เก็็บกระเป๋าไปพนมเปญ - ตวล สเลง Genocide Museum เที่ยวชิลๆในเมืองพนมเปญ

เรากลับจากทุ่งสังหารมายัง ตวล สเลง ซึ่งตั้งอยู่กลางเมืองพนมเปญเลยนะคะทุกวันนี้หลักฐานความเหี้ยมโหดของเขมรแดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ใจกลางเมืองกรุงพนมเปญ ชื่อในภาษาเขมร คือ Tuol Sleng พิพิธภัณฑ์ตวล สเลง หรือในภาษาอังกฤษมีชื่อว่า Genocide Museum แต่เดิมเป็นโรงเรียนมัธยมซึ่งตั้งชื่อตามบรรพบุรุษของพระมหากษัตริย์กัมพูชา มีตึกเรียน 4 ชั้น 4 อาคาร พ.ศ.2519 ซึ่งถ้าดูจากภายนอกตอนนี้ก็เหมือนกับโรงเรียนธรรมดา เพราะยังมีโครงสร้างเป็นโรงเรียนอยู่ ในบริเวณประมาณ 10 กว่าไร่ มีตึกเรียน 4 ชั้น อยู่ประมาณ 4 อาคาร
ก่อนอื่นเรามาดูคำว่า genocide คำนี้ออกเสียงว่า จีโนไซด์ แปลว่า การล้างเผ่าพันธ์ุจนทำให้เกือบสูญพันธ์ุคำนี้เราจะเจอมากที่สุดเวลาที่นักวิชาการหรือนักประวัติศาสตร์พูดถึงเรื่องสงครามโลก ครั้งที่ 2 ที่ฮิตเลอร์พยายามจะล้างเผ่าพันธ์ุชาวยิว และเมื่อเร็วๆ นี้เองในสงครามยูโกสลาเวียระหว่างชาว Serbs กับชาว Croats คำว่า genocide เป็นคำที่รุนแรง มันมากกว่าคำว่า murder ที่แปลว่าการฆ่า หรือฆาตกรรม และมากกว่าคำว่า kill ที่แปลว่า การฆ่า genocide เป็นคำที่พูดถึงการฆ่าคนเป็นจำนวนมาก เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุ หรือการทำให้ชาติใดชาติหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสูญพันธ์ุให้ได้ ดังนั้น เหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 กันยายน ที่สหรัฐอเมริกาจะเรียกว่าเป็น genocide ไม่ได้ เพราะมันเป็นแค่เหตุการณ์ก่อการร้ายหรือการก่อวินาศกรรมเท่านั้น



พอเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1976 ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2519 เขมรแดงได้เปลี่ยนโรงเรียนแห่งนี้เป็น S-21 หรือ Tuol Sleng ชื่อ S-21 ย่อมาจาก Security Office 21 วัตถุประสงค์คือใช้เป็นสถานที่รีดไถคำสารภาพโดยใช้วิธีใดก็แล้วแต่ และพอรีดไถสำเร็จแล้วก็เอาไปฆ่า หรือจัดการกับผู้ทำผิด



คุก S-21 จะมีกฎระเบียบอยู่ 10 ข้อ ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับช่วงเวลาที่ถูกทารุณหรือถูกรีดไถคำสารภาพ กฎ 10 ข้อมีรายละเอียดดังนี้

1. You must answer accordingly to my questions. Do not turn them away. คุณต้องตอบคำถามของเราทุกคำถาม ห้ามแสแสร้งและห้ามปฏิเสธ 


2. Do not try to hide the facts by making pretexts of this and that. You are strictly prohibited to contest me. ห้ามโกหก ห้ามปฏิเสธและห้ามเถียงเรา 


3. Do not be a fool for you are a chap who dares to thwart the revolution. อย่างี่เง่าและอย่าทำตัวโง่ๆ เพราะคุณเป็นคนโง่ที่พยายามต่อต้านพวกเรา 

4. You must immediately answer my questions without wasting time to reflect. เมื่อถูกถามต้องตอบทันทีอย่าเสียเวลาคิด 

5. Do not tell me either about your immoralities or the revolution. ห้ามพูดหรือแสดงความคิดเห็นที่ทำให้เกิดการต่อต้าน 

6. While getting lashes or electrification you must not cry at all. ระหว่างถูกลงโทษห้ามร้องไห้ และห้ามส่งเสียงแม้แต่นิดเดียว 

7. Do nothing. Sit still and wait for my orders. If there is no order, keep quiet. When I ask you to do something. You must do it right away without protesting. อยู่นิ่งๆ นั่งรอและคอยคำสั่ง ถ้าไม่มีคำสั่งให้อยู่เงียบๆ แต่เมื่อมีคำสั่งต้องทำทันทีโดยไม่มีข้อสงสัยและข้อประท้วง 

8. Do not make pretexts about Kampuchea Krom in order to hide your jaw of traitor. อย่าพยายามเสแสร้งเพื่อซ่อนความรู้สึกต่อต้านพวกเรา
9. If you do not follow all the above rules, you shall get many lashes of electric wire. ถ้าไม่ทำตามกฎระเบียบทุกข้อเหล่านี้ จะโดนชอร์ตด้วยไฟฟ้า 

10. If you disobey and point of my regulations you shall get either ten lashes or five shocks of electric discharge. ถ้าฝ่าฝืนข้อใดข้อหนึ่งจะถูกเฆี่ยนด้วยแส้ 10 ครั้ง หรือจะถูกชอร์ตด้วยไฟฟ้า 5 ครั้ง



สำหรับ 10 ข้อนี้นักโทษทุกคนต้องทำตามไม่ว่าจะเป็นใครทั้งสิ้น นอกจากกฎ 10 ข้อนี้ ยังมีกฎอีกมากมายที่เรียกว่าเป็น unwritten rules ถ้าจะแปลเป็นภาษาไทยก็คือกฎที่รู้ๆ กันอยู่ เหมือนว่าเป็นทางการ อย่างเช่น เวลานอนถ้านักโทษคิดจะเปลี่ยนท่านอนยังต้องขออนุญาตผู้คุม ถ้าจะใช้ห้องน้ำก็ต้องขออนุญาตเช่นเดียวกัน ถ้าไม่ขออนุญาตและฝืนพลิกตัวเปลี่ยนท่านอน หรือแอบปลดทุกข์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้คุมก็จะถูกอัด
ส่วนการอาบน้ำที่มีไม่บ่อยนัก ส่วนใหญ่ผู้คุมจะรวบรวมนักโทษให้อยู่ในห้องเดียวกันแล้วก็อาจจะเอาสายยางเข้าไปฉีดให้ชุ่มๆ และการอาบน้ำแบบนี้มี 4 วันต่อครั้ง หรือบางทีอาทิตย์ละหน ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงเรื่องโรคติดต่อหรือเรื่องความสกปรก




