เจอสตรีตกน้ำ ภิกษุจะทำอย่างไร?
    วินัยพุทธห้ามนักบวชโดนร่างกายเพศตรงข้าม โดยมีโทษหนักเบาต่างกันตามแต่กรณี
    ปัญหาคือ ในสถานการณ์ถึงแก่ชีวิต ภิกษุควรทำอย่างไร?


    เรื่องนี้ในอรรถกถาในพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 172-173 ได้แนะนำวิธีให้
    อาจสรุปสั้นๆ ว่า คนฉลาดย่อมรู้จักช่วยได้โดยไม่ต้องผิดวินัยสงฆ์

    ยกข้อความมาดังนี้

    วินีตวัตถุในสังฆาทิเสสสิกขาบทที่ ๒

           พึงทราบวินิจฉัย   ในวินีตวัตถุทั้งหลายต่อไปนี้:-

    สองบทว่า   มาตุยา  มานุปฺเปเมน   ความว่า  ย่อมจับต้องกาย
    ของมารดาด้วยความรักฉันมารดา.     ในเรื่องลูกสาวและพี่น้องสาว     ก็มี
    นัยนี้เหมือนกัน.     ในพระบาลีนั้น    พระผู้มีพระภาคเจ้าปรับอาบัติทุกกฏ
    เหมือนกันทั้งนั้น    แก่ภิกษุผู้จับต้อง     ด้วยความรักอาศัยเรือนว่า    ผู้นี้
    เป็นมารดาของเรา    นี้เป็นธิดาของเรา   นี้เป็นพี่น้องสาวของเรา   เพราะ
    ขึ้นชื่อว่าผู้หญิงแม้ทั้งหมด  จะเป็นมารดาก็ตาม  เป็นธิดาก็ตาม  เป็นข้าศึก
    แก่พรหมจรรย์ทั้งนั้น.

           ก็เมื่อภิกษุระลึกถึงพระอาญานี้   ของพระผู้มีพระภาคเจ้า   ถ้าแม้นว่า
    เห็นมารดาถูกกระแสน้ำพัดไป  ไม่ควรจับต้องด้วยมือเลย.  แต่ภิกษุผู้ฉลาด
    พึงนำเรือ   หรือแผ่นกระดาน    หรือท่อนกล้วย    หรือท่อนไม้เข้าไปให้
    เมื่อเรือเป็นต้นนั้นไม่มี     แม้ผ้ากาสาวะนำไปวางไว้ข้างหน้า    แต่ไม่ควร
    กล่าวว่า   จงจับที่นี้.   เมื่อท่านจับแล้ว   พึงสาวมาด้วยทำในใจว่า   เราสาว
    บริขารมา.  ก็ถ้ามารดากลัว  พึงไปข้างหน้า ๆ  แล้วปลอบโยนว่า  อย่ากลัว
    ถ้ามารดาถูกน้ำพัดไปรีบขึ้นคอ    หรือจับที่มือของภิกษุผู้เป็นบุตร    ภิกษุ
    อย่าพึงสลัดว่า   หลีกหนีไป   หญิงแก่     พึงส่งไปให้ถึงบก.     เมื่อมารดา
    ติดหล่มก็ดี  ตกลงไปในบ่อก็ดี   มีนัยเหมือนกันนี้.  อธิบายว่า    ภิกษุพึง
    ฉุดขึ้น  แต่อย่าพึงจับต้องเลย.


