Group Blog
 
 
ตุลาคม 2550
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
18 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 
ยูโทเปีย เล่มที่ 1 (5)

(ต่อ)


“ปรัชญาเมธีไม่ได้เลวถึงขนาดนั้นดอก เขาเต็มใจที่จะให้คำปรึกษา” ราฟาเอลตอบ “ที่จริงแล้วเขาได้ให้คำปรึกษาไว้แล้วในหนังสือหลายเล่มที่พิมพ์ออกมา เพียงแต่ขอให้ผู้ที่อยู่ในอำนาจอ่านคำปรึกษาที่ดีของเขาเท่านั้น ไม่มีปัญหาเลยว่าเพลโตวินิจฉัยถูกแล้วที่ว่าถ้ากษัตริย์ไม่กลายเป็นปรัชญาเมธี กษัตริย์ก็ไม่มีวันยึดตามคำปรึกษาของปรัชญาเมธีเพราะกษัตริย์นั้นได้รับการอบรมและมัวหมองด้วยค่านิยมที่ผิดๆมาตั้งแต่ยังเยาว์วัย เพลโตเองพบว่าไดโอนิซิอัสแห่งไซราคิวส์เองก็เป็นอย่างนั้น19 ถ้าข้าพเจ้าอยู่ในราชสำนักของกษัตริย์สักองค์หนึ่งและเสนอกฎหมายที่ฉลาดแก่พระองค์และพยายามจะขจัดรากเง่าแห่งความชั่วร้ายอันเป็นอันตรายออกจากพระองค์แล้ว ท่านจะไม่คิดดอกหรือว่า ถ้าข้าพเจ้าไม่ถูกโยนออกมาจากราชสำนักก็คงถูกเย้ยหยัน ?”

“ลองวาดภาพข้าพเจ้าในราชสำนักของกษัตริย์ฝรั่งเศสดูเถิด สมมุติว่าข้าพเจ้าอยู่ในสภาที่ปรึกษาซึ่งมีพระองค์เองเป็นประธาน และผู้ที่ฉลาดที่สุดกำลังพิจารณากันอย่างเอาการเอางานว่า20 โดยวิธีใดและกลอุบายใดพระองค์จึงจะทรงสามารถรักษามิลานไว้พร้อมๆกับเอาเนเปิลซึ่งมักสูญเสียไปบ่อยครั้งกลับคืนมา ล้มล้างชาวเวนิส ปราบอิตาลีทั้งประเทศและผนวกแฟลนเดอรส์ แบรแบนท์และแม้แต่เบอร์กันดีทั้งหมดเข้าในอาณาจักรของพระองค์ นอกเหนือไปจากประเทศอื่นๆที่พระองค์ได้วางแผนที่จะรุกราน สมมุติว่าคนหนึ่งหนุนให้พระองค์เข้าเป็นสัมพันธมิตรกับชาวเวนิส (สัมพันธมิตรซึ่งนานเท่าที่จะสะดวก) เพื่อวางแผนร่วมกัน และแม้แต่แบ่งสิ่งที่ปล้นสะดมมาให้บ้าง แต่ก็เป็นสิ่งที่อาจเอาคืนมาเมื่อสิ่งต่างๆเป็นไปตามที่ได้วางแผนไว้ อีกคนหนึ่งให้ว่าจ้างทหารรับจ้างชาวเยอรมัน และให้จ่ายเงินแก่ชาวสวิสให้วางตัวเป็นกลาง อีกคนหนึ่งเสนอให้ทำดีกับจักรวรรดิอันศักดิ์สิทธิ์ด้วยการให้ทองว่าเป็นการเสียสละที่ถูกต้องและยังมีคนอื่นๆอีกที่คิดว่าควรจะทำสัญญาสันติภาพกับกษัตริย์แห่งอารากอน และคืนแคว้นแนวาร์21 ให้ไปเพื่อสมานสันติภาพไว้ อีกคนหนึ่งคิดว่าควรจะหลอกเจ้าชายแคสติลด้วยการให้ความหวังในเรื่องเป็นพันธมิตรกัน และว่ายังอาจเอาชนะใจข้าราชสำนักแห่งนั้นบางคนให้เห็นกับผลประโยชน์ของฝรั่งเศสได้ด้วยการให้เบี้ยหวัด ปัญหาที่ยากที่สุดอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรกับอังกฤษ จะต้องมีการตกลงทำสัญญาสันติภาพกับอังกฤษอย่างแข็งแรงที่สุดเพราะความผูกพันที่เจือจางนั้นจะต้องถูกเชื่อมโยงไว้ด้วยสัญญาผูกมัดที่แข็งแรงที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ อังกฤษจะต้องถูกเรียกว่ามิตรแต่ให้สงสัยไว้ว่าคือศัตรู และชาวสก๊อตจะต้องถูกยุให้พร้อมที่จะโจมตีอังกฤษทันทีที่มีทีท่าอะไรขึ้น ผู้ดีอังกฤษชั้นสูงที่ถูกเนรเทศและที่ซึ่งอ้างสิทธิในราชสมบัติก็ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างลับๆ22 (เพราะสนธิสัญญาทำให้มิอาจทำเช่นนั้นอย่างเปิดเผยได้) เพื่อเป็นวิธีบีบบังคับกษัตริย์อังกฤษและให้พระองค์ต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญา”

