อาตาปี สัมปชาโน สติมา
 
 

สหธรรมิก


สหธรรมิก หรือเพื่อนผู้ปฏิบัติภาวนา เป็นผู้ที่เราสนทนาธรรมร่วมกัน ไปกราบครูบาอาจารย์ด้วยกัน ศึกษาปฏิบัติแล้ว มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน บางคนอาจจะมองว่า เเราพูดคุยเพราะเรา พยายามจะไปสอนใครหรืออย่างไร

ในส่วนตัวแล้ว รู้สึกเสมอว่า เราเป็นเพียงเพื่อนร่วมเส้นทางภาวนามาด้วยกัน
เท่านั้น

การสนทนาธรรมกันนั้น เรียกอีกอย่างนึงว่า ธรรมสากัจฉา คือต่างถามและตอบกัน เมื่อเราสนทนากันนั้น ถ้าเรารู้จักที่จะโยนิโสมนสิการ เข้ามาดูในจิตใจและเทียบเคียงผลของการปฏิบัติของเราให้แยบคายขึ้น ก็จะทำให้มีประโยชน์ทั้งเรา และเขา แน่นอนว่าในขณะที่เราสนทนากันนั้น เราก็แบ่งปัน
ประสบการณ์การภาวนาที่เราพบเห็น หรือฟังจากครูบาอาจารย์ให้เขาฟัง และเขาก็แบ่งปันให้เราเช่นกัน

การสนทนากันเยี่ยงบัณฑิต มีกล่าวไว้ในมิลินทปัญหา ที่กล่าวถึงการพูดสนทนากันเยี่ยงบัณฑิต คือ ถึงจะมีการโต้แย้งกันบ้าง ก็ไม่มีความขุ่นเคือง แต่โต้แย้งด้วยเหตุผล และนำมาพิจารณาอย่างชนิดที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการด้วยตนเองด้วย

ทุกครั้งที่เราสนทนาธรรมกันนั้น แม้บางครั้ง ผู้ที่เราสนทนาด้วยจะไม่มีความรู้ในทางธรรม ในเชิงปริยัติเลยก็ตาม แต่ความเป็นธรรมชาติที่แท้จริง ที่เขาแสดงออกกับเรานั้น ล้วนเป็นธรรม เราสามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งแน่นอนว่า โดยเฉพาะผู้ที่ภาวนาด้วยการตามรู้ตามดูความรู้สึกของเรา ก็จะเห็นจิตใจ ความนึกคิดของตนเองอย่างชัดเจน ขณะสนทนาธรรมกันด้วย บางครั้ง เราก็เกิดอัตตาตัวตน จนน่าเกลียด คุยสนทนาไปด้วยความรู้สึกลำพองว่า เรารู้ดีกว่า รู้มากกว่า แม่นยำกว่าในเชิงปริยัติ แต่ในทางปฏิบัตินั้น เราหลง
ไปเรียบร้อยแล้ว หลงสร้างภพชาติ หลงสร้างอัตตา ให้ตัวเองเรียบร้อย

ฉะนั้นสหธรรมิกนั้น เป็นผู้ที่ถือว่าเป็นเพื่อนร่วมวัฎฎะของเราอย่างแท้จริงและเป็นผู้ยังประโยชน์ให้แก่กัน ถ้าเราต่างก็ปาวารณาตัว เช่นเดียวกับหมู่ส่งฆ์ท่านทำ คือ กล่าวให้เขาสามารถติติงเราได้ ก็จะทำให้เราเห็นแง่คิด เห็นมุมมองของตัวเองผ่านผู้อื่น อันเป็นเหมือน กระจกเงาที่ส่องให้เห็น รวมทั้ง
ท่าทีที่เขาแสดง เราเห็นง่าย เพราะปกติแล้วเราย่อมเห็นออกไปนอกตัว จนเห็นกิเลสคนอื่นจึงชัดเจน ซึ่งถ้าเราสามารถน้อมย้อนกลับมาดูที่ตัวเองว่าเราต่างจากเขาหรือไม่ อย่างไร เราก็จะได้ปัญญาไม่น้อยในการรู้นั้น

เวลาเราสนทนากันนั้น ส่วนมากเรานำเอาทิฏฐิคือความเห็นของเรา เป็นตัวตั้ง เช่นเดียวกับผู้อื่นก็ทำเช่นเดียวกัน ทิฏฐิที่ไม่ลงรอยกันนั้น ทำให้เกิดความขัดเคืองใจทั้งเราและเขา เพราะเรามีตัณหา อยากที่จะให้เขาเห็นอย่างเดียวกับเรา หรืออย่างน้อยที่สุด เราก็รู้สึกว่า ผู้อื่นไม่ได้มาตรฐานอย่างที่
เราคาดหวัง ทุกๆ อย่างล้วนเป็นสภาวะธรรมที่เกิดขึ้น ในตัวเราเอง ที่เราสามารถโยนิโสมมนิการเข้ามาเห็นตัวเองได้อย่างชัดเจน ด้วยอาศัยสหธรรมิกนั้นเป็นกระจกเงาให้เราเป็นอย่างดี
_/|_




 

Create Date : 10 เมษายน 2553   
Last Update : 10 เมษายน 2553 23:02:06 น.   
Counter : 524 Pageviews.  


