ตุลาคม 2550

 
1
2
3
4
5
6
7
8
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
จากแรงมาเป็นรวง ?



ดอยผาแดง ยืนโดดเด่นอยู่เบื้องหลังของท้องทุ่ง เป็นฉากให้มีหมู่เมฆหมอกลอยเคลียคลอ อยู่หน้าภูผาสูง แสงแดดอ่อนๆในยามเช้า เริ่มปลดปล่อย เปล่งลำแสงออกมา แต่มันต้องถูกบัดบังแสงจากหมู่หมอกเมฆ



ทุ่งท้องนาในยามนี้ เต็มไปด้วยนาข้าว ที่สอดสลับสีสันสดสวยงาม ข้าวที่รอคอยการเก็บเกี่ยวที่มีสีเหลืองทอง ยามถูกแสงแดดสาดส่องลงมา ข้าวที่กำลังมาน (ข้าวตั้งท้อง) สีสันล้วนเขียวขุ่นเข้ม บางที่บางแห่ง กำลังชูรวงข้าว ทำให้ท้องนาในยามนี้มีสีสัน ตามแบบธรรมชาติที่แต่งแต้มได้อย่างสวยงาม




<


ภาพนี้ทำให้ผมอดที่จะนึกถึงตอนเด็กๆ เมื่อถึงวิชาศิลปะ ครูให้วาดภาพ ผมมักจะวาดภาพ ภูเขาที่มีพระอาทิตย์ โผล่ออกมาจากภูเขา และมีการเปล่งแสงออกมา (ขีดเป็นเส้นสั้นๆรอบพระอาทิตย์) ท้องฟ้ามีนกบิน เบื้องล่างเป็นทุ่งนาที่กว้างใหญ่ มีคันนารอบๆ ลึกเข้าไปก็จะเป็นต้มไม้หลายๆต้นอยู่ปลายทุ่งนา มีกระท่อมเล็กๆอยู่ด้านหน้าแม่น้ำไหลผ่านหน้าบ้าน มีหอย ปลา กุ้ง อยู่ในน้ำ ที่ใสสะอาด และ อื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบย่อย (จำไม่ค่อยได้แล้ว)







ผมทบทวนถึงจินตนาการในวัยเด็ก เป็นจินตนาการที่งดงาม และเป็นภาพที่ฝังลึกในจิตใจผมตลอดมา ซึ่งล้วนแล้วได้ถูกซึมซับจากภาพที่เราเห็นและได้สัมผัส ท้องทุ่งนาเหนือหมู่บ้าน ที่มีภูเขาเป็นฉากหลัง มีนาข้าวเป็นองค์ประกอบที่สวยงาม มีแม่น้ำไหลผ่าน มีบ้านมีครอบครัวที่อบอุ่น คงมีหลายคนที่เคยได้วาดรูปเหมือนกับผมหรือต่างจากผม (ไม่รู้ว่าตอนนี้ถ้าผมเป็นเด็กผมจะวาดรูปอะไรหนอ ? หรือว่าอาจจะวาดรูปคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ห้างสรรพสินค้า ตึกสูงๆ รถยนต์ หรือว่า ภาพดาราเกาหลีในดวงใจ ??? )



ในวันนี้เป็นวันที่ท้องฟ้ารู้เห็นเป็นใจ ท้องฟ้าปลอดโปร่ง หมู่เมฆหม่นลอยเคว้งอยู่เหนือยอดภู การเกี่ยวข้าวของผมจึงได้เริ่มขึ้นในวันนี้ ซึ่งผมตั้งใจลางาน เพื่อที่จะมาเกี่ยวข้าวโดยเฉพาะ หลังจากที่ไม่ได้จับเคียวมานานหลายปี เพราะมัวแต่จับปากกา และจับอย่างอื่น





ผมจำได้ว่า ไม่ได้เกี่ยวข้าวมาประมาณ 4 ปีแล้ว ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ได้ผมต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำนาข้าวทุกครั้งไป ไม่มีปีไหนเลยที่ไม่ได้ลงนา เริ่มตั้งแต่ไถนาช่วยพ่อ ถอนกล้า ปลูกข้าว ไล่นก เกี่ยวข้าว ตีข้าว(นวดข้าว) ขนข้าวขึ้นหลอง(ยุ้งฉาง) แล้วทำไมผมจึงต้องเหินห่างท้องนาไปนาน ???