“ในท่ามกลางความวุ่นวายครั้งใหญ่นี้ คือในขณะที่ผู้มีปัญญาทั้งหลายกำลังร่วมวางแผนจะทำสงคราม ลองวาดภาพดูเถิดว่าคนที่ต่ำต้อยอย่างข้าพเจ้าจะยืนขึ้นและขอให้เขาเปลี่ยนแผนการณ์ของพวกเขาทั้งหมด คือให้ปล่อยอิตาลีไว้ตามลำพัง และอยู่แต่ในบ้านของตนเพราะที่จริงแล้ว ลำพังอาณาจักรฝรั่งเศสอย่างเดียวก็ใหญ่เกินกว่าที่คนๆเดียวจะปกครองได้อย่างดีอยู่แล้วทั้งนี้ก็เพื่อที่ว่าพระองค์จะได้ไม่คิดถึงการผนวกอาณาจักรอื่นๆเข้ากับฝรั่งเศสอีก แล้วลองวาดภาพว่าอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อข้าพเจ้าจะบอกให้เขารู้ถึงประกาศิตอันยิ่งใหญ่ของพวกเอคอเรียน23 ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้เกาะยูโทเปียไปทางตะวันออกเฉียงใต้ นานมาแล้วคนพวกนี้ทำสงครามเพื่อให้ได้มาซึ่งอาณาจักรอื่นๆสำหรับกษัตริย์ของพวกเขา ผู้ซึ่งอ้างสิทธิอันเก่าแก่เกี่ยวกับอาณาจักรนั้นๆว่ามีโดยการสมรส แต่เมื่อพวกเขาได้อาณาจักรมาแล้ว พวกเขาก็พบว่าการรักษาอาณาจักรนั้นไว้ยากพอๆกับการได้มาทีเดียว ผู้อยู่ใต้ปกครองใหม่นั้นก่อการกบฏอยู่เสมอ หรือไม่ก็ถูกรุกรานโดยกำลังต่างชาติอยู่ไม่ได้ขาด จนกระทั่งว่าพวกเอคอเรียนต้องทำสงครามเพื่อพวกนี้ หรือทำสงครามกับพวกนี้อยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้พวกเอคอเรียนจึงไม่อาจปลดระวางกองทัพของตน ในขณะเดียวกันภาษีที่เก็บก็สูงขึ้น เงินตราก็หลั่งไหลออกไปจากอาณาจักรและโลหิตของพวกเขาก็ต้องเสียสละไปเพื่อความรุ่งโรจน์ของกษัตริย์ของตนและสันติภาพที่มีก็ไม่เคยมั่นคง จิตใจของพวกเขาเสื่อมลงเพราะสงคราม ความกระหายที่จะปล้นสะดมและการนิยมในความรุนแรงก็ถูกทำให้แน่นแฟ้นเข้า กฎหมายของพวกเขากลายเป็นที่เย้ยหยันเพราะกษัตริย์ของเขาที่ต้องดูแลถึงสองอาณาจักร ไม่อาจที่จะให้ความสนใจที่พอเพียงแก่สักอาณาจักรเดียว เมื่อพวกเขาเห็นว่าความชั่วเหล่านี้ไม่มีวันยุติลงได้จึงตกลงกันยื่นข้อเสนอที่นอบน้อมแก่กษัตริย์ของพวกเขาให้พระองค์เลือกว่าอาณาจักรแห่งใดที่พระองค์ปรารถนาจะรักษาไว้มากที่สุด เพราะพระองค์เองไม่อาจจะรักษาไว้ได้ทั้งสองอาณาจักรพร้อมๆกัน พวกเขากล่าวว่าพวกเขามีจำนวนมากเกินกว่าที่จะปกครองโดยกษัตริย์ครึ่งพระองค์ได้ และแม้คนธรรมดาก็ยังไม่ยอมแบ่งคนขับขี่ฬ่อของตนให้คนอื่น ดังนั้นกษัตริย์องค์นี้จึงถูกบีบให้พอใจกับอาณาจักรเก่าของพระองค์และต้องมอบอาณาจักรใหม่ให้แก่สหายของพระองค์ (ซึ่งก็ถูกไล่ออกไปจากอาณาจักรนั้นในเวลาอันรวดเร็ว)

