3 กุมภาพันธ์ "วันทหารผ่านศึก"
การรบถือเป็นงานหลักของเหล่า "ทหาร" ที่เป็นแนวหน้าคอยปะทะปกป้องประเทศชาติไม่ให้ศัตรูมารุกราน แต่หลังจากสงครามสิ้นสุดลง การสูญเสียมักจะมาเยือนเสมอ ทั้งบาดเจ็บ ล้มตาย รวมถึงพิการ ซึ่งในช่วงแรกทุกคนต่างให้เกียรติในฐานะวีรบุรุษ แต่นานวันเข้าก็เหล่าวีรบุรุษก็ถูกสังคมลืมเลือน กลายเป็นความทรงจำสีจาง "ทหารผ่านศึก" ถูกมองเป็นแค่เพียงคนพิการกินเงินบำนาญ ทั้ง ๆ ที่แท้จริงแล้วพวกเขามีความสามารถและต้องการให้สังคมยอมรับ วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาเพื่อน ๆ ไปค้นหาที่มาของ "วันทหารผ่านศึก" ที่มีความหมายลึกซึ้งเกินกว่าที่หลาย ๆ คนคิดไว้

ความเป็นมาของ "วันทหารผ่านศึก"

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือหลังสงครามมหาเอเซียบูรพาสิ้นสุดลง มีทหารไทยจำนวนมากที่ถูกปลดปล่อยจากการเป็นทหาร จึงได้มีเสียงเรียกร้องขอให้ทางการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ ดังนั้น ในปี พ.ศ.2490 กระทรวงกลาโหมจึงได้จัดตั้งหน่วยงานขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ทหารที่กลับจากปฏิบัติการรบ และช่วยเหลือครอบครัวทหารที่เสียชีวิตในการรบ แต่ก็ยังเป็นหน่วยงานที่ไม่เป็นทางการ

ต่อมากระทรวงกลาโหมได้เสนอพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกขึ้น โดยได้ผ่านการเห็นชอบจากรัฐบาล และได้มีการประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2491 จึงได้ยึดเอาวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น "วันทหารผ่านศึก" โดยมี พลโทชมะบูรณ์ ไพรีระย่อเดช เป็นผู้อำนวยการคนแรก ในปี พ.ศ.2510 องค์การทหารผ่านศึกได้ปรับเปลี่ยนฐานะมาเป็นองค์การเพื่อการกุศลของรัฐ และเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยได้รับเงินอุดหนุนจากกระทรวงกลาโหมและเงินที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นครั้งคราว

ภารกิจหลักขององค์การทหารผ่านศึก ได้แก่ การให้การสงเคราะห์แก่ทหารที่ผ่านการปฎิบัติการรบ และครอบครัวของทหารที่ปฏิบัติการรบ ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 ประเภท คือ ...

1. การสงเคราะห์ทางด้านสวัสดิการ เป็นการให้การสงเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องทั่ว ๆ ไป ที่อยู่อาศัย การศึกษา ตลอดจนให้ความช่วยเหลือด้านอวัยวะเทียม

2. การสงเคราะห์ทางด้านอาชีพ โดยการฝึกอบรมและการฝึกอาชีพ ให้ความช่วยเหลือในทางด้านการทำงาน จัดหางานให้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

3. การสงเคราะห์ด้านนิคมเกษตรกรรม จัดสรรที่ทำกินในด้านเกษตรกรรมให้ และให้ความช่วยเหลือทางด้านเครื่องมือและวิชาการ

4. การสงเคาระห์ด้านกองทุน โดยการจัดหาเงินทุนให้สมาชิกขององค์การทหารผ่านศึกได้กู้ยืมไปประกอบอาชีพ

5. การสงเคราะห์ด้านการรักษาพยาบาลให้แก่สมาชิก โดยไม่คิดมูลค่า

6. ให้มีการส่งเสริมสิทธิของทหารผ่านศึก โดยการขอสิทธิพิเศษในด้านต่างๆ ให้แก่ทหารผ่านศึก เช่น การขอลดค่าโดยสาร เป็นต้น


ที่มาของ "ดอกป๊อปปี้" ใน "วันทหารผ่านศึก"

ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองเพื่อเป็นเกียรติแก่ทหารผู้เสียสละแม้กระทั่งชีวิต เพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทยและอธิปไตยของชาติ รวมถึงจำหน่าย "ดอกป๊อปปี้สีแดง" ให้เป็นสัญลักษณ์แทน "ทหารผ่านศึก" ซึ่งสีแดงของดอกป๊อปปี้ คือ เลือดของทหารหาญที่ได้หลั่งชโลมแผ่นดินไว้ด้วยความกล้าหาญ เสียสละอันสูงสุด

