^_^ vechagran dot com by tingnoy
Group Blog
 
All blogs
 

ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2546

ระเบียบกระทรวงมหาดไทย
ว่าด้วยเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น
พ.ศ. ๒๕๔๖
โดยที่เป็นการสมควร ปรับปรุง ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๓๖ เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๔๓ และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๐๐ มาตรา ๖ และมาตรา ๗๖ แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๖๙ และมาตรา ๗๗ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๕ และมาตรา ๘๘ แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๖ และมาตรา ๗๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. ๒๕๔๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๖”
ข้อ ๒[๑> ระเบียบนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๓๖
ข้อ ๔ ในระเบียบนี้
“ราชการส่วนท้องถิ่น” หมายความว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เมืองพัทยา และราชการส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้น แต่ไม่รวมถึงกรุงเทพมหานคร
“เงินเดือน” หมายความว่า เงินเดือนและเงินอื่นที่มีกำหนดจ่ายเป็นรายเดือนจาก เงินงบประมาณรายจ่ายหมวดเงินเดือน
“บำเหน็จบำนาญ” ถ้ามิได้ว่าไว้เป็นการเฉพาะในเรื่องใด ให้หมายถึง บำเหน็จปกติ บำนาญปกติ บำนาญพิเศษเหตุทุพพลภาพ บำเหน็จตกทอดและหรือบำนาญพิเศษ กรณีข้าราชการส่วนท้องถิ่นตาย และบำเหน็จตกทอดกรณีผู้รับบำนาญส่วนท้องถิ่นตาย
“กองทุน” หมายถึง กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนจังหวัด กองทุนบำเหน็จบำนาญพนักงานเทศบาล กองทุนบำเหน็จบำนาญพนักงานส่วนตำบล หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญราชการส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายกำหนด
ข้อ ๕ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นตามความในพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๐๐ ให้มี สำนักงานกลางตั้งอยู่ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ข้อ ๖ ให้ ปลัดกระทรวงมหาดไทยรักษาการ ตามระเบียบนี้ และมีอำนาจตีความหรือวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้ได้ ในกรณีที่มีเหตุพิเศษสมควรยกเว้นการปฏิบัติตามความในระเบียบนี้ ให้ราชการส่วนท้องถิ่น ขอทำความตกลงกับปลัดกระทรวงมหาดไทยได้เป็นกรณีๆ ไป
หมวด ๑
การตั้งงบประมาณและการนำส่งเงินสมทบ
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น
ข้อ ๗ เงินสมทบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งราชการส่วนท้องถิ่นได้หักไว้จากเงินงบประมาณทั่วไปตามความในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๑๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๐๐ ให้ตั้งจ่ายในงบประมาณรายจ่ายประจำปีของราชการส่วนท้องถิ่นนั้นๆ ในรายจ่ายงบกลางประเภทรายจ่ายตามข้อผูกพันหรือหมวดรายจ่ายอื่น แล้วแต่กรณี โดยให้เรียกชื่อว่า “เงินสมทบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น” และให้ตั้งจ่ายเฉพาะราชการส่วนท้องถิ่นที่มีข้าราชการส่วนท้องถิ่นปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น
ข้อ ๘ เงินสมทบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่ได้หักและตั้งจ่ายไว้ตามข้อ ๗ เมื่อได้หักไว้เพื่อจ่ายเป็นเงินบำเหน็จบำนาญแก่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นหรือผู้มีสิทธิจะได้รับตามความในพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๘ และเงินเพิ่มบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น ตามความในหมวด ๗ แห่งระเบียบนี้แล้ว ส่วนที่เหลือเท่าใด ให้หัวหน้าราชการส่วนท้องถิ่นนั้นๆ จัดการเบิกถอนนำส่งสมทบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นโดยเช็คหรือดราฟต์ขีดคร่อมในนามกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับภายในเดือนธันวาคมของปีงบประมาณและให้ระบุไว้โดยชัดเจนว่าเป็นเงินสมทบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นของราชการส่วนท้องถิ่นใด เป็นเงินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ใด งบประมาณตั้งจ่ายเท่าใด หักจ่ายเป็นบำเหน็จหรือบำนาญรายใดแต่ละรายเป็นเงินเท่าใด รวมเงินหักจ่ายบำเหน็จบำนาญเท่าใด แล้วรายงานให้จังหวัดทราบทุกครั้งที่มีการนำส่งเงินด้วย
ในกรณีที่ราชการส่วนท้องถิ่นใดมีเงินงบประมาณสมทบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นไม่พอจ่ายตลอดปี หรือมีรายจ่ายเกิดขึ้นใหม่หลังจากที่ได้ส่งเงินไปสมทบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นแล้ว ให้หัวหน้าราชการส่วนท้องถิ่นนั้นๆ รายงานจังหวัดเพื่อแจ้งไปยังสำนักงานกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นพิจารณาเสนอคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นสั่งจ่ายเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นเพิ่มให้ต่อไป และในกรณีที่วงเงินที่ได้หักไว้จ่ายตามความในวรรคหนึ่งเหลือจ่ายเมื่อวันสิ้นปีเป็นจำนวนเท่าใดให้นำส่งสำนักงานกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น แล้วรายงานจังหวัดทราบอีกส่วนหนึ่งต่างหากเช่นเดียวกัน
ข้อ ๙ ให้คณะกรรมการตามความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๐๐ มีชื่อเรียกโดยย่อว่า “ก.บ.ท.”
ให้คณะกรรมการตามความในวรรคหนึ่งเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นรองประธานกรรมการและเลือกผู้ที่เห็นสมควรคนหนึ่งเป็นเลขานุการ
ข้อ ๑๐ ก.บ.ท. มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
(๑ พิจารณาจ่ายเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นไปเพิ่มให้แก่ราชการส่วนท้องถิ่น หน่วยที่มีวงเงินไม่พอจ่ายเป็นบำเหน็จบำนาญแก่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นในสังกัดหน่วยงานนั้น หรือจะมอบอำนาจการจ่ายเงินดังกล่าวให้แก่ประธาน ก.บ.ท. ก็ได้
(๒) พิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นให้
ราชการส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นรวมทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการส่วนจังหวัด จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานเทศบาล จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดกู้ไปดำเนินกิจการต่างๆ ภายในกำหนดเวลากู้ไม่เกินสิบห้าปี ดอกเบี้ยในอัตราไม่เกินร้อยละสิบเก้าต่อปี
(๓) พิจารณากำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายประจำปีของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นในอัตราไม่เกินร้อยละสามสิบแห่งยอดเงินรายได้ประจำปี
วงเงินค่าใช้จ่ายประจำปีให้จัดทำเป็นประมาณการรายจ่ายประจำปีตามระเบียบที่คณะอนุกรรมการดำเนินการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น (อ.บ.ท.) กำหนด
(๔) พิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นประเภทดังกล่าวไว้ในมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๐๐ ในกรณีดังต่อไปนี้
