[บันทึกการท่องเที่ยวเทียวไปในโลกใบสี่เหลี่ยม]

ผู้หยิ่งทะนงที่น่าสมเพช

ในค่ำคืนธรรมดาของคนทั่วไป ฉันพบตัวเองยืนโดดเดี่ยวอยู่ภายใต้แสงดาวรางเลือน และจันทร์คล้ายส่งยิ้มเยาะเชือดเฉือนมาหาฉัน

ไม่รู้ว่าสายลมพัดนั้นหอบเอาละอองไอน้ำมาจากที่ไหนกัน หรือแท้จริงแล้วความเปียกชื้นนั้นออกมาจากเบ้าตาของฉันเอง

ฉันได้ยินเสียงหนึ่งจากภายในตัวฉันตั้งคำถาม
สุดท้ายแล้วเธอมาได้เพียงเท่านี้เองหรือ?

ในวันที่เฉลยบทจบสุดท้ายของทุกสิ่งที่ผ่านมา อดีตที่เหมือนจะเคยประทับตรึงตรากลับตรึงตรวนพันธนาการทั้งหัวใจและจิตวิญญาณของฉันจนหมดสิ้น ฉันเพิ่งเข้าใจในวินาทีนั้น วันที่ไร้ความฝัน ไม่ต่างจากภัยมหันต์ของชีวิต

วันคืนผ่านเลยไป เหตุใดอุดมการณ์แห่งชีวิตจึงน้อยลดถดถอย ความคิดผัน ชีวิตเปลี่ยน คล้ายสิ่งที่เคยหวังตั้งใจกลายเป็นสิ่งเลื่อนลอย ผู้คนที่ฉันเฝ้าคอย ทุกคนต่างร้างลา หรือแท้จริงไม่มีใครลา แต่เป็นฉันเองที่ทอดทิ้งพวกเขา?

คำถามมากมายยังคงวนเวียน เชื้อไฟแห่งชีวิตเหมือนดับมอดทุกช่องทาง

ผู้หยิ่งทะนงที่เคยกล้าท้าทายชีวิตอันโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาบัดนี้หมดสภาพสิ้น ในวันที่ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับการพานพบ กิเลสตัณหา การผิดคำมั่นสัญญาต่อตัวเอง ทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจของคนอื่น การหมดสิ้นความหวัง และการค้นพบความขลาดเขลาของตัวเอง

หลังจากผ่านการถูกรุมล้อมด้วยผู้คนมากมาย สุดท้ายเมื่อต้องกลับมาต่อสู้ชีวิตคนเดียว ความโดดเดี่ยวก็กระโจนเข้าทำร้าย

ฉันเพิ่งเข้าใจความน่ากลัวของมัน มันกัดกินความพยายามและความฝัน และสุดท้ายฉันก็ลืมไปจนหมดสิ้นว่าความฝันของฉันคืออะไร ฉันกำลังใช้ชีวิตไปเพื่ออะไร แม้กระทั่งฉันคือใคร

ชีวิตที่ไร้พระเจ้าและไร้มิตรสหาย รวมทั้งปราศจากผู้เป็นที่รัก เหมือนกำลังขมขู่ให้ฉันดิ้นรนอยู่ในเขาวงกตอันแสนแคบ ความมืดมิดปิดล้อมตัวฉันตลอดเวลาแม้ตะวันจะฉายฉานมากเท่าใด

ความสับสนเป็นเหมือนวังวนแห่งปริศนาและความสิ้นหวัง บัดนี้ฉันกลัวการมีชีวิตพอๆ กับการกลัวความตาย ไม่มีสิ่งใดเข้ามาคลี่คลายคำถามมากมายและโซ่่ตรวนที่ผูกมัดใจ

นอกจากนั้น ฉันก็กลัวการถูกจองจำพอๆ กับการมีอิสระเสรีภาพ ฉันกลัวการทำบาปพอๆ กับการแผ่บุญกุศล และเกลียดการเป็นคนพอๆ กับการเป็นปิศาจ

