[บันทึกการท่องเที่ยวเทียวไปในโลกใบสี่เหลี่ยม]

โลก - เรา

๑.
“เธอเคยรู้สึกทึ่งไหมที่หินทุกก้อนคือสะเก็ดชิ้นส่วนหนึ่งของโลก”
“บ่อยเลยล่ะ ฉันสะสมแต่เฉพาะชิ้นส่วนที่สวยที่สุด”
“แต่บางทีเธออาจจะไม่ได้ฉุกคิดว่า เธอเอง ก็มาจากโลกเช่นกัน”


บทสนทนาระหว่างซีซิเลียกับเทวดาเอเรี่ยล
ใน ‘ภาพผ่านกระจกหม่นมัว’ ของโยสไตน์ กอร์เดอร์



๒.
สงครามเกิดขึ้นทุกเช้า
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนท้องถนนของเช้าวันทำงานปกติ
มิใช่สงครามเพื่อกำจัดศัตรูทุกหน้าอย่างเอาเป็นเอาตาย หรือสงครามล้างเผ่าพันธุ์ใดๆ
หากแต่เป็นสงครามเพื่อแย่งชิงสิทธิในการครองเส้นทางการวิ่งของพาหนะของมนุษย์ตาดำๆ ทั้งหลาย (แต่สีของใจนั้นยังระบุไม่ได้แน่ชัดว่าเป็นสีเดียวกับตาหรือเปล่า)

อัศวินตาดำๆ พากันขี่ควบม้าเหล็กออกเย้ยท้าตะวันยามอรุณรุ่ง
ทุกผู้ทุกนามต่างรีบเร่งเพื่อที่หมายปลายทางของตน ราวกับว่า ณ ปลายทางนั้นมีสมบัติพัสถานอันเลอเลิศยิ่งใหญ่กำลังรอคอยการมาถึงของพวกเขาอยู่ และดูคล้ายว่าหากช้ากว่าคนอื่นแม้เพียงก้าวเดียว ชีวิตของผู้พ่ายแพ้จะต้องพังพินาศหมดสิ้น

ยางรถบดกับถนนพาตัวถังวิ่งรี่จี้เข้ากับรถคันหน้า อาจด้วยเหตุผลว่าต้องการไล่คันหน้าที่ช้ากว่าออกจากเส้นทางหรือไม่ก็ปิดช่องว่างไม่ให้รถเลนข้างๆ ย้ายเข้ามาอยู่หน้าตัวเอง

หากมีใครเปิดไฟเลี้ยวจะขอย้ายเลนเข้ามา แม้ตัวเองจะอยู่แสนไกล ก็จะยิงไฟสูงใส่ ถ้าแบบเอะอะหน่อยก็บีบแตร เสมือนแสดงป้ายว่า ‘เลนนี้ของข้าใครห้ามเข้ามาขวาง’ แล้วก็รี่บี้เข้ามาปิดทางโดยพลัน ถึงแม้ว่ารถจะติดอยู่ แต่ก็จะไม่มีการให้ใครมาทำให้ตนเสียอันดับแม้แต่นิดเดียว

ถึงแม้ว่ารถคันที่จะเปลี่ยนเลนนั้นกำลังจะถูกทางบังคับให้เปลี่ยนเส้นทางไปทางอื่นถ้าหากเขาเปลี่ยนเลนไม่ได้ก็ตาม !

“แต่นั่นก็คงเป็นเรื่องของรถคันนั้น คนขับคนนั้น ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับฉันสักหน่อย” ผู้หลงผิดคิดเพียงข้าจะบรรลุเป้าหมายของตัวเองมักเอ่ยเช่นนี้

๓.
สงครามบนท้องถนนนับเป็นเรื่องเล็กน้อยและยิ่งดูกระจ้อยร่อยนักเมื่อเทียบกับสงครามจริงๆ ที่เกิดการเสียเลือดเนื้อเพียงเพราะการไม่เข้าใจกัน การต้องการแย่งชิงเอารัดเอาเปรียบกัน การสูญเสียความเอื้ออาทร และการมองเห็นแต่เหตุผลของตัวเอง

หากนับตั้งแต่ช่วงเวลาที่มนุษย์ลืมตาดูโลกอย่างแท้จริง ดูเหมือนสังคมมนุษย์ต้องการจะให้มนุษย์แข่งขันกันเหลือเกิน
การแข่งขันชิงดีชิงเด่นเพื่อให้ตัวเองได้เป็นบุคคลอันดับแรกๆ ที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าสังคมนั้นถูกปลูกฝังตั้งแต่วัยเยาว์ของมนุษย์ ซึ่งกระบวนการปลูกฝังนั้นแอบแฝงอยู่ในคราบของการศึกษาแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

การพยายามเปรียบเทียบเด็กคนหนึ่งกับอีกคนหนึ่ง การจัดการสอบโดยอ้างเหตุผลด้านการวัดผลการศึกษาที่ออกมาในรูปของการจัดอันดับเปรียบเทียบ การพยายามผลักดันให้เด็กทุกคนแข่งขันกันเองเพื่อชิงตำแหน่งผู้ชนะเลิศในการสอบนั้น เป็นแรงผลักดันที่หนักหน่วงมหาศาลให้เด็กทั้งหลายโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มองเห็นเพียงความดีเลิศในด้านตำแหน่ง ปลูกฝังความคิดว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือ ‘ที่หนึ่ง’ และการจะเป็นที่หนึ่งนั้น บ่อยครั้งที่ผู้เข้าร่วมการแข่งขัน (ทั้งสมัครใจและไม่สมัครใจ) ต้องพยายามสนใจแต่ตัวเอง ดิ้นรนเพื่อตัวเอง และทิ้งทุกอย่างที่อยู่ในสถานภาพ ‘คู่แข่ง’

ในจดหมายฉบับหนึ่งที่ท่านกฤษณมูรติได้เขียนส่งไปยังโรงเรียนของท่าน มีใจความตอนหนึ่งว่า

“…มันเป็นเพราะแรงกดดันจากการศึกษา หรือแรงกดดันจากการแข่งขัน หรือจากการพยายามที่จะไขว่คว้าที่จะไปให้ถึงระดับที่แน่นอนในการศึกษาของเธอ การเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นๆ หรือบางทีถูกรังแกจากนักเรียนคนอื่นๆ แรงกดดันทั้งหลายเหล่านี้บีบคั้นให้เธอพะวงถึงแต่ตนเองไม่ใช่หรือ และเมื่อเธอห่วงพะวงถึงแต่ตนเอง เธอก็จะสูญเสียคุณภาวะของความรู้สึกเอื้ออาทรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้…”

