^_^ vechagran dot com by tingnoy
Group Blog
 
All blogs
 
GOOD GOVERNANCE

ระบบการบริหารการจัดการที่ดี (GOOD GOVERNANCE) ศัพท์คำว่า GOOD GOVERNANCE มีการใช้แพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับการบริหาร โดยใช้คำแตกต่างกัน เช่นอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี ใช้คำว่า ธรรมรัฐ นายอนันต์ ปันยารชุน ใช้คำว่า ธรรมาภิบาล ส่วนอนุกรรมการบัญญัติศัพท์ของ ก.พ. ใช้คำว่า การบริหารจัดการที่ดี ส่วนทางราชบัณฑิตยสถาน ใช้คำว่า วิธีการปกครองที่ดี โดยนัยนี้ GOOD
GOVERNANCE จึงเป็นการมองโลกสมัยใหม่ว่า เป็นโลกที่มีรูปแบบของการบริหารแตกต่างจากเดิม และมีความจำเป็นที่ต้องยึดเป้าหมายของงานเป็นหลัก ประเทศก็ต้องมีกลไกในการทำงาน ซึ่งได้แก่ รัฐบาลและระบบราชการ สิ่งที่กลไกต้องผลิตให้ได้ก็คือ บริการ การพัฒนา หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่เป็นผลจากกลไกอันนั้น ผลที่ว่านี้เราต้องคาดว่าจะเป็นผลดี คือ ประชาชนไม่ทุกข์ยาก มีฐานะร่ำรวยขึ้น ฉลาดขึ้น ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ประเทศพัฒนาขึ้น และสังคมดีขึ้น เป็นต้น
หลักการของวิธีบริหารจัดการที่ดี ประกอบด้วย
1.หลักนิติธรรม คือการตรากฎหมายและบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม รวมทั้งการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นธรรม
2.หลักคุณธรรม มีจุดมุ่งหมาย ที่จะให้การบริหารบ้านเมือง และสังคม ยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม ทั้งในแง่ของศีลธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม และปทัสถานที่สังคมยอมรับว่าเป็นแบบอย่าง หรือครรลองที่พึงปฏิบัติ
3.หลักความโปร่งใส เป็นเรื่องของการกระทำกิจการใด ๆ ด้วยความเปิดเผยต่อสาธารณชน และสามารถตรวจสอบได้ โดยเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกประเมินผลการทำงานอย่างเต็มที่
4.หลักการมีส่วนร่วม ต้องจัดให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม คนที่มีส่วนร่วมคือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานของหน่วยงานนั้น (ผู้มีส่วนร่วม เรียกว่า stakeholders)
5.หลักความรับผิดชอบและตรวจสอบได้ ผู้ใช้อำนาจต้องยินดีรับผิดชอบต่อผลการกระทำ หรือการตัดสินใจของตนเอง ไม่ว่าทิศทางใดก็ตาม
6.หลักความคุ้มค่า มีการใช้ทรัพยากรที่เกี่ยวข้องอย่างระมัดระวังและมีคุณภาพ ทั้งคุณภาพในเชิงทักษะฝีมือการทำงาน และคุณภาพในเชิงนามธรรม
7.หลักคุณภาพหรือมาตรฐาน การบริหารจัดการที่ดีต้องมีกลไกที่เกี่ยวข้องกับการประกันคุณภาพ คือต้องรู้ว่า จะต้องมีเกณฑ์อะไร มาตรฐานหรือกติกาอะไร ใครเป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อจะได้สามารถตรวจสอบได้ว่ากลไกนั้นมีอยู่ และเป็นไปอย่างที่พึงประสงค์หรือไม่
8.หลักความพึงพอใจ เมื่อองค์กรเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องอุทิศตนและเสียสละแก่องคืการ องค์กรก็จำเป็นที่ต้องตอบสนองต่อความต้องการของบุคคลในองค์กรนั้นในระดับหนึ่งด้วย การสร้างความพึงพอใจให้ทุกฝ่าย กระทำได้โดยใช้หลักดุลยภาพ การสร้างดุลยภาพนี้ ต้องมีกลไกที่ชัดเจน และถ้ามีความขัดแย้งกันของความพึงพอใจ ต้องมีกระบวนการควบคุมตรวจสอบดูแลมาตรฐานด้วย รายละเอียดในเรื่องนี้หน่วยงานแต่ละแห่งต้องกำหนดเอง
โดยรวมแล้ว หลักการของ GOOD GOVERNANCE ประกอบด้วย การบริหารที่มีความโปร่งใส การบริหารแบบมีส่วนร่วม และมีกลไกควบคุมทุกจุด เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ สามประการนี้ต้องไปด้วยกัน อาจจะเน้นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ต้องมีครบทั้งสามองค์ประกอบ
ปฏิบัติราชการ : การบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีของกระทรวงมหาดไทย
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบวาระแห่งชาติ สำหรับการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี และยังได้มีการกำหนดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีขึ้น ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2542 ที่ทุกส่วนราชการต้องถือปฏิบัติ และต้องมีการรายงานผลการปฏิบัติ ซึ่งระเบียบดังกล่าวได้กำหนดกลยุทธ์ของภาครัฐ ในการสร้างระบบการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีให้เกิดขึ้น โดยต้องมีการปฏิรูปบทบาทหน้าที่ โครงสร้างและกระบวนการทำงานของหน่วยงาน และกลไกบริหารภาครัฐ ให้เป็นกลไกการบริหารทรัพยากรของสังคมที่โปร่งใส ซื่อตรง เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และสมรรถนะสูง ในการนำการบริการของรัฐ ที่มีคุณภาพไปสู่ประชาชน มุ่งเน้นการเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยม และวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยถือเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นจุดมุ่งหมายในการทำงาน และสามารถร่วมทำงานกับประชาชน และภาคเอกชนได้อย่างราบรื่น
มาตรการ
1.เร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่ง ทำความเข้าใจและตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามหลักการของระบบบริหารกิจการบ้านเมือง และสังคมที่ดี โดยทุกหน่วยงานต้องกำหนดแผน โครงการ เพื่อปรับปรุงงานในความรับผิดชอบให้สอดคล้องกับกลักการของระเบียบนี้ และรายงานผลการดำเนินงานในรอบปีต่อคณะรัฐมนตรี
2.เร่งรัดดำเนินการตามแผนปฏิรูประบบการบริหารภาครัฐ เพื่อพลิกฟื้นให้ภาครัฐเป็นพลังและอาวุธสำคัญในการนำชัยชนะมาสู่ประเทศ เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้พัฒนาอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน
3.เร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540
4.ส่งเสริมและกำกับให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่ง กำหนดแผนการสร้างความโปร่งใส และป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบในระบบราชการ และรายงานผลการดำเนินการในรอบปีต่อคณะรัฐมนตรี

สรุประเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ.2542
ปัจจัยผลักดันให้รัฐบาลต้องส่งเสริมเรื่องการบริหารการจัดการที่ดี คือ
1.กระแสการค้าหรือเศรษฐกิจแบบเสรี ที่เน้นกลไกในเชิงตลาดที่มีการแข่งขันกัน
2.ประชาธิปไตย อันเป็นเรื่องที่นำความต้องการของประชาชนมาพิจารณา
3.โลกาภิวัตน์ ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นตัวเร่งให้เกิดความรวดเร็วในการคมนาคมและ สื่อสาร
เป้าหมายของการบริหารการจัดการที่ดี มุ่งให้เกิดสังคมที่สงบสุข สังคมที่มีคุณภาพและประชาชนสามารถดำรงชีพอย่างพอเพียงและมีคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ขอบข่ายการใช้บังคับ หน่วยงานของรัฐทุกแห่งและผู้ที่เกี่ยวข้อง
วันใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2542 เป็นต้นไป
ผู้รักษาการตามระเบียบนี้ นายกรัฐมนตรี
ที่มาของนโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี
-ประเทศไทยประสบกับปัญหาภาวะวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ส่วนหนึ่งเป็นที่ยอมรับว่าประสิทธิภาพของกลไกการบริหารกิจการบ้านเมือง การบริหารราชการ การกำหนดนโยบายสาธารณะและการประพฤติมิชอบในวงราชการ
-ต้องการพลังความร่วมมือจากภาคประชาชนในการตื่นตัว และมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งตระหนักในสิทธิหน้าที่ของตนเอง
-แนวทางการจัดระเบียบบริหารราชการและการแก้ไขปัญหาข้างต้น ต้องดำเนินการสร้างกฎเกณฑ์และกลไกที่ดี ในการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคม เพื่อให้หน่วยงานสามารถส่งสัญญาณเตือนภัย หรือปรับเปลี่ยนกลไกวิธีปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาของชาติทันท่วงที
หลักของการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี
1.หลักนิติธรรม ได้แก่ การตรากฎหมาย กฎ ข้อบังคับที่ทันสมัยและเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม และสังคมยินยอมพร้อมใจปฏิบัติตาม
2.หลักคุณธรรม ได้แก่ การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม โดยรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยึดถือและปฏิบัติ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนพัฒนาตนเองไปพร้อมกัน ด้วยการเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต จริงใจ ขยัน มีระเบียบวินัยและอดทน
3.หลักความโปร่งใส ได้แก่ การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันของคนในชาติ โดยปรับปรุงกลไกการทำงานขององค์กรทุกวงการให้โปร่งใส เปิดเผยข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา ประชาชนเข้าถึงข้อมูลอย่างสะดวก
4.หลักความมีส่วนร่วม ได้แก่ เปิดโอกาสให้ประชาชนรับรู้และเสนอข้อคิดเห็นในการตัดสินปัญหาสำคัญของชาติ
5.หลักความรับผิดชอบ ได้แก่ตระหนักในสิทธิหน้าที่ ความสำนึกในการรับผิดชอบต่อสังคม กระตือรือล้นในการแก้ไขปัญหา และเคารพความเห็นที่แตกต่าง ตลอดจนกล้ารับผิดชอบ
6.หลักความคุ้มค่า ได้แก่ บริหารจัดการทรัพยากรอันจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม ยึดมั่นในค่านิยมประหยัด
กลยุทธ 1.ภาครัฐ ปฏิรูปบทบาทหน้าที่ โครงสร้างและกระบวนการทำงานในภาครัฐ ให้มีความโปร่งใส ซื่อตรง เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล โดยเน้นการเปลี่ยนทัศนคติค่านิยมและวิธีการทำงาน โดยถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นจุดหมาย และสามารถทำงานร่วมกับประชาชนและภาคเอกชนอย่างราบรื่น
2.ภาคธุรกิจเอกชน ปฏิรูปและสนับสนุน หน่วยงานเอกชนให้มีกติกาการทำงานที่โปร่งใส ซื่อตรงต่อลูกค้า รับผิดชอบสังคม มีระบบตรวจสอบคุณภาพและได้มาตรฐาน
3.ภาคประชาชน สร้างความตระหนักในสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบต่อส่วนรวม
แนวทางปฏิบัติ 1.สร้างความตระหนักร่วมกันในสังคม
2.ออกกฎหมายที่จำเป็น
3.เร่งรัดการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงในภาครัฐ
4.เร่งแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในภาครัฐและเอกชน
5.เร่งสร้างมาตรฐานการดำเนินธุรกิจ