(ก) ในกรณีที่เงินสมทบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่ได้รับจากราชการส่วนท้องถิ่น ตามความในข้อ ๘ วรรคหนึ่ง ในปีใดไม่พอที่จะโอนไปเพิ่มจ่ายให้กับราชการส่วนท้องถิ่น ตามความในข้อ ๘ วรรคสอง
(ข) ในกิจการซึ่งคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์กับกิจการของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น โดยเป็นงานเร่งด่วนและประมาณการรายจ่ายที่ได้ตั้งจ่ายไว้ในข้อ ๑๐ (๓) ไม่พอจ่ายหรือไม่ได้ตั้งจ่ายไว้
ข้อ ๑๑ ให้มีอนุกรรมการดำเนินการขึ้นคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะอนุกรรมการดำเนินการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น” เรียกโดยย่อว่า “อ.บ.ท.” ประกอบด้วยอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็นประธาน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นคนหนึ่งที่ประธาน ก.บ.ท. เห็นชอบเป็นรองประธาน ผู้อำนวยการส่วนบำเหน็จบำนาญและสวัสดิการเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ และอนุกรรมการอื่นซึ่งประธาน ก.บ.ท. จะได้พิจารณาแต่งตั้งขึ้น ไม่เกินห้าคน
ข้อ ๑๒ อ.บ.ท. มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
(๑) รับ จ่าย และเก็บรักษาเงินทุน เฉพาะการจ่ายเงินทุนจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจาก ก.บ.ท. แล้วเท่านั้น และให้ประธาน อ.บ.ท. หรือรองประธาน อ.บ.ท. ในกรณีที่ประธาน อ.บ.ท. ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้พิจารณาสั่งจ่าย
(๒) พิจารณากำหนดระเบียบต่างๆ เพื่อใช้ปฏิบัติในการจัดดำเนินกิจการกองทุน
(๓) พิจารณากำหนดแบบบัญชีกองทุน และควบคุมบัญชีการเงินของกองทุน
(๔) เก็บรักษาเอกสารต่างๆ
(๕) พิจารณากำหนดตัวพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ดำเนินกิจการต่างๆ ของกองทุน
(๖) จัดให้มีการตรวจสอบบัญชีการเงินของกองทุน และเสนอรายงานของผู้สอบบัญชีพร้อมด้วยงบดุล งบรายได้และรายจ่าย และรายงานกิจการประจำปีของกองทุนให้ประธาน ก.บ.ท. ทราบและจัดส่งงบดุลแสดงฐานะการเงินของกองทุนแต่ละปีให้ราชการส่วนท้องถิ่นที่จัดส่งเงินสมทบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นทุกหน่วยทราบภายในปีงบประมาณถัดไป
(๗) รวบรวมเรื่องต่างๆ ที่ควรเสนอต่อที่ประชุม ก.บ.ท.
(๘) ดำเนินกิจการใดๆ ตามที่ ก.บ.ท. มอบหมาย
ข้อ ๑๓ การประชุมของ ก.บ.ท. ตามความในข้อ ๑๒ (๗) แห่งระเบียบนี้ให้ประธาน ก.บ.ท. เป็นผู้กำหนดและเรียกประชุมเป็นครั้งคราวตามความจำเป็นและการประชุมของคณะกรรมการ ก.บ.ท. และคณะอนุกรรมการ อ.บ.ท. ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนจึงเป็นองค์ประชุมการลงมติใดๆ ให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ ๑๔ ในกรณีที่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ใดจะครบเกษียณอายุการทำราชการจากราชการส่วนท้องถิ่นนั้นๆ ต้องรายงานผ่านจังหวัดไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อแจ้งให้ ก.บ.ท. ทราบล่วงหน้าอย่างน้อยสามเดือนก่อนครบเกษียณอายุ เมื่อครบกำหนดเกษียณอายุและราชการส่วนท้องถิ่นได้สั่งให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้นั้นออกจากราชการแล้ว ให้รายงานผ่านจังหวัดไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อแจ้ง ก.บ.ท. ทราบอีกครั้งหนึ่งข้อ ๑๕ ราชการส่วนท้องถิ่นใดจะสั่งให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญปกติหรือบำนาญพิเศษ ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๘ ต้องระบุไว้ในคำสั่งให้ชัดแจ้งว่าให้ออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญด้วยเหตุอย่างใด มาตราใดและให้ส่งสำเนาคำสั่งนั้นๆ ไปยังจังหวัดเพื่อรายงานสำนักงานกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นทราบทุกราย
หมวด ๒
การขอรับบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น
ส่วนที่ ๑
บำเหน็จบำนาญปกติ
ข้อ ๑๖ ให้ผู้ซึ่งประสงค์จะขอรับบำเหน็จบำนาญปกติ ยื่นเรื่องตามแบบ บ.ท. ๑ และแบบ บ.ท. ๒ พร้อมทั้งสำเนาคำสั่งบรรจุหรือแต่งตั้งเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น โดยยื่นต่อราชการส่วนท้องถิ่นหน่วยที่ตนสังกัดครั้งสุดท้าย รวมสามชุดและให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการขอรับบำเหน็จบำนาญรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
(๑) สมุดประวัติหรือบัตรประวัติข้าราชการส่วนท้องถิ่น
(๒) ใบรับรองสมุดประวัติ อัตราเงินเดือน เงินเพิ่ม (ถ้ามี) และเวลาทวีคูณระหว่างประจำปฏิบัติหน้าที่ในเขตที่ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกตามแบบ บ.ท. ๓
(๓) สำเนาคำสั่งเลื่อนเงินเดือนในวันที่ ๓๐ กันยายน ของปีที่ออกจากราชการส่วนท้องถิ่นสำหรับผู้ที่ครบเกษียณอายุ
(๔) สำเนาคำสั่งที่ให้ออก หรืออนุญาตให้ลาออกจากราชการส่วนท้องถิ่นแล้วแต่กรณี
(๕) ต้นฉบับหรือสำเนาภาพถ่ายใบแสดงความเห็นของแพทย์ที่ทางราชการรับรอง ซึ่งตรวจและให้ความเห็นว่า ไม่สามารถจะรับราชการในหน้าที่ได้ต่อไปสำหรับผู้ที่ออกจากราชการเพราะเหตุทุพพลภาพ
(๖) หลักฐานการตรวจสอบและรับรองเวลาราชการของกรมการเงินกลาโหมกระทรวงกลาโหมสำหรับผู้ที่เคยรับราชการทหารกองประจำการก่อนหรือภายหลังที่เข้ารับราชการแล้ว
(๗) หลักฐานเกี่ยวกับการถูกสั่งพักราชการ ให้ออกจากราชการไว้ก่อน ให้ออกปลดออก หรือไล่ออก และหลักฐานการรับเงินเดือนระหว่างนั้น สำหรับผู้ที่เคยถูกสั่งพัก หรือออกจากราชการในลักษณะดังกล่าว เว้นแต่ได้บันทึกไว้ในสมุดประวัติโดยชัดแจ้งแล้ว
(๘) หลักฐานการอนุมัติของ ก.พ. หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้วแต่กรณี สำหรับผู้ที่มีสิทธิได้นับเวลาอุดมศึกษาในต่างประเทศ
(๙) หลักฐานเกี่ยวกับการที่ทางราชการส่วนท้องถิ่นสั่งให้ไปทำการใดๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีซึ่งได้นับเวลาระหว่างนั้นเหมือนเต็มเวลาราชการ สำหรับผู้ที่ได้ไปปฏิบัติงานดังกล่าว ดังนี้
(ก) คำสั่งให้ออกจากราชการส่วนท้องถิ่นเพื่อไปทำการนั้นๆ
(ข) คำสั่งให้กลับเข้ารับราชการส่วนท้องถิ่นตามเดิม หรือหลักฐานการแสดงเจตนาขอรับบำเหน็จบำนาญ หรือหลักฐานการออกจากงานทางหน่วยที่ไปปฏิบัตินั้นๆ แล้วแต่กรณี
(๑๐) หลักฐานการมีสิทธิได้นับเวลาทวีคูณสำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนดในระหว่างที่มีการรบ หรือการสงคราม หรือการปราบจลาจล หรือในระหว่างที่มีพระบรมราชโองการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือในระหว่างที่สั่งให้เป็นนักดำเรือดำน้ำ ซึ่งรับรองโดยกรมการเงินกลาโหม กระทรวงกลาโหม
(๑๑) หลักฐานการมีสิทธิได้นับเวลาทวีคูณสำหรับผู้ปฏิบัติราชการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งรับรองโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน
(๑๒) หลักฐานการมีสิทธิได้นับเวลาทวีคูณสำหรับผู้ปฏิบัติราชการลับหรือปฏิบัติราชการตามแผนป้องกันประเทศ หรือปฏิบัติราชการกรณีอื่น ตามแบบที่กระทรวงกลาโหมขอทำความตกลงกับกระทรวงมหาดไทย หรือตามที่แจ้งให้กระทรวงมหาดไทยทราบแล้ว