บางทีเราอาจถูกหล่อหลอมมาให้ละทิ้งความเอื้ออาทร ความใส่ใจต่อผูอื่น และมองกระจกเฉพาะกระจกเงาที่วางอยู่หน้าตัวเองตลอดเวลา ตั้งแต่ครั้งยังเป็นเด็กกันเลยก็ได้กระมัง

๔.
ในระบบนิเวศ การที่สิ่งๆ หนึ่งดำรงอยู่นั้นมีความหมายทั้งเพื่อตัวมันเองและเพื่อสิ่งอื่นในระบบ
สิ่งมีชีวิตหนึ่งๆ กินหรือล่าเพื่อให้ตัวเองมีชีวิตรอดและดำรงอยู่ได้ ในขณะที่การดำรงอยู่ของมันและการกระทำของมันก็มีผลกระทบกับสิ่งอื่นๆ ในระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทุกๆ สิ่งในโลกนี้ต่างจำเป็นต้องเกื้อกูลกันไม่ว่าสิ่งนั้นจะมีชีวิตหรือไม่
ทุกวันนี้มนุษย์มองเห็นแต่ตัวเอง หันมองเพียงกระจกเงาประจำตัวของตัวเอง จนมองไม่เห็นความเป็นไปอื่นๆ

คิดถึงแต่ตัวเองมากเกินไปและคิดถึงคนอื่นๆ น้อยเต็มที

ตัวอย่างที่พบเห็นในชีวิตประจำวันก็อย่างเช่น การขับรถบนท้องถนนที่ทุกคนต่างมุ่งมองไปข้างหน้าแล้วเห็นเพียงจุดหมายของตนที่จะต้องไปให้ถึงโดยไม่สนใจสิ่งรอบข้างอย่างอื่น การแข่งขันในการศึกษาหรือการไต่เต้าด้านตำแหน่งหน้าที่การงานที่มุ่งมองเพียงความก้าวหน้าของตนโดยที่ลืมนึกไปว่า ความก้าวหน้าที่ตนเองต้องการนั้นแท้จริงแล้วเป็นไปเพื่ออะไร

แม้แต่มนุษย์ด้วยกันเองยังถูกมองข้ามและละเลย จะไปนับประสาอะไรกับเรื่องของโลกใบนี้...
โลกที่เราอาศัยอยู่นี่...

เรากำลังเห็นโลกเพียงแหล่งทรัพยากรที่จะสามารถขูดรีดและปล้นเอาสมบัติแต่ครั้งโบราณกาลออกมาถลุงได้อย่างไม่ยั้งคิด และหลงผิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของสิ่งเหล่านั้นทั้งหมด

โดยที่ลืมไปอย่างสิ้นเชิงว่าตัวเองก็เป็นแค่สิ่งมีชีวิตหนึ่งที่อาศัยอยู่บนโลกและเป็นแค่ส่วนหนึ่งของระบบนิเวศเท่านั้น !

มนุษย์นั้นผยองในความสามารถของตัวคิดว่าตนเป็นเผ่าพันธุ์ที่ยิ่งใหญ่จนไม่สำนึกและสำเหนียกความเป็นจริงดังว่า จนกระทั่งมองเห็นแต่จุดมุ่งหมายข้างหน้าของตนเอง แข่งขันชิงดีชิงเด่นเพื่อตัวเอง และย่ำยีบีฑาโลกของตัวและสิ่งต่างๆ รอบตัว (ที่ทั้งขวางทางหรือเพียงแค่อยู่รายล้อม) จนแหลกคาตีน ไม่เคยได้ระวังตัวเลยว่าแท้จริงแล้วเราเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็กๆ ของระบบ เมื่อระบบพินาศ มนุษย์เองก็พินาศไปด้วย

ความผยองนั้นใหญ่โตขนาดไม่ฟังคำเตือนของธรรมชาติ มองว่ามันเป็นเพียงมุกตลกหรือไม่ก็มั่นใจว่าตัวเองสามารถเอาชนะธรรมชาติได้
หรือไม่ก็ตามืดบอดหูปากหนวกใบ้จนกระทั่งไม่รับรู้ไม่ได้ยินอะไรทั้งสิ้น

จะรับรู้มองเห็นหรือได้ยิน ก็แต่ตัวเองเท่านั้น

๕.
ดูเหมือนระบบทาง ‘สังคม’ หรือสิ่งปลีกย่อยอื่นๆ ที่เกิดขึ้นมาเพื่อรับใช้การจัดระเบียบมนุษย์ให้มนุษย์ดำรงอยู่อย่างมีความสุข จะมองข้ามสิ่งสำคัญบางอย่างไป จนทำให้มนุษย์คิดคำนึงเพียงความสุขตรงหน้าของตน จนกระทั่งบางครั้งละเลยผู้อื่น และละเลยโลกใบนี้

มองอย่างแคบที่สุดในมุมมองของมนุษย์หนึ่งคน, สังคมประกอบไปด้วยตัวเองและผู้อื่น
ดังนั้นแล้ว ชีวิตจะดำรงอยู่ไปเพื่อสิ่งใดกันหากไม่ใช่เพื่อตนเองและผู้อื่น
มองอย่างกว้างขึ้นมาอีกหน่อย, บนโลกนี้มีทั้งมนุษย์ ทั้งสิ่งมีชีวิตเผ่าพันธุ์อื่น ทั้งธรรมชาติ
แล้วชีวิตจะดำรงอยู่ได้อย่างไรหากทุกสิ่งไม่พึ่งพากัน หากมนุษย์ไม่รับผิดชอบต่อสิ่งที่อำนวยให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้

มนุษย์ไม่สามารถแยกตัวโดดเดี่ยวและปฏิเสธความรับผิดชอบต่อโลกได้
ตราบใดที่มนุษย์ยังสูดเอาลมหายใจของโลก
ตราบใดที่การดำรงอยู่ของเรายังส่งผลกระทบกับผู้อื่นหรือสิ่งอื่นๆ ในโลกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

๖.
เราอาจลืมไปว่าหินทุกก้อนที่เราเหยียบย่ำนั้นเป็นสะเก็ดชิ้นส่วนหนึ่งของโลก
และในบางขณะจิต มนุษย์ก็อาจลืมไปว่ามนุษย์เองก็มาจากโลก เป็นสะเก็ดชิ้นส่วนหนึ่งของโลกเช่นกัน

เมื่อมนุษย์เหยียบย่ำธรรมชาติและเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง ก็เหมือนเราเหยียบย่ำโลก

ซึ่งก็หมายความว่า

เรากำลังเหยียบย่ำตัวเองอยู่ด้วยเช่นกัน




 

Create Date : 16 มีนาคม 2551   
Last Update : 16 มีนาคม 2551 22:14:04 น.   
Counter : 496 Pageviews.  