    สรุปว่า

       อันดับแรกให้หาอุปกรณ์ช่วย ให้คนจมน้ำยึดเกาะ
    หรือถ้าหาไม่ได้ ก็เอาจีวรตัวเองนี่แหละ เป็นสายเชือกให้คนจมน้ำจับ

       (ซึ่งตามหลักช่วยคนจมน้ำแล้ว วิธีนี้ปลอดภัยทั้งสองฝ่ายที่สุด
    เพราะกรณีคนช่วยว่ายน้ำไม่แข็ง หรือว่ายเทิ่งๆ ไปให้คนจมน้ำที่กำลังตกใจกอดรัดฟัดเหวี่ยง
    จะโดนฉุดจนว่ายไม่ออก จมน้ำตายทั้งคู่ได้ง่ายๆ
    ;วิธีที่ถูกคือ พยายามเข้าด้านหลัง ดึงเสื้อดึงผมอะไรก็ได้แล้วลากขึ้นฝั่ง อย่าให้อีกฝ่ายมีโอกาสฉุดจับเรา)


      อันดับสอง กรณีโดนจับข้อมือข้อไม้ ท่านก็บอกว่าอย่าสลัดทิ้ง
    แต่ให้ฉุดลากคนจมน้ำขึ้นฝั่ง หมายความว่าถึงที่สุดแล้วก็ยังให้ช่วย ไม่ได้ให้เพิกเฉย...

    จบความว่าด้วยตำรา





    นอกตำรา

    เหตุการณ์อย่างนี้ บางคนให้ความเห็นทำนองว่า กรณีจับต้องกายสีกาโดยไม่มีจิตกำหนัด  จัดเป็นอาบัติเบา
    หรือต่อให้ใจแว่บคิดในทางกำหนัดขึ้นมาชั่วขณะ ตามประสาภิกษุที่ยังไม่บรรลุอริยะ
    ก็ยังจัดว่าเป็นอาบัติชั้นสังฆาทิเสส ซึ่งปลงอาบัติหรืออยู่กรรมสำนึกผิด ก็จะหมดเรื่องไปได้
    ไม่ถึงกับเป็นโทษหนักขั้นปาราชิกที่ต้องพ้นจากสมณเพศ

    ดังนั้น เจอเหตุการณ์เกี่ยวกับชีวิตคนอย่างนี้ ไม่ต้องคิดมาก
    โจนลงไปช่วยก่อนแล้วค่อยมาปลงอาบัติเป็นต้นทีหลัง ถือว่าเป็นเหตุสมควรอยู่



                   (เรื่องทำนองนี้ ในนิทานเซนมีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งว่า

    ครั้งหนึ่งพระภิกษุทันซันและเอกิโด ร่วมเดินทางไปตามถนนซึ่งเป็นโคลนตมสายหนึ่ง
    ขณะนั้นฝนกำลังตกหนักจึงทำให้มีน้ำเจิ่งไปทั่วถนน เมื่อทั่งสององค์เดินมาถึงหัวโค้งถนน
    ก็พบหญิงสาวสวนคนหนึ่งแต่งกายด้วยเสื้อกิโมโนไหมที่มีสายคาดเป็นแพรเนื้อดี
    เธอไม่อาจเดินข้ามห้วงน้ำที่กำลังเจิ่งถนนตอนนั้นได้ (เพราะเกรงว่าเสื้ออันสวยงามของเธอจะเปียกเปื้อน)
    ทันใดนั้น พระภิกษุทันซันได้เดินเข้าไปหาหญิงสาวผู้นั้นและกล่าวว่า "มานี่ซิเธอ ฉันจะช่วย"
    ว่าแล้วก็อุ้มหญิงสาวบุกข้ามห้วงน้ำนั้นไป

    พระภิกษุเอกิโด ได้มองดูการกระทำของเพื่อนร่วมทางอย่างเงียบๆ และมิได้ปริปากพูดอะไรขึ้นอีกเลย
    ทั้งสองรูปเดินทางต่อไปจนค่ำ และเข้าอาศัยพักอยู่ในวัดแห่งหนึ่ง เมื่อต่างองค์ได้จัดที่ทางเรียบร้อยแล้ว

    เอกิโดจึงได้กล่าวขึ้น ด้วยอดรนทนไม่ได้อีกต่อไปว่า
    "นี่แน่ะท่าน ในฐานะที่เราเป็นสมณะ ไม่ควรบังอาจเข้าไปใกล้สตรี
    โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีที่สาวและสวย เพราะมันเป็นอันตรายต่อพรหมจรรย์อย่างร้ายกาจ
    เมื่อกลางวันนี้ทำไมท่านจึงเข้าไปอุ้มหญิงสาวผู้นั้น"

