กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
ตำนานภาษีอากร


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยา




....................................................................................................................................................



ตำนานภาษีอากร


ลักษณะเก็บภาษีอากรในสยามประเทศแต่โบราณ ตามที่ปรากฏในหนังสือเก่า เช่นกฎหมายลักษณะพระธรรมนูญ และลักษณะอาญาหลวงเป็นต้น และตามความในหนังสือของมองสิเออร์เดอลาลุแบร์ ราชทูตฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาเมื่อรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแต่พรรณนาไว้ ดูจัดเป็น ๔ อย่าง เรียกว่าจังกอบอย่าง ๑ อากรอย่าง ๑ ส่วย(๑)อย่าง ๑ ฤชาอย่าง ๑ เรียกรวมกันว่า ส่วยสาอากร หรือ ส่วยสัดพัฒยากร หาได้เรียกว่า ภาษีอากร อย่างทุกวันนี้ไม่

จังกอบ นั้นเก็บชักส่วนสินค้า หรือเก็บเงินเป็นอัตราตามขนาดยานพาหนะที่ขนสินค้า เช่นเรือเป็นต้น เมื่อผ่านด่านขนอนทางบกทางน้ำ ในกฎหมายลักษณะอาญาหลวง (มาตรา ๑๐) ว่าพิกัดเก็บ ๑๐ หยิบ ๑ ประเพณีเก็บจักกอบนี้ มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ ปรากฏในจารึกของพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีของประเทศสยามนี้กล่าวว่า เมื่อพระเจ้ารามคำแหงครองกรุงสุโขทัยนั้น ทรงทำนุบำรุงราษฎรให้ไปมาโดยผาสุก “เจ้าเมืองบ่เอาจะกอบในไพร่ลู่ทาง” ดังนี้

อากร นั้น เก็บชักส่วนผลประโยชน์ที่ราษฎรทำมาหาได้ โดยประกอบอาการต่างๆ เช่น ทำนา ทำไร่ ทำสวน เป็นต้น หรือโดยให้สิทธิของรัฐบาล เช่น อนุญาตให้เก็บของในป่า จับปลาในน้ำ และต้มกลั่นสุราเป็นต้น พิกัดที่เก็บเข้าใจว่าคงประมาณอยู่ราว ๑๐ หยิบ ๑ ในผลประโยชน์ที่ได้นั้นเป็นอัตรา

ส่วย นั้นคือยอมให้บุคคลบางจำพวกส่งสิ่งของ ซึ่งรัฐบาลต้องการใช้แทนที่คนเหล่านั้นต้องมาประจำทำราชการด้วยแรงของตน ยกตัวอย่างดังเช่น ยอมอนุญาตให้ราษฎรที่ตั้งภูมิลำเนาอยู่ชายดงพระยาไฟ หาดินมูลค้างคาวอันมีตามถ้ำที่ภูเขาในดงนั้น มาหุงดินประสิวส่งหลวงสำหรับทำดินปืน หรือเช่นยอมให้ราษฎรชาวเมืองถลางหาดีบุกอันมีมากในเกาะนั้น ส่งหลวงสำหรับทำลูกปืนแทนแรงรับราชการเป็นต้น อัตราส่วยที่ต้องส่งคงกำหนดเท่าราคาที่ต้องจ้างคนรับราชการแทนตัว

ฤชา นั้นคือค่าธรรมเนียม มีกำหนดเรียกจากการต่างๆ ซึ่งรัฐบาลทำใช้เพื่อประโยชน์แก่ราษฎรบางคนเฉพาะตัว ยกตัวอย่างดังผู้ใดจะขอโฉนดตราสารเป็นสำคัญ แก่กรรมสิทธิของตน มิให้ผู้อื่นบุกรุกแย่งชิงที่เรือกสวนไร่นา รัฐบาลก็เก็บค่าฤชาจากเจ้าของกรรมสิทธินั้น หรือเช่นราษฎรเป็นความกัน รัฐบาลต้องชำระให้โรงศาล ฝ่ายใดแพ้คดีถูกปรับไหมให้ใช้เงินแก่ฝ่ายชนะเท่าใด รัฐบาลย่อมเก็บเป็นฤชากึ่งหนึ่งนั้น เรียกว่าเงินพินัย ดังนี้เป็นต้น


ในหนังสือที่มองสิเออร์เดอลาลุแบร์ราชทูตแต่ง อธิบายว่า เมื่อครั้งรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น เก็บส่วยสาอากรต่างๆ (คิดตามอัตราเงินที่ใช้ในปัจจุบัน) ดังนี้ คือ

๑. จังกอบเรือ (บรรทุกสินค้า) เดินเก็บตามขนาดเรือ ยาววาละบาท ๑ มีอธิบายว่า เมื่อในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯเพิ่มพิกัดขนาดปากเรือขึ้น เรือลำใดปากดกว่ากว่า ๖ ศอก (ถึงเรือนั้นจะยาวไม่ถึง ๖ วา) เก็บลำละ ๖ บาท และจังกอบเรือนี้ว่าตรวจเก็บที่ด่านขนอน

๒. จังกอบเรือสินค้า เก็บทั้งสิ่งสินค้าเข้า และสินค้าออก

๓. อากรค่านา ว่าเก็บไร่ละ ๒๕ สตางค์ มีอธิบายว่า แต่ก่อนถ้านาแห่งใดไม่ทำก็ไม่ต้องเสียค่านา สมเด็จพระนารายณ์ฯมีพระราชประสงค์จะมิให้คนหวงที่นาไว้เปล่าๆ ให้เก็บค่านาทั้งนาที่ทำและมิได้ทำ

๔. อากรสวน ทุเรียนเก็บต้นละ ๕๐ สตางค์ พลูเก็บค้างละบาทหนึ่ง (ดูแรงเกินไป ที่จริงพิกัดเห็นจะเป็นไร่ละบาท) หมาก เดิมเก็บพิกัดต้นละ ๓ ผล ถึงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯเก็บเป็นเงิน (แต่พิกัดเท่าใดหากล่าวถึงไม่) มะพร้าวเก็บต้นละ ๕๐ สตางค์ ต้นส้ม ต้นมะม่วง ต้นมังคุด ต้นพริก (Pimentieri) เก็บต้นละบาท ๑ (ดูแรงเกินไป เห็นจะผิด) มีอธิบายว่า พริกไทยนั้น เดิมก็เสียอากร แต่สมเด็จพระนารายณ์ฯโปรดให้งดเก็บอากรเสีย มีพระราชประสงค์จะให้คนปลูกพริกไทยเป็นสินค้าให้มากขึ้น

๕. อากรสุรา เก็บตามจำนวนเตาที่ตั้งต้มสุราขาย ถ้าและที่เมืองใดไม่มีเตาสุรา (ปล่อยให้ราษฎรต้มกลั่นตามอำเภอใจ) เก็บอากรสุราเรียงตัวคน(ชายฉกรรจ์) คนละบาท ๑ มีอธิบายว่า ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯเพิ่มพิกัดอากรสุราขึ้นกว่าแต่ก่อนอีกเท่าหนึ่ง และเก็บอากรจากคนขายสุราด้วย คือขายย่อยเก็บร้านละบาท ๑ ถ้าขายเป็นจำนวนมาก เก็บตามจำนวนสุราโอ่งใหญ่(เท?)ละบาท ๑

