PINK PANDA
<<
สิงหาคม 2550
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
20 สิงหาคม 2550
 
 
บริหารการบริโภคเชิงพุทธ

สรุปประเด็น
ชีวิตมนุษย์นั้นมีการบริโภคทางอายตนะทั้ง 6 เพื่อตอบสนองต่อกิเลสตัณหา การบริโภคนั้นมีทั้งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต แต่บางอย่างก็ทำเพื่อความโก้เก๋ฟุ่มเฟือย การหาสิ่งของและบริการมาใช้บริโภคนั้นมีทั้งได้มาฟรีและการใช้เงินหรือแรงงานแลกมา การบริโภคอย่างไรจึงจะถูกต้องเหมาะสม นั้นต้องพิจารณาตามหลักธรรมะ

บทคัดย่อ
ในชีวิตมนุษย์จะเกี่ยวข้องกับการบริโภคทุกวันที่ยังมีชีวิตอยู่ วัตถุประสงค์การบริโภคเพื่อความจำเป็นในการดำรงชีวิต เพื่ออำนวยความสะดวก และเพื่อบำบัดความอยากหรือตัณหา
เหตุที่มีการบริโภค เพราะมีความต้องการทางกายและทางใจ ความต้องการบริโภคอาจแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ เป็นปัจจัยในการดำรงชีวิต เป็นปัจจัยในการผลิตและบริการ และเป็นปัจจัยในการผ่อนคลายอารมณ์และความหวัง การบริโภคอาจแบ่งเป็นทางรูปธรรมหรือวัตถุ และทางนามธรรม จับต้องไม่ได้ เช่น ยศตำแหน่ง
ธรรมะในการบริหารการบริโภคเชิงพุทธ มี 8 รู้ ดังนี้ รู้จักอยาก รู้จักประโยชน์ รู้จักหา รู้จักกิน รู้จักใช้ รู้จักเก็บ รู้จักใช้ และรู้จักทิ้ง

1. บทนำ
ในชีวิตประจำวันมีการดำเนินกิจกรรมที่จะหาสิ่งที่จะมาบริโภค สิ่งที่ทำกันบ่อยๆ ก็คือการไปซื้อมาบริโภค บ้างก็ซื้อด้วยความจำเป็น หากมีคนมาถามว่าทำไมจึงซื้อสิ่งนี้ ร้านนี้ ก็อาจจะตอบไม่ค่อยจะถูก เพราะเราไม่ค่อยจะคิดอะไรมากนักก่อนซื้อ
การซื้อเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นช่องทางในการหาปัจจัยในการดำรงชีวิต มีทั้งสิ่งที่จำเป็น สิ่งที่ค่อนข้างจำเป็น และสิ่งฟุ่มเฟือย การซื้อของนั้นต้องพิจารณาไตร่ตรองให้ดี เพราะเป็นทางออกของเงิน เกี่ยวกับเรื่องเงินทองนั้น จะต้องรู้จักหา รู้จักเก็บ รู้จักใช้ และรู้จักให้ การใช้เงินอย่างคุ้มค่าในการซื้อของมาใช้ในการดำรงชีวิต และสร้างความสะดวกสบายในชีวิต ย่อมเป็นสิ่งที่ควรใช้ปัญญา ในการพิจารณาไตร่ตรองด้วย
การบริโภคของมนุษย์นั้น สามารถบริโภคได้ทางอายตนะทั้ง 6 มี (1) ตา บริโภค รูป มี สวย อัปลักษณ์ (2) ลิ้น บริโภครส มี อร่อย จืด หวาน มัน เค็ม เผ็ด และปากบริโภคอาหาร (3) จมูก บริโภคกลิ่น มี หอม เหม็น และอากาศหายใจ (4) หู บริโภคเสียง มีไพเราะ แข็งกระด้าง (5) ร่างกายอันมีประสาทรับรู้ บริโภคสัมผัส มี นุ่ม แข็ง อ่อน และ (6) จิตใจ อันมีสมองรับรู้ บริโภคธัมมารมณ์ หรือรับรู้อารมณ์ที่มากระทบ มี อ่อนโยน หยาบคาย ชอบใจ พอใจ รังเกียจ
การบริโภคของมนุษย์ บางอย่างก็ได้มาฟรี เช่น อากาศหายใจ บางอย่างก็เป็นของสาธารณะ มีให้ใช้ไม่ต้องซื้อหา เช่น ถนน สวนสาธารณะ งานนิทรรศการ บางอย่างก็ต้องซื้อหาแลกเปลี่ยน เช่น อาหาร รถยนต์ บางอย่างก็จัดหาทำขึ้นมาใช้เอง เช่น ปลูกต้นมะม่วงกินผลเอง