ทาง - เลือก

๑.
“ในการเดินทาง เราต้องเจอทางสองแพร่งเสมอ”
ใครบางคนเคยบอกกับฉันไว้อย่างนั้น

พอนึกๆ ดูแล้ว, ฉันเองก็เคยเจอเหมือนกัน ทว่าไม่ใช่เพียงแค่สองแพร่ง บางทีก็มีถึงสามแพร่ง สี่ หรืออาจมากกว่า ซึ่งแต่ละเส้นทางที่แยกออกไปนั้นจะพาเราไปยังที่แห่งไหน ก็บ่อยครั้งไปที่เราจะไม่มีทางรู้

บางคราวเราก็มีที่เราต้องยืนแช่อยู่ที่เดิมนานๆ-ก็ตรงที่ระหว่างแพร่งนั่นไง หันซ้ายหันขวา หรือบางทีก็หันรอบทิศ เพ่งพินิจสภาพแวดล้อม สรรหาเหตุผลนานา ใช้ทั้งตรรกะ ใช้ทั้งการชักแม่น้ำทั้งห้าหาเรื่องราวมาเป็นข้อมูลยามที่สมองส่วนวิเคราะห์เหตุผลมุ่งหน้าถึงทางตัน-ถึงก่อนที่เท้าจะเลือกก้าวสู่สักเส้นทางตรงหน้า
และเมื่อแม่น้ำทั้งห้าหรืออาจมากกว่าห้าไหลมาไม่บรรจบ แล้วเราไม่รู้จะเลือกเส้นทางไหนข้างหน้า วิธีการเดียวที่เหลืออยู่ก็อาจเป็นการไป ‘ตายเอาดาบหน้า’

๒.
เธอคิดว่าโลกใบนี้ผ่านทางแยกมากี่ครั้งแล้วล่ะ?
โลกนี้เกิดมาก่อนที่จะมีถนนหนทาง ก่อนจะมีไฟจราจร และก่อนจะมีป้ายบอกทางเสียอีก
แต่ถึงตอนนี้จะมีป้ายบอกทาง ก็คงไม่ได้ช่วยเหลืออะไรโลกสักเท่าไหร่หรอก

โลกดำเนินมาจนถึงจุดที่มนุษย์บอกว่าย่ำแย่ มนุษย์กล่าวโทษตัวเองถึงหายนะที่บังเกิดแก่โลกและเพิ่งจะรู้สึกสำนึกถึงความผิดบาปแห่งเผ่าพันธุ์ของตน
แต่ใครเล่าจะรู้-ว่าโลกกำลังเดิน ‘ผิดทาง’ อยู่จริงๆ หรือ?
แม้นักปราชญ์ทั้งหลายจะถกเถียงปัญหานี้กันอยู่ครึ่งค่อนศตวรรษ แต่นอกจากพระเจ้าแล้ว จะมีใครอีกที่รู้คำตอบ

คิดๆ ดูแล้ว ที่ว่าวิทยาศาสตร์ทำให้โลกย่ำแย่น่ะ จะโทษวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้ มันเป็นเพียงองค์ความรู้ที่ไม่ว่ายังไง, ไม่วันใดก็วันหนึ่ง, มนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการทางปัญญาสูงที่สุดบนโลกก็ต้องค้นพบมันอยู่ดี
หรือว่าอยากจะโทษจริยธรรมเล่า?
ที่มนุษย์ต้องสร้างระบบสังคมและกรอบกำหนดกฎเกณฑ์จริยธรรมขึ้นมาก็เพราะเราเชื่อกันว่าถ้าไม่มีอะไรมาบังคับหรืออบรมสั่งสอนมนุษย์แล้วเราจะอยู่กันไม่ได้ ซึ่งแปลความอ้อมๆ ว่า โดยเนื้อแท้แล้วเราไม่มีจริยธรรมอยู่ในจิตใจกันเลยอย่างนั้นหรือ? แสดงว่าพระเจ้าสร้างให้เราชั่วร้ายใช่ไหม?
ฉันเองก็ไม่รู้เหมือนกัน
แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง
การที่โลกดำเนินมาถึงจุดนี้อาจจะเป็นหนทางที่ ‘ถูกต้อง’ แล้วก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นแพร่งไหนๆ ที่โลกเดินผ่าน จุดหมายที่อยู่ปลายทางจะเป็นเช่นนี้เสมอ

ไม่ว่าความจริงแท้จะเป็นแบบใด ฉันก็ทำได้แค่เดาเท่านั้น
ถ้าพระเจ้าไม่เฉลยด้วยวาจา เราก็คงจะรู้คำตอบได้ในวันสุดท้ายของโลกเท่านั้นแหละ

๓.
เธอเคยเจอทางสองแพร่งไหม?
ถึงไม่มีคำตอบใดออกมาจากปากเธอ ฉันก็เชื่อว่าเธอต้องเคยเจอ และอาจจะเจอมากครั้งเสียด้วย
เพียงแต่ ‘ครั้งสำคัญ’ น่ะคงเจอไม่บ่อย
ถ้าจะให้พูดจริงๆ แล้วการจะบอกชี้ชัดไปว่าครั้งไหน ‘สำคัญ’ คงจะเป็นเรื่องยาก
และการให้ความสำคัญเฉพาะกับ ‘ครั้งสำคัญ’ ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก
เพราะว่าทางแยกที่เลือกเดินแต่ละครั้งก็นำพาไปสู่เส้นทางที่แตกต่างเสมอ อาจมีบ้างที่ทางข้างหน้าจะมาบรรจบกันอีกรอบ แต่นั่นก็เป็นการนำไปสู่ความแตกต่างอยู่ดี

ยังไงก็ตาม, ‘ครั้งสำคัญ’ ที่ฉันพูดถึงน่ะ คือแบบที่คนในสังคมรู้กันโดยทั่วๆ ไปว่าสำคัญ หรือบางทีอาจ ‘กำหนด’ หรือ ‘บอก’ ให้สำคัญ
แต่เดี๋ยวก่อน!
เธออย่าเพิ่งมีความคิดอคติใดๆ กับสังคมมนุษย์ อย่างน้อยบางสิ่งบางอย่างที่บอกต่อกันมาในสังคมของเผ่าพันธุ์เราก็ผ่านกาลเวลามายาวนานพอจะหาข้อสรุปเกี่ยวเรื่องบางเรื่องได้บ้าง

การไป ‘ตายเอาดาบหน้า’ นั้นจะว่าไปก็คล้ายการสุ่ม ไม่มีทางรู้คำตอบเลยว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นแบบไหน-รู้ได้อย่างมากก็แค่ความน่าจะเป็น
อย่างน้อยถ้าได้ไตร่ตรองดีๆ ก็ยังอาจจะพอเลือกทางที่คิดว่าเหมาะสมกับตนเองได้
นอกจากนั้นแล้ว ในโลกนี้ก็มีคนอยู่มากมาย อาจจะมีใครเคยผ่านเส้นทางนั้นมาบ้างแล้ว
ลองหันไปถามพวกเขาดูหน่อยจะเป็นไรไป

