ชนะคนอื่นเป็นร้อย ยังไม่ยากเท่าชนะตนแค่คนเดียว...

มะเร็งกระเพาะอาหาร คืออะไร

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับมะเร็งกระเพาะอาหาร
   กระเพาะอาหารเป็นส่วนหนึ่งของระบบย่อยอาหาร เป็นอวัยวะที่อยู่บริเวณช่องท้องส่วนบน ใต้ต่อกระดูกซี่โครงเวลาเรารับประทานอาหาร อาหารจะเข้าทางปากจากนั้นผ่านไปยังหลอดอาหารไปสู่กระเพาะอาหารที่กระเพาะอาหาร อาหารบางส่วนจะถูกย่อยและจากนั้นอาหารก็จะเคลื่อนต่อไปยังลำไส้เล็กต่อไป เนื้องอกของกระเพาะอาหารสามารถแพร่กระจายได้ทั้งการลุกลามไปยังอวัยวะรอบๆ เช่น ตับอ่อน หลอดอาหาร หรือลำไส้ได้โดยตรง, แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ผ่านทางต่อมน้ำเหลือง หรือ กระจายผ่านทางกระแสโลหิต
ปัจจัยเสี่ยง
   สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดมะเร็งหลอดอาหารยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มีการศึกษาพบว่ามีปัจจัยบางอย่างเกี่ยวของกับการเกิดเป็นมะเร็งของกระเพาะอาหาร เช่น
     - อายุ เมื่ออายุมากขึ้นก็จะมีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้น
     - เพศ พบว่าผู้ชายมีความเสี่ยงที่จะเป็นมากกว่าผู้หญิง
     - เชื้อชาติ พบมะเร็งกระเพาะอาหารในชาวเอเชียมากกว่า ชนชาติอื่นๆ
     - อาหาร การรับประทานอาหารปิ้งย่าง หมักดอง อาจทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้น ในขณะเดียวกันการรับประทานผักและผลไม้ก็อาจจะช่วยลดโอกาสเกิดโรคได้
     - การติดเชื้อแบคทีเรีย H. Pylori  เป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อยู่ในกระเพาะอาหาร ซึ่งเมื่อติดเชื้อนี้จะทำให้มีอาการอักเสบและเกิดเป็นแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งเพิ่มโอกาสในการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น  และเป็นเชื้อที่ไม่สามารถติดต่อกันระหว่างบุคคลได้
     - การสูบบุหรี่ ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้สูงขึ้น
     - โรคอื่นๆ เช่น กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง และโรคเลือดบางชนิด
อาการสำคัญ
    - ปวดท้อง หรือแน่นท้อง
    - คลื่นไส้อาเจียน
    - น้ำหนักลดอย่างมาก
   ผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้ส่วนใหญ่มักไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคมะเร็ง แต่ถ้ามีอาการผิดปกติ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและทำการรักษาต่อไป
การตรวจเพื่อการวินิจฉัยโรค
    - การซักประวัติ และการตรวจร่างกายโดยทั่วไป
    - การกลืนแป้ง
    - การส่องกล้องดูทางอาหารส่วนบน และการตัดชิ้นเนื้อบริเวณที่สงสัยไปตรวจ