2. วัตถุประสงค์ของการบริโภค
วัตถุประสงค์ของการบริโภคนั้น เป็นการตอบสนองความต้องการของตนเอง ซึ่งมี 3 ระดับ ดังนี้
1) เพื่อบำบัดความจำเป็นแห่งการดำรงชีวิต เป็นเรื่องความต้องการที่จำเป็นต้องมี จะขาดเสียมิได้ มิเช่นนั้นจะทำให้เสียชีวิต หรือชีวิตตั้งอยู่มิได้ เช่น อากาศ อาหาร ยารักษาโรค ที่หลับนอน หรืออาจทำให้ร่างกายทนทานต่อภูมิอากาศ ไม่ได้ทำให้เจ็บป่วย อาจถึงตาย เช่น เครื่องนุ่งห่มป้องกันหนาว
2) เพื่อบำบัดความต้องการที่อำนวยความสะดวก การเข้ากันได้ในการอยู่ในสังคม และการประกอบอาชีพ เช่น เสื้อผ้าเครื่องแบบ ยานพาหนะไปทำงาน การศึกษาเล่าเรียน หนังสือเรียน เครื่องมืออุปกรณ์ในการทำมาหากิน สำนักงาน ปัจจัยการผลิต
3) เพื่อบำบัดความอยากหรือตัณหา สร้างความโก้เก๋ เป็นหนึ่งในสังคม อยากมีชื่อเสียงเกียรติยศ ยกย่องจากสังคม เป็นความต้องการที่ฟุ่มเฟือย หรูหรา เป็นการตอบสนองความต้องการทางใจ หากขาดสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ตาย เช่น รถยนต์เบนซ์ (ใช้รถปิกอัพก็ได้) นาฬิกาโรเล็กซ์ (ใช้นาฬิกาไซโก้ก็ได้) น้ำหอมยี่ห้อดังๆ (ใช้น้ำอบไทยก็ได้ ไม่ใช้เลยก็ได้) กระเป๋ายี่ห้อดังๆ ราคาลูกละเป็นหมื่น (ใช้กระเป๋าราคาถูก ราคาไม่ถึงพันบาทก็ได้) คนใช้รอบตัวหลายคนเหมือนบ้านทรายทอง (ทำเองบ้างก็ได้) เครื่องประดับเพชร (เอาแค่ทองคำก็พอ) ซึ่งจะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีก็ไม่ตาย หรือสามารถหาสิ่งอื่นทดแทนในราคาถูกว่า บางที่ที่ถูกกว่า 10 เท่า บางที 100 เท่า บางที 1,000 เท่า สิ่งเหล่านี้เอาไว้เป็นหน้าตาตนเองว่าตนเองเป็นคนระดับสูงได้ ให้คนอื่นเคารพศรัทธายกย่อง เป็นเกียรติยศกับตัวเอง
ในการพิจารณาวัตถุประสงค์ของการบริโภค การจัดหาวัตถุมาบริการ มาตอบสนองตามความจำเป็นนั้น ต้องรีบทำโดยด่วน รอไม่ได้ สำหรับความต้องการนั้นอาจรอได้ แต่อาจตัดทิ้งไม่ค่อยได้มาก สำหรับความอยาก (ตัณหา) นั้น อาจตัดทิ้งได้หมด คนที่ตัดทิ้งไม่ได้นั้น มักจะมีความหลงอยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องสรรเสริญหรือเกียรติยศ แต่ถ้าไปถามเขา เขาก็บอกว่ามันเป็นความจำเป็น เพราะสิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ ใช้เงินบริษัทซื้อ ไม่ใช่เงินตัวเอง เวลากู้ธนาคารมักจะอนุมัติได้ง่าย หากขับรถเบนซ์ไปกู้เงิน

