ร่วมอาลัย 'สรจักร'
จาก...นิตยสารศรีสยาม ปีที่ 1 ฉบับที่ 16

ประจำวันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2540 (หน้า 18-19)

สัมภาษณ์พิเศษ         
                     อิสรีย์





     จากเภสัชกรหนุ่มผู้คิดจะเขียนหนังสือเพียงเพื่อเป็นรายได้เสริม แต่ด้วยความประทับใจในงานเขียนหนังสือที่เปิดโอกาสให้เขาได้ถักทอจินตนาการเข้ากับประสบการณ์ที่สั่งสมมานานและถ่ายทอดออกเป็นตัวอักษร วันนี้ สรจักร ศิริบริรักษ์ สรุปว่างานเขียนหนังสือเป็นอาชีพที่เขารักมากที่สุด

     “ผมเรียนจบจากคณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบปริญญาโทสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล รับราชการตลอดไม่เคยทำงานเอกชนเลย อัตราเงินเดือนเท่ากับเงินเดือนข้าราชการทั่ว ๆ ไป

     “แต่ก่อนไม่ได้ชอบการเขียนหนังสือ ไม่ได้คิดว่าจะมาเอาดีทางด้านนี้ แค่ว่าเราต้องการรายได้เสริม พอเขียนจริง ๆ แล้วถึงมานึกรักอาชีพนี้

     “เคยคิดว่าถ้าจะไปทำงานเสริมเภสัชกรนอกเวลาราชการก็ไม่ชอบ ผมเป็นคนรักสันโดษชอบเที่ยวป่าเที่ยวเขา ก็เลยคิดว่าจะหางานอะไรที่เอาติดตัวไปทำได้ทุกที่ และมองว่างานเขียนหนังสือน่าจะดี พอมาเขียนก็ตรงกับใจ เราไปไหนมาไหนได้ พอเสาร์อาทิตย์ก็ไปนอนเขาใหญ่ เขียนหนังสือไปด้วย

     “ตอนแรกไปสมัครเป็นนักแปลของบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อจะแปลคู่มือการใช้เครื่องมือเป็นภาษาไทย ประสบปัญหาในการแปลเพราะเราต้องแปลตามกรอบของเขาทุกประการ เราจะดัดแปลงภาษาให้ตรงตามความเข้าใจของผู้อ่านไม่ได้ ผมรู้สึกว่าน่าหงุดหงิดก็เลยคิดว่า ถ้าเราจะลองแปลเรื่องตามแบบที่เราถนัดจะเป็นยังไง พอดีตอนนั้นอ่านเรื่องของสตีเฟ่น คิง ตอนแรกตั้งใจว่าน่าจะแปลขาย อ่านไปแล้วคิดว่า เอ เราน่าจะเขียนเองได้”

     หลังจากนั้นเขาจึงเริ่มเขียนเรื่องสั้นแนวสยองขวัญ และได้ลงตีพิมพ์ในนิตยสารหลายฉบับ

     “สิ่งที่เรียนมามีส่วนช่วยในการเขียนหนังสือมาก เพราะว่างานเขียนของผมเขียนเกี่ยวกับแนวสยองขวัญ เกี่ยวกับเลือด ร่างกายมนุษย์ซึ่งผมเรียนมา วิชาจิตวิทยาก็ได้ใช้เยอะ เกี่ยวกับเรื่องของพฤติกรรมมนุษย์ก็เรียนมาโดยตรง

     “ผมชอบเขียนเรื่องสั้นแนวหักมุม เพราะเรื่องสั้นของไทยมักจะเขียนแนวสัจนิยม คือเรื่องที่เป็นจริงแล้วก็จบค่อนข้างตรงไปตรงมา ผมรู้สึกว่าแนวหักมุมที่ผมเคยอ่านมาสมัยเด็ก อย่างที่เคยอ่านในฟ้าเมืองไทย มันหายไป ก็เลยอยากเขียน มันท้าทายดี และเรื่องที่หักมุมได้ง่ายที่สุดคือแนวสยองขวัญ ซึ่งจะพลิกเรื่องได้ง่าย เรื่องแนวเพื่อชีวิตหรือแนวเรื่องทั่ว ๆ ไป มันหักมุมยาก”

