สวัสดีค่ะ ภาระหน้าที่ทำให้ต้องเดินทางไกลมาถึงบัวโนสไอเรส แต่ยังคิดถึงเพื่อนบล็อกทุกคนนะค่ะ

ประวัติธงชาติไทย

เสาธงคันนั้น สูงตระหง่านเมฆ มีสายระโยงขึ้งเสาอย่างแข็งแรง บนยอดสุด ชักธงชาติปลิวสะบัดอยู่ไสว เสาธงคันนี้ คือเสาธงอยู่ที่ปากคลองสาน ของกรมเจ้า่ท่า ซึ่งถ้าใคร ๆ ผ่านไปมาก็ต้องเห็น แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่า เสาธงดังกล่าว มีประวัติความเป็นมาอย่างไร

เสาธงคันนี้ มีประวัติยืดยาวเหมือนกัน แต่ก่อนที่จะเล่าเรื่องเสาธง ประวัิตศาสตร์ต้นดังกล่าว จะขอเล่าถึงความเป็นมาของเรื่อง "การชักธง" เสียก่อน

แรกทีเดียว ไทยเราไม่มีประเพณีทำเสาธง และชักธงบนบก แต่ทั้งนี้ ก็มิได้หมายความว่า เราไม่เคยรู้จักธง หรือการชักธงก็หาไม่ ความจริง เรารู้จักใช้ธง และชักธงมานานแล้ว ซึ่งท่านไปอ่านหนังสือวรรณคดีเก่า ๆ ที่กล่าวถึง การยกทัพจับศึกดู ก็จะพบว่า กองทัพไทยในสมัยโบราณ ใช้ธงสีต่าง ๆ ประจำกองทัพละสี ส่วนการชักธงธรรมเนียมของเราใชัชักธงแดงบนเสาใบเรือกำปั่น ที่ไปค้าขายกับต่างประเทศเพียงอย่างเดียว มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว

ธงสมัยรัชกาลที่ 1 ธงสมัยรัชกาลที่ 2 ธงสมัยรัชกาลที่ 4

ครั้นถึงกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 2 ปรากฏว่า ในรัชกาลนี้ มีช้างเผือกเอก ถึง 3 ช้าง คือ

"พระยาเสวตกุญชร อดิศรประเสริฐศักดิ์ เผือกเอกอรรคไอยรา มงคลพาหนะนารถ บรมราชจักรพรรดิ วิเชียรรัตนนาเคนทร์ ชาติคเชนทรฉันทันต์ หิรัญรัศมีศรีพระนคร สุนทรลักษณเลิศฟ้า" (โปรดสังเกตชื่อนะครับ จะคล้องจองกัน ซึ่งเป็นธรรมเนียมของราชสำนัก ที่ตั้งชื่ออะไร นิยมตั้งแบบคล้องจองกัน)

พระยาเสวตกุญชรนี้ ได้มาจากเมืองโพธิสัตว์ ประเทศกัมพูชา เมื่อจุลศักราช 1174 (คือ พ.ศ. 2355)

"พระยาเสวตไอยรา บวรพาหนะนารถ อิศราราชบรมจักร ศรีสังข์ศักดิอุโบสถ คชคเชนทรชาติอากาศจารี เผือกผ่องศรีบริสุทธิ เฉลิมอยุธยา ยิ่งวิมลมิ่งมงคล จบสกลเลิศฟ้า"

พระยาเสวตไอยรานี้ ได้มาจากเมืองเชียงใหม่ เมื่อจุลศักราช 1177 (คือ พ.ศ. 2359)

"พระยาเสวตรคชลักษณ์ ประเสริฐศักดิ์สมบูรณ์ เกิดตระกูลสารสิบหมู่ เผือกผู้พาหนะนารถ อิศราราชธำรง บัณฑรพงษ์จตุรภักตร์สุรารักษ์รังสรรค์ ผ่องผิวพรรณผุดผาด ศรีไกรลาศเลิศลบ เฉลิมพิภพอยุทธยา ขัณฑเสมามณฑล มิ่งมงคลเลิศฟ้า"

พระยาเสวตรคชลักษณ์นี้ ได้มาจากเมืองน่าน เมื่อจุลศักราช 1179 (คือ พ.ศ. 2360)

