Group Blog
 
<<
มีนาคม 2550
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
30 มีนาคม 2550
 
All Blogs
 

หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต วัดบรรพตคีรี ( ภูจ้อก้อ ) อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร ตอบปัญหาธรรมะ หมวดปฏิบัติ

หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต วัดบรรพตคีรี ( ภูจ้อก้อ ) อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร
ตอบปัญหาธรรมะหมวดการปฏิบัติ

1. ปฏิบัติธรรมอย่างไรจึงจะพ้นทุกข์ในวัฏสงสาร ผมเบื่อการเกิด แก่ เจ็บ ตาย
เพราะเกิดมีแต่ทุกข์ทั้งนั้น
คำตอบ
การระอา และเบื่อหน่ายในวัฏสงสารเป็นปัญญาและศีลสมาธิรวมพลกันอยู่ในตัวแล้วมี
หน้าที่จะภาวนาติดต่อให้เด็ดเดี่ยว คือพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้กลมกลืนเป็นเป้าอันเดียวในปัจจุบันพร้อมกับลมออก-เข้าไม่ต้องส่งส่ายไปที่อื่น แม้จะส่งส่ายในอดีต อนาคต ก็ให้ความหมายว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันเดียว กันนั้นเอง และขอให้เข้าใจว่า
"เรารวมโลก และกองทุกข์ทั้งปวง และสังขารทั้งปวงมารวมพลกันอยู่อนิจจังแล้วเมื่อความจริงเห็นอยู่อย่างนี้แล้วรู้ตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว เราก็ไม่ได้หลงสิ่งใดๆ ในโลกเลย เพราะทำความเข้าใจผิดให้แจ้งแล้ว เป็นเพียงพิจารณา ติดต่อให้รู้ตามเป็นจริงเท่านั้น ความเพลิน ความทะเยอทะยานในโลกทั้งปวงก็ห้ามเบรคลง ในตัวแล้ว ถึงแม้จะต้องการก็ไม่เกินขอบเขตให้ได้เลี้ยงอาตมาไปเท่านั้น เพราะส่วนร่างกายมันอาศัยอามิสแต่ไม่ได้หลงอามิส เพราะอามิสอยู่ใต้อนิจจัง ทุกขังอนัตตา ดังว่ามาแล้วนั้น แม้ตัวของเราที่สมมติว่าเป็นเราๆ ก็อยู่ใต้อำนาจอนิจจัง ทุกขังอนัตตาโดยนัยเดียวกัน เมื่อหาตัวเราที่แท้แล้ว ก็ไม่เจอเพราะมีแต่กองทุกข์ก็จบกันอยู่ ณ ที่นั้นเองโดยอัตโนมัติที่เห็นชัดด้วยปัญญาความหลงที่เคยหลงมาก็แตกกระเจิงไป ณ ที่นั้นเอง"

2. หลวงปู่คะ ในขณะที่เกิดทุกขเวทนาทางกายเช่นปวดหัวจัดมีไข้ ในขณะพิจารณาให้มอง
ที่จิตหรือมองที่ตัวจุดเวทนานั้น เพราะเวลาที่ป่วยมากๆ ทำภาวนาไม่ใคร่ได้
คำตอบ
ในขณะที่เกิดทุกขเวทนาทางกาย เช่นปวดหัวจัดมีไข้ในขณะพิจารณาให้มองที่จิต หรือ
มองที่ตัวจุดเวทนานั้นก็ได้ มองที่จิตก็เห็นเป็นเพียงว่าจิต ไม่ใช่ สัตว์บุคคล ตัวตนเรา เขา ถ้ามองที่จุดเวทนานั้นก็ให้ตีความหมายอันเดียวกันคือ เวทนาก็เป็นแต่สักว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ดังนี้เสมอๆ

3. มีผู้สอนศาสนาบางคนเขาสอนว่าเฉยๆ เป็นโมหะ แล้วเฉยอย่างไรเจ้าค่ะจึงจะเป็นเฉยในโลกุตร ถ้าเราชอบความว่างก็จะกลายเป็นอรูปฌานอีกใช่ไหมเจ้าค่ะ
คำตอบ
คำว่าเฉยก็ดี ก็คือใจเป็นผู้เฉย เฉยเป็นตน เป็นแต่สักว่าเฉย แล้วมันปล่อยเฉยอยู่ ในตัวแล้วเพราะเรารู้ทัน ถ้าไม่ว่าเรารู้ทันก็ใช้คำว่า "ปัญญารู้ทัน" และบางแห่งพระบรมศาสดาก็บอกว่ามีสติกับอุเบกขาวางเฉยต่อสังขารทั้งปวงเป็นการทำลายความโง่ไปในตัวที่เรียกว่า อวิชชา เป็นทางโลกุตรด้วย อนึ่ง มันก็มีเฉยหลายอย่าง เฉยเกียจคร้านทำการงานมันก็เป็นโมหะการงานในที่นี้หมายเอาปัญญาภาวนา
ที่เรียกว่า "วิปัสสนา" เห็นสังขารเกิดดับพร้อมกับลมออกเข้าแล้ววางเฉยจะเรียกว่าโมหะไม่ถูกเพราะพักปัญญาชั่วคราวไม่ได้หวังว่าจะแอบกินอยู่ที่นั้น และเมื่อเราชอบความว่างเป็นอรูปฌานก็มีไม่เป็นก็มี ที่ไม่เป็นนั้นคือความว่างจากเรา จากเขา จากสัตว์ จากบุคคลนั้นมันเป็นว่างที่มีปัญญา รู้ชอบเรียกว่ารู้ตามเป็นจริงแห่งปัญญา และก็ไม่สำคัญว่าว่างนั้นเป็นตน ตนเป็นว่างด้วย ถ้าไม่
สำคัญอย่างนั้นกิเลสก็แตกกระเจิงไปหมดแล้ว ไม่ใช่อรูปฌานเลย...ที่เป็นอรูปฌานนั้นเพราะไม่มีปัญญาเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาสัมปยุตอยู่ในขณะเดียวก็เลยกลายเป็นอรูปฌาน อรูปฌาน 4 นั้น โดยใจความคือไม่เห็นอนัตตาธรรมนั้นเอง และก็เข้าใจว่าอรูปฌานนั้นเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตนอยู่ เหมือนพวกอาฬารดาบส เป็นต้น