“ในที่สุดลองคิดดูสิว่าข้าพเจ้าจะบอกสภาที่ปรึกษาของกษัตริย์ฝรั่งเศสว่าสงครามนี้จะทำให้ทั้งประเทศเกิดความวุ่นวายทางสังคม จะทำให้พระคลังของกษัตริย์ต้องร่อยหรอและทำลายประชาชนของพระองค์เอง และถึงกระนั้นแล้วในบั้นปลายความโชคร้ายบางประการก็อาจจะทำให้การทำสงครามนี้เป็นไปโดยไม่ได้อะไรเลยก็ได้ ข้าพเจ้าจะหนุนให้กษัตริย์ดูแลอาณาจักรเก่าแก่ของพระองค์และทำให้มันดีขึ้นเท่าที่จะทำได้ พระองค์ควรจะรักพสกนิกรของพระองค์และเป็นที่รักของปวงชน พระองค์ควรจะอยู่ในหมู่พวกเขาและปกครองพวกเขาอย่างอ่อนโยน และปล่อยให้อาณาจักรอื่นอยู่ตามลำพังเพราะอาณาจักรของพระองค์เองก็ใหญ่พอแล้วถ้าไม่ใหญ่จนเกินไปสำหรับพระองค์ ท่านลองคิดดูสิว่าคำพูดดังกล่าวจะได้รับการต้อนรับอย่างไร ?”

