อาตาปี สัมปชาโน สติมา
 
 

เป็นอย่างที่เป็น - คือไม่เป็นอะไร

href="//www.bloggang.com/data/s/satima/picture/1272636933.jpg" target=_blank>

ตัวเราเองนั้นคือขันธ์ห้า (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) รวมความง่ายๆ ว่า คือกายใจนี้เอง มันมีอยู่ด้วยเหตุปัจจัยของผลบุญและบาป ซึ่งเราเรียกรวมว่า กรรมที่เราทำมานั้น ตกแต่งทั้งกายใจ บุคคลิก ลักษณะ หรือแม้แต่วิธีคิดของเราให้เป็นเช่นนั้นอยู่ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น ไม่ได้ผิดแปลกจากโลกและธรรมชาติโดยทั่วไปเลย แต่ทั้งนี้ ยังมีธรรมชาติอีกอย่างนึงที่มีอยู่อย่างเร้นลับ ธรรมชาติรู้ที่เรียกว่าจิตนี้เอง ธรรมชาตินี้แยกต่างหากจากขันธ์ แม้ว่ากายใจจะเป็นอยู่อย่างไร จิตนั้นก็เป็นผู้ไปรู้กายใจอย่างที่เขาเป็น และไม่ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาได้ ถ้าเราเข้าใจกลไกตรงนี้ชัดเจนดี

ฟังดูแล้วอาจจะสับสนว่า มีทั้งจิตและใจ ถ้าแยกง่ายๆ ก็คือ ส่วนนึงเป็นธรรมชาติที่มีอยู่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย แต่ส่วนนึงเป็นธรรมชาติรู้ที่สามารถพัฒนาได้อย่างไม่มีขีดจำกัด และส่วนหลังนี้เองที่จะทำให้เราพ้นจากการปรุงแต่งที่ทำให้เกิดทุกข์ขึ้นได้ และสุดท้ายก็สลัดตัวเองออกจากการยึดถือกายใจของตัวเองได้ ซึ่งนับว่าเป็นจุดสุดยอดของการศึกษาภาวนาในเรื่องจิต เพราะสามารถทำให้จิตนี้เป็นอิสระเหนือขันธ์ได้จริง

การศึกษาธรรม คือการรู้ไปที่กายใจเรานี้เองอย่างที่เป็น เพื่อศึกษาเข้าใจ มีลำดับขั้นของการรู้การเข้าใจไปตามลำดับของการปฏิบัติ ซึ่งเคร็ดลับอยู่ที่ต้องมีกำลังตั้งมั่น และปล่อยให้จิตใจได้เรียนรู้ตัวเองอย่างเป็นกลาง จิตใจเราจะถอดถอนตัวเองออกมาเป็นลำดับเราสังเกตได้จาก ความเป็นปกติของจิตที่มีความสุขอันลุ่มลึกแต่เป็นส่วนนึงของธรรมชาติภายนอกอย่างไม่แปลกแยกเลย

แม้ตัวเราเอง สิ่งแวดล้อม ความดีความชั่ว ความผิดความถูก สีขาวสีดำ กลางวันกลางคืน ความวุ่นวายความสงบ ล้วนเป็นธรรมชาตินึงเท่านั้น เกิดขึ้นมาด้วยเหตุปัจจัยหนึ่งๆ แล้วดับลงตามกาลเวลาที่หมดเหตุปัจจัยไปเท่านั้น เราไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าแทรกแซงแก้ไขใดๆ เลย ไม่มีอะไรที่จะต้องทำให้ดีขึ้น เพราะมันดีอยู่แล้วอย่างเหมาะสม

ความรู้ความเข้าใจนี้เกิดขึ้นจากปัญญาที่มาจากความสงบ และเรียนรู้ธรรมชาติของกายใจนี้ไปอย่างเป็นกลาง เป็นการพิจารณาด้วยหลักฐานพยานไม่ใช่การคิดคำนวนที่ยังมีข้างมีฝ่าย แต่เป็นการเข้าไปเห็นหลักฐานพยานของกายใจที่แสดงให้เราเห็นตามลำดับ จนกว่าจะจนต่อหลักฐานในที่สุด นั่นคือเห็นว่ากายใจนั้นเป็นไปเองตามธรรมชาติกรรมปรุงแต่งไปอย่างนั้นเอง เป็นอย่างที่มันควรจะเป็น แต่ด้วยความรู้ความเข้าใจของเรา มันคือไม่เป็นอะไรสักอย่างเดียว มีแต่ รู้ไป แค่นั้น _/|_




 

Create Date : 30 เมษายน 2553   
Last Update : 30 เมษายน 2553 21:16:43 น.   
Counter : 529 Pageviews.  