4. ทำอย่างไรจึงจะพ้นจากเวทนาได้จนอิสระ ดิฉันสังเกตุตัวเองว่าสามารถทำได้เป็นบาง
โอกาสเท่านั้นเองค่ะ และเป็นที่น่าสังเกตุจริงๆ ว่ามันสลับกันเป็นที่จิตล้วนๆบ้างตรงนั้นล่ะคะหลวงปู่ที่พูดไม่ถูกเพราะไม่เข้าใจ คือลักษณะเหมือนจิตไม่อยากให้กายป่วย พอกายป่วยจิตมันเกิดอารมณ์ที่เศร้าหมอง ดิฉันก็ต้อง "ละ" จนมีกำลังจิตที่สามารถพากายไปทำกิจจนสำเร็จได้ แต่มันฝืนและทรมานมากนะคะหลวงปู่ ไม่สนุกเลย
คำตอบ
ถ้าอยากพ้นเวทนาใดๆ ก็ตาม ให้เข้าใจว่าเป็นแต่สักว่าเวทนา หาได้ใช่เรา เขาสัตว์ บุคคลไม่ จะเป็นโอกาสไหนๆ ก็ตามก็ต้องพิจารณาแบบนี้ มันจะสลับซับซ้อนไปไหนก็ตาม ก็ตัวอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของเก่านั่นเอง และเราอย่าถือว่ามันทรมานเรา เราต้องพิจารณาอนัตตาให้ชัดเมื่อเรา เขา สัตว์ บุคคลไม่มีในปัจจุบันแล้ว (เพราะมีแต่ธาตุ, ธรรม, ขันธ์ ตามบัญญัติที่บัญญัติตามเป็นจริงไว้) ก็ให้จบกันเพียงแค่นั้น

5. วิธีการฝึกสติ ควรทำอย่างไรจึงจะได้ผลดีเร็ว กระผมขอแนวทาง พระท่านมักจะสอนว่า "ควรมีสติก่อน พูด ทำ คิด" แต่มักไม่ค่อยบอกวิธี กว่าจะเกิดสติบางทีกิเลสมันก็ตบหน้าเจ้าของกระเด็นไปแล้ว และทำอย่างไร จิตใจจึงจะเป็นกลางๆ หรือเป็นบุญตลอด เพราะกระผมรู้สึกว่าบางวันจิตใจก็เป็นบุญดี บางวันจิตใจก็เศร้าหมองคอยเพ่งโทษผู้อื่น บางวันจิตใจก็เฉยๆ มันขึ้นๆ ลงๆ ครับ
คำตอบ
วิธีฝึกสติก็คือ เอาสติไว้ที่เมตตานั่นเอง จิตใจเมื่อหนักเข้าก็เป็นกลางๆ ไม่ลำเอียงไปทางรัก และทางชัง เป็นบุญไปตลอดสายในตัวเรียกว่าภาวนามัย การเพ่งโทษผู้อื่นไม่ได้ร้องเรียกมาหาตนเลยที่ร้องเรียกมาหาตนเพื่อเพ่งโทษผู้อื่นนั้น ก็เพราะจิตไม่มีเมตตานั่นเอง ไม่ใช่อื่นไกลเลยขอให้ลูกๆ หลานๆ ปฏิบัติอย่างที่ว่ามานี้ติดต่ออยู่ อย่าทำแบบจับๆ จดๆ แล้วขาดๆ วิ่นๆ ให้เข้าใจว่าแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์มารวมอยู่ที่เมตตาแห่งเดียวนั่นเอง ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว กระแสของจิตมันก็จะส่งส่าย ว่าอันนี้ดีอันนี้ชั่ว จับๆ วางๆ ให้เห็นคุณในตอนนี้เสียก่อน แล้วยังมีต่อไปอีกว่า ผู้เจริญเมตตาหลับคากันไม่ฝันเห็นสิ่งที่ลามกอันร้าย
ธรรมอันนี้มันฆ่าความโกรธไปในตัวแล้ว มีพระบาลีอ้างว่า "โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ" ฆ่าความโกรธได้แล้ว ย่อมอยู่เป็นสุข มีจินตกวีต่อท้ายว่าช้างมันขันโซ่เส้นตรวนขึง ปลอกมัดรัดรุมรึงผูกไว้ให้อดหญ้าอดน้ำจึงเมาสร่าง ย่อมรู้พิษขอความโกรธโหดร้ายเพราะช้างเมามัน ความรักดุจเชือกพันเหนี่ยวรั้งโทสะฉุดแข็งขันรักขาด อาจฆ่าผู้อื่นได้ทั้งท่านผู้มีคุณหมื่นหนสามารถทำให้รถหยุด ม้าพยศฉุดหมื่นครั้งก็ยังไม่เท่า เหนี่ยวรั้งโกรธได้คราวเดียวตัดผมย้อมปากแก้มนะขา
วิเลปะนะลูบไล้ทา
ผ่องแผ้วประดับปภัสตราภรณ์ งามเลิศ
ค่าแลโทสะมากแล้ว เช่นนี้ งามไฉน
แม้ขาดเครื่องลูบไล้ ชะโลมทา
นุ่งห่มผ้าราคา ต่ำต้อย
มีขันตีตะปะ ข่มโกรธ
เสงี่ยมงามแช่มช้อย เช่นนี้ เธียรชม
ฆ่าสัตว์มุ่งเสพเนื้อ อีกหวัง
กระดูกงาเขาหนัง ได้ใช้
แต่ก็ยังเป็นบาป กรรมเฮย
ใครฆ่าความโกรธได้ ประโยชน์แท้ บุญเหลือ...

(ฟอ โกวิโท)

จำมาจากดวงประทีป สมัยปิ่น มุทะกันต์ ข้ออื่นยังมีอยู่อีกพระบรมศาสดายืนยันว่าท่านผู้ใดพลิกจิตแผ่เมตตาขณะลัดนิ้วมือเดียว ท่านผู้นั้นไม่อยู่ห่างจากฌานเลยและก็ประพฤติใกล้พระนิพพานโดยแท้ทีเดียว

6. หลานได้อ่านหนังสือของท่านหลวงตามหาบัว ในเรื่องปัญญาอบรมสมาธิ และสมาธิอบรม
ปัญญา ท่านกล่าวว่าเหตุที่ตัวใช้ปัญญาอบรมให้เกิดสมาธิเพราะจิตของผู้นั้นเป็นผู้คิดวุ่นวายตลอดเวลาไม่สามารถสงบลงได้ง่ายจึงต้องใช้ปัญญากล่อมๆ เข้ามาจนจิตจนด้วยเหตุผล และคิดไม่ออกโดยการขู่เข็ญ หลานอยากทราบว่าวิธีใช้จิตถามจิต จิตเป็นผู้ตอบเองใช่หรือไม่ หลวงปู่กรุณาอธิบายให้แจ่มด้วยครับ
คำตอบ
ปัญญาอบรมสมาธินั้น หลวงปู่มหาฯ อธิบายก็มีเหตุผลพอ แต่นิสัยของหลวงปู่เมื่อหายใจเข้าข้างเดียว ต้องการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เห็นทั้งต้นลม กลางลมและท้ายลม ลมออกก็โดยนัย หลวงปู่บัญญัติตัวเองว่าปัญญาอบรมสมาธิ แต่ปัญญาจะอบรมสมาธิได้ ปัญญาก็ต้องชำนาญในสมาธิมาก่อนจึงจะจับฉวยได้โดยเร็ว สมาธิอบรมปัญญานั้นคือ บริกรรมกับกรรมฐานที่ตั้งไว้ล้วนๆ เมื่อบริกรรมพอแล้วจิตก็รวมลงไปตามสติกำลังของตน เมื่อจิตถอนออกมาแล้วจึงมารู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาหลังฉากเพราะตีความหมายตนว่าสมาธิชั้นนี้แล้วยังอยู่ใต้อำนาจของความเกิดขึ้นแล้วแปรดับ ได้สอนตนเองอย่างนี้ก็มี เพราะสติปัญญามันประสบกับความเกิดดับเสียก่อนจึงกล้าตอบตน
ได้ แต่เมื่อมันชำนาญทั้งสองด้านแล้ว คือด้านปัญญาอบรมสมาธิ ด้านสมาธิ อบรมปัญญา บุคคลผู้นั้นก็ไม่หนักใจ ต้องการใช้วิธีใดได้ทั้งนั้น ชัดทั้งนั้นถือว่ามีรสชาติและคุณค่าอันเดียว