จึงทำให้นึกถึงเมื่อเก่าก่อน ช่วงการเกี่ยวข้าว ก่อนที่จะเกี่ยวมีการหาฤกษ์งามยามดี วันดีวันเสีย ก่อนที่จะลงมือเกี่ยวข้าว เมื่อก่อนจะมีการเอามื้อเอาวัน (ลงแขก) บรรยากาศของท้องทุ่งในยามนั้นจะครึกครื้นเป็นพิเศษ เพราะคนส่วนใหญ่จะอยู่ในท้องนา ช่วยกันเกี่ยวข้าว เอามื้อ เอาแรงกัน เสียงคมเคียวที่กรีดลงยังกอข้าว เสียงหยอกล้อ เสียงแซวกันของหนุ่มสาว เสียงหัวเราะ เสียงบ่นพรึมพรำ ที่ขาดไม่ได้คือเสียงนินทา ยามเย็นยินเสียงเคาะขวด เคาะชาม ปนมากับเสียงเพลงที่เปล่งออกจากหัวใจ ที่กู่ร้องทั่วท้องทุ่ง





การทำงานในท้องนา ไม่ได้เลิกทำงาน 5 โมงเย็น เหมือนพนักงานต่างๆ ข้าราชการโดยทั่วไป ส่วนใหญ่จะเลิกงานก็ต่อเมื่องานนั้นลุล่วงไปด้วยดีแล้ว บางครั้งก็ค่ำมืดยังทำงานก็มี โดยอาศัยแสงจันทร์ยามค่ำคืน ช่วยส่องนำทาง (น้ำใจ)





การแบ่งปัน ความเข้าใจกัน เอื้ออารีต่อกัน ความรักความสามัคคี จึงก่อเกิดขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งพากระบวนการภายนอก ที่หลายฝ่ายกำลังทำให้ชุมชนนั้นเกิดสิ่งต่างๆเหล่านี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นด้วยตัวของมันเองโดยไม่รู้ตัว เป็นสิ่งที่งดงาม ที่อยู่บนฐานของความหลากหลาย สอดคล้อง กลมกลืน วิถีแห่งความเรียบง่าย








เสียงคมเคียว ที่เกี่ยวกอข้าว ดังขึ้นพรึบพรับ ผู้หญิงสาวคนหนึ่งกำกอข้าวในมือบรรจงวางลงเบาๆ เป็นแถวเรียงยาวตามหลังมา หญิงแก่อีกคน แหงนหน้ามองขึ้นไปบนท้องฟ้า และหลิ่วตาเมื่อปะทะกับแสงแดดร้อน ใช้แขนเสื้อปาดเช็ดเหงื่อที่อยู่ตามใบหน้าเต็มไปด้วยเหงื่อไคล ที่ผุดออกมาจากผิว ก่อนที่จะก้มลงเกี่ยวข้าวต่อไป





เสียงชายคนหนึ่งเริ่มบ่นขึ้นว่า “ ข้าวนาเจ้านี้เกี่ยวยากแต้” เนื่องจากกอข้าวถูกกระแสลมพัดให้ไปนอนกับพื้นนา (ข้าวต้าว) ทำให้ลำบากในการเกี่ยวและเสียเวลาเป็นอย่างมาก จึงเป็นที่ไม่ค่อยชอบสำหรับผู้ที่รับจ้างเหมาเกี่ยวข้าว ถ้าเจอข้าวที่ต้มล้มมากๆ ก็จะมีการต่อรอง จากที่เคยได้ไร่ละ 500 บาท ก็อาจจะเพิ่มเป็นเหล้าขาว เบียร์ น้ำอัดลมเย็นๆ ขนมต่างๆ เอาไว้สู่กันกินในตอนเย็น