ช่วงแรกๆ ที่นักโทษเข้าไปอยู่ในคุก S-21 ก่อนที่จะถึงคิวรีดคำสารภาพ หลังจากที่ถ่ายรูปและเก็บประวัติอย่างละเอียดเรียบร้อยแล้วนักโทษจะอยู่ในห้องขังและถูกให้อดอาหารเป็นเวลายาวนานเหมือนกัน หรือถ้าได้อาหารก็เหมือนไม่ได้ เพราะมันเป็นปริมาณที่น้อยมาก อย่างเช่น อาจจะเป็นข้าวต้ม 3 ช้อนต่อวันและไม่มีกับข้าว คือจะให้ทรมานทางจิตใจไว้ก่อนแล้วค่อยทรมานทางร่างกาย เพื่อให้นักโทษคนนั้นยอมรับข้อกล่าวหาทุกประการง่ายขึ้น




ขั้นต่อไปคือการรีดไถคำสารภาพ ซึ่งก็คือการทารุณเพื่อบังคับให้สารภาพนั่นเอง ถ้ามีโอกาสได้ไปดูที่พิพิธภัณฑ์ S-21 หรือ Genocide Museum จะมีแต่ความสงสารและหดหู่ เพราะมันเหลือเชื่อว่าคนจะสามารถทำกับคนได้ถึงขนาดนี้ เพราะบางทีเวลาเรานึกถึงการทารุณคนหรือ genocide เรามักจะนึกถึงการที่ฮิตเลอร์ที่พยายามล้างเผ่าพันธ์ุชาวยิวเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือเมื่อเร็วๆ นี้ก็เป็นเรื่องการแตกแยกของประเทศยูโกสลาเวีย แต่สิ่งที่ทำให้คนไทยเราสบายใจก็คือเรามักจะคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องไกลตัว เกิดขึ้นในอีกทวีปหนึ่งหรือในอีกยุคหนึ่ง และถ้าดูกันจริงๆ เป็นเรื่องของแต่ละศาสนาและแต่ละเผ่าพันธ์ุ แต่เรื่องของเขมรแดงและเรื่องคุก S-21 และทั่วประเทศกัมพูชาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมานี้เอง
และสิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือมันเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านเรานี่เอง




เป็นสิ่งที่รู้กันอยู่ว่าใครที่เป็นนักโทษในคุก S-21 นี้ สุดท้ายก็ต้องถูกฆ่า แต่ก่อนที่จะถูกฆ่าต้องถูกทารุณอย่างรุนแรง ส่วนใหญ่พอนักโทษไปถึง S-21 ใหม่ๆ ไม่ว่าจะมาคนเดียวหรือเป็นครอบครัว ทางผู้ดูแลจะถ่ายรูปทุกคน และสอบถามประวัติของทุกคนอย่างละเอียด หลังจากนั้นก็จะถูกแก้ผ้าและให้ใส่ชุดประจำของคุก และถูกบังคับให้อยู่ในห้องขังที่เป็นห้องเรียนธรรมดา และให้นอนบนพื้นและล่ามโซ่ ในห้องห้องหนึ่งอาจจะนอนประมาณ 50-60 คน โดยให้นอนเรียงสลับหัวท้ายติดๆ กันไป S-21 มีกฎระเบียบที่ค่อนข้างจะเคร่งครัดพอสมควร และการละเมิดกฎระเบียบข้อใดก็จะเปิดโอกาสให้ทางผู้คุมลงโทษนักโทษได้





S-21 ถือว่าเป็นคุกที่ทางเขมรแดงรวบรวมคนที่เขาคิดว่าเป็นศัตรู หรือเป็นกบฏต่อประเทศชาติและต่อรัฐบาล ในตลอด 4-5 ปี ที่คุกแห่งนี้เปิด มีนักโทษทั้งหมดประมาณ 15,000 คน ซึ่งรวมถึงเด็กด้วย มีประมาณ 2,000 กว่าคน นักโทษเหล่านี้ถูกจับมาจากทุกภูมิภาคของประเทศ และจากทุกระดับชั้นในสังคม ไม่ใช่เฉพาะชาวเขมรเท่านั้น มีทั้งชาวเวียดนาม ลาว ไทย อินเดีย ปากีสถาน อังกฤษ อเมริกัน แคนาดา นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นชาวเขมร
ที่บอกว่านักโทษเหล่านี้มาจากทุกภูมิภาคและทุกระดับชั้นในสังคมก็จะมีทหารที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม คนงานธรรมดา ชาวนา วิศวกร นักวิชาการ ครู นักเรียน นักศึกษา รวมถึงรัฐมนตรีบางท่านและทูตต่างประเทศด้วย





หญิงชุดดำอุ้มลูกน้อย



เขมรแดงไม่เพียงแต่สังหารประชาชนทั่วไปเท่านั้น แต่ยังเข่นฆ่าสหายชุดดำที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามอีกด้วย หลังการยึดอำนาจวันที่ 17 เม.ย.2518 พล พต มีศัตรูทางการเมืองมากมาย มีความพยายามรัฐประหารยึดอำนาจโดยกลุ่มอื่นหลายครั้ง เหยื่อที่ศูนย์ S-21 จำนวนมากเป็นเด็กๆ และเยาวชนที่เป็นลูกหลานของสหายชุดดำด้วยกัน คนเหล่านี้ถูกนำไปสอบสวนเค้นเอาความจริง ก่อนจะถูกสังหารแบบฆ่าทั้งโคตร เป็นการกำจัดศัตรูทางการเมืองอย่างเหี้ยมโหด




ในบางความเห็นของผู้ที่ไปเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ที่เขมรเล่าว่า ถ้าคุณมีโอกาสได้ไปเยือนคุกแห่งนี้ ขอบอกว่า คุณจะซึมซับได้ถึงความตายว่ามันน่ากลัวขนาดไหน ทุกอณู ของพื้นที่มีแต่คนตาย
มีภาพคนก่อนตายและตายไปแล้วมากมาย ดูกันไม่หวาดไม่ไหว มันน่ากลัวและหดหู่เหลือประมาณว่าทำไมมนุษย์ถึงทำกับมนุษย์กันเองได้ขนาดนี้
ขอบคุณข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ 20 พฤษภาคม 2550 และ บทความน่าอ่าน จากคอลัมน์ พูดจาภาษาโลก 
หนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์ ตีพิมพ์วันที่ 25-26 กันยายน 2545