ใจที่เปิดกว้าง


เวลาเราเดินทางไปยังต่างจังหวัด ไปยังภูเขา ทะเล ป่าไม้สายตาได้รับผัสสะของธรรมชาติที่สวยงาม จิตใจก็เปิดกว้างเราจะเห็นว่า เราเป็นเพียงเศษเสี้ยวธุลี เมื่อเทียบกับจักรวาลนี้

แต่เราก็ไม่ต่างกันสัตว์ต่างๆ ที่หากิน หาอยู่ ในแต่ละภูมิประเทศความต่างของเราจะอยู่ที่ไหน ถ้าเรามีชีวิต เพื่อมีชีวิตเท่านั้นคนมีความคิด ก็เลยใช้ความคิดที่จะหากินมากขึ้น หาอยู่มากขึ้นและคิดล่วงหน้าที่จะหาสุขมากขึ้น ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้ว มันไม่มี

มันไม่มีอยู่จริง ไม่ว่าจิตเราจะเบิกบานผาสุขกับสัมผัสดีๆ ของธรรมชาติ หรือทนทุกข์กับความเจ็บปวดภายในจิตใจเพราะได้เจอกับผัสสะอันเลวร้าย แม้กระทั่งการเจ็บเพราะกายทุกข์ก็ตาม จิตใจอันนี้ คือจิตใจอันเดียวกัน ที่เกิดความทุกข์ เกิดความสุข แล้วความทุกข์นั้น ความสุขนั้น ก็เปลี่ยนแปลงไป
และดับไปในที่สุด เหมือนๆ กัน

เมื่อเรามองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอันนี้ ได้ชัด เราจึงยึดมันถือมันไว้อย่างไม่รู้ ความไม่รู้มันแนบเนียน และเหนียวแน่นเหลือเกิน จนเรามองไม่เห็นว่า เราถือ เรายึด มันอยู่ จนกว่าเราจะค่อยๆ ฝึกฝนตัวเองให้หันมามองตัวเองจริงๆ มองความสุขความทุกข์ของตัวเองจริงๆ และเข็ดหลาบกับมันจริงๆเพราะเมื่อใดก็ตามที่เราไม่รู้สึกว่าเข็ดหลาบกับการกำทุกข์นั้นไว้ เราก็จะ
ยึดถือมันไว้อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว แค่ปล่อยมันไปแค่นั้นเอง

ปล่อยมันเหมือนการนอนทอดตัวลงให้สบาย อย่าแข็งขืนจนตัวแข็งและปวดเมื่อย โดยไม่รู้ว่า ตัวเองแข็งเกร็งกับกายขนาดนั้นอยู่ แข็งเกร็งกับใจของเราอยู่ ปล่อยมันไป อย่างที่มันเป็น จาคะ คือการให้ ให้อย่างชนิดที่เรียกว่าปล่อยวาง แม้กระทั่งศัตรูที่คิดร้ายอยู่ในใจเรา ให้ปล่อยเขาไป เหมือนการให้ทุกอย่างที่เราเคยให้ได้ ปล่อยออกจากจิต ทั้งดีทั้งชั่วอย่ายึดมันไว้ในใจ

ยึดกิเลสก็ทุกข์กับกิเลส ยึดดีก็ติดดี ไม่ยึดแม้ความไม่มีอะไร ครูบาอาจารย์ท่านสอนเรามาแล้ว เรามีหน้าที่เดียวคือปฏิบัติให้ตรงตามคำสอนของท่าน ตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ด้วยการเข้าใจกายใจเรานี้ให้ดีว่า มันกำลังทำอะไรอยู่ มันยึดอะไรอยู่ มันทุกข์เพราะการเข้าไปยึดอะไร ท่านกล่าวว่า เรายึดอะไรเราก็ทุกข์เพราะสิ่งนั้น




 

Create Date : 09 เมษายน 2553   
Last Update : 9 เมษายน 2553 23:10:06 น.   
Counter : 435 Pageviews.  