วันทั้งวันแทบที่จะไม่ได้ยินเสียงการพูดคุยกันเลย เพราะทุกคนมัวแต่เร่งรีบกับการเกี่ยวข้าวให้เสร็จเร็วๆ จะทำให้คุ้มค่าแรงที่รับเหมามา ไม่เหมือนกันกับการเอามื้อเอาแรงที่ไม่ต้องรีบร้อน คุยกันไป พักไปในตัว ทำให้ไม่เหนื่อยมากเหมือนกับการรับเหมาแบบนี้





ผมนิ่งเงียบฟังเสียงคมเคียว ในขณะที่มือขวาจับด้ามเคียว มือซ้ายกำกอข้าว เกี่ยวข้าวไปเรื่อยๆ วางฟ่อมข้าว (กอข้าว) ด้วยความระมัดระวัง เป็นแถวยาวตามหลังมา เพื่อผึ่งแดดให้ข้าวแห้งถึงจะนำไปนวด ต่อไป พยายามไม่ให้รวงข้าวที่มีเม็ดข้าวร่วงหล่นลงดิน การเกี่ยวจะเกี่ยวเรียงกันเป็นหน้ากระดานเรียงหนึ่ง จนถึงสุดขอบแดนแล้ววกกลับมาอีกจนกว่าจะเสร็จ





แมลงปอหลายตัวโบกบินอยู่รอบๆ ตวัดปีกบินเล่นลม บางตัวเกาะนิ่งอยู่กับต้นข้าว ตั๊กแตนตัวสีเขียวลายเหลือขาว กระโดดไปมา ตามกอข้าว จากกอนั้นไปกอนี้ สายลมยามเย็นพัดโชยมา ทำให้หุ่นไล่กา ที่ทำขึ้นเอง เริ่มขยับทำหน้าที่ไล่นกที่มากินข้าวในนา นกบางตัวไม่กลัวหุ่นไล่กา ยังบินโฉบลงไปตามกอข้าวอยู่เนืองๆ น้ำในลำเหมืองยังคงไหลรินไปตามทาง เพราะยังบางรายต้องการน้ำเข้านาข้าวหรือทำการเกษตรอย่างอื่น





ดวงอาทิตย์เริ่มลดแสงลง ผมเฝ้ามองเม็ดข้าวที่ร่วงหล่นบนผืนดิน กว่าจะได้ข้าวแต่ละเม็ดต้องใช้ความอดทน ความมุ่งมั่น และความตั้งใจเป็นอย่างยิ่ง ไม่รู้ว่าหยาดเหงื่อกี่หยด ที่หลั่งพรั่งพรูออกมา ราดรดลงผืนนาผืนนี้สักกี่หยาด ผมนึกขึ้นในใจ จนทำให้นึกถึงบทเพลง คาราวาน เพลงหนึ่งขึ้นมา





เปิบข้าวทุกคราวคำ
จงสูจำเป็นอาจิณ
เหงื่อกูที่สูกิน
จึงก่อเกิดมาเป็นคน

ข้าวนี้น่ะมีรส
ให้ชนชิมทุกชั้นชน
เบื้องหลังซิทุกข์ทน
และขมขื่นจนเขียวคาว


จากแรงมาเป็นรวง
ระยะทางนั้นเหยียดยาว
จากรวงเป็นเม็ดพราว
ล้วนทุกข์ยากลำเค็ญเข็น

เหงื่อหยดสักกี่หยาด
ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
ปูดโปนกี่เส้นเอ็น
จึงแปรรวงมาเปิบกิน

น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง
และน้ำแรงอันหลั่งริน
สายเลือดกูทั้งสิ้น
ที่สูซดกำซาบฟัน





ท้องทุ่งในวันนี้ช่างเงียบเหงา ถึงแม้จะมีผู้คนมาช่วยผมเกี่ยวข้าว แต่เป็นคนที่ไม่รู้จักเลยซักคน เสียงต่างๆที่คุ้นเคย ก็เงียบขาดหายไป เพราะอะไร ?





Create Date : 09 ตุลาคม 2550
Last Update : 14 พฤศจิกายน 2550 7:06:38 น.
Counter : 9358 Pageviews.