นึกว่า "รู้"



การภาวนานั้น เมื่อภาวนามาระยะหนึ่ง มักจะเกิดการเคลื่อนออกจากกรรมฐานที่เราปฏิบัติ ซึ่งเป็นธรรมดา เพราะปกติของจิตนั้น เมื่ออยู่เฉยๆ ย่อมไหลลงต่ำ เพราะเรามักถูกกิเลสครอบงำ เหมือนที่ครูบาอาจารย์ ท่านบอกว่า เราเคยถูกกิเลสอบรมมานานนั่นเอง อยู่ๆ จะให้เรารอดพ้นจากกิเลสง่ายๆ คงเป็นได้ยาก ยกเว้นว่าได้เจริญสติฯ ไปเรื่อยๆ อย่าง เช่นการดูจิตก็ตามในขณะที่เรานึกว่าเราดูเรารู้อยู่นั้น กลายเป็นการนึกว่ารู้ นึกว่าดู ไม่ใช่การรู้สึกเข้าไปในสภาวะจริงๆ มัวไปติดอยู่ตรงความคิดนึก ซึ่งเป็นสังขารขันธ์อย่างนึงที่เราสร้างขึ้น กั้นการรู้อย่างซื่อๆ ไว้ซะเอง ด้วยการไปติดตรง
“นึกว่าดูกาย นึกว่าดูใจอยู่” แต่ไม่ได้แค่รู้สึกไปที่กาย รู้สึกไปที่ใจ อย่างธรรมดาๆ เวลาเราฟังธรรม ของครูบาอาจารย์ ใจก็นึกว่าเข้าใจ แต่ความเข้าใจของเรานั้น เป็นความเข้าในในระดับนึงเท่านั้นเอง

เพราะธรรมะนั้นย่อมลาดลึกลงไปตามลำดับเช่นกัน การที่เราเข้าใจในครั้งแรกๆ ที่ฟัง กับการเข้าใจ ในระดับต่อมานั้นเป็นการเข้าใจคนละระดับ เจ้าตัวย่อมเข้าใจดีในเรื่องนี้ เพราะผลของการภาวนา นั้นเป็นสิ่งที่เจ้าตัวย่อมประจักษ์ใจ หรือทราบได้ด้วยตนเอง ธรรมะที่ใจเราประจักษ์นั้น เป็นความ ซาบซึ้งในเฉพาะตน บางครั้งการถ่ายทอดออกมาแล้วนั้น เราจะรู้สึกว่า มันดูธรรมดาๆ เสียเหลือเกิน ไม่สามารถบรรยายความซาบซึ้งใจในธรรมที่ประจักษ์ได้เลย เพียงแต่อธิบายออกมาได้ในระดับนึงเท่านั้น

การภาวนานั้นเมื่อเราทราบเส้นทางของการภาวนา จากผลการภาวนาของตัวเอง เราก็ต้องหมั่นตรวจสอบ ด้วยโยนิโสมนสิการ และอาศัยกัลยาณมิตรครูบาอาจารย์ตรวจสอบการภาวนาว่า เรายังอยู่ในเส้นทางหรือไม่ หรือเริ่มเดินเบี่ยงออกไปทีละน้อยๆ ซึ่งจะทำให้เราเนิ่นช้าได้ ครูบาอาจารย์ท่านกล่าวว่าการภาวนาเหมือน การพายเรือทวนน้ำ หยุดพายเมื่อไร ก็ถอยหลัง และถอยกันเป็นชาติๆ คือหมดเวลาในชาตินั้นไปเปล่าๆ การพายเรือทวนน้ำนั้นไม่ได้เป็นการทำอะไรมากไปกว่า การมีสติฯ รู้กายใจตัวเอง ดูเหมือนง่ายๆ ดูเหมือน ไม่ได้ทำอะไร เพียงแค่ตามรู้ ตามดูว่า กายเป็นอยู่อย่างไร จิตเป็นอยู่อย่างไร รู้ไปซื่อๆ ตรงๆ อย่างที่เป็น เท่านั้น แต่ก็น่าประหลาดใจไม่น้อยว่า เวลาส่วนใหญ่ของเรานั้น เราลืมกายลืมใจเราไปในโลกของ ความคิด โลกของการต้องวุ่นวายกับสิ่งภายนอก บุคคลต่างๆ เรื่องราวต่างๆ ที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง

เหตุนี้แหละท่านจึงให้เราปลีกวิเวก หรืออยู่ในที่ที่สัปปายะ คือ ทั้งสถานที่ บุคคล อาหาร การเป็นอยู่ อย่างไม่วุ่นวาย อยู่อย่างสงบแต่ไม่ได้หมายว่าต้องไปอยู่คนเดียวหลีกออกจากมนุษย์ทั้งหลาย แต่หมายถึง การได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะกัน สิ่งที่เกื้อกูล ช่วยสนับสนุนในการบำเพ็ญภาวนาให้ได้ผลดี ช่วย ให้มีสมาธิตั้งมั่น ฉะนั้นการปลีกวิเวกคือการที่เราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะกับการ ภาวนาสำหรับแต่ละบุคคลนั่นเอง




 

Create Date : 29 เมษายน 2553   
Last Update : 29 เมษายน 2553 12:04:34 น.   
Counter : 712 Pageviews.  


เมตตาธรรมของครูบาอาจารย์



มีเมตตาธรรมของครูบาอาจารย์ที่ไม่อาจจะ ไม่กล่าวถึงความเมตตาของท่านได้ เพราะสิ่งที่ได้ประสบกับความเมตตาของท่านเป็นสิ่งพิเศษที่ควรกล่าวไว้ด้วยความเคารพ ระลึกถึง องค์นี้ท่านยังไม่เปิดเผยตัว ท่านเป็นลูกศิษย์
หลวงพ่อ.....(ขอละไว้ก่อนนะคะ) แต่หลวงพ่อ.....เมตตาให้เทศน์
และเราได้มีโอกาสฟังเทศน์ของท่าน จากเทปที่ได้มา แบบว่าเทป (เทปนะ คิดดูละกัน) ผีซีดีเถื่อนประมาณนั้น แอบๆ กันมาฟัง

การฟังเทศน์ในเทปนั้น แม้หนแรกจะไม่สนใจฟัง แต่เมื่อได้ฟังเต็มๆ ใีนครั้งที่สอง ปิติก็เกิดข้อความอันกินใจนั้นคือ "เราเกิดมาเพื่ออะไรทราบไม๊ เราเกิดมาเพื่อเดินทางไปตาย ยังไม่รู้สำนึกอีกหรือ" ข้อความนี้กินลึกเข้าไปในจิต

และในที่สุดเราก็ได้ไปกราบท่านอย่างนึกไม่ถึง ซึ่งเสียงเทศน์ในเทปที่ทำให้ จิตสะเทือนถึงเรื่องภพชาติได้ เมื่อไปถึงนั้น ท่านเทศน์ทันที

"อย่ามานึกว่าตัวเป็นนักปฏิบัติ แค่โ่ลกธรรมแปด ก็เอาตัวไม่รอดแล้ว" ข้อความที่ท่านเทศน์กระแทกจิตอย่างแรงตั้งแต่เริ่มเทศน์ เป็นเทศน์ที่เกี่ยวกับภพชาติอย่างเดียว แต่เราสะเทือนใจอย่างที่สุด อย่างที่นึกไม่ถึงว่าจสะเทือนใจได้ถึงขนาดนี้

"ถ้าเรามีสิ่งใดที่แหลม เหมือนไม้หรือสิ่งใดก็ได้ แทงลงไปบนพื้นโลก ไม่ว่าส่วนไหนจะไม่เจอร่างเราที่นอนทับถมอยู่ ไม่มี" ข้อความนี้ก็สุดจะสะเทือนใจอย่างยิ่ง เป็นการฟังเทศนฺ์ที่ทำให้เราร้องไห้จนสะอื้น เก็บอย่างไรก็ไม่อยู่

ในวันเดียวกันเมื่อเวลาค่ำญาติธรรมมาตามบอกว่าท่านเมตตาให้มาตามไปฟังเทศน์ ท่านเมตตาเหลือเกินค่ำคืนนี้ ท่านเทศน์เหมือนเปิดโลกสว่างไสวเหมือนเราสามารถมองเห็นทะลุไปสามแดนโลกธาตุได้ อย่างไรอย่างนั้น จิตใจเบิกบานในธรรมเป็นที่สุด แต่น่าแปลกมากว่า เมื่อกลับมาจำไม่ได้เลยว่าท่านเทศน์เรื่องอะไร

