Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2553
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
19 ตุลาคม 2553
 
All Blogs
 
เที่ยวเมืองจันทบุรี : วัดมังกรบุปผาราม (วัดเล่งฮัวยี่) ( ต่อ 2 )

วัดมังกรบุปผาราม (วัดเล่งฮัวยี่)

ที่ตั้งวัด ถนนสุขุมวิท ตำบลพลิ้ว อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี 22130 โทร. 039-397210

การเดินทาง : ถนนสุขุมวิท เส้นทางสายจันทบุรี-ขลุง ห่างจากตัวเมืองจันทบุรี 12 กิโลเมตร

ประวัติความเป็นมา

วัดมังกรบุปผาราม มีชื่อเรียกในภาษาจีนว่า เล่งฮั้วยี่ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2520 มีพื้นที่จำนวน 8 ไร่เศษ เป็นวัดในพุทธศาสนา มหายานฝ่ายจีนนิกาย มีประวัติเกี่ยวข้องกับ พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร(สกเห็ง) ปฐมเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) กรุงเทพฯ และวัดจีนประชาสโมสร (เล่งฮกยี่) จังหวัดฉะเชิงเทรา

ในแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ท่านพระอาจารย์สกเห็งเป็นชาวมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ท่านได้ยินกิตติศัพท์ว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรือง พระพุทธศาสนาจึงเดินทางเข้ามาเพื่อนมัสการปูชนียสถานในประเทศไทย เมื่อแรกที่ท่านเข้ามานั้นได้จำพรรษาอยู่ ณ วิหารพระกวนอิมข้างวัดกุศลสมาคร ชาวจีนในพระนครเห็นความเคร่งครัดในศิลาจารวัตรก็พากันเลื่อมใสจึงชวนกันเรี่ยไรเงินบูรณะเป็นอารามฝ่ายจีนนิกายชื่อ วัดย่งฮกยี่ ต่อมาได้รับพระราชทานนามวัดเป็นภาษาไทยว่า “วัดบำเพ็ญจีนพรต” จึงเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จีนจำพรรษาตั้งแต่นั้นมา เมื่อมีพระสงฆ์จีนมากขึ้น

ท่านพระอาจารย์สกเห็งเห็นว่า ควรจักขยับขยายวัดฝ่ายจีนนิกายให้กว้างออกไป ท่านได้เลือกชัยภูมิแห่งหนึ่งตรงบริเวณถนนเจริญกรุง เขตป้อมปราบฯ สร้างอารามใหญ่ขึ้น ทั้งนี้โดยพระบรมราชูปถัมภ์และการช่วยเหลือของพุทธบริษัทไทย-จีน ได้ชื่อทางภาษาจีนว่า “วัดเล่งเน่ยยี่” ต่อมาพระอาจารย์สกเห็งได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานนามวัดเป็นภาษาไทยว่าวัดมังกรกมลาวาส

ต่อมาพระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร(สกเห็ง) กับศิษย์ผู้หนึ่งชื่อ “พระกวยเล้ง” ได้ไปสร้างวัดเล่งฮกยี่ หรือ “วัดจีนประชาสโมสร” ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และท่านเตรียมจะสร้างวัดเล่งฮั้วยี่ หรือวัดมังกรบุปผาราม ที่จังหวัดจันทบุรี อีกแห่งหนึ่ง โดยท่านได้จาริกมาจำพรรษาที่นี่ตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2417

ซึ่งต่อมาพระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร(สกเห็ง) ได้นำคณะพุทธศาสนิกชนชาวจีนเข้ารับเสด็จ และกราบทูลรายงานการก่อสร้างวัด เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินประพาสน้ำตกพลิ้ว ปีวอก พ.ศ. 2427 (มีปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันภาค 24 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองฝั่งทะเลตะวันออก)

แต่ต่อมาท่านพระอาจารย์สกเห็ง เกิดอาพาธถึงแก่มรณภาพเสียก่อน จึงเหลือแต่มงคลนามสำนักแห่งนี้ ซึ่งท่านได้ตั้งชื่อภาษาจีนว่า เล่งฮั้วยี่ ศิษย์ของท่าน คือ หลวงจีนคณาณัติจีนพรต (กวยล้ง) ได้ดำเนินการต่อ แต่ท่านพระอาจารย์กวยเล้ง ก็ได้มรณภาพลงเสียก่อน สำนักแห่งนี้จึงไม่สำเร็จตามโครงการที่วางไว้

หลังจากนั้นเป็นเวลา 80 ปีเศษ สำนักแห่งนี้รกร้างและมีหลักฐานเป็นที่ดินแปลงหนึ่งของธรณีสงฆ์ ตั้งอยู่บริเวณปากทางเข้าน้ำตกพลิ้ว ด้วยเหตุที่การคมนาคมไม่สะดวกเหมือนปัจจุบัน และยังชุกชุมด้วยไข้ป่า ทางราชการสมัยนั้น จึงได้ยกธรณีสงฆ์แห่งนี้ถวายวัดเขตต์นาบุญญาราม อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ในสังกัดอนัมนิกายปกครองรักษาสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันเหลือแต่มงคลนามของวัด

