ๑  สมจริยา (ความประพฤติเข้ากับธรรม หรือสมตามธรรม)  ๑  เมตตาจิต  ๑  บัณฑิตเจริญธรรม ๓ ประการ  อันก่อให้เกิดความสุข   เหล่านี้แล้ว   ย่อมเข้าถึงโลกที่เป็นสุข ไร้การเบียดเบียน"  (ขุ.อิติ.25/238/270)

   จะเห็นว่า    พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักบุญกิริยาวัตถุว่ามี ๓ อย่าง คืออะไรบ้างแล้ว  ก็ตรัสคาถาสรุป  ทรงบอกให้รู้กันว่าจะทำอะไร กับ บุญกิริยาวัตถุนั้น คือตรัสว่า  พึงศึกษาบุญนั่นทีเดียว  ขอย้ำพระดำรัสเป็นคำบาลีว่า "ปุญฺญเมว โส สิกฺเขยฺย"   ถ้านำคำทั้งสองมาสมาส  (รวมเข้าด้วยกัน)  ก็เป็น  "บุญสิกขา"  นั่นเอง

   ที่ว่าศึกษา ก็คือ ฝึกทำให้เป็นให้มีขึ้น   ฝึกหัดอบรมพัฒนาให้เจริญเพิ่มพูนถนัดชำนาญยิ่งขึ้นไป ก็คือก้าวหน้างอกงามขึ้นไปในมรรค   อย่างคล้อยตามไตรสิกขานั่นเอง


   ขอย้ำความอย่างที่เคยกล่าวมาแล้วว่า หลักศึกษาบุญสำหรับชาวบ้านนี้ เน้นชีวิตด้านนอก และการประพฤติปฏิบัติพื้นฐานขั้นต้น   ตรงข้ามกับฝ่ายบรรพชิตคือพระสงฆ์   ที่เน้นด้านใน และขั้นสูงขึ้นไป

   จะเห็นได้ชัดว่า  หลักปฏิบัติขั้นต้นของไตรสิกขา   รวมคลุมไว้ด้วยศีลคำเดียว  แต่บุญกิริยาของชาวบ้าน  ซึ่งเน้นด้านนอก  ให้น้ำหนักแก่เรื่องการจัดการกับวัตถุ และการอยู่ร่วมสังคม จึงแยกขั้นต้นออกเป็น ๒ ข้อ โดยเอาเรื่องการจัดการวัตถุ คือทาน มาหนุนมานำศีล  ขณะที่ของพระมีศีล แต่ของชาวบ้านมี ทาน และ ศีล

   แต่ทางด้านใน  ที่เป็นระดับลึกสูงขึ้นไป ไตรสิกขาของพระแบ่งชัดเป็น ๒ คือ สมาธิ และปัญญา  แต่บุญกิริยาของชาวบ้าน  พูดรวมคลุมด้วยภาวนาคำเดียว และตามพุทธพจน์ ให้มุ่งที่เมตตาภาวนา คือเจริญเมตตา

   พูดอีกแบบหนึ่งว่า  ชีวิตพระนั้น  ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับวัตถุ  ทานจึงมีบทบาทน้อย  ดังนั้น  ในไตรสิกขา   จึงเอาทานไปผนวกหรือแอบไว้ในศีล (จะดูการจัดสรรวัตถุของพระก็ไปมองในวินัย)

   แต่ชีวิตของพระนั้น   มุ่งอุทิศแก่ด้านใน คือจิตใจและปัญญา  ไตรสิกขา  จึงจัดแยกการศึกษาพัฒนาด้านในนั้น  ออกเป็น ๒ อย่างให้เด่นชัดขึ้นมา  เป็นสมาธิ กับ ปัญญา (อธิจิตต์ และอธิปัญญา)

   ส่วนชีวิตของชาวบ้าน   อยู่กับวัตถุโดยตรงเต็มที่ และการแสวงหาจัดการวัตถุนั้น ก็ดำเนินไปท่ามกลางเพื่อนมนุษย์ร่วมสังคม  ถ้าประพฤติปฏิบัติจัดการไม่ดี  ทั้งวัตถุก็เสียหาย  คนและสังคมก็เดือดร้อนวุ่นวาย  จึงต้องยกทาน และศีลขึ้นมาให้สำคัญโดดเด่น  เป็นบุญกิริยา ๒ อย่างก่อน

   ส่วนการพัฒนาด้านใน   ถึงแม้สำคัญ   ก็ต้องจัดให้พอเหมาะแก่กำลัง เวลา เป็นต้น ที่เขาจะปฏิบัติได้  โดยเอาทั้งเรื่องจิตใจ และปัญญามารวมเป็นข้อเดียวกัน คือ ทั้งพัฒนาจิตใจ (จิตตภาวนา) และพัฒนาปัญญา (ปัญญาภาวนา) มารวมไว้เป็นภาวนาข้อเดียว และเพราะการอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นลักษณะชีวิตของชาวบ้าน   แม้แต่ภาวนานั้นก็จึงเน้นที่การเจริญเมตตา คือเมตตาภาวนา

