13 ตุลา "วันตำรวจไทย"

ตำรวจหรือ "ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์" เป็นคำยกย่องของรัฐและประชาชน ที่คาดหวังต่ออาชีพการเป็นตำรวจ เป็นที่ทราบกันดีว่าอาชีพตำรวจเป็นอาชีพที่เป็นทางการ เป็นข้าราชการที่มีหน้าที่รักษากฎหมาย ดูแลความสงบสุขและความปลอดภัยแก่ประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ตำรวจไว้ว่า "... การจับผู้ร้ายนั้นไม่ถือเป็นความชอบ แต่เป็นการทำตามหน้าที่ให้ครบถ้วนเท่านั้น...แต่จะเป็นความชอบก็ต่อเมื่อได้ คุ้มครองป้องกันเหตุร้ายให้ชีวิตและทรัพย์สินของข้าแผ่นดินในท้องที่นั้นให้ อยู่เย็นเป็นสุข"

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ก็ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ตำรวจ ในพิธีสวนสนามเนื่องในโอกาสสถาปนาโรงเรียนนายร้อยตำรวจครบ 100 ปี ณ ลานฝึกศรียานนท์ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2545 ความว่า

"ตำรวจมีหน้าที่ที่สำคัญและกว้างขวางมาก คือต้องทำหน้าที่ทั้งด้านการปกครอง คอยสอดส่องดูแลทุกข์สุขตลอดจนสวัสดิภาพของประชาชน ทั้งด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมและจับกุมผู้กระทำผิด รวมทั้งการปกป้องแผ่นดินไทยเมื่อมีภัยคุกคามอีกด้วย นับว่ามีภาระหนัก มีความรับผิดชอบสูง เพราะต้องเผชิญกับปัญหานานา และต้องเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตอยู่ตลอดเวลา




ดังนั้นผู้ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจให้สำเร็จครบถ้วน จะต้องเป็นบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถ มีความเข้มแข็ง อดทน และมีความเสียสละอย่างแท้จริง จึงขอให้ตำรวจทุกคนภูมิใจที่ได้ปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญและมีเกียรตินี้

ตำรวจมีหน้าที่รักษาความสงบสุขและความถูกต้องเป็นธรรมในบ้านเมือง การปฏิบัติหน้าที่บางทีก็ต้องใช้เมตตาอารีและเสียสละอย่างสูงในการช่วยเหลือ เกื้อกูลประชาชนโดยเสมอหน้า แต่บางทีก็ต้องใช้ความเข้มงวดเด็ดขาดในการควบคุม ทำลายทุจริตชน และการรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ไม่ว่าจะทำหน้าที่โดยความเมตตา เกื้อกูลหรือเข้มงวดกวดขันก็ตาม ตำรวจต้องระมัดระวังตั้งใจปฏิบัติให้ได้ผลตรงตามเป้าหมาย คือให้เป็นการรักษาความสงบสุข เป็นการผดุงความถูกต้องเป็นธรรมอยู่เสมอ อย่าให้ถูกมองว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่หาประโยชน์เบียดเบียนประชาชน หรือล้มล้างทำลายความเป็นธรรมเสียเองเป็นอันขาด มิฉะนั้นจะไม่สามารถรักษาภาพลักษณ์ คุณค่าและเกียรติศักดิ์ของตำรวจไว้ได้"

พระบรมราโชวาทในครั้งนั้น แสดงถึงหน้าที่สำคัญของตำรวจ แม้งานจะหนักแต่ก็เป็นภาระอันมีเกียรติ เป็นความภาคภูมิใจแก่ตนเองและวงศ์ตระกูล และการที่วันที่ 13 ตุลาคมเป็น "วันตำรวจไทย" ก็เนื่องเพราะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมตำรวจภูธรและกรมพลตระเวน (กรมตำรวจนครบาล) เป็นกรมเดียวกัน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม กรมตำรวจจึงได้ยึดถือเอาวันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวันตำรวจ และได้มีการประกอบพิธีในวันตำรวจอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2492 ซึ่งในขณะนั้น พล.ต.อ.หลวงชาติ ตระการโกศล เป็นอธิบดีกรมตำรวจและ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