การที่ได้ช้างเผือกเอกถึง 3 ช้าง ในรัชกาลเดียวกันนี้ ในครั้งนั้น ยังไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งในสยามประเทศ ตลอดจนเมืองพม่ารามัญ เมื่อครั้งกรุงเก่า ในแผ่นดิน สมเด็จพระมหาจักพรรดิ จะปรากฏว่ามีช้างเผือกถึง 7 ช้างก็จริง แต่ก็ไม่ทราบว่าเป็นช้างเผือกเอกกี่ช้าง

ด้วยเหตุที่ได้ช้างเผือกเอกมาถึง 3 ช้าง ดังกล่าว ราษฎรจึงได้พากันชื่นชมยินดี ในพระบารมีเป็นอันมาก และ พระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็ได้โปรดฯ ให้ทำรูปช้างเผือกสีขาว อยู่ในกลางวงจักรติดในธงพื้นสีแดง ใช้ชักในเรือหลวง แต่นั้นมา

แต่เรือค้าขายของราษฎร ก็คงใช้ธงสีแดงเลี้ยงอยู่ จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 4

ในรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งโปรดธรรมเนียมฝรั่ง โปรดฯ ให้ทำเสาธงขึ้น ณ พระราชวังเดิม อันเป็นวังที่ประทับในขณะนั้น แล้วก็ชักธงบริวารเป็นเครื่องบูชาในเวลาที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทอดพระกฐิน เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ผ่านมาทอดพระเนตรเห็นเข้า จึงตรัสถามผู้ที่ตามเสด็จฯ ว่า "นั่นท่านฟ้าน้อย เอาผ้าขี้ริ้วขึ้นตากทำไม่"

จากคำตรัสถามของพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งทรงพระนิพนธ์เรื่องนี้ ในหนังสือ "ความทรงจำ" ทรงวินิจฉัยว่า ที่มีพระราชดำรัสเช่นนี้ มิใช่เพราะพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยูหัว ไม่ทรงทราบว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าอยู่หัว ทรงทำโดยความเคารพตามธรรมเนียมฝรั่ง แต่เป็นเพราะพระองค์ไม่โปรดฯ ในการทำเสาธง และชักธงเอาอย่างฝรั่งต่างหาก

ครั้นพอถึงรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงทราบขนบะรรมเนียมฝรั่งเป็นอย่างดี มีพระราชดำรัส สั่งให้ทำเสาธงขึ้น ทั้งในวังหลวง และวังหน้า เพื่อจะชักธงตามแบบอย่างฝรั่ง คือ เสาธงวังหลวง โปรดฯ ให้ชักธงตราพระมงกุฏ ซึ่งเป็นธงประจำพระองค์ ส่วนเสาธงวังหน้า โปรดฯ ให้ชักธงจุฑามณี (ปิ่น) อันเป็นธงประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้อยู่หัว

การตั้งเสาธง และชักธงดังกล่าว ราษฎรพากันเข้าใจว่า เป็นเครื่องหมายแห่งพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดิน

ครั้นเมื่อไทยทำสัญญา ทางพระราชไมตรีกับฝรั่งต่างประเทศแล้ว ก็ได้มีสถานกงสุลฝรั่งประเทศต่าง ๆ เข้ามาตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ สถานกงสุลเหล่านั้น ต่างก็ทำเสาธง และชักธงชาติของตนขึ้น ตามประเพณี ราษฎรจึงพากันตกใจ โจษกันว่า พวกกงสุลเหล่านั้น เข้ามาแข่งพระบรมเดชานุภาพ

ความดังกล่าวนี้ ทรงทราบถึงพระกรรณ พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรำคาญพระราชหฤทัย จึงทรงพระราชดำริหาอุบายแก้ไข โปรดฯ ให้เจ้านาย และขุนนางข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลาย ทำเสาธง และชักธงช้างขึ้นที่ตามวัง และตามบ้าน เมื่อราษฎรเห็นมีเสาธง และชักธงกันมากก็หายตกใจ การสร้างเสาธง และชักธง จึงกลายเป็นของธรรมดาไป