3. เหตุที่มีการบริโภค
ความต้องการของมนุษย์ในการบริโภค จะมาจากความต้องการทางกายและความต้องการทางใจ
ความต้องการทางกายนั้น เป็นไปเพื่อทำให้ชีวิตตั้งอยู่ได้ เป็นประโยชน์ที่แท้จริง ได้แก่ การกิน (เพื่อแลกเปลี่ยนธาตุไปสร้างอวัยวะและเนื้อเยื่อ) การหายใจ (เพื่อเอาอากาศไปฟอกโลหิตให้สะอาด) การขับถ่าย (เพื่อเอาของเสียออกจากร่างกายไปทิ้ง มิเช่นนั้นจะเป็นพิษต่อร่างกาย) การนอน (เพื่อให้สมองพักผ่อน และร่างกายมีเวลาพักผ่อน โดยเฉพาะกล้ามเนื้อ ตลอดจนมีเวลาซ่อมแซมร่างกายได้ดีขึ้น) การกินยา (เพื่อรักษาโรค ฆ่าเชื้อโรค ที่จะมาทำร้ายร่างกายให้อ่อนแอ จนถึงตั้งชีวิตได้ลำบาก) การสวมใส่เสื้อผ้าปกปิดร่างกาย (เพื่อให้ความอบอุ่นร่างกาย และป้องกันการขีดข่วนร่างกาย แมลงกัดต่อย และป้องกันการกระทบสารเคมีสัมผัสโดยตรง)
ความต้องการทางใจนั้นมี 2 ประเภท คือ ความต้องการทางตัณหา (ความอยาก) และความต้องการจากฉันทะ (ความชอบในสิ่งดี)
ความต้องการทางใจด้านตัณหานั้น มี กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา
กามตัณหา เป็นความต้องการอยากลิ้มลอง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธัมมารมณ์ เช่น อยากเห็นรูป เห็นภาพสวย อยากได้กลิ่นหอมๆ น้ำหอมดีๆ ดังๆ อยากได้ยินเสียงไพเราะๆ อยากสัมผัสนุ่มๆ อยากได้รับการเอาอกเอาใจตอบสนองธัมมารมณ์ ใจที่ต้องการคือ อยากเป็นเจ้าของสิ่งนั้น และอยากลิ้มลองบริโภคสิ่งนั้น การบริโภคด้วยกามตัณหานี้มักต้องลงทุนลงแรงและใช้เงินมาก เช่น ภาพศิลป์ราคาแพง รถยนต์คันโก้ เครื่องเสียงอย่างดี เฟอร์นิเจอร์ที่สัมผัสแล้วมันนุ่ม น้ำหอมอย่างดี จะสังเกตว่ากามตัณหานี้สามารถใช้เกรดคุณภาพลดลงได้ เช่น ภาพไม่ต้องสวยมาก รถยนต์ยี่ห้อธรรมดาก็ขับส่งถึงที่หมายเหมือนกัน หรือบางทีก็ตัดออกไม่เอาเลยหรือชะลอออกไปก่อน เวลาจะซื้อจะหา ลองอดใจไว้ ปล่อยไว้อีกเดือนค่อยไปดูใหม่ ทำอย่างนี้ 2-3 ครั้ง อาจจะไม่สนใจจะมีจะใช้บริโภคอีกต่อไปก็ได้ กิเลสที่ส่งเสริมกามตัณหาคือ โลภะ และราคะ
ภวตัณหาเป็นความต้องการอยากมีอยากเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งลาภ (ทรัพย์สินทรัพย์สมบัติ) สักการะ (การที่คนหมู่หนึ่งมากราบไหว้ยกย่องว่าตนเองเก่ง) ยศ (เกียรติยศ ที่เกิดจากการได้รับการแต่งตั้ง) สรรเสริญ (การอยากได้รับคำชื่นชมว่าตัวเองดีตัวเองเก่ง) สุข (ความต้องการรู้สึกสุขใจ) สิ่งเหล่านี้หากตัดใจได้ ก็ไม่ตายอยู่ดี ชีวิตก็ยังมีอยู่ กิเลสที่ส่งเสริมภวตัณหา คือ โลภะ (อยากได้ลาภ) โมหะ (หลงในยศ สรรเสริญ และสุข)
วิภวตัณหา เป็นความไม่ต้องการ ไม่อยากเป็น เช่น เสื่อมลาภ (ทรัพย์สินหมดไป) เสื่อมยศ (หมดยศหลังเกษียณ) นินทา (ความไม่อยากได้ยินใครนินทากล่าวร้าย ไม่ว่าต่อหน้าหรือลับหลัง) ทุกข์ (ความไม่ต้องการรู้สึกทุกข์ ไม่ว่าทุกข์ทายกายหรือทุกข์ทางใจ) สิ่งน่ารังเกียจ (รูปอัปลักษณ์ กลิ่นเหม็น รสขม รสไม่อร่อย เสียงหนวกหู เสียงรำคาญ เสียงไม่ไพเราะ สัมผัสที่แข็งกระด้าง การที่คนไม่สนใจที่จะมาเอาอกเอาใจบริการต้อนรับหรือรับใช้) วิภวตัณหานี้มักไม่ค่อยสำคัญต่อการดำรงชีวิต (ยกเว้นกลิ่นเหม็นที่ใส่ในก๊าสหุงต้มหรือก๊าสพิษ) การทำใจ ตัดใจปลงได้ ก็จะหลุดพ้นแห่งความไม่ต้องการได้ กิเลสที่สนับสนุนตัณหานี้ก็คือ โทสะ (ความไม่พอใจ ความโกรธ การอิจฉาริษยา การอาฆาตมาดร้าย ความรู้สึกหมั่นไส้)
ความต้องการทางใจด้านฉันทะนั้น เป็นความชอบในสิ่งดี เป็นความต้องการที่จะพ้นทุกข์ ต้องการศึกษาจิตใจตนเอง ไม่จำเป็นต้องซื้อหา แต่ต้องลงทุนลงแรงตัวเอง ในเรื่องความอดทน และขยันหมั่นเพียร จนเกิดความรู้จริงแห่งธรรมชาติ ซึ่งสุดท้ายจะบริโภคสุขที่เกิดจากความอิ่มใจ ต่อความสว่าง สะอาด และสงบ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ขั้นสูงสุด
4. ประเภทการบริโภค (บริโภคนิยม)
4.1 ประเภทการบริโภคตามวัตถุและบริการ
มนุษย์มีความต้องการบริโภค จนเกิดเป็นยุคบริโภคนิยม มีการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือย จนทรัพยากรธรรมชาติหร่อยหรออย่างรวดเร็ว ซึ่งตรงกันข้ามกับทางพุทธศาสตร์ที่สอนให้บริโภคอย่างพอเพียงแห่งความจำเป็นของชีวิต (โภชเนมัตตัญญุตา) ให้พิจารณาดูว่าตั้งแต่ทารกจนโตและตายต้องการบริโภคอะไรบ้าง
ความต้องการบริโภคอาจแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
1) ใช้เป็นปัจจัยในการดำรงชีวิต (ปัจจัย 4)
2) ใช้เป็นปัจจัยในการผลิตและบริการ
3) ใช้เป็นปัจจัยผ่อนคลายอารมณ์จิตใจและความหวัง
ปัจจัยในการดำรงชีวิต ให้ชีวิตอยู่ได้ สืบพันธ์ได้ เช่น บ้านเรือนอาศัย มีสามี มีภรรยา น้ำดื่ม น้ำเปล่า อาหารที่จำเป็น ต่อการดำรงชีวิต (อาหารหลัก) ยารักษาโรค อากาศหายใจ ที่นอน เสื้อผ้า ผลไม้
ปัจจัยในการผลิตและบริการ และความจำเป็นพื้นฐานยุคใหม่ เช่น วัตถุดิบ ข้อมูลข่าวสาร คอมพิวเตอร์ อะไหล่ เทคโนโลยี่ เรียนอบรมวิชาชีพ ซื้ออาวุธป้องกันประเทศ นาฬิกา รถยนต์ รถจักรยาน หุ้น โลงศพ ผ้าอ้อม
ปัจจัยผ่อนคลายอารมณ์ จิตใจและความหวัง เช่น ท่องเที่ยว ดูโทรทัศน์ ดูภาพยนต์ ฟังเพลง สะสมพระเครื่อง สะสมแสตมป์ งานอดิเรก ร้องเพลง ทำบุญ กินเลี้ยง ของขบเคี้ยว น้ำอัดลม กินหูฉลาม กินอาหารเสริม เครื่องแต่งตัว ซื้อเสียงสนับสนุน ซื้อตำแหน่ง กระเป๋าราคาแพง ปลูกต้นไม้ ท่องอินเตอร์เน็ต ดูหนังสือพิมพ์ ใช้บริการตัดผม นวดตัว ซื้อหวย ลอตเตอรี่ ของเล่น พิธีกรรม
4.2 ประเภทการบริโภคตามมาสโลว์
มาสโลว์แบ่งความต้องการของมนุษย์ออกเป็น 5 ระดับ
1) ความต้องการพื้นฐาน เช่น ความต้องการพื้นฐานของร่างกายในการดำรงชีวิต เช่น ปัจจัย 4 มีอาหาร ที่อยู่ ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ซึ่งจะต้องจัดซื้อจัดหามา โดยคิดเป็นปัจจัย 4 ระดับพื้นฐาน
2) ความต้องการความปลอดภัยและมั่นคง เราก็อาจจำเป็นต้องซื้อบริการหน่วยรักษาความปลอดภัย (ยาม) การกินยาคุณภาพดี ซื้อกุญแจล็อกอย่างดี ซื้ออุปกรณ์ตัดไฟฟ้าอัตโนมัติ ซื้ออุปกรณ์ความปลอดภัยต่างๆ ซื้อประกันภัยประกันชีวิต
3) ความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เราอาจต้องมีชมรมหรือกลุ่มที่ต้องเสียค่าสมัครสมาชิก เช่น ชมรมกอล์ฟ สมาชิกสมาคม
4) ความต้องการความสำเร็จในงาน อาจต้องจ่ายค่าที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือบางคนอาจใช้วิธีการซื้อยศ ซื้อใบรับรอง หรือต้องมีการลงทุนเครื่องมือ เพื่อให้งานสำเร็จ
5) ความต้องการเป็นที่ยอมรับจากสังคมถึงเกียรติยศสูงสุดที่ใฝ่ฝันในชีวิต เช่น อยากเป็นนายกรัฐมนตรี อยากเป็นรัฐมนตรี อยากเป็นนายอำเภอ อาจต้องลงทุนหาเสียงเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง
4.3 ประเภทการบริโภคตามรูปและนาม
การบริโภคอาจแบ่งเป็น 2 อย่างคือ รูปธรรม และนามธรรม บางท่านอาจเรียกว่าเป็นผลิตภัณฑ์และบริการ
รูปธรรมนั้นจับต้องได้ หรือเป็นรูปวัตถุ เช่น รถยนต์ บ้าน อาหาร
นามธรรมนั้นจับต้องไม่ได้ แต่มีความต้องการบางที การได้มาหรือซื้อหาก็อาจผิดศีลธรรมด้วย เช่น
1) ซื้อยศ โดยจ่ายเงินให้กับผู้ที่พิจารณาให้ยศได้
2) ซื้อประกาศนียบัตร โดยไม่ต้องเรียนให้จบก็ซื้อประกาศนียบัตรรับรองการศึกษาหรือรับรองคุณภาพหรือรับรองระบบ
3) ซื้อเสียง เพื่อนำไปสู่การชนะคะแนนคู่แข่งขันทางการเมือง หรือให้ชนะเสียงโหวต
4) ซื้อตำแหน่ง เช่น ตำแหน่งนายพล ตำแหน่งรัฐมนตรี ตำแหน่งผู้อำนวยการ
5) ซื้อตรายี่ห้อ เพื่อเอาไปใช้ในการผลิตสินค้า
6) ซื้อตัว หรือจ้างให้ออกจากที่ทำงานเดิม พรรคเดิม มาที่ทำงานใหม่
7) ซื้อบริการ เช่น ที่พัก บริการนวดตัว บริการตัดผม หน่วยรักษาความปลอดภัย

