อินเดีย - วันที่เจ็ด Hanuman Tok - Himalayan Zoological Park - Sikkim Palace

เช้าวันใหม่ตามเวลานัด 6 โมงเช้า เพื่อนใหม่บอกว่าจะพาไปรอดู Khangchendzonga ตอนที่พระอาทิตย์กำลังขึ้น


แต่ยูอย่าหวังมากนะ เพื่อนใหม่หันมาบอกในขณะที่รถเริ่มเลี้ยวไปตามทางบนภูเขาสูง ช่วงเดือนมีนา-พฤษภา อากาศดีก็จริง แต่มันจะแลกกับฟ้ามัวๆ ถ้าจะเอาแบบไปแล้วได้ดูแน่นอน ยูจะต้องกลับมาหลังเดือนพฤศจิกายนไปแล้ว แต่อากาศก็จะหนาวมากๆ อ้าวพี่ท่าน!! พูดเหมือนลางบอกเหตุว่าอิชั้นจะต้องได้กลับมาสิกขิมอีกนะเนี่ย


แล้วเราจะไปดูกันที่ไหนล่ะ Tashi Viewpoint เหรอ? ไม่ใช่ ยูไปมารอบนึงแล้วนี่ วันนี้เราจะไปรอดูที่ Hanuman Tok กัน



Hanuman Tok หรือศาลหนุมาน อยู่ห่างจาก White Hall ที่อยู่ติดกับ Flowers Exhibition Centre ประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นศาลที่ทางกองทัพของอินเดียสร้างขึ้นอุทิศแด่หนุมาน ซึ่งเป็นเทพเจ้าของเค้า



ที่นี่ถูกสร้างอยู่ใกล้ๆกับ Lukshyama ซึ่งเป็นที่จัดงานถวายพระเพลิงศพของเชื้อพระวงศ์แห่งราชวงศ์สิกขิม โดยงานถวายพระเพลิงศพของสมาชิกของราชวงศ์สิกขิมพระองค์สุดท้ายก็ได้จัดขึ้นที่นั่นด้วย



หน้าบันก็เป็นปูนปั้นนูนต่ำเต็มตัวของหนุมาน



บริเวณภายในตรงนี้ห้ามถ่ายรูปนะคะ



แต่กะเหรี่ยงไทยได้รับอนุญาติจากท่านผู้ดูแลศาลหนุมานแห่งนี้เรียบร้อยแล้วนะคะ  เลยขอนำภาพมาแบ่งปันกัน



คนนี้แหละค่ะ







พนักงานที่ทำงานอยู่ใน Hanuman Tok


ผู้ดูแลศาลเห็นกะเหรี่ยงไทยเดินไปเดินมาอยู่ในศาลหนุมานแต่เช้าตั้งแต่อากาศยังหนาวอยู่ เลยเดินมาถามว่าอยากจะได้ชาร้อนๆดื่มแก้หนาวสักแก้วไหม น้ำใจจากคนแปลกหน้าที่เราอาจจะได้พบกันเพียงแค่เสี้ยวนาทีเดียวกลางหุบเขาสูงแห่งนี้ กะเหรี่ยงไทยพยักหน้าโดยไม่ต้องคิด ถึงแม้จะสื่อสารโดยภาษากันไม่ค่อยเข้าใจ แต่น้ำใจที่หยิบยื่นให้คนแปลกหน้านั้นกลับมีค่ามากกว่าเงินทองของนอกกาย


บทสนทนาเริ่มต้นขึ้นผ่านชาแก้วเล็กๆที่คนในศาลยื่นให้ ภาษาไม่ใช่อุปสรรคใหญ่เมื่อเราต่างก็พยายามจะสื่อสารกันด้วยประโยคง่ายๆ อาจเพราะที่นี่ไม่ค่อยจะมีคนแวะมาเหมือนที่อื่นๆในกังต็อก เมื่อมีแขกมาเยือนจากแดนไกล เจ้าบ้านจึงเต็มใจให้การต้อนรับเป็นอย่างดี