ธงราชการ ร.ศ. 129 ธงค้าขาย ร.ศ. 129

เมื่อมีการชักธง สำหรับพระองค์ขึ้น บนเสาธงในพระบรมมหาราชวัง ก็เป็นเครื่องหมายอีกอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ราษฎรได้ทราบว่า พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่ในพระนครหรือไม่ คือถ้าประทับอยู่ก็มีการชักธง ถ้าไม่ได้ประทับอยู่ ก็ไม่ได้ชักธง

พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่า ในเวลาที่ไม่ได้ประทับอยู่ ในพระนคร แล้วปล่อยให้เสาธงว่างเปล่านั้น ไม่เป็นการสมควร พระองค์จึงโปรดฯ ให้ทำธง ไอยราพต อย่างพระราชลัญจกรไอยราพต ประจำแผ่นดินสยาม ขึ้นมาใหม่ สำหรับใช้ชัก ในเวลาพระองค์ไม่ได้ประทับอยู่ในพระนคร

ส่วนธงแดง ที่เรือค้าขายของราษฎร ใช้กันมาแต่โบราณนั้น พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่า เป็นธงที่ใช้ซ้ำกับธงของประเทศอื่น ซึ่งยากที่จะสังเกต พระองค์จึงโปรดฯ ให้ดัดแปลงธงที่ใช้ชักในเรือหลวง คือ ให้ยกรูปจักรออกเสีย คงเหลือแต่รูปช้างเผือก บนพื้นสีแดง สำหรับเป็นธง ให้เรือราษฎรใช้ชัก ส่วนธงที่ใช้ชักในเรือหลวง โปรดฯ ให้ชักรูปช้างเผือกบนพื้นสีขาว เพื่อให้ต่างกันกับธงที่เรือราษฎรใช้

ในรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธงขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ร.ศ. 110 (พ.ศ. 2434) และลงวันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) แต่ต่อมา โปรดฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธงขึ้นใหม่อีก ซึ่งเรียกว่า พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก 118 และกำหนดให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ร.ศ. 119 เป็นต้นไป

พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ศก 118 ได้กำหนดลักษณะธงต่าง ๆ ขึ้น มีธงมหาราช ธงไอยราพต ธงราชินี ธงเยาวราช ธงราชวงษ์ ธงเรือหลวง ธงเสนาบดี ธงฉาน ธงหางแซงแซว ธงหางจระเข้ ธงผู้ใหญ่ ธงชาติ ธงนำร่อง เป็นต้น

สำหรับ ธงมหาราช มีลักษณะและความหมายดังนี้

"...ธงมหาราช พื้นนอกสีแดง ขนาดกว้าง 5 ส่วน ยาว 6 ส่วน พื้นในสีขาว ขนาดกว้าง 3 ส่วน ยาว 4 ส่วน ที่ในพื้นสีขาวนั้น กลางเป็นรูปโล่ห์ แบ่งเป็น 3 ช่อง ช่องบนเป็นรูปช้างไอยราพต อยู่บนพื้นเหลือง บอกนามสยามเหนือสยามใต้ สยามกลาง ช่องล่างข้างขวาแห่งโล่ห์ เป็นรูปช้างเผือกอยู่บนพื้นชมภู หันหน้าออกไปข้างเสา เป็นนามสัญญาแห่งลาวประเทศ ช่องซ้ายของโล่ห์ เป็นรูปกฤสคต แลตรง 2 อัน ไขว้กันอยู่บนพื้นแดง บอกนามสัญญามลายูประเทศ เบื้องบนแห่งโล่ห์นั้นมีจักรกรีไขว้กัน แลมีมหาพิไชยมงกุฎ สวมอยู่บนจักรี แลมีเครื่องสูงเจ็ดชั้น สองข้างโล่ห์ มีแทนรองแลเครื่องสูงด้วย รวมครบเครื่องหมายเหล่านี้ทั้งส้ิน จึงเป็นธงมหาราช สำหรับพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จโดยกระบวนนั้น ฤๅชักขึ้นในที่แห่งใด ก็เป็นที่หมายว่า พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่ที่นั้น ถ้าประทับอยู่ในเรือพระที่นั่งฤๅเรือรบแล้ว ต้องชักขึ้นบนเสาใหญ่อยู่เป็นนิตย์"