มาตรการสำคัญ
1.เร่งรัดหน่วยงานของรัฐทุกแห่งทำความเข้าใจ และตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องปฏิบัติตามหลักการของระบบนี้ ดังนี้
-ให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งกำหนดแผน โครงการเพื่อปรับปรุงงานให้สอดคล้องกับหลักดังกล่าว และรายงานผลต่อคณะรัฐมนตรี
-ให้สำนักงาน ก.พ.เป็นหน่วยงานกลางให้คำแนะนำ ประสานงานและติดตามประเมินผล
-รณรงค์สร้างจิตสำนึกต่อสาธารณชน
-กำหนดแนวทาง วิธีการ และขอบเขตการทำประชาพิจารณ์ ในเรื่องโครงการสาธารณะที่กระทบกว้างในสังคม
2.เร่งรัดตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
3.ดำเนินการตามแผนปฏิรูประบบบริหารภาครัฐโดยเร่งด่วน
4.เร่งรัดหน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร พ.ศ. 2540
5.ส่งเสริมและกำกับให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่ง กำหนดแผนการสร้างความโปร่งใส และป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
6.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชน ต้องส่งเสริมและกำกับดูแลให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบเสรี โดยกลไกตลาด รวมทั้งกำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม



Create Date : 23 กรกฎาคม 2551
Last Update : 23 กรกฎาคม 2551 10:12:30 น. 1 comments
Counter : 1993 Pageviews.

 
สวัสดีค่ะ แวะมาเยี่ยมค่ะ ว่าง ๆ แวะทักทายกันได้นะคะ แต่งบล็อกได้น่ารักจังเลยค่ะ


โดย: tummydeday วันที่: 18 พฤศจิกายน 2552 เวลา:14:40:46 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

tingnoy
Location :
มหาสารคาม Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]




สวัสดีคะผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมบล็อคแห่งสาระดีๆ และความรู้หลากหลายแห่งนี้คะ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวม และผู้ที่เตรียมตัวในการสอบที่มีเวลาน้อยสามารถนำแนวข้อสอบเหล่านี้ไปใช้ประกอบในการสอบได้นะคะ รวมทั้งเจ้าของบล็อคเอง ก็กำลังพยายามสู้ๆ กับการสอบคะ เป็นกำลังใจให้ทุกท่านนะคะสอบได้กันทุกคนคะ*-*
ปล.จะพยายามอัพข้อมูลลงเรื่อยๆนะคะ ติดตามเข้ามาชมได้ตลอดคะ..........
สำหรับผู้ที่เข้าเยี่ยมชมบล็อคกันแล้วขอแค่คำขอบคุณนะคะผู้ทำจะได้มีกำลังใจหาเนื้อหามาลงให้ค่ะ
Wellcome to my blog
Friends' blogs
[Add tingnoy's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.