ชนะคนอื่นเป็นร้อย ยังไม่ยากเท่าชนะตนแค่คนเดียว...
มะเร็งปากมดลูก (Cancer of cervix)

มะเร็งปากมดลูกคืออะไร
มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่เซลล์มะเร็งเกิดขึ้นในเนื้อเยื่อของปากมดลูก
    ปากมดลูกเป็นส่วนล่างของมดลูก ซึ่งมดลูกเป็นอวัยวะรูปลูกแพร์คว่ำที่มีช่องว่างอยู่ข้างใน ช่องข้างในมดลูกนั้นเป็นบริเวณที่อยู่ของเด็กทารกในขณะตั้งครรภ์ ปากมดลูกนั้นมีรูตรงกลางซึ่งเชื่อมระหว่างช่องว่างข้างในมดลูกกับช่องคลอด
    มะเร็งปากมดลูกตามปกติจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ โดยก่อนหน้าที่จะเกิดมะเร็งปากมดลูกนั้น เซลล์ของปากมดลูกจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ที่ผิดปกติ เรียกการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า ดีสเพลเชีย (Dysplasia) หลังจากนั้นเซลล์ที่ผิดปกติหรือเซลล์มะเร็งนี้จะโตขึ้นและขยายลึกลงสู่ปากมดลูกและบริเวณรอบๆปากมดลูก
    มะเร็งปากมดลูกที่เกิดขึ้นในเด็กนั้นพบได้น้อยมาก

การติดเชื้อไวรัสฮิวแมน แปบปิโลม่า ( Human papilloma virus – HPV ) เป็นปัจจัยหลักในการเกิดมะเร็งปากมดลูก
    การติดเชื้อไวรัสฮิวแมน แปบปิโลม่าที่ปากมดลูกเป็นสาเหตุที่พบมากที่สุดในการเกิดมะเร็งปากมดลูก แต่ไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนที่ติดเชื้อไวรัสนี้แล้วจะเป็นมะเร็งปากมดลูก
    ผู้หญิงที่ไม่ได้ตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูกด้วยการทำแป๊บอย่างสม่ำเสมอ  ซึ่งเป็นการตรวจหาการติดเชื้อไวรัสฮิวแมน แปบปิโลม่านี้หรือตรวจหาเซลล์ผิดปกติที่บริเวณปากมดลูกนั้น จะทำให้ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก ได้แก่
    - การให้กำเนิดลูกหลายคน
    - มีเพศสัมพันธ์กับคนหลายคน
    - มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกตอนอายุน้อย
    - การสูบบุหรี่
    - การกินยาคุมกำเนิด
    - การมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูกระยะแรกๆ นั้นจะไม่สามารถสังเกตเห็นได้แต่ตรวจพบได้โดยการตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูกทุกปี
    มะเร็งปากมดลูกระยะแรกๆนั้นอาจจะไม่มีอาการหรืออาการแสดงใดๆเลยก็ได้ ดังนั้นผู้หญิงทุกคนจึงควรตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูกทุกปีเพราะถ้าตรวจพบมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่ระยะแรกๆ จะมีโอกาสในการหายจากโรคมะเร็งปากมดลูกได้มากกว่า

อาการที่อาจจะพบในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปากมดลูกคือ การมีเลือดออกทางช่องคลอดและอาการปวดท้องน้อย
    อาการที่อาจจะพบในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปากมดลูกนั้นพบว่าอาจจะพบในผู้ป่วยโรคอื่นได้เช่นกัน ผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้จึงควรที่จะไปปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่แน่ชัด อาการดังกล่าวนั้น ได้แก่
    - การมีเลือดออกทางช่องคลอด
    - การมีสารคัดหลั่งผิดปกติออกจากช่องคลอด เช่น ตกขาว
    - อาการปวดท้องน้อย
    - อาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์