๖. อากรค่าน้ำ เก็บจากอนุญาตที่ลหารให้คนหาปลา มีอธิบายว่า เป็นหน้าที่ออกญาท้ายน้ำเป็นพนักงานเก็บ

๗. อธิบายว่ามีอากรที่เกิดขึ้นใหม่ หรือตั้งขึ้นในรัชกาลนั้นเองอีก ๒ อย่าง คือ อากรบ่อนเบี้ยอย่าง ๑ และค่าอนุญาตให้ออกญาแมนตั้งโรงหญิงนครโสเภณีอย่าง ๑

(มีอากรอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเข้าใจว่าเก็บมาแต่โบราณ แต่มองสิเออร์เดอลาลุแบร์มิได้กล่าวถึง คือ อากรตลาด เก็บจากผู้ที่ออกร้านขายของในท้องตลาด แต่พิกัดอย่างไร หาทราบชัดไม่)

๘. ส่วยต่างๆ นั้น คือเครื่องบรรณนาการ ซึ่งประเทศราชส่งตามพระราชกำหนดอย่าง ๑ ทรัพย์มรดกของผู้มรณภาพ ซึ่งต้องพัฒยา (คือเกินกำลังของทายาทจะเอาไว้ใช้สอย)อย่าง ๑ เกณฑ์เฉลี่ย (คือ เกณฑ์ให้ช่วยกันเลี้ยงแขกเมือง หรือเกณฑ์ให้ช่วยกันสร้างป้อมปราการเป็นต้น)อย่าง ๑ ส่วยแทนแรง คือโดยปรกติบรรดาชายฉกรรจ์มีหน้าที่เข้ามารับราชการปีละ ๖ เดือน ยอมให้คนที่เหลือใช้ไปทำมาหากิน แต่ให้ส่งเงินมาจ้างคนแทนตัว หรือหาสิ่งขิงที่ต้องการใช้ในราชการส่งแทนแรงที่เข้ามารับราชการอย่าง ๑ มีอธิบายว่า ค่าจ้างคนรับราชการแทนตัวนั้น ตั้งอัตราเงินเดือนละ ๒ บาท คิดเป็นค่าแรงบาทหนึ่ง เบี้ยเลี้ยงบาทหนึ่ง รวมเป็นปีละ ๑๒ บาท

๙. ค่าฤชา (ที่ไม่ได้เป็นของหลวง) นั้น คือเงินพินัยเบี้ยปรับคู่ความ และทรัพย์สมบัติ ซึ่งริบจากผู้มีความผิด (ค่าธรรมเนียมต่างๆไม่ได้นับในหมวดนี้ เพราะเดิมพระราชทานเป็นผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ เช่นกับเงินเดือน แม้เงินพินัยตามศาลหัวเมือง ก็ยกพระราชทานให้เป็นผลประโยชน์ของผู้ว่าราชการเมือง)

มองสิเออร์เดอลาลุแบร์ อธิบายเรื่องผลประโยชน์แผ่นดินครั้งรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯว่า นอกจากเก็บส่วยสาอากรดังกล่าวมา ยังมีทางได้อย่างอื่นอีก คือได้ค่าที่นาหลวงและสวนหลวง ผู้ทำต้องแบ่งผลที่ทำได้ส่งเป็นภาคหลวงอย่าง ๑ ได้กำไรการค้าขายในพระคลังสินค้าอย่าง ๑

เรือพระคลังสินค้านี้ ในหนังสือซึ่งชาวต่างประเทศคนอื่นๆแต่งก็มักกล่าวถึง และเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องโต้เถียงกับชาวต่างประเทศมาจนถึงสมัยในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ควรจะอธิบายให้ทราบลักษณะการเสียก่อน อันมูลเหตุที่จะมีพระคลังสินค้านั้น เข้าใจว่าเพราะเหตุ ๒ อย่าง คืออย่าง ๑ เรือต่างๆประเทศเอาเครื่องศัสตราวุธและดินดำกำมะถันเป็นสินค้าเข้ามาขาย ของเหล่านี้รัฐบาลไม่ปรารถนาจะให้ตกไปถึงมือปัจจามิตร แต่จะห้ามมิให้ชาวต่างเทศเอาเข้ามา รัฐบาลก็ต้องการมีไว้สำหรับใช้ราชการบ้านเมือง จึงยอมให้ชาวต่างประเทศเอาเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์เข้ามาได้ แต่บังคับว่าต้องขายแก่รัฐบาลแห่งเดียว เมื่อรัฐบาลซื้อของเหล่านั้นไว้จนเกินจำนวนต้องการ รัฐบาลก็ขายเป็นรายย่อยไปแก่ไพร่บ้านพลเมือง เกิดกำไรแก่รัฐบาลด้วยประการ ๑

อย่างที่ ๒ นั้น เป็นส่วนสินค้าขาออก มีสินค้าบางอย่างซึ่งหาได้ในพื้นเมือง แต่เป็นของมีน้อยและหายาก ยกเป็นตัวอย่างดังเช่นดีบุกเป็นต้น ของเหล่านี้ พวกพ่อค้าต่างประเทศพากันต้องการจะเอาไปขายประเทศอื่น เพราะขายได้ราคาแพง รัฐบาลจะยอมให้ขายซื้อกันได้ตามใจ เกรงของเหล่านั้นจะหมดสิ้นไม่มีเหลืออยู่สำหรับใช้ราชการในบ้านเมือง จึงกำหนดว่าเป็นสินค้าต้องห้าม มิให้ซื้อขายกันในท้องตลาด ใครมีสินค้าต้องห้ามเหล่านั้น ถ้าจะขายให้เอามาขายต่อพระคลัง ใครจะซื้อก็ให้มาซื้อที่พระคลัง รัฐบาลเปิดขายไปแต่พอเห็นสมควร

วิธีการซื้อขายมที่รัฐบาลบังคับเช่นว่ามานี้ บางทีจะมีมาแต่ในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม หรือก่อนนั้นแล้ว แต่เมื่อถึงในรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง (ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๗๓ จน พ.ศ. ๒๑๙๘) คิดจัดการค้าขายในพระคลังให้เป็นทางที่จะได้ประโยชน์แผ่นดินเพิ่มเติมอีกทางหนึ่ง จึงตั้งพิกัดสินค้าต้องห้ามให้มากสิ่งยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน คือส่วนสินค้าที่เข้ามาแต่ต่างประเทศ นอกจากเครื่องศัสตราวุธ เพิ่มเติมกำหนดว่า ห้าเป็นสินค้าต้องห้ามอย่างหนึ่ง ใครบรรทุกผ้าเข้ามาต้องให้รัฐบาลรับซื้อเข้าพระคลัง แล้วจำหน่ายไปตามตลาดทั้งในกรุงฯและหัวเมือง ส่วนสินค้าขาออกนั้น กำหนดดินประสิว ตะกั่ว ฝาง หมากสง หนังสัตว์ เนื้อไม้ ช้าง และงาช้าง เหล่านี้ว่าเป็นสินค้าต้องห้ามเพิ่มเติมขึ้น รัฐบาลจึงได้กำไรในพระคลังเป็นผลประโยชน์แผ่นดินยิ่งขึ้นอีกทางหนึ่ง เมื่อพระคลังมีการซื้อและจำหน่ายสินค้ามากขึ้นเช่นกล่าวมา การแผนกนี้จึงได้นามว่า พระคลังสินค้า

นอกจากภาษีอากรต่างๆที่กล่าวมา มองสิเออร์เดอลาลุแบร์ว่า ผลประโยชน์แผ่นดินที่ได้เป็นตัวเงินเมื่อในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ ประมาณปีละ ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท.