(๑๓) หลักฐานการพิจารณาขององค์กรกลางบริหารงานบุคคลราชการส่วนท้องถิ่น (ก.จ.จ. หรือ ก.ท.จ. หรือ ก.อบต. จังหวัด หรือ ก.เมืองพัทยา) สำหรับผู้ที่มีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงก่อนออกจากราชการหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการเพราะหย่อนความสามารถ หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมหรือบกพร่องในหน้าที่หรือมีมลทินมัวหมอง หรือกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งมีระเบียบให้ส่วนราชการเจ้าสังกัดรายงานผลการปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการนั้นๆ ทราบ หรือหลักฐานการประกันด้วยบุคคลหรือทรัพย์สินสำหรับผู้ที่เจ้าสังกัดยังไม่ได้รายงานผลการปฏิบัติ หรือรายงานแล้วแต่องค์กรกลางบริหารงานบุคคลนั้นๆ ยังพิจารณาหรือดำเนินการในเรื่องดังกล่าวไม่เสร็จสิ้น
(๑๔) หลักฐานการชดใช้เงินคืนกรณีลาศึกษาหรือดูงานแล้วกลับมาปฏิบัติราชการ ชดใช้ไม่ครบตามสัญญา
(๑๕) แบบคำนวณการตรวจสอบบำเหน็จบำนาญ (แบบ บ.ท. ๔)
ให้เสนอต่อจังหวัดภายในสิบห้าวันนับแต่วันได้รับเรื่อง
ส่วนที่ ๒
บำนาญพิเศษเหตุทุพพลภาพ
ข้อ ๑๗ กรณีที่ผู้ออกจากราชการส่วนท้องถิ่นอยู่ในข่ายมีสิทธิจะได้รับบำนาญพิเศษ ให้ผู้มีสิทธิและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบดำเนินการตามข้อ ๑๖ และให้แนบหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
(๑) คำสั่งของผู้บังคับบัญชาหรือหลักฐานเกี่ยวกับการไปปฏิบัติราชการ
(๒) รายงานหรือรายละเอียดการปฏิบัติหน้าที่ราชการจนเป็นเหตุให้ถูกประทุษร้ายหรือได้รับอันตราย
(๓) รายงานของผู้ร่วมงานหรือผู้รู้เห็นเหตุการณ์ใกล้ชิด (ถ้ามี)
(๔) รายงานการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรณีที่ถูกประทุษร้าย หรือได้รับอันตรายนั้นเกิดจากการกระทำผิดอาญาของผู้หนึ่งผู้ใด หรือสำเนาคำพิพากษาคดีนั้น
(๕) หลักฐานการสอบสวนพร้อมทั้งสรุปความเห็นของคณะกรรมการซึ่งผู้บังคับบัญชาได้แต่งตั้งขึ้นสอบสวนว่าการถูกประทุษร้ายหรือได้รับอันตรายนั้นเกิดจากความผิด หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้นั้นเองหรือไม่ ในกรณีที่ไม่อาจแนบหลักฐานตาม (๔) หรือหลักฐานตาม (๔) ไม่ปรากฏชัดว่าการถูกประทุษร้ายหรือได้รับอันตรายนั้นเกิดจากความผิดหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้นั้นเองหรือไม่
(๖) ใบรับรองของแพทย์ที่ทางราชการรับรอง ซึ่งได้ตรวจและให้ความเห็นว่าผู้นั้นได้รับอันตรายเสียแขน ขา หูหนวกทั้งสองข้าง ตาบอด หรือได้รับการป่วยเจ็บถึงทุพพลภาพไม่สามารถจะรับราชการต่อไปได้
(๗) คำสั่งเลื่อนเงินเดือนกรณีพิเศษ (ถ้ามี)
ให้เสนอต่อจังหวัดภายในสิบห้าวันนับแต่วันได้รับเรื่อง
ส่วนที่ ๓
บำนาญพิเศษ
ข้อ ๑๘ การขอรับบำนาญพิเศษ กรณีข้าราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งออกจากราชการโดยได้รับบำเหน็จหรือบำนาญปกติไปแล้ว ป่วยเจ็บถึงทุพพลภาพ อันเป็นผลเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างที่ผู้นั้นรับราชการ ภายในสามปี นับแต่วันออกจากราชการนอกจากจะต้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามข้อ ๑๗ แล้ว ให้แนบหลักฐานเพิ่มเติมดังนี้
(๑) หลักฐานการสอบสวนของราชการส่วนท้องถิ่นที่เคยสังกัดว่าการป่วยเจ็บเกิดขึ้นเพราะเหตุปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือไม่
(๒) หลักฐานแสดงว่าการป่วยเจ็บได้เกิดขึ้นภายในสามปี นับแต่วันออกจากราชการ
(๓) หลักฐานแสดงวันเดือนปีที่เจ้าตัวได้ยื่นขอรับบำนาญพิเศษ
ให้เสนอต่อจังหวัดภายในสิบห้าวันนับแต่วันได้รับเรื่อง
ส่วนที่ ๔
บำเหน็จตกทอดกรณีข้าราชการส่วนท้องถิ่นตาย
ข้อ ๑๙ การขอรับบำเหน็จตกทอดให้ทายาทผู้มีสิทธิ หรือผู้ที่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นได้แสดงเจตนาไว้ แล้วแต่กรณี ยื่นเรื่องขอรับบำเหน็จตกทอดด้วยตนเองตามแบบ บ.ท. ๑ แบบ บ.ท. ๒ และแบบ บ.ท. ๕ ต่อราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ตายสังกัดอยู่ครั้งสุดท้าย พร้อมด้วยสำเนามรณบัตรรวม ๓ ชุด และให้คำรับรองว่าจะชดใช้เงินที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิตลอดจนค่าเสียหายต่างๆ คืนแก่ราชการส่วนท้องถิ่น ตามแบบ บ.ท. ๖ หรือแบบหนังสือรับรองการชดใช้เงินคืนให้แก่ทางราชการ (สำหรับผู้เยาว์คนเสมือนไร้ความสามารถ คนไร้ความสามารถให้ผู้ปกครองในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้พิทักษ์ หรือผู้อนุบาล ลงชื่อแทนหรือให้ความยินยอม แล้วแต่กรณี) เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบได้รับเรื่องขอรับบำเหน็จตกทอดจากผู้ยื่นแล้ว ให้สอบสวนบันทึกปากคำของผู้ยื่นในหัวข้อรายละเอียด ดังนี้
(๑) ผู้ตายได้ตายด้วยเหตุใด
(๒) ชื่อตัว ชื่อสกุลของบิดาและมารดาของผู้ตายชื่ออะไรและยังมีชีวิตหรือถึงแก่กรรมไปแล้ว ตั้งแต่เมื่อใด