หนุ่มน้อยขี้อาย ลูกชายของพนักงานที่ทำงานใน Hanuman Tok



เป็นไปตามคาดหมาย อากาศที่ขมุกขะมัวทำให้เราพลาดการชม Khangchendzonga ไปอย่างสุดแสนจะเสียดาย หรืออาจจะเป็นลางบอกเหตุว่า นี่จะไม่ใช่การมาสิกขิมครั้งสุดท้ายแน่นอน  ตรงกลางระหว่างเทือกเขาโค้งๆเว้าๆในภาพนี้ ก็คือตำแหน่งของ Khangchendzonga ที่เรามารอดูนั่นเอง



วิวสวยๆที่จะต้องกลับมารอดูอีกครั้งในอนาคตอันใกล้นี้



เวลาเข้าวัดฮินดูแล้วเจอระฆังแบบนี้แขวนอยู่ เราต้องสั่นระฆังให้เกิดเสียงกังวานด้วยนะคะ เพื่อนใหม่บอกว่าถ้ายูทำแบบนั้น เค้ามีความเชื่อแบบในศาสนาของเค้าว่า เสียงระฆังที่เราตีจะดังไปถึงเทพเจ้าที่เฝ้ามองเราอยู่จากสรวงสวรรค์



ไปเที่ยวสวนสัตว์กันเถิด



Himalayan Zoological Park ไม่ได้ไกลเร้ยยยยย  ตอนแรกก็นึกว่าจะอยู่ออกไปไกลๆ ที่ไหนได้ ทางขึ้นอยู่ตรงข้ามกับ Ganesh Tok เอง ถ้าใครคิดว่าจะมีสัตว์มากมายให้ดู คุณจะผิดหวังนะคะ เพราะมันเป็นสวนสัตว์ที่มีสัตว์ค่อนข้างน้อยมาก คนละคอนเซ็บต์กับสวนสัตว์บ้านเรา  เอ..ถ้างั้นควรแวะมั๊ยอ่ะ? ถ้าถามกะเหรี่ยงไทย ขอตอบตามแบบของตัวเองว่าควรแวะนะคะ ถ้าคุณมีเวลาพอ เพราะจะต้อง เดิน เดิน เดิน แล้วก็เดินเท่านั้น แต่จะคุ้มกับการมาชมสัตว์บางประเภทที่เราคงจะไม่มีโอกาสได้เห็นในเมืองไทยชนิดมีแค่ลูกกรงบางๆกั้น


ถ้าต้องเดินแต่อากาศไม่ร้อนกะเหรี่ยงไทยทนได้ค่ะ


โม้เข้าไป เที่ยวที่แรกๆก็งี้ พอไปหลายๆที่เข้าหน่อยก็งอแงประจำ    เสียค่าเข้าชมแล้วก็แล่นรถเข้าไปค่ะ ตอนแรกก็แอบดีใจเพราะคิดว่าเป็นสวนสัตว์ที่เอารถเข้าไปขับดูสัตว์ตามจุดต่างๆได้ พอขับเข้ามานิดเดียวก็เจอที่จอดรถซะแล้ว  แล้วก็ต้องเดินต่อไปเอง



ขับรถเข้ามาสักพัก เลยจุดชำระเงินค่าเข้าสวนสัตว์ก็จะเจอกรงอยู่ข้างๆทางซ้ายมือ ขอแวะดูแป๊ปนึงนะคะ



แถวๆนี้เป็นกรงสัตว์ปีกค่ะ แต่ว่าด้านหลังของกรงสัตว์ปีกแห่งนี้ มีดาราดังจากหนังดังของค่าย Dreamworks Animation Distributed ของ Paramount Pictures อยู่ด้วย ตามไปดูกันต่อนะคะ