ผลประโยชน์แผ่นดินเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี นอกจากเก็บส่วยสัดพัฒยากร และการซื้อขายในพระคลังสินค้าดังกล่าวมา ยังมีทางที่ได้ผลประโยชน์ของหลวงด้วยแต่งเรือไปค้าขายยังนานาประเทศด้วยอีกอย่างหนึ่ง คือมีเรือกำปั่นของหลวงบรรทุกสินค้าของหลวง เช่น ช้าง ดีบุก และฝาง เป็นต้น ไปขายถึงอินเดียบ้าง เมืองจีนบ้าง เมืองชวาบ้าง และประเทศอื่นบ้าง แล้วรับซื้อสินค้าต่างประเทศที่ต้องการใช้ในประเทศนี้ เช่นผ้าลายและถ้วยชาม เป็นต้น เข้ามาให้พระคลังสินค้าจำหน่าย ได้กำไรในทางนี้ เป็นผลประโยชน์ของหลวงอีกทางหนึ่ง

วิธีเก็บผลประโยชน์แผ่นดินเช่นกล่าวมานี้ ใช้เป็นประเพณีมาจนตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อมาถึงสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานีก็ดี ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี เมื่อชั้นรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ ก็ดี ก็เก็บส่วยสัดพัฒยากร และประกอบการซื้อขายในพระคลังสินค้า และค้าเรือต่อมาตามแบบครั้งกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏว่าได้แก้ไขอย่างใด นอกจากเปลี่ยนพิกัดอัตราบ้าง มีตัวอย่างดังเช่นเก็บเงินแทนแรงรับราชการ เมื่อครั้งรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯกำหนดว่า ไพร่คนหนึ่งต้องมาเข้าเวรปีละ ๖ เดือน ถ้าไม่มาเข้าเวรให้เสียเงินแทนเดือนละ ๒ บาท ในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้ลดเวลารับราชการลง คงให้เข้าเวรเพียงปีละ ๓ เดือน แต่เพิ่มพิกัดเงินที่ต้องเสียแทนแรงมากขึ้น เดือนละ ๖ บาท(๒) เพราะฉะนั้นชั้นก่อนถ้าไพร่ไม่เข้ารับราชการ ต้องเสียเงินปีละ ๑๒ บาท แต่ชั้นหลังต้องเสียปีละ ๑๘ บาท แต่การอันนี้เลือกได้ตามใจไพร่สมัคร ถ้าไม่อยากเสียเงิน ชั้นก่อนต้องมาอยู่ประจำเวรถึงปีละ ๖ เดือน แต่ชั้นหลังต้องมาอยู่เพียงปีละ ๓ เดือน ผิดกันดังนี้

เรื่องเก็บส่วยสาอากรปรากฏในจดหมายเหตุว่า มาจัดการฟื้นระเบียบแบบแผนเมื่อรัชกาลที่ ๓ เพราะเมื่อในรัชกาลที่ ๒ ได้ผลประโยชน์แผ่นดินไม่พอจ่ายใช้ราชการบ้านเมือง บางปีถึงต้องขอลดอัตราเบี้ยหวัดข้าราชการ จ่ายแต่ครึ่งหนึ่งบ้าง หรือสองในสามส่วนบ้าง หรือมิฉะนั้นเอาสิ่งสินค้าของหลวงที่มีอยู่ในพระคลังเช่นผ้าลายเป็นต้น ออกแจกเป็นเบี้ยหวัดก็มี

ที่เรียกว่าเบี้ยหวัดนี้ มักจะเข้าใจกันผิดว่าเป็นผลประโยชน์ประจำตำแหน่ง เช่นอย่างเงินเดือนทุกวันนี้ ที่จริงเบี้ยหวัดแต่ก่อนหาใช่ผลประโยชน์ประจำตำแหน่งไม่ ด้วยถือกันว่าข้าราชการเป็นตำแหน่งใด ย่อมได้รับค่าฤชาธรรมเนียมหรือส่วยและส่วนลดในหน้าที่ตำแหน่งนั้นเป็นผลประโยชน์ จะยกตัวอย่างดังเช่นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และกลาโหมกรมท่า ย่อมได้ค่าธรรมเนียมประทับตรานำตั้งตำแหน่ง เป็นผลประโยชน์ประจำตำแหน่งอย่างหนึ่ง และยังมีอย่างอื่นอีกหลายอย่าง เบี้ยหวัดนั้น ที่จริงเป็นของพระราชทานตอบแทนข้าราชการที่รับราชการในส่วนพระองค์เป็นทำนองบำเหน็จ เพราะฉะนั้น จึงถือว่าขึ้นลดได้ตามพระราชอัธยาศัย

ผลประโยชน์แผ่นดินครั้งรัชกาลที่ ๒ นั้น ถ้าว่าโดยประเภท และวิธีเก็บก็เป็นอย่างเดียวกับเมื่อครั้งศรีอยุธยาเป็นราชธานี คือ มีจังกอบอย่าง ๑ อากรอย่าง ๑ ส่วยอย่าง ๑ ค่าฤชาธรรมเนียมอย่าง ๑ กำไรพระคลังสินค้าอย่าง ๑ กำไรในการค้าเรืออย่าง ๑ มีจำแนกรายการปรากฏอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ กับจดหมายเหตุของครอเฟิตทูตอังกฤษ ซึ่งเข้ามาในรัชกาลที่ ๒ เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๖๕ ได้เนื้อความดังนี้

จังกอบ นั้น เก็บสินค้าเมื่อผ่านด่านขนอน(ร้อยชักสิบ)อย่าง ๑ เก็บค่าเบิกล่องเรือกำปั่นตามขนาดปากเรือวาละ ๑๒ บาท อย่าง ๑