15 comments
  
..เปิบข้าวทุกคราวคำ
..จงสูจำเป็นอาจิณ
..เหงื่อกูที่สูกิน
..จึงก่อเกิดมาเป็นคน
ทำให้คิดถึงนักสู้..และนักเขียน..นาม จิตร ภูมิศักดิ์
ผู้เห็นความเหนื่อยยากของชาวนา...อย่างแท้จริง
โดย: ใบเลี้ยงเดี่ยว วันที่: 9 ตุลาคม 2550 เวลา:14:29:15 น.
  
ภาพสวยจริง ๆ คะ วัยเยาว์พี่ก็เคยมาทุ่งนา เป็นความประทับใจมที่เล่าได้ไม่รู้จบ

มีความสุขที่ได้คิดถึงข้าวที่แม่ปลูกเอง
กินข้าวอีกกี่จานก็ไม่เหมือน จริง ๆ

ช่วงนี้บ้านพี่ไม่ได้ทำนาแล้ว ที่นาถูกขายไปก่อนที่พี่จะจบ
ชั้นมัธยม

ดีใจที่ได้พบค่ะ "ดอกเสี้ยวขาว"
โดย: แพรจารุ วันที่: 9 ตุลาคม 2550 เวลา:23:13:54 น.
  
ทุกอย่างใน blog ยืมไปแล้วไม่รับคืนเน่อเจ้า อิอิ

เข้ามาอ่านเรื่องราวทำให้นึกถึงสมัยยังเล็กเลยค่ะ ครอบครัวเราก็เกี่ยวข้าว เราไปเล่นน้ำกับน้องด้วย แต่ไม่ได้เกี่ยวเพราะเล็กมากๆ ตอนนี้นาหายไปแล้วล่ะค่ะ คุณตาเค้าขายไปพร้อมๆกับผืนนาคนอื่น คิดแล้วไม่น่าเชื่อนะคะว่าเราเองก็เป็นลูกชาวนาเหมือนกัน
โดย: ThaiSpicy (thaispicy ) วันที่: 10 ตุลาคม 2550 เวลา:9:44:53 น.
  
ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาครับ
ที่นาหลายคน อาจถูกขายไปด้วยความจำเป็น
แต่ถึงอย่างไรผมก็จะไม่ปล่อยให้ผืนนาแผ่นนี้หลุดหายไป
ถึงแม้โฉนดจะอยู่ที่ ธกส.ก็ตาม
เพราะมันคือชีวิตของผมครับ
ด้วยความพยายาม
โดย: ดอกเสี้ยวขาว IP: 203.150.134.125 วันที่: 10 ตุลาคม 2550 เวลา:17:27:06 น.
  
"พลวัตการปรับตัวของสังคมชาวนาในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ปิง" ก็น่าท้าทายมิใช่น้อยในการศึกษา เพื่อที่จะอธิบายการปรับตัวและการดำรงอยู่ของโครงสร้างการผลิตในสังคมชนบทที่ถูกกระแสการพัฒนาเข้ามากำกับและเข้ามามีบทบาทต่อการจัดการ คบคุมบริบทของสังคมชาวนา ไม่ว่าจะเป็นการจัดการระบบน้ำและเหมืองฝายของชาวบ้าน การเปลี่ยนแปลง พันธูกรรมของเมล็ดพันธ์ข้าวจากดั้งเดิมเป็นกข การส่งเสริมการเกษตรของหน่วยงานราชการที่มีกลุ่มธุรกิจคอยสนับสนุนอยู่อย่างลับๆ ระบบหนี้สินจากธกส.หรือแม้แต่หนี้นอกระบบ รวมถึงระบบการเอามื้อ การลงแขกที่เปลี่ยนแปลงไป แม้แต่บทบาทขององค์กรแกครองท้องถิ่นต่อแนวทางที่ส่งผลต่อสังคมชาวนา
ประเด็นต่างเหล่านี้น่าท้าทายอย่างมากต่อการการศึกษาเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
ลองเอาไปพูดคุยถกเถียงกันดูนะครับ
jintavaree
Matalino st, Metro Manila
โดย: jintavaree IP: 125.60.241.175 วันที่: 10 ตุลาคม 2550 เวลา:20:53:05 น.
  