Master Shifu จาก Kang Fu Panda  จำกันได้ไหมคะ



Red Panda แพนด้าแดง


ที่สวนสัตว์ดุสิตบ้านเราก็มีให้ชมอยู่ 1 คู่นะคะ เราได้รับแพนด้าแดงคู่นั้นจากโครงการแลกเปลี่ยนกับรัฐบาลออสเตรเลีย ส่วนที่เคยมีที่สวนสัตว์ชั้นบนของห้างพาต้า ปัจจุบันไม่แน่ใจว่ายังอยู่รึเปล่านะคะ



แพนด้าแดงแบ่งออกได้เป็นสองประเภทย่อยนะคะ พวกแรกจะตัวเล็ก ขนที่หน้าสีอ่อน ประเภทนี้จะพบในประเทศเนปาล ทิเบต อินเดีย ภูฐาน และประเทศจีน ส่วนอีกพวกจะมีลายที่หน้าเป็นสีเข้ม พบได้ในพม่าและบางพื้นที่ของลาวที่อยู่ติดกับประเทศจีน แต่มีข้อน่าสังเกตว่า แพนด้าแดงที่พบในภาคเหนือของอินเดียจะตัวใหญ่กว่าแพนด้าแดงที่พบในเอเซียตะวันออก


เนื่องจากเป็นสัตว์อนุรักษ์ในกลุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพราะแหล่งที่อยู่ในธรรมชาติถูกทำลาย และถูกล่าจากมนุษย์ คือมันมักจะถูกล่าเอาขนหางมาทำพู่ติดหมวก หรือไม่ก็จับส่งขายสวนสัตว์ต่างประเทศ เลยทำให้มันได้ขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจากรัฐบาลจีนและเนปาล



น่ารักและขี้เล่น น่าจะเป็นนิยามของแพนด้าแดง


ตอนที่กะเหรี่ยงไทยอยู่ไกลจากกรงเห็นมันสามตัวนอนอาบแดดกันแน่นิ่งไม่ไหวไม่ติง เลยคิดว่าคงเป็นสัตว์เรียบร้อย แต่พอเดินเข้าไปใกล้ๆกรง พวกมันเดินมาดมกลิ่นเราและมองอย่างสนอกสนใจเชียวล่ะค่ะ จากนั้นก็ทำการโชว์ออฟวิ่งไปมาบนขอนไม้ที่ถูกจัดไว้ในกรงให้กะเหรี่ยงไทยดู



ไปรุมอะไรกันอยู่ตรงนั้นน่ะเธอ?




สงสัยจะมีอะไรดีๆตรงนั้น ทีนี้มารุมกันทั้งครอบครัวเลย



เจ้าตัวเล็กตัวนี้ให้ความสนใจผู้ชมมากที่สุด ถึงขนาดวิ่งมายืนเกาะลูกกรงเพื่อมาดมกลิ่นมือที่เราเพิ่งจับไปหมาดๆ  เค้าไม่ใช่คนให้อาหารเธอนะจ๊ะ



น่ารัก!!!!!!



เพื่อนใหม่เริ่มเซ็งอีกครั้ง นึกว่าพามาสวนสัตว์แล้วเธอจะแค่เดินๆดูๆแล้วก็กลับ นี่ยังไม่ถึงจุดจอดรถเธอแวะกรงนี้กรงเดียวไปเกือบครึ่งชั่วโมง!!! เจ๊..ข้างในมีอีกเพียบเลยอ่ะ อันนี้แค่น้ำจิ้ม ตรงโน้นมีเป็นฝูงเลย ขึ้นรถแล้วเข้าไปดูต่อกันเถอะ



Leopard เสือดาว



เสือดาวกับเสือดำเป็นเสือชนิดเดียวกันนะคะ แต่ลูกเสือในครอกเดียวกันนั้นมีได้ทั้งเสือดำและเสือดาว