อากร นั้น เก็บค่านา อากรสวนสมพัตสร ค่าน้ำ ตลาด เตาสุรา บ่อนเบี้ย

ส่วย นั้น เงินที่ยอมให้ไพร่เสียแทนเข้าเวรรับราชการ จึงเรียกว่าข้าราชการอย่าง ๑ เงินบังคับเรียกจากจีนแทนแรงรับราชการ พิกัดเท่ากับทาสกรรมกรปีละ ๕๐ สตางค์ ๓ ปีเก็บครั้งหนึ่ง บาท ๑ กับ ๕๐ สตางค์ ใครเสียแล้วผูกปี้ครั่งที่ข้อมือให้เป็นสำคัญ จึงเรียกว่าเงินผูกปี้อย่าง ๑ ยังส่วยสิ่งของต่างๆ ซึ่งยอมให้ชาวหัวเมืองหาส่งแทนเข้าเวรรับราชการอีกหลายอย่าง (สิ่งของเหล่านั้นแจ้งรายชื่ออยู่ในพระคลังสินค้า ซึ่งจะกล่าวต่อไป)

ค่าฤชาธรรมเนียม นั้น เรียกค่าตรา ค่าโฉนด และค่าธรรมเนียมความเป็นต้น เหมือนอย่างเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

พระคลังสินค้าเมื่อในรัชกาลที่ ๒ นั้น ครอเฟิตกล่าวว่า กำหนดสิ่งเหล่านี้เป็นสินค้าต้องห้าม คือ ๑. รังนก ๒. ฝาง ๓. ดีบุก ๔. พริกไทย ๕. เนื้อไม้ ๖. ผลเร่ว ๗. ตะกั่ว ๘. งาช้าง ๙. รง (ผิดกับครั้งรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ) คือ เพิ่มพริกไทย ผลเร่ว รง เข้าในสินค้าต้องห้าม ๓ อย่าง ยกเลิกดินประสิวกับช้าง ๒ อย่าง แต่ช้างนั้นปรากฏในที่อื่นว่า ยังมีช้างของหลวงส่งไปขายถึงเมืองเทศ เห็นครอเฟิตจะไม่รู้ เพราะส่งไปทางเมืองตรัง จึงไม่กล่าวถึงสินค้าต้องห้ามที่พระคลังขายนั้น ช้างเห็นจะเป็นของหลวงจับเอง หรือเป็นภาคหลวงที่เรียกจากผู้จับงาช้าง เป็นของบรรณาการและรับซื้อด้วย นอกจากสองสิ่งนี้เป็นของส่วยและรับซื้อทั้งนั้น ที่กล่าวมานี้เป็นส่วยสินค้าขาออก

สินค้าขาเข้า ซึ่งพวกพ่อค้ามาแต่ต่างประเทศนั้น ในรัชกาลที่ ๒ ปรากฏว่า กำหนดว่าสินค้าต้องห้ามมิให้ขายแก่ผู้อื่นแต่เครื่องศัสตราวุธยุทธภัณฑ์ คือ ปืนและดินปืน เป็นต้น สินค้าอื่นๆนอกจากนั้น เป็นแต่รัฐบาลต้องการใช้สิ่งใด ซื้อได้ก่อนผู้อื่น หาปรากฏว่าบังคับให้เอามาขายเหมือนเมื่อครั้งรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯไม่

เรือของหลวงสำหรับแต่งไปค้าขายต่างประเทศ เมื่อในรัชกาลที่ ๒ มี ๒ ลำ ชื่อเรือมาลาพระนครลำ ๑ เรือเหราข้ามสมุทรลำ ๑ (เข้าใจว่ายังมีเรือหลวงที่เมืองนครศรีธรรมราชอีกสักลำหนึ่งหรือสองลำ) แต่งไปค้าขายถึงเมืองเกาะหมาย เมืองสิงคโปร์ เมืองหมาเก๊า และบางทีก็ไปถึงอินเดีย

ผลประโยชน์แผ่นดินในรัชกาลที่ ๒ ครอเฟิตประมาณว่า เก็บได้ราวปีละ ๒,๒๖๐,๐๐๐ บาท

ถึงรัชกาลที่ ๓ จัดการแก้ไขวิธีการเก็บผลประโยชน์แผ่นดินหลายอย่าง เหตุด้วยเมื่อในรัชกาลที่ ๒ ผลประโยชน์แผ่นดินได้ไม่พอจ่ายราชการดังกล่าวมาแล้ว ครั้นมาถึงรัชกาลที่ ๓ มีศึกสงคราม จำเป็นต้องการเงินใช้ราชการมากกว่าแต่ก่อน พระบาทสมเด็จฯพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชดำริจัดการฟื้นวิธีการเก็บเงินผลประโยชน์แผ่นดินราชการ ที่ทรงจัดนั้นคือแก้ไขวิธีเก็บภาษีอากรเดิม เช่น เรียกเก็บค่านาเป็นตัวเงินแทนเก็บข้าวเปลือกขึ้นฉางหลวง คิดเป็นไร่ละสลึง และเก็บเงินแทนค่าขนข้าวส่งฉางหลวงอีกไร่ละเฟื้องเป็นต้น(๓) นอกจากแก้ไขวิธีเก็บ ทรงตัวภาษีขึ้นใหม่อีกหลายอย่าง

คำว่า “ภาษี” แต่เดิมในภาษาไทยใช้แต่ความหมายว่าได้เปรียบ ดังเช่นกล่าวว่าสิ่งนี้มีภาษีกว่าสิ่งโน้น ที่มาใช้หมายความว่าเก็บผลประโยชน์แผ่นดินดูเหมือนจะเพิ่งปรากฏขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๓ เห็นจะมาแต่ภาษาจีนแต้จิ๋ว “บู้ซี” หมายความว่าสำนักเจ้าพนักงานทำการเก็บผลประโยชน์แผ่นดิน เพราะมาจัดวิธีให้มีผู้มาว่าประมูลเงินหลวงรับผูกขาดเก็บเก็บผลประโยชน์แผ่นดินขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๓ ใครประมูลได้ก็ได้ชื่อว่า “เจ้าภาษี” ดังนี้

ภาษีซึ่งตั้งขึ้นในรัชกาลที่ ๑ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์กล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่ามี ๓๘ อย่าง คือ

๑. บ่อนเบี้ยจีน เดิมมีแต่บ่อนเบี้ยไทย คือตั้งโรงให้คนไปเล่นเบี้ยกันเอง นายอากรเป็นแต่เก็บต๋งหัวเบี้ยส่งหลวง ที่เรียกว่าบ่อนเบี้ยจีนนั้น สำหรับพวกจีนเล่นกัน ยอมให้เล่นตามประเพณีในเมืองจีน
๒. หวย ก.ข.
๓. ภาษีเบ็ดเสร็จ (เก็บจากของลงสำเภา)
๔. ภาษีของต้องห้ามหกอย่าง
๕. ภาษีพริกไทย (เก็บจากผู้ซื้อลงสำเภา)
๖. ภาษีพริกไทย (เก็บจากชาวไร่ที่ปลูกพริกไทย)
๗. ภาษีฝาง
๘. ภาษีไม้แดง (เก็บจากผู้ซื้อลงสำเภา)
๙. ภาษีไม้แดง (เก็บจากผู้ขาย)
๑๐. ภาษีเกลือ
๑๑. ภาษีน้ำมันมะพร้าว
๑๒. ภาษีน้ำมันต่างๆ
๑๓. ภาษีกระทะ
๑๔. ภาษีต้นยาง
๑๕. ภาษีไต้ ชัน
๑๖. ภาษีฟืน
๑๗. ภาษีจาก
๑๘. ภาษีกระแชง
๑๙. ภาษีไม้ไผ่ป่า
๒๐. ภาษีไม้รวก
๒๑. ภาษีกอไม้สีสุก
๒๒. ภาษีไม้ค้างพลู
๒๓. ภาษีไม้ต่อเรือ
๒๔. ภาษีไม้ซุง
๒๕. ภาษีฝ้าย
๒๖. ภาษียาสูบ
๒๗. ภาษีปอ
๒๘. ภาษีคราม
๒๙. ภาษีเนื้อแห้ง ปลาแห้ง
๓๐. ภาษีเยื่อเคย
๓๑. ภาษีน้ำตาลทราย
๓๒. ภาษีน้ำตาลหม้อ
๓๓. ภาษีน้ำตาลอ้อย
๓๔. ภาษีสำรวจ
๓๕. ภาษีเตาตาล
๓๖. ภาษีจันอับ, ไพ่, เทียนไขเนื้อ, และขนมต่างๆ
๓๗. ภาษีปูน
๓๘. ภาษีเกวียน, โคต่าง, เรือจ้าง, ทางโยง