การตรวจที่สามารถวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูกได้ ได้แก่
    - การตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูกโดยการทำแป๊บ ( Pap smear ) เป็นการเก็บเซลล์จากบริเวณพื้นผิวของปากมดลูกและช่องคลอดโดยใช้สำลีพันปลายไม้ แปรง หรือ แท่งไม้เล็กๆ ขูดเบาๆบริเวณปากมดลูกและช่องคลอดแล้วป้ายลงบนแผ่นสไลด์จากนั้น แพทย์จะส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูเซลล์ดังกล่าว และหาความผิดปกติของเซลล์เหล่านั้น การตรวจวิธีนี้ เรียกว่า การตรวจแป๊บ ( Pap test )
    - การตรวจคอลโปสโคป ( Colposcopy ) เป็นการตรวจปากมดลูกและช่องคลอดโดยการส่องกล้องขยาย ตรวจหาบริเวณที่ผิดปกติจากนั้นอาจจะมีการเก็บเนื้อเยื่อไปตรวจโดยการใช้อุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายช้อนเล็กๆขูดบริเวณที่ผิดปกติ แล้วนำไปส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาความผิดปกติต่อไป
    - การตัดชิ้นเนื้อ ( Biopsy ) เป็นการตัดชิ้นส่วนเล็กๆของเนื้อเยื่อออกมาจากปากมดลูกที่ผิดปกติ จากนั้นพยาธิแพทย์จะนำมาตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็ง โดยปกติจะทำการตัดชิ้นเนื้อเมื่อมีการตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูกโดยการทำแป๊บแล้วผิดปกติ การตัดชิ้นเนื้อในบางรายอาจทำเป็นการตัดชิ้นเนื้อรูปโคน ( Cone biopsy ) ซึ่งจะได้ชิ้นเนื้อจากปากมดลูกขนาดใหญ่กว่า
    - การตรวจภายใน (Pelvic exam) เป็นการตรวจช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก ท่อนำไข่ รังไข่ และทวารหนัก โดยการใช้นิ้วมือหนึ่งหรือสองนิ้วของมือข้างหนึ่งใส่ถุงมือและหล่อลื่นด้วยน้ำยาหล่อลื่นสอดเข้าในช่องคลอด และวางมืออีกข้างหนึ่งที่บริเวณท้องน้อยของผู้ป่วยเพื่อจะได้รู้ถึงขนาด รูปร่าง และตำแหน่งของมดลูกและรังไข่และยังมีการตรวจอีกอย่างหนึ่ง คือการใช้เครื่องมือซึ่งเรียกว่า สเปคคูลัม (Speculum) ซึ่งเป็นเหล็กที่มีรูปร่างคล้ายปากเป็ด สอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อดูความผิดปกติของช่องคลอดและปากมดลูก โดยอาจจะทำการตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูก โดยการทำแป๊บในขณะใส่เครื่องมือนี้ด้วย นอกจากนี้อาจจะมีการตรวจทางทวารหนัก โดยการใช้นิ้วมือซึ่งใส่ถุงมือและหล่อลื่นแล้ว สอดเข้าในทวารหนัก เพื่อตรวจหาก้อนหรือบริเวณที่ผิดปกติได้
    - การขูดเนื้อเยื่อบริเวณด้านในของปากมดลูก (Endocervical curettage) เป็นการใช้อุปกรณ์ซึ่งมีลักษณะคล้ายช้อนอันเล็กๆ ขูดเซลล์หรือเนื้อเยื่อที่อยู่ในรูของปากมดลูก จากนั้นเนื้อเยื่อตัวอย่างที่ได้จากการขูดออกมานั้นจะถูกส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาเซลล์มะเร็งการขูดมดลูกนี้ ในบางครั้งอาจทำพร้อมกันกับการตรวจคอลโปสโคปด้วย

ปัจจัยที่มีผลต่อโอกาสในการหายจากมะเร็งปากมดลูกและทางเลือกในการรักษา
โอกาสในการหายจากมะเร็งปากมดลูกนั้นขึ้นกับ
    - ระยะของมะเร็งปากมดลูก ( Stage of the cancer ) ซึ่งการบอกระยะของมะเร็งได้นั้นจะต้องตรวจดูว่ามะเร็งนั้นลามไปถึงไหนมีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองหรือไม่ หรือมีการกระจายไปส่วนอื่นๆของร่างกายหรือไม่
    - ชนิดของเซลล์มะเร็งปากมดลูก
    - ขนาดของก้อนมะเร็ง

ทางเลือกในการรักษามะเร็งปากมดลูกนั้นขึ้นอยู่กับ
    - ระยะของมะเร็ง (Stage of cancer)
    - ขนาดของก้อนมะเร็ง
    - ผู้ป่วยต้องการมีบุตรหรือไม่
    - อายุของผู้ป่วย

    สำหรับการรักษามะเร็งปากมดลูกในขณะตั้งครรภ์นั้นขึ้นกับระยะของมะเร็งปากมดลุกและระยะของการตั้งครรภ์ ในผู้ป่วยที่ตรวจพบมะเร็งปากมดลูกในระยะแรกๆ หรือตรวจพบในระยะหลังของตั้งครรภ์หรือใกล้คลอด การรักษามะเร็งอาจจะรอหลังจากทำคลอดเรียบร้อยแล้ว

การกลับเป็นซ้ำของมะเร็งปากมดลูก ( Recurrent cervical cancer )
     การกลับเป็นซ้ำของมะเร็งปากมดลูกนั้น คือ การที่มะเร็งกลับมาเป็นซ้ำหลังจากได้รักษามะเร็งปากมดลูกเรียบร้อยแล้ว โดยการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งปากมดลูกอาจเกิดที่ปากมดลูกหรือส่วนอื่นๆของร่างกายก็ได้

