พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
3 พฤศจิกายน 2556
 
All Blogs
 
พระกรณียกิจพระสังฆราช (เจริญ สุวัฑฒโน) ครูสอนวิปัสสนากัมมัฏฐาน

พระกรณียกิจพระสังฆราช (เจริญ สุวัฑฒโน) ครูสอนวิปัสสนากัมมัฏฐาน



แนวปฏิบัติในการฝึกสมาธิหรือเรียกกันสั้นๆ ว่า "สอนกัมมัฏฐาน" ในส่วนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวัฑฒโน) ทรงสนพระทัยในการฝึกปฏิบัติสมาธิหรือปฏิบัติกัมมัฏฐานตั้งแต่ยังทรงเป็นพระเปรียญ

ผู้ที่เป็นครูกัมมัฏฐานของพระองค์ คือ "สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์" พระอุปัชฌาย์ของพระองค์

ทรงเล่าว่า ครั้งหนึ่ง เมื่อสมัยที่ยังทรงเป็นพระเปรียญอยู่และกำลังสนพระทัยในการศึกษาภาษาต่างๆ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า มีรับสั่งให้เฝ้าและตรัสถามว่า "กำลังเรียนใหญ่หรือ อย่าบ้าเรียนมากนัก หัดทำกัมมัฏฐานเสียบ้าง"

รับสั่งของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าดังกล่าว เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงถือว่าเป็นเสมือน พระบัญชา และเป็นเหตุให้พระองค์ทรงสนพระทัยในการปฏิบัติกัมมัฏฐาน ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ทรงถือว่าสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นครูวิปัสสนากัมมัฏฐานพระองค์แรกของพระองค์

การปฏิบัติกัมมัฏฐาน เป็นประเพณีนิยมในพระสงฆ์คณะธรรมยุต สืบเนื่องมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผนวชอยู่

โดยขณะยังทรงผนวช ได้รื้อฟื้นประเพณีนี้ขึ้นด้วยการเอาพระทัยใส่ในการศึกษาวิปัสสนาธุระ คือ การฝึกปฏิบัติอบรมจิตใจ และทรงแนะนำศิษยานุศิษย์ให้เอาใจใส่ศึกษาปฏิบัติเช่นกัน

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ - สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ทั้งนี้ เพราะทรงถือปฏิบัติตามหลักของพระพุทธศาสนาที่ว่า พระภิกษุสามเณร มีธุระ คือ หน้าที่ที่พึงปฏิบัติ 2 อย่าง คือ 1.คันถธุระ ได้แก่การศึกษาเล่าเรียนพระคัมภีร์ เพื่อให้มีความรู้พระธรรมวินัย 2.วิปัสสนาธุระ คือ การศึกษาอบรมจิตใจตามหลักสมถะและวิปัสสนา เพื่อให้รู้แจ้งในธรรม และกำจัดกิเลสออกจากจิตใจ

สำหรับพระภิกษุสามเณรผู้สนใจในการปฏิบัติกัมมัฏฐาน แต่ไม่มีโอกาสที่จะอยู่ในสำนักวัดป่า ก็สามารถปฏิบัติได้โดยปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า "แม้จะอยู่ในบ้านในเมือง ก็ให้ทำสัญญา คือ ทำความรู้สึกกำหนดหมายในใจว่าอยู่ในป่า อยู่ในที่ ว่าง อยู่ในที่สงบ ก็สามารถทำจิตใจให้ว่างให้สงบได้"

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงปฏิบัติพระองค์ตามหลักดังกล่าวนี้ ทรงปฏิบัติพระองค์แบบพระกัมมัฏฐานในเมือง และเมื่อทรงมีโอกาส ก็จะเสด็จจาริกไปประทับ ตามสำนักวัดป่าในภาคอีสานชั่วระยะเวลาหนึ่งเสมอมา

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงรับภาระการสอน กัมมัฏฐานดังกล่าวสืบมา โดยมีกำหนด สอนในตอนค่ำของวันพระและวันหลังวันพระ (สัปดาห์ละ 2 วัน) ตลอดมาไม่ขาดสาย เป็นเหตุให้การศึกษาและการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปในหมู่พุทธศาสนิกชนทั่วไปทางหนึ่ง