7. ปัจจุบันผมเป็นอาจารย์อยู่ภาควิชา...มหาวิทยาลัย...ผมเคยฝึกหัดปฏิบัติภาวนาบ้างเล็กๆ น้อยๆ จากครูอาจารย์แปลงวัดป่าอุดมสมพรฯ อาจารย์ทองพูลวัดภูกระแตอำเภอบึงพระกาฬ ตอนไปอยู่กรุงเทพฯ ผมมีโอกาสได้ฟังธรรมจากหลวงปู่หลุย ได้ฝึกการมองกาย แยกธาตุ ใช้มาพอเป็นนิสัยจนถึงทุกวันนี้ การภาวนาของผมจิตใจยังไม่มีหลักมีฐานอะไร จึงเกิดข้อสงสัยขึ้นว่า การเพ่งที่
กายอย่างเดียว ตลอดทุกอิริยบท (ตามหนังสือมุตโตทัย) จนหายสงสัยในกายแล้วจึงหันมาจับแต่เฉพาะจิตไม่ทราบว่าถูกหรือผิด (ผมเป็นครูมีอารมณ์ต่างๆ มากระทบมากมายวางจิตไม่ถูกครับ) ขณะที่ผมเขียนอยู่นี้เกิดความรู้สึกแวบขึ้นมาในใจว่า การวางอารมณ์อยู่เป็นกลางๆ ดูจิตแวบไปแวบมา มีอารมณ์ต่างๆ เข้ามาออกไปมากมายไม่หลงตามอารมณ์น่าจะถูกกว่าเพ่งดูเฉพาะกายอย่างเดียว หรือว่าถูกทั้ง 2 อย่างผมก็ยังสงสัยอยู่การสงสัยของผมคงไม่ใช่การสงสัยในข้อปฏิบัติที่ครูอาจารย์เคยพาประพฤติปฏิบัติมาด้วยตัวผมเองปัญญายังน้อย อยากจะกราบหลวงปู่ช่วยชี้แจงโดยละเอียดที
เถิดขอรับผม
คำตอบ
การเพ่งที่กายอย่างเดียวตลอดทุกอิริยาบถตามหนังสือมุตโตทัยก็เป็นการถูกต้องดีแล้วเพราะมีสติอยู่กับกาย ตรงกับคำที่พระมหากัสสปะกล่าวและท่านก็สมาทานว่าเราจะพิจารณากายเป็นอารมณ์ทั้งกายนอก และกายใน กายใกล้ให้เป็นสักแต่ว่าดิน น้ำ ไฟลม มันจะรวมหรือไม่รวมก็เอากายเป็นตัวประกัน เมื่อมันยังไม่หน่าย ไม่คลายความกำหนัด ตราบใดก็จำเป็นจะได้ม้างกาย รื้อกายให้เห็นตามเป็นจริงว่าเป็นของปฏิกูลน่าเกลียด โสโครกพร้อมทั้งมีโรคต่างๆ เกิดขึ้นสารพัดโรคจิปาถะ พระพุทธศาสนาจึงยืนยันว่า กายนี้มีทุกข์มากมีโทษมาก เหล่าอาพาธต่างๆ ย่อมตั้งอยู่ในกายนี้ โรคในตา โรคในหู โรคในจมูก โรคในลิ้น โรคในฟัน โรคในปาก โรคในทวารหนักทวารเบา โรคกลาก โรคเกลื้อนกุฏฐัง โรคฝีทุกชนิด เหล่านี้เป็นต้นถ้าจะไล่โรคให้ครบในกายนี้ก็จะไม่มีที่เสียแล้ว การที่พิจารณาอย่างนี้เป็นสติ และปัญญาไปในตัว เป็นศีล สมาธิ ปัญญากลมกลืนกันด้วย คนเราและสัตว์ทั้งปวงตลอดทั้งเทวดาพรหม ถ้ารู้เท่ากายแล้ว การหลงหนังหุ้มก็เบาลง

8. หลวงปู่บอกว่าให้บริกรรม "เรา และท่านผู้อื่นโดยไม่เลือกหน้าจงเป็นสุขในพุทธธรรม สงฆ์อยู่ทุกเมื่อเทอญ" ทุกๆ อิริยาบทเหมือนกับบริกรรมพุทโธใช่ไหมครับ ผมบริกรรมไม่ได้ติดต่อหรอกครับ นึกขึ้นได้บางทีก็บริกรรมในใจ หลวงปู่โปรดแนะนำด้วยครับ และผมชอบมากที่หลวงปู่กล่าวว่า การเพ่งโทษผู้อื่นนั้นก็เพราะจิตไม่มีเมตตา
คำตอบ
ให้บริกรรมทุกอิริยาบทเหมือนกับบริกรรมพุทโธๆ นั้นถูกแล้ว แม้จะไม่ได้ติดต่อก็ตามพระบรมศาสดาก็ทรงสรรเสริญให้คะแนน "แม้แผ่เมตตาชั่วลัดนิ้วมือเดียวก็ให้คะแนนว่าท่านผู้นั้นไม่อยู่ห่างจากฌาณเลย และก็ประพฤติใกล้พระนิพพานด้วย" เมื่อเรามีเมตตาแล้ว การเพ่งโทษผู้อื่นมันก็ไม่อร่อยเหมือนเกลียวหวานมันไม่เสียดายอยากเพ่งโทษด้วย รสจิตรสใจมันไกลกันกับเราเพ่งโทษเขาราวฟ้ากับดิน

9. อุบายเพื่อใช้พิจารณาเพื่อทำลายความสำคัญของจิตเพื่อละทิฏฐิมานะของจิตนั้นหลวงปู่มีอุบายวิธีอย่างไรบ้างครับ
คำตอบ
เมื่อเราไม่ยืนยันว่ามีเราในอดีต ปัจจุบัน อนาคตแล้ว มันก็ทำลายอยู่ในตัวแล้วไม่ต้องทำกิริยาทำลายอีก