ระยะของมะเร็งปากมดลูก ( Stages of cervical cancer )
    หลังจากวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกแล้ว จะมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาว่าเซลล์มะเร็งกระจายไปที่ส่วนอื่นๆ ของร่างกายหรือไม่ ข้อมูลที่ได้มาจากการตรวจเพิ่มเติมจะนำมาใช้ประกอบการจำแนกระยะของโรคได้ เพื่อใช้ในการวางแผนการรักษาต่อไป

การตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาว่ามะเร็งอยู่เฉพาะในปากมดลูกหรือกระจายไปส่วนอื่นๆของร่างกายนั้น ได้แก่
   - การถ่ายภาพเอ็กซเรย์ปอด  เป็นการเอ็กซเรย์ของอวัยวะที่อยู่ในช่องอก เช่น ปอด หัวใจ และกระดูกเป็นต้น การเอ็กซเรย์ คือ การส่งลำพลังงาน ชนิดหนึ่งผ่านร่างกายของคนไปตกลงบนฟิล์ม ทำให้เกิดรูปภาพของอวัยวะต่างๆของร่างกาย
   - การถ่ายเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เป็นการสร้างชุดของภาพที่มีรายละเอียดของอวัยวะต่างๆของร่างกาย ซึ่งถูกถ่ายมาจากมุมที่แตกต่างกัน รูปภาพที่ได้มานั้นถูกสร้างขึ้นจากคอมพิวเตอร์ซึ่งเชื่อมต่อกับเครื่องเอ็กซเรย์ นอกจากนี้อาจมีการฉีดสารทึบรังสีเข้าสู่เส้นเลือดดำหรือกลืนสารทึบรังสีเพื่อช่วยในการมองดูภาพของอวัยวะหรือเนื้อเยื่อต่างๆได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
   - การถ่ายภาพระบบน้ำเหลือง ( Lymphangiogram ) เป็นการถ่ายภาพเอ็กซเรย์ของระบบน้ำเหลือง โดยจะมีการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในหลอดน้ำเหลืองที่เท้า แล้วสารทึบรังสีนั้นจะเคลื่อนที่ขึ้นผ่านต่อมน้ำเหลืองและหลอดน้ำเหลืองต่างๆ และจากนั้นก็จะมีการถ่ายภาพเอ็กซเรย์ภาพที่ได้จะบอกถึงการอุดกั้นของระบบน้ำเหลือง ซึ่งจะบอกได้ว่ามะเร็งกระจายไปยังที่ต่อมน้ำเหลืองใดบ้าง
   - การผ่าตัดเพื่อประเมินระยะของโรคก่อนการรักษา (Pretreatment surgical staging) เป็นการผ่าตัดเพื่อหาว่ามะเร็งนั้นอยู่เฉพาะที่ปากมดลูกหรือกระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายในบางรายมะเร็งปากมดลูกอาจถูกตัดออกไปทั้งหมดในขณะเดียวกันนี้ด้วยการผ่าตัด เพื่อประเมินระยะของโรคนี้มักจะทำในส่วนหนึ่งของการทดลองเท่านั้น
   - การตรวจอัลตราซาวน์ ( Ultrasound exam ) เป็นการตรวจที่ใช้เสียงที่มีพลังงานสูงผ่านเข้าไปในเนื้อเยื่อหรืออวัยวะภายใน จากนั้นจึงมีการสร้างออกมาเป็นภาพการถ่ายภาพจากการสั่นพ้องพลังแม่เหล็ก หรือ เอ็ม อาร์ ไอ ( MRI ) เป็นการใช้แม่เหล็ก คลื่นวิทยุ และคอมพิวเตอร์ในการสร้างชุดของรายละเอียดของภาพของร่างกาย
     ผลของการตรวจต่างๆจะถูกนำมาแปลผลร่วมกับผลของการตัดชิ้นเนื้อ เพื่อจะบอกถึงระยะของมะเร็งปากมดลูก

การกระจายของมะเร็งปากมดลูกนั้นมี 3 วิธี
   1.กระจายผ่านเนื้อเยื่อ  มะเร็งจะลุกลามเข้าไปในเนื้อเยื่อปกติที่อยู่รอบๆ
   2.กระจายผ่านระบบน้ำเหลือง  มะเร็งจะลุกลามเข้าในระบบน้ำเหลืองแล้วจากนั้นจะเคลื่อนที่ผ่านหลอดน้ำเหลืองไปสู่ส่วนอื่นๆของร่างกาย
   3.กระจายผ่านระบบเลือด  มะเร็งจะลุกลามเข้าไปในเส้นเลือดดำและเส้นเลือดฝอย แล้วจากนั้นจะเคลื่อนที่ผ่านเส้นเลือดไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย

    เมื่อเซลล์มะเร็งกระจายจากก้อนมะเร็งต้นกำเนิดผ่านไปทางหลอดน้ำเหลือง หรือเส้นเลือดต่างๆ ไปยังส่วนอื่นๆของร่างกายนั้น อาจจะเกิดการสร้างตัวเป็นก้อนมะเร็งขึ้นมาใหม่ในที่อื่นๆ การกระจายของก้อนมะเร็งดังกล่าวนั้น เรียกว่า เมแทสเตสิส ( metastasis ) หรือ การกระจายของมะเร็ง ก้อนมะเร็งที่กระจายนั้นจะมีเซลล์ชนิดเดียวกันกับมะเร็งต้นกำเนิด ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามะเร็งเต้านมกระจายไปยังกระดูก เซลล์มะเร็งที่พบที่กระดูกจะเป็นเซลล์มะเร็งเต้านม ไม่ใช่มะเร็งของกระดูก

ระยะของมะเร็งปากมดลูกแบ่งได้ดังนี้
ระยะที่ 0 ( พบเซลล์ผิดปกติแต่ไม่ใช่มะเร็ง – Carcinoma in situ )
   ระยะที่ 0 คือการตรวจพบเซลล์ที่ผิดปกติบริเวณผิวนอกสุดของปากมดลูกโดยยังไม่ใช่เซลล์มะเร็ง แต่เซลล์ผิดปกตินี้อาจจะกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ในเวลาถัดมาและอาจกระจายไปยังเนื้อเยื่อปกติบริเวณนั้นได้ ระยะที่ 0 เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Carcinoma in situ

ระยะที่ 1
   ระยะที่ 1 คือการตรวจพบมะเร็งอยู่ในปากมดลูกเท่านั้น ในระยะที่ 1 นี้แบ่งออกเป็น ระยะ    1 เอ (1A) และ ระยะ 1 บี (1B) ซึ่งแบ่งโดยขนาดของมะเร็งที่ตรวจพบ
     ระยะ 1A เป็นระยะที่พบมะเร็งน้อยมาก สามารถเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์เท่านั้น ระยะนี้ยังสามารถแบ่งออกเป็นระยะ 1 เอ 1 (1A1) และระยะ 1 เอ 2 (1A2) โดยแบ่งจากขนาดของมะเร็ง ระยะ 1A1 เป็นระยะที่ตรวจพบมะเร็งที่มีความลึกน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 มิลลิเมตร และ ความกว้างน้อยกว่าหรือเท่ากับ 7 มิลลิเมตร
     ระยะ 1A2 เป็นระยะที่ตรวจพบมะเร็งที่มีความลึกมากกว่า 3 มิลลิเมตร แต่ไม่มากกว่า 5 มิลลิเมตร และ ความกว้างน้อยกว่าหรือเท่ากับ 7 มิลลิเมตร
     ระยะ 1B เป็นระยะที่ตรวจพบมะเร็งที่มีความลึกมากกว่า 5 มิลลิเมตร หรือ ความกว้างมากกว่า 7 มิลลิเมตร หรือสามารถมองเห็นมะเร็งได้ด้วยตาเปล่า โดยมะเร็งจะยังคงอยู่ในปากมดลูกเท่านั้น ระยะนี้สามารถแบ่งออกเป็น ระยะ 1 บี 1 (1B1) และระยะ 1 บี 2 (1B2) โดยแบ่งจากขนาดของมะเร็ง
     ระยะ 1B1 เป็นระยะที่ตรวจพบมะเร็งขนาดเล็กกว่าหรือเท่ากับ 4 เซนติเมตร
     ระยะ 1B2 เป็นระยะที่ตรวจพบมะเร็งขนาดใหญ่กว่า 4 เซนติเมตร

ระยะที่ 2
   ระยะที่ 2 คือการตรวจพบมะเร็งกระจายออกไปจากปากมดลูกแล้วแต่ยังไม่ถึงเนื้อเยื่อของผนังด้านข้างของอุ้งเชิงกราน ( pelvic wall ) หรือมีการกระจายไปยังช่องคลอดแล้วแต่ยังไม่ถึงหนึ่งในสามส่วนล่างของช่องคลอด ระยะที่ 2 นี้ยังแบ่งออกเป็น
     ระยะ 2 เอ (2A) และ 2 บี (2B) ซึ่งแบ่งโดยความไกลในการกระจายของมะเร็ง
     ระยะ 2A เป็นระยะที่มะเร็งกระจายออกจากปากมดลูกไปยังสองในสามส่วนบนของช่องคลอด แต่ยังไม่มีการกระจายเข้าไปในเนื้อเยื่อข้างตัวมดลูก
     ระยะ 2B เป็นระยะที่มะเร็งกระจายออกจากปากมดลูกไปยังเนื้อเยื่อข้างตัวมดลูก