    "ผมวางเธอไว้ที่นั่นตั้งแต่กลางวันนั้นแล้ว" พระภิกษุทันซันตอบ "ท่านยังอุ้มเธออยู่อีกหรือ"


      (ในนิทานเรื่องนี้ ถ้าเปลี่ยนเป็นสตรีกำลังจมน้ำจะเข้ากันได้ดี
    เพียงแต่ว่า ถ้ายกเว้นเรื่องปริศนาธรรมแบบโกอานไปไม่กล่าวถึง ในมุมมองแบบเถรวาทแล้ว
    น้ำหนักเหตุผลในเรื่องดูอ่อนไปสักหน่อยสำหรับการยอมละเมิดวินัยของภิกษุรูปหนึ่ง )
    **********************************************



    เชิงอรรถ

    อาบัติ
    การต้อง, การล่วงละเมิด, โทษที่เกิดแต่การละเมิดสิกขาบท;
          อาบัติ ๗ คือ ปาราชิก สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฏ ทุพภาสิต;
          อาบัติ ๗ กองนี้จัดรวมเป็นประเภทได้หลายอย่าง
          โดยมากจัดเป็น ๒ เช่น
              ๑. ครุกาบัติ อาบัติหนัก (ปาราชิกและสังฆาทิเสส)
              ๒. ลหุกาบัติ อาบัติเบา (อาบัติ ๕ อย่างที่เหลือ);
          คู่ต่อไปนี้ก็เหมือนกัน คือ
              ๑. ทุฏฐลลาบัติ อาบัติชั่วหยาบ
              ๒. อทุฏฐลลาบัติ อาบัติไม่ชั่วหยาบ;
              ๑. อเทสนาคามินี อาบัติที่ไม่พ้นได้ด้วยการแสดง
              ๒. เทสนาคามินี อาบัติที่พ้นได้ด้วยการแสดง คือเปิดเผยความผิดของตน;
          คู่ต่อไปนี้จัดต่างออกไปอีกแบบหนึ่งตรงกันทั้งหมด คือ
              ๑. อเตกิจฉา เยียวยาแก้ไขไม่ได้ (ปาราชิก)
              ๒. สเตกิจฉา เยียวยาแก้ไขได้ (อาบัติ ๖ อย่างที่เหลือ);
              ๑. อนวเสส ไม่มีส่วนเหลือ
              ๒. สาวเสส ยังมีส่วนเหลือ;
              ๑. อัปปฏิกัมม์ หรือ อปฏิกรรม ทำคืนไม่ได้ คือแก้ไขไม่ได้
              ๒. สัปปฏิกัมม์ หรือ สปฏิกรรม ยังทำคืนได้ คือแก้ไขได้
    สังฆาทิเสส ชื่อหมวดอาบัติหนักรองจากปาราชิก ต้องอยู่กรรมจึงพ้นได้ คือเป็นครุกาบัติ (อาบัติหนัก)
    แต่ยังเป็นสเตกิจฉา (แก้ไขหรือเยียวยาได้);

          ตามศัพท์ สังฆาทิเสส แปลว่า “หมวดอาบัติอันจำปรารถนาสงฆ์ในกรรมเบื้องต้นและกรรมที่เหลือ”,
          หมายความว่า วิธีการที่จะออกจากอาบัตินี้ ต้องอาศัยสงฆ์ ตั้งแต่ต้นไปจนตลอด
          กล่าวคือ เริ่มต้นจะอยู่ปริวาส ก็ต้องขอปริวาสจากสงฆ์ ต่อจากนั้น จะประพฤติมานัตก็ต้องอาศัยสงฆ์เป็นผู้ให้
    ถ้ามีมูลายปฏิกัสสนาก็ต้องสำเร็จด้วยสงฆ์อีก และท้ายที่สุดก็ต้องขออัพภานจากสงฆ์;
          สิกขาบทที่ภิกษุละเมิดแล้ว จะต้องอาบัติสังฆาทิเสส ใช้เป็นชื่อเรียกสิกขาบท ๑๓ ข้อนี้ด้วย