ต่อมาในปี พ.ศ. 2494 พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดี กรมตำรวจในขณะนั้น ได้จัดให้มีพิธีเดินสวนสนาม และปฏิบัติต่อเนื่องมาจนถึงปี พ.ศ.2500 หลังจากนั้นได้ระงับการจัดพิธีเดินสวนสนาม ประกอบแต่พิธีทางศาสนาและกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพียงอย่างเดียว

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2550 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้จัดให้มีพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตน และสวนสนามของเหล่าข้าราชการตำรวจ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ขึ้น ณ ราชมังคลากีฬาสถาน โดยมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี





วันนี้ตำรวจไทยทั้งประเทศมีอยู่กว่า 2 แสนนาย ขึ้นอยู่กับโครงสร้างใหม่ซึ่งจะมีผลใช้บังคับนับตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2552 โครงสร้างใหม่ดังกล่าว นัยว่าเป็นการปรับปรุงเพื่อประสิทธิภาพให้ทันกับยุคสมัย แต่อีกด้านหนึ่งจะมีผลต่อตำแหน่งในหน่วยงานต่าง ๆ ดังนั้นช่วงฤดูแต่งตั้งโยกย้ายที่มีการวิ่งเต้นกันอยู่แล้ว เสียงจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงพูดกันมากว่า ปีนี้กระแสแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา เพราะนอกจากการวิ่งจากข้างล่างสู่ข้างบนแล้ว ยังมีการฝากจากนักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และผู้มีอิทธิพลนอกสภา

น่าเห็นใจ "ตำรวจไทย" ยามนี้จริง ๆ แต่ก่อนก็ถูกฝ่ายการเมืองล้วงลูก ตั้งแต่สมัยที่ยังขึ้นอยู่กับต้นสังกัดเดิมกระทรวงมหาดไทย มาวันนี้แม้จะถูกยกชั้นให้เป็น สำนักงานตำรวจแห่งชาติขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี มีทั้งคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ ( ก.ต.ช. ) และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะคอยกำกับดูแลกันอีกชั้นหนึ่ง ก็ยังไม่วายถูกล้วงลูกจากนักการเมืองอยู่ดี

และเกี่ยวกับเรื่องที่วันตำรวจปีนี้ไม่มี ผบ.ตร. ตัวจริงนั้น พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก อดีตผบช.ก. กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่มี ผบ.ตร. ตัวจริงในวันครบรอบสถาปนา การมีตำแหน่งรักษาราชการ จริง ๆ ไม่ควรมีในวันสำคัญของตำรวจ ถือว่าเป็นความหย่อนความสามารถของนายกรัฐมนตรี ที่ไม่สามารถแต่งตั้ง ผบ.ตร. ได้ และอาจส่งผลให้สิทธิกำลังพลของตำรวจหายไปด้วย ทั้งเรื่องความเจริญก้าวหน้าในอาชีพ การเลื่อนตำแหน่งขั้นเงินเดือน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ รวมถึงทำให้ขวัญกำลังใจตำรวจส่วนใหญ่หายไปด้วย

ด้าน พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค กล่าวว่า วันตำรวจปีนี้เป็นครั้งแรกที่ไม่มี ผบ.ตร. ตนขอให้ตำรวจทุกนายอดทนและอดกลั้น สถานการณ์ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติตอนนี้ถึงที่สุดแล้ว จริง ๆ ตำรวจขาดความอบอุ่นจากทุกฝ่าย ดังนั้น ตำรวจทุกคนต้องช่วยเหลือดูแลกัน ขอให้ตำรวจมีสติ ขอให้สามัคคีกันไว้ ทำหน้าที่รับใช้ประชาชนให้ดีที่สุดต่อไป







ข้อมูลจากwww.kapook.com



Create Date : 14 ตุลาคม 2552
Last Update : 14 ตุลาคม 2552 0:14:27 น.
Counter : 855 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Caffein Dog
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 14 คน [?]



Group Blog
ตุลาคม 2552

 
 
 
 
1
4
5
6
9
10
11
13
15
16
17
18
19
20
22
23
24
25
26
27
28
29
 
All Blog