ดอกเสี้ยวขาวฯ
งามทั้งเรื่องราว และภาพของทุ่งข้าว ชีวิตชาวนามากค่ะ
จากแรงมาเป็นรวง..ยังสัมผัสใจใครต่อใครได้เสมอ
โดย: ยิปซีสีน้ำเงิน วันที่: 11 ตุลาคม 2550 เวลา:7:57:24 น.
  
ล่าสุด, เพิ่งไปนั่งพูดคุยกันกับ อ.อรรถจักร์ เรื่องความเปลี่ยนของสังคมชนบท

น้าบอกแกว่า สิ้นปีเตรียมกลับไปอยู่บ้าน ไปฟื้นฟูท้องถิ่นที่กำลังล่มสลายดีกว่า

แกบอกว่า น่าสนใจ และชวนทำงาน ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นร่วมกับแก "เอาเรื่องแถวบ้านนั่นแหละ"

สนใจร่วมงานด้วยกันมั้ย...
โดย: pu_chiangdao วันที่: 12 ตุลาคม 2550 เวลา:11:59:57 น.
  
น่าสนใจมาก
ผมจะลองเตรียมข้อมูลบางไว้รอ
ตอนนี้ผมอยากจะทำงานวิจัยชิ้นเล็กๆ
เพื่อที่จะอธิบายการปรับตัวและการดำรงอยู่ของโครงสร้างการผลิตในสังคมชนบทที่ถูกกระแสการพัฒนาเข้ามากำกับและเข้ามามีบทบาทต่อการจัดการ คบคุมบริบทของสังคมชาวนา ไม่ว่าจะเป็นการจัดการระบบน้ำและเหมืองฝายของชาวบ้าน การเปลี่ยนแปลง พันธูกรรมของเมล็ดพันธ์ข้าวจากดั้งเดิมเป็นกข การส่งเสริมการเกษตรของหน่วยงานราชการที่มีกลุ่มธุรกิจคอยสนับสนุนอยู่อย่างลับๆ ระบบหนี้สินจากธกส.หรือแม้แต่หนี้นอกระบบ รวมถึงระบบการเอามื้อ การลงแขกที่เปลี่ยนแปลงไป แม้แต่บทบาทขององค์กรแกครองท้องถิ่นต่อแนวทางที่ส่งผลต่อสังคมชาวนา ที่อ้ายโอฬารตั้งโจทย์ไว้ น่าสนมากครับ
โดย: ดอกเสี้ยวขาว IP: 203.150.136.188 วันที่: 12 ตุลาคม 2550 เวลา:14:19:50 น.
  
งดงามในถ้อยคำและเนื้อหาค่ะ
ขอมานั่งฟังเสียงกระซิบจากรวงข้าวด้วยคนนะคะ

ดิฉันเห็นชื่อคุณในบล็อกของคุณภูเชียงดาว
ความที่ชอบเสี้ยวดอกขาว
เลยตามมาค่ะ
โดย: สเลเต วันที่: 13 ตุลาคม 2550 เวลา:12:02:04 น.
  
สะท้อน ย้อนยุค
บ่าวสาว มีความสุข
ตกแลง เสียงโห่ร้อง
ต่างกันแค่ไหน ในยุคนี้
ความเอื้อเฟื้ออยู่ไหน
นึกแล้วใจหาย หายไปกับสิ่งใด
จะคืนสู่ได้อย่างไร ?
โดย: ดอกแกป่า (ห้วยเป้า) IP: 203.172.199.254 วันที่: 13 ตุลาคม 2550 เวลา:14:55:11 น.
  
ด้วยจิตคาราวะ
โดย: jintavaree IP: 125.60.241.175 วันที่: 14 ตุลาคม 2550 เวลา:14:38:41 น.
  