    วิธีช่วยคนจมน้ำ จากเวบ สมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำ


    คำถาม  :  กรุณาบอกวิธีการช่วยคนตกน้ำด้วย อยากทราบว่ามีท่าอะไรบ้าง ขอวิธีการแบบครบถ้วน

    คำตอบ :  วิธีช่วยคนตกน้ำ มีท่าอะไรบ้าง เอาคำตอบแบบครบถ้วนเสียด้วย
    เอาง่ายๆ สั้นๆ พอสังเขป ดังนี้ ยื่น, โยน, ลุย, พาย, ไป, ลาก/พา

       การช่วยคนตกน้ำ มี 2 วิธี

    1.  ผู้ช่วยอยู่บนฝั่งบนตลิ่งบนเรือ
       ผู้ช่วยไม่เปียก ปลอดภัยแน่นอน จากนั้นก็ช่วยด้วย
           1.1 การยื่นอุปกรณ์ให้คนตกน้ำจับ
    เช่น เสื้อ กางเกง ผ้าขาวม้า ผ้าเช็ดตัว เข็มขัด กิ่งไม้ ท่อนไม้ ไม้ง่ามลูกเสือ
    ตามสระว่ายน้ำก็จะมี HOOK (ไม้ตะขอ) เตรียมไว้สำหรับช่วยผู้ประสบภัย
           1.2  การโยนอุปกรณ์ที่ ลอยน้ำให้คนตกน้ำจับหรือเกาะ
    เช่น ขวดน้ำ ถังพลาสติก ห่วงชูชีพ ยางในรถยนต์
    และเราอาจจะเอาเชือกมาผูกอุปกรณ์เหล่านั้น เพื่อที่จะลากคนตกน้ำเข้าฝั่ง
    หรือหากโยนพลาดก็สาวเข้ามาแล้วโยนให้อีกครั้งหนึ่ง

           1.3  การลุย น้ำออกไปช่วย ในพื้นที่ที่ระดับน้ำตื้นยืนถึง
    เช่น ในลำธาร น้ำตกหรือชายทะเล ที่เราสามารถจะลุยน้ำออกไปได้
    ก็ควรจะลุยน้ำออกไปแล้วใช้อุปกรณ์ตามข้อ 1.1 หรือ 1.2
    ยื่น หรือโยนให้คนตกน้ำจับแล้วพาเข้าฝั่ง
    ข้อ 1.1 - 1.3 เป็นวิธีการช่วยคนตกน้ำที่มีความปลอดภัยเกือบจะ 100 %
    เพราะเราผู้ช่วยอยู่บนฝั่งหรือยืนได้ในน้ำตื้น
           1.4  การใช้เรือ ออกไปช่วยเรือในที่นี้หมายถึงเรือ
    หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่มีขนาดใหญ่พอควร ลอยน้ำได้ แล้วตัวเราอยู่ข้างบนหรือข้างใน
    เช่น กระดานโต้คลื่น กระดานเล่นใบ เจ็ทสกี เรือพาย เรือแคนู เรือกรรเชียง เรือใบ ฯลฯ
    ประเภทเรือนี่มีหลายขนาดนัด ปกติเมื่อเคลื่อนเข้าไปใกล้ตัวคนตกน้ำ
    ก็จะใช้อุปกรณ์ตามข้อ 1.1, 1.2 ยื่นหรือโยนให้คนตกน้ำจับแล้วพาเข้าหาเรือ
    หากเป็นเรือขนาดเล็ก ต้องระมัดระวังหากจะให้คนตกน้ำปีนขึ้นทางกราบเรือ
    เรืออาจจะพลิกคว่ำได้ ดังนั้นหากเป็นไปได้ ให้ขึ้นทางท้ายเรือ
    อย่าลืมดับเครื่องด้วยหากเป็นเรือเครื่องที่มีใบพัด ถ้าเป็นเรือใหญ่ๆ ขึ้นด้านใด อย่างไรก็ได้