ระยะที่ 3
   ระยะที่ 3 คือการตรวจพบว่ามะเร็งกระจายออกไปยังหนึ่งในสามส่วนล่างของช่องคลอด โดยอาจจะมีการกระจายไปยังผนังด้านข้างของอุ้งเชิงกราน และ/หรือ ทำให้ไตทำงานได้แย่ลง ในระยะที่ 3 นี้แบ่งออกเป็น ระยะ 3 เอ (3A) และ ระยะ 3 บี (3B) ซึ่งแบ่งโดยความไกลในการกระจายของมะเร็ง
     ระยะ 3A เป็นระยะที่มะเร็งกระจายไปยังหนึ่งในสามส่วนล่างของช่องคลอด แต่ยังไม่มีการกระจายไปยังผนังด้านข้างของอุ้งเชิงกราน                          
     ระยะ 3B เป็นระยะที่มะเร็งกระจายไปยังผนังด้านข้างของอุ้งเชิงกราน และ/หรือ มะเร็งขยายตัวไปกดบริเวณท่อไต (Ureter) ทำให้เกิดการอุดตันของระบบปัสสาวะทำให้ไตมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือทำงานได้แย่ลง ในระยะนี้อาจจะพบว่า เซลล์มะเร็งกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง ภายในอุ้งเชิงกราน

ระยะที่ 4
   ระยะที่ 4 คือการตรวจพบว่ามะเร็งกระจายไปยังกระเพาะปัสสาวะ ทวารหนัก หรือส่วนอื่นๆของร่างกาย ในระยะนี้จะแบ่งออกเป็นระยะ 4 เอ (4A) และ ระยะ 4 บี (4B) ซึ่งแบ่งจากตำแหน่งที่มะเร็งกระจาย
     ระยะ 4A เป็นระยะที่มะเร็งกระจายไปยังกระเพาะปัสสาวะหรือทวารหนัก
     ระยะ 4B เป็นระยะที่มะเร็งกระจายออกจากอุ้งเชิงกราน ไปยังส่วนอื่นๆของร่างกาย เช่น ช่องท้อง ตับ ลำไส้ หรือปอด เป็นต้น

ทางเลือกของการรักษามะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูกนั้นมีทางเลือกในการรักษาแตกต่างกันหลายวิธี
    ทางเลือกในการรักษามะเร็งปากมดลูกนั้นมีแตกต่างกันหลายวิธี บางวิธีเป็นที่ใช้กันทั่วไป และยอมรับจากสถาบันทั่วโลกและบางวิธียังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาทดลอง ซึ่งการศึกษาทดลองนั้นมีส่วนช่วยในการปรับปรุงการรักษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน หรือเพื่อให้พบวิธีการรักษาแบบใหม่เมื่อการศึกษาทดลองแสดงว่าการรักษาใหม่ดีกว่าการรักษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน การรักษาใหม่นั้นอาจจะกลายเป็นการรักษาที่ยอมรับและใช้เป็นมาตรฐานการรักษาในเวลาต่อมา ถ้าเป็นไปได้ ผู้ป่วยน่าจะตัดสินใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาทดลองเพื่อการพัฒนาทางการแพทย์ในบางการศึกษาทดลองนั้นจะเปิดรับเฉพาะผู้ป่วยที่ยังไม่เริ่มการรักษาเท่านั้น