เดือนมกราคม พ.ศ.2522 เขมรฝ่ายที่เวียดนามหนุนหลังบุกเข้ายึดกรุงพนมเปญ เขมรแดงแตกพ่ายมาหลบอยู่ตามตะเข็บชายแดนกัมพูชา-ไทย ขณะที่ระเบิดนับสิบล้านลูกฝังอยู่ทั่วประเทศ ต่อมา พ.ศ.2525 พล พต ร่วมกับเจ้าสีหนุจัดตั้งรัฐบาลผสมกัมพูชาธิปไตย นายเขียว สัมพันธ์ ขึ้นเป็นผู้นำในปี 2528 แต่เชื่อกันว่าพล พตกุมอำนาจที่แท้จริง

ถึง พ.ศ.2534 กลุ่มต่างๆ ในเขมรลงนามสันติภาพให้มีการเลือกตั้งที่กำกับโดยสหประชาชาติ 
แต่แล้วเขมรแดงกลับปฏิเสธผลการเลือกตั้งที่จะได้รัฐบาลผสมในปี 2535 แม้ว่าจะเสียกำลังพลไปจำนวนมากแล้วก็ตาม 
การต่อสู้แย่งชิงอำนาจเกิดขึ้นภายในกลุ่มเอง 

ปี 2536 สหประชาชาติสนับสนุนให้มีการจัดเลือกตั้งใหญ่เพื่อนำประเทศกลับสู่สภาพปกติ ตอนนั้นเองที่เขมรแดงหมดอำนาจลงอย่างรวดเร็ว 


รัฐบาลที่ได้ครองอำนาจในระยะนั้นเป็นรัฐบาลผสม และหลังจากการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศในปี 2541 ทำให้การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น นำไปสู่การยอมจำนนของกองกำลังเขมรแดง พล พต ถูกจับก่อนเสียชีวิตวันที่ 15 เมษายน 2541 สมาชิกของเขมรแดงแตกกระจาย บางส่วนยอมจำนนและถูกจับ บางส่วนโดยเฉพาะระดับแกนนำหนีหัวซุกหัวซุน

เขมรแดง หรือ Khmer Rouge เป็นคำประฌามที่เจ้านโรดมสีหนุ ผู้เป็นประมุขรัฐ ใช้เรียกขบวนการคอมมิวนิสต์ของประเทศช่วง พ.ศ.2503 เพื่อให้แตกต่างจากฝ่ายขวา เขมรสีน้ำเงิน คือเขมรที่นิยมกษัตริย์
ชาวกัมพูชาเกือบทุกครอบครัวได้สูญเสียสมาชิกในช่วงปีดังกล่าว รวมทั้งสมเด็จพระนโรดมสีหนุ อดีตกษัตริย์กัมพูชาที่ทรงสูญเสียพระราชโอรสพระราชธิดาตลอดจนพระญาติไปจำนวน 7 พระองค์ แต่นั้นเป็นต้นมาก็ยังไม่เคยมีผู้นำเขมรแดงคนใดถูกนำตัวขึ้นไต่สวนในศาล จนกระทั่งในวันอังคารที่17 ก.พ.2551



กระบวนการดำเนินการพิจารณาคดีการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุชาวเขมรซึ่งพึ่งจะได้เริ่มจริงจังในสองสามปีนี้เอง โดยเหตุการการฆ่าล้างเผ่าพันธ์มนุษย์จำนวนประมาณ 1.7 ล้านคนผ่านไปร่วม 30 ปีแล้ว ทั้งนี้ศาลกัมพูชาซึ่งดำเนินการไต่สวนคดีอาชญากรต่อมนุษยชาติ คณะตุลาการระหว่างประเทศที่ได้รับจากความพยายามผสมการกดดันจาก UN หรือองค์การสหประชาชาติ และหลังจากนั้นก็มีการทะยอยจับตัวผู้นำเขมรแดงเมื่อปี 2007 ที่ผ่านมา
ดุ๊กหรือนายคังเก็ก เอียบ Kaing Keuk Eav หรือสหายดุจ Duch ปัจจุบันอายุ 67 ปี อดีตครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ เป็น 1 ใน 5 อดีตผู้นำเขมรแดงที่ถูกจับดำเนินคดี เขาเป็นอดีตผู้บัญชาการเรือนจำตวล สเลง อันขึ้นชื่อลือชาเรื่องการทรมานนักโทษจนตายคาห้องขังไปนับพันคนในช่วงที่รัฐบาลเขมรแดงเรืองอำนาจในกัมพูชา ช่วงปี 2518-2522 ถูกศาลซักถามเกี่ยวกับภารกิจประจำวัน'ของเขาในเรือนจำตวล สเลง เขาถูกส่งตัวขึ้นศาลเป็นคนแรกเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม เพราะสหายดุจนั้นถูกทางการกัมพูชาจับกุมตัวมาตั้งแต่ปี 2542 และถูกควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำทหารมาโดยตลอด เขาถูกตั้งข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ อาชญากร สงคราม ทรมานและฆาตกรรมโดยไตร่ตรองล่วงหน้า ในฐานะเป็นผู้ควบคุมการทรมานและสังหารชาวเขมรทั้งชายหญิงและเด็กกว่า 12,000 คน ขณะเป็นผู้บัญชาการคุกตวล สเลง เขาอาจต้องโทษสูงสุดแค่จำคุกตลอดชีวิต เพราะศาลไม่มีอำนาจตัดสินประหารชีวิต
โดยผู้พิพากษาจำนวนหลายสิบคนร่วมพาเขานำตัวไปยังเรือนจำดังกล่าวซึ่งปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์และสถานที่ท่องเที่ยวของกัมพูชา พร้อมทั้งสอบถามเขาถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เรือนจำแห่งนี้ นอกจากนี้ เขายังถูกนำตัวไปยังสุสานโชเอง เอ๊ก ซึ่งเป็นแหล่งสุสานฝังร่างเหยื่อกว่า 16,000 คน ที่ถูกทรมานจากเรือนจำตวล สเลง โดยรายงานระบุว่า นายดุ๊กถึงกับร่ำไห้อยู่หลายครั้ง เมื่อครั้งเป็นผู้บัญชาการเรือนจำหนุ่ม เขาต้องรับผิดชอบต่อการทรมานจับกุมคุมขังบุคคลที่รัฐบาลเขมรแดงเรียกว่าฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองนับพันๆ รวมทั้งผู้รอดชีวิตมาจนถึงปัจจุบันจำนวนหนึ่งซึ่งถูกปลดปล่อยจากพันธนาการเมื่อทหารเวียดนามยาตราทัพเข้าถึงพนมเปญในวันที่ 7 ม.ค.2522