สวัสดีครับ
อ่านแล้วคิดถึงชีวิตในวัยเด็กจริงๆ ครับ
อันที่จริงผมเพิ่งช่วยพี่น้องไตปักดำนาที่ลุ่มน้ำปิงเมื่อต้นเดือนที่แล้วนี่เอง หลังจากไม่ได้เหยียบโคลนในนาข้าวกว่า 10 ปี
และเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ผมก็ได้ไปช่วยพี่น้องคนเมืองปลูกข้าวไร่ใกล้ๆ ถ้ำเชียงดาว ซึ่งตอนนี้ก็ทยอยเกี่ยวไปแล้วเป็นบางส่วนครับ
ผมได้ตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับท้องนา ความสำคัญของความหลากหลายของพันธุกรรมพื้นบ้าน รวมถึงความหลากหลายของภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่กำลังโดนกระแสการพัฒนาและทุนนิยมดูดกลืนไปอย่างลึกซึ้ง รวดเร็ว และ...หื่นกระหาย
เราจะทำอย่างไรจึงจะยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง เด็ดเดี่ยว ท่ามกลางกระแสทุนนิยมที่กำลังบ่อนเซาะความเป็นมนุษย์และความเข้มแข็งของสังคม....

ตุลานี้ ลมหนาวพัดมาอีกแล้ว....

ลมพัดหวิว พลิ้วหวีด กรีดสำนึก
ความรู้สึก ปวดปร่า มาอีกหน
เหมือนผ้าผวย หม่นบางแบบ แนบกายตน
ต้องฝืนทน กับลมหนาว อย่างร้าวราน...
โดย: RoiYim IP: 203.151.241.17 วันที่: 16 ตุลาคม 2550 เวลา:12:04:48 น.
  
สวัสดีค่ะ

เห็นภาพแล้วทำให้คิดถึงบ้านจังเลยค่ะ
ตอนนี้กลับมาที่พเยาแล้วค่ะ
ก็เปิดเทอมแล้วนิค่ะ ต้องกลับมาเรียนแล้ว
เทอมนี้กิจกรรมเยอะมาก มียาวเป็นห่างวาวเลยค่ะ

แล้วก็ทำให้อยากเล่ยว่าวขึ้นมาชะอย่างงั้น
ทุกๆปีพอเกี่ยวข้าวเสร็จก็จะมีกองฟางกองโตๆให้เล่น
พอลมหนาวพัดมาก็จะให้ตาทำว่าวให้เล่น พอว่าวติดลมแล้วก็จะเอามัดทิ้งไว้กลางทุ่งนั้นแหละ
จะเอาลงมาก็เสียดาย กลัวว่ามันจะไม่ยอมขึ้นอีก
พอตื่นเช้ามาดู ว่าวหายไปไหนแล้วก็ไม่รู้
ไปอ้อนให้ตาทำให้อีก ก็จะโดนดุว่าทำไมไม่รู้จักรักษา
เล่นแล้วก็ต้องเก็บ แต่ในที่สุดก็ได้ว่าวตัวใหม่ม่สมใจ
โดย: เบญจวรรณ IP: 61.7.231.130 วันที่: 16 ตุลาคม 2550 เวลา:13:57:18 น.
  
สวัสดีค่ะ

ภาพในกล่องคอมเม้นสวยจังค่ะ
เป็นถาพแถวๆไหนหรือค่ะ
ต้นข้าวเนียไม่ว่าจะมองด้วยตาเปล่าของเราเอง
หรือมองผ่านมุมกล้อง ดูยังไงๆก็สวยนะค่ะ ว่าหรือเปล่าค่ะ
โดย: เบญจวรรณ (lukkongpoka ) วันที่: 20 ตุลาคม 2550 เวลา:18:03:43 น.
  
สวัดดีครับคุณเบญจวรรณ
ภาพที่เห็นเป็นภาพที่ถ่าย
บริเวดอยหลวงเชียงดาวครับ
โดย: ดอกเสี้ยวขาว วันที่: 22 ตุลาคม 2550 เวลา:9:20:11 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ดอกเสี้ยวขาว
Location :
เชียงใหม่  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]



.....ร้อยพันคำ แฝงฝัง.....

.....อยู่ในความเงียบ.....

.....บนหน้าผา ผาสูงชัน.....

.....ใต้แสงตะวัน.....

.....มีเงาตะวัน.....

.....ความฝันของเธอ ....

.....เหมือนใจของเธอ.....

.......................................................
เพลงดอกเสี้ยวบนไหล่ดอยหลวงเชียงดาว
โดย คุณสุวิชานนท์ รัตนภิมล
อัลบั้มเพลงรักเชียงดาว
โค๊ดเพลง โดย คุณแพรจารุ