(๓) ผู้ตายมีสามีหรือภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ถ้ามี ชื่อตัวชื่อสกุลอะไร และให้มีหลักฐานใบสำคัญการสมรสประกอบด้วย หากไม่มีหลักฐานให้ชี้แจงเหตุผลโดยชัดแจ้ง
(๔) ผู้ตายมีบุตรกี่คน ชื่ออะไร เกิดวันเดือนปีใด ถ้าเป็นบุตรเกิดก่อนสมรสขอให้สอบสวนโดยละเอียดต่อไปด้วยว่าต่อมาบิดามารดาได้สมรสกัน หรือได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรหรือไม่ ทั้งนี้ ให้ส่งหลักฐานต่างๆ เช่น สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาใบสำคัญการสมรส สำเนาทะเบียนการรับรองบุตร หรือคำพิพากษาของศาล และเอกสารที่เกี่ยวข้องอื่นใดประกอบการพิจารณาด้วย
ให้เจ้าหน้าที่รวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้ องตามข้อ ๑๖ และแนบหลักฐานเพิ่มเติมดังนี้
(๑) หลักฐานเกี่ยวกับการตาย
(ก) สำเนามรณบัตร กรณีตายโดยเหตุปกติ หรือสำเนามรณบัตรประกอบหลักฐานการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น รายงานการชันสูตรพลิกศพ รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี รายงานการสอบสวน ฯลฯ กรณีตายโดยผิดธรรมชาติ
(ข) สำเนาคำสั่งศาลสำหรับผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ
(ค) หลักฐานการสอบสวน พร้อมทั้งสรุปความเห็นของคณะกรรมการที่ผู้บังคับบัญชาแต่งตั้งเพื่อสอบสวนพฤติการณ์และกรณีแวดล้อมทั่วๆ ไป สำหรับผู้ที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าการตายมีสาเหตุเนื่องจากการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงของตนเองหรือไม่
(ง) หลักฐานการวินิจฉัยขององค์กรกลางบริหารงานบุคคลราชการส่วนท้องถิ่น (ก.จ.จ. หรือ ก.ท.จ. หรือ ก.อบต.จังหวัด หรือ ก.เมืองพัทยา) ถ้าผู้นั้นไม่ถึงแก่ความตายเสียก่อนจะต้องได้รับโทษถึงไล่ออกจากราชการหรือไม่ สำหรับผู้ตายที่มีกรณีหรือต้องหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงและยังไม่ได้รับการวินิจฉัยเรื่องที่กระทำผิดนั้น
(๒) หลักฐานเกี่ยวกับทายาท
(ก) สำเนาทะเบียนบ้านของบิดามารดา กรณียังมีชีวิตอยู่หรือสำเนามรณบัตร หรือหนังสือรับรองการตายของผู้ที่ควรเชื่อถือได้ (เช่น พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง) กรณีที่ตายไปก่อนแล้ว
(ข) หลักฐานการเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายได้แก่
๑. สำเนาทะเบียนสมรสหรือใบสำคัญการสมรสของบิดามารดาหรือสำเนาทะเบียนฐานะของภริยา (มารดาของผู้ตาย) หรือ
๒. หนังสือรับรองของผู้ควรเชื่อถือได้ ที่รับรองว่าบิดามารดาสมรสก่อนวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ หรือ
๓. สำเนาทะเบียนบ้าน หรือสูติบัตรของบุตรร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายซึ่งเกิดภายในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ หรือก่อนนั้น
(๓) หลักฐานเกี่ยวกับคู่สมรส
(ก) สำเนาทะเบียนสมรสหรือใบสำคัญการสมรส
(ข) สำเนาทะเบียนบ้าน
(ค) สำเนามรณบัตรหรือหนังสือรับรองการตายของผู้ที่ควรเชื่อถือได้กรณีที่คู่สมรสตาย
ไปก่อน
(ง) สำเนาทะเบียนการหย่า หรือใบสำคัญการหย่าหรือคำสั่งศาลกรณีที่มีการหย่า
(จ) สำเนาคำพิพากษา หรือคำสั่งที่แสดงว่าคู่สมรสคนใดเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย กณีที่มีการสมรสซ้อน
(๔) หลักฐานเกี่ยวกับบุตร
(ก) สำเนาทะเบียนสมรสหรือใบสำคัญการสมรสของผู้ตายกับมารดาของบุตร หรือสำเนาทะเบียนการรับรองบุตร หรือสำเนาคำพิพากษาของศาลว่าเป็นบุตร
(ข) บันทึกรับรองการมีบุตรชอบด้วยกฎหมายในครรภ์มารดา (ถ้ามี)
(ค) สำเนามรณบัตรหรือหนังสือรับรองการตายของผู้ที่ควรเชื่อถือได้กรณีที่บุตรตาย
(ง) สำเนาทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม กรณีที่มีบุตรบุญธรรม
(๕) หลักฐานการเป็นผู้ปกครองโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือผู้พิทักษ์ หรือผู้อนุบาล แล้วแต่กรณี ซึ่งลงชื่อให้ความยินยอมในการขอรับ หรือขอรับบำเหน็จตกทอดแทนผู้มีสิทธิ ได้แก่สำเนาทะเบียนการรับรองบุตร สำเนาทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม หรือสำเนาคำสั่งศาลตั้งผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ หรือผู้อนุบาล แล้วแต่กรณี
ให้เสนอต่อจังหวัดภายในสิบห้าวันนับแต่วันได้รับเรื่อง
ส่วนที่ ๕
บำนาญพิเศษกรณีข้าราชการส่วนท้องถิ่นตาย
ข้อ ๒๐ การขอรับบำนาญพิเศษกรณีข้าราชการส่วนท้องถิ่นตาย นอกจากหลักฐานที่เกี่ยวข้องซึ่งต้องแนบตามข้อ ๑๗ (๑) ถึงข้อ ๑๗ (๕) และข้อ ๑๙ แล้วให้แนบหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ดังนี้
(๑) ใบแสดงความเห็นหรือรายงานของแพทย์ที่ทางราชการรับรอง ซึ่งแสดงว่าการป่วยเจ็บถึงตายเกิดขึ้นเพราะเหตุปฏิบัติราชการในหน้าที่
(๒) รายงานการปฏิบัติหน้าที่ราชการในระยะก่อนตายเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสัปดาห์สำหรับผู้ที่ราชการส่วนท้องถิ่นพิจารณาเห็นว่าถึงแก่ความตายเพราะปฏิบัติงานในลักษณะตรากตรำเร่งรัดหรือเคร่งเครียดเกินกว่าปกติธรรมดา
