Dr.Danai @ DNT Consultants
Group Blog
 
<<
มกราคม 2549
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
14 มกราคม 2549
 
All Blogs
 
บาปทางกลยุทธ์ต่อธุรกิจ

บาปทางกลยุทธ์ต่อธุรกิจ

ดนัย เทียนพุฒ
ไม่ว่าเศรษฐกิจจะขาขึ้นหรือขาลง ก็ตามวิธีการคิดทางกลยุทธ์ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติของธุรกิจ ยังไงก็เป็นสิ่งจำเป็น และสำคัญมากกว่าสิ่งอื่นๆ

Aj.Danai Thieanphut
DNT Consultants


ในช่วง 2-3 ปีมานี้ผู้เขียนพบสิ่งที่ธุรกิจอยากดำเนินการเป็นอันดับต้นๆ คือ เรื่องแรกเป็นการจัดทำกลยุทธ์ด้วยแนวคิดใหม่ของ Balanced Scorecard ที่จะนำธุรกิจให้สามารถสร้างมูลค่า (Value Creation) กับเรื่องที่สอง การสร้างวัฒนธรรมทางการตลาดหรือการเป็นองค์กรที่มุ่งการตลาด เรื่องที่สามการรื้อปรับระบบการบริหารทรัพยากรบุคคล รวมถึงเรื่องที่ธุรกิจมีความสนใจที่จะต่อยอดองค์ความรู้จากเรื่องความสามารถและการจัดการความรู้ให้มุ่งไปสู่สินทรัพย์ทางปัญญา (Intellectual Assets)

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสพบสิ่งที่เป็น “บาปทางกลยุทธ์ต่อธุรกิจ" ที่มีค่าควรได้รับความสำคัญจากผู้บริหารธุรกิจหรือผู้บริหารระดับสูงในองค์กร และเป็นรัฐวิสาหกิจอย่างยิ่ง

บาปประการที่ 1 : กลยุทธ์เป็นสิ่งสำคัญเพียงคำพูด

การจัดการเรื่องของกลยุทธ์ธุรกิจที่พบในทางปฏิบัติเสมอๆ คือ

1) ธุรกิจใดก็ตามที่จัดทำเรื่องกลยุทธ์แต่ซีอีโอหรือบุคคลที่สำคัญที่สุดขององค์กรไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ซึ่งอาจจะเกิดจากติดธุรกิจ นัดพบลูกค้าสำคัญหรือด้วยเหตุผลใดก็ตามจะพบว่า การจัดทำกลยุทธ์ดังกล่าวไม่เคยประสบความสำเร็จ

2) หลายธุรกิจมักผ่านการทำวิสัยทัศน์ ภารกิจ กันมาพอสมควรหรือบางธุรกิจยังมีการจัดทำดัชนีวัดผลสำเร็จ แต่จะพบว่าไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติการได้อย่างเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพจริงๆ เพราะกลยุทธ์ไม่สามารถนำไปสู่การสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจได้

3) ในองค์กรที่มีผู้บริหารที่กอดตำราเป็นสรณะและเป็นผู้ที่มีพื้นฐานมาทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพด้วยแล้ว จะพบว่าหากผู้บริหารดังกล่าวยึดตำราเป็นที่ตั้ง โดยขาดประสบการณ์ในการปฏิบัติจริงจะเป็น “ตัวป่วนองค์กร” ที่มีศักยภาพมากและไม่ยอมเปลี่ยนความคิดถึงขนาดจะรั้นตะแบงไปแบบข้างๆ คูๆ ซึ่งมีให้พบอยู่เป็นประจำ

4) ผู้บริหารรู้และเข้าใจเรื่องกลยุทธ์เป็นอย่างดี จึงปล่อยให้ระดับเจ้าหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการ และตนเองเป็นผู้ตรวจในภาพรวม สิ่งที่พบมากที่สุดคือ กลยุทธ์ที่เขียนมาจะไม่ใช่กลยุทธ์แต่จะเป็นขั้นตอนหรือกิจกรรมการปฏิบัติงานเสียนักต่อนัก

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้แสดงได้อย่างชัดเจนว่า ธุรกิจได้เกิดบาปประการที่ 1 ของกลยุทธ์ขึ้นแล้ว

ประการที่ 2 : กลยุทธ์ที่ได้มาจากที่ปรึกษาภายนอก

สิ่งที่เป็นอาชญากรรมและจุมพิตแห่งความตายของกลยุทธ์คือ มีที่ปรึกษาภายนอกมาพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจ

ทำไมกลยุทธ์ส่วนใหญ่ซึ่งพัฒนาโดยที่ปรึกษาภายนอกจึงกลายเป็น เศษกระดาษในกองขยะก็ด้วยเหตุผล 3 ประการ

1.การจ้างให้ที่ปรึกษาจัดทำกลยุทธ์ธุรกิจ แผนการตลาด แผนด้านทรัพยากรบุคคล แผนด้านไอที แต่สิ่งนี้กลับกลายเป็นรายงานสรุปเล่มโต แต่ไม่ถูกนำไปปฏิบัติเพราะไม่ได้อยู่บนฐานความรู้แท้จริงของบริษัท ธุรกิจหรืออุตสาหกรรม

2.จะไม่มีความมุ่งมั่นผูกพันกับกลยุทธ์จากผู้บริหารระดับสูงเพราะไม่ใช่กลยุทธ์ของพวกเขา