อีกองค์นึงเป็นพระที่ท่านธุดงค์อยู่แนวชายเขา ระหว่างเชียงใหม่กับเชียงราย เราได้มีโอกาสไปปฏิบัติกับท่านที่ชายเขา หลายครั้งหลายหน ท่านเมตตาสอนนำนั่งสมาธิ ชี้ให้เห็นจริตของตัวเอง ว่าเป็นศรัทธาจริต ให้เรารู้จักการรักษาฐานจิต ซึ่งในความรู้ที่เราได้การรักษาฐานจิตนั้น ก็คือการมีสติรู้อยู่ในกายและระลึกให้ได้เสมอๆ ในสติรู้กายนั้น การไปนั่งสมาธิที่ชายเขานั้น เป็นบรรยากาศที่เป็นสัปปายะอย่างยิ่ง ทำให้เราเห็นสภาพจิตที่อยู่ในธรรมชาติ และเห็นถึงธรรมชาติภายนอกและธรรมชาติภายในมีน้ำหนักเสมอกัน เห็น
กำลังของสมาธิที่เรามีอยู่อย่างชัดเจน แม่นยำ

เห็นปิติทุกรูปแบบที่เกิดเมื่อจิตมีสมาธิ จิตสามารถตั้งมั่น และมีสติฯ ระลึกรู้ได้เร็ว ท่านว่าเราแปลกมาก ที่สามารถทำสมาธิได้อย่างรวดเร็ว และไม่มีข้อจำกัด คือไม่ว่าจะเหนื่อยจะเมื่อยอย่างไร จิตก็ดำเนินไปได้ แม้อิริยาบทนอน เราก็สามารถเข้าสมาธิได้ดี และเร็ว ซึ่งเราเองก็ไม่เคยทราบมาก่อน มาประจักษ์เมื่อมาปฏิบัติกับท่านที่ชายเขาและที่บนเขาอีกแห่งนึง นั่นเอง

เมื่อไม่ค่อยได้มีโอกาสไปปฏิบัติตามป่าเขา ก็ได้แต่ภาวนาอยู่กับกายใจนี้และไปรายงานผลการปฏิบัติกับหลวงพ่อเป็นระยะๆ เมื่อมีโอกาสและ ท่านก็คือพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่แท้ของเราองค์เดียว

แต่ในช่วงนี้เอง เราได้มีโอกาสไปกราบ และทำบุญกับพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบองค์อื่นๆ ตามโอกาสและได้รับความเมตตาจากท่านอย่างเช่น หลวงพ่อราดลี เมื่อไปกราบท่านก็จะถามไถ่ถึงการปฏิบัติ เราก็เล่าถวายท่านถึงการปฏิบัติที่ผ่านมา ซึ่งท่านก็เมตตากล่าวว่า ผลต่างๆ ที่เราพบ เหมือนส้มหล่น "มึงจะเอาจริงหรือเปล่า" ท่านกล่าว หมายถึงว่าเราตั้งใจปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้นจริงหรือซึ่งเราก็กราบเรียนท่านว่าเราตั้งใจเช่นนั้น ช่วงหลังๆ ที่เราเห็นกาย, เวทนา,กับจิต แยกกันอย่างชัดเจน จนเห็นว่ากายนี้แท้จริง ไม่เคยมีเวทนา ท่านบอกว่า ถ้าปฏิบัติได้อย่างนี้ สิ่งที่ขาดหายไปคือเราไม่ได้เฉลียวใจว่า ธรรมกำลังแสดงเราจึุงไม่เห็นธรรม แต่ปฏิบัติมาได้ขนาดนี้ ถ้าเป็นพระเป็นเณรของท่าน ท่านจะไม่ให้ทำอะไรแล้ว เพราะงานอื่นมันจ้างเขาทำได้
แต่งานภาวนานี้ ยากนัก ต้องทำเอาเองและสำคัญกว่างานอื่นๆ เราจำใส่ใจไว้ด้วยความระลึกถึงเมตตาของท่าน

อีกองค์หนึ่งที่เรามีโอกาสได้กราบททำบุญกับท่าน ท่านเป็นพระที่หลวงปู่หล้าบวชให้ ท่านเมตตามากมักให้ญาติธรรมโทรฯ มาตามให้ไปฟังธรรมเวลาท่านมาพัก หรือมาหาหมอในกรุงเทพฯ ท่านมักจะให้หนังสือธรรมะ รูปพระ ที่หายาก หรือที่เขาไม่ให้กัน และให้กำลังใจว่าเราจะจบได้ในชาตินี้อย่า
ประมาทและให้เร่ิงความเพียร ช่วงที่พบท่านและได้ฟังเทศน์ของท่านนี่เอง เราสามารถเห็นความว่าง ซึ่งได้มาทราบว่า คือ อากาสาฯ และสามารถรู้อากาสาฯ (เพิก) เข้าไปเห็นอากิญจฯ ซึ่งเป็นความว่างอีกระดับนึง