(๓) หลักฐานการสอบสวนในกรณีสูญหายว่าสูญหายตั้งแต่เมื่อใด และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้นั้นได้รับอันตรายถึงตายหรือไม่
(๔) คำสั่งเลื่อนเงินเดือนกรณีพิเศษ (ถ้ามี)
ให้เสนอต่อจังหวัดภายในสิบห้าวันนับแต่วันได้รับเรื่อง
ข้อ ๒๑ การขอรับบำนาญพิเศษกรณีข้าราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งออกจากราชการโดยได้รับบำเหน็จหรือบำนาญปกติไปแล้ว ป่วยเจ็บถึงตายอันเป็นผลเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างที่ผู้นั้นรับราชการภายในสามปี นับแต่วันออกจากราชการ นอกจากหลักฐานที่เกี่ยวข้องซึ่งต้องแนบตามข้อ ๑๙ แล้ว ให้แนบหลักฐานเพิ่มเติม ดังนี้
(๑) หลักฐานการสอบสวนของราชการส่วนท้องถิ่นที่เคยสังกัดว่าการป่วยเจ็บถึงตายเกิดขึ้นเพราะเหตุปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือไม่
(๒) หลักฐานซึ่งแสดงว่า การป่วยเจ็บถึงตายได้เกิดขึ้นภายในสามปี นับแต่วันออกจากราชการ
(๓) หลักฐานซึ่งแสดงวันเดือนปีที่ทายาทได้ยื่นขอรับบำนาญพิเศษ
ให้เสนอต่อจังหวัดภายในสิบห้าวันนับแต่วันได้รับเรื่อง
ส่วนที่ ๖
บำเหน็จตกทอดกรณีผู้รับบำนาญตาย
ข้อ ๒๒ เมื่อผู้รับบำนาญถึงแก่ความตาย ให้ทายาทหรือผู้มีสิทธิรับบำเหน็จตกทอดแจ้งให้ราชการส่วนท้องถิ่นผู้เบิกจ่ายบำนาญทราบ และให้ผู้เบิกจ่ายบำนาญแจ้งการหมดสิทธิรับบำนาญของผู้นั้นให้สำนักงานกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นทราบโดยเร็ว
ข้อ ๒๓ ให้ทายาทผู้มีสิทธิของผู้รับบำนาญซึ่งถึงแก่ความตายหรือผู้ที่ผู้รับบำนาญซึ่งถึงแก่ความตายได้แสดงเจตนาไว้ให้มีสิทธิยื่นคำขอรับบำเหน็จตกทอดพร้อมทั้งให้คำรับรองว่าจะชดใช้เงินที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิตลอดจนค่าเสียหายต่างๆ คืนแก่ราชการส่วนท้องถิ่นตามแบบ บ.ท. ๖ (สำหรับผู้เยาว์ คนเสมือนไร้ความสามารถหรือคนไร้ความสามารถ ให้ผู้ปกครองในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาล ลงชื่อแทนหรือให้ความยินยอม แล้วแต่กรณี) ยื่นต่อราชการส่วนท้องถิ่นที่ผู้ตายรับบำนาญครั้งสุดท้าย และให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบรวบรวมหลักฐานเช่นเดียวกับกรณีข้าราชการส่วนท้องถิ่นตายตามข้อ ๑๙ แนบแบบคำขอ
ให้เสนอต่อจังหวัดภายในสิบห้าวันนับแต่วันได้รับเรื่อง
หมวด ๓
การสั่งจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น
ข้อ ๒๔ เมื่อราชการส่วนท้องถิ่น ได้รับเรื่องการขอรับบำเหน็จบำนาญจากผู้ขอและผู้ยื่นตามความในหมวด ๒ แห่งระเบียบนี้แล้ว ให้บันทึก วัน เดือน ปี ที่ได้รับเรื่องแล้วตรวจสอบและสอบสวนหลักฐานต่างๆ เพื่อนำเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาภายในกำหนดเวลาไม่เกินสิบห้าวันนับแต่วันรับเรื่อง
ข้อ ๒๕ ให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นใช้สมุดประวัติที่มีการรับรองโดยถูกต้องเป็นหลักฐานในการตรวจสอบเวลาราชการสำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญของข้าราชการส่วนท้องถิ่นได้เว้นแต่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นนั้นๆ จะไม่มีสมุดประวัติหรือมีแต่สมุดประวัติไม่ถูกต้องสมบูรณ์ หรือในกรณีที่หลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับเวลาราชการขัดแย้งหรือไม่ตรงกันก็ให้ราชการส่วนท้องถิ่นที่รับเรื่องขอรับบำเหน็จบำนาญสอบไปยังหน่วยราชการหรือราชการส่วนท้องถิ่นที่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้นั้นเคยรับราชการอยู่ เพื่อรับรองเวลาราชการของข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้นั้นเป็นหลักฐานก่อน เมื่อได้รับหลักฐานดังกล่าวแล้ว ให้รีบดำเนินการรวบรวมเรื่องขอรับบำเหน็จบำนาญหรือบำเหน็จตกทอดพร้อมด้วยหลักฐานต่างๆ โดยเสนอความเห็นไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ว่าสมควรจ่ายเงินบำเหน็จ บำนาญ หรือบำเหน็จตกทอดหรือไม่ประการใดให้แก่ใคร เป็นจำนวนเท่าใดหรือเดือนละเท่าใด ตั้งแต่เมื่อใด
ข้อ ๒๖ เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับเรื่องขอรับบำเหน็จบำนาญและเอกสารต่างๆ จากราชการส่วนท้องถิ่น ตามความในข้อ ๒๕ แห่งระเบียบนี้ แล้วให้บันทึกวัน เดือนปี ที่ได้รับไว้เป็นหลักฐาน แล้วรีบพิจารณาสั่งจ่ายภายในกำหนดเวลายี่สิบเอ็ดวันนับแต่วันได้รับเรื่องการสั่งจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญให้ทำคำสั่งเป็นสามฉบับโดยระบุให้ชัดแจ้งว่าจ่ายเป็นบำเหน็จหรือบำนาญหรือบำเหน็จตกทอดให้แก่ใครจำนวนเท่าใดหรือเดือนละเท่าใด จ่ายตั้งแต่เมื่อใดแล้วส่งคำสั่งและเรื่องขอรับบำเหน็จบำนาญให้แก่ราชการส่วนท้องถิ่นที่เสนอเรื่องเพื่อถือจ่ายหนึ่งชุด เก็บรักษาไว้ที่จังหวัดหนึ่งชุดและส่งไปยังสำนักงานกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นหนึ่งชุด
บำเหน็จหรือบำนาญปกติ หรือบำนาญพิเศษเหตุทุพพลภาพให้สั่งจ่ายได้ตั้งแต่วันขาดจากอัตราเงินเดือนเป็นต้นไป