ส่วน ธงไอยราพต มีลักษณะ "...พื้นสีแดง มีรูปช้างไอยราพต สามเศียร ทรงเครื่องยืนแท่น หันหน้าไปข้างเสา มีบุษบก ทรงอุณาโลมไว้ภายใน ตั้งอยู่บนหลัง และมีเครื่องสูงเจ็ดชั้นอยู่หน้าหลัง ข้างละสององค์ ธงนี้ประจำแผ่นดินสยาม สำหรับชักขึ้นในพระนคร เวลาที่พระสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ได้ประทับอยู่ในพระมหานคร"

ธงราชินี และธงเยาวราช มีลักษณะดังนี้

"ธงราชินี พื้นนอกสีแดง ขนาดกว้าง 10 ส่วน ยาว 15 ส่วน ชายตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่ 4 แห่งดานยาว พื้นในตัดมุมแฉกเข้ามา ส่วนหนึ่งนั้นสีขาว ขนาดกว้าง 6 ส่วน ยาว 8 ส่วน รูปเครื่องหมาย ที่ในพื้นสีขาว ก็เหมือนกับธงมหาราช ธงนี้ เป็นเครื่องหมาย พระองค์สมเด็จพระอรรคมเหษี สำหรับชักขึ้นบนเสาใหญ่ในเรือพระที่นั่ง อันสมเด็จพระอรรคมเหษี ได้เสด็จ โดยพระราชอิศริยศ เป็นที่หมายให้ปรากฏว่า ได้เสด็จอยู่ในเรือลำนั้น"

ธงเยาวราช มีพื้นสีขาว ขนาดกว้าง 5 ส่วน ยาว 6 ส่วน รูปเครื่องหมายในกลางธงเหมือนอย่างธงมหาราช เว้นแต่เครื่องสูงสองข้างโล่ห์นั้น เป็นห้าชั้น ธงนี้เป็นเครื่องหมาย ในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มกุฏราชกุมาร สำหรับชักขึ้นบนเสาใหญ่ ในเรือพระที่นั่ง ฤๅเรือลำใดลำหนึ่ง ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มกุฏราชกุมารเสด็จ โดยพระอิศริยศ เป็นที่หมายให้ปรากฏว่า ได้เสด็จอยู่ในเรือลำนั้น"
ส่วนธงชาติ ในพระราชบัญญัติ ฉบับนี้ กำหนดลักษณพื้นธงสีแดง กลางเป็นรูปช้างเผือก หันหน้าเข้าข้างเสา สำหรับใช้ชักในเรือทั้งหลายของพ่อค้า แลของสมัญในทั่วไป บรรดาที่เป็นชาติชาวสยาม

สำหรับธงอื่น ๆ เป็นต้นว่า ธงฉาน ธงหางแซงแซว ธงหางจระเข้ ล้วนแต่เป็นธงที่หมายถึงนายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ ทั้งสิ้น

อนึ่ง ในพระราชบัญญัติธงฉบับนี้ ได้กำหนดธง สำหรับสถานราชทูตไทย ในต่างประเทศไว้ด้วย โดยให้มีลักษณะธง เป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่อง ยืนแท่นอยู่ตรงกลางธง และมีตรารูปโล่ห์ตราแผ่นดิน มีจักรีมหามงกุฏอยู่เบื้องบน

ส่วนเสาธงที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างขึ้นที่หน้าหอราชวัลลภ ซึ่งในรัชกาลที่ 5 เป็นศาลาว่าการต่างประเทศ (ปัจจุบันเป็นกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง) ในพระบรมมหาราชวังนั้น อยู่ในที่ลับตา ทำให้การชักธง ขาดความสง่างาม ไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดฯ ให้ย้ายเสาธงต้นนี้ ไปตั้งบนป้อมเผด็จดัสกร อันเป็นป้อมกำแพงพระบรมมหาราชวัง ตรงกันข้ามกับศาลา ยุทธนาธิการ หรือคือกระทรวงกลาโหมเดี๋ยวนี้ และสาลหลักเมือง ซึ่งเป็นสถานที่ที่เหมาะสมกว่า เพราะอยู่ริมกำแพง ราษฎรผ่านไปผ่านมาก็เห็น นอกจากนั้น ยังสามารถมองเห็นเสาธง และธงที่ชักได้แต่ไกลอีกด้วย