คนถัดมาคือ นวนเจีย อดีตผู้นำหมายเลข 2 ของเขมรแดง ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นผู้นำสูงสุดที่ยังคงมีชีวิตอยู่ไปแล้ว เพราะ พลพต อดีตผู้นำเขมรแดงเสียชีวิตไปก่อนหน้านี้หลายปี นวน เจีย ผู้มีอายุได้ 82 ปี ฉายาพี่ใหญ่หมายเลข 2 ถูกตำรวจและเจ้าหน้าที่ศาลบุกไปรวบตัวถึงที่บ้านพักในเมืองไพลิน ติดชายแดนไทย เมื่อวันที่ 19 กันยายน แล้วนำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์มายังกรุงพนมเปญ
นายเอียงสารี อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ วัย 78 ปี ฉายาพี่ใหญ่หมายเลข 3 และ นางเอียงธิริธ ภรรยาคู่ยากที่เคยรั้งตำแหน่งรัฐมนตรีกิจการสังคมถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน นางเอียง ธิริธ ภริยานายเอียง สารี เป็นน้องสาวนางเขียว พอนนารี ภริยานายพล พต ผู้นำเขมรแดง นางเอียง ธิริธ กับพี่สาวเป็นลูกสาวผู้พิพากษา จบการศึกษาด้านวรรณกรรมจาก มหาวิทยาลัยในฝรั่งเศส สมรสกับนายเอียง สารี หลังพบกันในห้องเต้นรำเมื่อปี 2494 โดยนางเอียง ธิริธ ได้รับการยกย่องในฐานะสตรีหมายเลข 1ของเขมรแดง
คนสุดท้าย คือ นายเขียว สัมพันธ์ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกจับกุมตัวคาโรงพยาบาลที่ไปนอนพักรักษาตัวความดันโลหิตสูง หลังจากที่เห็นเพื่อนร่วมชะตากรรมถูกจับกันทีละคนๆ เลยทีเดียว


การตามรวบตัวอดีตผู้นำเขมรแดงมีขึ้นท่ามกลางเสียงแรงกดดันว่าให้รีบๆ ทำได้แล้วก่อนที่พวกผู้นำเหล่านี้จะเสียชีวิตกันไปหมดเสียก่อน เพราะส่วนใหญ่ก็อยู่ในวัยไม้ใกล้ฝั่งกันแล้วทั้งนั้น แถมยังมีบางคนชิงตายไปก่อนที่จะถูกนำตัวขึ้นศาลแล้ว โดยเฉพาะ พล พต ผู้นำสูงสุด ที่กินยาพิษปลิดชีพตัวเองเมื่อปี 2541 และนายพลตา ม็อค อดีตผู้บัญชาการทหาร ที่เสียชีวิตคาเรือนจำเมื่อปี 2549

ทั้งนี้ ศาลพิเศษกัมพูชากำหนดสั่งจับกุมผู้ต้องหาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุทั้งหมด 5 ราย กระบวนการพิจารณาคดีผู้ต้องหาทั้งหมด ได้เริ่มขึ้นในปี 2551 ท่ามกลางความกังวลว่าผู้ถูกกล่าวโทษทั้งหมดกำลังแก่ตายก่อนถูกนำตัวขึ้นพิจารณาความผิดในอดีต โดยนายคัง เคค เอียบ เพียงคนเดียวที่ยังสุขภาพแข็งแรงดี
ส่วนนายกรัฐมนตรีฮุน เซน หวังว่าการจับกุมอดีตผู้นำเขมรแดงครั้งนี้จะช่วยให้กัมพูชามีโอกาสได้รับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติซึ่งถูกบังคับใช้มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980
ฮุนเซ็นผู้นำเขมรปัจจุบันรับอำนาจถ่ายทอดจากเฮง สัมริน
ศาลเขมรแดงก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของสหประชาชาติและรัฐบาลกัมพูชาเมื่อปี 2549 หลังการต่อรองกันเกือบ 10 ปี การเปิดการพิจารณาคดีครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลกัมพูชาเข้ามาแทรกแซงศาลเขมรแดง ส่วนทีมงานของศาลก็ติดสินบนเพื่อให้ได้รับตำแหน่ง ขณะที่คณะอัยการนานาชาติก็ขัดแย้งกับอัยการและรัฐบาลกัมพูชา เพราะฝ่ายแรกต้องการนำตัวอดีตผู้นำเขมรแดงคนอื่นๆมาขึ้นศาลด้วยแต่ถูกขัดขวางทุกวิถีทาง เพราะฝ่ายหลังกลัวว่าเหล่าอดีตผู้นำเขมรแดงที่มีตำแหน่งในรัฐบาลปัจจุบัน ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน จะติดร่างแหด้วย
ศาลเขมรแดงยังมีปัญหาเรื่องงบประมาณบานปลายจากเดิมที่ตั้งไว้ 56.3 ล้านดอลลาร์ แม้ญี่ปุ่นชาติผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดสัญญาว่าจะให้งบฯ เพิ่มอีก 21 ล้านดอลลาร์. เวลาผ่านไป 30 ปี นับตั้งแต่เริ่มยุคการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุในกัมพูชาจนก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เหยื่อระบอบเขมรแดงที่ยังมีชีวิตอยู่กำลังจะได้เห็นการไต่สวนหาผู้กระทำความผิดหรือผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการมีผู้เสียชีวิตกว่า 1 ล้านคนในช่วงเวลาเพียงสามปีเศษจากต้นปี 2518 ถึงต้นปี 2522
วันที่ 19 พ.ค. เมื่อ 82 ปีก่อน ด.ช.ซาโล้ธ ซาร์ Saloth Sar ได้ลืมตาขึ้นมาดูโลก แต่ก็ไม่มีผู้ใดรู้จักและสนใจ กระทั่งอีก 50 ปีต่อมาเมื่อเขากลายเป็นฆาตรกรโหดที่ชื่อ พล พต Pol Pot หรือ โปล โป้ท ผู้นำของฝ่ายเขมรแดงที่ใช้อำนาจเผด็จการปกครองกัมพูชาระหว่างต้นปี 2518 ถึงต้นปี 2522
วันนี้ของทุกปีผู้ที่ยังจงรักภักดีต่ออดีตผู้นำก็จะไปจุดธูปเทียน ทำบุญกรวดน้ำและบางคนก็ไปขอหวย ณ ศาลเพียงตามุงหลังคามุงสังกะสี ทำขึ้นครอบกองฟอน ที่นั่นอยู่ในเขต อ.อันลองแวง Anlong Veng จ. อุดรมีชัย Oddor Meanchey อยู่ห่างจากชายแดนไทยด้านช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ ไม่ไกลนัก
ซาโล้ธ ซาร์ เคยไปใช้ชีวิตในฝรั่งเศส และได้รับอิทธิพลจากการคอมมิวนิสต์ที่นั่น ก่อนจะเดินทางกลับไปเคลื่อนไหวในบ้านเกิด ชี้นำประเทศชาติด้วยลัทธิมาร์กซ์-เลนิน