บำเหน็จตกทอด หรือบำนาญพิเศษในกรณีถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ซึ่งจ่ายแก่ทายาทหรือผู้มีสิทธินั้น ให้สั่งจ่ายได้ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ถึงแก่ความตาย หรือวันถัดจากวันที่สันนิษฐานว่าถึงแก่ความตายตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น
ในกรณีที่มีการลดหรืองดบำนาญในระหว่างเวลาที่ข้าราชการกลับเข้ารับราชการใหม่และต่อมาออกจากราชการครั้งหลังโดยไม่มีสิทธิได้รับบำนาญ การสั่งจ่ายบำนาญที่เคยได้รับอยู่เดิมตั้งแต่วันออกจากราชการครั้งหลัง จะจ่ายได้ต่อเมื่อผู้รับบำนาญได้ยื่นขอรับบำนาญเดิมต่อราชการส่วนท้องถิ่นที่เคยได้รับ และให้ราชการส่วนท้องถิ่นเดิมจ่ายบำนาญต่อไป ทั้งนี้ ให้ราชการส่วนท้องถิ่นนั้นรายงานผ่านจังหวัดไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อแจ้ง ก.บ.ท. ทราบอีกครั้งหนึ่ง
กรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งไม่อนุมัติการจ่ายบำเหน็จบำนาญแก่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นตามที่ราชการส่วนท้องถิ่นเสนอขอ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับเรื่องรายงานเหตุผล




