สรรเสริญนินทา ถ้ามาจากพาลา ก็ไม่น่าเอาทั้งนั้น

    พาลา มาจาก พาล ในที่นี้หมายถึง คนพาล


    คนพาลคืออะไร พาล แปลนัยหนึ่งว่าอ่อน ในที่นี้หมายถึงจิตใจอ่อนแอแก่กิเลส ปล่อยให้กิเลสลากจูง
    และหมายถึงความยังอ่อนปัญญาต่อความจริงที่เป็นประโยชน์แท้ๆ (หลงแต่ประโยชน์เทียม)


    ประโยชน์แท้ประโยชน์เทียม ในที่นี้หมายถึง ประโยชน์ที่สร้างสรรค์คุณภาพชีวิตจิตใจหรือไม่
    เป็นการพัฒนายั่งยืนหรือมีจุดเสื่อมพร้อมพังทุกเมื่อ


    คนพาลนั้นมองไม่เห็นประโยชน์แท้ประโยชน์เทียม หรือถึงเห็นก็มอบตนแก่ประโยชน์เทียมมากกว่า
    เช่น บางอย่างรู้ว่าทำไปเป็นโทษ แต่แพ้กิเลสก็ยังทำไป
    ถ้าดีกรีแรงยิ่งขึ้น ก็หลอกตัวเองด้วยว่า สิ่งที่ทำไปนั้นมีประโยชน์ด้วย ไม่ได้มีโทษอย่างเดียว
    ถ้าดีกรีแรงขึ้นอีก ก็ถึงขั้นเห็นกงจักรเป็นดอกบัว นึกว่าที่ทำไปนั้นถูกต้องดีงามล้วนๆ แล้ว




    การสรรเสริญหรือนินทา มองโดยผู้กล่าว ก็ต้องดูที่จิตใจ(เจตนา) และปัญญา(การวินิจฉัยเรื่องราว)


    ดังได้กล่าวแล้วว่า คนพาลนั้นมีปัญหาในการวินิจฉัยเรื่องราว
    ไม่ว่าจะเป็นปัญญาตีไม่แตกธรรมดา
    หรือมีปัจจัยความยึดติดในตัณหา(ความอยาก) มานะ(ความถือตน) หรือทิฏฐิ (ความเห็นที่ยึดไว้)
    ตลอดจนอคติทั้งสี่ (รัก ชัง กลัว ไม่รู้) มาบดบังและบิดเบือนภาพที่มองเห็นและการวิเคราะห์เรื่องราว



    ความยึดมั่นและอคติมีผลอย่างไร
    เมื่อสถานการณ์เป็นปกติ คนๆ นั้นอาจจะมองและวินิจฉัยเรื่องราวแต่ละอย่างไปตามปัญญาปกติของเขา
    ตอนนั้นการวินิจฉัยต่างๆ ค่อนข้างจะเป็นกลาง ไม่ลำเอียงนัก

    แต่ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนไป เช่น มีผลประโยชน์ของตัวkuของkuเข้ามาเกี่ยวข้อง
    ต้องปกป้องพวกพ้องหรือปมเขื่องของตนเอง หรือตกในอารมณ์โกรธกลัว
    ตอนนั้น สมรรถภาพและความเป็นกลางในการวินิจฉัยจะบิดเบี้ยวไป
    อาจพลาดอย่างไม่น่าพลาด หรือใช้เหตุผลวิบัติอย่างที่ปกติอาจจะไม่ใช้
    อาจจะกระทั่งแม้แต่  ทั้งๆ รู้ว่าอะไรคือความจริง แต่จงใจไม่ซื่อเพื่อปกป้องตัวเองหรือทำลายอีกฝ่ายก็เป็นได้



    ด้านเจตนา เมื่อมีกิเลสคอยบัญชามากกว่าปัญญานำทาง
    คำชมจึงอาจจะมาจากความถูกใจ(ของกิเลส) มากกว่าจะชมเพราะเห็นด้วยกับความถูกต้อง
    คำตำหนิจึงอาจจะมาเพราะความถูกกระทบตัวตน มากกว่าจะติเพราะหวังการุณอยากตักเตือน

    ข้างบนนี้แม้แต่คนดี(ที่อ่อนแอต่อกิเลส)ก็อาจเผลอทำโดยไม่รู้ตัว
    ยังไม่ต้องพูดถึงคนไม่ดีที่ทำทั้งรู้ตัวโดยไม่ละอาย