สำหรับประเทศไทยการจัดทำ ดอกป๊อปปี้ เพื่อจำหน่ายใน วันทหารผ่านศึก เกิดจากดำริของ ท่านผู้หญิง จงกล กิตติขจร ประธานสโมสรสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก หรือมูลนิธิสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึกในปัจจุบัน ที่ต้องการจะดำเนินการหาทุนมาช่วยเหลือทหาร และครอบครัวทหารผ่านศึก ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันประเทศ จึงได้เลือกเอา ดอกป๊อปปี้สีแดง

ซึ่งที่มาของ ดอกป๊อปปี้ เนื่องจากในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทหารพันธมิตรได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากสมรภูมินี้มากที่สุด จอมพลเอิร์ล ออฟ เฮก ผู้บัญชาการรบ ได้เห็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่น่าพิศวงเกิดขึ้น ในบริเวณหลุมฝังศพทหาร โดยมีดอกป๊อปปี้ป่าขึ้นอยู่เดียรดาษทั่วไป ทำให้เกิดเป็นลานสีแดงฉานสวยงาม ตั้งแต่นั้นมา ดอกป๊อปปี้ จึงกลายเป็นดอกไม้อนุสรณ์แห่งวีรกรรมของ ทหารผ่านศึก เตือนใจให้ระลึกถึงเลือดสีแดงของทหารที่ได้เสียสละเพื่อประเทศชาติ

ทั้งนี้ วันทหารผ่านศึก ของประจำทุกปี องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกได้กำหนดให้มีพิธีและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีและความเสียหายของเหล่าทหารผ่านศึกทั้งหลาย โดยในช่วงระหว่างวันที่ 28 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ จะเป็นการประกอบ พิธีทางศาสนาพุทธ คริสต์ และ อิสลามรวมทั้งพิธีบวงสรวงศาลหลักเมือง และในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2545 จะมีพิธีวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และพิธีสวน สนามสดุดีทหารผ่านศึก ณ ลานอเนกประสงค์ กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์



ขณะเดียวกัน นอกจากการระลึกถึงเพื่อนร่วมรบที่เสียชีวิตไปแล้ว เหล่า ทหารผ่านศึก ยังต้องการเสียงเพรียกแห่งความหวังจากสังคม ซึ่ง "โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตทหารผ่านศึกพิการทุพพลภาพ ขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์" ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้เหล่ารั้วของชาติมีโอกาสฝึกอาชีพและพัฒนา ความรู้ ส่งเสริมกำลังใจให้กับชีวิตอย่างมีความสุข แต่กว่าจะผ่านวันเวลาอันโหดร้ายไม่ใช่เรื่องง่าย

"พี่ผมขอเมียพี่นะครับ" หนุ่มหน้าใหม่ที่มากับภรรยาของ ร.อ.ชินะดิษ รูปจะโป๊ะ เมื่อครั้งรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเอ่ยปากขอกันดื้อ ๆ เกือบ 30 ปีมาแล้ว ชีวิตเหมือนเวรซ้ำกรรมซัด ตั้งแต่ระเบิดตูมนั้นดังขึ้นบนขุนเขาในจังหวัดเชียงรายจากการปะทะกับกองกำลังขุนส่า ซึ่งกำลังลำเลียงขนย้ายยาเสพติด ทำให้ร่างกายท่อนล่างตั้งแต่ต้นขาลงไปไม่ สามารถขยับเขยื้อนได้ แต่ไม่ทันที่แผลบนร่างกายจะตกสะเก็ดดี แผลใหม่ก็เกิดขึ้นตรงขั้วหัวใจ เมื่อภรรยาขอแยกทางไปกับสามีใหม่โดยทิ้งภาระลูกทั้งสองไว้ให้ดูแล

"พอรู้ว่าจะเดินไม่ได้ไม่เคยท้อแท้ เพราะเราทำหน้าที่รักษาประเทศชาติ ขณะเดียวกันการเป็นทหาร สอนให้รู้จักความอดทนแม้ร่างกายจะพิการก็ต้องหางานทำให้ได้" ร.อ.ชินะดิษ ในวัย 53 ปี กล่าว



