ลมหายใจของใบไม้
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2554
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
22 ตุลาคม 2554
 
All Blogs
 
:::ชำแหละทฤษฏี 21:::

 
22 ตุลาคม 2554
เจ้าอ้ายที่รักยิ่ง


ช่วงนี้ชีพจรยังคงลงเท้า แต่พอใจมาก บางทีนายอาจไม่เชื่อว่าชั้นใช้กระแสจิตแปลงสิ่งที่ต้องการให้เป็นสิ่งพึงมีพึงได้จริง เสียดายแต่เวลาที่จะนั่งเขียนสาส์นข้ามฟ้ามาแสนจะยากเย็น แต่จะแปลกอะไร ชั้นคนไม่มีวันหยุด วันคืนที่ฝันจะเป็นนกน้อยในไร่ส้มเปลี่ยนไป วันนี้ชั้นเป็นนกขมิ้นเหลืองอ่อน อย่างที่บอกไว้ ชั้นพบโลกส่วนตัวใหม่ ที่ไม่กีดขวางทางจราจร มีที่ให้นั่งเงียบๆมองคนผ่านมาผ่านไปและคิดถึงสิ่งดีดีที่เก็บไว้เป็นความภาคภูมิใจเฉพาะตัว

เจ้าอ้าย ไปเลาะบล็อกมาเก็บอะไรได้หลายอย่างวางไว้ให้อ่านแล้วก็จะไปจริงจริงเสียที เห็นว่ามีประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น หนึ่งตาเห็นไม่เท่าลงมือคลำ รุ้แต่ไม่ทำโลกไม่ปลื้มจริงจริงนะ แนวพระราชดำริที่วางไว้นี้สุดยอดอมตะ ไม่ใช่เก็บไว้บนหิ้งล่ะ

จากวันนี้ชั้นก็คงไม่ได้เขียนสาสน์ถึงนายอีกนานเลย แต่จะส่งความคิดมาให้ถึงเสมอ ไม่ได้ไปไหน แต่จะเก็บตัวฝึกคัมภีร์การโค้ชชิ่ง และหวังมากว่าจะเป็นจอมยุทธได้ในทุกยุทธจักร


แนวพระราชดำริในด้านการศึกษา

แนวพระราชดำริด้านการศึกษาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสะท้อนให้เห็นเด่นชัดในพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส พระราชกระแส ในวโรกาสต่างๆ โดยเฉพาะพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่บัณฑิตในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แสดงให้เห็นเด่นชัดถึงพระบรมราชวิจารณญาณอันสุขุมลึกซึ้งด้วยสายพระเนตรที่เล็งเห็นการณ์ไกล เป็นปรัชญาการศึกษาไทย เข้าถึงความเป็นไทย และเหมาะสมกับสังคมไทย ประกอบด้วยแนวคิดทฤษฎี แนงทางการดำเนินงานและวิธีการปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้ประโยช์และนำไปปฏิบัติได้จริง


ความสำคัญของการศึกษา

"ผลอันพึงประสงค์ของการศึกษา กล่าวโดยสั้นแต่โดยเนื้อแท้มีสองสถาน สถานหนึ่งคือ ความรู้แจ้งในวิทยาการ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งสำหรับนำไปทำกิจการงาน สร้างตัว สร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่บ้านเมือง แก่ส่วนรวมและแก่มนุษยชาติ อีกสถานหนึ่งได้แก่ ความคิดจิตใจ ที่ฝึกฝน กล่อมเกลาแล้วอย่างถูกต้องให้คล่องแคล่วและสุจรติยุติธรรม"

(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลแก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2517)