ตัวนี้ก็เอนเตอร์เทนผู้ชมเก่งอยู่เหมือนกัน



แอ็คติ้งเหลือเกิ้นนนนน


ตอนกะเหรี่ยงไทยเดินไปใกล้ๆกรง มันวิ่งไปรอบๆใหญ่เลย คงจะดีใจว่า มื้อเที่ยงของชั้นมาแว้วววววววว   



Himalayan Palm Civet หรือ อีเห็นเครือ เป็นสัตว์จำพวกชะมดและอีเห็น



พบเห็นได้ในภาคเหนือของอินเดีย และประเทศเพื่อนบ้านนะคะ



Snow Leopard เสือดาวหิมะ จำ Tai Lung ตัวร้ายจาก Kang Fu Panda ได้ไหมคะ



เสือดาวหิมะจะพบได้มากแถบยอดเขาสูงที่มีหิมะปกคลุมของเอเซียกลาง เป็นสัตว์อีกชนิดที่มีสถานะใกล้จะสูญพันธุ์แล้วเหมือนกัน



มีสองตัวค่ะ เป็นตัวผู้ 1 และตัวเมีย 1 เค้าจะขังแยกกรงกันแบบนี้นะคะ เวลาปล่อยให้เข้าไปยังบริเวณสวนของเสือดาวที่มีบริเวณกว้าง เค้าก็จะปล่อยทีละตัว อาจจะเป็นการป้องกันการต่อสู้ทำร้ายกันเองจนบาดเจ็บ เพราะว่ามีอยู่แค่สองตัวเท่านั้น และอาจจะปล่อยให้ใช้อาณาบริเวณร่วมกันในฤดูผสมพันธุ์



แมวยักษ์ตัวเนี้ย ตัวจริงบุคลิกคนละเรื่องกับในหนังเลยอ่ะ



เท่ และสุขุม



อย่านึกว่าที่นี่เค้าจะเลี้ยงสัตว์กันในกรงอันคับแคบเหมือนบางสวนสัตว์ในบ้านเรานะคะ เฉพาะ Snow Leopard เค้ามีทั้งส่วนของสนามหญ้าขนาดใหญ่ มีโรงให้อาหารแยกต่างหาก และบริเวณที่เป็นพื้นดินและขอนไม้สูงให้ปีนป่ายเหมือนกับภูมิประเทศที่เค้าอาศัยอยู่กันเลยล่ะ



ดูเผินๆนึกว่ามันกำลังโชว์ท่าโยคะให้ดู   



Himalayan Wolf หมาป่าหิมาลัย



หมาป่าหิมาลัยนั้น เดิมเชื่อว่าเป็นสายพันธุ์เดียวกันกับหมาป่าธิเบต แต่เมื่อศึกษาลึกลงไปแล้วพบว่า มันอาจจะเป็นคนละสายพันธุ์กัน ถิ่นอาศัยก็จะอยู่ตามภาคเหนือของอินเดีย เช่นที่ Himachal Pradesh แคว้น Kashmir และเทือกเขาหิมาลัยในเนปาล ที่สวนสัตว์นี้ยังมีสัตว์อีกหลายประเภท แต่เนื่องจากกะเหรี่ยงไทยเห็นว่า ถ้าเอาข้อมูลมาลงมากเกินไปจะทำให้เราออกนอกเส้นทางท่องเที่ยวอีกครั้ง



ออกจากสวนสัตว์ก็สายพอสมควรแล้ว แต่ยังเหลืออีกที่ในกังต็อกที่กะเหรี่ยงไทยอยากไป Tsuklakhang Palace หรือ Tsuklakhang Palace Chapel and Monastery ที่บ้างก็รู้จักกันในชื่อ Sikkim Palace ที่นี่ไม่อนุญาติให้ถ่ายภาพนะคะ กะเหรี่ยงไทยไม่รู้เลยเผลอถ่ายไป 2-3 รูป แต่หลังจากเห็นป้ายห้ามถ่ายรูปแล้ว เราก็ควรทำตามธรรมเนียมของนักท่องเที่ยวที่ดี เก็บกล้องเข้ากระเป๋าแล้วเดินชมสถานที่อย่างสำรวมค่ะ