    ในสภาพเช่นนี้ ก็เป็นธรรมดาว่า การชมหรือติว่าจากบุคคลลักษณะนี้
    ด้านความถูกผิดจริงเท็จ ก็จะถือเอาสาระด้วยไม่ได้ ด้านเจตนาก็ไม่น่าไว้ใจว่าถูกตรงบริสุทธิ



    ดังนี้แล้ว ถ้าเราอยากเข้าพวก ก็ไม่ควรถือพวกด้วยบุคคลลักษณะดังนี้ ดังคำสอนว่า
    ควรหลีกเว้นจากคนอ่อนด้อย(กว่าเรา)ทางจริยะความประพฤติ จิตใจ และปัญญา (เว้นแต่จะคบเพื่ออนุเคราะห์)
    ควรคบหากับคนที่เสมอกัน(กับเรา)ทางจริยะ ฯลฯ และควรเข้าไปหาผู้ที่ยิ่งกว่าเราทางจริยะฯลฯ


    และถ้าเราอยากตัดสินคุณค่าของใครๆ หรืออยากแสวงหาปัญญาความจริงแท้ดีงาม
    ก็แน่อีกว่า จะถือคำจากบุคคลลักษณะนี้เป็นหลักไม่ได้อีกเช่นกัน ดังคำสอนว่า
    คำสรรเสริญจากพาลชน กับคำติเตียนจากบัณฑิต คำติเตียนจากบัณฑิตประเสริฐกว่า
    คำสรรเสริฐจากพาลชนจะมีค่าอะไร

    เป็นต้น


    เมื่อมีการสรรเสริญหรือนินทาก็ดี จากใครก็ตาม ไม่ว่าจะนับว่าพาลหรือบัณฑิต
    สิ่งที่เราควรทำ จึงไม่ใช่ไปยินดียินร้ายด้วย อันจะทำให้ปิดบังบิดเบือนการมองอย่างเป็นกลาง
    หากแต่พิจารณาอย่างระวังว่า คำนั้นจริงเท็จประการใด และกล่าวชี้แจงไปตามความจริง

    (ซึ่งขั้นตอนการกล่าวชี้แจง ก็ต้องดูบุคคล ดูกาลเทศะเป็นต้นอีก)




    เชิงอรรถ

    เสวิสูตร (บางส่วน)

    ก็บุคคลที่ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้เป็นไฉน
    บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนเลวโดยศีล สมาธิ ปัญญา
    บุคคลเห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ นอกจากจะเอ็นดูอนุเคราะห์กัน


    ก็บุคคลที่ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้เป็นไฉน

    บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนเช่นเดียวกับตน โดยศีล สมาธิ ปัญญา
    บุคคลเห็นปานนี้ ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้

    ข้อนั้นเพราะเหตุไร
    เพราะการสนทนา ปรารภศีล จักมีแก่พวกเราซึ่งเป็นคนเสมอกันโดยศีลด้วย
    การสนทนาของเรานั้น จักเป็นถ้อยคำเป็นไปด้วย และจักเป็นความสำราญของเราด้วย
    การสนทนาปรารภสมาธิ จักมีแก่พวกเราซึ่งเป็นคนเสมอกันโดยสมาธิด้วย
    การสนทนาของเรานั้น จักเป็นถ้อยคำเป็นไปด้วย และจักเป็นความสำราญของเราด้วย
    การสนทนา ปรารภปัญญา จักมีแก่เราซึ่งเป็นคนเสมอกันโดยปัญญาด้วย
    การสนทนาของเรานั้น จักเป็นถ้อยคำเป็นไปด้วย และจักเป็นความสำราญของเราด้วย

    ฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้ จึงควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้



    ก็บุคคลที่จะต้องสักการะ เคารพแล้วจึงเสพคบหา เข้าไปนั่งใกล้ เป็นไฉน


    บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ยิ่งโดยศีล สมาธิ ปัญญา
    บุคคลเห็นปานนี้ จักต้องสักการะเคารพแล้วจึงเสพ คบหา เข้าไปนั่งใกล้

    ข้อนั้นเพราะเหตุไร
    เพราะอาการเช่นนี้ จักบำเพ็ญศีลขันธ์ที่ยังไม่สมบูรณ์ให้สมบูรณ์ หรือจักอนุเคราะห์ศีลขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในที่นั้นๆ
    จักบำเพ็ญสมาธิขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือจักอนุเคราะห์สมาธิขันธ์บริบูรณ์ด้วยปัญญาในที่นั้นๆ
    จักบำเพ็ญปัญญาขันธ์ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือจักอนุเคราะห์ปัญญาขันธ์ที่บริบูรณ์ด้วยปัญญาในที่นั้นๆ