ในรัชกาลที่ ๓ โปรดฯให้เลิกอากรซึ่งเคยมีมาแต่ครั้งกรุงเก่า ๒ อย่าง คือ
๑. อากรรักษาเกาะ
๒. อากรค่าน้ำ


บัญชีเงินภาษีอากร
จำนวนปีมะเส็งสัปตศก จุลศักราช ๑๒๐๗

ภาษีฝาง พระสวัสดิวารีรับทำ รวมเป็นเงิน ๗๔๐ ชั่ง
ขึ้น พระคลังสินค้า ๖๕๐ ชั่ง
ขึ้น พระราชวังบวรฯ ๗๐ ชั่ง
ขึ้น กรมหมื่นสุรินทร ๑๐ ชั่ง
ขึ้น กรมหลวง ๑๐ ชั่ง

ภาษีพริกไทย หลวงอภัยวานิชรับทำ รวมเป็นเงิน ๔๒๐ ชั่ง
ขึ้น พระคลังสินค้า ๓๘๐ ชั่ง
ขึ้น พระราชวังบวรฯ ๓๐ ชั่ง
ขึ้น กรมหมื่นสุรินทร ๕ ชั่ง
ขึ้น กรมหลวงรักษรณเรศ ๕ ชั่ง

ภาษีเบ็ดเสร็จสำเภา จีนชินรับทำ รวมเป็นเงิน ๒๗๕ ชั่ง
ขึ้น พระคลังสินค้า ๒๕๕ ชั่ง
ขึ้น พระราชวังบวรฯ ๑๕ ชั่ง
ขึ้น กรมหมื่นสุรินทร ๒ ชั่ง
ขึ้น กรมหลวงรักษรณเรศ ๓ ชั่ง(๔)
ขึ้น เจ้าคุณวัง (เจ้าจอมมารดา กรมหมื่นสุรินทร์) ๓ ชั่ง

ภาษีของต้องห้าม จีนชินรับทำ รวมเป็นเงิน ๑๗๐ ชั่ง
ขึ้น พระคลังสินค้า ๑๕๐ ชั่ง
ขึ้น พระราชวังบวรฯ ๑๕ ชั่ง
ขึ้น กรมหมื่นสุรินทร์ ๒ ชั่ง
ขึ้น กรมหลวงรักษรณเรศ ๑ ชั่ง
ขึ้น เจ้าคุณวัง ๒ ชั่ง

ภาษีเนื้อปลา จีนเล่าแชเป็นขุนวิเศษภักดีรับทำ รวมเป็นเงิน ๑๑๐ ชั่ง
ขึ้น พระคลังสินค้า ๙๓ ชั่ง
ขึ้น พระราชวังบวรฯ ๑๒ ชั่ง
ขึ้น กรมหมื่นสุรินทร์ ๓ ชั่ง
ขึ้น กรมหลวงรักษรณเรศ ๒ ชั่ง

ภาษีฝ้าย, ครั่ง จีนพลับเป็นขุนจำเริญโภคารับทำ รวมเป็นเงิน ๑๘๕ ชั่ง
ขึ้น พระคลังสินค้า ๑๗๗ ชั่ง
ขึ้น พระราชวังบวรฯ ๗ ชั่ง
ขึ้น กรมหมื่นสุรินทร ๑ ชั่ง

ภาษีฝ้าย, ยาสูบ จีนชินเป็นขุนศรีสมบัติรับทำ รวมเป็นเงิน ๑๗๕ ชั่ง
ขึ้น พระคลังสินค้า ๑๖๑ ชั่ง
ขึ้น พระราชวังบวรฯ ๑๐ ชั่ง
ขึ้น พระศรีสุลาไลย ๒ ชั่ง
ขึ้น กรมหลวงรักรณเรศ ๑ ชั่ง

ภาษีของเบ็ดเสร็จสิบลด จีนเกงซัวเป็นขุนภักดีอากรรับทำ รวมเป็นเงิน ๑๑๒ ชั่ง
ขึ้น พระคลังสินค้า ๑๐๑ ชั่ง
ขึ้น พระราชวังบวรฯ ๙ ชั่ง
ขึ้น พระศรีสุลาไลย ๒ ชั่ง

ภาษีงาปีสิบลด จีนต่วนเป็นขุนโกชาวาณิชรับทำ รวมเป็นเงิน ๕๒ ชั่ง ๑๐ ตำลึง
ขึ้น พระคลังสินค้า ๔๔ ชั่ง ๑๐ ตำลึง
ขึ้น พระราชวังบวรฯ ๓ ชั่ง ๑๐ ตำลึง
ขึ้น พระศรีสุลาไลย ๒ ชั่ง ๑๐ ตำลึง
ขึ้น กรมหมื่นสุรินทร ๒ ชั่ง

ภาษีน้ำตาลทราย หลวงพิทักษ์ทศกรรับทำ รวมเป็นเงิน ๖๖๐ ชั่ง
ขึ้น พระคลังสินค้า ๖๑๘ ชั่ง
ขึ้น พระราชวังบวรฯ ๑๕ ชั่ง
ขึ้น พระศรีสุลาไลย ๓ ชั่ง
ขึ้น กรมหมื่นสุรินทร ๓ ชั่ง
ขึ้น กรมหลวงรักษรณเรศ ๒ ชั่ง
ขึ้น กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ๑๗ ชั่ง
ขึ้น เจ้าคุณวัง ๒ ชั่ง

ภาษีฟืนโรงน้ำตาล หลวงพิทักษ์ทศกรรับทำ รวมเป็นเงิน ๗๐ ชั่ง
ขึ้น พระคลังสินค้า ๖๕ ชั่ง
ขึ้น พระราชวังบวรฯ ๕ ชั่ง

ภาษีน้ำตาลกรวด จีนบี๊เป็นหมื่นมธุรสวาณิชรับทำ รวมเป็นเงิน ๑๐๐ ชั่ง
ขึ้น พระคลังสินค้า ๙๕ ชั่ง
ขึ้น กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ๕ ชั่ง