การรักษา
    การรักษาที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับขนาด ตำแหน่งของก้อนเนื้องอก และระยะการแพร่กระจาย ของโรค วิธีการรักษานั้นประกอบด้วยการผ่าตัด การรักษาด้วยรังสี และการให้ยาเคมีบำบัด
    การผ่าตัด เป็นการรักษาหลักของมะเร็งกระเพาะอาหาร การผ่าตัดกระเพาะอาหารนั้น อาจเป็นการผ่าตัดเพื่อตัดกระเพาะอาหารออกบางส่วน หรือตัดออกทั้งหมด รวมถึงมีการตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงด้วยการให้ยาเคมีบำบัด  เป็นการให้ยาทางหลอดเลือดเพื่อไปทำลายเซลล์มะเร็ง ทั่วร่างกาย โดย อาจมีผลข้างเคียง เช่น
     - เม็ดเลือดลดลง ทั้งเม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น, เม็ดเลือดแดง ซึ่งทำหน้าที่นำพาออกซิเจนไปยังเซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกาย  อาจทำให้มีอาการอ่อนเพลีย และ เกร็ดเลือด ซึ่งช่วยในการแข็งตัวของเลือด ทำให้อาจมีเลือดออกง่ายขึ้น
     - ผมร่วง
     - มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
    การรักษาด้วยรังสี เป็นการให้รังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง โดยมีผลจำกัดอยู่เฉพาะบริเวณที่ได้รับการฉายรังสีเท่านั้น ผลข้างเคียงนั้นขึ้นอยู่กับว่าเป็นการให้รังสีที่ส่วนใดของร่างกาย ส่วนใหญ่สำหรับโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มักเป็นการให้ รังสีบริเวณช่องท้องส่วนบน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ถ่ายเหลว และมีอาการแดงบริเวณผิวหนังที่ได้รับรังสีได้ แต่อาการเหล่านี้มักค่อยๆ ดีขึ้นหลังจากจบการรักษา  

การรับประทานอาหาร
    รับประทานอาหารได้ทุกชนิด โดยรับประทานให้ครบ 5 หมู่ และเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายของผู้ป่วยแข็งแรงและทนต่อการรักษาได้ดี

มะเร็งกระเพาะอาหารคืออะไร
    มะเร็งกระเพาะอาหารคือโรคที่เกิดจากการมีเซลล์เนื้อร้ายเกิดขึ้นที่บริเวณเยื่อบุผิวของกระเพาะอาหาร
    ลักษณะของกระเพาะอาหารโดยปกติเป็นรูปตัว เจ (J)  อยู่บริเวณช่องท้องส่วนบน  เป็นอวัยวะหนึ่งในระบบการย่อยซึ่งจะดูดซึมสารอาหารต่างๆ เช่น วิตามิน เกลือแร่ แป้ง ไขมัน โปรตีน และน้ำที่เรารับประทานเข้าไป อาหารจะผ่านจากคอหอย ไปยังกระเพาะอาหาร โดยผ่านทางอวัยวะที่เรียกว่า หลอดอาหาร หลังจากนั้นอาหารที่ออกจากกระเพาะอาหารจะไปยังลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ ตามลำดับ
    กระเพาะอาหารและหลอดอาหารนั้นเป็นอวัยวะย่อยอาหารส่วนบน ผนังของกระเพาะอาหารนั้นประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อ 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นของเยื่อบุผิวด้านในอยู่ชั้นในสุด ชั้นถัดมาตรงกลางคือชั้นกล้ามเนื้อ และชั้นนอกสุดเป็นชั้นของเยื่อบุผิวด้านนอกโดยมะเร็งกระเพาะอาหารนั้นจะเริ่มเกิดจากเซลล์ที่อยู่บริเวณเยื่อบุผิวด้านในและกระจายผ่านออกมาถึงบริเวณเยื่อบุผิวด้านนอก
    เนื้องอกกระเพาะอาหารชนิด GIST (Gastrointestinal stromal tumor) เกิดจากเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ซึ่งจะได้รับการรักษาแตกต่างจากมะเร็งกระเพาะอาหาร

ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งกระเพาะอาหาร
อายุ อาหาร และโรคทางกระเพาะอาหารมีผลต่อความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร
    สิ่งใดก็ตามที่มีโอกาสส่งผลทำให้เราเกิดโรคขึ้นได้เราเรียกสิ่งนั้นว่า ปัจจัยเสี่ยง แต่การที่มีปัจจัยเสี่ยงไม่ได้หมายความว่าคุณจะเป็นมะเร็ง และในทางกลับกัน การที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่มีโอกาสเป็นมะเร็ง สำหรับใครที่คิดว่าตัวเองมีปัจจัยเสี่ยงหรือไม่ควรปรึกษาแพทย์ ปัจจัยเสี่ยงสำหรับการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร มีดังนี้
     -  มีสภาวะดังต่อไปนี้
        +มีการติดเชื้อ Helicobacter pylori ในกระเพาะอาหาร
        +กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง
        +โลหิตจางชนิดเม็ดเลือดแดงใหญ่
        +การเจริญเติบโตผิดที่ของเซลล์ในลำไส้แทนที่เซลล์ของกระเพาะอาหาร
        +เนื้องอกลำไส้ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือเนื้องอกกระเพาะอาหาร
    - รับประทานอาหารเค็มจัด อาหารประเภทย่างเผา รับประทานผักและผลไม้ในปริมาณน้อย
    - รับประทานอาหารที่ไม่ได้รับการปรุงอย่างเหมาะสมถูกวิธี
    - อายุมากหรือ เพศชาย
    - สูบบุหรี่
    - มีพ่อ แม่ พี่ หรือน้องที่เคยมีประวัติเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร
อาการแสดงของมะเร็งกระเพาะอาหาร
     ลักษณะอาการแสดงของมะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งในสภาวะโรคอื่นอาจมีอาการเดียวกันนี้ได้ในระยะเริ่มแรกของมะเร็ง
กระเพาะอาหารอาจจะมีอาการแสดง ดังนี้
    - อาหารไม่ย่อยและรู้สึกไม่สบายในช่องท้อง
    - ท้องอืดหลังรับประทานอาหาร
    - คลื่นไส้เล็กน้อย
    - ไม่อยากอาหาร
    - ปวดแสบร้อนที่บริเวณหน้าอก
ในระยะขั้นต่อมาของมะเร็งกระเพาะอาหารอาจจะมีอาการแสดง ดังนี้
    - มีเลือดปนในอุจจาระ ถ่ายอุจจาระสีดำ
    - อาเจียน
    - น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
    - ปวดท้อง
    - ตัวเหลืองตาเหลือง
    - มีน้ำในช่องท้อง
    - กลืนลำบาก
ถ้ามีอาการเกิดขึ้นตามนี้ควรรีบปรึกษาแพทย์
    การตรวจหามะเร็งกระเพาะอาหาร
    การตรวจหามะเร็งกระเพาะโดยการตรวจหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร
     - การตรวจร่างกายและซักประวัติถึงสุขภาพโดยทั่วไป ตรวจดูอาการต่างๆ รวมถึงตรวจดูลักษณะก้อนหรือสิ่งใดที่อาจมีลักษณะผิดปกติไป ตรวจดูพฤติกรรม การเจ็บป่วยในอดีต รวมถึงประวัติการรักษาที่ผ่านมา
     - ตรวจเลือด เป็นการตรวจเพื่อดูปริมาณสารต่างๆ ที่ถูกปล่อยออกมาจากอวัยวะหรือเนื้อเยื่อใดๆ ของร่างกาย ปริมาณที่มากไปหรือน้อยไปอาจเป็นการบ่งบอกถึงสภาวะเป็นโรคของอวัยวะนั้นๆ
     - ตรวจนับจำนวนเม็ดเลือดอย่างสมบูรณ์ เป็นวิธีการที่ตรวจหา
        +ปริมาณเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด
        +ปริมาณฮีโมโกลบิน (โปรตีนที่จับกับออกซิเจน) ในเม็ดเลือดแดง
        +ส่วนประกอบต่างๆ ที่อยู่ในเม็ดเลือดแดง
    - การส่องกล้องช่องท้องส่วนบน เป็นวิธีการที่จะตรวจดูภายในบริเวณ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนแรก (ดูโอดีนัม) เพื่อหาบริเวณที่ผิดปกติ กล้องที่ใช้ส่องนั้นมีขนาดเล็ก บาง จะผ่านจากช่องปากไปถึงลำคอและผ่านลงไปยังหลอดอาหาร
    - ตรวจเลือดในอุจจาระ โดยสามารถตรวจดูได้จากวิธีการทางจุลทรรศน์เท่านั้น
    - การเอกซเรย์กลืนแป้ง เป็นการตรวจโดยจะให้ผู้ป่วยกลืนน้ำที่ผสมแบเรี่ยม (เป็นผลสีขาว เงิน) ซึ่งน้ำที่กลืนไปนั้นจะไปเคลือบที่ผิวของหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร หลังจากนั้นจะทำการเอกซเรย์ตรวจดู วิธีการนี้อาจเรียกอีกอย่างว่า
การเอกซเรย์ทางเดินอาหารส่วนบน
    - การตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา โดยทั่วไปจะทำการตัดชิ้นเนื้อในระหว่างการส่องกล้อง โดยทำการตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจดูภายใต้กล้องจุลทรรศน์ เพื่อดูลักษณะเซลล์มะเร็ง
    - เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซี ที สแกน) เป็นการตรวจโดยใช้คอมพิวเตอร์ซึ่งเชื่อมต่อกับเครื่องเอกซเรย์ สามารถถ่ายภาพบริเวณภายในของร่างกายและยังสามารถถ่ายได้หลายมุม การฉีดสารทึบรังสีเข้าไปทางเส้นเลือดดำหรือการกลืนจะช่วยทำให้สามารถมองเห็นอวัยวะนั้นๆ ได้ชัดเจนขึ้น
ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการหายของโรคและทางเลือกของการรักษา
    การพยากรณ์โรค (โอกาสหายของโรค) และวิธีการรักษานั้นขึ้นอยู่กับ
    - ระยะและการกระจายของมะเร็ง (ว่ามะเร็งนั้นยังอยู่ในกระเพาะอาหารหรือมีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง
    - สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
    การตรวจพบมะเร็งกระเพาะอาหารที่ยังอยู่ในระยะแรกๆนั้นมีโอกาสที่จะหายได้มากกว่า แต่มะเร็งกระเพาะอาหารนั้นโดยทั่วไปมักจะตรวจพบเมื่อเป็นระยะท้ายๆแล้วซึ่งมีทางที่จะรักษาได้ แต่น้อยนักที่จะรักษาจนหายขาดได้