10. วิธีอบรมจิตด้วยอายตนะ 6 เขาอบรมกันอย่างไรละค่ะ
คำตอบ
วิธีอบรมจิตด้วยอายตนะ 6 ขอให้เข้าใจว่า อายตนะ 6 ก็ดี ขันธ์ 5 ก็ดีมีความหมายอันเดียวกัน คือ อายตนะ 6 มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย จัดเป็นรูปขันธ์เสียแล้วส่วนใจนั้นจัดเป็นนามขันธ์ และขอให้เข้าใจว่าขันธ์ 5 รูปก็เป็นรูปตามเดิม คือ ดินน้ำ ประชุมกันเป็นกาย ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็รวมเข้าเป็นนามตามเดิมและก็ขอให้เข้าใจอีกว่าเราอบรมอายตนะ 6 ก็ดี อบรมขันธ์ 5 ก็ดีก็มีความหมายอันเดียวกัน เป็นเพียงว่าสมมติว่า 6 สมมติว่า 5 ผิดกันเท่านั้น...แต่ความหมายก็อัน
เดียวกัน
ย่น 6 ลงมาเป็น 2 ตา หู จมูก ลิ้น กายย่นลมเป็นรูปขันธ์ ใจเป็นนามขันธ์ดังกล่าวแล้วนั้น ทีนี้จะย่นขันธ์ 5 ลงเป็น 2 เหมือนอายตนะ 6 คือกายก็เป็นกายตามเดิม เป็นดิน น้ำ ไฟ ลม ตามเดิม เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็เป็นนามตามเดิมอายตนะ 6 ก็ดี ขันธ์ 5 ก็ดี รูปธาตุ นามธาตุก็ว่าเหมือนกัน รูปธรรมนามธรรมก็ว่าเหมือนกันรูปขันธ์ก็ว่าเหมือนกัน รูปอินทรีย์นามอินทรีย์ ก็ว่าเหมือนกัน รูปโลกนามโลกก็ว่าเหมือนกัน

สิ่งเหล่านี้ก็รวมมาเป็นสังขารโลกก็ได้จะรวมลงมาเป็น สังขารธรรมก็ได้ จะรวมมาเป็นสังขารธาตุก็ได้ จะรวมลงมาเป็นสังขารขันธ์ก็ได้ให้เข้าใจว่าเมื่อสังขารออกหน้าแล้วก็ต้องเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ตรงกับคำว่า "สังขารา ปรมา ทุกขา สังขารเป็นทุกข์อย่างยิ่ง" มาเป็นเมืองขึ้นของไตรลักษณ์ตามเดิม เมื่อพิจารณาไตรลักษณ์ให้กลมกลืนเป็นเชือก 3 เกลียวแล้ว กรรมฐานที่อยู่ในสรรพโลกทั้งปวงก็รวมลงมาตั้งฐานอยู่ในที่นี้ เกิดขึ้นแล้ว แปรปรวนอยู่หาระหว่างมิได้ ไม่ขึ้นอยู่กับผู้รู้ และผู้ไม่รู้ แต่ต้องพยายามรู้เพื่อจะได้ไม่ยึดถือเอาเป็นตัวตน เรา เขา สัตว์ บุคคล เพราะมีแต่กองทุกข์ จะยึดถือเอาเป็นตัว ตน เรา เขา จริงๆ จังๆ จนแกะไม่ได้คายไม่ออกก็ไม่ตรงกับคำว่า "รู้ตามเป็นจริง ปฏิบัติตามเป็นจริงสิ้นความสงสัยตามเป็นจริง”

11. ปัจจุบันนี้ผมก็ได้ทำการพิจารณาธรรมมาโดยตลอด บางทีวันหนึ่งจะทำประมาณ 2 - 3ชั่วโมง แต่บางวันโดยส่วนใหญ่จะทำตลอดทั้งวันโดยจะมีเสียงมาเตือนเราเอง แล้วบางครั้งจะมาทำการสอนเราเองในเรื่องกรรมบ้าง ในเรื่องขันติบ้าง หรือสมาธิบ้าง ฯลฯมากมายเลย ธรรมที่ปรากฏในช่วงนั้นก็มุ่งที่จะสอนให้จิตตัดรอนจากอุปทานที่เป็นอวิชชาครอบงำจิต และก็ด้วยเหตุแห่งธรรมะมาสอนจิตนี้เอง แต่ละวันจึงรู้สึกสบายใจเป็นพิเศษและก็ไม่ค่อยรู้สึกทุกข์อะไรเท่าไร
คำตอบ
เรื่องภาวนาได้ยินเสียงมาเตือนบ้าง มาทำการสอนเราเองในเรื่องกรรมบ้าง ในเรื่องอดทนบ้าง ต่างๆ เหล่านี้ เป็นธรรมฝ่ายอุปจารสมาธิ เป็นมงคลอันดีในชั้นนี้แต่ขอให้เข้าใจว่าอุปจารสมาธิเป็นบุญเป็นกุศลทางภาวนา ยังอยู่ใต้อำนาจอนิจจังเพราะเกิดดับอยู่ และก็รู้สึกสบายใจเป็นพิเศษด้วย

12. ด้วยเกล้ากระผมมาขอโอกาสในคติธรรมที่บนบอกขึ้นมาว่า ธรรมชั้นสูงๆ ของธรรม คือ
ตัวผู้รู้ ผู้นึกคิด ผู้จิต ผู้ธรรม ไม่เป็นตน ไม่เป็นสัตว์เป็นบุคคล ไม่เป็นตัวนึกคิด เป็นตนเป็นบุคคลไปอีกฯ แล้วให้ภาวนา และพิจารณาอยู่ในธรรมชั้นต้นสติ วิชชา ทานตัวผู้รู้ ผู้นึกคิด ผู้จิต ผู้ธรรม ไม่เป็นตนธรรมชั้นกลาง คือสมาธิ ให้รักตั้งมั่นอยู่ในผู้รู้ ผู้นึกคิด ผู้จิต ผู้ธรรม ไม่เป็นสัตว์บุคคลธรรมชั้นปลายเป็นตัวปัญญาไม่นึกคิดเป็นตนเป็นสัตว์บุคคลไปอีก นี้ให้วิหารธรรมอยู่ทุกอิริยาบถเกล้ากระผมก็ได้ปฏิบัติอยู่ตามนี้ ส่วนถูกหรือผิดนั้นขอความเมตตากรุณาจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ชี้แนวทางบอกให้เกล้ากระผมอีกด้วย เพื่อจะใช้ปฏิบัติต่อๆ ไป สุดท้ายนี้ธาตุขันธ์ของเกล้ากระผมกำลังแปรปรวนใหญ่
คำตอบ
การภาวนาของท่านในธรรมชั้นสูงของพระพุทธศาสนานั้น ถูกต้องดีแล้วเพราะเป็นการถอนอุปทานไปในตัว มันเป็นของว่างจากสัตว์จากบุคคลไปในตัวว่างจากชาติจากภพไปในตัวอีกด้วย ผู้รู้ในปัจจุบันก็ดี ผู้รู้ในอดีตก็ดีที่ล่วงมาแล้วก็ดี ผู้รู้ในอนาคตที่ยังมาไม่ถึงก็ดี อดีตก็ดี อนาคตก็ดี อดีตล่วงไปแล้วมีแต่บัญชี อนาคตที่งมาไม่ถึงก็มีแต่บัญชี จึงเอาผู้รู้ในปัจจุบันเป็นตัวประกัน เป็นตัวพยานเอกด้วย เป็นศีล สมาธิ ปัญญา ชั้นสูงกลมกลืนกันในปัจจุบันด้วย การจะสงสัยส่งส่ายหา
ก็ไม่มี เพราะเห็นอยู่ในปัจจุบันแล้ว คือเห็นว่าผู้รู้ไม่ ใช่เรา เราไม่ใช่ผู้รู้ติดต่ออยู่ไม่ขาดสายจนสิ้นลมปราณคากัน พร้อมกับลมเข้าออกด้วย เรียกว่าดับภพดับชาติแล้ว เรียกว่าข้ามความหลงของเจ้าตัว คือข้ามโลกแล้ว ผู้ต้องการพ้นทุกข์ในปัจจุบันชาติก็ต้องภาวนาอย่างนั้น จึงขอจบย่อเพียงนี้
ท้ายนี้ ด้วยเดชพระพุทธศาสนา ธรรมศาสนา สังฆศาสนาอันทรงพระคุณค่าหาประมาณไม่ได้ ซึ่งกลมกลืนกันในปัจจุบันเดี๋ยวนี้ พวกเราผู้หวังดีต่อพระนิพพานอย่าเที่ยวมาเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในวัฏสงสารนี้อีกเลย