คุณธรรมและจริยธรรม

"การที่จะทำงานให้สัมฤทธิ์ผลที่พึงปรารถนา คือที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมด้วยนั้น จะอาศัยแต่ความรู้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้ จึงเป็นต้องอาศัยความสุจริต ความบริสุทธิ์ใจ และความถูกต้องเป็นธรรมประกอบด้วย เพราะเหตุผลว่าความรู้นั้น เป็นเหมือนเครื่องยนต์ที่ทำให้ยวดยานเคลื่อนไปประการเดียว ส่วนคุณธรรมดังกล่าวนั้นเป็นเหมือนหนึ่งพวงมาลัยหรือหางเสือ ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำพาให้ยวดยานดำเนินไปถูกทางด้วยความสวัสดี คือปลอดภัยจนบรรลุถึงจุดหมายที่พึงประสงค์"

(พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง วันที่ 8 กรกฎาคม 2520)

ความเป็นครู

ครูตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือ บุคคลที่มีทั้งวิชาความรู้ เทคนิค วิธีสอน และมีจิตใจสูง ดังพระราชดำรัสพระราชทานครูอาวุโสประจำปี 2522 ความว่า

"ครูที่แท้จริงนั้น เป็นผู้ทำแต่ความดี คือต้องหมั่นขยันและอุตสาหะพากเพียร ต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเสียสละ ต้องหนักแน่น อดกลั้นและอดทน ต้องรักษาวินัย สำรวมระวังความประพฤติปฏิบัติของตนให้อยู่ในระเบียบแบบแผนที่ดีงาม ต้องปลีกตัวปลีกใจจากความสะดวกสบายและความสนุกสนานรื่นเริงที่ไม่สมควรแก่เกียรติภูมิของตน ต้องตั้งใจให้มั่นแน่วแน่ ต้องซื่อสัตย์รักษาความจริงใจ ต้องเมตตาหวังดี ต้องวางใจเป็นกลาง ไม่ปล่อยไปตามอำนาจคติ ต้องอบรมปัญญา ให้เพิ่มสมบูรณ์ขึ้น ทั้งด้านวิทยาการและความฉลาดรอบรู้ในเหตุผล..."

(พระราชดำรัสพระราชทานแก่ครูอาวุโส ประจำปี 2522 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2523)

ได้ทรงอธิบายความหมายของ "ความเป็นครู" และทรงชี้ให้เห็นว่าเป็นคุณสมบัติที่อำนวยประโยชน์เกื้อกูลมากแก่ทุกคนและกิจการทุกอย่าง ไม่เฉพาะสำหรับครู

"ความเป็นครู หมายถึง การมีความรู้ดี ประกอบด้วยหลักวิชาที่ถูกต้อง แน่นแฟ้นและแจ่มแจ้งแก่ใจ รวมทั้งคุณความดีและความเอื้ออารี ปรารถนาที่จะถ่ายทอด เผื่อแผ่ให้ผู้อื่นได้มีความรู้ ความเข้าใจที่ดีด้วยความแจ่มแจ้งแน่ชัดในใจย่อมทำให้สามารถส่องแสดงความรู้ออกมาให้เข้าใจตามได้โดยง่าย ทั้งในการปฏิบัติงานก็ย่อมทำให้ผู้ร่วมงานได้เข้าใจโดยแจ่มชัด ส่วนความหวังดีโดยบริสุทธิ์ใจนั้นจะน้อมนำให้เกิดศรัทธา แจ่มใสมีใจพร้อมที่จะรับความรู้ด้วยความเบิกบาน ทั้งพร้อมที่จะช่วยงานกับผู้ที่มีคุณสมบัติของครูโดยเต็มใจและมั่นใจ "ดังนี้ ก็จะทำให้กิจการใดๆ ที่กระทำอยู่ดำเนินไปโดยสะดวกราบรื่นและสำเร็จประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสมบูรณ์"

(พระบรมราโชวาทพระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2522)

พระราชกรณียกิจนด้านการศึกษา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่งานด้านการศึกษาของชาติมาโดยต่อเนื่อง ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ครอบคลุมถึงการศึกษาทุกระดับ ทั้งการศึกษาก่อนวัยเรียน ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา การศึกษาเฉพาะทาง การศึกษาพิเศษ การศึกษาทางไกล การกีฬา นันทนาการ การศาสนา และศิลปวัฒนธรรม