5. ประเภทสินค้าที่บริโภค
5.1 ชนิดสินค้าที่ซื้อ
ชนิดสินค้าที่ซื้ออาจแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ
1) สินค้าปกติทั่วไป หาซื้อได้ง่ายทั่วไป คุณลักษณะเป็นพื้นฐานทั่วไป สินค้านั้นมักใช้ในชีวิตประจำวันเป็นส่วนใหญ่ เช่น ผงซักฟอก สบู่ การซื้อมักจะซื้อที่สะดวก เช่น ร้านที่ขับรถผ่านร้านอยู่ใกล้บ้าน หรือห้างสรรพสินค้าที่นิยมไปจับจ่ายใช้สอยกันเป็นประจำ
2) สินค้าพิเศษ เป็นสินค้าที่มีลักษณะจำเพาะ หาซื้อได้ยากในท้องตลาด อาจต้องมีร้านเฉพาะ หรือต้องสั่งทำพิเศษ ผู้ซื้อมักมีวัตถุประสงค์ให้สินค้านั้นพิเศษไปกว่าของคนอื่น เช่น อาจเป็นหัวกอล์ฟชนิดเบาพิเศษ
5.2 ประเภทสินค้า
อาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ทำงานได้หลายอย่าง เช่น เป็นทั้งเครื่องผสม เครื่องคั้นน้ำผลไม้ และทำงานได้อย่างเดียว

6. การได้มาซึ่งสิ่งของการบริโภค
การได้มาซึ่งสิ่งของของการบริโภค
1. ) แลกเปลี่ยน เช่น เอาเงินไปซื้อหรือจ้างเหมาทำของ ทำงานแลกกับสิ่งของ เอาสิ่งของอย่างหนึ่งไปแลกกับอีกสิ่งหนึ่ง
ซื้อ : มักเป็นสินค้าทั่วไป หาซื้อง่ายในท้องตลาด หรืออยู่ในพื้นที่ที่ต้องการ
เช่น ซื้อบ้านจัดสรร
จ้างเหมา : มักเป็นจ้างทำของ เช่น มีพื้นที่ดินอยู่แล้ว ก็จ้างเหมามาสร้างบ้านใน
พื้นที่ของตน
2.) ได้มาฟรี เช่น มีคนเขาให้ฟรี ไม่ต้องเอาอะไรมาแลกเปลี่ยน บางที่เป็นลาภสักการะ มรดกตกทอด ปกติต้องซื้อหามาแลกเปลี่ยน แต่ผู้ให้ยกให้ฟรี
3.) มีอยู่เองแล้วตามธรรมชาติ ไม่ต้องซื้อหา มีอยู่มากมาย เช่น อากาศสำหรับหายใจ น้ำฝน แต่ถ้าสกปรกอาจต้องซื้อ เช่น น้ำดื่ม ออกซิเจน ในกรณีที่อยู่ในบ้านเมืองที่สิ่งแวดล้อมเลวร้าย
4.) ทำเอง หากเป็นสิ่งของที่สะดวกจะทำเอง พอมีฝีมืออยู่บ้าง ซึ่งจะช่วยทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้
7. อิทธิพลต่อการซื้อของมาบริโภค
7.1 อิทธิพลจากปัจจัยทั่วไป
1. วัฒนธรรม
• ชาติ ศาสนา ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ
• ระดับชั้น ศักดินา วรรณะ
• ธรรมเนียมนิยม สงกรานต์ ตักบาตรเทโว

2. สังคม
• กลุ่มอ้างอิง เช่น จุฬา
• ครอบครัว
• บทบาทตัวเอง (เปลี่ยนแปลงตามเวลา เช่น ที่บ้าน ที่ทำงาน)
3. จิตวิทยา
• การยอมรับ ขึ้นอยู่กับพื้นฐานคน
• วุฒิการศึกษา
• ความเชื่อ
• ทัศนคติ ที่สิ่งนั้นๆ


4. ส่วนตัว
• สไตส์การดำรงชีพ
• อาชีพ
• ฐานะการเงิน
• ช่วงอายุของคน
• แนวคิดของแต่ละคน
• ประเภทคน