13. หลวงปู่บอกว่าให้เมตตาตนก่อนแล้วค่อยเมตตาผู้อื่นทั่วทั้งไตรโลกธาตุนั้น ควร
เมตตาตนนานมากน้อยขนาดไหน วันหนึ่งๆ ตื่นเช้าขึ้นมาสวดมนต์ไหว้พระแล้วเมตตาตน
หลังจากนั้นก็เมตตาผู้อื่นใช่ไหมครับ
คำตอบ
คำว่าให้เมตตาตนก่อนนั้น เพราะจะได้เอาเมตตาเป็นพยาน ว่าตนไม่ขอเป็นเวรเป็นภัยกับใคร ส่วนที่จะเจริญนานหรือไม่นานนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับปัญญาของเราอีก คือเราเห็นตามเป็นจริงว่าเราไม่ชอบให้ผู้อื่นติเตียน เบียดเบียนอันใดเลย เมื่อมันชัดในขันธสันดานแล้ว เราก็แผ่เมตตาถึงผู้อื่นได้โดยเร็วและไม่นิยม ชั้นวรรณะด้วยหรือจะว่า "โยนิสี่ทุกถ้วนหน้าจงเป็นสุขในพุทธ ธรรม สงฆ์อยู่ทุกเมื่อเถิด" บริกรรมติดต่อ อยู่อย่างนี้ (จนลิ้นไม่กระดุก) และขอให้เข้าใจว่า คำว่า "โยนิสี่" ก็คือผู้เกิดในครรภ์ ในไข่ ในเถ้าในไคล หรือเกิดผุดขึ้นที่เรียกว่ากำเนิดสี่ ถ้าเราบริกรรมว่าโยนิสี่ทุกถ้วนหน้าก็เท่ากับว่าเราแผ่เมตตาให้กับเรา และท่านผู้อื่นไปพร้อมกันในขณะเดียวพร้อมกันทั้งไตรโลกธาตุด้วย
หมายเหตุ "โยนิ" คือ ประเภทการเกิดของสัตว์มี 4 ประเภท
1. สัตว์ผู้เกิดในครรภ์
2. สัตว์ผู้เกิดในไข่
3. สัตว์ผู้เกิดในเถ้าไคล (สิ่งสกปรก)
4. สัตว์ผู้เกิดผุดขึ้น เช่น เทวดา, สัตว์นรก

14. ดิฉันอยากจะขอเรียนถามหลวงปู่ถึงเรื่องการควบคุมจิตใจให้มีความสงบอยู่นานๆ
และขออุบายหรือวิธีการในการทำสมาธิเพื่อให้จิตสงบเร็วขึ้นด้วยค่ะ
คำตอบ
การภาวนาอยากจะให้จิตจดจ่ออยู่นานๆ ก็ต้องตัดความละโมบในอารมณ์อื่นที่มาเกยมาพาดต้องตั้งสติไว้กับอาจารย์เดิม (คือกรรมฐานเดิมที่ตั้งไว้) ยินดีในกรรมฐานที่ตั้งไว้นั้นอย่าไปยินดีในกรรมฐานอื่นที่ยังไม่ได้ตั้ง นึกหรือบริกรรมในกรรมฐานอันเดิมนั้นแหละ ตั้งสัจจะไว้ในที่นั้นตั้งอธิษฐานไว้ในที่นั้นถ้ามันลืมไปก็ดึงมาอย่าได้เสียใจ เพราะความสำเร็จอยู่กับความอดทน
และความเพียรเพราะเอากรรมฐานเดิมที่ตั้งเป็นตัวประกันยอมเป็นยอมตายกับกรมมฐานเดิมนั้น คำ
ว่า "ศีล" แปลทับศัพท์ก็ตัดสินลงในกรรมฐานที่ตั้งไว้นั้น แม้สมาธิก็ตั้งมั่นในกรรมฐานที่ตั้งไว้นั้นคำว่า "ปัญญา" ก็รอบรู้ในกรรมฐานที่ตั้งไว้นั้น อย่าไปวอกแวกเคลื่อนที่ไปทางอื่น
เพราะเรารวมคำสอนของพระองค์แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์มาไว้ที่เป้ากรรมฐานที่เราตั้งไว้นั้นแล้ว ศีล สมาธิ ปัญญาทั้งหมดก็มีความหมายอันเดียวกันเราเอามารวมไว้ที่เป้าอันเดียวนั่นแล้ว ตลอดทั้งพระพุทธ พระธรรมทั้งหลายอันหาประมาณไม่ได้เราก็เอามารวมไว้ที่เป้าอันเดียวนั่นแล้ว เราไม่สงสัยจะส่งส่ายไปหาอันอื่นเลย
ถ้าไม่ขนาบทิฏฐิของตนอย่างนั้นมันก็ไปคว้าอันนั้น อันนี้อยู่ จิตของเราก็ไม่รวม ความเห็นชอบของเราก็ไม่รวมอยู่ที่แห่งเดียว ที่มันไม่ยอมอยู่ที่แห่งเดียวเพราะอุบายของเราไม่ทันกับกิเลสของเรา เพราะกิเลสของเรามันหลุกหลิกๆ อยู่เหมือนลิง กระโดดนั้นกระโดดนี้ กระโดดถูกกิ่งไม้ผุก็ตกตูมตาย เหตุนั้นจึงให้สันโดษยินดีในกรรมฐานเดิมที่ตั้งไว้
เปรียบเหมือนทิศเหนือ เมื่อทิศเหนือมีอำนาจในแม่เหล็ก เข็มทิศใดๆย่อมชี้ไปทางทิศเหนือทั้งนั้น เป็นเมืองขึ้นทิศเหนือก็ว่าได้ ฉันใดก็ดีเมื่อเราตั้งมั่นไว้ในกรรมฐานใดๆ เป็นหลักแล้ว กรรมฐานอื่นๆ ที่มีตั้งหมื่นตั้งแสนย่อมเป็นเมืองขึ้นของกรรมฐานที่เราตั้งไว้ จะเป็นวิปัสสนากรรมฐาน รรมฐานที่เกี่ยวกับปัญญาก็ดี หรือสมถกรรมฐาน กรรมฐานที่เกี่ยวกับจิตใจก็ดี ก็มารวมพลกันอยู่กับเป้าเดิมที่เราตั้งไว้ไม่ส่งส่ายนั่นเอง
แม้มรรค ผล นิพพาน ก็อยู่ในที่นั้นด้วย แม้เราจะกระจายออกจากเป้าเดิมที่นั้นเราก็ไม่สงสัยอีกให้ถือว่ามันแตกออกจากเป้าเดิม ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อันเก่านั่นเอง ให้เข้าใจว่าสมาธินั้นเหมือนเชือกเส้นยาวๆ ที่เราขึงไปทั่วไตรโลกธาตุแต่เราสาวเข้ามาให้มันรวมเป็นกองเดียวจะโตเท่าฟ้าเท่าแผ่นดินก็ตาม หรือจะเล็กลงเท่าปลายเข็มก็ตามก็ให้ถือว่าเป็นเรื่องเดียวกันนั่นเอง