“ข้าพเจ้ายอมรับว่าคงจะไม่ดีนัก” ข้าพเจ้าตอบ

“ดังนั้นขอให้เราพิจารณาต่อไป” เขากล่าว “สมมุติว่าบรรดาที่ปรึกษากำลังพิจารณาว่าจะหาเงินให้แก่พระคลังของกษัตริย์อย่างไร คนหนึ่งแนะให้เพิ่มค่าของเงินเมื่อกษัตริย์ต้องชดใช้หนี้ และลดค่าของเงินเมื่อพระองค์เก็บรายรับ อีกคนหนึ่งเสนอให้ทำท่าว่าจะเข้าสงครามเพื่อ24 จะได้เก็บเงินเพื่อการนี้และเมื่อได้เงินแล้วก็ทำให้เกิดสันติภาพเสีย เพื่อว่าประชาชนจะได้คิดว่าสันติภาพเป็นผลมาจากความมีศีลธรรมของกษัตริย์ และความคำนึงถึงชีวิตของผู้อยู่ใต้ปกครองของกษัตริย์ คนที่สามเตือนให้ระลึกถึงกฎหมายที่เก่าแก่บางข้อที่ถือว่าพ้นสมัยไปแล้ว เนื่องจากไม่ได้ใช้มานานก็ย่อมเป็นที่หลงลืมโดยผู้อยู่ใต้ปกครองและดังนั้นก็ย่อมถูกละเมิด เขาเสนอให้ลงโทษปรับแก่ผู้ที่ทำผิดกฎหมายเหล่านี้ เพื่อว่ากษัตริย์จะได้ทั้งเงินและได้ทั้งชื่อว่ารักษากฎหมายและกระทำการยุติธรรม คนที่สี่25 เสนอให้ห้ามกระทำการหลายๆอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ตรงกันข้ามกับผลประโยชน์ของรัฐโดยกำหนดโทษทัณฑ์ให้หนักเข้าไว้ แล้วจึงยกเว้นข้อห้ามเหล่านี้เพื่อแลกกับเงิน โดยวิธีเช่นนี้กษัตริย์ก็ทำให้ประชาชนชื่นชอบและได้กำไรเป็นสองเท่า พระองค์สามารถกำหนดค่าปรับอย่างสูงแก่ผู้ละเมิด และยิ่งได้ค่าปรับมากขึ้น พระองค์ก็ยิ่งดูกังวลกับความอยู่ดีกินดีของประชาชนมากขึ้น เพราะพระองค์จะไม่ทำอะไรที่ขัดกับผลประโยชน์ของส่วนรวมเว้นแต่ได้ราคาดีจริงๆ อีกคนหนึ่งเสนอให้บังคับผู้พิพากษาให้ตัดสินคดีความทั้งหมดเข้าข้างกษัตริย์ พระองค์ควรจะเรียกผู้พิพากษามาที่ราชสำนักบ่อยๆเพื่อว่าพระองค์จะได้ฟังพวกนี้โต้แย้งคดีที่พระองค์มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ และไม่ว่าข้ออ้างของพระองค์จะอยุติธรรมอย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษาคนหนึ่งหรือมากกว่านั้นโดยเหตุแห่งความรักที่จะขัดแย้งหรือโดยความหยิ่ง หรือเพราะประสงค์จะให้เป็นที่ชื่นชอบแก่กษัตริย์ก็จะพบช่องโหว่ที่จะบิดเบือนกฎหมายให้เข้าข้างกษัตริย์และถ้าหากว่าสามารถทำให้ผู้พิพากษามีความเห็นขัดกันได้คือ เมื่อสิ่งที่ชัดเจนที่สุดในโลกเป็นสิ่งที่ต้องถกเถียงกันและเมื่อสัจจะเป็นที่สงสัยเสียแล้ว เมื่อนั้นกษัตริย์ก็มีโอกาสที่จะตีความกฎหมายให้เป็นประโยชน์แก่พระองค์ได้ ผู้พิพากษาที่ไม่ยินยอมก็จะถูกทำให้หันมาเข้าข้างของกษัตริย์โดยความกลัวหรือไม่ก็โดยการข่มขู่ จากนั้นก็หวังได้ว่าเขาจะตัดสินเข้าข้างกษัตริย์อย่างอาจหาญ เหล่านี้เป็นข้ออ้างที่สะดวกสำหรับการให้คำวินิจฉัยที่เข้าข้างกษัตริย์ได้เสมอจนจะเป็นที่กล่าวกันว่า ความเที่ยงธรรมอยู่ข้างของพระองค์หรือว่าข้อบัญญัติของกฎหมายนั้นสลับซับซ้อนและคลุมเครือ หรือในที่สุดสิ่งซึ่งมีน้ำหนักเหนือกฎหมายใดๆกับผู้พิพากษาที่ตรงต่อหน้าที่ คือการอุทธรณ์ก็จะต้องจำนนต่อพระราชอำนาจพิเศษอันไม่อาจคลางแคลงได้ของพระองค์”