ฉันคาดหวังให้เวลาช่วยเหลือ แต่แสงแห่งความหวังยังไม่ปรากฏสัญญาณสักที หรือมันเป็นเพราะฉันเองที่ทำลายความหวังไปสิ้นแล้วทั้งหมด? ชีวิตคล้ายระกำรันทด

คำพูดทั้งหมดที่ฉันสามารถเอ่ยได้ก็คือ ฉันเป็นคนที่น่าสมเพชที่สุดในสายตาของตัวเอง

และถ้าฉันเป็นนกมีปีกและมีเสรีที่จะบินไปยังที่แห่งไหนก็ได้

ฉันก็ไม่รู้ว่าจะบินไปสู่หนใด




 

Create Date : 13 กันยายน 2551   
Last Update : 13 กันยายน 2551 18:42:29 น.   
Counter : 724 Pageviews.  

ทำอย่างไร-เด็กไทยจึงจะรักการอ่าน?

เหตุผลที่ผมได้ยกประโยคคำถาม (ที่ดูกำลังจะกลายเป็นปัญหา) คลาสสิกนี้ขึ้นมา ไม่ได้เป็นเพราะว่าผมได้รับแรงบันดาลใจจากประโยคอันจำเจว่า “ปัจจุบันคนไทยอ่านหนังสือกันปีละ xx บรรทัด” หรือว่าผมมีส่วนได้ส่วนเสียในวงการธุรกิจหนังสือแต่อย่างใด แต่ว่าผมกำลังอยากจะฟังความเห็นของทุกๆ ท่านที่ได้เข้ามาเห็นข้อความนี้ อยากให้ทุกท่านได้ลองพยายามเกร็งเปลือกตาอย่าให้มันปิดในขณะที่ท่านกำลังจะอ่านสิ่งที่ผมนำเสนอข้างล่างนี้ แม้ว่าแลดูคร่าวๆ อาจจะดูยืดยาวและชวนเวียนหัวชวนหลับไปสักหน่อยก็ตาม แต่ผมก็อยากทราบและอยากฟังความคิดของท่านๆ รวมทั้งช่วยกันระดมหาวิธีแก้ปัญหาต่างๆ (ซึ่งดูเหมือนจะมีการพยายามแก้ปัญหากันมาหลายปีดีดักแล้วแต่ก็ยังทำกันได้ไม่สำเร็จ) หรือถ้าถ้าสุดท้ายหาวิถีทางไม่ได้ อย่างน้อยขอให้พวกเราได้มีส่วนช่วยเป็นเสียงเพียงเล็กน้อยในการกระตุ้นเตือนให้คนไทยรักการอ่านก็ยังดี หลังจากเกริ่นมายืดยาว ขอเริ่มละครับ

ทักษะการสื่อสาร

ถ้าแบ่งทักษะการสื่อสารเป็น 4 อย่าง ก็จะได้เป็น ฟัง พูด อ่าน เขียน

แล้วถ้าจะจับคู่ว่าอะไรเกี่ยวข้องกันมากที่สุด ก็คงจะได้เป็น ฟัง-พูด กับ อ่าน-เขียน

จริงๆ แล้วเราอาจจะพูดได้ว่า อ่าน กับ เขียน นั้นเป็นสิ่งๆ เดียวกันเลยด้วยซ้ำ แต่นั่นเดี๋ยวเรามาว่ากันอีกทีหนึ่ง

เปรียบเทียบกับสมัยก่อน

เราต้องยอมรับความจริงกันว่าเด็กไทยปัจจุบัน (ซึ่งความจริงก็คือคนไทยโดยส่วนมากนั่นแหละ) ไม่รักการอ่าน หากจะเปรียบเทียบกับคนรุ่นก่อน ในยุคเก่า สื่อและเทคโนโลยีมีน้อย ‘หนังสือ’ จึงดูเหมือนเป็นไม่กี่ช่องทางที่จะทำให้คนสามารถหาความรู้ ติดตามข่าวสาร หาความบันเทิง หรือแม้กระทั่งนำมาเป็นหัวข้อในวงสนทนาหรือจะได้สามารถเข้าร่วมวงสนทนาได้ (ในกรณีที่เป็นข่าวสารหรือวรรณกรรม)