15. ดิฉันขอรบกวนหลวงปู่ช่วยอธิบายให้ลูกหลาน มีอุบายในการพิจารณาขันธ์ 5 เพื่อการ
ปฏิบัติธรรมจะได้เจริญก้าวหน้าต่อไปเจ้าค่ะ พวกดิฉันเปรียบเหมือนกับบัวใต้น้ำหลวงปู่โปรดเมตตาสงเคราะห์ด้วยเจ้าค่ะ ใจก็อยากจะพ้นทุกข์ใน "วัฏสงสาร" เป็นที่สุดแต่ก็ยังตะเกียกตะกายไม่พ้นน้ำสักที
คำตอบ
แม้ขันธ์ทั้ง 5 มีรูปขันธ์ที่เราเรียกว่า ดิน น้ำ ไฟ ลม ประชุมกันอยู่เรียกว่ารูปขันธ์นั่นเอง ส่วนนามขันธ์ 4 มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้ก็มีความหมายอันเดียวกันกับที่ว่ามาแล้วนั้น คือเกิดขึ้นแปรปรวน และดับไป หาระหว่างมิได้ด้วย เราก็รู้ตามเป็นจริงหาระหว่างมิได้ด้วยการที่เราไปหลงยึดถือว่าเป็นเราเป็นเขา เป็นสัตว์เป็นบุคคลนั้น หรือเป็นของเราเป็นของสัตว์ ของบุคคลนั้น เราก็หมดปัญหาที่จะไปสำคัญอย่างนั้น เมื่อเราไม่สำคัญว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเราเป็นสัตว์เป็นบุคคลแล้วมันก็ลดกันไปในตัวแล้วไม่ต้องไปสมมติวางมันหรอก มันไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคลแล้วเราจะไปสมมติเอาทำไม
เราจะไปสมมติวางทำไม ถ้าเราไม่สมมติว่าได้ว่าเสีย ความสมมติก็จบลงเพียงนั้นความดีใจเสียใจจะว่าจากประตูใดอีก เหตุที่ดีใจเสียใจก็เพราะยืนยันว่านั่นเรานั่นของเรา นั่นผู้อื่น นั่นของผู้อื่นเรื่องจึงไม่มีการจบคล้ายๆ กับหยอกเงาเมื่อเราหยอกเงา เงาก็หยอกเรา ถ้าไม่มีเราอยู่ในนั้นเงาของเราก็ไม่ต้องมี ดังนี้แหละ เป็นสติ-ปัญญาชั้นสูง มีทั้งศีล สมาธิ และญาณปัญญาเป็นทัพธรรมรวมอยู่ขณะเดียวด้วย พูดต่อไปอีกให้ชัดว่าเมื่อเราไม่ยืนยันเอาขันธ์ 5 ไม่ยืนยันว่าขันธ์ 5 เป็นเราก็รู้เท่าเราแล้วไม่ใช่หรือ และก็รู้เท่าสิ่งที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของๆ เราแล้วไม่ใช่หรือ ทีนี้จะชกต่อยกับอะไรอีกก็คงจบเพียงแค่นั้น
ท้ายนี้ ด้วยเดชพระพุทธศาสนา พวกเราทั้งหลาย จงหลุดพ้นจากความหลงของตน ที่เคยหลงว่าขันธ์ 5 เป็นตน ตนเป็นขันธ์ 5 จงจบกันลงเพียงแค่นี้เทอญ เมื่อสิ้นลมปราณไปแล้วก็ไม่มีหนทางจะไปยืนยันเอาขันธ์ 5 อีกแล้ว พระพุทธศาสนาจบลงเพียงแค่นี้