“ดังนั้นที่ปรึกษาทั้งหมดก็เห็นด้วยกับคำของแครสซัส26 ว่า กษัตริย์ไม่มีวันมีเงินพอเพียงเนื่องจากพระองค์ต้องบำรุงรักษากองทัพของพระองค์ กษัตริย์ไม่อาจกระทำการใดที่ไม่ยุติธรรมแม้ว่าพระองค์ปรารถนาจะทำอย่างนั้น ทรัพย์สินทั้งปวงเป็นของพระองค์แม้แต่ร่างกายของผู้อยู่ใต้ปกครองเอง ไม่มีใครมีทรัพย์สินนอกเหนือไปจากที่พระองค์เห็นควรจะเหลือให้โดยความเมตตาและกษัตริย์ก็ควรจะเหลือให้ผู้อยู่ใต้ปกครองให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ราวกับว่ามันเป็นประโยชน์ของพระองค์ที่ผู้อยู่ใต้ปกครองของพระองค์จะไม่มีทั้งทรัพย์สินหรือเสรีภาพ เพราะทรัพย์สินและเสรีภาพทำให้คนกลัวเกรงต่อการปกครองที่ทารุณและอยุติธรรมน้อยลงในขณะที่ความยากจนบีบบังคับและทำลายน้ำใจซึ่งถ้าไม่ทำเช่นนั้นแล้วจะผลักดันให้พวกเขากบฎได้”