พอมาปัจจุบัน การเติบโตของเทคโนโลยีทำให้มีสื่อและเครื่องบันเทิงต่างๆ มากขึ้น เรากำลังมีโทรทัศน์ วิทยุ เครื่องเกม โทรศัพท์มือถือ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต

เวลาว่างของคนปัจจุบันจึงสามารถผลาญไปได้ด้วยสิ่งต่างๆ มากมาย รวมถึงชีวิตประจำวันเราก็ต้องพึ่งสื่อหลากหลายรูปแบบ หนังสือจึงไม่ได้เป็นช่องทางเดียวในการติดต่อกับสังคมอีกต่อไป การณ์ยังกลับกลายเป็นว่า การอ่านหนังสือจะกลายเป็นการตัดตัวเองขาดออกจากสังคมอีกต่างหาก

ด้วยการเติบโตของสิ่งต่างๆ มากมายเหล่านี้เอง ทำให้คนอยู่ในสภาวะ ‘ข้อมูลท่วม’ และ ‘สมาธิสั้น’ ข้อมูลและการสื่อสารมากมายได้ไหลล้นท้นถั่งเข้าสู่พวกเราโดยไม่อาจห้ามปราม และสุดท้ายต้องยอมจำนนกับกระแสเชี่ยวกรากของเทคโนโลยีและวัตถุนิยม

การอ่านสำคัญอย่างไร?

ถึงแม้หลายคนจะอยากหลีกเลี่ยง แต่เราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า องค์ความรู้บางอย่างสามารถหาได้จากการอ่านเพียงเท่านั้น

พูดในแง่การศึกษาหาข้อมูลและความรู้, อย่างง่ายที่สุด, หากเราจะต้องการศึกษาตำราเรียนสักวิชา การอ่านดูจะเป็นวิธีเดียว เพราะไม่ว่าจะมีการอัดเลคเชอร์เพื่อมาฟังหรือการดูสารคดี สุดท้ายแล้ว การอ้างอิงและการจดบันทึกก็ต้องทำออกมาเป็นรูปลักษณ์ของตัวหนังสืออยู่ดี และการอ่านก็เป็นวิธีการเดียวที่จะเข้าถึงตัวหนังสือเหล่านั้นได้

ในแง่การสื่อสาร, เราไม่อาจปฏิเสธได้อีกเช่นกันว่าวิธีการสื่อสารด้วยการฟัง-พูดนั้น ‘ตื้นเขิน’ หากเป็นการสนทนาที่เป็นหัวข้อง่ายๆ สั้นๆ ในชีวิตประจำวัน ฟัง-พูด ก็เป็นหนทางที่เหมาะควร แต่ถ้าหากเราต้องสนทนาเรื่องที่ซับซ้อน ยืดยาว และต้องการการเรียบเรียงหรือการจัดระบบความคิดมาก การอ่าน-เขียนดูจะเป็นหนทางที่เหมาะสมกว่า (เพราะเรามีเวลาเตรียมตัว เรียบเรียงและจัดระเบียบข้อมูลก่อนจะถ่ายทอด ต่างกับการพูดคุยธรรมดาที่มีข้อจำกัดหลายๆ ประการทั้งเวลา สถานที่ และอื่นๆ)

ที่ผมได้กล่าวไปข้างต้นว่า การอ่าน-เขียน เหมือนเป็นสิ่งเดียวกันก็เพราะว่า ในแง่การสื่อสาร หากต้องการสื่อความคิดโดยเราเป็นผู้เริ่มสื่อ เราจะต้อง ‘อ่าน’ ความคิดของตัวเองเสียก่อน แล้วจึงค่อยเรียบเรียงออกมาเป็นตัวหนังสือ (หรือเรื่องบางเรื่องก็ซับซ้อนขนาดดึงแค่ข้อมูลดิบๆ คร่าวๆ จากในหัวมาจดลงกระดาษให้เห็นภาพแล้วจึงค่อยเรียบเรียงอีกทีก็ยังมี)

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการอ่าน-เขียนนั้นสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก

นอกจากนั้น การอ่าน-เขียนนั้น คือการที่สมองได้ทำงานอยู่กับ ‘การจัดระบบระเบียบข้อมูล’ ตลอดเวลาหนึ่งๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียบเรียงข้อมูลในหัวเพื่อเขียน หรือการอ่านแล้วตีความ ย่อยข้อมูล และเรียบเรียงข้อมูลเข้าหัวตัวเอง เมื่ออ่านบ่อยๆ และสมองได้ฝึก ‘คิด’ บ่อยๆ เราก็สามารถเรียก (แบบภาษาชาวบ้าน) ได้ว่า ‘ฉลาดขึ้น’

นอกจากนี้ การอ่านยังจำเป็นต้องมีวิจารณญาณ อ่านหนังสือให้แตก และอ่านอย่างหลากหลาย รวมถึงสามารถวิเคราะห์สังเคราะห์ได้

การอ่านอย่างหลากหลายก็เหมือนการได้เปิดตัวเองเข้่าสู่โลกแบบต่างๆ เราจะได้เห็นมุมมองต่างๆ มากขึ้น และเมื่อเกิดการอ่านอย่างมีวิจารณญาณพร้อมกับการอ่านอย่างหลากหลายแล้ว เราจะมี ‘มิติทางความคิด’ มากขึ้น

‘มิติทางความคิดมาก’ กับ ‘ใจกว้าง’ นั้นผมว่าใกล้เคียงกัน การอ่านมากได้รับข้อมูลมาก ได้ตกตะกอนข้อมูลมาก เกิดมิติทางความคิดมาก แยกแยะสิ่งต่างๆ ได้มาก ได้รับรู้มุมมองต่างๆ มาก จะทำให้เราเข้าใจสิ่งต่างๆ มากขึ้น เข้าใจความหลากหลายในโลก และมีแนวโน้มที่จะทำให้เรา ‘ยอมรับ’ ความหลากหลายและสามารถเปิดใจได้กว้างขึ้น (แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเช่นนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์) และถ้าหากมนุษย์ในโลกสามารถเปิดใจยอมรับกันได้แล้วล่ะก็ ลองคิดดูสิครับว่าโลกนี้จะน่าอยู่มากขึ้นขนาดไหน

สุนทรียภาพในการอ่าน

สำหรับ ‘วรรณกรรม’ นั้น ไม่ใช่หนังสือที่บันทึกประวัติศาสตร์อย่างโจ่งแจ้งหรือเป็นแหล่งรวบรวมวิชาความรู้อย่างตำราเรียน แต่ว่าวรรณกรรมนั้น ในแง่ความบันเทิง, ต้องการการอ่านอย่างดื่มด่ำ ต้องการการอ่านอย่างมีอารมณ์ร่วม ละเมียดละไมในรสภาษา และละเอียดอ่อนกับความงามของมัน ในแง่นี้แล้ว วรรณกรรมไม่ต่างอะไรไปจากเครื่องมือขัดเกลาจิตใจมนุษย์ ช่วยให้จิตใจมีความละเอียดอ่อนมากขึ้น

นอกจากนี้ วรรณกรรมยังมีหน้าที่อื่นนอกจากสร้างสุนทรียภาพอีก วรรณกรรมนั้นโดยส่วนมากจะเป็นสารอย่างหนึ่งจากผู้เขียนถึงผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นการสะท้อนภาพปัญหาสังคมหรือปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ การกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดจิตสำนึกอะไรบางอย่างขึ้นมา และแน่นอนว่าวรรณกรรมที่ดีหลายชิ้นต้องการจะส่งสารบางอย่างให้มนุษย์ช่วยกันทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น

ซึ่งแน่นอนว่า ยิ่งผู้อ่านอ่านมามาก มีประสบการณ์การอ่านสูง อ่านอย่างแตกฉาน และสามารถวิเคราะห์เรื่องราวได้ ก็ยิ่งทำให้อ่านได้อย่างเข้าใจสารมากขึ้นและเกิดสุนทรียภาพในการอ่านมากขึ้น

ปัญหาเกี่ยวกับการอ่านในปัจจุบัน

(นี่คือรายการของปัญหาเท่าที่สมองน้อยๆ ของผมจะคิดได้ในปัจจุบันขณะนี้ หากท่านใดรู้อะไรเพิ่มรบกวนช่วยกันบอกด้วยครับ)