7.2 อิทธิพลจากเพศ
อิทธิพลจากเพศโดยเฉพาะคู่สามีภรรยา การตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อ จะขึ้นอยู่กับประเภทสินค้าด้วย
ตัวอย่างการซื้อเครื่องผสมอาหาร ภรรยาได้ไปชิมอาหารอร่อย ถามคนทำว่าทำอย่างไร พบว่าต้องใช้เครื่องผสมอาหาร ค้นหาสืบราคาเครื่องผสมอาหารหลายยี่ห้อ จึงหาหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจซื้อ การตัดสินใจซื้อทันทีหรือรอคอย เมื่อถึงเวลาก็ซื้อ
การรอหากเป็นคนจนอาจใช้เวลารอนาน รอจนกระทั่งราคาสินค้าถูกลงจริงๆ สำหรับคนรวย อาจตัดสินใจซื้อทันที หากจำเป็นต้องการสินค้าจริงๆ ก็ต้องรีบซื้อ หากไม่จำเป็นต้องใช้จริงก็รอได้
สำหรับผู้ที่ต้องการสินค้ามาใช้ อาจใช้ตารางเปรียบเทียบก็ได้ เช่น ต้องการซื้อโทรทัศน์ขนาด 20 นิ้ว ยี่ห้อ ก, ข, ค, ง โดยมีราคาแตกต่างกัน คุณลักษณะแตกต่างกัน คุณภาพแตกต่างกัน และการบริการหลังการขายแตกต่างกัน
ตัวอย่างการซื้อ
1) จะซื้อเครื่องปั่นผลไม้
2) ภรรยาเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจซื้อ
3) เพราะว่าจะนำไปใช้ในครัวที่บ้าน เธอเป็นผู้ใช้สินค้านั้น
4) เธอต้องการก่อนวันปีใหม่ เพราะจะไปใช้ในงานฉลองปีเก่าต้อนรับปีใหม่ วันที่ 31 ธันวาคม 2543
5) สิ่งที่เป็นปัจจัยในการซื้อ มี
- ราคา ต่ำกว่า 5,000 บาท
- สถานที่จำหน่าย ไปซื้อแถวห้างเซ็นทรัล
- กิจกรรมส่งเสริมการขาย ไม่จำเป็น
- ตัวสินค้าต้องประหยัดไฟฟ้า ทำด้วยแก้ว พลาสติกไม่เอา
6) ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการซื้อ คือ คุณภาพด้านความสะอาดเป็นหลัก
7.3 ข้อควรพิจารณาก่อนซื้อ
1) บางสินค้าทำกล่องหรือหีบห่อโตๆ แต่ข้างในนิดเดียว ทำให้หลอกดูว่ามากกว่า
2) บางประเทศเขาคำนวณ บาท/กรัม ให้ด้วย เวลาซื้อของต่างชนิดกันจะเปรียบเทียบราคาได้ง่าย
3) อย่ามุ่งเน้นที่ราคาที่ถูกอย่างเดียว อย่าลืมการซื้ออาจมีค่าเดินทางด้วย เช่น ซื้อสินค้าที่ห้างถูกกว่า 100 บาท แต่ต้องเสียค่าแท๊กซี่ในการเดินทางไปซื้อ 300 บาท อย่างนี้ถือว่าขาดทุน
4) การซื้ออาจทำให้เกิดการประหยัดได้ เช่น เดิมต้องกินข้าวนอกบ้านทุกวัน หากคิดทำครัวเองโดยการซื้อกับข้าวและเครื่องครัว อาจถอนทุนได้ภายในไม่กี่เดือน
7.4 คำถาม 5 ข้อก่อนซื้อ
1) จะซื้ออะไร (What)
2) ใครเป็นคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจซื้อ (Who)
3) เพราะเหตุใด (How) เขาจึงมีอำนาจในการซื้อ
4) แล้วจะต้องซื้อเมื่อไร ภายในเวลาเท่าใด (When)
5) อะไรที่เป็นปัจจัยสำคัญในการซื้อ (What) คืออะไร เช่น ราคา (Price) สถานที่จำหน่าย (Place) กิจกรรมส่งเสริมการขาย (Promotion) และตัวสินค้า (Product)
6) ปัจจัยที่กระตุ้นทำให้เกิดการซื้อคืออะไร (Why) เช่น ราคา (Price) คุณภาพ (Quality) บริการ (Service)
7.5 อิทธิพลต่อการบริโภคจากผู้ขาย
ผู้ขายอาจมีอิทธิพลต่อการบริโภคของผู้บริโภค ได้ดังนี้
1) การโฆษณาประชาสัมพันธ์จนเกิดความคุ้นเคย
2) การทำให้หลงเชื่อ ลุ่มหลง มอมเมา หรือล่อด้วยกิเลส
3) การบีบบังคับด้วยสถานการณ์ที่เป็นต่อ
4) การทำให้หวาดกลัว
5) การประกันคุณภาพ

การโฆษณาเป็นการส่งข้อมูลข่าวสารจากผู้ขายไปยังผู้บริโภค มีการใช้สื่อโฆษณาต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มการบริโภค การโฆษณาด้านดีด้านเดียวไม่พูดถึงผลเสีย
การทำให้หลงเชื่อ ลุ่มหลง มอมเมา หรือล่อด้วยกิเลส บางทีซื้อเพราะราคาถูก แต่อาจไม่จำเป็น ไม่ซื้อเลยจะประหยัดกว่า การทำให้สินค้าน่าซื้อ โดยล่อด้วยกิเลสทางอายตนะ 6 มีรูปลักษณ์สวยงาม เสียงไพเราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสนุ่ม เอาอกเอาใจลูกค้าอย่างดี ซื้อตามกัน ซื้อตามเพื่อนบ้าน
การบีบบังคับด้วยสถานการณ์ที่เป็นต่อ เช่น มีขายอยู่ร้านเดียว โก่งราคาที่ดินเมื่อผู้ซื้ออยากได้มาก
การทำให้หวาดกลัว เช่น ถ้าไม่ซื้อเดี๋ยวจะหมด เหลืออยู่ชิ้นสุดท้ายแล้ว เป็นอุปกรณ์ที่ทำให้ปลอดภัยขึ้น ขู่ว่ามีเคราะห์แล้วจะสะเดาเคราะห์ให้ เป็นสินค้าปลอดสารพิษ
การประกันคุณภาพ เช่น เป็นสินค้าได้มาตรฐานถูกฎหมาย ซึ่งอาจเป็นสินค้ามีพิษในอนาคต เข้าใจว่าถูกกฎหมาย แล้วจะดี เชื่อวิทยาศาสตร์ เช่น เตาอบไมโครเวฟโฆษณาว่าทดลองพิสูจน์แล้วปลอดภัย เป็นสินค้าที่ผลิตด้วยมาตรฐาน ISO9000 และ ISO14001 ถูกต้องตามกฎหมาย คุ้มครองผู้บริโภค มี อย. รับรอง
นอกจากนี้นักการตลาดอาจใช้กลยุทธทางตลาด 4 P เพื่อเพิ่มยอดขาย มี ราคา (Price) สถานที่ (Place) สินค้า (Product) และการส่งเสริมการขาย (Promotion)