“ทีนี้หลังจากที่ได้มีการให้คำปรึกษาเช่นนี้แล้ว ถ้าข้าพเจ้าจะลุกขึ้นและกล่าวว่าข้อเสนอที่ว่านี้ทั้งไร้เกียรติและจะนำความพินาศมาสู่กษัตริย์เล่า จะเป็นอย่างไร ? และถ้าข้าพเจ้ากล่าวว่า ทั้งเกียรติยศและความมั่นคงของพระองค์อยู่ที่ความมั่งคั่งของประชาชนมากกว่าของพระองค์เองเล่า สมมุติว่าข้าพเจ้ายืนยันว่ามนุษย์เลือกกษัตริย์มิใช่เพื่อกษัตริย์แต่เพื่อตัวเขาเอง และว่าเขาจะอยู่อย่างสะดวกสบายและปลอดภัยโดยการดูแลและความอุตสาหะของพระองค์ เพราะฉะนั้นผู้ปกครองควรจะให้ความเอาใจใส่แก่ความสุขของประชาชนมากกว่าของตนเองอย่างที่ผู้เลี้ยงแกะควรจะเอาใจใส่กับฝูงแกะมากกว่าตนเอง ย่อมเป็นการผิดแน่นอนที่จะคิดว่าความยากจนของประชาชนเป็นเครื่องรักษาสันติสุขของส่วนรวม เพราะใครเล่าจะวิวาทกันมากกว่าพวกขอทาน ? ใครเล่าที่อยากได้การเปลี่ยนแปลงอย่างแข็งขันมากไปกว่าผู้ที่ไม่พอใจ ? หรือใครกันที่พร้อมจะสร้างความวุ่นวายด้วยความกล้าอย่างไม่คิดชีวิตยิ่งไปกว่าผู้ที่ไม่มีอะไรจะสูญเสียหากมีแต่จะได้ทุกสิ่งทุกอย่างจากการกระทำนั้น ? ถ้าหากว่ากษัตริย์เป็นที่เกลียดชังและเยาะเย้ยโดยผู้อยู่ใต้ปกครองเสียจนกระทั่งว่าพระองค์จะปกครองได้ก็เฉพาะโดยการก้าวร้าวโดยการข่มขู่ โดยการยึดทรัพย์และกระทำให้ผู้คนยากจนอยู่แล้วก็ย่อมเป็นการดีกว่าที่พระองค์จะไปเสียจากอาณาจักรของพระองค์แทนที่จะยังคงรักษาชื่อของสิทธิอำนาจไว้ในเมื่อพระองค์ได้สูญเสียความสูงส่งของระบบกษัตริย์เพราะการปกครองที่ผิดพลาดของพระองค์ไปสิ้นแล้ว เป็นการไม่เหมาะสมต่อศักดิ์ศรีของกษัตริย์ที่จะปกครองขอทานแทนที่จะปกครองผู้อยู่ใต้ปกครองที่ร่ำรวยและมีความสุข ดังนั้นเฟบริซซิอัส27 ผู้มีจิตใจอันสง่างามและสูงส่งจึงกล่าวว่าเขาปกครองคนรวยดีกว่ารวยเสียเอง เมื่อผู้ปกครองชื่นชมในทรัพย์สินและความสนุกสนานในขณะที่ผู้ที่อยู่รอบๆตัวพระองค์กำลังมีความทุกข์และครวญครางเขาก็กระทำการเหมือนผู้คุมคุกมากกว่ากษัตริย์ เขาเป็นนายแพทย์ชั้นเลวที่ไม่อาจรักษาโรคให้หายนอกจากจะทำให้คนไข้มีโรคอีกอย่างหนึ่งเพิ่มขึ้นอีก กษัตริย์ผู้ปกครองประชาชนได้ก็แต่โดยเอาความสนุกสนานเพลิดเพลินไปจากชีวิตนั้นแสดงให้เห็นว่าพระองค์ไม่รู้จักว่าจะปกครองผู้ที่เป็นอิสระอย่างไร พระองค์ควรจะกำจัดความขี้เกียจหรือไม่ก็ความหยิ่งออกไปจากตัวของพระองค์เพราะความเกลียดและความเย้ยหยันของประชาชนเกิดจากข้อผิดพลาดเหล่านี้ในตัวพระองค์ พระองค์ควรจะอาศัยรายได้ของพระองค์โดยไม่ต้องทำอันตรายต่อผู้อื่นและควรจะจำกัดการใช้จ่ายของพระองค์ลงแค่เฉพาะรายได้ของพระองค์เอง พระองค์ควรจะปราบปรามอาชญากรรมและควรจะป้องกันมันโดยการกระทำอันฉลาดมากกว่าที่จะปล่อยให้มันเพิ่มขึ้นแล้วก็ต้องมาลงโทษการกระทำผิดนั้นๆ พระองค์ไม่ควรเอากฎหมายที่ยกเลิกไปแล้วเพราะไม่ได้ใช้มาใช้ใหม่อย่างหุนหันโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามันเป็นสิ่งที่ลืมกันนานไปแล้วและไม่เคยเป็นที่ต้องการเลย และพระองค์ไม่ควรจะยึดทรัพย์สมบัติใครๆโดยอ้างว่าเป็นโทษปรับเลยเป็นอันขาด ในเมื่อผู้พิพากษาถือว่านั่นเป็นความชั่วและการอ้างเช่นนั้นเป็นการฉ้อโกง”


* * * * * * * * *


19 ไดโอนิซิอัส (405 – 367 B.C.) เป็นทรราชแห่งไซราคิวส์ เพลโตเคยไปสั่งสอนแต่ไม่ได้ผล เล่ากันว่า ครั้งสุดท้ายที่เพลโตไปไซราคิวส์นั้นได้ถูกไดโอซินิอัสจับขายเป็นทาส