 

Create Date : 29 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 29 กรกฎาคม 2551 10:35:18 น.
Counter : 9217 Pageviews.  

แนวข้อสอบการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น

1. ผู้ดำรงตำแหน่งใน “ก.ถ.” คือใคร
ตอบ คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) ประกอบด้วย ประธานกรรมการ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการคัดเลือก โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้ง และอยู่ในตำแหน่งคราวละ 6 ปี (วาระเดียว) กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 6 คน ได้แก่เลขาธิการ ก.พ. เลขาธิการ สคช. ผอ.สำนักงบประมาณ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมการปกครอง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน (คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง) กรรมการผู้แทนท้องถิ่น จำนวน 5-6 คน ประกอบด้วย ผู้แทนคณะกรรมการกลางข้าราชการ อบจ. ผู้แทนคณะกรรมการกลางพักงานเทศบาล ผู้แทนคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล ผู้แทนคณะกรรมการกลางข้าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้แทนคณะกรรมการกลางพนักงานเมืองพัทยา ฝ่ายละ 1 คน และอาจแต่งตั้งผู้แทนคณะกรรมการกลางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่น ขึ้น อีก 1 คน ถ้ามีการจัดตั้งขึ้นมาใหม่ในภายหลัง โดยมีหัวหน้าสำนักงาน ก.ถ. เป็นเลขานุการ

2. ประธานกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น มีวาระอยู่ในตำแหน่ง
ตอบ 6 ปี

3. เลขานุการคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล คือผู้ใด
ตอบ ขรก.ในกรมการปกครอง ซึ่ง อปค.แต่งตั้งจากผู้ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอธิบดี

4. สำนักงาน ก.ถ. อยู่ในสังกัดใด
ตอบ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย

5.คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลในแต่ละจังหวัด จะมีจำนวน
ตอบ 27 คน




 

Create Date : 23 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 23 กรกฎาคม 2551 9:50:45 น.
Counter : 2713 Pageviews.  

แนวข้อสอบสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล

1. ในการทำนิติกรรมของสภาตำบล จะต้องประกอบด้วย
ตอบ ประธานสภาตำบล เลขานุการสภาตำบล และสมาชิกสภาตำบลอีก 1 คน

2. ใครเป็นผู้อนุมัติข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายของสภาตำบล
ตอบ นายอำเภอ

3. สมาชิกสภาตำบลโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย
ตอบ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล

4. อบต.ที่อยู่ในข่ายที่จะต้องยุบรวมกับ อบต.อื่น หรือท้องถิ่นอื่น
ตอบ มีประชากรไม่ถึง 2,000 คน และไม่สามารถที่จะดำเนินการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพ

5. การลาออกของสมาชิก สภา อบต. จะต้องยื่นหนังสือลาออกต่อบุคคลใด
ตอบ นายอำเภอ

6. กรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร อบต.ผู้รักษาราชการแทน ได้แก่
ตอบ กรรมการบริหารคนใดคนหนึ่ง ที่คณะกรรมการบริหารแต่งตั้ง

7. การจัดทำแผนพัฒนาของ อบต. ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการวางแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2541 มีกี่ประเภท อะไรบ้าง
ตอบ 3 ประเภท คือ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนา แผนพัฒนา 5 ปี และแผนพัฒนาประจำปี

8. ในกรณีที่เขต อบต.มีเพียง 2 หมู่บ้าน ให้สมาชิกสภา อบต.นั้น ประกอบด้วยสมาชิกกี่คน
ตอบ สมาชิกหมู่บ้านละ 3 คน

9. ตามกฎหมาย สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 กำหนดให้ อบต.จัดแบ่งการบริหารออกเป็น
ตอบ สำนักงานปลัด อบต. และส่วนต่าง ๆ ที่ อบต.จัดตั้งขึ้น

10. ประธานสภา อบต. มีวาระการดำรงตำแหน่งอย่างไร
ตอบ คราวละ 2 ปี

11. สภาตำบลที่มีรายได้ไม่รวมเงินอุดหนุนเฉลี่ย 3 ปี ย้อนหลัง 150,000 บาท จัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลได้โดยวิธีใด
ตอบ ทำเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทย และประกาศในราชกิจจานุเบกษา




 

Create Date : 22 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 22 กรกฎาคม 2551 10:46:43 น.
Counter : 1901 Pageviews.  