- ปัญหาสำคัญอันดับแรกเลยคือ ‘การอ่านหนังสือไม่แตก’ หากไม่ได้รับการฝึกฝนหรือขัดเกลาดีๆ แล้วเกิดมีคนประเภทอ่านหนังสือไม่แตกตลอดชีวิตขึ้นมา เขาคนนั้นแม้ว่าจะอ่านหนังสือกี่พันกี่หมื่นเล่ม เขาก็จะไม่มีวันเข้าใจสารในหนังสือนั้นๆ ได้เลย และต่อให้เราจัดงานหนังสือทุกเดือนและคนแห่กันมาซื้อหนังสือมากแค่ไหน ถ้าคนส่วนใหญ่ยังอ่านหนังสือไม่แตก นอกจากคุณค่าของหนังสือจะลดลงแล้ว อาจยังก่อให้เกิดการตีความหนังสือผิดและก่อให้เกิดปัญหาอีกหลายอย่างตามมาได้

- ปัญหาเกี่ยวกับการปลูกฝังการอ่านให้กับเด็กนักเรียน : บ่อยครั้งในโรงเรียนที่เด็กรู้สึกเหมือนถูกยัดเยียดและถูกบังคับให้อ่าน ทั้งตำราและวรรณกรรม ถ้าเด็กจะอ่านก็เพื่อให้เอาไปทำข้อสอบได้ (คิดดูสิว่ามันน่าเศร้าขนาดไหนที่อ่านวรรณกรรมอย่างเคร่งเครียดเพื่อจดจำรายละเอียดและเอาไปเก็งข้อสอบ...) นอกจากระบบการศึกษาปัจจุบันไม่ใส่ใจให้เด็กเห็นความสำคัญของการอ่านอย่างชัดเจนแล้ว ยังทำให้การอ่านกลายเป็นยาขมสำหรับเด็กอีกด้วย

- ปัญหาระดับระบบการศึกษา : จากที่เห็นกันมานาน เรากำลังเน้นการท่องจำและการอ่านอย่างงมงาย หากให้พูดอย่างสัตย์จริง ผมขอเรียกการเรียนประวัติศาสตร์แบบที่เรากำลังทำกันอยู่โดยส่วนใหญ่ว่า เป็น ‘การอ่านแบบงมงาย’ ที่ไม่เปิดโอกาสให้ซักถามหรือสงสัยต่อข้อมูล บ่อยครั้งที่ให้จดจำรายละเอียดโดยแยกขาดจากบริบทสังคมปัจจุบันและศาสตร์อื่นๆ รวมทั้งบังคับให้เชื่อฝังใจในข้อมูลตามตำราอย่างไม่มีข้อโตแย้ง (ผมขอไม่พูดเรื่องการ make ประวัติศาสตร์ หรือประวัติศาสตร์ชาตินิยมก็แล้วกัน เดี๋ยวยิ่งยาว...)

นอกจากนี้ ‘ข้อสอบ’ ที่มีคุณค่าเพียงการวัดผลการศึกษาตามความต้องการของระบบ ก็ยิ่งก่อให้เกิดปัญหาเรื้อรัง ข้อสอบปรนัยนั้นเป็นการ block ความคิดสร้างสรรค์และทัศนะส่วนบุคคลที่ได้ผลชะงัดที่สุด ‘สิ่งถูก-ผิด’ มีให้เลือกเพียงใน 4 ตัวเลือกเท่านั้น! ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วสถานการณ์หลายอย่างในสังคม ไม่มีข้อใดถูกที่สุดหรือผิดที่สุดเพียงข้อเดียว เพราะมันสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องมาจากประวัติศาสตร์และบริบทต่างๆ อันซับซ้อนมากมาย ทว่าเด็กนักเรียนกลับถูกบังคับให้ ‘เลือก’ สิ่งถูกผิดเพียงข้อเดียวอยู่เกือบตลอดเวลา รวมทั้งมีน้อยครั้งที่จะได้รับโอกาสให้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ (และที่น่าเศร้าก็คือ ผมได้ยินมาว่า วิชาการอ่านแบบมีวิจารณญาณของมัธยมศึกษานั้น คำถามในหนังสือเป็นแบบปรนัย ให้อ่านเรื่องสั้นแล้วตอบคำถามซึ่งเป็นคำถามวิเคราะห์ แต่ดันมีคำตอบเป็นตัวเลือกแบบ ข้อใดถูกเพียงข้อเดียว มาให้เสียนี่...)