ความว่างอันหลังไม่มีขอบเขตไม่มีประมาณ ช่วงนั้น กำลังสงสัยสิ่งที่ตัวเองพบ ไปรายงานให้หลวงพ่อทราบ ท่านก็บอกว่าอย่าไปติดตรงนี้ แต่ไม่ยอมอธิบายอะไรมาก (หลังจากนั้นอีกนานท่านค่อยๆ บอกกล่าวกับผู้อื่นในเรื่องเหล่านี้) ช่วงที่กำลังสงสัยนั้นเอง ได้ไปกราบหลวงตามหาบัวที่สวนแสงธรรม และได้ฟังเทศน์ท่าน ท่านไล่จี้ชายคนนึงเรื่องการทำอรูปฌาน ท่านดุเสียงดังมากว่า ถ้าทำได้ ต้องทำได้ตลอด ทำตอนนี้เลย ก็ต้องทำได้ ไหนทำซิ ทำซิ เราฟังอยู่ด้วย ด้วยความอกสั่นขวัญแขวน เวลาครูบาอาจารย์ไล่จี้ขนาดนี้ ทั้งๆ ที่ท่านไม่ได้พูดกับเราเลย แต่เหมือนชายคนนั้นเป็นตัวแทนที่ถูกดุอยู่ หลังจากนั้น ก็ได้ฟังเทศน์ท่าน เรื่องการไปพบความว่างที่ไม่มีอะไรเลย ไม่เหลืออะไรสักอย่าง ว่างไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ เปรียบเสมือน บุคคลที่ยืนอยู่ในห้องว่าง ที่ไม่มีอะไร แต่ตัวเขาเองนั้นแหละไม่ว่าง พอท่านเทศน์ถึงตรงนี้ เราก็ถึงบางอ้อ ทันที _/|_ กราบ กราบ กราบ

กราบ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เมตตาธรรมของครูบาอาจารย์ ทุกๆ องค์




 

Create Date : 23 เมษายน 2553   
Last Update : 23 เมษายน 2553 20:26:39 น.   
Counter : 939 Pageviews.  


จะปฏิบัติธรรม จะเชื่อใคร อย่างไรดี - แบ่งปันประสบการณ์



วันนี้อยากเล่าเรื่องเก่าๆ ถึงการปฏิบัติภาวนา เนื่องจากมีหลายคนส่งสัยว่า ถ้าเราสนใจปฏิบัติภาวนาแล้ว จริงๆ เราควรทำอย่างไรบ้าง ควรไปเข้าคอร์สอบรม ไปอยู่วัดภาวนา หรือควรทำอย่างไรดีที่สุด

อยากเล่าประสบการณ์ของตัวเองไว้ให้พวกเราใช้เป็นข้อคิดวิเคราะห์ เพื่อหาคำตอบดู สำหรับตัวเองนั้น เริ่มภาวนาจากความคิดที่ว่า เมื่อเราพบกับความทุกข์แล้วเราทราบว่า พระพุทธองค์สอนเรื่องการพ้นทุกข์ ทำไมเราไม่ลองศึกษาดูให้จริงจังว่า พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้อย่างไร ก็เริ่มต้นด้วยการหาหนังสือธรรมะมาอ่าน เลือกอ่านเฉพาะที่คนส่วนมาเชื่อถือ อ่านจากท่านที่สอนธรรมะง่ายๆ ตั้งแต่หลวงพ่อชา ท่านพุทธทาส หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ซึ่งในความคิดของตัวเองในขณะนั้น คือไม่เร่งรีบ ค่อยๆ ศึกษาไป ธรรมะของหลวงพ่อชาเรียบง่าย แต่ลึกซึ้ง ของท่านพุทธทาสเป็นแนวสังคมปรัชญา (ในความคิดเราขณะนั้น) หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ท่านสอนภาวนาที่ดูโลดโผนไปจนถึงเรื่องฤทธิต่างๆ การทำกรรมฐาน 40 การทำกสิณ ซึ่งขณะนั้น ก็อ่านไปทั้งสงสัยไป ต่อมาก็ได้ฟังเทศน์สายพระป่า ที่เป็นเทศน์ที่เขากล่าวว่า สอนเฉพาะพระเณรที่ปฏิบัติ ไม่ค่อยมีฆราวาสที่มีโอกาสได้ฟังกัน อย่างเช่น หลวงตามหาบัว หลวงพ่อแบน ฯลฯ