16. เมฆหมอกที่มาบดบังจิต หรืออาการของจิต หรือเจตสิก หรืออุปกิเลส หรืออนุสัยย่อมมีอุบายในการละการทำลายเพื่อข้ามทะเลทุกข์ ทะเลหลงเหล่านี้หลวงปู่มีอุบายอย่างไรในการถอดถอนครับ
คำตอบ
เมฆก็ตาม หมอกก็ตาม จิตก็ตาม อาการของจิตก็ตาม เจตสิกก็ตาม จะใส่ชื่อลือนามไปสักเพียงใดก็ตาม ถ้าเราไม่ในที่นั้นๆ ของเราไม่มีในที่นั้นๆ พิษสงก็ไม่มีในที่นั้นเอง เหตุนั้นการพิจารณาว่าเราไม่มีในที่นั้น เราไม่มีในที่ใดๆ ทั้งนั้นของเราก็ไม่มีในที่ใดๆทั้งสิ้น ท่านผู้อื่นก็ไม่มีในที่ใดทั้งสิ้น ไม่มีใครเป็นเจ้าของ สูญๆ สาญๆ เสียแล้วเรื่องก็จบกัน ณ ที่นั้นไป ทำท่าทำทางไปวางก็เป็นอันผิดทั้งนั้น เพราะมันเป็นกิริยา เป็นเหตุ เป็นกรรม เป็นวิบากในตัว
ยกอุทาหรณ์สมมติหยาบๆ คือ เราก็ตาดีมองไปที่สว่าง เราไม่ได้สมมติให้ความมืดหนีไปมันก็หนีไป ณ ที่นั้นเอง เมื่อเราไม่มีในที่ใดๆแล้ว ก็ไม่ควรจะมีอะไรมาสร้างปัญหาขึ้นให้หนักใจ หนักธรรม ชาวโลกเขา พูดอะไรก็พูดไปตามเขาซะ ไม่ควรเอาสมมติมาเป็นสงครามกับปรมัตถ์ ไม่ควรเอาสังขารคือผู้รู้ไปเป็นสงครามกับพระนิพพาน ใครเป็นผู้รู้พระนิพพานก็พระนิพพานนั่นเองทรงอยู่ซึ่งพระนิพพาน
สังขาร และผู้รู้ จะไปทรงมิได้ จงให้เข้าใจว่า ผู้รู้นั่นเองเป็นสังขารอันละเอียดมีผู้ไปยึดถือเอาเป็นเจ้าของก็เป็นเหตุ เป็นกรรม เป็นวิบาก เป็นภพ เป็นชาติ เป็นอุปาทาน อวิชชา ตัณหา สารพัดจะบัญญัติใส่ชื่อ เพราะพระนิพพาน ไม่ได้ใส่ชื่อลือนามให้ท่านผู้ใดเลย และก็ไม่สำคัญตัวว่าเป็นพระนิพพานด้วย จึงเรียกว่าพระนิพพานทรงไว้ซึ่งพระนิพพาน ธรรมอันนี้เป็นธรรมอันละเอียด และเป็นธรรมสันทิฏฐิโกสุดท้ายของพระพุทธศาสนาละเอียดมาก
จะเอาโลภและสังขารไปเทียบย่อมไม่ได้ ก็มอบไว้ให้แก่เจ้าตัวแต่ละรายจะรู้ตามเป็นจริง พระบรมศาสดา จึงยืนยันว่าเรารู้พระนิพพานตามเป็นจริงของพระนิพพาน แต่เราไม่ติดอยู่ในพระนิพพานเรารู้สังขารตามเป็นจริงของสังขารแต่เราไม่ติดอยู่ในสังขาร ถ้าเราติดอยู่ในสังขารก็ดี ติดอยู่ในพระนิพพานก็ดีก็เท่ากับว่าเราไม่รู้สังขารไม่รู้พระนิพพาน
นกบินในอากาศวันยันค่ำก็ไม่มีรอยใช่หรือไม่ มีดเฉือนน้ำในที่ใดๆ วันยันค่ำก็ไม่มีรอยใช่หรือไม่ มีปัญหาว่าท่านผู้พ้นไปแล้วท่านรักษาจิตหรือไม่ ท่านเกรงความผิดหรือไม่ ขอตอบว่า ถ้าพระอรหันต์ยังรักษาจิตอยู่พระอรหันต์ก็ต้องเป็นทุกข์ใช่ไหม เพราะเกรงว่ามันจะผิดก็ต้องระวังจิตอยู่เหมือนคนคุมนักโทษ หลวงปู่ก็ต้องตอบบ้าๆ บอๆ ให้ฟัง ดังนี้แหละเพราะหมดหนทางที่จะตอบ
ด้วยเดชพระพุทธศาสนา พวกเราทั้งหลาย (คำว่า "เรา" ตามสมมติ) อย่าได้มาท่องเที่ยวในทะเลหลงนี้อีกเลยทะเลหลงย่นลงมาในปัจจุบันแล้วข้ามก้าวเดียวสั้นๆ ก็พอนี่เป็นบุคคลาธิษฐานถ้าสำคัญว่าตัวข้ามก็ผิด อีกความสำคัญตัวนี่เองมันเป็นมหากิเลสพร้อมทั้งกองพลด้วยเหตุนั้นพระบรมศาสดาจึงผลักทิฏฐิของพระโมฆราชไม่ให้ถามปัญหาก่อนเพื่อนให้ถามทีหลังหมู่
เพราะเหตุว่ามานพ 16 คนที่ไปถามปัญหา พระโมฆราชสำคัญตัวว่าฉลาดกว่าเพื่อน มันเป็นมหาอุปาทานสำคัญตัว ท่านจึงให้ถามถึงครั้งที่ 3 และจึงให้ถามหลังเพื่อนๆทั้งหลายด้วย พระบรมศาสดาก็เทศน์อนัตตาเราดีๆ นี่เอง เพื่อให้โมฆราชไม่สำคัญตัวในอัตตา และอนัตตา สำคัญว่าตนเป็นอัตตา อัตตาเป็นตนก็ไม่ถูก สำคัญว่าอนัตตาเป็นตนๆ เป็นอนัตตาก็ไม่ถูกอีก เพราะมันยังมีอุปาทานอันละเอียดอยู่ เหตุฉะนั้น พระอนาคามี ติดอยู่ในมานะ 9 มานะ 9 ข้อนั้นก็คือสำคัญตัวอันละเอียดนั้นเอง

17. กระผมเป็นพระบวชใหม่ กระผมอยากจะให้หลวงปู่ช่วยแนะนำกระผม คือว่าพระบวชใหม่ทำ
อย่างไรจิตจึงจะไม่คิดวกวน กระผมพยายามทำนั่งภาวนาหลวงปู่คงทราบดีนะครับว่าพระบวชใหม่นั้นเป็นอย่างไร กระผมชอบทางปฏิบัติ แต่กระผมก็ขาดการช่วยแนะนำจากผู้รู้ กระผมไม่รู้จะไปอยู่หรือไปหาอาจารย์ที่ไหน กระผมยังอยากอยู่ให้นานๆ เท่าที่จะนานได้ครับปู่ กระผมขอให้หลวงปู่โปรดช่วยแนะนำผมด้วย
คำตอบ
การอบรมพระภิกษุใหม่นั้น พระภิกษุใหม่ก็ต้องรู้จักข้อวัตรของตนเองก่อน และรู้จักอันตรายของภิกษุใหม่ คือ
1. อดทนต่อคำสั่งสอนไม่ได้ เบื่อต่อคำสั่งสอนขี้เกียจทำตาม
2. เป็นคนเห็นแก่ปากแก่ท้อง ทนความอดอยากไม่ได้
3. เพลิดเพลินในกามคุณ ทะยานอยากได้สุขยิ่งๆ ขึ้นไป
4. รักผู้หญิง