ภาษีน้ำตาลโตนดเมืองเพชรบุรี จีนเกียดเป็นขุนวิเศษทศกรรับทำ รวมเป็นเงิน ๗๕ ชั่ง(๕)
ขึ้น พระคลังสินค้า ๗๕ ชั่ง
ขึ้น พระราชวังบวรฯ ๕ ชั่ง
ขึ้น พระศรีสุลาไลย ๖ ชั่ง
ขึ้น กรมหมื่นสุรินทร ๑ ชั่ง
ขึ้น กรมหลวงรักษรณเรศ ๑ ชั่ง
ขึ้น กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ๕ ชั่ง

ภาษีน้ำตาลโตนดเมืองนนทบุรี จีนนิ่มรับทำ รวมเป็นเงิน ๔ ชั่ง
ขึ้น พระคัลสินค้า ๔ ชั่ง

ภาษีน้ำตาลโตนดเมืองสุพรรณบุรี นายอยู่รับทำ รวมเป็นเงิน ๒ ชั่ง ๕ ตำลึง
ขึ้น พระคลังสินค้า ๒ ชั่ง ๕ ตำลึง

ภาษีน้ำอ้อย หลวงพิทักษ์ทศกรรับทำ รวมเป็นเงิน ๑๖๐ ชั่ง
ขึ้น พระคลังสินค้า ๑๔๐ ชั่ง
ขึ้น กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ๒๐ ชั่ง

อากรรังนกเมืองชุมพร เมืองไชยา หลวงบรรจบวาณิชรับทำ รวมเป็นเงิน ๙๕ ชั่ง
ขึ้น พระคลังสินค้า ๗๑ ชั่ง ๑๕ ตำลึง ๒ บาท ๒ สลึง ๕๕๐ เบี้ย
ขึ้น พระราชวังบวรฯ ๓ ชั่ง ๙ ตำลึง ๑ สลึง ๑๐๘ เบี้ย
ขึ้น พระคลังนอก ๔ ชั่ง ๔ ตำลึง ๒ สลึง ๑๔๒ เบี้ย
ขึ้น พระคลังใน ๒ ชั่ง ๘ ตำลึง ๒ บาท
ขึ้น พระศรีสุลาไลย ๑ ชั่ง ๑๖ ตำลึง ๑ สลึง
ขึ้น กรมหมื่นสุรินทร์ ๔ ชั่ง ๖ ตำลึง ๑ บาท ๑ สลึง ๑ เฟื้อง
ขึ้น กรมหลวงรักษรณเรศ ๑ ชั่ง ๓ ตำลึง ๓ บาท ๒ สลึง ๑ เฟื้อง
ขึ้น กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ๑๒ ตำลึง ๓ บาท ๑ สลึง ๑ เฟื้อง
ขึ้น เจ้าคุณวัง ๕ ชั่ง ๓ ตำลึง ๒ บาท

อากรรังนก, กุ้งแห้งเมืองสงขลา พระยาสงขลารับทำ รวมเป็นเงิน ๕๕ ชั่ง
ขึ้น พระคลังสินค้า ๕๕ ชั่ง

อากรรังนกเมืองไทย พระยานครรับทำ รวมเป็นเงิน ๗๒ ชั่ง ๕ ตำลึง ๒ บาท ๒ สลึง
ขึ้น พระคลังสินค้า ๗๒ ชั่ง ๕ ตำลึง ๒ บาท ๒ สลึง

ภาษีกอไม้ไผ่สีสุก หลวงแพ่ง หมื่นทิพย์รับทำ เมืองกรุงเก่า เมืองอ่างทอง
เมืองลพบุรี เมืองอินทร์ เมืองพรหม เมืองสิงห์ เมืองสรรค์ เมืองชัยนาท
รวมเป็นเงิน ๑๐๐ ชั่ง
ขึ้น พระคลังสินค้า ๗๘ ชั่ง ๑๐ ตำลึง
ขึ้น พระราชวังบวรฯ ๖ ชั่ง ๑๐ ตำลึง
ขึ้น พระศรีสุลาไลย ๗ ชั่ง
ขึ้น กรมหลวงรักษรณเรศ ๔ ชั่ง
ขึ้น กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ๔ ชั่ง

ภาษีกอไม้ไผ่สีสุก นางคงรับทำ เมืองสุพรรณบุรี เมืองนครไชยศรี เมืองปทุมธานี
รวมเป็นเงิน ๘ ชั่ง ๑๐ ตำลึง
ขึ้น พระคลังสินค้า ๖ ชั่ง ๑๐ ตำลึง
ขึ้น พระราชวังบวรฯ ๑๕ ตำลึง
ขึ้น พระศรีสุลาไลย ๑๕ ตำลึง
ขึ้น กรมหลวงรักษรณเรศ ๕ ตำลึง
ขึ้น กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ๕ ตำลึง

ภาษีกอไม้ไผ่สีสุก ข้าหลวงกรมการเก็บเป็นหลวง เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองสมุทรสงคราม
รวมเป็นเงิน ๑๒ ชั่ง ๑ บาท ๒ สลึง ๑ เฟื้อง

ภาษีฝ้ายเม็ด, ฝ้ายบด กรมการเก็บเป็นเงินหลวง เมืองปราณบุรี
รวมเป็นเงิน ๒ ชั่ง ๑๙ ตำลึง ๒ บาท ๑ เฟื้อง ๓๕๒ เบื้ย

ภาษีไม้ท่อน ไม้กระดาน กงฉาก กงค้าง กรมการเก็บเป็นหลวง
กรุงเทพฯ เมืองสมุทรสงคราม เมืองนคร รวมเป็นเงิน ๓ ชั่ง ๒ ตำลึง

ภาษีปลาทู เจ้าภาษีเนื้อ เจ้าภาษีปลาเก็บเป็นหลวง
รวมเป็นเงิน ๒๐ ชั่ง ๒ ตำลึง


รวมทั้งสิ้น ๓,๖๘๐ ชั่ง ๙ ตำลึง ๒ บาท ๑ สลึง ๑ เฟื้อง ๓๕๒ เบี้ย (๒๙๔,๔๓๘ บาท ๔๖ สตางค์)


ตามรายการที่ปรากฏในบัญชีนี้ กล่าวถึงแต่ภาษีอากรบางอย่าง เงินผลประโยชน์แผ่นดินครั้งรัชกาลที่ ๓ มากกว่าที่ปรากฏในบัญชีนี้อีกเป็นอันมาก ประมาณเห็นจะไม่ต่ำกว่า ๒๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท

ในรัชกาลที่ ๓ นอกจากที่จัดวิธีเก็บภาษี ปละตั้งภาษีขึ้นใหม่ การค้าขายของหลวงและของเจ้านายข้าราชการผู้ใหญ่ ด้วยแต่เรือไปค้าขายต่างประเทศ ก็ยังคงทำมาตลอดรัชกาล