อีกอย่างหนึ่ง, การเลือกเดินเส้นทางที่มันแยกออกไปตรงหน้าไม่ใช่เรื่องง่ายก็จริงอยู่ แต่ก็ยังมีคนอีกมากมายที่ถูกบังคับให้ก้าวเดินไปสู่เส้นทางเดียวข้างหน้าที่ไม่มีทางแยก ซึ่งบางทีก็มองเห็นปลายทางอยู่รำไรว่าเป็นทางสู่ก้นเหว แต่ก็ไม่มีทางให้หันหลังกลับซ้ำยังมืดแปดด้าน
เห็นไหม? บางทีการมีทางแยกก็ดีเหมือนกัน

แต่ถ้าหากไม่มีทางแยกในสถานการณ์อย่างที่ว่าล่ะ จะให้ทำเช่นไร?
เธอก็ต้องหาทางแยกเองยังไงเล่า!
ในสภาพที่มืดแปดด้าน ไม่แน่ว่าด้านที่เก้าอาจจะมีแสงรำไรคอยนำทางให้เธออยู่ก็เป็นได้
แล้วกับทางแยกที่มันไม่มีอยู่นั้น เธอก็ใช้แสงรำไรนั้นส่องพื้นให้สว่าง แล้วกรุยทางด้วยตัวเองเสีย

เราไม่รู้พระประสงค์ของพระผู้เป็็นเจ้า
เราไม่รู้ว่าโลกนี้เดินทางผิดหรือถูก เช่นเดียวกับที่เรายากจะรู้ว่าเราตัดสินใจผิดหรือถูกในหลายๆ ครั้ง
เราทำได้เพียงคิดไตร่ตรองให้ดี แล้วก้าวเท้าไปบนสักเส้นทางหนึ่งเท่านั้น

๔.
“ในการเดินทาง เราต้องเจอทางสองแพร่งเสมอ”
ใครบางคนเคยบอกกับฉันไว้อย่างนั้น

ฉันเองก็เจออยู่บ่อยๆ และคิดว่าก็คงต้องเจอไปอีกหลายครั้งตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่

“ชีวิตคือการเดินทาง”
ใครอีกหลายๆ คนเคยบอกกับฉันไว้อย่างนั้น

แล้วในการเดินทางของเธอ ฉันคิดว่าเธอก็คงจะต้องเคยพบเจอทางสองแพร่งอยู่เหมือนกัน
ไม่รู้ว่าจะเจอบ่อยแค่ไหน
แต่ถ้าหากว่าเธอต้องเจอ

เธอจะกล้าเลือกเดินหรือเปล่า?




 

Create Date : 25 สิงหาคม 2550   
Last Update : 25 สิงหาคม 2550 20:07:08 น.   
Counter : 397 Pageviews.  

เสียง - ฝน

๑.
สีของท้องฟ้าดูเปลี่ยนไป...
กลางวันดูไม่สดใสเหมือนฤดูกาลที่ผ่านมา
ดูท่าพระอาทิตย์คงจะทำงานหนักมามากจนเหนื่อยล้าอ่อนแรง ไม่สามารถส่องแสงผ่านหมอกเมฆสีครึ้มอึมทึมที่คั่นกลางอยู่ระหว่างพระอาทิตย์กับผิวโลกลงมาให้ความอบอุ่นแก่มวลชีวิตทั้งหลายได้ถนัดนัก
กลางคืนเองก็คงเป็นเช่นเดียวกัน จากที่เคยสกาวด้วยแสงนานาจากวัตถุต่าง ๆ บนฟ้า
ยามนี้ดูจะโดนเมฆหมอกบดบัง จนแสงดาวแสงพระจันทร์ส่องแสงนำทางให้ชีวิตไม่ได้อย่างทุกคราว

น้ำจากฟ้าชโลมหลั่งลงดิน
ลมพัดแรงกว่าที่เคย

“หยาดฝนโปรยปราย ฉันไม่อาจหมายให้เธอกลับคืน ฉันอยากลืมรักทุกวันทุกคืน รักเคยหวานชื่นไม่อยากจำ...”

นักร้องหนุ่ม ๒ คนเคยส่งข้อความผ่านเสียงเพลงเอาไว้อย่างนั้น เมื่อหลายปีมาแล้ว

๒.
สายฝนคงจะสร้างอารมณ์ความรู้สึกและแรงบันดาลใจมากมายให้แก่มนุษย์มาตลอด
เพลง ‘ไม่ลืม’ ของ เบิร์ด&ฮาร์ท คงเป็นหลักฐานที่จะยืนยันได้ว่าอย่างน้อย ‘ฝน’ ก็ทำให้พวกเขาเกิดความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ต่อรักที่จากไป

แต่ฝนคงไม่สร้างความรู้สึกเพียงแบบเดียวให้กับคน
‘ฝน’ สร้างอารมณ์ได้หลายอย่าง และเป็นได้หลาย ๆ อย่างเช่นกัน

“Listen to the rhythm of the falling rain, and telling me just what a fool I’ve been. I wish that it would go let me cry in vain, and let me be alone again.”

เพลง ‘Rhythm of the Falling Rain’ ของ The Cascades ที่โด่งดังมากตั้งแต่ทศวรรษ ๖๐ ของศตวรรษที่แล้ว แสดงถึงฝนที่ก่อให้เกิดอารมณ์ได้ทั้ง รัก เศร้า เหงา อกหัก ในเพลงเดียวกัน

หรือถ้าอารมณ์คิดถึงคะนึงหาหน่อย เพลง ‘ฝนเดือนหก’ ของรุ่งเพชร แหลมสิงห์ ก็แสดงออกมาได้ดี

“ฝนตกทีไรคิดถึงขวัญใจของข้า แม่ดอกโสนบ้านนา น้องเคยเรียกข้า พ่อดอกสะเดา”

หรืออย่างเพลง ‘Singin’ in the Rain’ ที่ Gene Kelly ร้องและแสดงนำใน musical เรื่อง Singin’ in the Rain ก็บ่งบอกอารมณ์อาการร้องเล่นเต้นระบำกลางสายฝนด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม หัวเราะร่าท้าเมฆฝน

“I'm singing in the rain, just singing in the rain. What a glorious feelin'. I'm happy again. I'm laughing at clouds, so dark up above. The sun's in my heart, and I'm ready for love.”