ภิกษุสามเณรผู้หวังความเจริญแก่ตน อย่าให้อันตราย 4 อย่างนี้ย่ำยีได้ ต่อไปนี้องค์แห่งภิกษุใหม่ 5 อย่าง
1. สำรวมในพระปาฏิโมกข์ เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้ามทำตามข้อที่พระองค์อนุญาต
2. สำรวมอินทรีย์ 6 คือระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้ายในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้ธัมมารมณ์ด้วยใจ
3. เป็นคนไม่เอิกเกริกเฮฮา
4. อยู่ในเสนาสนะอันสงัด
5. มีความเห็นชอบว่าบาปมี บุญมี มรรค ผล นิพพานมี
ภิกษุใหม่ควรตั้งอยู่ในธรรม 5 อย่างนี้ นอกจากนี้แล้วจงทำข้อวัตรให้ตรงต่อเวลาของกติกาในสำนักนั้น ส่วนด้านภาวนาส่วนตัว เหมาะเวลาใดให้ทำเวลานั้น คือบริกรรมภาวนาเช่นบริกรรม "พุทโธ" เป็นต้น อย่าสงสัยว่าธัมโม สังโฆอยู่ที่อื่นก็อยู่ด้วยกันนั่นเอง แม้ 84,000 พระธรรมขันธ์ก็เช่นกัน
อนึ่ง เวลาเรากราบไหว้ครั้งที่ 1 ว่าพุทโธ อยู่ในใจ ครั้งที่ 2 ว่าธัมโม ครั้งที่ 3 ว่าสังโฆ แล้วยกขึ้นใส่หัวว่านิพพานนัง นี้หมายความว่าไหว้ย่อ ถ้าไหว้พิศดารก็แล้วแต่จะเห็นสม และขอให้เข้าใจว่า เราไหว้ย่อนี้ครบ 84,000 พระธรรมขันธ์แล้ว เพราะสามารถขยายออกรวมกันได้ เหมือนเราเอากำปั้นตีดินลงตูมเดียว ก็ให้เข้าใจว่า ดิน น้ำ ไฟ ลม อยู่ที่ไหน ตีถูกหมดแล้ว ดังนี้เป็นต้น เพราะหัดให้ปัญญาแตกฉานในธรรมะ และวินัยอยู่ในตัว
จะอย่างไรก็ตามขอให้มีศรัทธาเชื่อในพระพุทธศาสนา พระธรรม พระสงฆ์ เป็นหลักอยู่
ที่หัวใจไม่ต้องสงสัยเลย เมื่อความเชื่อป็นหลักอยู่ในหัวใจแล้ว สิ่งอื่นๆ ก็ย่อมเป็นไปเอง ในวงศ์ของพระพุทธศาสนา ถ้าความเชื่อไม่มีในหัวใจเป็นหลักแล้วสิ่งอื่นๆ ก็ถือว่าเป็นของเหลือวิสัยไปหมด การฝนทั่งให้เป็นเข็มก็ให้ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่เหลือวิสัย...ดังนี้เป็นต้น ถ้าไม่อย่างนี้แล้วก็ถอยศรัทธาหมด
และการภาวนาก็ให้บริกรรมติดต่ออยู่ทั้ง ยืน เดิน นั่ง นอน จะรวมหรือไม่รวมก็ไม่ต้องหากินทางคัดค้าน คำว่า "บริกรรม" คือกำกับอยู่กับภาวนานั่นเอง ถ้าบริกรรมไม่พอมันก็ไม่ลง ถ้าบริกรรมพอมันลงเอง ไม่ต้องบังคับดอก เมื่อมันลงรวมเป็นหนึ่งแล้วก็หยุดบริกรรมซะ ปล่อยให้มันพักอยู่นั่นเอง ถ้าไปเห็นสิ่งใดเป็นของแปลก หรือไม่แปลกก็ดี เป็นของน่ากลัวหรือน่าชอบก็ดี อย่าไปพะวงกับมันวางเฉยซะ ถ้านึกกลัวก็ให้คว้ากรรมฐานมาภาวนาอีก...อย่างนี้เสมอๆ ให้มันเห็นคุณในชั้นนี้เสียก่อน อย่าได้โลภไปในนโยบายอันอื่นเลย
ส่วนข้อวัตรของพระอาจารย์อันเป็นของประจำวันนั้น ก็ทำเท่าที่ท่านทรงอนุญาตส่วนข้อวัตรส่วนรวม เช่นกวาดลานวัด เสนาสนะ เหล่านี้เป็นต้น ถึงเวลาก็ต้องไม่ดูดาย ต้องทำ มิฉะนั้นแล้วสมาธิ สมาบัติไม่เจริญ เอาท่านี้ก่อน ถ้าจะพูดไปมากผู้บวชใหม่ก็จะระอา แต่อาบัติปาราชิก 4 และสังฆาทิเสสนั้นเป็นอาบัติที่สำคัญมาก ผู้เป็นอาจารย์ต้องสอนให้รู้ให้ชัดทั้งคุณ และโทษนั้นๆ ด้วย จึงขอย่อจบเพียงนี้ก่อน
ส่วนเทปก็ส่งมาพร้อมนี้ จะเหมาะหรือไม่เหมาะนั้นผมก็รับรองไม่ได้ เพราะมีผู้มาขอไปมาก และผมเองก็ไม่สำคัญตัวว่าเป็นนักเทศน์นักธรรมะอะไรเลย แต่เมื่อมีสิ่งมาเกยมาพาดก็ทำไปแบบบ้าๆ บอๆ ตามประสาตนเท่านั้น ส่วนจะดีหรือไม่ดีก็มอบให้เป็นเรื่องท่านผู้อื่นตัดสินเอา ตนจะตัดสินเอาเองก็เข้าข้างกิเลสของตนไปโดยไม่รู้ตัว

ป.ล. การนั่งขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบ หรือนั่งห้อยเท้า หรือยืน เดิน ก็แล้วแต่เห็นสม ส่วนนอนนั้น ก็นอนตะแคงข้างขวา หรือจะหงาย หรือจะทางซ้ายก็แล้วแต่สะดวก เมื่อไม่หลับเพียงใดก็นึกบริกรรมภาวนาเพียงนั้น ถ้าหลับไปแล้วก็เป็นเรื่องของหลับไปซะ วันหนึ่งคืนหนึ่งคิดเฉลี่ยรวมกันหลับ 4 ช.ม. พอแล้ว การฉันอาหารถ้ายังอีก 4-5 คำ แล้วจะอิ่มก็ให้ดื่มน้ำซะ เรียกว่าฉันพอดี และเรียกว่าหลับพอดี นึกในใจว่า ไม่เห็นแก่หลับมากนัก และไม่เห็นแก่ฉันมากนัก นี้เรียกว่าปฏิบัติไม่ผิด




 

Create Date : 30 มีนาคม 2550
7 comments
Last Update : 30 มีนาคม 2550 16:14:32 น.
Counter : 866 Pageviews.

 

ขออนุญาตแอดบล็อคนะคะ
จะได้มาอ่านธรรมะอีกวันหลังค่ะ

 

โดย: Hobbit 30 มีนาคม 2550 20:18:34 น.  

 

ฮาโหล สาระมากๆ เดี๋ยวมาอ่านต่อนะค่ะ

 

โดย: tanoy~ตะนอย 30 มีนาคม 2550 22:33:24 น.  

 

 

โดย: นัด IP: 125.26.203.21 26 กุมภาพันธ์ 2551 11:25:14 น.  

 

 

โดย: แพน IP: 125.26.203.21 26 กุมภาพันธ์ 2551 11:26:49 น.  

 

 

โดย: ปราโมทย์ IP: 125.26.203.21 26 กุมภาพันธ์ 2551 11:28:18 น.  

 

รัก....นะด

 

โดย: นัด IP: 125.26.203.21 26 กุมภาพันธ์ 2551 11:31:50 น.  

 

ใจร้ายจัง ทำไมไม่ให้ copy ฮือๆๆๆ

 

โดย: เรือใบ IP: 203.154.86.170 12 กันยายน 2551 14:16:54 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


psak28
Location :
ภูเก็ต Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]





คนเราเกิดมาจากเหตุปัจจัยจากกรรมที่เราสร้างขึ้น และด้วยอนุสัยที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีตกาล ย่อมมีความสุข และความทุกข์เป็นธรรมดา เราก็แค่เป็นเพียงผู้ดูสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น เปรียบเสมือนการดูละคร ดูแล้วก็ผ่านไป ไม่ต้องไปยึดติดกับมัน เคยสงสัยเหมือนกันว่าคนเราเกิดมาทำไมกัน แล้วทำไมคนเราจึงไม่เหมือนกันเลย ทั้งรูปร่าง หน้าตา กิริยา และการดำเนินชีวิต ที่กล่าวมาล้วนมีกรรมสรรสร้างให้เป็นอย่างนั้น หน้าที่ของเราก็คือ ละเว้นความชั่ว ทำความดีให้ถึงพร้อม และทำจิตใจให้ขาวรอบ


อันนี้ลองดูนะครับ หากใครสนใจหวยหุ้น หวยรัฐบาล นี่ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งครับ ได้มากกว่า ^_^



อันนี้น่าสนใจดีครับ จุ๊บลมยางที่สามารถบอกเราได้ว่าลมยางตอนนี้เป็นเท่าไหร่ และเตือนเราในกรณีลมยางอ่อนได้ ลองดูกันนะครับ




: Users Online

Friends' blogs
[Add psak28's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.