นายจุมเมย Chum Mey ผู้รอดชีวิตคนหนึ่งซึ่งปัจจุบันอายุ 60 ปี กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ที่เรือนจำตวล สเลงว่า เขาเองอยากจะถามสหายดุจว่าเข่นฆ่าชาวเขมรด้วยกันได้อย่างไร และทำไมพวกนั้นจึงทรมานเขา

นายเมยเป็นหนึ่งในบรรดาผู้รอดชีวิตจากตวล สเลง จำนวน 14 คน ที่ไปร่วมเป็นพยานการไต่สวนครั้งนี้กล่าวว่า ที่นั่นเป็นสถานที่กักกันและทรมานนักโทษก่อนจะถูกนำตัวไปทุบด้วยท่อนไม้จนเสียชีวิต ณ สถานที่อีกแห่งหนึ่งซึ่งในปัจจุบันกลายเป็นอนุสรณ์สถานฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุเจืองแอ็ก Choeung Ek ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงพนมเปญออกไปราว 40 กิโลเมตร สถานที่แห่งนั้นเป็นที่มาของคำว่าทุ่งสังหาร Killing Fields
อะไรเป็นแรงจูงใจให้พวกเขาก่ออาชญากรรมที่โหดร้ายป่าเถื่อนเช่นนี้ นายเมยกล่าวขึ้นมาระหว่างเดินทางไปยังตวล สเลง
ซึ่งในปัจจุบันได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เป็นประจักษ์พยานความโหดร้ายของระบอบคอมมิวนิสต์เขมรแดง
สำหรับนายเมยซึ่งในขณะนั้นเป็นช่างซ่อมรถยนต์ ถูกกล่าวว่าเป็นสายลับให้แก่ซีไอเอ หรือ องค์การประมวลข่าวกลางสหรัฐฯ Central Intelligence Agency เขาถูกจับยัดคุกแคบๆ ที่ตวล สเลง ถูกพันธนาการตีตรวน และถูกทรมานแทบจะรายวัน เพื่อให้รับสารภาพ

ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยเฆี่ยนผมถึง 200 ครั้งด้วยสายไฟเพราะได้ยินเสียงเคลื่อนไหวของโซ่ที่มัดเขา เมยหวนรำลึกความหลังด้วยน้ำตานองใบหน้า
พวกเขาฆ่าภรรยากับลูกชายของผม พวกนั้นฆ่ากระทั่งทารกอายุเพียงไม่เดือน เหยื่อรอดชีวิตรายเดียวกันกล่าว
เป็นเวลาร่วม 6 ปีนับตั้งแต่สหประชาชาติได้ตกลงจัดตั้งคณะตุลาการระหว่างประเทศขึ้นไต่สวนอดีตผู้นำเขมรแดง
กลุ่มผู้ทำหน้าที่อัยการกล่าวว่า สามารถจัดเตรียมพยานเอกสาร พยานบุคคล ตลอดจนพยานแวดล้อมต่างๆรวมทั้งภาพถ่ายได้จำนวนมาก

นายวิลเลียม สมิธ William Smith อัยการคนหนึ่งกล่าวว่า กรณี S-21 นี้ชัดเจน และตัดสินความผิดได้ไม่ยาก ขณะที่ชาวกัมพูชาจำนวนมากเผยว่ารอเวลานี้มาถึง 30 ปีเพื่อจะได้เห็นความยุติธรรมและเยียวยาบาดแผลในจิตใจของชาวเขมรทั้งชาติ



ที่นี่ค่าเข้าชม 2 ดอลล่าร์ค่ะ มีไกด์พาชมและบรรยายด้วย ซึ่งก็แล้วแต่น้ำใจของเราว่าจะให้เขาเท่าไหร่ก็ได้ 1-2 ดอลล่าร์เขาก็ดีใจมากแล้ว บรรยายเป็นภาษาอังกฤษนะคะ เคยได้ยินว่ามีไกด์บางคนพูดไทยได้คล่องมาก แต่ตอนไปไม่ยักกะเจอ เอาเป็นว่าที่นี่เหมาะกับการใช้บริการไกด์มากๆ
เราจะเที่ยวพนมเปญกันต่อนะคะ แต่เป็นในแง่อื่นบ้างก็แล้วกันค่ะ






ออกจาก ตวล สเลง ก็ให้มอเตอร์ไซด์มาส่งที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ แต่ตอนนั้นเป็นเวลาบ่ายโมง ซึ่งเป็นเวลาพักกลางวันของเจ้าหน้าที่ พิพิธภัณฑ์จะเปิดอีกครั้งในเวลาบ่าย 2 โมง เราตั้งใจว่าจะใช้เวลานี้ทานอาหารที่ร้าน Friend ก่อน




เป็นร้านอาหารที่เปิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนและขอทานข้างถนนให้มีงานทำ โดยการฝึกอบรมเรียนรู้ทั้งวิธีการปรุงอาหาร หวานคาวของทั้งอาหารฝรั่งและอาหารเขมร รวมทั้งการเสริฟอาหาร โดยมีครูฝึกซึ่งเป็นเชพที่มีชื่อเสียงของร้านอาหารดังๆในพนมเปญมาคอยกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ที่นี่เป็นกึ่งๆ NGO Organization ด้วย เขามีเวบไซด์ชื่อ www.streetfriends.org
นักเรียนที่จบหลักสูตรของที่นี่จะได้ใบประกอบวิชาชีพด้านการปรุงอาหาร และด้านบริการอาหารซึ่งพวกเขาสามารถออกไปหางานทำในร้านอาหารหรือภัตตาคารในโรงแรมได้ต่อไปในอนาคต
ร้านอยู่ในซอยตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์นะคะ เดินเข้าไปประมาณ 20 เมตรอยู่ซ้ายมือ ร้านเปิด 11.00 น - 21.00 น
เคยมีคนไทยที่มาที่นี่แล้วทำรีวิวเอาไว้บนอินเตอร์เน็ตแล้วค่ะ