หรือฝนอาจจะเป็นเหมือน ‘กำลังใจ’ อย่างในเพลงของโฮป

“กำลังใจจากใครหนอ ขอเป็นทานให้ฉันได้ไหม ดั่งหยาดฝนบนฟากฟ้าไกล ที่หยาดรินสู่พื้นดินแห้งผาก”

บางครั้ง ฝน ก็สร้างทัศนียภาพงดงาม ฝังความประทับใจเอาไว้ให้ผู้พบเห็น จนทำให้ฝนเป็นสัญลักษณ์ของความงาม มอบความชื่นฉ่ำเย็นให้ทั้งกายและใจ เพลงพระราชนิพนธ์ ‘สายฝน’ เป็นเพลงหนึ่งที่ทำให้ฝนที่หยดดูสดสวย

“สาดเป็นสายพรายพลิ้วทิวทุ่ง แดดทอรุ้งอร่ามตา รุ้งเลื่อมลายพร่างพรายนภา ยามเมื่อฝนมาแต่ไกล…”

หรือในหลาย ๆ ครั้ง ฝน ก็ถูกเปรียบเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางชีวิตคนเหมือนกัน อย่าง ‘ฝนตกฟ้าร้อง’ ประพันธ์โดยครูไพบูลย์ บุตรขัน ขับร้องโดย ศรคีรี ศรีประจวบ

“ถึงฝนจะตกถึงฟ้าจะร้อง ถ้าได้มาเห็นหน้าน้องแล้วพี่สบายสบาย อยู่ใต้ฟ้าจะกลัวอะไรกับฝน เกิดเป็นคนเมื่อถึงที่ก็ตาย ฝ่าฝนด้นมาฝ่าอันตราย เปียกโชกทั้งกายเพราะอยากจะเห็นหน้าเธอ”

แล้วก็เปรียบฟ้าหลังฝนให้เป็นความสุขของขีวิตที่จะพบเจอหลังจากที่คนฝ่าฟัน ‘ฝน’ ซึ่งเป็นอุปสรรคมาได้ อย่าง ‘ฤดูที่แตกต่าง’ ของบอยด์ โกสิยพงษ์

“อดทนเวลาที่ฝนพรำ อย่างน้อยก็ทำให้เราได้เห็นถึงความแตกต่าง เมื่อวันเวลาที่ฝนจาง ฟ้าก็คงสว่างและทำให้เราได้เข้าใจ ว่ามันคุ้มค่าแค่ไหนที่เฝ้ารอ”

หรือ ‘You’ll Never Walk Alone’ ของ Rodgers&Hammerstein ใน musical เรื่อง Carousel

“…At the end of a storm, there's a golden sky, and the sweet silver song of a lark.
Walk on through the wind, walk on through the rain, though your dreams be tossed and blown...”


นอกจาก ‘ฝน’ สร้างแรงบันดาลใจในการรังสรรค์งานให้กับนักเขียนเนื้อเพลงแล้ว ในโลกดนตรีคลาสสิกเอง ของมีเพลงที่คีตกวีประพันธ์โดยได้รับแรงบันดาลใจจากสายฝนเช่นกัน

อย่างในกระบวนที่ ๔ ของซิมโฟนีหมายเลข ๖ ของเบโทเฟนนั้น ได้บรรยายภาพพายุ สายฟ้า และสายฝนได้อย่างเห็นภาพทีเดียว

‘ฝน’ นั้นได้ช่วยสร้างอะไรหลายต่อหลายอย่างให้กับโลกไว้มากเหลือเกิน...

๓.
สีของท้องฟ้าดูเปลี่ยนไป…
กลางวันนี้ดูไม่สดใสเหมือนในฤดูกาลที่ผ่านมา
ลมพัดแรงกว่าที่เคย หอบเอาละอองไอเย็นเข้ามาในห้องนอนผ่านทางหน้าต่าง
เสียงของฝนที่กระทบหลังคาและพื้นนอกบ้านดังขึ้นเรื่อย ๆ

หยาดฝนโปรยปราย
ฉันเพียงหวัง หมายอยากให้เธอกลับคืนมา

แต่มันจะมีทางเป็นไปได้ไหม ?
.
.
.

สายฝนช่วยตอบฉันที...




 

Create Date : 11 กรกฎาคม 2550   
Last Update : 12 กรกฎาคม 2550 9:37:50 น.   
Counter : 516 Pageviews.  

ต้นไม้ กับ ตึก

๑.
ต้นไม้...

เบื้องหน้าผมเต็มไปด้วยสีเขียวของต้นไม้...

ไม่ว่าจะหันซ้ายหันขวา กลับตัวไปมองข้างหลัง แหงนหน้าหรือก้มเบื้องต่ำ ผมก็พบแต่ต้นไม้

รอบกายผมเต็มไปด้วยต้นไม้...

แน่นอนว่าผมไม่ได้อยู่ในแอมะซอนหรือป่าดงดิบใด ๆ ในแอฟริกา เพราะว่าผมยังมองเห็นตึกรามบ้านช่องที่ดูทันสมัย รวมทั้งยังมองเห็นรถยนต์วิ่งกันอยู่ขวักไขว่

ผมอยู่ในมาเลเซีย...

เป็นเรื่องที่ไม่เคยคาดคิด
ผมไม่ค่อยได้ให้ความสนใจกับประเทศเพื่อนบ้านประเทศนี้เท่าไรนัก ด้วยความคิดที่ว่ามีพิกัดทางภูมิศาสตร์อยู่ในละแวกเดียวกัน ไม่น่าจะมีข้อแตกต่างกันมากมายอะไร
แต่แล้วผมต้องเปลี่ยนความคิดเมื่อผมได้มาเยือนที่นี่อย่างไม่ได้ตั้งใจเท่าไหร่

ผมพบว่ากรุงกัวลาลัมเปอร์นั้นสวย!

ไม่ได้มีสถาปัตยกรรมที่ดูแล้วราวกับก่อกำเนิดมาจากดาวอังคารหรือค้นพบว่าสร้างในสมัยแอซเทก ไม่ได้มียานอวกาศร่อนไปร่อนมา มอเตอร์ไซค์ทั่วไปมีสองล้อ รถที่ผมนั่งก็ยังมีสี่ล้อ และแมคโดนัลด์ก็ยังได้พบเห็นทั่วไป

สิ่งที่ทำให้มันสวยคือ สีเขียวของต้นไม้!

ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมหรู หรือตึกระฟ้า บ้านเดี่ยว แม้กระทั่งตึกแถว ต้นไม้ยังขึ้นแซมอยู่ทุกที จนในแวบแรกที่มองเห็น ผมเกือบลืมไปว่านี่เป็นตัวเมืองหลวง

ผมคงจะติดภาพตัวเมืองของกรุงเทพฯ มากเกินไป จนทำให้ไม่ชินกับภาพเมืองหลวงของประเทศที่อยู่ ‘ใกล้ประเทศไทย’ ประเทศนี้

แวบต่อมาที่คิดคือ "มันน่าอิจฉา"

๒.
พอหันกลับไปคิดถึงเมืองไทย
ก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ทำไมเราไม่มีต้นไม้มากมายแบบนี้ให้พบเห็นในเมืองหลวงบ้างนะ ?