     การเขียนเรื่องสั้นแนวหักมุมที่เขานำเสนอมักได้พล็อตเรื่องมาจากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ และจากเหตุการณ์จริงที่ประสบด้วยตนเอง เขาเล่าถึงประสบการณ์จากการเขียนเรื่อสั้นแนวหักมุมเรื่องหนึ่งว่า

     “เขียนเรื่อง ‘ศพข้างบ้าน’ จากเหตุการณ์ที่คนข้างบ้านตาย ผมเอาไปเขียนเป็นเรื่อง พอตำรวจได้อ่านแล้วเขามีความรู้สึกว่าผมเป็นคนฆ่าก็เลยเป็นเรื่องถึงกับมาขอพิมพ์ลายมือและมาสอบสวน เนื้อหาในเรื่องที่ผมเขียนบอกว่าคนที่ฆ่าคือสามีของผู้ตาย ตำรวจก็ลองไปสอบสวนตามแนวที่ผมเขียนไว้ ไปจับสามีของผู้ตาย วันที่เขาถูกจับมีนักข่าวโทรทัศน์ไปสัมภาษณ์เขาที่สถานีตำรวจ เขาก็ให้สัมภาษณ์ว่าสงสัยนักเขียนข้างบ้านเป็นคนฆ่า (หัวเราะ)”

     นอกจากการเขียนเรื่องสั้นแนวหักมุมแล้ว สรจักร ศิริบริรักษ์ ยังมีงานเขียนอันเป็นที่รู้จักในด้านอื่น ๆ อีกด้วย และที่ปรากฏอยู่ทุกสัปดาห์ในนิตยสารศรีสยามคือคอลัมน์ ‘ตามติด’ ซึ่งเป็นการนำเสนอแบบให้ความรู้ อ่านสนุก

     “งานเขียนของผมมีสามแนว ช่วงแรกที่เขียนคือเรื่องสั้นแนวหักมุม ต่อมาเมื่อเขียนหนังสือไปได้ระยะหนึ่งก็นึกสนุกอยากจะเขียนอย่างอื่นด้วย คุณแม่บอกเขียนแต่เรื่องหักมุมน่ากลัวเพราะว่าสยองขวัญ ท่านอยากให้ใช้ความรู้ทางด้านเภสัชกรรรมที่เรียนมาให้เป็นประโยชน์ด้วย

     “ผมคิดว่าถ้าเขียนด้านวิชาการ เช่นเรื่องสมุนไพรที่เรียนมาเป็นวิชาเอก ก็มีคนเขียนอยู่เยอะแล้ว ด้านที่ผมมองไว้ว่ายังไม่ค่อยมีคืออาหารที่ออกฤทธิ์เป็นยาได้ ผมเขียนเป็นคอลัมน์ประจำในนิตยสารได้ใช้ความรู้ในแนววิชาการจริง ๆ รู้สึกสนุก เพราะได้ค้นคว้าจากหลายแหล่งข้อมูล แม้กระทั่งในอินเตอร์เน็ต เพื่อจะนำมาเขียนเรื่องตรงนี้ก็ได้

     “แนวที่สามคือวาไรตี้ เป็นความรู้ สนุก ตลก มีผู้แนะนำมาว่าน่าจะเขียนเรื่องตลกได้ เพราะเท่าที่อ่านมาก็รู้สึกว่ามีเรื่องตลกมีอะไรขำ ๆ แทรกอยู่เรื่อย ก็เลยลองมาเขียนแนวที่สาม”

     แม้จะผ่านการเขียนเรื่องมาหลายแนว แต่เขาก็ยังมีความตั้งใจที่จะเขียนเรื่องแนวอื่น ๆ ด้วย