มื้อนี้โดนค่าเสียหายไป 8.50 ดอลล่าร์โคล่า 1 ขวด 1.50 ดอลล่าร์ เนื้อปั้นเสิรพ์พร้อมข้าว 4 ดอลล่าร์ ของหวาน 3 ดอลล่าร์ ของหวานอร่อยดีค่ะ หน้าตาเหมือนปอเปี๊ยะทอด ข้างในเป็นกล้วยและช็อคโกแลต เสริพ์พร้อมไอศครีมรสวานิลาตกแต่งด้วยน้ำสตอเบอร์รี่
ราคาเท่าไหร่ก็คูณ 34.50 บาทเอา เรทแลกเงินเวลานั้น ไม่ถูกและไม่แพงหรอกค่ะ ราคาพอๆกับร้านดีๆในกรุงเทพ เงินที่เราจ่ายไปก็จะถูกนำไปใช้ในการช่วยเหลือเด็กๆที่นั่นด้วย
อันนี้เล่าให้ฟังเป็นของแถมนะคะ ในห้องน้ำที่นี่มีถุงยางวางบริการแบบหยิบฟรีด้วย ตะกร้าเบ้อเริ่มเชียวล่ะ กัมพูชาเป็นประเทศที่เพิ่งเปิดประเทศใหม่ๆ ยังมีปัญหายาเสพติด เด็กเรร่อน ขอทาน การค้ามนุษย์ โสเภณี และแรงงาน ในประเทศเขาเองก็ต้องรณรงค์ให้คนเข้าใจในเรื่อง safe sex กับเยาวชนรุ่นใหม่ด้วย






บ่าย 2 โมงตรง เราก็เดินดิ่งเข้าพิพิธภัณฑ์เลยค่ะ เสียค่าเข้าชม 3 ดอลล่าร์ ว่ากันว่าวัตถุโบราณของมีค่าทางประวัติศาสตร์ทั้งหมดของเขมรไม่ต้องไปหาดูที่อื่นนอกจากที่พิพิธภัณฑ์ เพราะถ้าไม่ถูกนำมาเก็บไว้ที่นี่ ก็ถูกทำลายไปในช่วงสงครามหมดแล้ว ของบางชิ้นก็ถูกต่างชาติเอากลับประเทศไปโดยถูกแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆทั้งในยุโรปและประเทศอื่นๆ ประเทศไทยเราก็มีการส่งคืนทับหลังที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นของกัมพูชาเมื่อประมาณ 10-15 ปีที่ผ่านมานี่เองเพื่อเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและประเทศ ข้อมูลอาจคลาดเคลื่อนไปบ้างนะคะ ของส่วนมากก็จะเป็นเทวรูปโบราณที่ค้นพบตามเทวสถานต่างๆในประเทศ เช่น นครวัดที่เสียมเรียบ สาเหตุที่ต้องนำมาเก็บเป็นเพราะว่าขืนยังปล่อยให้อยู่ที่เดิม ถ้าไม่ถูกคนมือบอนมาทำให้เสียหาย วันดีคืนดีก็อาจมีพวกโจรค้าวัตถุโบราณมาหิ้วส่งออกนอกประเทศก็เป็นไปได้ วัตถุโบราณบางชิ้นจะมีรูปถ่ายใส่กรอบติดไว้ใกล้ๆให้เราได้เห็นว่าครั้งหนึ่งตอนที่เทวรูปนั้นเคยตั้งอยู่ในโบราณสถานเมื่อแรกที่นักโบราณคดีเข้าไปค้นพบหน้าตาเป็นอย่างไร
เมื่อ 4 ปีก่อนเคยมีโอกาศไปเที่ยวนครวัดและนครธม เมื่อได้เห็นภาพถ่ายเทวรูปที่ตั้งอยู่ในนครวัด นครธม ในรูปถ่ายที่พิพิธภัณฑ์ก็เลยอดจินตนาการไม่ได้ว่า หากที่เหล่านั้นยังคงสภาพเดิมๆได้ไว้มันจะเป็นภาพที่ยิ่งใหญ่ขนาดไหนเมื่อมนุษย์ตัวเล็กๆอย่างเราเดินผ่านเทวสถานอายุนับพันๆปีเหล่านั้นเพื่อเข้าไปเยี่ยมชมอดีต




ใจกลางพิพิธภัณฑ์จะมีสวนและสระบัวพอให้นั่งเล่นพักผ่อนหย่อนใจได้ จากที่ได้เดินชมพิพิธภัณฑ์จนทั่วก็รู้สึกว่างานฝีมือของช่างโบราณปราณีตมาก น่าเสียดายที่ทุกอย่างถูกทำลายไปเกือบหมดเพราะพิษสงครามแท้ๆ



ภายในพิพิธภัณฑ์ส่วนที่จัดแสดงวัตถุโบราณไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพนะคะ แต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยวบางคนแอบถ่ายโดยไม่สนใจคำเตือนซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเหมาะสม อันที่จริงเราก็อยากถ่ายนะ แต่ถ้าเขาห้ามเราก็ต้องเคารพกฎ ที่นี่ยังดีที่ให้เราเอากล้องติดตัวเข้าไป บ้านเราที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติตรงสนามหลวง จำได้ว่าต้องฝากของไว้ ห้ามนำติดตัวเข้าไปเพราะว่ามีคนแหกกฎอยู่บ่อยๆ
อีกอย่าง.. ถ้าใส่หมวกก็ต้องถอดออกระหว่างอยู่ในพิพิธภัณฑ์ด้วยนะคะ




เดินเที่ยวรอบพิพิธภัณฑ์แล้วยังมีเวลาเหลืออยู่ เลยเดินออกประตูด้านข้างไปเที่ยวพระราชวังเขมรินทร์ หรือ The Royal Palace ต่อเลย วิวทางเดินดูคุ้นตาไหมคะ ถนนคล้ายๆกับแถวๆสวนสุนันทาที่ตัดออกไปหอสมุดแห่งชาติ ถนนบริเวณนี้ปิดไม่ให้รถผ่านนะคะ สามารถเดินบนถนนได้สบายๆ เดินลัดจากพิพิธภัณฑ์ไม่ไกลหรอกค่ะ เดินช้าๆไปเรื่อยๆ 5-10 นาทีก็ถึง