ระยะของมะเร็งกระเพาะอาหาร
ระยะ 0  (ระยะก่อนลุกลาม)
    ระยะนี้เซลล์ผิดปกติจะพบที่บริเวณผนังชั้นในสุดของกระเพาะอาหารนั่นคือ ชั้นเยื่อบุผิวด้านใน ซึ่งเซลล์ที่ผิดปกตินี้จะกลายเป็นเซลล์มะเร็ง และแพร่กระจายต่อไปยังเนื้อเยื่อปกติข้างเคียงต่อไป หากไม่ได้รับการรักษา
ระยะที่ 1
    ระยะนี้เซลล์มะเร็งถูกพบโดยระยะนี้สามารถแบ่งได้เป็น ระยะ IA และระยะ IB ขึ้นอยู่กับว่าเซลล์มะเร็งได้แพร่กระจายไปที่ใดแล้ว
     - ระยะ IA มะเร็งที่เยื่อบุชั้นในสุดของกระเพาะอาหารโดยทั่ว
     - ระยะ IB มะเร็งลุกลามเฉพาะที่
      +เยื่อบุผิวชั้นในสุดของกระเพาะอาหารและพบว่าได้กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงไม่เกิน 6 ต่อมหรือ
      +ลุกลามไปถึงชั้นกล้ามเนื้อหรือชั้นกลางของกระเพาะอาหาร
ระยะที่ 2
    ระยะนี้มะเร็งได้ลุกลามไปที่
     - เยื่อบุผิวชั้นในสุดของกระเพาะอาหารและพบว่าได้กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง 7-15 ต่อมหรือ
     - ลุกลามไปถึงชั้นกล้ามเนื้อหรือชั้นกลางของกระเพาะอาหาร ร่วมกับการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงไม่เกิน 6 ต่อม หรือ
     - ลุกลามไปถึงเยื่อบุผิวชั้นนอกสุดของกระเพาะอาหาร แต่ยังไม่แพร่ไปยังต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะอื่นใด
ระยะที่ 3
    ระยะนี้ ได้แบ่งออกเป็น ระยะ IIIA และระยะ IIIB ขึ้นกับว่ามะเร็งได้ลุกลามไปที่ใดแล้ว
    - ระยะ IIIA ระยะนี้มะเร็งได้ลุกลามไปที่
     +ชั้นกล้ามเนื้อหรือชั้นกลางของกระเพาะอาหารและพบว่าได้กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง7-15 ต่อมหรือ
     +เยื่อบุชั้นนอกสุดของกระเพาะอาหาร และพบว่าได้กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง 1-6 ต่อมหรือ
     +อวัยวะที่ติดกับกระเพาะอาหาร แต่ไม่แพร่ไปยังต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะส่วนอื่น
    - ระยะ IIIB ระยะนี้มะเร็งได้ลุกลามไปที่เยื่อบุชั้นนอกสุดของกระเพาะอาหาร และพบว่าได้กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง 7-15 ต่อม
ระยะที่ 4
    ระยะนี้มะเร็งได้แพร่กระจายไปที่
    - อวัยวะที่ติดกับกระเพาะอาหาร และต่อมน้ำเหลืองอย่างน้อย 1 ต่อม หรือ
    - ต่อมน้ำเหลืองมากกว่า 15 ต่อม
    - อวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกาย

การกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร (การกำเริบของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร)
    การกลับมาเป็นซ้ำหรือการกำเริบของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารนั้นอาจเกิดขึ้นได้หลังจากที่รับการรักษาไปแล้ว มะเร็งอาจจะกลับมาเป็นซ้ำอีกได้ที่กระเพาะอาหาร หรืออวัยวะส่วนอื่นใดของร่างกาย เช่น ตับ หรือต่อมน้ำเหลือง

วิธีการรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร
    มีหลายวิธีการรักษาสำหรับผุ้ป่วยที่เป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร
    วิธีการรักษานั้นมีหลายอย่าง บางวิธีนั้นก็เป็นการรักษาตามมาตรฐานทั่วไปที่ทุกวันนี้ใช้อยู่ บางวิธีก็เป็นการรักษาเพื่อการศึกษาวิจัยทางคลินิก ซึ่งการศึกษาวิจัยทางคลินิกนี้นั้นจะเป็นการพัฒนา ช่วยปรับปรุงวิธีการรักษาแบบเดิมให้ดีขึ้นสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งถ้าการศึกษาวิจัยทางคลินิกนั้นได้ผลดีกว่าการรักษาแบบเดิมที่ใช้ เราก็จะนำการรักษาแบบใหม่ที่ได้ผลมาแทนที่การรักษาแบบเดิม โดยผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาแบบการศึกษาวิจัยทางคลินิกนั้น อาจจะต้องคิดพิจารณาทบทวนก่อนการตัดสินใจ และบางการศึกษาวิจัยทางคลินิกนั้นจะรับเฉพาะผู้ป่วยที่ยังไม่เคยได้รับการรักษาแบบบอื่นมาก่อน