จนประมาณปี พ.ศ. 2508 ได้มีพระเจตชฎา ฉายาเย็นฮ้วง ศิษย์ของท่านพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร(โพธิ์แจ้ง) อดีตเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย บังเกิดกุศลเจตนาที่จะสืบสานงานก่อสร้าง สำนักวัดมังกรบุปผาราม(เล่งฮั้วยี่) ให้สำเร็จตามเจตนารมณ์ของบูรพาจารย์ โดยท่านได้ปฏิบัติธรรมหาความวิเวกเดินตามแนวทางของท่านอาจารย์จีนนิกายในอดีต ณ บริเวณน้ำตกพลิ้ว อาศัยพุทธบารมีเป็นที่ตั้ง ด้วยความศรัทธามั่นคงของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดในการนำของอุบาสก-อุบาสิกา ได้แก่ 1.อึ้งชุงฮ้อกอี 2.จีนล่งเส็งอี 3.บ้วนแซอี 4.นายสำรอง จิตตสงวน 5.นายซ้อน ริผล จึงได้รวบรวมปัจจัย ทั้งด้านทุนทรัพย์และวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างและแรงงานเพื่อพระพุทธศาสนาได้จัดหาที่ดินแปลงหนึ่ง เป็นสถานที่ก่อสร้างวัดที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย มีความยินดีได้ร่วมแรงร่วมใจปฏิสังขรณ์ก่อสร้างวัดมังกรบุปผารามขึ้นใหม่ แต่ต่อมาพระเย็นฮ้วง มรณภาพลงด้วยไข้มาเลเรีย เมื่อ พ.ศ. 2518 พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร(โพธิ์แจ้ง) เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายในครั้งนั้น จึงได้มีบัญชามอบภารกิจให้ หลวงจีนคณาณัติจีนพรต(เย็นบุญ) เจ้าอาวาสวัดทิพยวารีวิหาร ได้ดูแลนำพุทธศาสนิกชนร่วมสนับสนุนจนการก่อสร้างวัดได้สำเร็จลง

ศิลปะสถาปัตยกรรมวัดมังกรบุปผาราม

สถาปัตยกรรมเป็นลักษณะผสมผสานระหว่างพุทธศิลป์ไทย-จีน ศิลปะแบบสถาปัตยกรรมจีนภาคใต้

ถาวรวัตถุที่สำคัญ ๆ ของวัด

ด้านหน้าวัดมีซุ้มประตูวัด สร้างด้วยศิลปะจีน ลานหน้าวัดด้านนอกเป็นลานโล่งมีสนามหญ้า มีหอแปดเหลี่ยมเคียงคู่กันสองหลัง ที่ตกแต่งด้วยกระเบื้องโมเสคและหินขัด เป็นลดลายต่าง ๆ สวยงาม

หอแปดเหลี่ยม หลังด้านซ้ายเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อหลวงจีนคณาณัติจีนพรต(เย็นบุญ) อดีตปลัดขวาจีนนิกาย เจ้าอาวาสวัดทิพยวารีวิหาร และรักษาการเจ้าอาวาสวัดมังกรบุปผาราม ท่านเป็นผู้ดูแลการก่อสร้างวัดได้สำเร็จลง มรณภาพ เมื่อ พ.ศ. 2526

หลังด้านขวาเป็นศาลาที่ระลึก พล.อ.กฤษณ์ ศรีวรา ซึ่งเป็นผู้ได้อุปถัมภ์การก่อสร้างวัดมังบุปผาราม

ด้านหน้าวัดเป็นวิหารท้าวจตุโลกบาล ด้านหน้าวิหารจารึกธารณีภาษาสันสกฤต อักษรสิทธัม ภายในประดิษฐานพระศรีอารยเมตไตรยโพธิสัตว์(หมี่เล็กผ่อสัก) พระโพธิ์สัตว์ผู้จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ด้านหลังเป็นพระสกันทโพธิสัตว์(อุ่ยท้อผ่อสัก) และท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่(ซี่ไต่เทียงอ้วง)