1. ทุนการศึกษาพระราชทาน

ทรงสละพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ พระราชทานทุนแก่นักเรียนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผู้ด้อยโอกาส ให้มีโอกาสศึกษาและแก่บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมีผลการเรียนดีในสาขาต่างๆ ให้ศึกษาต่อในระดับสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่ากลับมาใช้พัฒนาบ้านเมือง ทุนการศึกษาที่พระราชทานมี อาทิ ทุนมูลนิธิภูมิพล เพื่ออุดหนุนการศึกษาแก่นิสิต นักศึกษา ที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และทุนมูลนิธิอานันทมหิดล เพื่อคิดเลือกนิสิต นักศึกษาที่มีผลการเรียนดีเยี่ยมให้รับทุนไปศึกษาชั้นสูง ณ ต่างประเทศ

2. โรงเรียน

ได้ทรงประกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดตั้งโรงเรียน ในกรุงเทพมหานคร มีโรงเรียนจิตรลดา ในพระราชฐานและโรงเรียนราชวินิต นอกจากนี้ยังได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน เด็กกำพร้า เด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร เด็กชาวเขา เช่น โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ ซึ่งได้พระราชทานพระราชทรัพย์ให้กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนจัดสร้างขึ้นและมูลนิธต่างๆ ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ร่วมสร้างโรงเรียนอีกหลายแห่ง เช่น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โรงเรียนราชประชาสมาสัย เป็นต้น

3. การศึกษาตลอดชีวิต

ทรงส่งเสริมสนับสนุนให้ประชนศึกษาตลอดชีวิต โดยการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ทรงถ่ายทอดวิชาความรู้ให้พสกนิกรในโครงการส่วนพระองค์ เช่น โครงการพระดาบส สอนวิชาชีพด้านช่างและสั่งสอนศีลธรรมจรรยาด้วย โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ซึ่งมีการศึกษาค้นคว้าทางด้านวิชาการด้านการเกษตรและอาชีพจำนวนมาก เป็นโรงงานสาธิตให้ประชาชนได้เข้าเยี่ยมชมและศึกษา เช่น โรงงานนมผงสวนจิตรลดา โรงโคนมสวนจิตรลดา

ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริในจังหวัดต่างๆ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาแห่งแรก คือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2522 ตั้งอยู่ที่ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ละแห่งมีภารกิจแตกต่างกันตามลักษณะสภาพแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่น เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าปัญหาด้านการเกษตรและการพัฒนา โดยเป็นศูนย์รวมของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา ร่วมทำงาน ประสานกิจกรรมอย่างมีระบบและต่อเนื่อง

4. การศึกษา ค้นคว้า วิจัย

นอกจากจะทรงศึกษาวิจัยด้วยพระองค์เองแล้วยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สนับสนุนการค้นคว้าวิจัยในสาขาวิชาการต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทรงริเริ่มสนับสนุน พัฒนา พระราชทานพระราชดำริและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในโครงการวิจัยจำนวนมากอันยังประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์ความรู้ และการนำมาใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและสังคม เช่น โครงการแปลงทดลองปลูกข้าวในพระราชวังสวนจิตรลดา เพื่อนำผลการทดลองและกระจายพันธุ์ข้าวไปสู่ชาวนา การทำฝนเทียม การวิจัยรูปแบบของยุ้งฉางเพื่อรักษาคุณภาพข้าว การผสมเทียมปลากระโห้ การใช้ผักตบชวา กำจัดน้ำเสีย การขยายพันธุ์ปลานิล การวิจัยเกี่ยวกับดนตรีไทยในด้านปัญหาความแตกต่างระหว่างบันไดเสียงของเครื่องดนตรีไทยต่างๆ การประดิษฐ์เครื่องสีข้าวระบบแรงเหวี่ยง "ปิ่นแก้ว" ซึ่งมีผลดีต่อคุณภาพข้าวสารและสามารถช่วยลดต้นทุนการสีข้าวลงได้