นี่มันท่าราชของบ้านเราเลยนะเนี่ย แถมอยู่ริมแม่น้ำเหมือนกันเด๊ะ ผู้รู้อีกคนบอกว่าแรงงานสร้างวัดพระแก้วของเมืองไทยส่วนมากเป็นช่างเขมร ที่นี่จำลองลักษณะการสร้างให้คล้ายกันกับวัดพระแก้วและวังหลวงของเรามาก พระที่นั่งริมน้ำ ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามหน้าพระบรมมหาราชวัง เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจติดริมฝั่งทะเลสาปเขมร โตนเลสาบ - Tonle Sap River และ ณ บริเวณนี้เป็นจุดที่โตนเลสาบตอนล่างไหลมาเชื่อมต่อกับแม่น้ำแม่โขง Mekong River พอดิบพอดี ในภาษาเขมร คำว่า โตนเล แปลว่า แม่น้ำ ส่วนคำว่า สาบ แปลว่า จืด โดยรวมแล้วหมายถึงแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่นั่นเอง




The Royal palace ในกรุงพนมเปญสร้างขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1434 หรือปี พ.ศ. 1977 และหลังจากนั้นพระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ทั้งหมดก็ได้ย้ายไปพำนักที่ จังหวัดอุนดง Oudong ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ ครั้งที่ 2 คือเมื่อปี ค.ศ. 1866 หรือปี พ.ศ. 2409 สร้างขึ้นที่กลางกรุงพนมเปญและเป็นที่ๆเราจะไปเที่ยวต่อกันในวันนี้
ค่าเข้าชม 6 ดอลล่าร์กับ 1000 เรียล ตามบัตรจะเขียนว่า 25000 เรียล
หลวงพี่กับเด็กวัดกลุ่มนี้เป็นพระเขมรค่ะ เดินตามกันมาตั้งแต่ที่พิพิธภัณฑ์แล้




วันที่ไปมีทัวร์พม่าลงกลุ่มใหญ่มาก ป้าๆแกยังแต่งชุดพม่าและทำผมทรงประเพณีนิยมของเขาอยู่เลย จากนั้นก็ตามด้วยทัวร์เกาหลีกลุ่มใหญ่เช่นกัน มาเขมรรอบนี้ไม่ยักกะเจอคนไทยสักคนเลย แปลกแท้




เห็นคลื่นฝูงชนแล้วท้อ ขอนั่งรอจนคนซาก่อนค่อยเข้าไปก็แล้วกัน



รอบนี้แอบมั่วนิ่มใช้มุขเดิม เดินตามฟังบรรยายไปกับไกด์ทัวร์ของชาวบ้านเขา พระที่นั่งเทวาวินิจฉัย พระราชวังเขมรินทร์ เป็นที่ประทับของกษัตริย์ของประเทศกัมพูชาองค์ปัจจุบันคือ สมเด็จนโรดม สีหโมณี และได้เปิดบางส่วนของพระราชวังให้คนทั่วไปได้เข้าชม พระราชวังเขมรินทร์นี้ได้จำลองแบบการสร้างมาจากวัดพระแก้วและวังหลวงของไทย คือด้านหนึ่งจะเป็นวัดหลวง และอีกด้านหนึ่งเป็นพระราชวัง ภายในประกอบด้วยพระที่นั่งต่างๆ อุโบสถที่มีพื้นโบสถ์เป็นแผ่นเงินแท้ มีจำนวนถึง 5,329 แผ่น จึงมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Silver Pagoda ภายในมีวัตถุโบราณเช่นพระพุทธรูปเงินองค์เล็กๆจัดโชว์นักท่องเที่ยวอยู่ด้วย ภายในห้ามถ่ายภาพและต้องถอดรองเท้าก่อนเข้านะคะ





Napoleon III Pavillion พระที่นั่งนี้สร้างขึ้นจากโลหะ ซึ่งพระราชินี Eugenie ใช้ประทับระหว่างการเสด็จไปทรงร่วมงานเปิดคลองสุเอซ หลังจากเลิกใช้งานแล้ว พระเจ้านโปเลียนที่3ได้พระราชทานมาให้แก่ สมเด็จนโรดม เมื่อปีคศ. 1876 สภาพภายนอกยังคงสภาพเดิมๆอยู่







จิตรกรรมฝาผนัง




ของใช้ในพระราชพิธี




ชีวิตริมน้ำ






แวะนั่งเล่นที่ FCC ร้านดังของคนต่างชาติในพนมเปญเนื่องจากเป็นศูนย์รวมของชาวต่างชาติและนักข่างต่างประเทศในยุคแรกๆ บอกตามตรงว่าไม่ค่อยประทับใจเท่าไหร่ อาหารราคาแพงเมื่อเทียบกับที่อื่น อยากเล่น wifi ต้องเสียเงินในขณะที่ร้านส่วนมากที่บริการและราคาอาหารประมาณนี้ให้เล่นฟรี สองอย่างที่ประทับใจคือเป็นร้านที่อยู่ชั้น 3 ของตึกทำให้ได้มุมสูงกว่าชาวบ้านกับพนักงานเสริพ์บริการดี ส่วนรสชาดอาหารก็งั้นๆตามความรู้สึกเรานะ ที่นั่งริมระเบียงก็เอาเก้าอี้แบบนั่งตามเคาร์เตอร์บาร์สูงๆมาให้นั่ง พอขึ้นไปนั่งเลยทำให้เข่าชนกับขอบระเบียงอย่างช่วยไม่ได้ อยากนั่งสบายก็ต้องนั่งเก้าอี้ชุดที่นั่งกันกระจัดกระจายในร้าน ร้านเป็นแบบเปิดโล่ง ไม่มีแอร์ ก็ไม่น่าจะต้นทุนสูงมาก




ทางขึ้นไป FCC ใครไม่สังเกตอาจเดินเลยไปได้



เดินกลับโรงแรมไปเกือบๆ 10 บล็อคถนน นอนหลับเป็นตายเพราะความเหนื่อย ตื่นขึ้นมาอีกทีเกือบๆ 3 ทุ่มแล้ว ว่าแล้วก็ออกไปท่องราตรีกันดีกว่า เดินมาโผล่ที่ La Croisette เพื่อทานอาหารค่ำ