   คำที่พูดกันสามัญว่า  "ทำบุญ"  ถ้าจะพูดให้ตรงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้  ก็ต้องว่า  "ศึกษาบุญ"  คือให้ทำอย่างเป็นการฝึกฝนพัฒนา  หมายความว่า  บุญนี้เป็นคุณสมบัติ คือ ความดีงามความสามารถ  ทางกายบ้าง  ทางวาจาบ้าง  ทางใจบ้าง  รวมทั้งทางปัญญา  เราต้องทำให้เพิ่มขึ้นและประณีตขึ้นเรื่อยๆ ให้เป็นการฝึกกาย ฝึกวาจา ฝึกจิตใจ และฝึกปัญญา  ชีวิตของเราก็ประณีตงอกงามขึ้นเรื่อยๆ เป็นการพัฒนาชีวิต หรือพัฒนาตนเอง

   ดังที่กล่าวแล้ว มี บุญกิริยาวัตถุ ๓ อย่าง คือ

       ๑. ทาน  การให้  เผื่อแผ่  แบ่งปัน

       ๒. ศีล   การประพฤติสุจริต มีความสัมพันธ์ที่ดี เกื้อกูล ไม่เบียดเบียนกัน

       ๓. ภาวนา   ฝึกอบรมพัฒนาจิตใจ พัฒนาปัญญา


   ในอดีตที่ยาวนาน    ท่านย่อมได้สอนได้อธิบายหลักธรรมเหล่านี้กันเรื่อยมา ปรากฏว่า ถึงยุคอรรถกถา  ได้มีบุญกิริยาวัตถุเพิ่มขึ้นอีก ๗ ข้อ  ซึ่งที่จริงก็ต้องถือว่าเป็นการขยายความและเพิ่มตัวอย่างของบุญกิริยาวัตถุ แต่ละข้อออกไป ดังที่อรรถกถาก็จัดไว้ ซึ่งขอประมวลมาดูเป็นแนวทางเสริมความเข้าใจ ดังนี้

       ๑. ทาน  ในข้อนี้  รวมทั้งปัตติทานมัย คือการเปิดโอกาสให้คนอื่นได้มีส่วนร่วมบุญด้วยการทำความดีด้วยกัน และปัตตานุโมทนามัย คือการอนุโมทนาส่วนบุญ  โดยพลอยชื่นชม หรือแสดงความยินดี  ยอมรับเห็นชอบในการทำบุญทำความดีของผู้อื่น

       ๒. ศีล  ในข้อนี้  รวมทั้งอปจายนมัย คือ อาการมีความอ่อนโยน  สุภาพอ่อนน้อม ให้เกียรติกัน เคารพยกย่องท่านผู้มีความเป็นผู้ใหญ่   ผู้สูงด้วยคุณธรรมความดี  เป็นต้น รวมมาถึงการมีกิริยามารยาทงดงาม  ตามวัฒนธรรมประเพณี และ ไวยาวัจจมัย คือการช่วยเหลือ  รับใช้ บริการ ขวนขวายในกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์

       ๓. ภาวนา  ในข้อนี้  รวมทั้งธรรมสวนมัย  คือการแสดงธรรมให้คำสอนคำแนะนำความรู้แก่ผู้อื่น

   ข้อพิเศษ:  ทิฏฐชุกรรม   คือการทำความเห็นให้ตรง   ซึ่งต้องทำร่วมกำกับการทำบุญข้ออื่นทุกข้อ ให้เป็นการกระทำด้วยความรู้เข้าใจตั้งใจมุ่งหมายถูกต้อง  เท่ากับได้ตรวจสอบทุกกิจกรรม เป็นประกันให้ได้ผลดี และมีการพัฒนา

   โดยนัยนี้  จึงเกิดเป็นชุดขยาย  เรียกกันว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ คือ

       ๑. ทานมัย   ทำบุญด้วยการให้

       ๒. สีลมัย     ทำบุญด้วยการรักษาศีลประพฤติดีงาม

       ๓. ภาวนามัย   บุญด้วยการเจริญภาวนา

       ๔. อปจายนมัย   ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม

       ๕. ไวยาวัจจมัย   ทำบุญด้วยการขวนขวายรับใช้

       ๖. ปัตติทานมัย    ทำบุญด้วยการให้ส่วนความดีแก่ผู้อื่น

       ๗. ปัตตานุโมทนามัย    ทำบุญด้วยการยินดีการทำดีของผู้อื่น

       ๘. ธัมมัสสวนมัย    ทำบุญด้วยการฟังธรรม

       ๙. ธัมมเทสนามัย    ทำบุญด้วยการสอนแสดงธรรม

       ๑๐. ทิฏฐุชุกรรม      ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง


Create Date : 28 มีนาคม 2566
Last Update : 2 มกราคม 2567 15:23:28 น. 0 comments
Counter : 161 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space