ถึงรัชกาลที่ ๔ กรุงสยามทำหนังสือสัญญาค้าขายกับฝรั่งต่างประเทศ การที่ทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศนั้น เป็นปัจจัยต่อการเก็บภาษีอากรเป็นข้อสำคัญในเวลาต่อมา เหตุด้วยยอมให้ชาวต่างประเทศที่เข้ามาค้าขาย เมื่อเสียภาษีตามพิกัดอัตราอันกำหนดไว้ในหนังสือสัญญาแล้ว ซื้อขายได้โดยสะดวก ตัดทางค้าขายของหลวงในพระคลังสินค้า และทางค้าขายผู้มีบรรดาศักดิ์ซึ่งเคยทำมาแต่ก่อน รัฐบาลจำต้องตั้งภาษีอากรหาผลประโยชน์แผ่นดิน และแบ่งส่วนพระราชทานทดแทนผู้มีบรรดาศักดิ์ซึ่งขาดตกไปเพราะการทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศ ภาษีอากรซึ่งตั้งขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์แสดงไว้ว่ามี ๑๔ อย่าง คือ

๑. ภาษีฝิ่น
๒. ภาษีสุกร
๓. ภาษีปลาสด
๔. ภาษีปลาทู
๕. ภาษีไหม
๖. ภาษีขี้ผึ้ง
๗. ภาษีผัก
๘. ภาษีหม้อหวด
๙. ภาษีถัง
๑๐. ภาษีเตาหล่อ
๑๑. ภาษีมาดเรือโกลน
๑๒. ภาษีแจว พายโกลน
๑๓. อากรการพนัน
๑๔. อากรมหรสพ

กลับตั้งภาษีซึ่งเลิกในรัชกาลที่ ๓ สองอย่าง คือ
๑. อากรค่าน้ำ
๒. อากรรักษาเกาะ

ลดเลิกและแก้ไขวิธีเก็บภาษีอากร ๖ อย่าง คือ
๑. เปลี่ยนอากรตลาด เป็นภาษีเรือโรงน้ำมัน
๒. ลดพิกัดเก็บสมพักสร ซึ่งเดิมเก็บไร่ละบาท ลงเป็นไร่ละเฟื้อง
๓. เลิกวิธีเก็บภาษีพริกไทย ตามจำนวนค้างพริกไทย เปลี่ยนเป็นเก็บอย่างสมพักสร
๔. เลิกภาษีเกวียน เรือจ้าง และทางโยง
๕. ลดอากรต้นทุเรียน ซึ่งเคยเก็บต้นละบาท ลงเป็นต้นละเฟื้อง
๖. เลิกภาษีน้ำมันมะพร้าว เปลี่ยนเป็นเก็บตามจำนวนต้นมะพร้าว (ต่อมาเลิกทีเดียว)

จำนวนเงินภาษีอากร ซึ่งเก็บได้ในตอนต้นรัชกาลที่ ๔ (เข้าใจว่าจะไม่สูงต่ำผิดกับในรัชกาลที่ ๓ นัก) สังฆราชปะละกัวได้สืบจำนวนเงินปีหนึ่งได้ดังนี้

ค่านา ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท
อากรสวน ๕,๕๔๕,๐๐๐ บาท
อากรสมพักสร ๕๐๐,๐๐๐ บาท
ภาษีซุง ๘๐,๐๐๐ บาท
ภาษีฝาง ๒๐๐,๐๐๐ บาท
ภาษีน้ำมันมะพร้าว ๕๐๐,๐๐๐ บาท
ภาษีน้ำตาลทราย ๒๕๐,๐๐๐ บาท
ภาษีน้ำตาลโตนด ๑๐,๐๐๐ บาท
ภาษีข้าวขาออก ๑๐๐,๐๐๐ บาท
ภาษีเกลือ ๕๐,๐๐๐ บาท
ภาษีพริกไทย ๔๐๐,๐๐๐ บาท
ภาษีกระวาน ๑๐,๐๐๐ บาท
ภาษีเร่ว ๒๐,๐๐๐ บาท
ภาษีครั่ง ๑๒,๐๐๐ บาท
ภาษีดีบุก ๖๐,๐๐๐ บาท
ภาษีเหล็ก ๖๐,๐๐๐ บาท
ภาษีงาช้าง ๔๕,๐๐๐ บาท
ภาษียางไม้ ๒๔,๐๐๐ บาท
ภาษีหน่อแรด ๒,๐๐๐ บาท
ภาษีเขากวาง ๔,๐๐๐ บาท
ภาษีเขาควาย ๕๐๐ บาท
ภาษีหนังสัตว์ ๒,๖๐๐ บาท
ภาษีกำยาน ๑,๐๐๐ บาท
ภาษีรังนก ๑๐๐,๐๐๐ บาท
ภาษีปลาแห้ง ๓๐,๐๐๐ บาท
ภาษีกุ้งแห้ง ๖,๐๐๐ บาท
ภาษีเยื่อเคย ๑๐,๐๐๐ บาท
ภาษีน้ำมันยาง ๘,๐๐๐ บาท
ภาษีชัน ๗,๐๐๐ บาท
ภาษีไม้แดง ๔๐,๐๐๐ บาท
ภาษีไต้ ๒๐,๐๐๐ บาท
ภาษีหวาย ๑๒,๐๐๐ บาท
ภาษีเปลืองโปลง ๑๐,๐๐๐ บาท
ภาษีเสา ๙,๐๐๐ บาท
ภาษีไม้ไผ่ ๙๐,๐๐๐ บาท
ภาษีจาก ๑๕,๐๐๐ บาท
ภาษีฟืน ๑๕,๐๐๐ บาท
ภาษีฝิ่น ๔๐๐,๐๐๐ บาท
อากรสุรา ๕๐๐,๐๐๐ บาท
อากรบ่อนเบี้ย ๕๐๐,๐๐๐ บาท
อากรค่าน้ำ ๗๐,๐๐๐ บาท
อากรตลาด ๑๐๐,๐๐๐ บาท
ภาษีแพ ๑๕๐,๐๐๐ บาท
ภาษียาสูบ ๒๐๐,๐๐๐ บาท
ภาษีไม้หอม ๔๕,๐๐๐ บาท
อากรรักษาเกาะ ๖,๐๐๐ บาท
ภาษีขาออก (ศุลกากร) ๓๐๐,๐๐๐ บาท
ค่าแรงแทนรับราชการ ๑๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท
เงินผูกปี้ข้อมือจีน(๓ ปีเก็บครั้ง ๑) ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท
จังกอบเก็บเรือทะเล ๘๐,๐๐๐ บาท
ภาคหลวงบ่อทองบางสะพาน ๑๐,๐๐๐ บาท
ภาษีนครโสเภณี ๕๐,๐๐๐ บาท
เงินค่าธรรมเนียมความ ๑๕,๐๐๐ บาท
ผลประโยชน์ส่งจากหัวเมืองฝ่ายเหนือ ๕๐,๐๐๐ บาท
ผลประโยชน์ส่งจากหัวเมืองใต้ ๔๐,๐๐๐ บาท
อากรหวย ก.ข. ๒๐๐,๐๐๐ บาท