8. ผลกระทบจากการบริโภค
ผลกระทบ (Effects) จากการบริโภค มีดังนี้
1) เกิดของเสีย ขยะจากการบริโภค เกินความจำเป็น เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม
2) มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ที่มุ่งเน้นคุ้มครองผู้ขาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนต่างประเทศ ได้รับการดูแลอย่างมาก (ดูจากผลการติดตามจับกุม) และมีการทำงานอย่างแข่งขัน จับผู้ละเมิดสิทธิบัตร
3) การคุ้มครองผู้บริโภค มีผู้สนใจน้อย สังเกตว่า ไม่ค่อยจะจริงจังกับการกวาดจับสารพิษในอาหารและยา จะเห็นว่ามีการใช้ฟอร์มาลิน และบอเร็กซ์ในอาหารมากมาย การใช้ดีดีทีหรือสารพิษพ่นหมอกควันตามคูระบายน้ำในเมืองแทบทุกเดือน จนตัวเมืองเหม็นไปหมด คนไทยบริโภคใช้สารพิษเกินความจำเป็น
4) สุขภาพที่อาจเสียไปจากการบริโภค เช่น อ้วนไป เป็นความดันโลหิตสูง บริโภคสารพิษที่ปนเปื้อนในอาหาร การติดยาเสพติด
5) ทำให้เสียทรัพย์ เสียดุลย์การค้าของประเทศ หากเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย
6) ทำให้กิเลสเพิ่มพูน เพราะมีการล่อด้วยกิเลส ตามโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง

9. หลักธรรมบริหารการบริโภคเชิงพุทธ
ยุคนี้เป็นยุคบริโภคนิยม หรือยุคสุขนิยม ธุรกิจการค้านิยมใช้วิธีโฆษณาประชาสัมพันธ์ กลยุทธทางการตลาด เพื่อเพิ่มยอดขาย จะได้มีรายได้มากๆ กำไรมากๆ ผู้บริโภคถูกโฆษณามอบเมา ทำให้หลงเชื่อ ให้ข้อมูลด้านดีด้านเดียว ผู้บริโภควิเคราะห์คุณค่าที่แท้จริงได้ลำบาก
หลักธรรมบริหารการบริโภคเชิงพุทธ มี 8 รู้ ดังนี้
(1)รู้จักอยาก (2) รู้จักประโยชน์ (3) รู้จักหา (4) รู้จักกิน (5) รู้จักใช้ (6) รู้จักเก็บ (7) รู้จักให้ (8) รู้จักทิ้ง
9.1 รู้จักอยาก
เราต้องรู้ว่าเราซื้อหาด้วยความอยากหรือตัณหาหรือไม่ (1) ซื้อเพราะหลงในกามตัณหา คือ เห็นว่ารูปสวย เสียงไพเราะ รสอร่อย สัมผัสนุ่ม (2) ซื้อเพราะพอใจหลงในภวตัณหา อยากมีกับเขาบ้าง บ้านสวย รถยนต์หรู โทรศัพท์ยุคใหม่ อยากมีตำแหน่งสูง (3) ซื้อเพราะไม่พอใจหรือกลัว หรือโกรธ สิ่งที่ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น เช่น ซื้อยาแก้อ้วน ให้แพทย์ดึงหน้า ใช้ยากันฝ้า
ลองวิเคราะห์ดูว่ามี 3 สิ่งที่ทำให้เราต้องเสียเงินแพงในการบริโภคสินค้ามี (1) ซื้อเพราะมันสวย เช่น บ้านไม่สวย ก็ราคาถูก บ้านสวยก็ราคาแพง พลอยน้ำงาม แพงกว่าพลอยธรรมดา ศิลปะสวยก็ราคาแพง (2) ซื้อเพราะมันสะดวก สนองตอบความขี้เกียจได้ดี เช่น ใช้รีโมต แพงกว่าระบบเดินไปกดเปลี่ยนช่องทีวี ใช้โปรแกรมอัตโนมัติ แพงกว่าระบบมือควบคุม (3) ซื้อเพราะความโก้เก๋ ทันสมัย เช่น รถเบนซ์ แพงกว่ารถโตโยต้า นาฬิกาโรเล็กซ์แพงกว่าไซโก้ ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และเครื่องมืออุปกรณ์ทันสมัยแพงกว่ารุ่นเก่าก่อน
บางท่านเคยกล่าวว่ามี 3 อย่างที่บริโภคไม่เคยอิ่ม มี (1) เสพกาม (2) เสพสุรา (3) เสพการนอน คือ ยิ่งเสพก็ยิ่งอยาก ยิ่งอยากก็ยิ่งเสพ
ในเมื่อเรารู้ว่าความอยากเป็นจุดเริ่มต้นของการบริโภค ก็ให้ถามตัวเองว่า
1) ความอยากนั้นเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตหรือไม่ ถ้าจำเป็น ก็บริโภคแต่พอเหตุแห่งจำเป็น
2) หากความอยากนั้นเป็นสิ่งเกินจำเป็น แต่เป็นการพักผ่อนให้รางวัลกับตัวเองนานๆ ครั้ง และไม่เกินกำลังทรัพย์ กำลังความสามารถตน ก็ให้บริโภคแต่พอควร พอหล่อเลี้ยงจิตใจ
3) หากความอยากนั้นเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย ต้องกู้ยืมเงินมาซื้อ ทำให้ประเทศชาติเสียดุลการค้า ไม่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ ก็ให้พยายามละการบริโภคนั้นเสีย
9.2 รู้จักประโยชน์
ควรที่จะวิเคราะห์คุณค่า ( Value Analysis ) ว่า
1) เราจะบริโภคสิ่งนั้นไปทำไม มีมูลเหตุจูงใจอะไร เช่น ต้องการบริโภคขนมมันฝรั่งทอดกรอบ ได้รับอิทธิพลมาจากการโฆษณาทางทีวี
2) วัตถุประสงค์ของการบริโภค เช่น เพื่อความอร่อย หิว ขาดสารอาหาร อยากกิน เพื่อความโก้เก๋ เพื่อรักษาโรค เพื่อรักษาสุขภาพ
3) รู้ว่าเป็นประโยชน์ระดับไหน จากอรรถประโยชน์ 3 ดังนี้
(1) ประโยชน์เบื้องต้น สิ่งที่บริโภคอุปโภคนั้นเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต และภาวะเศรษฐกิจที่พอเพียง เช่น อาหาร ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย
(2) ประโยชน์ท่ามกลางสิ่งที่บริโภคนั้นเป็นประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิต ในด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านความปลอดภัย
(3) ประโยชน์สูงสุด สิ่งที่บริโภคนั้น เป็นมูลเหตุสนับสนุนไปสู่ความอิสรภาพต่อความต้องการความอยากหรือตัณหา ไม่เป็นทาสต่อกิเลสอีกต่อไป
สิ่งใดที่เราบริโภคอุปโภค ไม่มีประโยชน์ต่ออรรถประโยชน์ ทั้ง 3 นี้ ย่อมไม่ควรค่าต่อการบริโภค