ทำไมในกัวลาลัมเปอร์มีมากมาย ?
ทำไมในกรุงเทพฯ หาได้ยากยิ่ง ?

ถ้าจะยกข้ออ้างเรื่องสภาพทางภูมิประเทศว่าในกัวลาลัมเปอร์นั้นมีภูเขาให้เห็นอยู่มากมาย หรือเรื่องสภาพภูมิอากาศว่าที่นี่ร้อนชื้นจนราขึ้นโรตีได้ง่ายขนาดไหน หรือฝนตกชุกไม่ชุกเพียงใด คงไม่ใช่ข้ออ้างที่ดีนัก

หรือจะอ้างเรื่อง สายไฟฟ้าของที่นี่อยู่ระดับใกล้ท่อประปา แต่เมืองไทยอยู่ระดับรถไฟฟ้า ก็อาจจะพอถูไถไปได้

บ้านเราเคยพยายามปลูกต้นไม้บนบาทวิถี แต่พองอกงามหน่อยก็ไปชนสายไฟฟ้าทำให้ต้องคอยเล็มคอยตัดสิ้นเปลืองงบประมาณ วิธีแก้ปัญหาอันแสนชาญฉลาดที่สุดที่ท่านผู้บริหารบ้านเมืองสามารถดำริได้ก็คือ ตัด ๆ มันทิ้งซะให้หมด จะได้ไปต้องเปลืองเงินไปจ่ายค่าเล็มใบไม้ใบหญ้า

ต่อมามีต้นไม้เกาะกลางถนน ก็คิดการใหญ่อยากจะทำโครงการขยายถนนให้มีพื้นที่ให้รถวิ่งได้มาก ๆ จะได้เพิ่มมลพิษแบบไม่ต้องมีอะไรมาดูดซับเลย

ช่างเป็นไอเดียที่แสนบรรเจิดเลิศล้ำเสียนี่กระไร!

แต่ไม่หรอก...
ต้นไม้น่ะปลูกอยู่เยอะแยะ ถึงจะแอบ ๆ ไปหน่อย แต่ยังพอเอามาเป็นข้อแก้ตัวได้ว่าเรายังมี ‘สวนสาธารณะ’ ให้ลูกเล็กเด็กแดงปู่ย่าตายายมาวิ่งเหยาะ ๆ (แหยะ ๆ ) และรำไท้เก๊กเพื่อสุขภาพได้อยู่

เพื่อ ‘สุขภาพ’ ชาวเมืองหลวงอย่างแท้จริง!

๓.
สมัยนี้ใครที่มัวพูดถึงแต่เรื่อง ‘ต้นไม้’ หรือ ‘สิ่งแวดล้อม’ จะถูกมองเป็นสิ่งมีชีวิตที่ราวกับเพิ่งพัฒนามาเป็น Homo erectus ยังไงยังงั้น

เรื่องการรณรงค์ให้ผู้คนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมถูกเทคโนโลยีทำให้มันกลายเป็นเรื่องเชยบรม!

สมัยนี้ถ้าจะพูดจาให้ถูกกาลเทศะก็ไม่คงพ้นเรื่องวินโดว์วิสต้า iPhone จตุคามฯ ยุบพรรคการเมือง ฯลฯ ถ้ามนุษย์ตนไหนบังอาจสะเออะเอ่ยเรื่องสิ่งแวดล้อมขึ้นมา มันผู้นั้นอาจจะถูกจำแนกแยกพวกให้เป็นคนละเผ่าพันธุ์ได้

เมื่อเทคโนโลยีและตึกระฟ้าคอยบังเราอยู่ ทำให้เรา หากันจนไม่เจอ
ภาพของตึกที่อยู่กับต้นไม้จึงเป็นสิ่งที่ผมเกือบทำให้ถูกคิดว่าเป็นสิ่งที่เข้ากันไม่ได้

ถ้าเป็นข้อสอบปรนัยประเภท ข้อใดไม่เข้าพวก แล้วให้โจทย์มาว่า ‘ตึก’
ผมคงจะกาตัวเลือกข้อที่เขียนว่า ‘ต้นไม้’ โดยไม่ชายตาไปมองตัวเลือกอื่น
(ถ้าไม่มี ผมอาจจะเขียนตัวเลือกเพิ่มเอง)

เมื่อภาพต้นไม้ที่อยู่คู่กับตึกถูกทำให้ลืมเลือนไปจากสมองของผู้คนส่วนใหญ่ เกือบจะกลายเป็นว่าต้นไม้หายไปจากชีวิต ก็แลดูราวกับชีวิตคนไม่เกี่ยวพันกับต้นไม้ จึงไม่มีใครใส่ใจเรื่องต้นไม้ แทบไม่มีใครดำริสร้างสรรค์จัดพื้นที่ให้ต้นไม้

เมื่อไม่มีภาพให้เห็น จึงถูกลืมเลือนและละเลย

เมื่อไม่มีผู้สร้าง จึงไม่มีสิ่งใดถือกำเนิด

เมื่อไม่มีที่ว่างเหลือไว้ให้ ก็ไม่สามารถเติมเต็มได้...

๔.
ตึก...

เบื้องหน้าผมเต็มไปด้วยหลากสีสันละลานตาของตึก

ไม่ว่าจะหันซ้ายหันขวา กลับตัวไปมองข้างหลัง แหงนหน้าหรือก้มเบื้องต่ำ ผมก็พบแต่ตึก

รอบกายผมเต็มไปด้วยตึก

แน่นอนว่าผมไม่ได้อยู่ในแอมะซอนหรือป่าดงดิบใด ๆ ในแอฟริกา เพราะว่าผมยังมองเห็นตึกรามบ้านช่องที่ดูทันสมัย รวมทั้งยังมองเห็นรถยนต์วิ่งกันอยู่ขวักไขว่
.
.
.

ผมอยู่ในกรุงเทพฯ....




 

Create Date : 31 พฤษภาคม 2550   
Last Update : 1 มิถุนายน 2550 17:14:01 น.   
Counter : 414 Pageviews.  

'ดื้อ' กันเถอะ!

๑.
ผมเป็นเด็กดื้อ!