สำหรับการรักษาในปัจจุบันนั้นมี 4 แบบ ดังนี้
การผ่าตัด
    การผ่าตัดเป็นการรักษาที่ใช้บ่อยในทุกระยะของมะเร็ง ซึ่งมีหลายแบบดังนี้
    - การผ่าตัดกระเพาะอาหารออกบางส่วน เป็นการักษาโดยการผ่าตัดเอากระเพาะอาหาร ส่วนที่มีเซลล์มะเร็งอยู่รวมถึงต่อมน้ำเหลือง เนื้อเยื่อและอวัยวะใกล้เคียงออก ม้ามอาจถูกตัดออกไปด้วย โดยม้ามนั้นเป็นอวัยวะที่อยู่ส่วนบนของช่องท้องมีหน้าที่กรองเลือดขับเม็ดเลือดที่เสียออก
    - การผ่าตัดกระเพาะอาหารออกทั้งหมด เป็นการผ่าตัดเอากระเพาะอาหารออกทั้งหมด รวมทั้งต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงบางส่วนของหลอดอาหาร ลำไส้เล็ก และเนื้อเยื่อรอบๆ ก้อนมะเร็ง ม้ามอาจถูกตัดออกไปด้วย หลังจากนั้นหลอดอาหารจะถูกต่อกับลำไส้เล็กโดยตรง ดังนั้นผู้ป่วยจึงสามารถกินอาหารและกลืนได้ปกติในกรณีที่ก้อนมะเร็งอุดกั้นกระเพาะอหาหารทั้งหมด และไม่สามารถผ่าตัดโดยวิธีมาตรฐานได้ อาจทำการรักษาโดย
    - การใส่ขดลวดในท่อทางเดินอาหาร เป็นวิธีที่ใช้ขดลวดที่บางและสามารถขยายได้ ซึ่งใช้ถ่างบริเวณใดก็ตามที่มีลักษณะเป็นท่อกลวงให้เปิด เช่น เส้นเลือดแดง หรือหลอดอาหาร การผ่าตัดขึ้นอยู่กับตำแหน่งของก้อนมะเร็ง อาจใส่ขดลวดเข้าไปในบริเวณระหว่างหลอดอาหารกับกระเพาะอาหาร หรือระหว่างกระเพาะอาหารกับลำไส้เล็กก็ได้ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถรับอาหารได้
    - การใช้เลเซอร์ เป็นการส่องกล้องที่มีเลเซอร์ติดอยู่ที่ปลายกล้อง แล้วใส่เข้าไปในร่างกายบริเวณที่มีก้อนมะเร็ง เลซอร์จะทำหน้าที่เหมือนกับมีดผ่าตัดนั่นเอง

เคมีบำบัด
    เป็นการรักษามะเร็งโดยการใช้ยาเพื่อไปหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าเซลล์โดยตรงหรือหยุดการแบ่งตัวเท่านั้น เมื่อยาเคมีบำบัดเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะเป็นทางการกิน หรือการฉีดเข้าเส้นเลือดดำหรือกล้ามเนื้อ ยาจะวิ่งไปถึงเซลล์มะเร็งที่กระจายอยู่ทั่วร่างกาย นอกจากนี้อาจให้ยาเคมีบำบัดโดยการใส่เข้าทางกระดูกสันหลัง อวัยวะ หรือช่องว่างในร่างกาย เช่น ช่องท้อง จะเรียกว่าเป็นการให้ยาเฉพาะที่ การจะเลือกวิธีใดขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของมะเร็ง

รังสีรักษา
    รังสีรักษา เป็นการรักษามะเร็งโดยการใช้รังสีเอ็กซเรย์ที่มีพลังงานสูงหรือรังสีชนิดอื่นๆ เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง หรือหยุด
การเจริญเติบโต แบ่งเป็น 2 วิธี ได้แก่
    1.การใช้เครื่องมือฉายรังสีจากภายนอกร่างกาย
    2.แหล่งของพลังงานรังสีอยู่ภายในร่างกาย เป็นการใส่สารทึบรังสีที่ถูกปกปิดอย่างดีในท่อเข็ม หรือเครื่องมือใดๆ ก็ตาม เข้าไปในจุดที่เป็นเซลล์มะเร็งเองหรือจุดใกล้เคียงเซลล์มะเร็ง การจะเลือกวิธีใดขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของมะเร็งเช่นกัน