3.ที่ปรึกษาธุรกิจส่วนใหญ่ที่อ้างว่าเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมมักจะใช้ “เนื้อหา” (Content) เดิมๆ ในการให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์แก่ทุกๆ ธุรกิจ ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจึงกลายเป็น “A Me-Too Strategy” (กลยุทธ์ตามแห่)

บาปที่ยิ่งใหญ่ที่ 3 :ข้อความวิสัยทัศน์และภารกิจที่ไม่มีความหมาย

ในตลอดช่วงที่ผู้เขียนพัฒนาเรื่อง BSC & KPIs ให้กับหลายๆ ธุรกิจหรือมีโอกาสบรรยายในเวทีสัมมนาต่างๆ จะพบสิ่งที่น่าสนใจจากหลายๆ ธุรกิจคือ

ความสนใจในการพัฒนาวิสัยทัศน์ และภารกิจที่เป็นทิศทางหรือจุดมุ่งหมายขององค์กร แต่สิ่งที่เป็นอันตรายใหญ่หลวงคือ กระบวนการสร้างวิสัยทัศน์และภารกิจไม่ได้มา ซึ่งวิสัยทัศน์และภารกิจที่ดีและเหมาะสมที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ ทำให้กลับกลายเป็นว่า

-วิสัยทัศน์และภารกิจที่ได้มานั้นไม่ได้อยู่บนความเก่งและความเชี่ยวชาญขององค์กร

-บอกไม่ได้ว่าใครคือผู้รับผิดชอบหลักที่จะทำให้วิสัยทัศน์และภารกิจเป็นจริง

-บางครั้งไปนำ “คำขวัญ” “คติเตือนใจ” หรือ “นโยบายคุณภาพ” มาเป็นสิ่งกำหนดทิศทางขององค์กร

บาปประการสุดท้าย : กลยุทธ์ที่ได้มาจากผู้พัฒนาด้านซอฟต์แวร์

มีมากธุรกิจเหลือเกินที่เข้าใจว่าการซื้อซอฟต์แวร์สำเร็จรูปทางกลยุทธ์มาแล้วจะสามารถจัดทำกลยุทธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือคุ้มกับค่าเงินนับสิบล้านบาทที่จ่ายไป แต่สิ่งที่ธุรกิจสับสนและเกิดความยุ่งเหยิงทางกลยุทธ์คือ

- ธุรกิจไปใช้เครื่องมือหรือซอฟต์แวร์เป็นตัวตั้งในการกำหนดทิศทางธุรกิจและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะนำเข้าสู่ตลาดทำให้กลยุทธ์ไม่ประสบความสำเร็จ

- ผู้ที่พัฒนาซอฟต์แวร์ได้ไม่ได้หมายความว่าจะเข้าใจเนื้อหาของบริษัท ธุรกิจและอุตสาหกรรมอย่างดีพอ หรือแม้กระทั่งกระบวนการพัฒนากลยุทธ์ทำให้กระบวนการพัฒนากลยุทธ์บิดเบี้ยวและผู้บริหารส่วนใหญ่ไม่ยอมที่จะใช้ซอฟต์แวร์ดังกล่าว

สรุปได้ว่ากลยุทธ์ธุรกิจที่ดีนั้นจะต้องบอกหรืออยู่ภายใต้ทิศทางในอนาคตทั้งอนาคตที่จะมุ่งไปข้างหน้า อนาคตที่เหลียวกลับไปชำเลืองด้านหลัง อนาคตที่เหนือกว่า อนาคตด้านข้างและอนาคตโดยรอบ

ผู้บริหารธุรกิจ CEO หรือผู้บริหารระดับสูงที่เป็นบุคคลสำคัญจะต้อง

1.เป็นนักคิดเชิงกลยุทธ์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการเข้าใจกระบวนการสร้างกลยุทธ์ที่เกิดจากการปฏิบัติไม่ใช่การอ่านหรือฟังการบรรยายจากเวทีสัมมนา

2.การใช้ “เนื้อหา” ที่มาจากธุรกิจต้องมีกระบวนการพัฒนาที่ถูกต้อง (ซึ่งสามารถอ่านได้จากหนังสือของผู้เขียนในเรื่อง 4 กลยุทธ์ขั้นสูง Balanced Scorecard)

3.ไม่เคยมีธุรกิจที่พัฒนากลยุทธ์ได้ดี โดยการฝึกอบรมเพียง 1-2 วัน แต่ต้องให้เวลามากกว่านั้น ทุ่มเทอย่างจริงจังและไล่เรียงไปแต่ละบรรทัดของกลยุทธ์

4.พยายามหลีกหนี “หลุมพราง” หรือ “บาปทั้ง 4 ประการของกลยุทธ์”

จงคิดใหม่ ทำใหม่ และใช้เครื่องมือและกระบวนการที่ถูกต้องในการพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจเถอะครับ!

อ.ดนัย เทียนพุฒ
Aj.Danai Thieanphut
DNT Consultants


Create Date : 14 มกราคม 2549
Last Update : 15 พฤษภาคม 2549 9:33:30 น. 0 comments
Counter : 684 Pageviews.

dnt
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




ที่ปรึกษาธุรกิจชั้นนำด้านจัดการกลยุทธ
( ผู้นำและริเริ่มการจัดทำ Balanced
Scorecard & KPIs)
การบริหาร HR ที่เน้นความสามารถ
(Competency Based Approach)
การพัฒนา HRD-KM และ
การจัดการสมัยใหม่
*************************
Friends' blogs
[Add dnt's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.