Tsuklakhang Palace ไม่ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชมทั่วไปเหมือนกับที่อื่นๆ เนื่องจากว่าเป็นอารามที่อยู่ในเขตวังหลวงของเจ้าผู้ครองนครสิกขิมในอดีต อันที่จริงก็เปิดให้เข้าชมได้สำหรับเทศกาลปีใหม่ทิเบต (Losar) เพื่อเข้าไปชม Chaam Dance ได้ นอกเหนือจากเทศกาลนั้นๆก็จะเปิดให้เข้าสำหรับผู้ที่มาปฎิบัติธรรมเท่านั้น

คงจะมีคนสงสัยว่า แล้วทำไมกะเหรี่ยงไทยเข้าไปได้? ตอนแรกเราก็โดนทหารที่เฝ้าตรงประตูกั้นเอาไว้ค่ะ แต่เพื่อนใหม่ของกะเหรี่ยงไทยเข้าไปเจรจาที่ตู้ยาม เค้าบอกว่ากะเหรี่ยงไทยเป็นเพื่อนของเค้าที่มาเที่ยวจากเมืองไทยเพียงคนเดียว  แล้วก็เป็นคนมีศรัทธาในศาสนามากๆ ไปวัดในกังต็อกมาเกือบครบแล้ว ฟังถึงตรงนี้แล้วเริ่มไม่แน่ใจว่าอิชั้นถูกชมหรือโดนกระแนะกระแหน และมีเวลาเหลือแค่วันนี้วันเดียวซึ่งเค้าอยากจะพากะเหรี่ยงไทยมาไหว้องค์พระที่อารามของ Tsuklakhang Palace ขอความกรุณาให้เราได้ผ่านเข้าไปชมสถานที่ด้วย ไม่รู้เค้าไปคุยกันอีท่าไหนนะคะ เห็นไปลงรายชื่อที่สมุดตรงป้อมยามสักพัก จากนั้นพี่ทหารก็ให้กะเหรี่ยงไทยเดินเข้าไปได้เลย โดยที่พี่ทหารแอบเดินตามมาไกลๆตลอดทาง

กะเหรี่ยงไทยว่า ถ้าเราทำเรื่องขออนุญาติเข้าชม ก็คงจะเข้าไปได้ไม่ยากเย็นนัก เพราะกะเหรี่ยงไทยก็เห็นว่ามีนักท่องเที่ยวแบบพวกภูฎานหรือทิเบตมาเข้าชมกันอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเหมือนพวกที่มาจาริกแสวงบุญกันนะคะ บางคนก็มาสวดมนต์รอบๆพระอาราม บ้างก็มารอทำพิธีภายในพระอารามหลวง ตอนที่กะเหรี่ยงไทยเดินเข้าไปภายใน ก็ยังเห็นมีชาวตะวันตกอยู่สองสามคนนั่งทำสมาธิที่สนามหญ้า คิดว่าคงจะเป็นคนที่ตั้งใจจะมาปฎิบัติธรรมที่นี่เช่นกัน

เพื่อนใหม่ของกะเหรี่ยงไทยเป็นคนพื้นที่ เลยอาจจะไม่รู้ว่าถ้าเป็นคนต่างชาติ อาจจะต้องทำการขออนุญาติเข้าชมก่อน นับว่าเป็นโชคดีอีกอย่างค่ะ 