การรักษาที่เป็นมาตรฐานมี 3 วิธี คือ
   1. การผ่าตัด คือการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกไปจากร่างกาย การผ่าตัดในมะเร็งปากมดลูกมีหลายวิธี ดังนี้
     1) การตัดปากมดลูกออกเป็นรูปโคน ( Conization ) เป็นการตัดส่วนหนึ่งของเนื้อเยื่อของปากมดลูกและช่องภายในปากมดลูกออกเป็นรูปโคน หลังจากนั้นพยาธิแพทย์จะนำเนื้อเยื่อที่ได้มาส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาเซลล์มะเร็ง การผ่าตัดออกเป็นรูปโคนนี้อาจจะใช้ในการวินิจฉัยหรือการรักษามะเร็งปากมดลูกก็ได้ การผ่าตัดวิธีนี้อาจะเรียกว่าการตัดชิ้นเนื้อรูปโคน (Cone biopsy)
     2) การผ่าตัดมดลูก ( Total hysterectomy ) เป็นการผ่าตัดมดลูกรวมทั้งปากมดลูกออกจากร่างกาย ถ้ามดลูกและปากมดลูก ถูกตัดออกโดยใช้เครื่องมือผ่าตัดผ่านทางช่องคลอดจะเรียกการผ่าตัดนั้น ว่าการผ่าตัดมดลูกผ่านช่องคลอด (Vaginal hysterectomy) ถ้าผ่าตัดมดลูกและปากมดลูกออกผ่านทางหน้าท้องซึ่งจะมีรอยแผลที่หน้าท้องขนาดใหญ่ จะเรียกการผ่าตัดนั้นว่า การผ่าตัดมดลูกผ่านหน้าท้อง (Total abdominal hysterectomy) แต่ถ้าผ่าตัดมดลูกและปากมดลูกออกโดยใช้กล้องเล็กๆผ่านทางรอยผ่าตัดเล็กๆ ที่หน้าท้อง จะเรียกการผ่าตัดนี้ว่า การผ่าตัดมดลูกโดยการส่องกล้อง (Total laparoscopic hysterectomy)
     3) การผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้าง ( Bilateral salpingo-oophorectomy) เป็นการผ่าตัดเพื่อตัดเอารังไข่และท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้างออก
     4) การผ่าตัดมดลูกแบบถอนราก ( Radical hysterectomy ) เป็นการผ่าตัดเพื่อตัด มดลูก ปากมดลูก และส่วนหนึ่งของช่องคลอดออกจากร่างกาย นอกจากนี้รังไข่ ท่อนำไข่ หรือต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ๆ อาจถูกผ่าตัดออกไปด้วยเช่นกัน
     5) การผ่าตัดอวัยวะในอุ้งเชิงกรานแบบกว้าง (Pelvic exenteration) เป็นการผ่าตัดลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง ทวารหนัก และกระเพาะปัสสาวะออก การผ่าตัดนี้ในผู้หญิงนั้นจะตัดเอาปากมดลูก ช่องคลอด รังไข่ และต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ๆ ออกไปด้วยเช่นกัน ช่องทางที่จะใช้เพื่อขับถ่ายทั้งปัสสาวะและอุจจาระจะถูกสร้างขึ้นเพื่อนำของเสียออกจากร่างกายไปยังถุงเก็บ นอกจากนี้หลังจากการผ่าตัดนี้อาจมีการผ่าตัดเพื่อจะสร้างช่องคลอดขึ้นมาใหม่ด้วย
     6) การผ่าตัดปากมดลูกโดยใช้ความเย็น ( Cryosurgery ) เป็นการรักษาที่ใช้อุปกรณ์ที่แช่แข็งนำไปทำลายเนื้อเยื่อที่ผิดปกติใช้ในระยะที่พบว่ามีเซลล์ผิดปกติแต่ยังไม่เป็นมะเร็ง ( Carcinoma in situ )
     7) การผ่าตัดโดยใช้เลเซอร์ ( Laser surgery ) เป็นการผ่าตัดที่ใช้แสงเลเซอร์เป็นมีด เพื่อทำให้มีเลือดออกน้อย หรือใช้ตัดเอาเฉพาะส่วนพื้นผิวของก้อน
     8) การผ่าตัดปากมดลูกโดยใช้วงขดลวดที่มีกระแสไฟฟ้า ( LEEP ) เป็นการรักษาที่ใช้วงของลวดเส้นเล็กๆที่มีกระแสไฟฟ้าผ่านอยู่ภายในเป็นเหมือนมีด ใช้ตัดส่วนของเนื้อเยื่อที่ผิดปกติหรือเนื้อเยื่อมะเร็งออก
  2. การรักษาโดยการฉายรังสี เป็นการรักษามะเร็งที่ใช้รังสีเอ็กซเรย์พลังงานสูง หรือรังสีชนิดอื่นๆ เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งหรือทำให้หยุดการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง การฉายรังสีมี 2 ชนิด ได้แก่
     1) การฉายรังสีจากภายนอก ( External radiation therapy ) เป็นการใช้เครื่องมือที่อยู่ภายนอกร่างกายส่งรังสีเข้าในร่างกายผ่านก้อนมะเร็ง
     2) การฉายรังสีจากภายใน หรือ การใส่แร่ ( Internal radiation therapy ) เป็นการใช้สารที่ปล่อยรังสีได้ซึ่งอยู่ภายในเข็ม ก้อนเล็กๆ ขดลวด หรือท่อ ใส่เข้าไปภายในหรือใกล้ๆบริเวณของก้อนมะเร็งโดยตรง การเลือกวิธีที่ใช้ในการฉายรังสีนั้นขึ้นกับชนิดและระยะของมะเร็งที่จะรักษา
  3. การรักษาโดยการใช้ยาเคมีบำบัด เป็นการรักษามะเร็งที่ใช้ยาในการหยุดการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง หรือทั้งทำลายเซลล์มะเร็งและหยุดการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง  เมื่อรับประทานยาเคมีบำบัดหรือฉีดยาเคมีบำบัดเข้าในหลอดเลือดดำหรือกล้ามเนื้อ ยาจะเข้าไปในกระแสเลือดและไปมีผลกับเซลล์มะเร็งทั่วร่างกาย (Systemic chemotherapy)