แต่ตัวเองนั้นชอบที่จะเป็นผู้ที่ศึกษาแบบนักศึกษาจริงๆ ไม่ได้มีใจเอียนเอียงไปในทางเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่ในหลายๆ ท่านก็มักสอนลงมาตรงที่ต้องลงมือปฏิบัติ ถ้าไม่ลงมือปฏิบัติก็จะไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่ท่านสอนจริงๆ แล้วก็มีอยู่วันนึงที่ทำให้ต้องปฏิบัติจริงจังมาจนทุกวันนี้ ก็คือ วันนั้น ได้อ่านหนังสือหลวงพ่อชา ท่านพูดถึงการทำสมาธิ วิธีการ อ่านแล้วรู้สึกว่า น่าจะทำไม่ยาก แม้ว่าตอนเด็กๆ จะเคยไปทำสมาธิหน้าเสาธง ไปวัดพร้อมๆ เพื่อน ครูสั่งให้ทำ ก็ทำไปเล่นๆ ไม่เห็นจะอะไร

แต่วันนั้น เมื่อวางหนังสือลงข้างๆ นั่งตัวตรง ขวาขาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย จิตใจจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ตามรู้ ตามดูลมที่เคลื่อนไหวไปด้วยความรู้สึกสบายๆ นั้นเอง จิตก็รวมลงเป็นสมาธิ พบกับความสุขชนิดนึง ที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลก เป็นความสุขสงบ ลุ่มลึก จิตถอนออกมาจากการนั่งสมาธิตรงนั้นแล้ว ความสุขนี้ก็ยังติดตามมา จิตใจนุ่มนวล อย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน

จากนั้นเอง ก็เลยทำให้ปฏิบัติจริงจัง มีความสุขกับการทำสมาธินี้ จนกระทั่งเวลาเดิน ก็รู้สึกว่า เราเดินอยู่ มีคนรู้คนดู เวลานอน ก็รู้สึกว่า เห็นตัวเองนอน เหมือนไม่ได้หลับ ก็สงสัยเหมือนกันว่า แล้วมันเห็นได้ยังไง ช่วงนั้น อยากถามใครให้ตอบคำถามเหล่านี้ให้เราได้ ก็พยายามไปตามวัด ไปเลียบๆ เคียงๆ ถามพระในวัดบ้าง แต่ก็ไม่กล้าเล่าอะไรมาก กลัวเขาหาว่าเพี้ยน จนทำให้ทราบว่า แม้ในวัด ก็ใช่ว่าจะมีคนทราบเรื่องการปฏิบัติภาวนา เพราะพระในวัด ท่านก็เรียนนักธรรม บาลี มีกิจของส่งฆ์เป็นส่วนมาก เรายังไม่รู้จักวัดที่เป็นวัดศึกษาปฏิบัติธรรมจริงๆ จังๆ ที่มีก็มีการสอนเฉพาะเบื้องต้น หัดนั่งสมาธิ เดินจงกรม ก็ลองเข้าไปศึกษาดู แต่ก็ยังไม่ใช่ที่เราต้องการ

ช่วงที่ได้ฟังเทศน์ของสายพระป่านั้น จิตใจหิวโหยธรรมะเป็นอย่างมาก ความรู้สึกที่ว่า เราเกือบจะรู้อะไรสักอย่าง แต่ก็ไม่รู้ว่าคืออะไร ไม่รู้ว่า เราไม่รู้อะไร หรืออยากรู้อะไร รู้แต่ว่าถ้าได้ฟังพระป่าท่านเทศน์เรื่องธรรมะปฏิบัติแล้ว จิตใจจะร่าเริงเป็นที่สุด การที่เราค่อยๆ ศึกษาหาความรู้มาเป็นลำดับ ทำให้เราทราบว่า สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด เรื่องไหนเรื่องจริง หรือเรื่องไหนเป็นเรื่องหลอกไร้สาระ เราจะเข้าใจตามลำดับ มีโอกาสก็ไปกราบ และภาวนาในวัดป่าบ้างตามแต่โอกาสจะอำนวย หลวงตาลงมากรุงเทพฯ เราก็ไปภาวนาที่สวนแสงธรรม