    2.  การกระโดดลงน้ำแล้วว่ายเข้าไปช่วยคนจมน้ำ หรือตกน้ำ
       วิธีแบบนี้อันตรายมาก คนช่วยเสียชีวิตมาเยอะแล้ว เพราะไม่รู้วิธีการช่วยที่ถูกต้อง
    ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ รวมทั้งนักว่ายน้ำ คนว่ายน้ำเก่งๆ ตายเพราะว่ายน้ำเข้าไปช่วยนี่แหละ
           2.1 การลงน้ำไปช่วยคนตกน้ำ จมน้ำ จำไว้ว่า ต้องเอาอุปกรณ์ช่วยไปด้วย
    เช่น แท่งโฟมยาวๆ (Kick board ซึ่งถ้าหากเล็กและสั้นเกินไป ก็จะไม่ปลอดภัย)
    ห่วงหรือยางในรถยนต์ หรือเราใส่เสื้อชูชีพไป เมื่อว่ายน้ำเข้าไปจวนถึงตัวคนตกน้ำ ให้หยุดอยู่ห่างๆ
    แล้วใช้อุปกรณ์ที่เอาไปด้วยยื่น หรือโยนให้คนตกน้ำเกาะ อย่าพยายามเข้าไปจนถึงตัวคนตกน้ำ
    เพราะเขาอาจจะเข้ามากอดเราแน่นเสียจนแกะไม่ออก และจะพาเราจมน้ำไปด้วย

    หากไม่มีอุปกรณ์ก็ให้ใช้ผ้าเช็ดตัวตัว ผ้าขาวม้า เข็มขัด หรืออะไรก็ได้ที่ยาวๆ หน่อย
    จะได้ป้องกันไม่ให้เราต้องเข้าไปใกล้เขามากเกินไป ถ้าเป็นอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ก็จะดีมาก
    เพราะเมื่อยื่นให้เขาจับหรือเกาะแล้วเขาก็จะลอยน้ำอยู่ได้ ความตื่นตกใจก็จะลดลง ทำให้เราช่วยได้ปลอดภัยมากขึ้น
    หากยื่นให้แล้วเขายังตกใจ และโผเข้ามาจะกอดเรา ก็ให้รีบดำน้ำหนี รับรองเขาไม่ดำตามเราลงไปแน่ๆ

           2.2 การลาก/พา
                2.2.1  การลาก / พา คนจมน้ำที่สงบ พวกว่ายน้ำเป็น หมดแรงหรือเป็นตะคริว ไม่ตื่นตกใจ
    ลากพาง่าย เบาแรง ไม่ค่อยมีอันตราย
                2.2.2  การ ลาก / พา คนจมน้ำที่ตื่นตกใจ กลัว จมน้ำตาย พวกนี้ต้องใช้ท่า Cross chest
    (เอารักแร้เราหนีบบนบ่าคนจมน้ำ แขนพาดผ่านหน้าอกแบบสะพายแล่ง ไปจับซอกรักแร้อีกด้านของคนจมน้ำ)
    ว่ายน้ำด้วยท่า Side stroke ท่านี้เหนื่อย หนักแรงและมีอันตรายมากๆ
    2.2.3  คนจมน้ำที่ สลบ ต้องใช้ท่าลาก / พา ที่ประคองหน้าคนจมน้ำให้พ้นน้ำตลอด
    เพื่อที่ปากและจมูกของเขาจะพ้นน้ำ ทำให้หายใจได้ตลอด






Create Date : 10 กันยายน 2555
Last Update : 10 กันยายน 2555 22:43:57 น.
Counter : 2439 Pageviews.

0 comments

ปล่อย
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



Group Blog
กันยายน 2555

 
 
 
 
 
 
1
2
4
5
6
7
8
9
11
12
13
14
15
16
18
19
20
21
22
23
24
26
27
28
29
30
 
 
All Blog