รังสีเคมีบำบัด
    รังสีเคมีบำบัดเป็นการรักษาที่ร่วมกันระหว่าง รังสีรักษาและยาเคมีบำบัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพซึ่งกันและกัน การใช้รังสีเคมีบำบัดอาจจะเป็นหลังการผ่าตัดเพื่อหวังให้โรคหายขาดหรือให้ก่อนการผ่าตัดเพื่อให้สามารถผ่าตัดให้ง่ายขึ้นก็ได้ โดยปกติแพทย์รังสีรักษาจะฉายรังสีบริเวณกระเพาะอาหารประมาณ 25-30 ครั้งใน 5-6 สัปดาห์ ร่วมกับให้ยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลในช่วงเวลาดังกล่าว
ผู้ป่วยต้องตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในงานวิจัยทางคลินิก
    สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีส่วนร่วมในงานวิจัย อาจจะได้รับวิธีการรักษาที่ดีที่สุดก็เป็นได้ เนื่องจากว่างานวิจัยนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ค้นพบวิธีการรักษาใหม่ๆ ที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพดีกว่าการรักษามาตรฐานการรักษามาตาฐานในปัจจุบันนี้ อยู่บนพื้นฐานของงานวิจัยในอดีต ซึ่งผู้ป่วยที่เข้าร่วมงานวิจัยอาจจะได้รับการรักษาโดยวิธีมาตรฐานหรืออาจจะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับการรักษาที่จะกลายเป็นการรักษามาตรฐานในอนาคตก็ได้นอกจากนี้ผู้ป่วยเหล่านี้ยังถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่จะช่วยใหมีการรักษาใหม่ๆ ที่ดีกว่าให้เกิดขึ้นในอนาคต และเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยรายอื่นๆ ต่อไปอีกด้วย
ผู้ป่วยสามารถเข้าร่วมงานวิจัยทางคลินิกก่อน ระหว่าง หรือหลังจากการเริ่มการรักษาไปแล้วก็ได้
    บางการศึกษาวิจัยต้องการผู้ป่วยที่ยังไม่เคยได้รับการรักษาใดๆ หรือบางการศึกษาอาจเลือกผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแล้วยังมีอาการไม่ดีขึ้น หรือหายแล้วแต่มีการกลับเป็นซ้ำของโรคเดิมอีก เพื่อให้ได้การรักษาที่ดีและมีผลข้างเคียงน้อย การตรวจติดตามหลังการรักษา
    การตรวจบางอย่างเพื่อใช้ในการวินิจฉัยหรือจัดระยะของโรคมะเร็งอาจมีความจำเป็นต้องตรวจซ้ำเพื่อดูว่าการรักษาที่ได้นั้นได้ผลหรือไม่ เพื่อตัดสินใจว่าจะให้การรักษาเดิม หยุดการรักษาหรือเปลี่ยนการรักษาไปเป็นชนิดอื่น ซึ่งกระบวนการนี้เรียกว่า "การจัดระยะของโรคใหม่"
    นอกจากนี้การตรวจบางอย่างนั้นจะตรวจหลังจากการรักษานั้นสิ้นสุดแล้วเพื่อดูว่ามีการกลับเป็นซ้ำของโรคหรือไม่เรียกว่า การตรวจติดตาม