    ฉะนั้น บุคคลเห็นปานนี้จึงควรสักการะเคารพ แล้วเสพ คบหา เข้าไปนั่งใกล้





    โคทัตตเถรคาถา (บางส่วน)


    การไม่ได้ลาภโดยชอบธรรมกับการได้ลาภโดยไม่ชอบธรรมทั้งสองอย่างนี้
    การไม่ได้ลาภอันชอบธรรมประเสริฐกว่า การได้ลาภอันไม่ชอบธรรมจะประเสริฐอะไร


    คนไม่มีความรู้ มียศ กับคนมีความรู้แต่ไม่มียศ

    คนมีความรู้ไม่มียศประเสริฐกว่า คนไม่มีความรู้มียศจะประเสริฐอะไร


    การสรรเสริญจากคนพาลกับการติเตียนจากนักปราชญ์

    การติเตียนจากนักปราชญ์ประเสริฐกว่า การสรรเสริญจากคนพาลจะประเสริฐอะไร


    ความสุขอันเกิดจากกามคุณกับความทุกข์อันเกิดจากวิเวก

    ความทุกข์อันเกิดจากวิเวกประเสริฐกว่า ความสุขอันเกิดจากกามคุณจะประเสริฐอะไร



    ความเป็นอยู่โดยไม่ชอบธรรมกับความตายโดยธรรม
    ความตายโดยธรรมประเสริฐกว่า ความเป็นอยู่โดยไม่ชอบธรรมจะประเสริฐอะไร



พรหมชาลสูตร (บางส่วน)

          พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์ ก็ตาม
เธอทั้งหลายไม่ควรอาฆาต ไม่ควรโทมนัสน้อยใจ ไม่ควรแค้นใจในคนเหล่านั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์
ถ้าเธอทั้งหลายจักขุ่นเคืองหรือจักโทมนัสน้อยใจในคนเหล่านั้น อันตรายจะพึงมีแก่เธอทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นเป็นแน่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์
ถ้าเธอทั้งหลายจักขุ่นเคืองหรือจักโทมนัสน้อยใจในคนเหล่านั้น
เธอทั้งหลายจะพึงรู้คำที่เขาพูดถูก หรือคำที่เขาพูดผิดได้ละหรือ?

            ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้ทีเดียว พระพุทธเจ้าข้า.

            พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวติเรา ติพระธรรม ติพระสงฆ์ ในคำที่เขากล่าวตินั้น คำที่ไม่จริง
เธอทั้งหลายควรแก้ให้เห็นโดยความไม่เป็นจริงว่านั่นไม่จริง แม้เพราะเหตุนี้
นั่นไม่แท้ แม้เพราะเหตุนี้ แม้นั่นก็ไม่มีในเราทั้งหลาย และคำนั้นจะหาไม่ได้ในเราทั้งหลาย



ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวชมเรา ชมพระธรรมชมพระสงฆ์
เธอทั้งหลายไม่ควรเบิกบานใจ ไม่ควรดีใจ ไม่ควรกระเหิมใจในคำชมนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวชมเรา ชมพระธรรม ชมพระสงฆ์
ถ้าเธอทั้งหลายจักเบิกบานใจ จักดีใจ จักกระเหิมใจในคำชมนั้น อันตรายจะพึงมีแก่เธอทั้งหลายเพราะเหตุนั้นเป็นแน่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพวกอื่นจะพึงกล่าวชมเรา ชมพระธรรม หรือชมพระสงฆ์ ในคำชมนั้น คำที่จริง
เธอทั้งหลายควรปฏิญาณให้เห็นโดยความเป็นจริงว่า นั่นจริงแม้เพราะเหตุนี้ นั่นแท้ แม้เพราะเหตุนี้
แม้คำนั้นก็มีในเราทั้งหลาย และคำนั้นจะหาได้ในเราทั้งหลาย.





Create Date : 23 กรกฎาคม 2555
Last Update : 24 กรกฎาคม 2555 0:35:41 น.
Counter : 1062 Pageviews.

0 comments

ปล่อย
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



Group Blog
กรกฏาคม 2555

1
2
3
5
6
7
8
9
10
12
13
14
15
16
18
19
20
21
22
24
25
26
27
28
29
30
 
 
All Blog