ด้านการสื่อสารทรงสนับสนุนการประดิษฐ์ "สายอากาศ ดร.สุธี" โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ ดร.สุธีอักษรกิตติ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (ในขณะนั้น) ประดิษฐ์สายอากาศชนิดที่ขยายกำลังส่งได้เพิ่มมากขึ้น

5. หนังสือและห้องสมุด

ทรงตระหนักถึงความสำคัญของหนังสือและห้องสมุดต่อการศึกษาค้นคว้าวิจัย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะเป็นปัจจัยสำคัญ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและการพัฒนาประเทศ

พระราชดำรัสพระราชทานในพิธีเปิดงานหนังสือระหว่างชาติ พ.ศ. 2515 และงานแสดงการพิมพ์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2515 มีความความตอนหนึ่งแสดงถึงความสำคัญของหนังสือดังขออัญเชิญมาดังนี้

"หนังสือเป็นเสมือนคลังที่รวบรวมเรื่องราว ความรู้ ความคิด วิทยาการทุกด้านทุกอย่าง ซึ่งมนุษย์ได้เรียนรู้ ได้คิดอ่าน และเพียรพยายามบันทึก รักษาไว้ด้วยลายลักษณ์อักษร หนังสือแพร่ไปถึงที่ใด ความรู้ความคิดก็แพร่ไปถึงที่นั่นหนังสือจึงเป็นสิ่งที่มีค่าและมีประโยชน์อันประมาณมิได้ ในแง่ที่เป็นบ่อเกิดแห่งการเรียนรู้ของมนุษย์"

ทรงส่งเสริมให้มีการผลิตหนังสือ เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและวงวิชาการ พระปรีชาญาณที่เห็นประจักษ์อันแสดงถึงสายพระเนตรที่กว้างไกล คือ การที่ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำ "สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน" เป็นขุมทรัพย์ทางปัญญา เพื่อการศึกษา ค้นคว้า อ้างอิง โดยรวมสรรพวิทยาการทุกแขนง เขียนโดยผู้ทรงคุณวุฒิ จัดทำตามหลักสารานุกรม มีดรรชนีช่วยการค้นคว้า นำเสนอด้วยภาษาที่เหมาะสมกับกลุ่มเด็กและเยาวชนในวัยต่างๆ ทั้งเด็กเล็ก เด็กโต มีภาพประกอบงดงาม ออกแบบรูปเล่ม จัดหน้าสวยงามชวนอ่าน พิมพ์ด้วยกระดาษดี โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนเริ่มดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2511 และเริ่มเผยแพร่ชุดแรกเมื่อ พ.ศ. 2516 นับเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อการศึกษาของชาติ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อันเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสารานุกรมแก่โรงเรียนและห้องสมุดที่อยู่ห่างไกลกว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ

ทรงสนพระราชหฤทัยในกิจการห้องสมุด ในโอกาสที่สมาชิก สมาคม ห้องสมุดแห่งประเทศไทยเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2514 ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทมีความตอนหนึ่งที่ขออัญเชิญมาดังนี้

"มีห้องสมุด หมายถึง เป็นที่ที่จะรวบรวมหนังสือซึ่งเป็นวิชาสามารถที่จะให้ยืมแก่ผู้สนใจ ฉะนั้นห้องสมุดจึงเกิดขึ้นมา เป็นสิ่งที่สำคัญ ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับสังคมยิ่งมีห้องสมุดมาก ยิ่งมีห้องสมุดในที่ต่างๆ ในที่หลายแห่งในประเทศก็ยิ่งดี ฉะนั้นการที่ส่งเสริมให้มีห้องสมุดในโรงเรียนต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร จึงเป็นความดำริที่ดี"

ทรงริเริ่มให้จัดตั้งห้องสมุดศาลารวมใจตามหมู่บ้านในชนบทที่ห่างไกลความเจริญ เพื่อเป็นที่อ่านหนังสือของเด็กและประชาชน และพระราชทานหนังสือประเภทต่างๆ แก่ห้องสมุด