การเลือกวิธีการรักษาตามระยะของโรค
    การเลือกการรักษานั้นอยู่บนพื้นฐานของผลการศึกษาในปัจจุบัน ในมะเร็งบางชนิดหรือบางระยะอาจไม่ได้แสดงในที่นี้ โปรดปรึกษาแพทย์ของท่านเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อไป
ระยะที่ 0 (ระยะก่อนลุกลาม)
    ให้การรักษาโดยการผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นผ่าตัดกระเพาะอาหารออกบางส่วนหรือตัดออกทั้งหมด
ระยะที่ 1
    - การผ่าตัดกระเพาะอาหารออกทั้งหมดหรือบางส่วน
    - การผ่าตัดกระเพาะอาหารออกทั้งหมดหรือบางส่วน ติดตามด้วยการให้รังสีเคมีบำบัด
    - การให้รังสีเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัดนั้น ยังอยู่ในช่วงของการศึกษาวิจัย
ระยะที่ 2
    - การผ่าตัดกระเพาะอาหารออกทั้งหมดหรือบางส่วน
    - การผ่าตัดกระเพาะอาหารออกทั้งหมดหรือบางส่วน ติดตามด้วยการให้รังสีเคมีบำบัด
    - การให้ยาเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัด
    - การให้รังสีเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัดนั้น ยังอยู่ในช่วงของการศึกษาวิจัย
ระยะที่ 3
    - การผ่าตัดกระเพาะอาหารออกทั้งหมด
    - การผ่าตัดกระเพาะอาหาร ติดตามด้วยการให้รังสีเคมีบำบัด
    - การให้ยาเคมีบำบัดก่อนและหลังการผ่าตัด
    - การให้รังสีเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัดนั้น ยังอยู่ในช่วงของการศึกษาวิจัย
ระยะที่ 4
    - ยังไม่มีการกระจายไปยังอวัยวะที่อยู่ไกล
      +การผ่าตัดกระเพาะอาหารออกทั้งหมด
      +การผ่าตัดกระเพาะอาหาร ติดตามด้วยการให้รังสีเคมีบำบัด
      +การให้ยาเคมีบำบัดก่อนและหลังการผ่าตัด
      +การให้รังสีเคมีบำบัดก่อนการผ่าตัดนั้น ยังอยู่ในช่วงของการศึกษาวิจัย
    - มีการกระจายไปยังอวัยวะที่อยู่ไกล
      +การรักษาแบบประคับประคอง โดยการให้ยาเคมีบำบัด เพื่อบรรเทาอาการต่างๆ และเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต
      +การใช้เลเซอร์หรือขดลวดถ่าง เพื่อช่วยบรรเทาอาการอุดกั้นของกระเพาะอาหาร
      +รังสีรักษา เพื่อประคับประคองอาการเลือดออก อาการปวด หรืออาจช่วยให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลงได้เพื่อบรรเทาการอุดกั้นของกระเพาะอาหาร
      +การผ่าตัดประคับประคองอาการเลือดออก หรืออาจช่วยให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลงได้เพื่อบรรเทาการอุดกั้นของกระเพาะอาหาร
      +การให้ยาเคมีบำบัดเพื่อการรักษาแบบประคับประคอง เพื่อบรรเทาอาการต่างๆ และเพิ่มคุณภาพชีวิต ยังอยู่ในช่วงของการศึกษาวิจัย

วิธีการรักษามะเร็งกระเพาะอาหารที่กลับมาเป็นซ้ำ
    - การให้ยาเคมีบำบัดเพื่อการรักษาแบบประคับประคอง เพื่อบรรเทาอาการต่างๆ และเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต
    - การใช้เลเซอร์หรือขดลวดถ่าง เพื่อช่วยบรรเทาอาการอุดกั้นของกระเพาะอาหาร
    - รังสีรักษา เพื่อประคับประคองอาการเลือดออก อาการปวด หรืออาจช่วยให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลงได้เพื่อบรรเทาการอุดกั้นของกระเพาะอาหาร
    - การผ่าตัดประคับประคองอาการเลือดออก หรืออาจช่วยให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลงได้ เพื่อบรรเทาการอุดกั้นของกระเพาะอาหาร

ที่่มา : //www.chulacancer.net

Smileyขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับSmiley




 

Create Date : 14 กันยายน 2555
1 comments
Last Update : 14 กันยายน 2555 9:54:53 น.
Counter : 9002 Pageviews.

 

ได้ประโยชน์มากค่ะ ขอบคุณ

 

โดย: นุช IP: 117.47.71.185 23 พฤษภาคม 2557 13:59:52 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


kitpooh22
Location :
ตรัง Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 27 คน [?]




สวัสดีครับ
..............................
ขอบคุณที่มาเยี่ยมชม และมาเม้นให้ครับ



ขอบคุณครับ :-)
THX


วันเกิดบล็อก 25/5/2009
Google+
Group Blog
 
<<
กันยายน 2555
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
14 กันยายน 2555
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kitpooh22's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.