ตอนแรกกลับไปทำงานละแวกบ้านที่เป็นโรงงาน ก็พอทำได้ แต่พอนานไปร่างกายไม่เอื้ออำนวย ประกอบกับมีอาการแทรกซ้อนจากการเดินล้ม ทำให้ต้องเข้ามารักษาในโรงพยาบาลอยู่เป็นเวลานานจนถึงปัจจุบัน ร.อ.ชินะดิษ ตัดสินใจลงเรียนหลักสูตรระยะสั้นการเป็นหมอดู เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัวใหม่ของตัวเอง ขณะเดียวกันก็เพื่อให้สังคมยอมรับความสามารถของผู้พิการ เนื่องจากที่ผ่านมาหลายคนยังมองว่าไม่มีความรู้ความสามรถ นอกจากนี้ ยังเรียนในหลักสูตรต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น การแกะสลักไม้เป็นรูปต่าง ๆ และประดิษฐ์ศิลปะการทำรูป ไทย-โอชิเอะ

กิจกรรมฝึกอาชีพทำให้ผ่อนคลายความตึงเครียด และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ถึงวันนี้ลูก ๆ ต่างเติบโตทำมาหาเลี้ยงได้แล้ว แต่ ร.อ.ชินะดิษ ยังคงหวังว่าเมื่อใดที่หายดี จะออกไปนำวิชาความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และทุกวันนี้มีลูกค้ามาดูดวงที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึกพอสมควร แม้จะไม่มากนักแต่ก็ส่งเสริมความสุขทางจิตใจให้มีความสุขมากขึ้นกว่าเดิม

"ในฐานะเป็นทหารผ่านศึก อยากเตือนรุ่นน้องที่ไปทางภาคใต้ให้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ประมาท เพราะเมื่อใดที่เราละเลยพวกเขาก็พร้อมจะโจมตีทุกเมื่อ ขณะเดียวกันก็อยากเชิญชวนเพื่อนๆ ทหารผ่านศึกที่อยากฝึกอาชีพมาขอรับการอบรมได้ทุกวันพุธ ที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก" ร.อ.ชินะดิษ ทิ้งท้าย


ขณะที่ ร.อ.สมศักดิ์ แสนล้ำ วัย 55 ปี กล่าวขณะนั่งร้อยลูกปัดเพื่อทำเป็นกระเป๋าตามที่ลูกค้าสั่งอยู่บนเตียง หลังจากช่วงเช้าเปิดแผงขายลอตเตอรี่ภายในโรงพยาบาลทหารผ่านศึกว่า ชีวิตผมเกิดมาเพื่อเป็นทหาร เพราะหากไม่รักเป็นทหารจริงคงไม่อดทนสอบเข้าถึง 4 ครั้ง แต่ ร.อ.สมศักดิ์ ไม่เคยท้อใจ สอบไม่ได้ก็หาอาชีพอื่นเสริมก่อนสมดั่งหวัง แต่แล้วก็มาถูกลอบยิงที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี หลังจากเข้าจู่โจมที่ พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) กระสุนฝังไขกระดูกสันหลังหมอลงความเห็นว่าต้องตัดขาขวาทิ้ง หลังจากโดนยิงเราทำใจไว้แล้วเพราะเราเป็นนักรบไม่ตายก็พิการ ในฐานะเราเป็นผู้บังคับหมวดปืนเล็กในสมัยนั้นพอเห็นลูกน้องบาดเจ็บด้วยกัน ก็รู้สึกสงสารเพราะในสนามรบเราคือเพื่อนตาย

"ทุกวันนี้แทบไม่ได้เปิดดูข่าว เพราะเบื่อเห็นนักการเมืองทะเลาะกัน หลายครั้งเราก็รู้สึกเศร้าและท้อแท้ในชีวิตว่า ทำไมเราอุตส่าห์พลีชีพเพื่อรักษาชาติ แต่คนที่อยู่แนวหลังมัวแต่ทะเลาะกัน" ร.อ.สมศักดิ์ ทิ้งท้าย

นี่เป็นเสียงสะท้อนหนึ่ง จากเหล่าทหารผ่านศึกที่คอยปกป้องผืนแผ่นดินที่ทุกคนกำลัง "กิน-นอน" ชีวิตของพวกเขาสามารถพลีเพื่อชาติได้ แล้วคุณล่ะ ... พร้อมจับมือกันสร้างประเทศไทยให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคงหรือยัง?




ข้อมูลจาก เดลินิวส์



Create Date : 03 กุมภาพันธ์ 2553
Last Update : 3 กุมภาพันธ์ 2553 21:06:07 น.
Counter : 733 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Caffein Dog
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 14 คน [?]



Group Blog
กุมภาพันธ์ 2553

 
1
2
4
5
6
7
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
 
 
All Blog