Tsuklakhang Palace อยู่ภายในเขตพระราชวังของราชวงศ์สิกขิม ซึ่งอาศัยอยู่ที่นี่จนถึงในสมัยของกษัตริย์พระองค์สุดท้ายคือ เป็นทั้งที่ประกอบพิธีทางศาสนาและพิธีแต่งงานของเชื้อพระวงศ์สิกขิมในอดีต และรวมถึงเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีขึ้นเป็นกษัตริย์ของเจ้ามหาชีวิตแห่งสิกขิมด้วย โครงสร้างของอารามแห่งนี้งดงามมาก เป็นศิลปะแบบสิกขิมอย่างแท้จริง ตัวอารามเป็นไม้แกะสลักลงสี มีจิตรกรรมฝาผนังที่สมบูรณ์แบบอยู่ภายใน แท่นบูชาก็ตกแต่งอย่างหรูหรา

ทั้งหมดที่ว่ามา มีให้ชมแค่ภาพนี้ภาพเดียวค่ะ 

ว่าจะไม่เขียนถึงแล้ว แต่ก็อดไม่ได้ ขอเอาเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆของ Chogyal ที่ 12 กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศืสิกขิมมาเล่าสู่กันฟังนะคะ

Palden Thondup Namgyal เป็นพระราชโอรสองค์ที่สองของ Chogyal Sir Tashi Namgyal ประสูติเมื่อ 22 พฤษภาคม ค.ศ 1923 ขึ้นครองพระราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสิกขิมเมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ 1965

เมื่อเยาว์วัย พระองค์ได้บรรพชาเป็นลามะในระหว่างปี ค.ศ 1931-1934 เข้ารับการศึกษาจาก St Joseph Convent ที่ Kalimpong, St Joseph Academy ที่ Darjeeling, Bishop Cotton School ที่ Simla และ ICS Training camp ที่ Dehradun เป็นรัชทายาทลำดับสอง จนเมื่อเจ้าชายรัชทายาทอันดับหนึ่งหรือพระเชษฐาองค์โตผู้เป็นพี่สิ้นพระชนม์ในอุบัติเหตุเครื่องบินในสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้พระองค์ถูกเลื่อนขึ้นมาเป็นรัชทายาทอันดับหนึ่งทันที

พระองค์เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับ Sangey Deki จนเมื่อพระนางสิ้นพระชนม์ไป พระองค์ก็ได้เข้าพิธีสมรสใหม่กับสตรีชาวอเมริกันเชื้อสายไอริชชื่อ Hope Cooke ในปี ค.ศ 1963 เรื่องนี้เป็นเหมือน Fairly Tales มากๆ คือ Hope Cooke เป็นสาวสวยเกิดที่ซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย เรียน Asian Studies ที่ Sarah Lawrence College เธอเป็นเพื่อนร่วมแชร์อพาร์ทเมนต์กับดารานักแสดงชื่อ Jane Alexander

Hope Cooks ตัดสินใจไปเที่ยวในอินเดียตอนปิดเทอมภาคฤดูร้อนและเธอได้พบกับ Palden Thondup Namgyal ซึ่งในขณะนั้นเป็นเจ้าชายรัชทายาทแห่งสิกขิม ทั้งคู่พบกันที่บาร์ของโรงแรม Windamere ในดาร์จีลิ่ง หลังจากนั้นอีกสองปี ในปี ค.ศ 1961 ทั้งสองก็เข้าสู่พิธีหมั้นอย่างเป็นทางการ แต่ก็ต้องรอไปอีก 2 ปีเพื่อเข้าสู่พิธีอภิเษกเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ 1963 เนื่องจากปี ค.ศ 1962 นั้น เป็นปีที่ไม่มีฤกษ์สำหรับพิธีมงคลสมรสของคู่บ่าวสาวคู่นี้

แต่นิยายรักก็จบลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน ทั้งสองได้หย่าขาดจากกันเมื่อปี ค.ศ 1980  Hope Cooke พาลูกสองคน Palden Namgyal และ Hope Leezun Namgyal เดินทางกลับไปอยู่แมนฮัตตัน ส่วน Choygal ที่ 12  พระองค์สิ้นพระชนม์ลงเพราะโรคมะเร็งในปี ค.ศ 1982 ที่นิวยอร์ก