9.3 รู้จักหา
การหาทรัพย์หรือปัจจัยมาบริโภค ต้องรู้ว่าสิ่งไหนจำเป็น สิ่งไหนไม่จำเป็น สิ่งไหนรอได้ สิ่งไหนต้องรีบด่วน แล้วจะไปหาที่ไหน ทำอย่างไรจึงจะได้มา การได้มาต้องสุจริต ผู้ให้มาต้องยินยอมยินดีให้ สิ่งไหนไม่ดีไม่ต้องหามา ไม่ต้องหาอบายมุขมาบริโภค ซึ่งอบายมุขมี 6 อย่าง ต้องพยายามไม่ไปหามา หรือไปเข้าใกล้ ต้องรู้ว่าสิ่งที่หามานั้นมีโทษภัย สารพิษอะไรปนเปื้อนมาบ้าง
การหาทรัพย์หรือปัจจัยมาบริโภคใช้สอย ต้องไม่ใช้วิธีหลอกลวง หรือทำให้หลงผิด หลงเชื่อ เพื่อให้ได้ลาภสักการะ ไม่คิดประหยัดค่าใช้จ่ายตนเองโดยไปเบียดเบียนบริษัทหรือของสังคม บางทีการหาทรัพย์ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการหาด้วย หากหามาจากต่างประเทศ ก็ต้องคำนึงถึงประเทศที่จะขาดดุลการค้ามาเป็นองค์พิจารณา

9.4 รู้จักกิน
การรู้จักกินนั้นต้องใช้หลักโภชเนมัตตัญญุตา ต้องรู้ว่ากินไปทำไป ร่างกายต้องการอาหารที่มีธาตุอาหารไปใช้ในการดำรงชีวิตให้ตั้งอยู่ได้ การกินเป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนธาตุ ไม่ใช่กินเพื่อความอร่อย ไม่ใช่กินเพื่อความโก้เก๋ เช่น หูฉลาม ต้องกินอย่างพอเพียง ไม่มากเกินไป การกินต้องเลือกดูสิ่งที่จะกินว่าเป็นอาหารที่ปลอดสารพิษ เป็นอาหารที่ไม่ทำให้สุขภาพเสื่อมโทรม อาหารที่ทำให้สุขภาพเสื่อมโทรม เช่น สุรา อาหารที่มีเชื้อราอัลฟาทอกซิน อาหารปนเปื้อนสารเคมี ประเภทผงกรอบบอเร๊กซ์ ผงชูรสมากๆ ดินประสิวมากๆ เป็นต้น ควรกินผักเพื่อสุขภาพ ผักก็ขอให้เป็นผักปลอดสารเคมี การกินเน้นเนื้อสัตว์อย่างเดียว ระวังจะเป็นมะเร็งในลำไส้
การกินอาหารเสริม ก็ควรระวังจะถูกหลอกจากการโฆษณามอมเมา การกินอาหารลดความอ้วน กินยาลดความอ้วน ก็ต้องระวังผลกระทบต่อสุขภาพ

9.5 รู้จักใช้
ของที่หามาได้ ก็ต้องรู้จักใช้ เช่น ซื้อรถยนต์มาคันหนึ่ง ขับอย่างตะบี้ตะบัน ไม่กี่วันก็ต้องพังแน่ เผลอๆ เกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ของที่หามาได้ก็ชำรุดเสียหาย ใช้งานไม่ได้ หรือต้องเสียทรัพย์ไปซ่อมอีก
ของที่มีอยู่ก็ต้องใช้ให้ตรงกับหน้าที่ หากใช้ผิดประเภทนอกจากจะทำให้ของเสียแล้ว ยังอาจเกิดอันตรายต่อผู้ใช้ ดังนั้นก่อนใช้งาน ควรที่จะศึกษาวิธีการใช้งาน และความปลอดภัยในขณะใช้งานด้วย
พยายามใช้ของให้สิ้นซาก จนหมดคุณค่าของมัน เพื่อความประหยัดและรักษาสภาพแวดล้อม เช่น เสื้อผ้าที่ใช้แล้ว ก็เอาไปเช็ดมือ เก่าแล้วก็เอาไปเช็ดเท้า เก่าแล้วก็เอาไปถูพื้น สุดท้ายเก่าแล้วก็ไปทำเชื้อไฟ
หลีกเลี่ยงการใช้ของแล้วมีเศษขยะเหลือทิ้งมาก เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะหีบห่อ และซากทิ้งหากของนั้นชำรุดแล้วซ่อมไม่ได้
การใช้ของบางอย่าง อาจนำอันตรายมาสู่ผู้ใช้ เช่น สวมสร้อยทองคำ แหวนเพชร แล้วเดินคนเดียวไปในที่มืดเปลี่ยว