ผู้ป่วยน่าจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาทดลองหรือไม่
    ในผู้ป่วยบางคน การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาทดลองอาจจะเป็นทางเลือกในการรักษาที่ดีที่สุด เพราะการศึกษาทดลองเป็นการศึกษาเพื่อหาวิธีการรักษาใหม่ซึ่งอาจจะปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และดีกว่าการรักษาที่ใช้รักษาอยู่ปัจจุบันนี้ การรักษาที่ใช้รักษาอยู่ในปัจจุบันนี้นั้นขึ้นกับการศึกษาทดลองที่ได้ทำในอดีต ผู้ป่วยที่ตัดสินใจเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาทดลองอาจได้รับการรักษาที่เป็นการรักษาที่เป็นมาตรฐานซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ หรือการรักษาใหม่ที่อาจจะดีกว่าการรักษาที่ใช้อยู่ปัจจุบันก็ได้
    นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาทดลองยังมีส่วนร่วมในการช่วยศึกษาวิธีการรักษามะเร็งในอนาคตอีกด้วย และถึงแม้ว่าการรักษาวิธีใหม่ในการศึกษาทดลองจะไม่ประสบความสำเร็จในการใช้รักษา แต่ก็ยังสามารถใช้การศึกษาทดลองครั้งนี้ ในการตอบคำถามสำคัญต่างๆ และช่วยเป็นข้อมูลเพื่อให้มีการทดลองต่อไป

ผู้ป่วยสามารถเข้าร่วมการศึกษาทดลองทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเริ่มการรักษาโรคมะเร็ง
   การศึกษาทดลองบางการศึกษานั้นรับเฉพาะผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับการรักษาใดๆเลย บางการศึกษารับผู้ป่วยที่ได้รักษามะเร็งไปแล้วแต่มะเร็งนั้นไม่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่ทดลองรักษาวิธีใหม่เพื่อยับยั้งการกลับเป็นซ้ำมะเร็ง หรือการศึกษาเพื่อลดผลข้างเคียงของการรักษามะเร็ง

การตรวจเพิ่มเติมขณะติดตามการรักษาอาจจำเป็น
    การตรวจเพิ่มเติมบางอย่าง ซึ่งเคยทำแล้วก่อนที่จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งหรือทำเพื่อหาระยะของมะเร็ง อาจจะต้องทำซ้ำเพื่อดูว่าการรักษาที่ได้รับนั้นได้ผลดีหรือไม่ ซึ่งการตรวจดังกล่าวมีส่วนช่วยในการตัดสินใจว่าจะทำการรักษาวิธีเดิมต่อ เปลี่ยนวิธีการรักษาหรือหยุดการรักษานั้นๆ การตรวจวิธีนี้ เรียกว่า การประเมินระยะของมะเร็งซ้ำ (Re-staging)
    บางครั้งอาจมีการตรวจเพิ่มเติมบางอย่างที่ต้องทำต่อเนื่องหลังจากเสร็จสิ้นการรักษาแล้ว ผลของการตรวจเหล่านี้จะแสดงถึง
    การเปลี่ยนแปลงหรือการกลับเป็นซ้ำของมะเร็ง การตรวจวิธีนี้ เรียกว่า การติดตามการรักษา (Follow up tests or check-ups)

การเลือกวิธีรักษามะเร็งปากมดลูกโดยประเมินจากระยะของมะเร็งปากมดลูก
ระยะที่ 0 (Carcinoma in situ)
ทางเลือกของการรักษาในระยะที่ 0 มีดังนี้
  1. การผ่าตัดปากมดลูกโดยใช้วงขดลวดที่มีกระแสไฟฟ้า ( LEEP )
  2. การผ่าตัดโดยใช้เลเซอร์ ( Laser surgery )
  3. การตัดปากมดลูกออกเป็นรูปโคน ( Conization )
  4. การผ่าตัดปากมดลูกโดยใช้ความเย็น ( Cryosurgery )
  5. การผ่าตัดมดลูก ( Total hysterectomy ) ทำในผู้ป่วยที่ไม่สามารถหรือไม่ต้องการมีบุตรแล้ว
  6. การใส่แร่ ( Internal radiation therapy ) ทำในผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้

มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1A
ทางเลือกของการรักษามะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1A มีดังนี้
  1. การผ่าตัดมดลูก ( Total hysterectomy ) โดยอาจผ่าตัดรังไข่และท่อนำไข่ 2 ข้างด้วย
  2. การตัดปากมดลูกออกเป็นรูปโคน ( Conization )
  3. การผ่าตัดมดลูกแบบถอนรากร่วมกับตัดต่อมน้ำเหลือง ( Radical hysterectomy and removal of lymph nodes)
  4. การใส่แร่ ( Internal radiation therapy )

มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1B
ทางเลือกของการรักษามะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1B มีดังนี้
  1. การใส่แร่ร่วมกับฉายรังสีจากภายนอก ( A combination of internal radiation therapy and external radiation therapy)
  2. การผ่าตัดมดลูกแบบถอนรากร่วมกับตัดต่อมน้ำเหลือง ( Radical hysterectomy and removal of lymph nodes)
  3. การฉายรังสีร่วมกับเคมีบำบัด  ( Radiation therapy plus chemotherapy)
  4. การศึกษาทดลองของการใส่แร่ที่ให้รังสีปริมาณมากร่วมกับฉายรังสีจากภายนอก ( A clinical trial of high-dose internal radiation therapy combined with external radiation therapy)

มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 2A
ทางเลือกของการรักษามะเร็งปากมดลูกระยะที่ 2A มีดังนี้
  1. การใส่แร่ร่วมกับฉายรังสีจากภายนอก ( A combination of internal radiation therapy and external radiation therapy)
  2. การผ่าตัดมดลูกแบบถอนรากร่วมกับตัดต่อมน้ำเหลือง ( Radical hysterectomy and removal of lymph nodes)
  3. การฉายรังสีร่วมกับเคมีบำบัด  ( Radiation therapy plus chemotherapy)
  4. การศึกษาทดลองของการใส่แร่ที่ให้รังสีปริมาณมากร่วมกับฉายรังสีจากภายนอก ( A clinical trial of high-dose internal radiation therapy combined with external radiation therapy)

มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 2B
การรักษามะเร็งปากมดลูกระยะที่ 2B คือ การใส่แร่ร่วมกับฉายรังสีจากภายนอกและร่วมกับเคมีบำบัด ( Internal and external radiation therapy combined with chemotherapy)

มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 3
การรักษามะเร็งปากมดลูกระยะที่ 3 คือ การใส่แร่ร่วมกับฉายรังสีจากภายนอกและร่วมกับเคมีบำบัด ( Internal and external radiation therapy combined with chemotherapy)

มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 4A
การรักษามะเร็งปากมดลูกระยะที่ 4A คือ การใส่แร่ร่วมกับฉายรังสีจากภายนอกและร่วมกับเคมีบำบัด ( Internal and external radiation therapy combined with chemotherapy)

มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 4B
ทางเลือกของการรักษามะเร็งปากมดลูกระยะที่ 4B มีดังนี้
  1. การฉายรังสีเพื่อลดอาการซึ่งเกิดจากมะเร็ง และเพิ่มคุณภาพของชีวิต
  2. เคมีบำบัด
  3. การศึกษาทดลองของการใช้ยาต้านมะเร็งชนิดใหม่หรือการใช้ยาร่วมกันหลายชนิด

ทางเลือกของการรักษาผู้ป่วยที่มะเร็งปากมดลูกกลับเป็นซ้ำ มีดังนี้
  1. การผ่าตัดอวัยวะในอุ้งเชิงกรานแบบกว้างตามด้วยการฉายรังสีร่วมกับเคมีบำบัด (Pelvic exenteration followed by radiation therapy combined with chemotherapy)
  2. การใช้ยาเคมีบำบัดเพื่อลดอาการซึ่งเกิดจากมะเร็ง และเพิ่มคุณภาพของชีวิต
  3. การศึกษาทดลองของการใช้ยาต้านมะเร็งชนิดใหม่หรือการใช้ยาร่วมกันหลายชนิด

ขอบคุณข้อมูลจาก : //www.chulacancer.net/newpage/information/cervix_cancer01.html

Smiley ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ Smiley




Create Date : 12 มีนาคม 2556
Last Update : 12 มีนาคม 2556 10:00:36 น. 0 comments
Counter : 8238 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

kitpooh22
Location :
ตรัง Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 27 คน [?]




สวัสดีครับ
..............................
ขอบคุณที่มาเยี่ยมชม และมาเม้นให้ครับ



ขอบคุณครับ :-)
THX


วันเกิดบล็อก 25/5/2009
Google+
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
12 มีนาคม 2556
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kitpooh22's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.