หลังจากเดินชมบริเวณอารามวัดแล้ว เพื่อนใหม่ก็พากะเหรี่ยงไทยเดินออกทางประตูหลังของพระราชวังโดยเดินลัดออกมาทางสวนด้านหลัง ระหว่างทางสังเกตเห็นวิลล่าหลังใหญ่อยู่ซ้ายมือใกล้ๆกับสนามหญ้า เพื่อนใหม่บอกว่านี่เป็นวังที่อยู่ของ Hope Cooke ตอนที่เธอพำนักอยู่ที่วังแห่งนี้ในฐานะราชินีของสิกขิม เดินไปเรื่อยๆก็ถึงประตูทางออกแล้วค่ะ


วันสุดท้ายแล้วก็ต้องตระเวณซื้อของฝากผู้มีอุปการะคุณทั้งหลายที่เมืองไทย เล็งๆของฝากไว้หลายอย่างแล้วล่ะ ว่าแล้วก็ต้องไปแลกเงินเพิ่มอีกหน่อย ที่ MG Marg กะเหรี่ยงไปแลกเงินแถวๆร้าน Baker's Cafe ค่ะ แถวๆนั้นมีร้านรับแลกที่กะเหรี่ยงไทยจำชื่อไม่ได้ เอาเป็นว่ามองหาโลโก้ Western Union เอาไว้ให้ดีนะคะ ร้านเป็นร้านเล็กๆอยู่ชั้นล่าง โอ๊ย!!! ให้เรทแลกเงินดีมหาศาลและมากมาย แลกเป็นร้อยดอลล่าร์ขึ้นไปจะเห็นข้อแตกต่างกับแลกที่สนามบินหรือธนาคารชัดเจนเลยค่ะ

กำเงินออกมาระดับเศรษฐินีแขก ทีนี้ก็ต้องเดินหาของฝากให้ครบทุกท่าน สำหรับเพื่อนร่วมงาน อู้ยยยย!!! ออฟฟิตอิชั้นมีพนักงานรวมแล้วเกือบๆ 30 ชีวิต เพื่อนสนิท? ก็หลายคนอยู่นะเนี่ย ต้องไม่ลืมของเจ้านายด้วย ซื้อให้ชาวบ้านแล้วอย่าลืมซื้อให้ตัวเองนะจ๊ะ  ของฝากหายากนะคะ สำหรับสิกขิมเนี่ย แต่ในที่สุดเราก็สามารถรวบรวมของฝากให้หลายชีวิตที่เมืองไทยได้สำเร็จ น้ำหนักกระเป๋าเพิ่มอีกเกือบๆ 5 กิโลเลยอ่ะ


คืนสุดท้ายสำหรับสิกขิม ยังไม่ค่อยอยากจะเชื่อว่าต้องกลับแล้วจริงๆ   ต้องเริ่มทะยอยเก็บสัมภาระทั้งหมดใส่กระเป๋า เพื่อกลับไปเป็นมนุษย์เงินเดือนอีกครั้ง







Free TextEditor


Create Date : 26 มิถุนายน 2554
Last Update : 26 มิถุนายน 2554 16:12:34 น. 2 comments
Counter : 4952 Pageviews.  
 
 
 
 
สิกขิมนี่อยู่ในลิสท์ที่จะต้องไปภายในปีหน้าเช่นกัน.. ไปอินเดียสองรอบแล้ว แต่ไม่เคยแวะขึ้นทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือเลย
 
 

โดย: sirimas_m วันที่: 26 มิถุนายน 2554 เวลา:17:49:08 น.  

 
 
 
อินเดียเนี่ย ต้องไปหลายๆรอบจริงๆนะคะ แต่ละเมืองมันมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมากเลย
 
 

โดย: bkkplayground วันที่: 3 กรกฎาคม 2554 เวลา:1:32:21 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

bkkplayground
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]





MusicPlaylist
Music Playlist at MixPod.com
[Add bkkplayground's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com