- ปัญหาเด็กเกลียดการอ่าน : อย่างกล่าวมาข้างต้น ว่าการเติบโตของเทคโนโลยีทำให้เด็กปัจจุบันมีอะไรให้ทำมากมาย มีการสื่อสารอย่างฟุ่มเฟือย ข้อมูลท่วม และสมาธิสั้น (จะมีเด็กกี่คนที่ตั้งใจอ่านบทความยืดยาวเปลืองพลังงานสมองในอินเทอร์เน็ต) และเมื่อการอ่านไม่ได้ถูกปลูกฝังและเด็กไม่เห็นความสำคัญตั้งแต่ต้น กิจกรรมที่ต้องตั้งสมาธิอย่างอ่านหนังสือจะถูกละเลยและถูกมองเป็นยาขมไป

- ปัญหาการอ่านไม่หลากหลาย : แม้ไม่ถึงขั้นรุนงแรง แต่การอ่านหนังสือหากเป็นไปอย่างหลากหลายก็จะช่วยให้เห็นโลกในหลายแง่มุมมากขึ้น

- ปัญหาผู้ใหญ่ไร้วิสัยทัศน์ : เมื่อผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายคนไม่รักกการอ่านและมองไม่เห็นความสำคัญของการอ่าน จึงยากที่จะเกิดการแก้ปัญหาและการส่งเสริมการอ่านอย่างจริงจัง (รวมถึงการมัวแต่ด่ากันอยู่ในสภาโดยที่ไม่ลงมือทำอะไรให้มันดีขึ้น)

- ปัญหาระดับครอบครัวและระดับสังคม : พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนฝูง ล้วนมีผลกระทบสำคัญต่อความรู้สึกรักการอ่านเป็นอย่างยิ่ง

- การส่งเสริมการอ่านในโรงเรียนหลายๆ ที่นั้นเป็นเพียง trend และทำโดยละเลยจิตใจของนักเรียน ถ้าพูดกันจริงๆ แล้ว ระบบการศึกษาทั้งระบบนั่นแหละ ที่ใส่ใจกับทฤษฎีและมุ่งเน้นการรับใช้ระบบมากเกินไปจนละเลยความสุขของผู้เรียน และไม่ใส่ใจจะมอบอิสระเสรีทางความคิดให้กับผู้เรียน

- ฯลฯ ซึ่งคงมีอีกมากมายแต่ ณ ตอนนี้ผมยังนึกไม่ออก

สรุป

เนื่องจากว่ามันเป็นประเด็นที่ซับซ้อนมาก ผมจึงทำได้เพียงลิสต์ความคิดออกมาเป็นหัวข้อคร่าวๆ ได้แบบนี้เพียงเท่านั้น ต้องขออภัยหากมันไม่ครอบคลุม หรือมีช่องโหว่ หรืออ่านยาก

ทีนี้ผมอยากลองฟังความเห็นของทุกท่านว่าทุกท่านมีความเห็นกับปัญหานี้อย่างไร และท่านมีแนวทางแก้ปัญหาที่ได้ลองคิดไว้ในหัวหรือไม่

ทั้งหมดนี้เพื่อจะให้ทุกคนรักการอ่าน

และสุดท้ายการอ่าน

จะทำให้โลกนี้ดีขึ้น...




 

Create Date : 06 พฤษภาคม 2551   
Last Update : 6 พฤษภาคม 2551 22:50:58 น.   
Counter : 496 Pageviews.  


ommyz
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ตอนนี้มีบล็อกอีกแห่งที่

http://seta-brahms.exteen.com

ว่างๆ เชิญแวะครับ (อาจจะอัพเดตบ่อยกว่าที่นี่นิดนึง...)
Free Counter and Web
Stats
[Add ommyz's blog to your web]