รวมยอดจำนวนเงินผลประโยชน์แผ่นดิน ครั้งรัชกาลที่ ๔ ปีหนึ่งประมาณเงิน ๒๖,๙๖๔,๑๐๐ บาท (จำนวนเงินที่ประมาณนี้เป็นต้นรัชกาลที่ ๔ เห็นจะไม่ห่างไกลกับจำนวนผลประโยชน์แผ่นดินที่เก็บได้ในรัชกาลที่ ๓ นัก)

การเก็บภาษีอากรเเบ่งเป็นหน้าที่กระทรวงต่างๆ (จะจัดมาแต่รัชกาลที่ ๓ หรือรัชกาลที่ ๔ ไม่ทราบแน่) มีบัญชีทำในรัชการที่ ๕ เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ ชั้นก่อนจัดพระคลังตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ ปรากฏอยู่ดังนี้

ขึ้นกรมพระคลังมหาสมบัติ
ภาษีน้ำมันมะพร้าว
ภาษีน้ำมันปลา
อากรสุรา ๒๖ หัวเมือง
บ่อนเบี้ย ๕๑ ตำบล
ค่าน้ำ ๑๖ ตำบล
สมพักสร ๓๔ เมือง
ภาษีทางโยงบางพลี
ภาษีเสา
อากรสวนใน ๓๔,๒๓๖ สวน
อากรสวนนอก ๗,๓๐๕ สวน

ขึ้นกรมพระคลังสินค้า
อากรหวย ก.ข.
บ่อนเบี้ยไทย บ่อนเบี้ยจีน รวม ๒๐ ตำบล
อากรการพนันต่างๆในหัวเมือง
ภาษีน้ำตาลทราย
ภาษีถั่วงาปลาทู
ภาษีสุกร
ภาษีจันอับ
ภาษีเยื่อเคย
ภาษีฝ้ายปอคราม
ภาษียาสูบ
ภาษีไหมขี้ผึ้ง
ภาษีหม้อหวด
ภาษีพริกไทย
ภาษีปลาน้ำจืด , น้ำเค็ม
อากรรังนก
ภาษีกุ้งแห้ง

ขึ้นพระกลาโหม
อากรสุรากรุงเทพฯ
อากรแป้งข้าวหมาก
ภาษีกระทะ
ภาษีเหล็กก้อน , เหล็กหล่อ
ภาษีถ่าน
อากรรังนก (เมืองสงขลา และเมืองตรัง)

ขึ้นกรมมหาดไทย
ภาษีเรือโรงร้าน
ภาษีมาดเรือโกลน
ภาษีหีบฝ้าย
ภาษีละคร
ภาษีไม้ไผ่
ภาษีซุง

ขึ้นกรมพระคลังในซ้าย
อากรนาเกลือ
อากรป่าผึ้ง
ภาษีนุ่น

ขึ้นพระคลังในขวา
สมพักสรยาสูบ ๒๓ เมือง
ภาษีถ่านไม้ไผ่

ขึ้นกรมท่า
อากรสมพักสรพริกไทย
ภาษีไหม
ภาษีไม้ไผ่ป่า
ภาษีจาก
อากรรักษาเกาะ
อากรป่าผึ้ง (หัวเมืองชายทะเลตะวันออก)
ภาษีไม้กระดาน
ภาษีเบ็ดเสร็จ
ภาษีฝาง
ภาษีเข้า ขาออก

ขึ้นกรมพระคลังราชการ
อากรสวนจาก ๑๐ เมือง
ค่าจองสวน
ภาษีไต้ ชัน น้ำมันยาง
ภาษีฟืน

ขึ้นกรมท่าซ้าย
ภาษีเกลือ
ภาษีไม้เครื่องเรือ

ขึ้นกรมนา
ค่าน้ำ


รวมจำนวนเงินผลประโยชน์ภาษีอากร (นอกจากค่าราชการส่วยและภาษีฝิ่น อันมิได้กล่าวถึงในบัญชีที่แสดงมา) เป็นเงินปีละ ๒๙,๐๑๒,๘๐๐ บาท นับว่าที่ได้ในรัชกาลที่ ๔

ถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบัญชาราชการแผ่นดินเอง ความปรากฏว่าเงินผลประโยชน์แผ่นดินได้เข้าพระคลังไม่เต็มจำนวน มักติดค้างอยู่ตามเจ้ากระทรวงและเจ้าภาษีนายอากรเสียโดยมาก เงินพระคลังมหาสมบัติไม่พอจ่าย ถึงรัฐบาลต้องเป็นหนี้อยู่ จึงทรงพระราชดำริให้จัดการพระคลัง ตั้งแต่ปีระกา พ.ศ. ๒๓๑๖ ตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์เป็นที่สำนักงาน ชั้นแรกเป็นแต่ให้มีกรมบัญชีกลาง สำหรับรวมบัญชีเงินผลประโยชน์แผ่นดิน ซึ่งต่างกระทรวงเป็นเจ้าหน้าที่เก็บนั้น ให้รู้ว่าเป็นจำนวนเงินเท่าใด และเร่งเรียกเงินให้ส่งเข้าพระคลังมหาสมบัติตามกำหนด แล้วจัดการแก้ไขค่อยรวมการภาษีอากรเข้าในกระทรวงพระคลังเป็นลำดับมา และทรงพระราชดำริจัดระเบียบการเก็บภาษีอากรเลิกเสียบ้าง แก้ไขวิธีเก็บบ้าง เปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับ จนเป็นกระทรวงเสนาบดีอยู่ในบัดนี้



....................................................................................................................................................


เชิงอรรถ

(๑) คำว่า ส่วย เห็นจะมาแต่ภาษาจีนแต้จิ๋ว “ส่วยโบ๊ว” หมายความว่าเก็บส่วนลงจากผลประโยชน์ของราษฎร

(๒) พิกัดที่ว่านี้ จะเปลี่ยนเมื่อรัชกาลไหนไม่ทราบแน่

(๓) ในหนังสือมองสิเออร์เดอลาลุแบร์ว่า เมื่อรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เก็บค่านาเป็นตัวเงิน ที่มาเปลี่ยนเป็นเก็บข้าวเปลือกนั้น เข้าใจว่าเห็นจะเป็นครั้งกรุงธนบุรี เพราะเป็นเวลาราษฎรขัดสนเงิน และรัฐบาลต้องการข้าวเป็นเสบียงสำหรับทำสงคราม
(๔) จำนวนนี้น่าจะเป็น ๑ ชั่ง และ ๒ ชั่งตามลำดับ จึงจะตรงกับจำนวนเงินภาษีทั้งหมด

(๕) จำนวนนี้น่าจะผิด เพราะที่แยกออกไปเป็นจำนวน ๙๔ ชั่ง


....................................................................................................................................................



คัดจาก "ลัทธิ ธรรมเนียมต่าง"
ตำนานภาษีอากรบางอย่าง - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ


Create Date : 09 เมษายน 2550
Last Update : 9 เมษายน 2550 22:55:34 น. 0 comments
Counter : 4798 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com