หนังสือธรรมะในตลาดนั้นมีมากมาย แต่ที่ถูกต้องจริงๆ นั้น มีน้อยมาก โชคดีที่เริ่มแรกนั้น เราเลือกเฉพาะครูบาอาจารย์ที่มีคนจำนวนมากศรัทธา ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของพวกมากลากไป แต่เป็นเรื่องของคนจำนวนมากที่ช่วยกันตรวจสอบแล้ว เขาจึงศรัทธาในคำสอนท่าน และเห็นได้ว่า อย่างแรกเลยนั้น เราเองก็ต้องดูว่าคำสอนต้องตรงกับในพระไตรปิฎก มีที่มาของคำสอน ที่อ้างอิงได้ และตรงกัน

อีกสิ่งนึงที่ทำให้เราทราบขึ้นมาว่า แม้จะมีครูบาอาจารย์ที่ท่านสอนหลากหลาย แต่ละองค์แต่ละท่านก็อ้างว่า พระพุทธเจ้าสอนเช่นนี้แหละ แต่ถ้าเราศึกษาให้ดี เราก็จะทราบว่า ท่านมีแนวหลักๆ ตามพระไตรปิฏกก็จริง แต่ยังมีเรื่อง จริต นิสัย วาสนา ของแต่ละท่านแต่ละองค์ที่ต่างกัน ทำให้เกิดวิธีการเฉพาะแบบขึ้นมาเท่านั้นเอง ถ้าเราเองทำตามแล้วได้ผล ก็นับว่าเรามีจริต นิสัย วาสนาคล้ายคลึงกับท่าน จึงภาวนาแบบท่านแล้วดี ทำได้จริง ครูบาอาจารย์ส่วนมาก ท่านจะแนะนำตามวิธีที่ท่านได้ดำเนินมาแล้วได้ผลของการปฏิบัติ แต่เราเองควรสำเนียกว่า เราเหมาะและทำได้อย่างท่านหรือไม่ ซึ่งตรงนี้แต่ละคนก็ต้องโยโสมนสิการ (น้อมเอามาใส่ใจตน) ว่าเราทำได้ ขนาดไหน อย่างไร และให้ผลในการปฏิบัติอย่างไรกับเรา ผลนั้นง่ายๆ สุดเลยว่า เราต้องเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง อย่างชัดเจน ความเปลี่ยนแปลงนั้นคือ เราต้องทุกข์น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ถ้าไม่ใช่ ก็แสดงว่า เราอาจจะเดินมาผิดทางเสียแล้ว

ด้วยการศึกษาและปฏิบัตินี้เอง ความมั่นคงในจิตใจ การต้องมีสติฯ กำกับกับการกระทำทุกอย่างของเรา หมั่นตรวจสอบตัวเองเสมอๆ ถึงผลของการปฏิบัติภาวนาของเรา เราจะสามารถปฏิบัติภาวนาไปได้เอง โดยไม่จำเป็นจะต้องไปถูกครอบ(งำ) จากใครเลย อย่าเชื่อในสิ่งที่ผิดๆ ว่า จะต้องมีคนกำกับควบคุมเราตลอดเวลา แต่ควรเชื่อว่า การมีสติฯ นี่แหละเป็นสิ่งสำคัญที่จะควบคุมเราจริงๆ เราสามารถภาวนาด้วยการมีสติฯ รู้จักกายใจเรานี้ไปเรื่อยๆ แค่นั้นเอง ผลของการมีสติฯ รู้กายใจนี้เอง จะแสดงผลของการภาวนาของเราออกมาให้เห็นเอง ชนิดว่า ไม่ต้องไปถามใคร และยังเป็นหนทางแห่งความจริง ซึ่งจะเปิดเผยตนเองออกมาให้เราไม่ต้องตกอยู่ในความทุกข์อีกต่อไป ด้วยการเข้าใจจริงๆ ถึงทุกข์ ถึงที่มาของมันได้เอง




 

Create Date : 22 เมษายน 2553   
Last Update : 22 เมษายน 2553 9:52:16 น.   
Counter : 563 Pageviews.  