ความเหงา เป็นโทสะ ?

มีคนจำนวนมากในโลกนี้ รู้สึกเหงา มีความเหงาท่ามกลางผู้คนมากมายที่แวดล้อมตัวเขานั่นเอง ความเหงา ความเบื่อ ความเซ็ง ความกลัว ล้วนเป็นกิเลสที่เรียกว่าโทสะ หรือความโกรธนั่นเอง แต่เป็นอีกด้าน นึงของความโกรธ หรือเป็นความโกรธเล็กๆ ที่พร้อมจะโตขึ้นเป็นโทสะแรงๆ และพัฒนาไป ถึงความพยาบาทได้

แท้จริงแล้วคนที่เหงาก็คือคนที่โดนโทสะครอบงำนั่นเอง จึงไม่สามารถรู้สึกอบอุ่นมีความสุขและเป็นมิตรกับคนรอบๆ ตัวเองได้ แม้จะอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมายก็ตาม

แต่ทั้งหมดนี้เป็นแค่กลอุบายของกิเลสที่เรียกว่าโทสะเท่านั้น โทสะเกิดขึ้นในจิตใจแล้วไม่สามารถมีสติรู้เท่าทัน จึงทำให้รู้สึกเช่นนั้น รู้สึกถึงความเหงาว้าเหว่ ไม่มีใคร แม้แต่รู้สึกว่าไม่ใครในโลกนี้ใยดี หรืออาจจะปรุงแต่งไปได้สารพัด กระทั่งดูถูกตัวเอง ดูถูกคนรอบข้าง ดูถูกทุกคนไปหมด ครูบาอาจารย์บอกว่า โลกภายนอกนั้นเป็นสิ่งที่สะท้อนออกมาจากจิตของผู้คนนั้นๆ ฉะนั้น คนที่มีความสุข คนที่มีความรัก ก็จะมองโลกเป็นสีชมพู เช่นเดียวกับคนที่ทุกข์ ก็มองทุกอย่างมืดมนไปหมด รู้สึกแม้ว่า โลกนี้หมุนไปได้อย่างไร ในเมื่อเขาทุกข์ขนาดนี้ มันแค่โดนกิเลสหลอกเท่านั้นเอง เมื่อใด เรา "รู้" ได้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง เราก็จะหลุดออกมาจากการครอบงำของกิเลส ชั่วคราว แล้วเราก็ "รู้" ไปอีก จนกว่าวันนึงเราจะรู้เท่าทันความเป็นจริง
ของกายและใจนี้จริงๆ เสียที

สิ่งนึงก็คือ เราลืมไปว่า แล้วทุกอย่างมันก็เปลี่ยนแปลงไป เพียงแต่มันไม่ได้เร็วอย่างที่ใจเราอยาก

การฝึกสติให้เราระลึกได้เร็วขึ้น เราก็พ้นจากทุกข์ได้เร็วขึ้น




 

Create Date : 07 เมษายน 2553   
Last Update : 7 เมษายน 2553 21:56:52 น.   
Counter : 686 Pageviews.  


การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องง่ายหรือยาก


เคยฟังธรรมของหลวงพ่อชาท่านกล่าวว่า คนเรามันชอบอะไรที่เข้าใจยาก อะไรที่ดูแปลกดูไม่ธรรมดา ของง่ายๆ ธรรมดาๆ มันไม่ชอบ นึกว่าไม่จริง นึกว่าไม่ใช่ ถ้าพูดถึงเรื่องฤทธิ์เรื่องเดช เรื่องน้ำมนต์ คนจะชอบ เรื่องสมาธิหรือผลของสมถะ สมาธิ ชอบ (ประมาณนี้นะคะ)

เลยทำให้นึกถึงว่า การปฏิบัติธรรมที่เรียบง่าย ที่หลวงพ่อชาก็เคยสอนไว้ว่าแค่รู้จิตรู้ใจตัวเองด้วยสติสัมปชัญญะ ทำให้เราไม่เหมือนไม้ที่ไปติดฝั่งโน้นฝั่งนี้ สักวันก็จะลงส่งมหาสมุทรเอง (ท่านว่าไว้ประมาณนี้)