สำหรับการชักธงสำหรับพระองค์ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น ได้ความว่า ตอนเช้าชักธงขึ้นสู่ยอดเสา เวลา 2 โมงตรง ส่วนตอนเย็น ชักธงลงเวลา 6 โมงตรงของทุกวัน เวลาชักธงขึ้น ทหารที่กองรักษาการณ์ ศาลายุทธนาธิการ ทำการเป่าแตรสั้น คำนับ 3 จบ แต่เวลาชักธงลง แตรวงทหารที่กระโจม หน้าศาลายุทธนาธิการ ซึ่งทางการจัดให้มีการบรรเลงทุกเย็น ยกเว้นวันอาทิตย์ ทำการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี แทนการเป่าแตรเดี่ยว

เนื่องจากสมัยโน้น กรุงเทพฯ ยังแคบอยู่ ถนนหนทางก็ยังไม่มีมาก สถานรื่นรมย์ก็มีเพียงไม่กี่แห่ง พอตกเย็น ราษฎรต่างก็พากันมาฟังแตรวง ที่หน้าศาลายุทธนาธิการ ดังกล่าวกันเป็นจำนวนมาก ดังนั้น พอถึงเวลาชักธงลง จึงมีคนยืนทำความเคารพกันเป็นจำนวนมาก เสร็จแล้ว ต่างก็ทะยอยกันกลับบ้าน เพราะแตรวงบรรเลง เพียงแค่เวลาชักธงลงเท่านั้น

ในรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จ พระมงกุฏเกล้าเ้จ้าอยู่หัว มีพระราชปรารภว่า เสาธงบนป้อมเผด็จดัสกร ออกจะเป็นการล้าสมัยแล้ว หมดความจำเป็นที่จะต้องชักธง ทำนองนี้ต่อไป เพราะได้มีการตราพระราชบัญญัติธงขึ้นใหม่แล้ว อีกประการหนึ่ง พระองค์ทรงเห็นว่า ในเวลานั้น มีเรือสินค้าต่างประเทศ เข้าออกมากมายกว่าแต่ก่อน แต่ก็ยังไม่มีเสา เพื่อสำหรับชักธงบอกสัญญาณให้เรือเข้าออกเลยบ ดังนั้น พระองค์ จึงโปรดฯ ให้ย้ายเสาธงต้นนี้ ไปไว้ที่ปากคลองสาน เพื่อให้ใช้เป็นประโยชน์ดังกล่าว ดังนั้น เสาธงต้นนี้ จึงอยู่ในความดูแลของกรมเจ้าท่า ตั้งแต่นั้นมา จนกระทั่งบัดนี้

สำหรับพระราชบัญญัติธง ที่ตราขึ้นใหม่ในรัชกาลนี้ ก็คือกำเนิดของธงไตรรงค์ ที่ใช้เป็นธงชาติไทย ในปัจจุบันนั่นเอง


เสาธงบนป้อมเผด็จดัสกร บนกำแพง พระบรมมาหราชวัง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับศาลหลักเมือง โปรดสังเกต ต้นมะขามที่สนามยังเล็กอยู่

ที่มา : กรุงเทพฯ ในอดีต โดยเทพชู ทับทอง สนพ. สุขภาพใย

ธงไตรรงค์
ธงช้างเผือกเปล่าได้ใช้เป็นธงชาติสยามสืบมา จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2459 เมื่อพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองอุทัยธานี ซึ่งขณะนั้นประสบเหตุอุทกภัย และทอดพระเนตรเห็นธงช้างของราษฎร ซึ่งตั้งใจรอรับเสด็จประดับไว้ถูกแขวนกลับหัว พระองค์จึงมีพระราชดำริว่า ธงชาติต้องมีรูปแบบที่สมมาตร เพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนรูปแบบธงชาติอีกครั้ง โดยเปลี่ยนเป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีแถบยาวสีแดง 3 แถบ สลับกับแถบสีขาว 2 แถบ ซึ่งเหมือนกับธงชาติไทยในปัจจุบัน แต่มีเพียงสีแดงสีเดียว

