13 ตุลาคม "วันตำรวจไทย"
เป็นที่ทราบกันดีว่าอาชีพตำรวจเป็นอาชีพที่เป็นทางการ เป็นข้าราชการที่มีหน้าที่รักษากฎหมาย ดูแลความสงบสุขและความปลอดภัยแก่ประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง และเนื่องจากวันนี้ 13 ตุลาคม เป็น วันตำรวจไทย ดังนั้น เพื่อเป็นการให้ความสำคัญและให้กำลังใจตำรวจดี ๆ ทั่วประเทศ เราจะพาเพื่อน ๆ ไปรู้จัก วันตำรวจ เพื่อรำลึกถึงคุณความดีของตำรวจไทยกันค่ะ

วันตำรวจไทย เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2458 โดยเป็นวันประกาศรวม "กรมพลตระเวน" กับ "กรมตำรวจภูธร" เป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า "กรมตำรวจ" ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น "สำนักงานตำรวจแห่งชาติ" กรมตำรวจจึงได้ยึดถือเอาวันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปีเป็น วันตำรวจ และได้มีการประกอบพิธี วันตำรวจ อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2492 ซึ่งในขณะนั้น พล.ต.อ.หลวงชาติ ตระการโกศล เป็นอธิบดีกรมตำรวจและ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

ประวัติ วันตำรวจ

กิจการตำรวจได้กำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โดยพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราระเบียบการปกครองบ้านเมืองเป็น 4 เหล่า เรียกว่า จตุสดมภ์ ได้แก่ เวียง วัง คลัง นาและพร้อมกันนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการตำรวจขึ้น โดยให้ขึ้นอยู่กับเวียง อันมีเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายก อัครมหาเสนาบดี เป็นผู้บังคับบัญชา

ทั้งนี้ กิจการตำรวจในขณะนั้น แบ่งออกเป็น ตำรวจพระนครบาล ตำรวจภูธร ส่วนตำรวจหลวงให้ขึ้นอยู่กับวัง มีเจ้าพระยาธรรมาธิบดีศรีรัตนมณเฑียรบาล เป็นผู้บังคับบัญชา และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราศักดินาของตำรวจไว้เป็นบรรทัดฐานในบทพระอัยการ ระบุตำแหน่งนายพลเรือน เช่นเดียวกับข้าราชการฝ่ายอื่น

นอกจากนี้ ยังมีเอกสารหลายชิ้นที่แสดงว่าบุคคลที่จะเป็นตำรวจได้นั้นต้องคัดเลือกจาก ผู้ที่มีชาติกำเนิดสืบเชื้อสายมาจากตระกูลที่ได้ทำคุณความดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และต้องเป็นบุคคลที่ทรงวางพระราชหฤทัย การบังคับบัญชาตำรวจก็ต้องขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะแต่พระองค์เดียว ทำให้กิจการตำรวจในยุคนี้จะจัดตั้งเพื่อให้ทำหน้าที่ในวงจำกัด และมิได้ขยายไปยังส่วนการปกครองทั่วประเทศเท่าไหร่นัก แต่เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป มีการติดต่อกับชาวต่างประเทศมากขึ้น กรมตำรวจจึงได้รับความสนใจที่จะปรับปรุงรูปแบบเพื่อให้เป็นไปตามแบบอย่าง ประเทศตะวันตก

โดยในปี พ.ศ. 2405 สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการปรับปรุงกิจการตำรวจครั้งสำคัญ กล่าวคือ มีการจัดตั้งกองตำรวจขึ้นเป็นครั้งแรกตามแบบอย่างยุโรป เรียกว่า กองโปลิศ โดย จ้างชาวมลายูและชาวอินเดียเป็นตำรวจ เรียกว่า คอนสเตเปิล โดยให้มีหน้าที่รักษาการณ์แต่ในเขตกรุงเทพมหานครชั้นใน และขึ้นอยู่กับสังกัดกรมพระนครบาล

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการปรับปรุงกองโปลิศ และจัดตั้งตำรวจภูธรขึ้นเป็นทหารโปลิศ ในปี พ.ศ. 2419 เพื่อให้เป็นกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในส่วนภูมิภาค และให้สามารถปฏิบัติการทางทหารได้ด้วย โดยได้ว่าจ้างนาย G. Schau ชาวเดนมาร์ก เป็นผู้วางโครงการ

ถัดมาในปี พ.ศ. 2420 กองทหารโปลิศได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นกรมกองตระเวนหัวเมือง และได้มีการจัดตั้งกรมตำรวจภูธรขึ้นแทนกรมกองตระเวนหัวเมือง ในปี พ.ศ. 2440 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่ตั้งให้ พลตรี พระยาวาสุเทพ (G. Schau) เป็นเจ้ากรมตำรวจภูธร และได้มีการขยายกิจการตำรวจไปยังหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคตามลำดับ

โดยกิจการตำรวจในยุคนี้ขึ้นอยู่กับ 2 กระทรวง คือ กรมพลตระเวน หรือ ตำรวจนครบาล ขึ้นอยู่กับกระทรวงพระนครบาล ส่วนกรมตำรวจภูธรขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย

ต่อ มาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการรวบรวมกิจการตำรวจมาเป็นกรมเดียวกัน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2458 เรียกว่า กรมตำรวจภูธรและกรมพลตระเวน และในปลายปีได้เปลี่ยนเป็นกรมตำรวจภูธร และกรมตำรวจนครบาล และยกฐานะของเจ้ากรมขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ. 2465 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รวมกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงพระนครบาลเป็นกระทรวงเดียวกัน เรียกว่า กระทรวงมหาดไทย กรมตำรวจภูธรและกรมตำรวจนครบาล จึงโอนมาขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2469 กรมตำรวจภูธรและกรมตำรวจนครบาลได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมตำรวจภูธร และกรมตำรวจนครบาลได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมตำรวจภูธร แต่ยังคงแบ่งตำรวจออกเป็น 2 ประเภท คือ ตำรวจที่จับกุมโจรผู้ร้าย ไต่สวนทำสำนวนฟ้องศาลโปลิศสภาโดยตรง เรียกว่า ตำรวจนครบาล ส่วนตำรวจที่ทำการจับกุมผู้ร้ายได้แล้ว ส่งให้อำเภอไต่สวนทำสำนวนให้อัยการประจำจังหวัดนั้น ๆ เรียกว่า ตำรวจภูธร

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2475 จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อจาก กรมตำรวจภูธร มาเป็น กรมตำรวจ และในปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2542

พิธีสวนสนาม วันตำรวจ


สำหรับการประกอบพิธี วันตำรวจ อย่างเป็นทางการครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2492 ในสมัยที่ พล.ต.อ.หลวงชาติ ตระการโกศล เป็นอธิบดีกรมตำรวจ และ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาในปี พ.ศ.2494 พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้นได้จัดงาน วันตำรวจ โดยให้มีพิธีเดินสวนสนาม และปฏิบัติต่อเนื่องมาจนถึง พ.ศ.2500

หลังจากนั้นได้ระงับการจัดพิธีเดินสวนสนามที่เป็นการรวมหน่วยทุกหน่วยของ ตำรวจ และให้ประกอบพิธีทางศาสนาและกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพียงอย่างเดียว แต่ในส่วนของนักเรียนนายร้อยตำรวจ และนายตำรวจปกครองของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้กระทำพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยประจำหน่วยตำรวจ และสวนสนามภายในโรงเรียนนายร้อยตำรวจเนื่องใน วันตำรวจ เป็นประจำตลอดมาทุกปี

กระทั่งในปี พ.ศ.2550 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้จัดให้มีพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของเหล่าข้าราชการตำรวจเนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ณ ราชมังคลากีฬาสถาน โดยมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี และได้อัญเชิญธงชัยประจำหน่วยตำรวจซึ่งมีความสำคัญเช่นเดียวกับธงชัยเฉลิมพล ของทหาร จำนวนทั้งสิ้น 13 ธง มากระทำพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณและสวนสนาม

วันตำรวจ 2553

พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นประธานงาน วันตำรวจแห่งชาติ 2553 โดยมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่ข้าราชการตำรวจตลอดจนหน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่ดีเด่น รวมถึงพลเมืองดีที่ช่วยเหลืองานข้าราชการตำรวจ จำนวนทั้งสิ้น 162 รางวัล

พล.ต.อ.วิเชียร กล่าวด้วยว่า วันนี้เป็นวันแห่งเกียรติยศและความภาคภูมิใจของข้าราชการตำรวจทุกนาย ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่เสียสละ อดทนและทุ่มเททั้งกำลังแรงกายและใจในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยให้กับประชาชน และประเทศชาติ นอกจากนี้ ตนยังรู้สึกปลาบปลื้มใจที่ได้แสดงความขอบคุณหน่วยงานราชการตลอดจนพลเมืองดีที่ช่วยเหลือราชการตำรวจ พร้อมกันนี้ยังฝากไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไม่ได้รับรางวัลหรือการประกาศกียรติคุณในครังนี้ว่าไม่ต้องเสียใจ เนื่องจากผู้บังคับบัญชาในแต่ละพื้นที่ได้ดูแลทุกข์สุขรวมถึงสวัสดิการต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่พักอยู่แล้ว ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเข้าไปดูแลโดยเร็วที่สุด

ขณะที่ พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รอง ผบช.น. รับผิดชอบงานจราจร เปิดเผยว่า ในวันที่ 13 ตุลาคมนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยิ้มแย้ม เป็นมิตรกับประชาชน ไม่เน้นการจับกุมด้วยการออกใบสั่ง แต่จะกล่าวตักเตือนผู้กระทำผิดแทน และแนะนำให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่และแก้ไขรถให้ถูกต้องตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม หากมีผู้กระทำผิดที่ถูกออกใบสั่ง และเดินทางมาชำระค่าปรับในวันที่ 13 ต.ค.2553 พนักงานสอบสวนทุกสถานีในสังกัด บช.น.จะพิจารณาเปรียบเทียบปรับใบสั่ง ในอัตราขั้นต่ำของแต่ละข้อหาคือ อัตรา 100 บาท หรือ 400 บาท เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนเคารพกฎหมายจราจร เดินทางมาชำระค่าปรับตามกำหนด และสร้างจิตสำนึกไม่กระทำผิดกฎหมายจราจรซ้ำ ยกเว้นการชำระค่าปรับของระบบกล้องตรวจจับฝ่าสัญญาณไฟแดง ( Red Light Camera ) ที่ต้องชำระตามเกณท์เดิมคือ 500 บาท

และเนื่องในโอกาส วันตำรวจ ทางทีมงานขอเป็นกำลังให้กับนายตำรวจดี ๆ ทุกท่าน ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจอย่างสำเร็จครบถ้วน ช่วยพิทักษ์สันติราษฎร์ ดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน รวมทั้งคุมกฎเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองด้วยนะคะ





ที่มา kapook.com



Create Date : 13 ตุลาคม 2553
Last Update : 13 ตุลาคม 2553 21:31:02 น.
Counter : 505 Pageviews.

0 comments

Caffein Dog
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 14 คน [?]



Group Blog
ตุลาคม 2553

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
8
9
10
11
12
14
15
16
18
19
20
22
23
25
26
27
29
30
31
 
 
All Blog