20 ข้อความตอนนี้ดูเหมือนว่าจะเอามาจากการกระทำของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสองและฟรานซิสที่หนึ่ง เพราะในวันที่ขึ้นครองราชย์ พระเจ้าหลุยส์ก็ใช้ยศว่าดุ๊คแห่งมิลาน ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1499 พระองค์ทำสนธิสัญญากับเวนิสและยกพลเข้ามิลาน เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ในปี ค.ศ. 1500 พระองค์ทำสนธิสัญญากับอารากอนเพื่อโจมตีเนเปิลร่วมกันและพระองค์ได้เข้าครอบครองเนเปิลเมื่อ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1501 ในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 1508 พระองค์เข้าร่วมกับสันนิบาตแห่งแคมแบร คือ เป็นสัมพันธมิตรกับสันตปาปาจูเลียสที่สอง จักรพรรดิแม็กซิมิลเลียนที่หนึ่ง และเฟอรดินานด์แห่งอารากอนต่อต้านเวนิสโดยประกาศสงครามกันเมื่อวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1509 และในปี ค.ศ. 1515 ฟรานซิลที่หนึ่งซึ่งขึ้นครองราชย์สืบต่อจากหลุยส์ที่สิบสองก็เริ่มพยายามเอามิลานซึ่งฝรั่งเศสเสียไปเมื่อสองปีก่อนกลับคืนมาทันทีโดยการเข้าโจมตีอิตาลีและปราบกองทหารรับจ้างสวิสที่มาริยานในเมื่อวันที่ 13 กันยายนปีเดียวกัน

21 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1234 เป็นต้นมา แนวาร์อยู่ในครอบครองของกษัตริย์ฝรั่งเศส ถึงแม้ว่ากษัตริย์แห่งอารากอนจะอ้างว่าเป็นของตนก็ตาม ในปี ค.ศ. 1515 เฟอร์ดินานด์ผู้เป็นกษัตริย์คาทอลิคแห่งอารากอนและแคสติลใช้ยศว่ากษัตริย์แห่งแนวาร์และในปีต่อไปก็ผนวกแนวาร์ส่วนของสเปนเข้าไว้ในดินแดนของตน

22 อาจเป็นไปได้ว่านี่หมายถึง เปอร์กิน วอร์เบ็ค (ค.ศ.1479 – 99) ผู้ซึ่งตั้งตนเป็นดุ๊คแห่งยอร์ค และได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้าชาร์ลที่แปดแห่งฝรั่งเศส เขาอยู่ฝ่ายพระเจ้าเจมส์ที่สี่แห่งสก๊อตแลนด์ เมื่อพระองค์โจมตีอังกฤษในเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 1496

23 เอคอเรียน (Achorians) มาจากภาษากรีกว่า a – choros ซึ่งแปลว่าไม่มีสถานที่

24 บางทีนี่อาจจะหมายถึงเหตุการณ์ในปี ค.ศ. 1492 เมื่อพระเจ้าเฮนรี่ที่เจ็ด กำหนดให้มีการเก็บภาษีส่วนชักเป็นพิเศษเพื่อเป็นค่าทำสงครามกับฝรั่งเศส แต่ในวันที่ 3 พฤศจิกายน ปีเดียวกันก็ทำสัญญาแห่งเอตาเปิลโดยที่พระเจ้าชาร์ลที่แปดยินยอมจ่ายเงินให้แก่พระองค์ 50,000 ฟรังต์ต่อปี

25 ที่จริงแล้วพระเจ้าเฮนรี่ที่เจ็ดใช้วิธีการหารายได้แบบนี้อย่างเต็มที่โดยมีเอ็มปิสันและดัดเลย์เป็นผู้ช่วย

26 มาร์คัส ลิซินิอัส แครสซัส (115 ? – 53 B.C.) เป็นนักการเมืองและนักการเงินชาวโรมัน

27 เฟบริซซิอัส เป็นนายพลและรัฐบุรุษโรมันในศตวรรษที่สามก่อนคริสตกาล ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความซื่อสัตย์อย่างยิ่ง


Create Date : 18 ตุลาคม 2550
Last Update : 18 ตุลาคม 2550 0:35:54 น. 0 comments
Counter : 836 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ende
Location :
สงขลา Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




I do my thing and you do your thing.
I am not in this world to live up to your expectations,
And you are not in this world to live up to mine.
You are you, and I am I,
And if by chance we find each other, it's beautiful.
If not, it can't be helped.

(Fritz Perls, 1969)
Friends' blogs
[Add ende's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.