นอกจากนี้มูลนิธิโครงการหลวงที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้น ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านแก่เด็ก จัดหาหนังสืออุปกรณ์การศึกษา จัดสร้างห้องอ่านหนังสือหรือมุมอ่านหนังสือ จัดตั้งห้องสมุดเคลื่อนที่ ห้องสมุดโรงเรียนจัดฝึกอบรมบรรณารักษ์ห้องสมุดโรงเรียนในพื้นที่โครงการหลวง

นอกจากนี้ยังทรงสนับสนุนกิจการ พิพิธภัณฑ์ แหล่งวิทยาการ และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนเพื่อการศึกษาชุมชนด้วย

6. การส่งเสริมวิชาชีพครู

ทรงยกย่องงานของครู มีพระเมตตาอุดหนุนส่งเสริมวิชาชีพครู ทรงสร้างขวัญและกำลังใจ ความภาคภูมิใจ ทะนงในเกียรติศักดิ์ศรี หน้าที่ของความเป็นครู พระราชทานพระราชูปถัมภ์แก่องค์กร สถาบัน สมาคมทางด้านการศึกษา เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประทานในกิจกรรมทางด้านการศึกษานานัปการ

ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อมูลนิธิช่วยครูอาวุโส และครูอาวุโสได้พระราชทานเงินจำนวนหนึ่งแสนบาทเป็นทุนประเดิมแก่มูลนิธิช่วยครูอาวุโส ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2509 ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาจึงได้ดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิช่วยครูอาวุโส เมื่อ พ.ศ. 2509 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณทรงรับมูลนิธิช่วยครูอาวุโสไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่ปีแรกที่ก่อตั้งมูลนิธิ นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้ครูอาวุโสที่มูลนิธิประกาศเกียรติคุณได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานเครื่องหมายเชิดชูเกียรติและเงินช่วยเหลือ

พระราชกรณียกิจอันไพศาลด้านการศึกษาสะท้อนถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ต่อครู อาจารย์ นักเรียน นิสิตนักศึกษา บัณฑิตและต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ชุบชีวิตผู้ด้อยโอกาสโดยทั่วถึงกัน ในคำประกาศสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณเนื่องในวโรกาสที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2532 จารึกพระเมตตาอันยิ่งใหญ่ไว้ตอนหนึ่งว่า

"...ที่ต้องนับว่าเป็นพระเดชพระคุณยิ่งใหญ่ และเป็นพลังอุดหนุนให้คนจำนวนมากมีมานะบากบั่น ในด้านการศึกษา ก็คือข้อที่ทรงพระเมตตาเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันต่างๆ ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายปี มีบัณฑิตผู้ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระราชหัตถ์ไปแล้วหลายแสนคน เป็นที่ประหลาดใจเหลือล้นแก่ชาวต่างชาติ ผู้มีโอกาสได้ทราบเกล้ากราบกระหม่อมถึงพระราชจริยวัตรในข้อนี้ ด้วยไม่มีสมเด็จพระราชธิบดีพระองค์ใดในโลกปัจจุบัน ที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตาครบเป็นอเนกอนันต์ถึงปานนี้"


นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 จนถึงปัจจุบัน เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกันว่า พระองค์ทรงดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม ทรงเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจ ความสมานสามัคคีของปวงชนชาวไทย และทรงอุทิศพระองค์บำเพ็ญพระราชกรณียกิจอย่างกว้างขวางนานับปการ อันยังประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศและความร่มเย็นเป็นสุขแก่พสกนิกรถ้วนทั่ว โดยเฉพาะในด้านการศึกษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็น "ครุราชันย์" ทรงสถิตในฐานที่เป็น "ครุฐานียบุคคล" "พระบิดาของครูไทย" และ "บรมครู" ผู้ปราดเปรื่อง เพียงพร้อมด้วยคุณลักษณะที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพครู ไว้ 4 ประการคือ รอบรู้ สอนดี มีคุณธรรม จรรยาบรรณ มุ่งมั่นพัฒนา จึงทรงเป็นแบบอย่างของครู อย่างไม่มีผู้ใดเสมอ นอกจากนี้พระองค์ยังมีพระมหากรุณาธิคุณและพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่งานการศึกษาและวิชาชีพครูอย่างอเนกอนันต์ ทรงมีแนวพระราชดำริทางด้านการศึกษาอย่างลึกซึ้ง ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาในฐานะที่เป็นเครื่องมือของการพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และในพระราชกรณียกิจด้านอื่นๆ ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษา การให้ความรู้ โดยทรงประยุกต์หลักแห่งวิชาการด้านศึกษาศาสตร์ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ อันบังเกิดผลคือการพัฒนาที่ยั่งยืน

เจ้าอ้าย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงอุทิศพระองค์ตรากตรำพระวรกาย ทรงงานหนักมาอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลาอันยาวนาน ยังประโยชน์ในการพัฒนาคน พัฒนาชาติบ้านเมืองเป็นอเนกอนันต์เกินกว่าจะมีผู้ใดหรือแหล่งใดพรรณนาไว้ได้ครบถ้วน ทรงมีความเป็นครู พระบารมีนี้สมควรเทิดเกล้าถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณให้ปรากฎแผ่ไพศาลเพื่อเป็นแนวทางให้พสกนิกรเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทสืบไป หวังว่านายจะปฏิบัติตามรอยพระยุคลบาทให้เป็นที่ปรากฏทันได้เห็นนะ

มากกว่ารัก
'เจ้าเอื้อย





เพลงประกอบ:::CORAZON ESPINADO :::
ขอบคุณภาพ : ญามี่
ขอบคุณเพลง : thaipoem

 



Create Date : 22 ตุลาคม 2554
Last Update : 30 ธันวาคม 2564 16:31:10 น. 0 comments
Counter : 2700 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Peakroong
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]





"หากต้องตัดสินใครสักคน

เริ่มจาก "ทำไม"คงจะดีกว่า"อย่างไร"

เพราะสิ่งที่มองเห็นไม่แน่ว่ามีอยู่จริง

สิ่งที่มองไม่เห็นใช่ว่าไม่มี

สิ่งที่คิดว่าใช่อาจไม่ใช่

สิ่งที่ไม่คิดว่าใช่สำหรับคุณ

มันอาจใช่เลยสำหรับใครอีกคน"


"
๐ ให้ลมหายใจของใบไม้เป็นบันทึกคนกล่อง
คำเขียนของคนล้มลุกคลุกคลาน
แต่ยังมีลมหายใจเป็นของตัวเอง
แม้ไม่ใช่ทุกอย่างที่มีหากเป็นทุกอย่างที่เป็น
เก็บความว่างเปล่าไว้เติมเต็ม..

๐ ขอบคุณตัวละครทุกตัว
ทั้งที่มีอยู่จริงและที่ไม่มีตัวตน
ขอบคุณวันเวลา-ครูบา-อาจารย์
ที่สอนให้เก็บเกี่ยว ฝึกให้คิด สอนให้เขียน

๐ ขอบคุณเพื่อนเพื่อนชาวไซเบอร์
ที่กรุยทางให้สร้างสรรรค์บล็อคได้เท่าใจ
ขอบคุณทุกภาพงดงามจากบล็อกน้องญามี่ขอบคุณ https://www.thaipoem.com
ที่ให้เพลงประกอบเป็นอมตะนิรันดร์กาล

๐ ขอบคุณความเป็นเธอ..
ที่ส่งผ่านการ"ให้"มาเสมอฝัน
ขอบคุณความเป็นฉัน..
คนเกี่ยวประสบการณ์ระหว่างวันมาถักทอ


'ปีฆรุ้ง
27 มกราคม 2553


Friends' blogs
[Add Peakroong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.