9.6 รู้จักเก็บ
ของที่หามาได้ หากเก็บรักษาไม่ดี ก็อาจเสื่อมสภาพตามกาลเวลา เช่น เก็บอาหารไว้ไม่ดี หนูมาแทะ แมลงสาบมากิน ก็เสียของ ต้องรู้จักวิธีการถนอมอาหาร และถนอมเครื่องมือเครื่องใช้ไว้นานๆ
ทรัพย์สินมีค่าต้องเก็บในที่มิดชิด มิเช่นนั้นอาจถูกโจรกรรม
รถยนต์ก็ต้องจอดในที่ร่ม ล็อกกุญแจป้องกันขโมย จอดแล้วไม่เคลื่อนไหลตกขอบตกคู
การเก็บเงินบางครั้งต้องฝากไว้ที่ธนาคาร เพื่อความปลอดภัย เมื่อหาเงินมาได้แต่ละเดือน ต้องแบ่งสัดส่วนไว้ ส่วนหนึ่งไว้ใช้ อีกส่วนหนึ่งเก็บเอาไว้เป็นทุนสำรอง สร้างอนาคต และเอาใช้ในภาวะฉุกเฉินเจ็บป่วย
ของมีพิษ ของมีอันตราย ไม่ควรเก็บไว้ หรือทิ้งไป แต่หากจำเป็นต้องเก็บ ต้องแยกสัดส่วนไว้ให้ปลอดภัย อาวุธปืน ควรเก็บในที่มิดชิด การเก็บมีดต้องเก็บอย่างมีสัดส่วนและปลอดภัย

9.7 รู้จักให้
การให้ทำให้สละกิเลสเรื่องความโลภ ได้จำนวนหนึ่ง แต่ถ้าให้มากเกินตัว เรียกว่าไม่พอดี หลงทางหลงผิด
เมืองไทยนิยมให้ทานกัน ของที่มีเหลือใช้ก็แบ่งให้ผู้เดือดร้อนไปใช้บ้าง อยู่อย่างเกื้อกูลกัน สร้างมิตรภาพ
การใช้หรือการบริการ อบายมุข แก่เพื่อนฝูง ถือว่าเป็นการให้ที่เป็นอกุศล
การให้ต้องประกอบด้วย ของที่ให้มีความบริสุทธิ์ ผู้ให้มีจิตบริสุทธิ์ ผู้รับเป็นผู้บริสุทธิ์ การให้ที่หวังผลตอบแทน ถือว่าเป็นการลงทุน มิใช่เป็นการให้ทาน
การให้ที่เป็นนามธรรม มี การให้อภัย การให้ธรรมทาน การให้คำปรึกษาชี้แนะแนวคิดที่ถูกต้อง การกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญไปให้ผู้ล่วงลับแล้ว
การให้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ก็มีการให้เพื่อทดแทนบุญคุณพ่อแม่ การให้ความดูแลบุตรหรือครอบครัว
ของที่เหลือใช้ ควรจะให้คนอื่นไปใช้ประโยชน์บ้าง การให้อาจเป็นการจัดหาหรือซื้อมาแล้วเอาไปให้ ซึ่งจะต้องว่าให้ในโอกาสอะไร ให้กับใคร สถานที่ไหน จึงจะเหมาะสม

9.8 รู้จักทิ้ง
ของที่ไม่ใช้แล้ว ก็ควรทิ้งไป เรียกว่าสะสาง หรือทำ 5ส บ้าง สิ่งที่ไม่ดีในตัวเอง เช่น กิเลส ก็ต้องทิ้งไปเท่าที่จะสามารถทำได้ จะได้ตัวโล่งสบาย สงบ
การทิ้งของต้องดูว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร สามารถเน่าเปื่อยไปตามธรรมชาติได้หรือไม่ ถ้าสิ่งนั้นเป็นพิษ การทิ้งต้องทิ้งในที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ทิ้งในที่จัดให้ บางทีก็ต้องคัดแยกขยะ อันไหนนำไปใช้ใหม่ อันไหนจะเอาไปเผา อันไหนจะเอาไปฝังกลบ อันไหนนำไปขายต่อได้ อันไหนจะนำไปดัดแปลงเป็นสิ่งของอื่นที่จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ อันไหนจะเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานได้ต่อ เช่น เศษเหล็ก
10. บทส่งท้าย
การบริหารการบริโภคเชิงพุทธนั้นต้องทราบความต้องการของตนเอง แล้วรู้จักว่าการบริโภคทำไปเพื่อวัตถุประสงค์อะไร ใช้ปัญญาวิเคราะห์พิจารณา แล้วให้บริโภคแต่เพียงความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต สิ่งไหนไม่จำเป็นก็ให้รู้ไว้ จะบริโภคสิ่งเกินความจำเป็นเพื่ออำนวยความสุขแบบโลกๆ ก็ให้ดูว่ากำลังทรัพย์ของตนเพียงพอหรือไม่ จะสนุกเกินควรหรือไม่ สุดท้ายเป็นการพิจารณาธรรมะการบริโภค 8 รู้ เพื่อเตือนสติของเราว่าจะบริโภคเท่าไรดี บริโภคแล้วจะต้องดำเนินการอะไรต่อหลังจากบริโภคแล้ว นอกจากนี้การบริโภคไม่ควรมีลักษณะลักทรัพย์ เช่น โกงกิน คอรัปชั่น
หวังว่าคงเป็นประโยชน์บ้างตามสมควร

สมหวัง วิทยาปัญญานนท์
6 มกราคม 2544

พุทธวิธีบริหาร
Buddhist Style in Management


ข้อเสนอแนะ
พุทธศาสตร์กับเศรษฐศาสตร์


Create Date : 20 สิงหาคม 2550
Last Update : 22 สิงหาคม 2550 14:23:47 น. 0 comments
Counter : 737 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
 

grooveriderz
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Pink Pandaขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยน่ะค๊าบ
[Add grooveriderz's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com pantip.com pantipmarket.com pantown.com