พ.ศ. 2460 แถบสีแดงตรงกลางได้เปลี่ยนเป็น "สีขาบ" หรือสีน้ำเงินเข้มเจือม่วงดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เหตุที่รัชกาลที่ 6 ทรงเลือกสีนี้ เพราะเป็นสีมงคลประจำวันเสาร์ ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของพระองค์ ทั้งสีน้ำเงินยังแสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียว ของฝ่ายสัมพันธมิตร ในสงครามโลกครั้งที่ 1 เช่น ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ซึ่งใช้สีแดง ขาว น้ำเงินเป็นสีในธงชาติเป็นส่วนใหญ่ด้วย อีกประการหนึ่ง ธงชาติแบบใหม่นี้ได้รับพระราชทานนามว่า "ธงไตรรงค์" และอวดโฉมต่อสายตาชาวโลกครั้งแรก ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งกองทหารอาสาของไทย ได้ใช้เชิญไปเป็นธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วย

ธงไตรรงค์ที่สร้างขึ้นในคราวนั้นไม่ใช่ลักษณะ อย่างธงไตรรงค์ ตามที่กำหนดให้ใช้โดยทั่วไป แต่มีการเพิ่มรูปสัญลักษณ์พิเศษลงในธงด้วย โดยด้านหน้าธงนั้นเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่อง ยืนแท่นในวงกลมพื้นแดง ลักษณะอย่างเดียวกับธงราชนาวีไทย (ซึ่งกำหนดแบบใหม่ให้ใช้พร้อมกัน ในคราวประกาศเปลี่ยนธงชาติ) ด้านหลัง เป็นตราพระปรมาภิไธยย่อ ร.ร. ๖ ภายใต้พระมหามงกุฎเปล่งรัศมีในวงกลมพื้นแดง ที่แถบสีแดงทั้งแถบบนแถบล่างทั้งสองด้าน จารึกพุทธชัยมงคลคาถา บทแรก (ภาษาบาลี) เพื่อความเป็นสิริมงคล แก่กองทหารอาสาของไทย ในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชนิพนธ์แก้ไขในตอนท้ายจาก "ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ" (ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน) เป็น "ตนฺเตชสา ภวตุ เม ชยสิทฺธินิจฺจํ" (ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยชนะจงมีแก่ข้าพเจ้าเสมอ)

พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า ธงชาติไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้งแล้ว ควรหาข้อกำหนดเรื่องธงชาติให้เป็นการถาวร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชบรรทึก พระราชทานไปยังองคมนตรี เพื่อให้เสนอความเห็นของคนหมู่มากว่า จะคงใช้ธงไตรรงค์ดังที่ใช้อยู่เป็นธงชาติต่อไป หรือจะกลับไปใช้ธงช้างแทน หรือจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงลักษณะธงชาติ กับวิธีใช้ธงไตรรงค์อย่างไร[11] ผลปรากฏว่า ความเห็นขององคมนตร ีแตกต่างกระจายกันมาก จึงมิได้กราบบังคมทูลข้อชี้ขาด ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระบรมราชวินิจฉัยลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2470 ให้คงใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติต่อไป

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 รัฐบาลต่างๆ ยังคงรับรองให้ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติอยู่เช่นเดิม จนถึงปัจจุบัน โดยมีการออกพระราชบัญญัติธง ฉบับ พ.ศ. 2479 และฉบับ พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายรับรองฐานะของธงไตรรงค์





ขอบคุณข้อมูลจาก
//allknowledges.tripod.com/thaiflag.html




 

Create Date : 25 มีนาคม 2554
0 comments
Last Update : 25 มีนาคม 2554 9:20:57 น.
Counter : 1009 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


kobnon
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 92 คน [?]




.
สาระน่ารู้ประจำวัน
1.โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด
2. บุหรี่ ทำนมยาน หูตึง
3. Upside down pineapple cake


music
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
25 มีนาคม 2554
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kobnon's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.