อุโบสถ เป็นรูปทรงจีนหลังคาซ้อน 3 ชั้น ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมาประธานสามพระองค์ เมื่อเราหันหน้าสู่ภายในอุโบสถ คือองค์กลางพระศากยมุนีพุทธเจ้า(เซ็กเกียหม่อนี้ฮุก) องค์ซ้ายพระอมิตาภพุทธเจ้า (ออมีท้อฮุก) องค์ขวาพระไภษัชยคุรุ พุทธเจ้า(เอี๊ยะซือฮุก) พร้อมด้วยพระสาวกเบื้องซ้ายและขวา คือพระมหากัสสปเถระ(เกียเหี๊ยะจุนเจี้ย) และพระอานนท์(ออหนั่งท้อจุนเจี้ย) ด้านข้างประดิษฐานพระมัญชุศรีโพธิสัตว์(บุ่งซู่ผ่อสัก) ผู้เลิศด้วยมหาปัญญาประทับบนหลังสิงโต หมายถึงพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ ทรงมีพระปัญญาคุณเลิศกว่าหมู่สรรพสัตว์ พระสมันตภัทรโพธิสัตว์(โผวเฮี้ยงผ่อสัก) ผู้เลิศด้วยมหาจริยาประทับบนหลังช้างเผือกหกงา อันหมายถึงบารมีหก ที่พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลายบำเพ็ญ รูปเคารพทั้งหลายปิดทองคำเปลวเหลืองอร่ามประดิษฐานภายในซุ้มแบบจีนบนฐานชุกชี ภายในมีลวดลายไม้แกะสลักปิดทองแบบศิลปะจีนอย่างสวยงาม พื้นภายในเป็นหินขัดยอดหลังคาอุโบสถเป็นเจดีย์ พื้นอุโบสถด้านนอกเป็นหินขัดลายจีน

ด้านหลังอุโบสถเป็นวิหารสุขาวดีตรีอารยะ ภายในประดิษฐานพระปฏิมาพระอมิตาภพุทธเจ้า องค์ศาสดาแห่งสุขาวดีโลกธาตุปัจฉิมทิศ พร้อมด้วยพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์(กวงซีอิมผ่อสัก) และพระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์(ไต่ซีจี่ผ่อสัก) มหาสาวกของพระองค์ แห่งสุขาวดีพุทธเกษตร จีงเรียกกันว่าพระตรีอารยะแห่งปัจฉิมทิศ(ไซฮึงชาเสี่ย) คือแดนสุขาวดีนั่นเอง ด้านข้างประดิษฐานรูปเหมือนพระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร(สกเห็งมหาเถระ) ปฐมเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย ผู้สถาปนาวัดมังกรบุปผาราม ในสมัยรัชกาลที่ 5 และรูปเหมือนพระอาจารย์เย็นฮ้วง ผู้พัฒนาวัดมังกรบุปผารามในสมัยต่อม

นอกจากนี้ยังมี วิหารพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์(กวนซีอิมผ่อสัก) ปางสหัสรหัตถ์สหัสรเนตร (พระกวนอิมปางพันมือพันตา) วิหารพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์(ตี่จั่งอ้วงผ่อสัก) วิหารบรรพบุรุษเป็นที่สาธุชนตั้งป้ายบูชาวิญญาณผู้ล่วงลับ และสถูปเจดีย์ทรงธิเบตที่บรรจุอัฐิบูรพาจารย์ด้านหลังวัด แวดล้อมด้วยหมู่กุฏิสงฆ์ โรงครัว โรงอาหาร ที่พักผู้ปฏิบัติธรรม เรียงรายอยู่โดยรอบอย่างเป็นระเบียบทางเดินภายในวัดส่วนใหญ่เป็นหินขัด

กิจกรรมประจำปี งานสัปดาห์ปฏิบัติธรรมภาวนาพระนามพระอมิตาภะพุทธเจ้า(ฮุกชิก) ซึ่งจะจัดขึ้นหลังตรุษจีน คือวันที่ 21 (จันทรคติจีน) และงานทอดกฐิน

เวลาให้บริการ : 06:00-18:00
ค่าบริการ : ไม่เสียค่าธรรมเนียมเข้าชม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
สำนักงาน ททท. ภาคกลาง เขต 4 (ระยอง-จันทบุรี)
153/4 ถ.สุขุมวิท ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง 21000






















































ทางไป จังหวัดตราด อยู่ติดกับทางเข้าน้ำตกพลิ้ว เลยค่ะ



Create Date : 19 ตุลาคม 2553
Last Update : 19 ตุลาคม 2553 12:14:32 น. 0 comments
Counter : 2949 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

begine
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




ไม่มีอะไร จะแนะนำตัว
เพราะกลัว ไม่มีอะไรน่าสนใจ
ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป
เผื่อมีจะใครสนใจชมเรา
งานอดิเรก ยามว่าง คืองานถัก
คนมันรัก เส้นสาย สีใยไหม
ถักโครเชท์ ถักตุ๊กตา ช่างเพลิดเพลินใจ
เสร็จแล้วได้ ชื่นชม มันคนเดียว
ส่วนที่ชอบ เป็นสอง ไม่รองใคร
ตระเวณไป ไม่ใกล้ไกล ท่องเที่ยว
สถานที่สวย วิวสวย เอ๊ะ น่าดูเชียว
เมืองไทยน่าเที่ยว ทัวร์ทั่วไทย ยกก๊วนกัน
ต่อมา ขีดๆ เขียน ๆ มาให้อ่าน
เรื่องที่ผ่าน เขียนมา เป็นเรื่องสั้น
จดบันทึก ไว้ขำขัน กันทุกวัน
แต่ว่ามัน จะขำหรือไม่ แล้วแต่คุณ...



สอบถาม

n_nuy@hotmail.com
หรือ
http://www.facebook.com/Nuy2Sister
Friends' blogs
[Add begine's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.