แนวข้อสอบองค์การบริหารส่วนจังหวัด

1. ผู้ประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้แก่
ตอบ ผู้ว่าราชการจังหวัด
การประกาศให้มีการเลือกตั้ง ครบวาระ หรือยุบสภาหรือเหตุอื่นใด-เทศบาลและ อบจ. ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ประกาศตามแบบ ส.ท.8 หรือแบบ ส.จ. 8 โดยต้องเลือกตั้งภายใน 45 วัน สำหรับ อบต. นายอำเภอเป็นผู้ประกาศตามแบบ ส.อบต.8 โดยจะต้องเลือกตั้งภายใน 60 วันทุกกรณี ในประกาศจะมีวันเลือกตั้ง และระยะเวลารับสมัคร ตลอดจนสถานที่รับสมัคร

2. จังหวัดหนึ่งมีประชากรทั้งสิ้น 210,000 คน จะมีสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้กี่คน
ตอบ 24 คน
จำนวนของสมาชิก อบจ. ให้ถือเกณฑ์จำนวนราษฎรแต่ละจังหวัดตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีเลือกตั้ง ดังนี้
1. ราษฎรไม่เกิน 500,000 คน สมาชิก 24 คน
2. ราษฎร 500,001 – 1,000,000 คน สมาชิก 30 คน
3. ราษฎร 1,000,001 – 1,500,000 คน สมาชิก 36 คน
4. ราษฎร 1,500,001 – 2,000,000 คน สมาชิก 42 คน
5. ราษฎรเกิน 2,000,000 คน สมาชิก 48 คน

3. องค์การบริหารส่วนจังหวัด ประกอบด้วย
ตอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด

4. จังหวัดที่มีประชากร 700,000 คน จะมีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกี่คน
ตอบ 30 คน

5. ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดมีวาระการดำรงตำแหน่งเท่าใด
ตอบ จนครบอายุของสภา

6. เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องกำหนดให้มีการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดครั้งแรกภายในกี่วัน
ตอบ 15 วัน

7. การลาออกของประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ให้ยื่นหนังสือลาออกต่อใคร
ตอบ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด (นายก สมาชิกสภาลาออกต่อประธานสภา รองนายกลาออกต่อนายก)

8. ถ้ามีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดจำนวน 42 คน จะมีรองนายก อบจ. กี่คน
ตอบ 3 คน

9. อบจ.มีอำนาจออกข้อบัญญัติเก็บภาษีน้ำมันดีเซลจากสถานค้าปลีกในเขตจังหวัด ได้ในอัตราลิตรละเท่าใด
ตอบ ไม่เกิน 5 สตางค์




 

Create Date : 22 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 22 กรกฎาคม 2551 10:38:15 น.
Counter : 5721 Pageviews.  

แนวข้อสอบเทศบาล

1. พ.ร.บ.เทศบาลฉบับใดที่กำหนดการบังคับใช้หลักการ เรื่องการเลือกรูปแบบการบริหารงานเทศบาลแบบคณะเทศมนตรี หรือนายกเทศมนตรี และบังคับใช้ทุกแห่งเมื่อใด
ตอบ ฉบับที่ 11 บังคับใช้ทุกแห่งในวันที่ 1 มกราคม 2550

2. เทศบัญญัติจะกำหนดโทษสูงสุดไม่เกิน
ตอบ 1,000 บาท

3.เทศบาลนครประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาลจำนวนกี่คน
ตอบ 24 คน

4. นายกเทศมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนต้องมีอายุไม่ต่ำกว่ากี่ปี
ตอบ 30 ปี

5. ประธานสภาเทศบาลมีวาระการดำรงตำแหน่ง
ตอบ จนครบอายุของสภา

6. คามกฎหมาย เทศบาลแบ่งออกเป็น
ตอบ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร

7.สมาชิกสภาเทศบาล มีวาระการดำรงตำแหน่งกี่ปี
ตอบ 4 ปี

8. คณะเทศมนตรีของเทศบาลประกอบด้วย
ตอบ นายกเทศมนตรี และเทศมนตรี 2-4 คน

9. นายกเทศมนตรีมีอำนาจเช่นเดียวกับ
ตอบ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

10. นายกเทศมนตรีแต่งตั้ง โดย
ตอบ ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของสภาเทศบาล




 

Create Date : 22 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 22 กรกฎาคม 2551 10:19:44 น.
Counter : 3102 Pageviews.  

1  2  

tingnoy
Location :
มหาสารคาม Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]




สวัสดีคะผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมบล็อคแห่งสาระดีๆ และความรู้หลากหลายแห่งนี้คะ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับส่วนรวม และผู้ที่เตรียมตัวในการสอบที่มีเวลาน้อยสามารถนำแนวข้อสอบเหล่านี้ไปใช้ประกอบในการสอบได้นะคะ รวมทั้งเจ้าของบล็อคเอง ก็กำลังพยายามสู้ๆ กับการสอบคะ เป็นกำลังใจให้ทุกท่านนะคะสอบได้กันทุกคนคะ*-*
ปล.จะพยายามอัพข้อมูลลงเรื่อยๆนะคะ ติดตามเข้ามาชมได้ตลอดคะ..........
สำหรับผู้ที่เข้าเยี่ยมชมบล็อคกันแล้วขอแค่คำขอบคุณนะคะผู้ทำจะได้มีกำลังใจหาเนื้อหามาลงให้ค่ะ
Wellcome to my blog
Friends' blogs
[Add tingnoy's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.