ผมกล้าสารภาพและยอมรับจากใจจริงว่าผมเป็น ‘เด็กดื้อ’
ผมโตมากับความ ‘ดื้อ’ และด้วยความ ‘ดื้อ’ จนหลายคนรอบตัวเอือมระอา
ดื้อเสียจนบางครั้งก็ขอแค่ให้ได้ดื้อ
และผมก็กล้าพูดได้ว่าที่ผมเป็นผมมาได้จนทุกวันนี้ก็เพราะความ ‘ดื้อ’ (ในบางเรื่อง)
รวมกับอีกหลาย ๆ เหตุผลที่ทำให้ผมสนับสนุนให้ทุกคนทั้งเด็กและไม่เด็กให้ ‘ดื้อ’ (ถ้าคุณรู้สึกว่าบทความนี้มีแนวโน้มทำให้ผู้อ่านเกิดพฤติกรรมที่ไม่ดีในสายตาคุณ ผมก็ขอแนะนำให้คุณเปลี่ยนไปหน้าเว็บไซต์อื่นเสีย เว้นเสียแต่ว่าคุณ ‘ดื้อ’ จะอ่านต่อไป)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตฯ เก็บคำว่า ‘ดื้อ’ ไว้หลายแบบ; ดื้อดัน ดื้อด้าน ดื้อดึง ดื้อแพ่ง ดื้อยา ดื้อรั้น
สรุปว่ามีหลาย ‘ดื้อ’ ให้คุณเลือก --- กรุณาใช้วิจารณญาณในการเลือกด้วย

‘ดื้อ’ เฉย ๆ นั้น พจนานุกรมเล่มเดียวกันนี้ได้ให้ความหมายว่า ‘ไม่ยอมเชื่อฟังหรือทำตาม’

ผมขอยกคำกล่าว(อวด)อ้างของยุคเสรีนิยมประชาธิปไตยที่พูดกันอย่างโก้เก๋ว่า “เรามีเสรีภาพ”
ใช่! เรามีเสรีภาพ
มนุษย์มีเสรีภาพ
อเมริกันชนมีเสรีภาพ
คนไทยก็มีเสรีภาพ
แม้จะไม่รู้ว่า ‘เสรีภาพ’ ที่คนพูดกันดารดาษกลาดเกลื่อนเปื้อนตลาดนั้นมีความหมายที่แท้จริงว่าอะไร แต่ก็สามารถตีความหมายจากรูปศัพท์แล้วทำให้เราคิดได้ว่า “เราจะทำอะไรก็ได้” “เราจะทำอย่างโน้นอย่างนี้ตามที่เขาบอกทำไม ?”

กาลามสูตรสอนอย่าให้เราเชื่อตามกันมา…

ดังนั้น เหตุผลที่ถูกกล่าว(อวด)อ้างมาข้างต้นนี้ จึงมีน้ำหนักพอที่จะทำให้เรา ‘ดื้อ’ ได้อย่างถูกต้องตามสิทธิที่เราพึงมี

๒.
ขณะที่ผมกำลังนั่งอยู่ในภัตตาคารญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง ผมได้ยินคนกลุ่มหนึ่งซึ่งนั่งอยู่โต๊ะใกล้ ๆ ผมคุยกัน
ผมได้ยินบทสนทนาแว่ว ๆ แต่พอจะจับท็อปปิกได้ ซึ่งผมรู้สึกว่าเป็นหัวข้อการสนทนาที่น่าสนใจทีเดียว
และด้วยความช่างสอดรู้สอดฟัง ผมจึงพยายามตั้งสมาธิฟังใจความให้ชัด
(อนุญาตให้ด่าผมได้)

แม้จะไม่เห็นหน้าค่าตา แต่จากการพิจารณาแล้ว ถ้าผมเป็นเด็ก คนกลุ่มนี้ก็เป็นผู้ใหญวัยพ่อแม่่สามสี่คนมีทั้งชายและหญิงกำลังเอาวีรกรรมความดื้อของลูกตัวเองมาเล่าให้ผู้ร่วมโต๊ะได้ถกกัน

…เท่าที่ได้ฟังแค่เกริ่น ๆ มันก็รู้สึกสนุกตื่นเต้นน่าติดตามยังไงบอกไม่ถูก…

มีตั้งแต่ลูกไม่อยากไปเรียนกับครูคนหนึ่ง เลยขังตัวเองในห้องน้ำ
ลูกทะเลาะกับแม่จนเกือบจะลงมือลงไม้ แต่ลูกพูดว่า “ไม่ทำเพราะเห็นว่าเป็นแม่นะ” --- และผู้แม่ก็เล่าด้วยน้ำเสียงยอมแพ้ว่า “มันตัวใหญ่กว่าเราตั้งเยอะนะ แต่มันยังพูดแบบนี้กับเรา” (สรุปว่าแม่ปลื้มน้ำใจ ???)
หรือลูกเถียงกับพ่อกับแม่ว่า “ทำไมถึงต้องมาตีลูก” “ผู้ใหญ่มีสิทธิ์อะไรมาตีเด็ก” “ใครกำหนดให้ผู้ใหญ่ตีเด็ก” “ทำไมเด็กตีผู้ใหญ่ไม่ได้” “ทำไมผู้ใหญ่ถึงจะทำผิดไม่ได้”

ผมฟังแล้วแอบชื่นชมกับการที่กล้ามีความคิดปฏิเสธอำนาจที่กำลังเข้ามาบีบรัดตนเอง --- อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้สนับสนุนว่าการเถียงพ่อแม่เป็นการกระทำที่ถูกต้องเหมาะควรแต่อย่างใด

จนกระทั่งผู้ชายที่คาดว่าน่าจะมีตำแหน่ง ‘พ่อ’ คนหนึ่งพูดประโยคหนึ่งออกมาต่อหน้าผู้ร่วมโต๊ะว่า “เด็กสมัยนี้เขามีพัฒนาการทางความคิดในทางกลับกันกับเรานะ”

……

ประโยคนี้ทำเอาผมนั่งคิดอยู่หลายวัน

(เอาล่ะ มาถึงตรงนี้ ใครที่คิดจะด่าผมน่ะ คิดดีแล้วหรือ? ถ้าผมไม่ไปสอดรู้สอดฟังเข้าละก็คงไม่มีเรื่องมาเล่าให้คุณฟังหรอก --- หรือถ้าคิดดีแล้ว… ก็เชิญด่าต่อได้)

๓.
ผมเคยถกกับผู้ใหญ่หลายคนในเรื่องของการรับปริญญาบัตร
เช่นเกิดการตั้งประเด็นว่า ถ้าผมไปเรียนต่อต่างประเทศก่อนที่จะมีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรเล่า จะทำอย่างไรกันดี คุยกันเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต
ทั้ง ๆ ที่ผมแทบไม่ได้คิดถึงปริญญาใบใด ๆ ก็ตามในหัวเลย จะเข้ารับหรือไม่เข้าก็ไม่เห็นจะสลักสำคัญแต่อย่างใด

“กระดาษหนึ่งใบ”

เป็นหนึ่งใบที่มีค่ายิ่งต่อชีวิตของคนหลายคน
ราวกับว่าถือกำเนิดเกิดมาเพื่อให้ได้ครอบครองกระดาษใบนี้…

เยาวชนวัย(ต้อง)ใฝ่ศึกษาถูกตีกรอบจากประเพณีวัฒนธรรมและความเชื่ออันบ้าคลั่งที่ลืมแก่นของตัวเอง