     “ผมอยากเขียนเรื่องแนวรัก แต่เขียนยากมากครับ เพราะถ้าเป็นแนวรักแล้วจะจบแบบหักมุมมันยาก ใจผมคิดว่าแบบหักมุมมันสนุก แล้วผู้อ่านก็คาดหวังว่าถ้าอ่านอะไรจากสรจักรแล้วก็น่าจะมีการหักมุมตอนท้าย ซึ่งถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ส่วนหนึ่งในงานเขียนของผม

     “มีนักวิจารณ์บางท่านเจอหน้ากันก็ทัก เอ หมู่นี้ไม่ค่อยหักมุมนะ คือมีความคาดหวังอยู่ตรงนี้ ใจผมชอบอยู่แล้ว และอยากให้ผู้อ่านมีทางเลือกเยอะ ๆ ด้วย เพราะค่อนข้างจะหาอ่านยาก”

     แม้จะเป็นทั้งนักเขียนเรื่องสั้นและคอลัมนิสต์ที่มีผลงานมากมาย แต่เขายังคงทำงานประจำในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชสาธารณสุขกระทรวงสาธารณสุข

     “อาชีพเภสัชกรเป็นงานที่สนุกครับ เป็นวิชาชีพที่ผมร่ำเรียนมาและสนุกกันมัน ส่วนงานเขียนหนังสือก็เป็นสิ่งที่ชอบมาก ผมอยากให้งานเขียนของผมเป็นสิ่งที่ผู้อ่านอ่านแล้วได้ประโยชน์สามารถนำไปอ้างอิงได้ พูดถึงและนำไปขบคิดต่อได้ งานทั้งสองด้านต่างก็มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เราก็ไม่เบื่อหน่าย ผมมองว่า ถ้าผมลาออกมานั่งเขียนหนังสือจริง ๆ ผมอาจจะเขียนไม่ได้ เลยไม่คิดที่จะเขียนหนังสือเป็นงานหลัก”

     วันนี้ สรจักร ศิริบริรักษ์ มีความฝันว่า อยากจะเห็นเรื่องสั้นของนักเขียนไทยมีวางจำหน่ายทั่วไปในต่างประเทศ

     “ผมมองว่าทำไมเรื่องสั้นที่เราเขียนถึงกันขายได้เฉพาะในประเทศ เราต้องอ่านเรื่องสั้นที่ไปซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศมาแปล ทั้งที่เรื่องสั้นของคนไทยเราก็ไม่ได้ด้อยกว่าเขาเลย

     “เราน่าจะมีการผลิตเพื่อขาย อาจจะขายได้หรือไม่ได้ก็ไม่รู้ แต่นั่นเป็นความฝัน ผมไม่ได้ต้องการให้เขาซื้อไปแปลเพราะเหตุผลด้านวัฒนธรรม หรือความแปลกประหลาด แต่ผมอยากให้เขาซื้อเพราะว่ามันสนุก แล้วก็มีอะไรดีพอที่จะสู้กับเขาได้เขาถึงซื้อ

     “ตอนนี้ผมก็พยายามอยู่แต่ว่าเจอปัญหาเยอะ ปัญหาที่มากที่สุดคือ วัฒนธรรมและประเพณีที่แตกต่าง ทำให้เขาอ่านไม่เข้าใจ ผมเคยส่งเรื่องของผมไปให้คนไทยที่โตในต่างประเทศแปล เขาแปลแล้วบอกว่าคงจะขายไม่ได้ เพราะมีคำถามมากมายว่าทำไมต้องทำอย่างนั้น ทำไมถึงคิดอย่างนี้ แล้วทำไมตำรวจไม่จับ ถ้าเป็นประเทศเขาจะต้องถูกฟ้องถูกดำเนินคดีต่าง ๆ มากมาย อย่างในประเทศเรา บางคนเรียกคนหลังค่อมว่าไอ้ค่อม แต่ประเทศเขา ถ้าพิมพ์คำพูดอย่างนี้ลงไป พวกสมาคมเกี่ยวกับคนพิการจะฟ้องเราทันที