แต่กว่าจะง่ายขนาดนี้ จะว่ายากก็ยาก เพราะไม่ใช่ว่าอยู่ๆ จะมารู้มาเข้าใจจริงจัง ถ้าเราศึกษาและปฏิบัติจริงจังมาเรื่อยๆ เราจะพบว่า ธรรมะที่แสนจะธรรมดานั้น มีความลุ่มลึกอยู่ในตัว แต่ไม่ได้ลึกลับ สิ่งที่พระพุทธองค์สอนไว้ในหลักกาลามสูตรนั้น ตรงอย่างยิ่ง เราต้องประจักษ์ด้วยตนเองจึงทราบ แล้วขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่เชื่อตัวเองด้วย แต่หมั่นที่จะโยนิโสมนสิการบ่อยๆ ก็จะทำให้เข้าใจธรรมะขึ้นไปตามลำดับ จนเห็นว่า

จริงๆ แล้วธรรมะเป็นของง่าย ที่บังตาไว้ด้วยกิเลสนี่เอง หลวงตามหาบัว กล่าวไว้บ่อยๆ ว่า กิเลสนี้แหลมคมนัก มันยากมากสำหรับคนๆ นึง ที่รู้เท่าทันกิเลสในใจตนเอง เพราะเรายิ่งมีธรรมมากขึ้นเท่าใด กิเลสยิ่งแหลมคมขึ้นเท่านั้น ท่านจึงให้อาศัยกัลยาณมิตรหรือไม่ก็ต้องมีโยนิโสมนสิการให้มาก

เมื่อเราถูกบดบังด้วยความชาญฉลาดของกิเลส ที่นับวัน กิเลสก็ใสยิ่งกว่าแก้ว กิเลสเป็นสิ่งดีที่ปิดบังตัวเอง หลวงตาบอกว่าเราจับหัวหน้ามันยาก วันๆ ก็จับลูกน้องมันเรื่อยไป อาศัย กาย เวทนา จิต ธรรมนี่แหละ พาดำเนินไป เวลาที่เราจับถูกตัว เราจะรู้สึกเลยว่า จริงๆ แล้วการปฏิบัติเป็นเรื่องง่าย เป็นเรื่องเส้นผมบังภูเขา แต่ถ้าเราไม่เห็น มันก็ไม่มีวันจะเห็นได้จริง

อาศัยความเพียรพยายาม (อาตาปี) ซึ่งไม่ใช่การทำสุดกู่ของทั้งสองฝั่ง ทั้งกามสุขฯหรือ อัตตกิลฯ นี่แหล มัชฺฌิมาปฏิปทา เวลาเราพบแบบนี้เราก็รู้สึกว่าแท้จริงการปฏิบัติธรรมง่าย ยิ่งเราพบวิธีเฉพาะตนแล้วยิ่งง่าย ไม่ต้องพาตัวเองให้ยากลำบาก แต่ทั้งนี้ ถ้าเราไม่เคยทำสุดกู่ทั้งสองด้าน เราก็จะไม่ทราบว่าตรงกลาง อยู่ที่ไหนแน่ เรื่องแบบนี้ มันเป็นเรื่องต้องปฏิบัติ เท่านั้นเอง




 

Create Date : 07 เมษายน 2553   
Last Update : 7 เมษายน 2553 16:30:25 น.   
Counter : 527 Pageviews.  


ธรรมะหลวงปู่ท่อน



วันนี้ไปกราบหลวงปู่ท่อนที่ รพ.วิชัยยุทธ ท่านเทศน์เรื่องเสื้อเหลืองเสื้อแดงความวุ่นวายในประเทศชาติ รวมทั้งเล่าเรื่องผู้นำประเทศที่ไม่ดี เช่น พระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย เฟอร์ดินันมาก๊อท แห่งฟิลิปปิน

เรามาคลิกประโยคนึงท่านพูดถึง ต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงา มีใบไม้ร่วง กิ่งไม้แห้งหล่น ถ้าไม่จัดการให้ดี วันหนึ่งเกิดฟืนไฟขึ้นมา กิ่งไม้แห้ง ใบไม้หล่นที่เปรียบเสมือนบริวารของไม้ใหญ่นั้น ก็จะพากันติดไฟ ผลที่สุด ก็ไหม้เอาไม้ใหญ่ให้โค่นลงได้เหมือนกัน ฉะนั้นบริวาร ที่เปรียบเสมือน กิ่งไม้ ใบไม้ ที่หล่นอยู่ทั่วต้นไม้ใหญ่นั้น ต้องหมั่นจัดการดูแลให้ดี ไม่ให้กลายเป็นเชื้อเพลิงพาไหม้ไม้ใหญ่ในที่สุด




 

Create Date : 05 เมษายน 2553   
Last Update : 5 เมษายน 2553 23:01:27 น.   
Counter : 869 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  

สติมา
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




อาตาปี สัมปชาโน สติมา
เพียรเผากิเลสด้วยความรู้สึกตัวมีสติ
[Add สติมา's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com