ภายในร้านตกแต่งได้โดนใจอยู่



ออกจาก La Croisette ไปเที่ยวต่อที่ Zeppelin Cafe เลขที่ 109C ถนน 51 ระหว่างทางไปเจอร้านๆหนึ่งมืดๆแต่คนแน่นร้านจนทะลักออกมาข้างนอก แถมมีแต่ประชากรชาย รถติดหน้าร้านสักพักเพราะคนล้นถนนแล้วก็มีชายคนหนึ่งกระโดดมาหอมแก้มพี่คนขับรถของเรา เลยได้รู้ว่านี่มันบาร์เกย์นี่หว่า ว่าแล้วเลยบอกให้พี่เขาจอดส่งด่วนที่นี่เพื่อลงไปแจมกับชาวสีม่วง ร้านชื่อ Blue Chilli จำไม่ได้ว่าอยู่ถนนอะไรเพราะมันอยู่ระหว่างทางไปที่อื่น วันนั้นมีปาร์ตี้วันเกิด ในร้านแด๊นซ์กันกระจาย ในร้านมึดมากมองใกล้ยังไม่เห็นหน้าคนข้างๆเลย อยู่จนหายอยากแล้วก็เรียกรถที่จอดรอลูกค้าหน้าร้านให้มาส่งที่ Walkabout ที่อยู่ใกล้ๆกัน เวร..มาถึงแล้วเหมือนมาเที่ยวพัฒน์พงศ์ มีแต่ฝรั่งแก่กับสาวๆ นั่งไปได้สักพักกลัวจะมีแขกมาเรียกไปคุยเพราะนึกว่าเป็นสาวทำงานที่นั่น ยิ่งอยู่นานยิ่งเริ่มเหมือนคนเขมร ว่าแล้วก็เลยเดินไปนั่ง Zeppelin Cafe ที่อยู่ติดๆกันดีกว่า
ที่นี่เจ้าของร้านมีคอลเลคชั่นเพลงเมทัลดีๆเยอะมาก ใครเป็นแฟน AC/DC, Gun N' Roses หรือวงเฮพวี่เมทัลและไม่ชอบปาร์ตี้ ที่นี่เหมาะมานั่งชิลๆที่สุด แต่ลูกค้าของพี่เขาน้อยมากๆ น่าจะเป็นแบบใจรักเลยทำร้านเอง
ออกจากที่นี่ก็เกือบๆ ตี 2 แล้ว แวะต่ออีกที่ชื่อ Heart of Darkness ผับนี้คนเยอะมาก มีการยืนยันจากหลายๆคนว่าที่นี่เป็นที่เที่ยวที่ so cool ที่สุดในพนมเปญ คนเยอะหลังตี 2 มีทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ ฝรั่ง เขมร เอเซีย อยู่ครบ เมื่อ 1-2 ปีที่แล้วได้ข่าวว่าที่นี่มีการยิงกันแต่ปัจจุบันคนก็ยังแน่นอยู่ ออกจากผับไปเกือบๆ ตี 4 ที่นี่ทำให้คิดถึงเมืองไทยสมัยที่ผับและบาร์ยังเปิดแบบ นอนสต๊อปไม่มีลิมิต เออ..ที่เขมรเนี่ย ฮิพฮอพฮิตมากๆ แถมแฟชั่นวัยรุ่นบ้านเขาออกมาแนวฮิพฮอพทั้งนั้น
คำแนะนำการใช้รถรับจ้างเที่ยวกลางคืน ตีสนิทผู้จัดการหรือเจ้าของร้านที่ไปเที่ยว แล้วตอนจ่ายเงินขอให้เขาออกมาส่งขึ้นรถเพราะพี่ๆเค้าจะมีพาว์เวอร์มาก รู้จักรถรับจ้างหน้าผับทุกคัน ถ้าพี่เขาออกตัวฝากเรากับรถแล้วก็สบายใจไปได้เปลาะหนึ่งว่าตูไม่โดนพาไปเชือดแน่ๆ เวลาเราขึ้นรถหน้าผับ พี่ๆผู้จัดการหรือการ์ดมักจะออกมาส่งขึ้นรถและกำชับกับคนขับประหนึ่งเป็นพี่ชายคุ้มครองน้องสาว กลับเมืองไทยมาเล่าให้เพื่อนฟัง เพื่อนบอกว่าอย่างเราเนี่ย น่าจะโดนปล้นสักทีจะได้เข็ด จริงๆแล้วก็ไม่แนะนำนะคะเพราะในพนมเปญเวลากลางคืนอันตรายมากๆ ตามถนนจะไม่มีรถเลยนอกจากพวกที่ออกมาเที่ยว ไฟตามถนนจะเปลี่ยนเป็นไฟกระพริบ ไม่มีไฟเขียวไฟแดง เราเป็นต่างชาติเป้าหมายของมิจฉาชีพอย่างแท้จริง สงสัยว่ารอดแบบฟลุ๊คๆค่ะ คืนนั้นคงไม่ไปเตะตามิจฉาชีพ รอดไป
อย่าลืม ต่อราคาค่าโดยสารให้สุดๆ ถ้าไม่กลัวโดนคนขับกระตืบ ไม่งั้นอาจโดนค่ารถแบบว่าวิ่งไป 2 หัวมุมถนน 2 ดอลล่าร์ เสียค่าโง่ไป ศึกษาแผนที่ก่อนเที่ยวก็ดีนะ จะได้ประมาณราคาค่ารถได้ถูก



















Free TextEditor


Create Date : 09 พฤษภาคม 2554
Last Update : 9 พฤษภาคม 2554 0:57:35 น. 3 comments
Counter : 10062 Pageviews.  
 
 
 
 
เราลองอ่านข้อความข้างบนพร้อมภาพแล้วเรารู็สึกหดหู่มากอะ แล้วมีภาพหนึ่งที่เปนผู้หญิงอุ้มลูกอะ เหอะๆๆ เค้าก็คงตายแอย่างทรมานพร้อมๆๆกับลูฏสินะ โหดร้ายมากอะ คนเราเนอะใจคอโหดร้ายที่สุดในบรรดาสิ่งมีชีวิตทั้งหมด
 
 

โดย: ตะวันเจ้าเอย วันที่: 9 พฤษภาคม 2554 เวลา:1:45:35 น.  

 
 
 
นอกจากได้เที่ยวไปพร้อม ๆ กับคุณ จขบ.แล้ว ยังได้เกร็ดความรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์อีกด้วย

ยิ่งได้อ่าน ยิ่งได้เห็นสภาพของสถานที่รีดไถคำรับสารภาพแล้ว ยิ่งหดหู่ จริง ๆ ค่ะ ไม่น่าเชื่อว่านี่คือสิ่งที่มนุษย์จะทำต่อมนุษย์ด้วยกันเองได้ เฮ้อ..

ขออนุญาติแอดเป็นเพื่อนบล้อกนะคะ จะได้แวะมาอ่าน แวะมาเที่ยวด้วยบ่อย ๆ ค่ะ
 
 

โดย: i'm not superman วันที่: 9 พฤษภาคม 2554 เวลา:11:23:30 น.  

 
 
 
 
 

โดย: bkkplayground วันที่: 3 กรกฎาคม 2554 เวลา:2:04:01 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

bkkplayground
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]





MusicPlaylist
Music Playlist at MixPod.com
[Add bkkplayground's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com