     “ผมเคยลองเขียนและส่งไปที่อเมริกา และได้รับการตีพิมพ์ครั้งหนึ่ง แต่ผมรู้สึกว่ามันมีข้อจำกัดมากมาย ตอนนี้ยังรู้สึกว่าความฝันนี้ไกลเหลือเกิน ถ้าเขาเอาชื่อนักเขียนของเราไปพิมพ์ขายได้ทั่วโลก ผมจะดีใจมาก ไม่ว่าจะเป็นตัวผมหรือเป็นนักเขียนคนไหนก็ตาม”

     หากทุกคนมีความมุ่งมั่น   เชื่อว่า--ไม่นานความฝันนั้นจะกลายเป็นจริง



***********


29  พฤษภาคม  2556

คุณสรจักร  เสียชีวิต 

ทำให้ฉันนึกบทกวีที่พิธีกรงานศพมักกล่าวถึงเสมอ ๆ  ว่า

“พฤษภกาสร            อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง       สำคัญหลายในกายมี


นรชาติวางวาย         มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี         ประดับไว้ในโลกา”

(สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส : กฤษณาสอนน้องคำฉันท์)


     แม้ว่าผลงานรวมเรื่องสั้นในชุด 'วิญญาณ' ออกมาได้เพียง 2 เล่ม ไม่ครบตามความตั้งใจของท่านที่จะให้มี 3 เล่ม  ดังเช่นในชุด '3 ศพ'  และชุด '3 ผี'   แต่ฉันก็เชื่อว่านักอ่านทุกคนยังตราตรึงกับ  พลังความคิด  ชีวิตและจิตวิญญาณของท่านทุกครั้งที่เปิดอ่านหนังสือ


     น้อมคารวะคุณสรจักร  และอาลัยไว้  ณ ที่นี้






Create Date : 30 พฤษภาคม 2556
Last Update : 25 สิงหาคม 2556 13:48:39 น.
Counter : 2077 Pageviews.

2 comments
  
เคยอ่านงานของท่านค่ะ
ขอให้ไปสู่สุคตินะคะ

โดย: lovereason วันที่: 30 พฤษภาคม 2556 เวลา:23:06:18 น.
  
บางครั้งก็ยากทำใจ...แม้รู้ว่าต้องพราก

คนเรา...ไม่จากเป็น ก็ต้องจาก-ตาย
โดย: ชมภัค วันที่: 21 มิถุนายน 2556 เวลา:10:10:04 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

พ ชมภัค
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



เป็นคน...ยาก
ยากเป็น...คน
คน...เป็นยาก

โดยเฉพาะถ้าคิดจะบรรลุจุดมุ่งหมาย
...ยากยิ่งกว่ายาก

หนทางที่เต็มไปด้วยขวากหนาม ล้วนจำเป็นต้องเสียสละ เสียสละ...และเสียสละ

--------------------พระสนมเฉียนเฟย-----------


** ** ** ** **

อย่าได้คิดจะยอมแพ้และละทิ้งไปง่าย ๆ แบบนี้...

ก็อย่างที่ฉันบอกนั่นแหละ

ถ้าไขว่คว้าความฝันนี้ไม่ได้...
ก็เปลี่ยนเป็นความฝันอื่นเสียก็สิ้นเรื่อง

ยิ้มสักครั้งสิ ความสำเร็จ ชื่อเสียงไม่ใช่ปลายทาง

ทำให้ตัวเองมีความสุขต่างหาก... ถึงจะเรียกว่าคุณค่าและความหมาย

....ไม่ต้องกลัวหัวใจจะแหลกสลาย....

----------------โจว เจี๋ยหลุน (Jay Chou)-------
พฤษภาคม 2556

 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
31
 
 
30 พฤษภาคม 2556
All Blog
MY VIP Friends