กล่าวคือ การสอนเริ่มเมื่อเวลา 19.00 น. พระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชน ผู้ร่วมฟังการสอน ทำวัตรสวดมนต์แล้วพระอาจารย์เริ่มกล่าวอบรมธรรมปฏิบัติ จบแล้วพระสงฆ์ 4 รูปสวด พระสูตรที่แสดงหลักปฏิบัติทางสมถะและวิปัสสนา สวดทั้งภาคบาลีและแปลเป็นไทย เพื่อประกอบการพิจารณาในการปฏิบัติ ตอนหนึ่งจบแล้ว นั่งสงบฝึกปฏิบัติจิตใจตามเวลาที่กำหนด จบแล้ว สวดบทที่พึงพิจารณาเนืองๆ และแผ่ส่วนกุศลเป็นจบ การสอนในวันนั้น

หลักการสอนสมาธิหรือการสอนกัมมัฏฐานนั้น เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงดำเนินตามหลักสติปัฏฐาน คือการกำหนดจิตพิจารณาอยู่ในกาย ในเวทนา ในจิต และในธรรม อันเป็นหลักใหญ่หรือหลักสำคัญในการฝึกอบรมจิตหรือฝึกปฏิบัติสมาธิที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้

วิธีปฏิบัติหรือฝึกทำสมาธินั้น มีมากมายหลายวิธีสุดแต่ความสะดวกหรือความชอบ ที่เรียกว่าเหมาะกับจริตของผู้ปฏิบัติ

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงสรุปตามหลักสติปัฏฐานว่า โดยสรุปแล้วการทำสมาธิมี 2 วิธี

วิธีที่หนึ่ง คือการหยุดจิตให้อยู่ในตำแหน่งอันเดียว ไม่ให้คิดไปในเรื่องอื่น เช่นการกำหนดจิตให้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ที่เรียกว่าวิธีอานาปานสติ

วิธีที่สอง คือ พิจารณาไปในกายอันนี้ กำหนดพิจารณาดูกายแยกให้เห็นเป็นอาการหรือเป็นส่วนต่างๆ เช่น แยกให้เห็นเป็นอาการ 32 เป็นต้น

วัตถุประสงค์ของการฝึกปฏิบัติสมาธินั้น เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงสรุปว่ามี 2 อย่าง คือ

(1) ทำสมาธิเพื่อแก้อารมณ์และกิเลสของใจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น ความรัก ความโกรธ เป็นต้น ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อหน้าที่การงานหรือการศึกษาเล่าเรียน เมื่อจะทำให้อารมณ์หรือกิเลสดังกล่าวนั้นสงบลงได้ จึงต้องใช้สมาธิคือการหัดเอาชนะใจ ทำใจให้สงบจากอารมณ์ดังกล่าวนั้น

(2) ทำสมาธิเพื่อฝึกใจให้มีพลัง คือ พลังตั้งมั่น พลังรู้มากขึ้น เช่นเดียวกับร่างกายจะแข็งแรง ก็ต้องมีการฝึกออกกำลังกาย จิตใจจะมีพลัง ก็ต้องมีการฝึกหัดทำสมาธินอกจากการสอนดังกล่าวแล้ว

เรื่องดังกล่าวนี้ แม้จะเป็นเพียงหลักการฝึกปฏิบัติง่ายๆ แต่ก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงทรรศนะและความลึกซึ้งของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เกี่ยวกับการฝึกปฏิบัติสมาธิ หรือปฏิบัติกัมมัฏฐานได้เป็นอย่างดี

//www.itti-patihan.com/พระกรณียกิจพระสังฆราช-เจริญ-สุวัฑฒโน-ครูสอนวิปัสสนากัมมัฏฐาน.html




Create Date : 03 พฤศจิกายน 2556
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2556 9:18:31 น. 0 comments
Counter : 1345 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.