สอบเข้ามหา’ลัย จะต้องเป็นที่นั่นที่นี่ เท่านั้น
เด็กดีต้องเรียนได้ ๔.๐๐ ต้องเชื่อฟังพ่อแม่ครูอาจารย์ ไม่ขัดไม่เถียงสักคำ
ต้องเรียนจบให้ได้ปริญญาใบโน้นใบนี้
โตขึ้นรักใครชอบใครก็ต้องเข้าพีธีแต่งงาน
การบรรเลงเพลงรักที่ถูกต้องต้องผ่านพิธีกรรม ต้องมีในที่ลับ ต้องโรแมนติก ต้องไม่ป่าวประกาศ (ทั้งที่ประกาศแต่งงานไปแล้ว)
ฯลฯ

เป็นวิถีที่หากใครไม่ทำตามจะถูกตีตราให้เป็นสิ่งที่ ‘ไม่ถูกต้อง’ เพียงเพราะเขามีวิถีคิดในแบบของตนและไม่สอดคล้องตามคนหมู่มาก
ซึ่งนับเป็นความรุนแรงที่มนุษย์กระทำชำเรามนุษย์ด้วยกันเองอย่างหนักหน่วงแสนสาหัส

แต่หลายคนยังไม่วายยอมตาม ทั้งที่ไม่ซื่อสัตย์กับตนเอง
ด้วยความเชื่อที่ถูกปลูกฝัง --- ซึ่งเราไม่อาจปฏิเสธจะไม่รับได้เลย

ผู้ใหญ่มักกำหนดวิถีชีวิตเด็ก
เด็กที่เห็นไม่ตรงกับผู้ใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับคนส่วนมาก ไม่เห็นด้วยกับรัฐ ชาติ ศาสนา จะถูกตั้งสมญาให้เป็น ‘เด็กไม่ดี’

‘เด็กต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่’ นั้นแท้จริงแล้วมีวาทกรรมแฝงเร้นสะท้อนแนวคิดเรื่อง ‘อำนาจนิยม’ ที่ผู้บังคับบัญชาจะต้องมีอำนาจเหนือผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้ใหญ่จะต้องมีอำนาจเหนือเด็ก ซึ่งเป็นแนวคิดที่ฝังหัวคนมาหลายชั่วอายุจนแยกออกจากตัวไม่ได้และไม่รู้ตัว

เราทุกคนต่างอ้างสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพแต่กลับทำร้ายผู้ร่วมโลกเดียวกัน
และยังคงปลูกฝังความเชื่อแบบของตนบังคับให้เด็กรุ่นต่อไปเชื่อเหมือนตน
ทั้งที่แท้จริงแล้วโลกนี้มีหลายสี ไม่ได้มีแค่ขาวกับดำ และความจริง ก็ไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว

๔.
ผมเคยคิดว่า พิธีแต่งงานนั้นสำคัญเพียงใดกันเชียว
เรา ๒ คนรักกัน ต่างหากที่เป็นประเด็นสำคัญ

หรือถ้าผมต้องตาย ผมก็คงไม่ฟื้นขึ้นมานับหัวคนหรอกว่ามีคนมาร่วมชิมข้าวต้มในงานกี่คน

บางสิ่งบางอย่างมีมานานจนกลายเป็นความเคยชิน และความเคยชินบางประการก็ได้กลายมาเป็นสิ่งถูกต้อง

พิธีกรรมหลายอย่างมีมานานจนลืมแก่นและจุดประสงค์ของตัวเอง
คนที่เข้าร่วมบางคน ก็แค่ทำอย่างที่ ‘เขาบอกให้ทำ’ กันต่อมาเท่านั้น

พูดเหมือนเป็นเหตุผลที่ง่าย แต่แท้จริงฝังรากลึก

สถาบันครอบครัวที่ทุกคนยกย่องว่าสูงส่งนั้นเป็นสถาบันที่ทั้ง อบรมสั่งสอน และ เป่าหู ได้ดีพอ ๆ กัน
นอกจากนั้นยังส่งผลทางด้านกรอบทัศนคติการมองโลกและการตัดสินผิดชอบชั่วดีแต่เพียงถ่ายเดียวอีกด้วย (แม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม)

๕.
‘ดื้อ’ มักเกิดขึ้นกับเด็ก และเด็กกระทำต่อผู้ใหญ่
อาจเป็นเพราะ ‘ยังเด็ก’ จึงยังได้รับการอบรมสั่งสอน (หรือเป่าหู) ไม่มากพอ จึงยังมีวิธีคิดยังไม่ตรงกับครรลองที่ผู้ใหญ่อยากให้เป็น
ถ้าหากได้รับการอบรมสั่งสอน (หรือเป่าหู) มากพอ ก็อาจจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ ‘เชื่อ’ ตามผู้ใหญ่รุ่นก่อนหน้าได้อย่างไม่เคลือบแคลงใจ

คุยกับเด็กดื้อเป็นเรื่องน่าสนใจ เราจะได้ฟังความเห็นของเขาผ่านมุมมองที่เราไม่มีหรือไม่เห็น
(แต่ครูอาจารย์หลายคนยังเกลียดขี้หน้านักเรียนที่มีความเห็นแย้งตนเอง)

‘ดื้อ’ จึงเป็นพฤติกรรมที่จะนำพาเราไปสู่การค้นพบของโลกที่ต่างออกไป
หรืออาจเป็นโลกใบเดิมที่มองมุมต่าง
และถ้าผู้ใหญ่สามารถยอมรับได้ เราอาจจะได้ไม่ต้องทำร้ายกันโดยไม่รู้ตัวอีกต่อไป

‘เด็กเมื่อวานซืน’ ที่ผู้เป็นผู้ใหญ่ ‘อาบน้ำร้อนมาก่อน’ เรียกเอาไว้และพร่ำสอนว่า ‘ตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด’ นั้นแท้จริงแล้ว อาจจะไม่กลัวหมา

แต่อาจจะอยากลองฟัดกับหมาเพื่อค้นหาวิถีการต่อสู้ของตัวเองดู ก็เป็นได้…

ฉะนั้น จะสุภาษิตไหนก็ช่างปะไร

เรามา ‘ดื้อ’ กันเถอะ!




 

Create Date : 24 พฤษภาคม 2550   
Last Update : 24 พฤษภาคม 2550 19:56:49 น.   
Counter : 551 Pageviews.  

1  2  3  

ommyz
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ตอนนี้มีบล็อกอีกแห่งที่

http://seta-brahms.exteen.com

ว่างๆ เชิญแวะครับ (อาจจะอัพเดตบ่อยกว่าที่นี่นิดนึง...)
Free Counter and Web
Stats
[Add ommyz's blog to your web]