ชีวิตเหมือนความฝัน


ชีวิตเหมือนความฝัน เพราะมันเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วขณะๆ หนึ่ง ไม่ได้มีอยู่จริง แม้ว่ามันจะดี สวยสดงดงาม หอมหวาน หรือทนทุกข์ เศร้าสลดเท่าใดก็ตาม มันเป็นเพียงฉากๆ หนึ่ง เหมือนภาพยนต์ที่แสนประทับใจ ผูกเราไว้ กับความรู้สึก รักชอบ เกลียดชัง และเฉยๆ ตราบใดที่จิตใจเรายังหลงอยู่ และยังอยากที่จะเสพความสุขความทุกข์นั้น ซึ่งแน่นอนว่า มันเลือกไม่ได้ด้านเดียว เพราะสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามของสิ่งสองสิ่ง มันคือสิ่งๆ เดียวกัน โดยเนื้อแท้

ตราบใดที่เรายังพอใจที่จะเสพ ความรู้สึกนั้น ความปรุงแต่งย่อมเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน ส่งต่อกันไปไม่มีที่สิ้นสุดมีทั้งสุขทุกข์ดีเลว เราเองคิดว่าเราต้องความเป็นจริง หรือเห็นตามความเป็นจริงนั้น แท้จริงแล้ว เราไม่ต้องการรับรู้มัน จิตใจเรายังอยากที่มีสุขเกลียดทุกข์ ชอบความประณีตเกลียดความหยาบกระด้าง และไม่ยอมรับว่า ทุกสิ่งมันเป็นของมันเช่นนั้นเอง จิตใจเราที่เหมือนตุ้มนาฬิการที่แกว่งไปมา ซ้ายทีขวาที ยิ่งแรงไปก็ตีกลับมาแรง เป็นผลของกรรมและวิบากนั้นเอง สงบมาก ต่อมาก็จะฟุ้งซ่านมาก สุขประณีตนุ่มนวลด้วยราคะก็ตีกลับมาเป็นโทสะเพราะความขัดเคืองที่เสียความสุขอันประณีตนั้นไป เราไม่ได้ต้องการเห็นตามความเป็นจริง จึงมีความอยากที่จะให้ชีวิตมีแต่ด้านเดียว คือความสุขความพอใจเท่านั้น

ทุกวันเราจึงฝันอยู่ตลอดเวลาทั้งเวลาหลับและตื่น ไม่ได้เห็นความเป็นจริงได้จริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้รู้ว่า มันเป็นอย่างนั้น เพราะเราอยู่กับมันมาอย่างเคยชิน แต่เมื่อใจพบความทุกข์ในเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราก็เริ่มฉงนใจ เพราะเหตุใด ชีวิตนี้จึงทุกข์นักหนา ทำไมความสุขเป็นสิ่งที่ช่างผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่ความทุกข์เวลาของมันแต่ละวินาทีช่างเชื่องช้าทรมาณ เสียจริงๆ เราไม่เห็นความฝันอันนี้ว่า มันกำลังดำเนินของมันอยู่ ตราบจนกระทั่งสติฯ เกิดขึ้นแล้วเท่านั้น เราจึงรู้สึกเหมือนตื่นจากฝันขึ้นชั่วขณะ ตื่นจากฝันดี ตื่นจากฝันร้าย และอยู่ในโลกของความเป็นจริง อันสอาดบริสุทธิ์ เราจะเห็นจิตที่ไขว่คว้าหาแต่ความสุขที่เหมือนความฝัน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้มีแต่ฝันดีแต่จะมีฝันร้ายรวมอยู่ด้วยเสมอ แต่ใจที่ใคร่ในภพนั้น จึงสร้างความฝันนี้ขึ้นมาเป็นภพน้อยภพใหญ่อยู่เสมอๆ ทำไฉนเลยเราจึงเห็นตามความเป็นจริงนี้เสียที ทำไฉนจิตใจของเราจะรู้ ตื่น เบิกบาน เป็นธรรม หนทางอันเดียวที่จะพบเราไปพบกับความเป็นจริงได้ ก็เพียงแต่เรา ตามรู้ ตามดู รูปนาม กายใจเรานี้ไปเสมอๆ ศึกษารู้จักแง่มุมต่างๆ ของจิตใจของเราเอง ให้เห็นว่า ทุกวันเราฝันอย่างไรอยู่ เมื่อใดที่เรารู้สึกตัวขึ้นมา เราก็จะตื่นขึ้นจากความฝันอันยาวนานเสียที

ผู้ที่ตื่นแล้วจึงเปรียบเสมือนรุ่งอรุณ ความสว่างแห่งปัญญาเริ่มฉายความเป็นจริง ที่อบอุ่น นุ่มนวลและสงบแต่ตั้งมั่นด้วยความเป็นจริง




 

Create Date : 20 เมษายน 2553   
Last Update : 20 เมษายน 2553 10:04:22 น.   
Counter : 737 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  

สติมา
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




อาตาปี สัมปชาโน สติมา
เพียรเผากิเลสด้วยความรู้สึกตัวมีสติ
[Add สติมา's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com